- บางครั้งการทำงานร่วมกันของนักเรียนก็ก่อให้เกิดปัญหา จึงเป็นหน้าที่ของคุณครูที่ต้องช่วยให้นักเรียนผ่านพ้นปัญหาไปให้ได้
- ครูต้องมีความอดทน รอให้เด็กพูดหรือนำเสนอออกมาเอง เพื่อการกระตุ้นให้เด็กคิด
- สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรู้ที่นักเรียนได้รับ เมื่อผู้เรียนศึกษาหาข้อมูลตามความสนใจของตนเอง เขาจะสามารถจดจำเนื้อหาได้อย่างแม่นยำ
- ทั้งหมดนี้มีอยู่ในหลักสูตรมัคคุเทศก์น้อย ตอน ตามรอยฟอสซิล
ภาพ: ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
“สำหรับผมแล้วเรียนนอกห้องสนุกมากครับ เพราะอยู่ในห้องเรียนมากเกินไปทำให้รู้สึกเบื่อ” ปัญ – ปัญญพัฒน์ อังสุภานิช ศิษย์เก่าโรงเรียนอนุบาลสตูลบอกเรา…ตอนนั้นครูไม่อยู่ด้วย
การเรียนนอกห้องของปัญคือ ‘โครงงานศึกษาการตามรอยฟอสซิลในอำเภอเมืองสตูล เพื่อร่วมกับชุมชนพัฒนาเป็นแหล่งการเรียนรู้ในจังหวัดสตูล’
ตอนนั้นพี่ ม.1 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย อย่างปัญ เพิ่งเรียนอยู่ชั้น ป.4 แต่ก็ริเริ่มทำโครงงานนี้จนสำเร็จ พบซากฟอสซิลมากมายในพื้นที่อำเภอเมือง เช่น ฟอสซิลหอยสองฝา ไครนอยด์ (พลับพลึงทะเล)
โครงงานวิจัยของนักเรียนเกิดขึ้นจากการร่วมมือของโรงเรียนอนุบาลสตูลกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สร้างหลักสูตรการเรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านการทำโครงงานในวิชาบูรณาการ โดยใช้กระบวนการทำวิจัย 10 ขั้นตอนและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงป็นแนวทาง
ใน 1 ปีโรงเรียนอนุบาลสตูลจะดูแลกว่า 40 โครงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม “การออกแบบให้เด็กทำงานกันเป็นกลุ่ม” คือเป้าหมายของวิชานี้ทางโรงเรียน เพื่อให้เด็กๆ ค้นพบศักยภาพตัวเอง บางคนพูดไม่เก่ง แต่บันทึก ทำ mind map ดีมาก ก็ไปแทคทีมกับเพื่อนช่างพูดช่างคุย สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างทางหากเป็นหัวใจสำคัญ คือ กระบวนการการเป็นผู้นำ การเป็นผู้ตาม การยอมรับบทบาทซึ่งกันและกันของเด็ก
ทุกห้องเรียนจะมี 1 โครงงาน ใช้เวลาทำหนึ่งปีการศึกษา หัวข้อที่ทำจะตกลงกันเองภายในห้องเรียน จากนั้นแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่ตามความสามารถของตัวเอง
งานนี้ปัญรับหน้าที่เป็นกองหลังของทีม
“เวลาทำงานกลุ่มเราก็ต้องเข้าใจเพื่อนด้วย แต่ผมชอบอยู่คนเดียว ไม่ค่อยคุยกับเพื่อน ผมจึงเป็นฝ่ายสนับสนุนมากกว่า เช่น ช่วยสืบค้นข้อมูล”
ส่วนเพื่อนชื่อ ‘จอมทัพ’ ปัญเล่าว่ารายนี้ชอบจดบันทึก เวลาเขาทำอะไรก็ตามจะต้องละเอียดถี่ถ้วน ทุกขั้นตอนต้องจดบันทึก แล้วเขาจะจำได้ว่าเมื่อวานประชุม หรือคุยกันเรื่องอะไร ถ้ายังติดขัดเรื่องไหน ยังมีอะไรที่เขาไม่รู้ เขาจะไปหาความรู้เพิ่มเติมที่ห้องสมุดหรืออินเทอร์เน็ต เพื่อนำมาเสนอให้กับครูและเพื่อนๆ ในชั่วโมงเรียนครั้งต่อไป
ครูต้องพาออกนอกห้อง
บางครั้งการทำงานร่วมกันของนักเรียนก็ก่อให้เกิดปัญหา จึงเป็นหน้าที่ของคุณครูที่ต้องช่วยให้นักเรียนผ่านพ้นปัญหาไปให้ได้ เช่น บางคนก็ไม่ทำงาน ครูต้องเข้าไปดูแล เข้าไปถามว่าทำไมถึงไม่ทำ บางเรื่องคุณครูก็ต้องช่วยถามให้ หรือดูแลสลับสับเปลี่ยนหน้าที่ให้เด็กๆ ให้ตรงกับความสามารถมากที่สุด
เป็นหน้าที่ของ ฉวีวรรณ ฮะอุรา ครูที่ปรึกษาโครงงาน อธิบายว่านักเรียนบางคนอาจไม่ชอบเรื่องที่ตัวเองทำ แต่เด็กก็ต้องปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกับเพื่อนๆ
“การเรียนโครงงานเด็กต้องสร้างข้อกำหนดหรือข้อตกลงของกลุ่ม ทุกคนต้องช่วยกันทำงานตามความสามารถ ไม่เล่น ใครวาดภาพเก่งก็ให้วาดภาพ ตกแต่งรายงาน ใครลายมือสวย ก็ให้มาเขียนหน้าห้อง ฉะนั้นทุกคนจะมีหน้าที่ตามความถนัดของตัวเอง”
ทุกครั้งก่อนเริ่มเรียนวิชาบูรณาการ คุณครูจะให้เด็กนั่งสมาธิ ตามด้วยร้องเพลง รำวง เพื่อให้เด็กๆ รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด จากนั้นจึงค่อยทบทวนเนื้อหาโครงงานที่ผ่านมา เสนอเรื่องที่จะเรียนในวันนี้ว่าจะเรียนเรื่องอะไรกัน
“ครูจะไม่ออกคำสั่ง แต่จะตะล่อมๆ ถามนักเรียนไปเรื่อยๆ เช่น นักเรียนเสนอให้ออกท้องที่ ครูก็จะถามว่าไปที่ไหน สำรวจที่ไหน ไปได้ไหม เหมาะกับเราไหม หรือนักเรียนบอกว่าจะไปทะเล ครูต้องถามกลับว่าเหมาะไหม เวลาไปก็ต้องเหมาเรือ ใช้เงินเท่าไหร่ เรามีเงินเท่าไหร่ แล้วนักเรียนก็จะไม่ไป ทำให้เด็กรู้สภาพปัญหา และวางแผนการทำงานกันใหม่”
อีกบทบาทที่สำคัญของครูคือการดึงศักยภาพเด็กออกมา
“ต้องเริ่มจากได้คลุกคลีกับเด็กนักเรียน ดูความสามารถของเขาว่าเก่งด้านไหน อย่างแรกคือเขาจะแบ่งงานกันทำอยู่แล้วตอนทำงานกลุ่ม ใครเก่งด้านไหนก็จะให้ทำด้านนั้น ใครพูดเก่งก็นำเสนอ บางคนค้นคว้าเก่งก็ค้นคว้า ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ครูต้องมีความอดทน รอให้เด็กพูดหรือนำเสนอออกมาเอง เพื่อการกระตุ้นให้เด็กคิด”
หรือวิธี ‘ให้คำชม’ ก็มีผลดีต่อนักเรียน เพราะทำให้เด็กกล้าแสดงออกและมีความมั่นใจมากขึ้น
“เด็กคนนี้อ่านหนังสือไม่คล่อง พอครูเห็นว่ามันมีบทง่ายๆ ก็ให้มาอ่านรายงาน จะชมเขาว่า เห็นไหมว่าเก่ง เก่งไหม เพื่อนรายงาน รายงานเสร็จก็ปรบมือ เราต้องชมเขา ทำให้เขาภูมิใจ เขาก็จะอยากเรียน”
นักเรียนบางคนไม่เก่งเรื่องวิชาการ ชอบเล่นดนตรี ก็สามารถนำความสามารถพิเศษของตนเองมาประยุกต์ใช้กับโครงงานได้ เช่น เมื่อถึงเวลาต้องนำเสนอผลงาน เด็กๆ ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้การนำเสนอน่าสนใจ
“นักเรียนกลุ่มหนึ่งทำเรื่องการลดปริมาณการใช้โฟม เพื่อลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อม ให้เพื่อนในกลุ่มเล่นอูคูเลเล่ อีกคนหนึ่งสีไวโอลิน แล้วแต่งเพลงเรื่องลดการใช้โฟม โดยใช้ทำนองเพลงปักษ์ใต้ ปรากฏว่าคุณครู ผู้ปกครองที่มาดูการนำเสนองานติดใจ จนต้องถ่ายวิดีโอเก็บไว้ นี่คือสิ่งที่ครูมองเห็น แล้วดึงศักยภาพของนักเรียนออกมาเพื่อให้นักเรียนมีความมั่นใจ และกล้าทำในสิ่งที่ตัวเองรัก”
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความรู้ที่นักเรียนได้รับ เมื่อผู้เรียนศึกษาหาข้อมูลตามความสนใจของตนเอง เขาจะสามารถจดจำเนื้อหาได้อย่างแม่นยำ ยกตัวอย่าง โครงงานฟอสซิล ซึ่งปัญทำไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว แต่วันนี้ก็ยังสามารถเล่าเรื่องฟอสซิลได้อย่างคล่องแคล่ว
“ผมและเพื่อนๆ มาดูพื้นที่ ดูหิน แล้วก็กระเทาะ เราจะเลือกกระเทาะหินตะกอน มันมีลักษณะเป็นชั้นๆ เราจะกระเทาะตรงบริเวณชั้นของหิน กระเทาะเบาๆ ไม่ต้องแรงมาก พอมันแตกก็แกะออกมาแล้วจะเห็นฟอสซิล” ปัญเล่าให้ฟังอย่างฉะฉานในวันที่อาสาเป็นมัคคุเทศก์น้อยพานักท่องเที่ยวเยี่ยมชมอุทยานธรณีสตูลเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา