- ทองคำ เจือไทย หญิงแกร่งวัย 67 จากเกษตรกรขึ้นต้นตาล-เคี่ยวตาล ชีวิตพลิกผันมาเป็นนักวิจัยชาวบ้าน เป็นหัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสมโดยโรงเรียนและชุมชนวัดศรีสุวรรณคงคาราม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
- เริ่มจากความสงสัยว่าทำไมอาชีพจับปูแสมถึงหายไปจากชุมชน สู่การลงมือทำวิจัย เป้าหมายหลักของโครงการไม่ใช่การเพิ่มจำนวนปู แต่เป็นประสบการณ์การทำงานกับคน ฝึกค้นให้เจอปัญหา ตั้งคำถาม และสร้างสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม
- การทำวิจัยครั้งนี้ ช่วยคืนความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนในชุมชนโดยเฉพาะเด็กๆ แม้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างทางป้าจะท้อ เหนื่อย อยากล้มเลิกตลอดเวลา
- ป้าทองคำ เป็นตัวอย่างของผู้สูงวัยที่ทำให้เห็นว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้ ถึงแม้เป็นชาวบ้านก็ลุกขึ้นมาเป็นนักวิจัยและผู้นำชุมชนได้
เข็มนาฬิกาบอกเวลาตี 4 ทุกเช้าป้าทองคำจะต้องตื่นมาทำกับข้าว หุงหาอาหารเตรียมไว้เป็นมื้อเช้าสำหรับลูกๆ มือเป็นระวิงจนถึง 8 โมงจนส่งลูกๆ ไปโรงเรียนเรียบร้อย ก็ได้เวลาหยิบมีดพร้าเล่มยาวเดินเข้าสวนตาล เตรียมเนื้อตัวและใจให้พร้อมเผชิญกับความสูง
‘ป้าทองคำ’ หรือ ทองคำ เจือไทย กับสามี เป็นชาวแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ทั้งคู่มีอาชีพทำสวนตาล เก็บตาลลงมาเคี่ยว บรรจุลงปี๊บขายให้พ่อค้าในตลาด เป็นอาชีพหลักที่จุนเจือครอบครัว จนป้าและลุงส่งลูกเรียนจบทั้ง 4 คน
ป้าเริ่มขึ้นตาลครั้งแรกหลังแต่งงานกับลุงตอน ป้ายังจำความรู้สึกนั้นได้ดี ตอนนั้นอายุแค่ 22 ปี
“ป้าร้องไห้ ต้องร้องไห้หลายหน กว่าจะขึ้นเป็น มันกลัวตก ขึ้นแล้วก็ลงอยู่อย่างนั้นหลายรอบ” ป้าทองคำบอก
“วันหนึ่งป้ากับลุง ต้องขึ้นตาลสองรอบ จะได้ประมาณสองปี๊บ เหนื่อย ไม่มีเวลาพัก ขึ้นตาลรอบแรกช่วงเช้า พอเคี่ยวเสร็จก็ประมาณเที่ยง จากนั้นก็ต้องหุงข้าวเตรียมไว้ตอนเย็น แล้วเดี๋ยวเย็นก็มาขึ้นต่อ” ป้าอยู่กับการทำตาลมาเกือบทั้งชีวิตจนปัจจุบันอายุ 67 ป้าตัดสินใจหยุดทำอาชีพนี้อย่างถาวรไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อนเพราะสุขภาพร่างกายไม่เอื้อ ทำให้งานหลักในชีวิตประจำวันของป้าเหลือแค่การเลี้ยงหลานและดูแลปากท้องคนในบ้านเท่านั้น
ย้อนไปสมัยยังโสด ป้าทองคำไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องมาปีนต้นตาลหรือเคี่ยวตาลขายมาก่อน ตอนเด็กๆ ป้าอาศัยอยู่กับแม่ที่เป็นแม่ค้ารับซื้อปูแสม ป้าเห็นแม่นำปูมาดองและส่งไปขายกรุงเทพฯ แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป ชุมชนที่ป้าอาศัยอยู่ก็เปลี่ยนตาม นอกจากคนในรุ่นแม่แล้ว ป้าทองคำก็ไม่เห็นใครทำอาชีพจับปูแสมอีกเลย
แต่ไม่รู้ว่าชะตาหรือฟ้าลิขิต เมื่อเวลาผ่าน ป้าทองคำจับพลัดจับผลูกลายเป็นนักวิจัยชาวบ้านโดยไม่ตั้งใจ และไม่น่าเชื่อว่างานวิจัยที่ป้าลงแรงศึกษานานถึง 3 ปี คลุกอยู่กับมันจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ…
“นักวิจัยชาวบ้านด้านปูแสม” น่าจะเป็นคำที่เหมาะกับป้าทองคำมากที่สุด
จากชาวสวนปีนต้นตาลกลายมาเป็นนักวิจัยชุมชนได้อย่างไร
เรื่องปูแสมไม่เคยอยู่ในหัวป้ามาก่อน ป้าไม่ได้คิดจะทำตรงนี้เลย เพราะทำตาลก็เหนื่อยจะตายอยู่แล้ว เรื่องมันเริ่มปี 2546 โรงเรียนวัดศรีสุวรรณคงคาราม โรงเรียนลูกสาว วันหนึ่งครูเขาเชิญป้าไปเป็นคณะกรรมการประธานศึกษา เพราะลูกเรียนดี นิสัยดี (ดูจากตรงนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ) ป้าได้เข้าไปเป็นกรรมการอาสา ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าครูเชิญป้าไปทำไม แต่ได้ยินว่ามีนโยบายให้โรงเรียนทั่วประเทศจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น คงเป็นเหตุผลที่ครูเชิญป้าไปในฐานะเป็นผู้ปกครอง
ครูบอกกำลังจะเริ่มทำหลักสูตรท้องถิ่น แต่ครูไม่มีความรู้ จึงเชิญพ่อแม่มาช่วยกัน ครูอธิบายว่าหลักสูตรท้องถิ่นคือการให้เด็กๆ กลับมาเรียนรู้อาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษในชุมชนตัวเอง ครูจึงให้ผู้ปกครองทุกคนลองเสนออาชีพที่ตัวเองทำอยู่ขึ้นมา บางคนทำตาล บางคนก็เย็บผ้าขาย บางคนก็รับจ้าง
ตอนนั้นป้านั่งฟัง ทุกอาชีพมันน้อยลงจริงด้วย เพราะคนเปลี่ยนอาชีพหันไปทำโรงงานกันหมดแล้ว แต่บางอาชีพที่ผู้ปกครองคนอื่นพูดมาก็ยังมีให้เห็นอยู่ในหมู่บ้าน
ป้าเลยเสนอ ‘อาชีพจับปูแสม’ เป็นอาชีพที่แม่ป้าเคยทำ เพราะอาชีพนี้มันหายไปจริงๆ ไม่มีคนในชุมชนทำอาชีพนี้เลย อีกอย่างป้ามองว่าอาชีพจับปูมันสามารถทำได้ทุกคนแม้กระทั่งเด็ก ครูจึงสนใจ
อีกอย่างถ้าอาชีพจับปูกลับคืนมา มันจะสร้างรายได้ให้คนในชุมชนได้ง่ายมาก ออกจับปูตอนหัวค่ำ พอเช้าก็ได้ตังค์แล้ว ทำให้คนไม่ยากจน ไม่ต้องรอพ่อค้ามาซื้อ เพราะมีคนซื้ออยู่ในหมู่บ้าน ถ้าขายไม่ได้ก็เอาไปทำอาหารกินเองในครอบครัว แถมตอนที่ออกไปจับปูก็สามารถจับกบไปด้วยได้ สร้างรายได้อีกทาง
แต่ในเมื่ออาชีพจับปูแสมมันหายไปแล้ว ป้าทำงานต่ออย่างไร
ตอนที่ป้าเสนออาชีพนี้ทุกคนในชุมชนก็ว่า “เสนอไปได้ยังไง” “อาชีพมันหมดแล้ว” และ “ไม่มีทางกลับมาหรอก” ทุกคนต่างค้าน มีแต่ครูเท่านั้นที่สนใจ เพราะมันท้าทาย แต่มันก็ไปสุดแค่นั้น ขนาดป้าเองที่เป็นคนเสนอก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ด้วยวิธีไหน ให้อาชีพนี้กลับมา มันตันไปหมด แต่โชคดีที่ได้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. เข้ามาช่วยตั้งคำถามและกระตุ้นว่าจะไปทางไหนต่อ (ขณะนี้ สกว. ได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) )
ป้ามีวิธีการหรือขั้นตอนการทำวิจัยอย่างไร
ตอนนั้นป้าไม่รู้อะไรเลย รู้เรื่องแค่การจับปู การดองปู การขาย แต่ป้าไม่รู้ว่าปูมันอยู่อย่างไร มันเลี้ยงได้ไหม ไม่รู้จะไปถามใครเพราะอาชีพนี้ไม่มีใครทำแล้ว สกว. เขาเชิญคนจับปูแสมตัวจริงมาพูดคุยกันในเวที คนจับยืนยันว่าปูแสมเลี้ยงไม่ได้ เพราะว่ามันกินดิน กินใบไม้ ต้องอยู่กับน้ำสะอาด ต้องอยู่ในรูตามธรรมชาติ
พอเจอข้อมูลแบบนี้ป้าก็ตันไปต่อไม่ถูก เหนื่อย ท้อ ยาก ทางครอบครัวก็ไม่เข้าใจ ตอนนั้นป้าเริ่มออกจากบ้านบ่อยเพราะต้องไปประชุม “ก็งานวิจัยมันทิ้งไม่ได้เนอะ (หัวเราะ)” ตอนนั้นป้าอยากเลิกทำมากๆ บอกครูว่า “ครูทำไปเถอะ ป้าไม่ไหวแล้ว” แต่ครูก็พยายามให้ป้าไปต่อ เพราะป้าเป็นเจ้าของเรื่อง ป้าก็ต้องไปต่อ
เราจึงมาตั้งโจทย์กันใหม่ ว่าเราต้องการอะไร คำตอบคือเราต้องการให้เด็กในหมู่บ้านรู้เรื่องปูแสมให้ได้ ป้าจึงตัดสินใจพาเด็กไปเรียนรู้กับคนจับปูแสมตัวจริง ไปดูซิว่า ปูมันอยู่ยังไง ปูมันกินอะไร ไปดูสภาพแวดล้อม เดินทางไปกับเขา ศึกษาชีวิตปู เอาให้ชัดไปเลย ในเมื่อปูแสมมันเลี้ยงเองไม่ได้ใช่ไหม แต่เรารู้สาเหตุแล้วว่าปูมันอยู่อย่างไร ปูมันกินอะไร ดังนั้นเราก็ต้องรู้ว่าต้องทำอย่างไรให้ปูมันกลับมา
ซึ่งต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดมันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราต้องไม่ทิ้งสารเคมีในหมู่บ้าน ที่ปูมันหายเพราะเกิดจากการขุดบ่อ โค่นต้นไม้ป่าชายเลน เอารถแม็คโครไปตัก รูปูพัง ปูก็จะหนีไปเรื่อยๆ โดนรุกพื้นที่ไปเรื่อยๆ
แต่กว่างานวิจัยสำเร็จ คาดว่าน่าจะใช้เวลานาน ช่วงนั้นเจอกับความยากลำบากอะไรบ้าง
เช่น ตอนที่จะพาเด็กไปเรียนรู้เรื่องปู ต้องไปอยู่กับคนจับปู ซึ่งเวลาออกไปหาปูต้องออกไปกลางคืน กลับเข้ามาตอนเช้า เพราะตอนกลางวันปูจะอาศัยอยู่ในรู ตอนนั้นป้าก็กลัว ครูเขาก็กลัว กลายเป็นว่าเราก็ตันอีก สกว. ต้องเข้ามากระตุ้น เพื่อให้เราอย่ายอมแพ้และไปต่อ
เมื่อป้ารู้ที่มาที่ไปของอาชีพนี้แล้ว จะทำหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาได้อย่างไร
ก็ต้องให้เด็กลงมือทำ ไม่ใช่ดูเฉยๆ หลังจากตกผลึกเรียบร้อย มันจึงเกิดเป็น โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูปูแสมโดยโรงเรียนและชุมชนวัดศรีสุวรรณคงคาราม ขึ้นมา เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นคนในชุมชน ทั้งครู ทั้งเด็ก ทั้งผู้ปกครอง และมีการกำหนดขอบเขตในการเริ่มทำวิจัยขึ้นมา
ย้อนไปตอนนั้น ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงออกคำสั่งให้ขุดบ่อหลังโรงเรียน ทดลองเอาปูแสมมาเลี้ยง เพื่อทำพื้นที่ให้เด็กไปเรียนรู้ จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล แต่มันก็มีอุปสรรคมากมาย เพราะผู้ปกครองบางคนก็ไม่เข้าใจ บอกว่า บ่อเป็นที่เพาะยุงบ้าง, กลัวเด็กตกบ่อตายบ้าง ป้าโดนกดดันทุกทาง จนรู้สึกว่า งานวิจัยมันโคตรยาก ทำไมเราต้องมาทำอะไรแบบนี้ด้วย ต้องใช้เวลานานเท่าไรกว่าคนอื่นจะเข้าใจ
แต่ป้ากับครูพยายามพาเด็กๆ ลงไปพื้นที่ให้เห็นของจริงมากที่สุด ป้าจะให้เด็กๆ เตรียมกระดาษ ปากกา ดินสอ ลงไปสำรวจ โดยที่ไม่บอกว่าต้องทำอะไร ต้องเขียนอะไร จากนั้นเมื่อกลับมาครูจะทวนบทเรียนกับเด็ก ชวนกันถอดบทเรียนว่าเราเห็นปัญหาอะไร และจะแก้อย่างไร มันทำให้ป้าสนุกมากขึ้น
อีกอย่างป้ามีโอกาสเข้าไปเวทีงานวิจัยใหญ่ๆ ไปศึกษาว่าคนอื่นเขาจัดการปัญหาในพื้นที่ของตัวเองอย่างไร ไปแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม แล้วเอามาปรับใช้กับเรา
พอเรารู้ข้อมูลต่างๆ ป้าก็กลับมาจัดเวทีคืนข้อมูลให้ชาวบ้านชุมชนบ้าง เอาโครงการของเราที่ทำกับโรงเรียนมาเป็นตัวตั้ง จัดเวทีคืนข้อมูลทำให้ชาวบ้านรู้ถึงสาเหตุที่ปูหาย สาเหตุที่ทำให้อาชีพนี้หาย
ชาวบ้านสะท้อนความคิดเห็นบอกป้าเป็นเสียงเดียวกันว่า “ใช่เลย ปูหนีออกไปไกลเรื่อยๆ เพราะการบุกรุกของคน” ปูแสมมันไม่ได้หายไปไหน แต่มันหนีไปไกล มันถอยห่างเราออกไป คนจับก็ต้องไปไกลกว่าจะถึง จนกลายเป็นอาชีพที่เลิกไป ถ้าจะให้กลับมา คนในชุมชนก็ต้องเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสำหรับปู แล้วเขา(ปู)จะกลับมา
บทสรุปของโครงการนี้ ปูแสมกลับมาไหม แล้วเด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรผ่านงานวิจัยของป้า
ไม่มีใครเชื่อว่าปูแสมจะกลับมา แต่หลังจากทำพื้นที่ที่เหมาะสมกับปู ไม่กี่เดือนชาวบ้านบอก มันเริ่มกลับมาแล้ว ตอนนั้นคนในชุมชนต่างฮือฮาที่เห็นรูปูอยู่ข้างบ้าน เวลานั้นไม่ใช่ปูแสมอย่างเดียวที่หายไป ปูเล็กปูน้อย ปลาตีน งูปลา ปลา ปูเปรี้ยว ทุกอย่างหายไปหมด เพราะว่าสารเคมีที่ใช้โรยบ่อกุ้ง รวมถึงการปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีออกมาจากฟาร์มกุ้งต่างๆ ที่ทำให้ปูตาย งานวิจัยนี้ช่วยสรุปว่า ชุมชนต้องหันมารณรงค์ไม่ให้ใช้สารเคมีได้แล้ว ไม่ให้ทำลายถิ่นที่ปูชอบอยู่
ส่วนเด็กๆ หลังจากที่เขาเข้าใจปัญหา รู้สาเหตุ รู้ว่าต้องรักษาสิ่งแวดล้อม เขาก็มีวิธีแก้เป็นของตัวเอง บางคนห้ามพ่อแม่ไม่ให้ทิ้งสารเคมี บางคนก็มาฟ้องครู บางคนเขียนรายงานส่งครูว่าวันนี้หนูบอกพ่อแม่ว่าอย่างนั้น อย่างนี้
งานวิจัยเรื่องนี้มีวิธีการพาเด็กเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแบบไม่สอนได้อย่างไร
เด็กๆ จะกลับมาหาความรู้ด้วยตัวเอง พอเด็กลงพื้นที่ไปจดบันทึก เขียน วาดภาพ เขาจะอธิบายได้หมด นำเสนอได้หมด กลายเป็นความสนุก การพาเด็กไปเจอของจริงคือเทคนิคในการทำให้เขาเคลื่อนงานไปโดยที่เราไม่ต้องสั่ง เด็กรู้เอง การลงพื้นที่ทำให้เขาอยากรู้อยากเห็น เขาจะรู้สึกอยากไป พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนก็กลับมาบอกว่า เด็กกลับบ้าน ถามเรื่องปู ถามเรื่องรูปู ปูอยู่ยังไง กินใบไม้อะไร
มันทำให้ป้ารู้ว่า “อ๋อ ถ้าเราทำแบบนี้ นี่คือหลักสูตรท้องถิ่นที่เด็กรู้เอง” การที่เขากลับไปถามผู้ปกครองเอง ไปหาความรู้เอง แล้วก็ทำงานมาส่งครู เด็กเขียนรายงานเองได้ เขาออกไปหาคนที่เขาอยากถาม เขาวาดภาพส่ง มานำเสนอหน้าชั้น เขียนบทความเป็นเรื่องราว ครูเขาก็บอกว่าไม่น่าเชื่อเลย
แต่สำหรับป้าการที่เด็กมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมติดตัว นี่ไงหลักสูตรท้องถิ่นสำเร็จแล้ว
ตั้งแต่วันแรกที่ป้าบอกว่าเรื่องปูแสมไม่ได้อยู่ในหัวเลย จนวันที่ป้าเข้าสนามวิจัย เริ่มจะเป็นนักวิจัย ผ่านความท้อ ความยาก ผ่านแรงปะทะ ความกดดัน ทางตัน ทั้งหมดนี้มันให้อะไรกับป้าบ้าง
มันให้ประสบการณ์เยอะ เราต้องสู้ เคยถามตัวเองว่าเราต้องสู้เพื่ออะไร ตังค์ก็ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คนอื่นอาจจะไม่เข้าใจ มันไม่ใช่แค่เงิน ชีวิตคนไม่ใช่อยู่ด้วยการมีเงินอย่างเดียว หรือว่าการไปนั่งฟังพระเทศน์ มันอธิบายยาก การเสียสละไม่ใช่ไปเก็บขยะนะ
ทุกวันนี้ป้าเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่ป้าทำคือการทำเพื่อบ้านเมืองตัวเอง ทำเพื่อชุมชน โดยที่เราไม่ต้องบอก เราไม่ต้องอธิบาย
วันที่ป้าเห็นปูกลับมา ป้ารู้สึกยังไงบ้าง
รู้สึกว่าเราทำสำเร็จแล้ว แต่ตัวป้าก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเห็นปูกลับมานะ เป้าหมายคือการให้เราเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เขาไม่ได้บอก 1-2-3-4 ว่าเราต้องทำอะไร แต่เราเรียนรู้เอง เรียนรู้ตั้งแต่เราเริ่มออกจากบ้าน
เช่น การที่ป้าไปนั่งอยู่ในเวทีนำเสนองานวิจัย ทำให้ป้าได้ไปเจอคน มันแปลกประหลาด มันไม่ใช่กลุ่มคนที่เคยเจอ ไม่ใช่กลุ่มชาวบ้าน มันไม่ใช่กลุ่มงานวัด งานบวช งานแต่ง ที่พูดเรื่องชีวิตในบ้าน แต่ดันพาพูดเรื่องอะไรก็ไม่รู้ พาไปเข้าใจเรื่องใหม่ๆ แชร์ปัญหา แชร์วิธีแก้ ที่สำคัญคือการลงมือทำ ฟัง คิด วิเคราะห์ แล้วมันประจักษ์ด้วยตัวเราเอง ทุกอย่างต้องลงมือ แล้วมันเปลี่ยนชีวิต-เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมได้
จึงเป็นเหตุทำให้ป้าได้ทำงานต่อยอดโครงการ Active Citizen ด้วยใช่ไหมคะ
สำหรับโครงการ Active Citizen ป้าได้เข้าร่วมเพราะทาง สกว. ชักชวน เขารู้ว่าป้าทำงานตรงนี้ เข้าใจวิธีการทำวิจัย ทั้งที่เราก็แก่ป่านนี้ มันเป็นโครงการของเด็กวัยรุ่น ตอนแรกป้าก็งงจะให้ไปดูอะไร แต่ก็มองว่ามันเป็นโอกาสที่ดี ป้าก็ไป เพราะนิสัยอยากรู้อยากเห็นด้วย (หัวเราะ)
ใน Active Citizen หน้าที่ของป้าก็เริ่มตั้งแต่ดูโครงการของเด็กๆ ดูวัตถุประสงค์ ดูประโยชน์ที่จะได้รับ คอยช่วยลำดับภาพ คอยคอมเมนต์ เพราะว่าเราโดนมาเยอะเนอะ ถ้าใครไม่ได้ผ่านประสบการณ์มาก่อนจะยาก ป้าเหมือนเห็นภาพตัวเองตอนที่ทำวิจัย เวลาเขาตันไปต่อไม่ได้ ก็จะเข้าไปช่วย มองหาช่องและจังหวะ ไม่ซ้ำเติม
อยากให้คุณป้ายกตัวอย่าง อะไรที่เด็กๆ นำเสนอมาแล้วคุณป้ามีคอมเมนต์เพิ่มเติม
เช่น การตั้งหัวข้อโครงการ การจะทำโครงการอะไรต้องทำให้ชัด ถ้าตั้งชื่อโครงการยังไม่ชัดมันจะไปต่อไม่ได้ ป้าจะช่วยตั้งคำถามกับเด็กๆ กระตุ้นให้เขาคิดว่าเขาจะทำโครงการอะไรกันแน่ ลองเล่าให้ป้าฟังหน่อย เคยมีเด็กกลุ่มหนึ่งจะทำโครงการเรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้านในการรักษา แต่งานที่เด็กๆ นำเสนอ มันทำยากเกินไปเมื่อเทียบกับข้อจำกัดและเวลา จะต้องไปทดลองรักษาโรคจริงๆ มันยากเกินและใช้เวลามาก ถ้าเปลี่ยนเป็นการกินสมุนไพรพื้นบ้านแทน มันน่าจะง่ายขึ้นและใช้เวลาเหมาะสม
ป้าต้องการแค่ให้เด็กอยากทำ ทำแล้วบอกได้ว่าสิ่งที่ตัวเองลงมือทำกับมือมันเกิดอะไรขึ้น และเขาได้เรียนรู้อะไร ใช้เปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไร
กลับมาทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ๆ เป็นยังไงบ้างคะ
เด็กรุ่นใหม่ ไม่เหมือนเด็กเล็กๆ ในโรงเรียนที่ป้าเคยทำงานด้วย เด็กรุ่นใหม่เขาจะไม่มีเวลามาก แต่ใจเขายังใช้ได้อยู่ เด็กๆ เขามีพลังของการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว เพียงแต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการที่ผู้ใหญ่หรือหน่วยงานต่างๆ จะให้เขาเดินอย่างไร
พอทำงานกับเด็ก ป้ามีวิธีการอย่างไร ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเราไม่ไปสอนหรือสั่งเขา แต่เป็นการทำงานด้วยความเข้าใจ
เราทำงานกับเด็ก ก็ต้องทำตัวเป็นเด็ก ลงไปสนิทกับเขา ถ้าเราไม่สนิทกับเขา เรามีความต่างด้านอายุ เขาจะไม่ไว้วางใจ ไม่อยากพูดกับเรา ป้าจะใช้วิธีเข้าไปรู้เรื่องของพวกเขาให้เป็นอัตโนมัติ เมื่อเด็กๆ มานำเสนอโครงการ เวลากินข้าว นั่งเล่น เราก็เข้าไปคุยกับเขา เพื่อจะให้เขาผ่อนคลาย พอเขาวางใจเรา พอถึงเวลาเราต้องนำ เขาก็จะเปิดใจ เข้าไปเป็นเพื่อน หาจังหวะเอาจริงเอาจังในงาน เราต้องจับให้ได้ว่าตรงไหนคือจุดบกพร่องที่ต้องเติมเต็ม
การทำงานครั้งนี้ป้าได้แลกเปลี่ยนอะไรกับเด็กรุ่นใหม่บ้าง
อาจจะไม่ได้แลกเปลี่ยนตรงๆ แต่ใช้วิธีแลกเปลี่ยนผ่านการตั้งคำถามกลับไป ป้ามองอีกมุมที่เด็กและพี่เลี้ยงมองไม่เห็น พอเห็นว่าจุดไหนที่ขาด เราก็ซัดเลย
ในฐานะที่ป้าอยู่กับคำว่าเรียนรู้มาตลอด เป็นทั้งนักวิจัย เป็นทั้ง Mentor ให้กับเด็กๆ สิ่งเหล่านี้ให้อะไรป้าบ้าง
ป้ามีมุมมองว่าทั้งหมดที่ผ่านมา ป้าเรียนรู้ไปเพียงขี้ปะติ๋วเดียว…มันยังมีเรื่องราวอีกเยอะที่เรายังไม่รู้ เราทำงานแบบคนตัวเล็ก เราไม่ได้ตัวใหญ่มาก แต่เราต้องพยายามในสิ่งที่เราทำอยู่ให้มากๆ เพราะในโลกมีเรื่องราวให้เรียนรู้อีกกว้าง
สิ่งที่ทำให้ป้าสนุกกับการใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้คืออะไร
เพราะป้าได้เรียนไปเรื่อยๆ ล่ะมั้ง ป้าคิดว่าสิ่งที่ป้าออกจากบ้านไปทำ คือ การเรียน
มันได้มองในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น มองอีกด้านหนึ่งของชีวิตคน มันไม่น่าเบื่อเลย เราเห็นความรู้ที่เราเคยรู้จากคนโบราณเอามาปรับใช้กับยุคสมัย ถ้าเราอยู่กับที่ชีวิตเราจะดักดาน ไม่มีรสชาติ ป้าบอกกับคนที่บ้านตลอดเลย “ฉันจะไป ห้ามฉันไม่ได้หรอก (หัวเราะ)”
คนบอกว่า โอ้ย อายุป่านนี้ทำไมไม่อยู่บ้าน “ก็เนี่ย…ชีวิตฉัน พอสาวๆ ชีวิตเป็นของลูกและผัว ต้องทำงานเพื่อลูก ต้องขึ้นตาล แต่พอตอนแก่ ฉันเป็นเจ้าของชีวิตตัวเองแล้ว ขอทำอะไรที่อยากทำบ้าง”
ทุกวันนี้มีคนสูงวัยจำนวนไม่น้อย ที่คิดว่าตัวเองเป็นภาระ ไม่มีคุณค่า แต่ฟังจากเรื่องที่ป้าเล่า ป้าไม่น่าจะคิดแบบนั้น?
ป้าไม่ได้รู้สึกมานานแล้วว่าเราเป็นภาระของใคร เพราะเราไม่เคยทำตัวให้เป็นแบบนั้น เราอยากทำอะไรก็ทำด้วยตัวเองหมด ป้าคิดว่าตัวเองใช้ชีวิตได้คุ้มแล้ว ไม่ได้ทำตัวเองอย่างเดียว ทำเพื่อลูก ครอบครัว เราเต็มที่หมด อาจจะเป็นที่นิสัยและความคิดด้วยที่ทำให้เราเป็นคนแบบนี้ เราไม่อยากให้ใครมาเดือดร้อนเพราะเรา
จะสื่อสารอะไรไปถึงเพื่อนๆ สูงวัย ที่อาจจะกำลังเฉาๆ หรือมองว่าตัวเองแก่แล้ว
เรื่องแบบนี้มันเป็นที่ความคิดของแต่ละคน ถ้าเขาออกไปพบปะ แลกเปลี่ยน ได้ไปคุยกับคน ออกไปเห็นโลก อาจจะเปลี่ยนความคิดของเขาก็ได้ ป้าโชคดีที่ได้ออกไปทำเพราะมีโครงการให้ทำ มันมอบอีกชีวิตหนึ่งให้เราเลย มันคือชีวิตคนละม้วนกับที่บ้านเลย
ป้าทองคำตอนอยู่บ้าน กับ ป้าทองคำตอนอยู่ข้างนอก ต่างกันอย่างไรบ้าง
ตอนอยู่บ้านทำทุกอย่าง หุงข้าว กวาดบ้าน ล้างถ้วยชาม เราทำคนเดียว พอออกไปข้างนอกเราไปได้นั่งสบายไปคอมเมนต์คนอื่นด้วย (หัวเราะ) ป้าเป็นคนทำงานบ้านอยู่แล้วนะ แต่การออกไปข้างนอกเราก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง อยู่บ้านเราเจอแค่ลูก อยู่ข้างนอกเราต้องไปคอมเมนต์ลูกคนอื่น จะทำอย่างไร ใช้คำพูดแบบไหน เพราะเขาก็ไม่ใช่ลูกเรา ดังนั้นเราต้องคิด วิเคราะห์ เพราะเด็กที่เราทำงานด้วยเขาก็มีความหลากหลาย เป็นโอกาสและกำไรชีวิตของป้าที่ได้รู้จักคน
ถ้าวันนั้นป้าทองคำไม่ได้เป็นนักวิจัย ไม่ได้เข้าโครงการ Active Citizen มองภาพตัวเองเป็นอย่างไร
ก็คงเป็นคนแก่ๆ อยู่กับบ้าน (หัวเราะ) คงไม่ได้ออกไปไหน ไปตลาด งานแต่ง งานบวช อย่างดีก็คงไปวัดเหมือนคนอื่น หาอะไรทำไปเรื่อย สุดท้ายคงจบที่การไปนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย เพราะเราคงอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ล่ะมั้ง