- จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ แค่อยากแก้ปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่ของเด็กๆ ในชุมชน กลายเป็นการศึกษาและทำโครงการเกี่ยวกับ ‘ขยะ’ อย่างจริงจัง ทั้งการหาข้อมูลสถานการณ์ขยะด้านต่างๆ ประเภทขยะ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะ การแยกประเภทขยะ รวมถึงวิธีการจัดการขยะที่เหมาะสมกับชุมชนและสอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม
- ยายใหญ่และทำกันอย่างจริงจังในชื่อ โครงการศึกษาสภาพปัญหาขยะเพื่อออกแบบวิธีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในศูนย์การศึกษาอิสลาม โดย ‘กลุ่มเยาวชนคลองโต๊ะเหล็ม’ และคนในชุมชนบ้านโคกพยอม ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ถังขยะดีไซน์แปลกตาที่ประดิษฐ์จากขวดพลาสติกเหลือใช้วางกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในชุมชนบ้านโคกพยอม ไม่ใช่ผลงานศิลปะของศิลปินท่านไหน แต่เป็นการรังสรรค์อย่างมีส่วนร่วมของ ‘กลุ่มเยาวชนคลองโต๊ะเหล็ม’ และคนในชุมชนบ้านโคกพยอม ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในหลายชุมชนทุกวันนี้หนีไม่พ้นเรื่อง ‘ขยะ’ แม้บ้านโคกพยอมจะไม่ได้มีปัญหาขยะล้นเมืองถึงขั้นวิกฤติ แต่พฤติกรรมทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทำให้ ฮัสนา–นรินยา สาหมีด ครูประจำศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด เกิดแนวคิดที่จะหาแนวทางจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมเพื่อชุมชนและสังคม
“หนูเป็นครูสอนอยู่ที่ศูนย์ตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) ระหว่างทางเดินกลับบ้านพร้อมเด็กๆ จะมีร้านค้า เด็กๆ ก็มักจะแวะซื้อขนม แต่พอกินเสร็จแล้วก็ทิ้งห่อขนมตรงนั้นเลย เห็นบ่อยๆ เข้าก็เริ่มรู้สึกว่าเราควรจะแก้ปัญหาในจุดนี้ เราอยากจะให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกในตัวเด็ก และอยากให้จำนวนขยะลดลง” ฮัสนาเล่าเหตุการณ์ที่จุดประกายความคิดให้เธออยากทำโครงการ
โครงการศึกษาสภาพปัญหาขยะเพื่อออกแบบวิธีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในศูนย์การศึกษาอิสลาม จึงถูกริเริ่มขึ้นภายใต้การดำเนินงานของ ฮัสนาและทีม คือ เขาทราย-พงษ์ศักดิ์ เจะหลัง, นลนี่-แอลนิตา นิล๊ะ, กิ๊ฟรอน-กิ๊ฟรอน หลงหัน และไลลา-นาตยา สาหมีด ทั้งหมดเป็นเยาวชนแกนนำของมูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี ทำหน้าที่ส่งเสริมและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนในชุมชนโคกพยอม พวกเขาจึงมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมมาบ้าง
“ความจริงขยะไม่ใช่ปัญหาหลักของชุมชนที่นี่ แต่เด็กๆ เคยศึกษาข้อมูล เจอวิดีโอวาฬ* เกยตื้นตายและในท้องมีถุงพลาสติก ซึ่งต้นเหตุจริงๆ มาจากฝีมือมนุษย์ ก็เห็นว่าบ้านเราเป็นชายฝั่ง ฉะนั้นเราควรมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ พอบังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ โค้ช และผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล) ชวนทำโครงการ เราเปิดโอกาสให้เด็กๆ คิดกันเองว่าเขาสนใจทำเรื่องอะไร จึงมาลงตัวที่เรื่องนี้ ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกับคนในชุมชนด้วย
“ตอนแรกเด็กๆ ก็ตั้งเป้าว่าจะแก้ปัญหาขยะทั้งชุมชนเลย เราก็ชวนเด็กๆ คิดต่อว่า ขอบเขตของโครงการจะใหญ่เกินไปไหม เลยลดพื้นที่เหลือแค่ในศูนย์การศึกษาอิสลามก่อน ซึ่งฮัสนาเป็นครูสอนอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว” กุ้ง-ซานียะห์ สีหมะ เล่าให้ฟังถึงที่มาของโครงการในฐานะพี่เลี้ยง
ไม่ใช่แค่รณรงค์เลิกทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่ต้องศึกษาประเภทและที่มาของ ‘ขยะ’ ด้วย
แม้จะเห็นขยะอยู่จนชินตา แต่ทีมงานก็ยอมรับว่าพวกเธอไม่เคยรู้ว่าสถานการณ์ขยะรอบศูนย์ตาดีกาเป็นอย่างไร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ฮัสนาและทีมงานจึงร่วมกันออกแบบกิจกรรม เริ่มต้นจากการศึกษาสถานการณ์ขยะด้านต่างๆ ทั้งศึกษาประเภทขยะ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะ การแยกประเภทขยะ รวมถึงวิธีการจัดการขยะที่เหมาะสมกับชุมชนและสอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจขยะในศูนย์ตาดีกาและชุมชนบ้านโคกพยอม
ฮัสนาเล่าว่า เธอและสมาชิกในทีมช่วยกันคิดหาข้อมูลเกี่ยวกับขยะ รวมถึงค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหาขยะ บางคนหาจากอินเทอร์เน็ต บางคนหาจากหนังสือ
“พยายามหาเนื้อหาและสรุปว่าอะไรคือเนื้อหาสำคัญจริงๆ ที่เกี่ยวกับโครงการของเรา แล้วก็ลงพื้นที่สำรวจขยะในชุมชน ให้เด็กๆ เก็บขยะรอบหมู่บ้านในศูนย์ตาดีกา แล้วนำมาแยกประเภท ศึกษาปริมาณโดยการชั่ง เพื่อที่จะทราบว่าขยะแต่ละประเภทมีจำนวนเท่าไหร่”
จากการสำรวจของทีมงานพบว่าขยะจำพวกพลาสติก ขวดแก้ว ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ขวดน้ำ โดยถุงพลาสติกมีจำนวนมากที่สุด ส่วนขยะที่เป็นเศษอาหารพบน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านจะแยกไว้เพื่อนำไปทำปุ๋ย
“เมื่อรู้ว่าขยะส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก เลยคิดวิธีการจัดการพลาสติกโดยเริ่มรณรงค์จากจุดเล็กๆ ก่อน เช่น ให้เด็กๆ ลดการใช้ถุงพลาสติกตอนไปซื้อของ ถ้าเด็กซื้อน้ำก็ให้เด็กนำแก้วไปเอง หรือบ้านเราเองเป็นร้านค้า ก็จะบอกแม่ให้ช่วยบอกต่อกับเด็กๆ ว่าเวลามาซื้อน้ำ ให้นำแก้วของตัวเองมาซื้อแล้วจะลดราคาให้ ซึ่งได้ประโยชน์สองต่อคือ ลดขยะ และลดต้นทุนการซื้อแก้วของร้านด้วย นอกจากนี้ก็จะบอกเด็กตลอดว่าเวลาไปไหนพยายามให้ใช้ถุงผ้า ซึ่งในโครงการก็คิดว่าอยากจะทำกระเป๋าผ้ากับเด็กๆ ด้วย” ฮัสนากล่าว
นอกจากจะรณรงค์ให้น้องๆ ในศูนย์ตาดีกาที่ฮัสนาสอนเป็นประจำแล้ว เธอมองว่าแค่เด็กในศูนย์ตาดีกาอาจยังไม่พอ ฮัสนาจึงมองไปที่กลุ่มเด็กทีมฟุตบอลมาร่วมทำกิจกรรมกับเธอด้วย ฮัสนามองว่าหากจะรณรงค์แค่ปากเปล่าอาจจะเห็นผลช้า คนที่รับรู้ก็เป็นกลุ่มคนเดิมๆ นั่นคือเยาวชนที่เธอทำงานด้วย ฮัสนาจึงคิดที่จะทำป้ายประกาศเพื่อรณรงค์การทิ้งขยะและนำไปติดตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนเห็นและสะดุดตา เธอจึงเริ่มดำเนินการกิจกรรมด้วยการชักชวนน้องๆ ทั้งทีมฟุตบอลและเด็กในศูนย์ตาดีกากว่า 25 คน มาช่วยกันทำป้ายกระดาษแข็งติดกับฟิวเจอร์บอร์ดเขียนข้อความ เช่น อย่าทิ้งขยะ หรือ คำคมติดตรงร้านค้า หรือจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน
“ตอนทำป้ายรณรงค์ เราให้น้องๆ คิดคำกันเองว่าจะเขียนข้อความอะไรดี บางคนวาดภาพแทนคำพูดก็มี เราคาดหวังว่าการทำป้ายรณรงค์นี้น่าจะสะดุดตาคนในชมุชนบ้าง อย่างน้อยเขาเห็นป้ายที่เราติดก็จะไม่กล้าทิ้ง หรือทิ้งน้อยลง ซึ่งจากการสังเกตด้วยตาเปล่าพอเห็นอยู่ว่าขยะมีจำนวนบางตาลง” ฮัสนาเล่าความหวังและที่มาของการทำกิจกรรมในครั้งนั้นให้ฟัง
ที่มาของ ‘ถังขยะสร้างสรรค์’ ที่เกือบไม่ได้อวดโฉม
แค่ป้ายรณรงค์อาจยังไม่เพียงพอ ฮัสนาเริ่มคิดหาไอเดียหาในการจัดการขยะร่วมกัน นั่นคือการสร้าง ‘ถังขยะรีไซเคิล’
“ตอนแรกคิดว่าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับขยะเฉยๆ พอดีตอนนั้นมีขยะอยู่กองหนึ่งที่เก็บไว้ในร้านค้าก็คิดว่าจะจัดการอย่างไรดี เลยไปหาข้อมูลในยูทูบ เจอไอเดียการทำถังขยะรีไซเคิลจากไม้ไผ่ ก็ปิ๊งไอเดียว่าขยะพลาสติกน่าจะทำเป็นถังขยะได้ ประกอบกับที่ศูนย์ตาดีกามีถังขยะน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ งบประมาณก็มีไม่มาก เลยคิดว่าในเมื่อมาทำโครงการตรงนี้แล้ว ทำถังขยะเพิ่มจะดีไหม? เลยชวนเด็กๆ มาร่วมกิจกรรม ถือเป็นการให้ความรู้และปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะไปในตัว ก็เลยเริ่มคุยเรื่องนี้ในแชทกลุ่ม เช่น กลุ่มแกนนำเยาวชน กลุ่มทีมนักฟุตบอล”
‘การทำงาน’ กับ ‘อุปสรรคปัญหา’ ย่อมเป็นของคู่กัน เวลาที่ไม่ตรงกันของเพื่อนๆ ในทีมกลายเป็นชนวนความขัดแย้งให้โครงการเกือบไปไม่ถึงฝั่งที่ฝันไว้
“ช่วงหลังๆ เพื่อนไม่ค่อยมีเวลา งานจึงหนักอยู่ที่หนูคนเดียว เพราะบางคนต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย บางคนไปเรียนที่อื่น เขาจะให้เราตัดสินใจเองเพราะคิดว่าหนูทำได้ แต่จริงๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น หนูเจอปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดงาน ยิ่งวันที่ต้องไปนำเสนอโครงการ เพื่อนกลุ่มอื่นมากันเป็น 10 คน แต่กลุ่มเรามีหนูคนเดียว รู้สึกกดดันมากว่าทำไมเราต้องแบกรับภาระอยู่คนเดียว เดินร้องไห้ไปหาบังปิง (อับดุลอาสีด หยีเหม โค้ชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล) บอกว่าหนูไม่อยากทำแล้ว ไม่เอาแล้ว เหนื่อยแล้ว” ฮัสนาเล่าความคับข้องใจในขณะนั้น
‘ไม่อยากทำ ก็ไม่ต้องทำ’ คือคำพูดที่บังปิงบอกกับฮัสนาในตอนนี้ เนื่องจากรู้นิสัยกันดีว่า ถ้าถูกท้าทายเช่นนี้ เขาจะกลับมาทำงานและต้องทำให้ดี ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากที่บังปิงคิดไว้ ในที่สุดฮัสนาก็มีพลังใจกลับมาทำงานเหมือนเดิม
นอกจากความรู้สึกโดดเดี่ยว การต้องเผชิญกับปัญหากิจกรรมสร้างถังขยะรีไซเคิลซึ่งเป็นงานที่ใหญ่และยากรุมเร้าถาโถมเข้ามา ยิ่งทำให้ฮัสนาอยากถอดใจ แต่ด้วยแรงหนุนจากพี่เลี้ยงที่คอยชี้แนะและช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง คือพลังสำคัญที่ทำให้เขาผ่านบททดสอบที่ยากนี้มาได้
“หลังจากที่แชทบอกเพื่อนให้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ผลตอบรับคือ เพื่อนอ่านแต่ไม่ตอบอะไรกันเลย แต่หนูคิดแผนไว้ให้หมดแล้ว เพราะรู้นิสัยเพื่อนดีว่าเขาไม่ค่อยชอบมานั่งคิดอะไรเยอะๆ แต่ไม่ใช่หนูจะเอาความคิดตัวเองเป็นหลักนะ ในที่ประชุมถ้าเพื่อนไม่เห็นด้วยหรืออยากเสนอให้แก้ไขอะไรหนูก็ยอมรับได้ แต่ปัญหาที่หนูหนักใจมากกว่าคือ ไม่มั่นใจว่าจะมีชาวบ้านเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยหรือไม่ คิดกังวลจนเครียดไปหมด ไม่มั่นใจเลย” อัสนาเล่าความรู้สึก
ศักรินทร์ สีหมะ ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า ตลอดการทำโครงการ เราพยายามเปิดกว้างที่สุด เพื่อให้เขารู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่ข้างหลังเขา เขาต้องกล้าชนกับทุกปัญหาที่พบเจอ เพื่อให้เด็กหลุดพ้นจากการถูกครอบงำของความกลัว ให้เด็กกล้าเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเอง เราจะช่วยเมื่อถึงที่สุด บางกิจกรรมที่เด็กๆ เอาชาวบ้านไม่อยู่ เราจะคุยกันว่า ลองให้น้องสู้ดูก่อนสักตั้งหนึ่ง
“ตอนที่ทำถังขยะ เป็นงานยากมาก เขาทำคนเดียวไม่ได้เพราะว่าต้องเอาลวดมาขึงขวด ทำเป็นถังขยะ เราก็แกล้งทำเฉยๆ ดูว่าเขาจะทำยังไง ซึ่งเขาต้องพยายามดึงผู้ปกครอง ดึงรุ่นพี่ ดึงเด็กๆ ทีมฟุตบอลมาช่วย เขาจะใช้วิธีไหน เขานั่งรอเด็กๆ รอคนในชุมชนไม่ได้ แค่ทำโปสเตอร์ โพสต์ในเฟซบุ๊คเชิญชวนไม่พอ ต้องไปเคาะประตูบ้าน ไปดึงคนมา”
“จริงๆ แล้ว สำหรับเรามันง่ายมากที่จะนัดชาวบ้านมารวมกัน เพราะว่านัดเจอกันทุกวันเสาร์อยู่แล้ว เราก็ปล่อยให้เขาคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จนเหลือหนึ่งวันก่อนเริ่มงาน เขาก็มาหาเราที่บ้าน คุยกับเขาตรงๆ เลยว่า ‘มันตันแล้วจริงๆ ใช่ไหม’ แล้วก็สอนเขาตรงนั้นเลย ชี้ให้เขาเห็นถึงปัญหาเรื่องการทำงานที่ต้องให้เขาพยายามแก้ไข พออีกวันเราก็แอบประสานงานทุกอย่างในพื้นที่ให้เขา นี่คือสิ่งที่เราพยายามช่วย แต่ไม่ช่วยโดยตรง ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่เราช่วยเขา เราปล่อยให้เขาผ่านความผิดพลาด ความล้มเหลวมาบ้างแล้ว แม้ข้างนอกเราจะแสดงออกว่าไม่ช่วยเขาง่ายๆ หรอก แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ต้องช่วย พอเห็นว่าเขาไม่ไหวแล้วก็ต้องช่วย” ศักรินทร์อธิบายแนวทางสร้างการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน
ผลจากการชี้แนะแนวทางการทำงาน และการช่วยประสานงานของทีมพี่เลี้ยงโครงการทำให้กิจกรรมสร้างถังขยะรีไซเคิลเพื่อช่วยลดขยะในศูนย์ตาดีกาและในชุมชนสำเร็จด้วยดี มีถังขยะที่เป็นผลผลิตจากความร่วมแรงร่วมใจของเยาวชนและชาวบ้านให้ได้ใช้งานจริงหลายใบ
ผลงานที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจกับผู้ใหญ่ในชุมชนอย่างมาก อุปสรรคที่ฝ่าฟันมายังเป็นบทเรียนสำคัญในการพัฒนาตนเองให้กับพวกเขาด้วย
“อุปสรรคที่เข้ามา สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้ ทำให้เวลามีปัญหาใหม่ๆ หนูก็จะคิดได้ว่าขนาดครั้งแรกยังผ่านมาได้ ทำไมครั้งนี้จะผ่านไปไม่ได้ โครงการนี้ช่วยพัฒนาทั้งตัวเราและเด็กๆ เยอะมาก ทั้งกระบวนการคิดวิเคราะห์ ได้ทำงาน จากที่เรียนอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม พอมีโครงการนี้เหมือนมาเปิดโลกกว้างให้กับเด็ก ที่สำคัญคือความกล้าแสดงออก ปกติเมื่อก่อนเราเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าที่จะพูด กลัวไมค์ การทำโครงการนี้ผลักให้เราต้องยืนพูดคนเดียว แรกๆ ก็สั่น แต่พอพูดไปเยอะๆ ก็คิดว่าไม่ได้มีอะไรน่ากลัว เราพูดให้คนอื่นฟัง รู้สึกดีมากกว่า ไม่ได้รู้สึกน่ากลัวหรือรู้สึกอายอะไรเลย จนตอนนี้กลายเป็นว่ามีงานอะไรที่ต้องนำเสนอหน้าห้อง หนูจะต้องออกไปนำเสนอ อีกอย่างโครงการทำให้ได้เจอคนหลายๆ แบบ อันไหนเป็นสิ่งดีก็เอามาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น สิ่งไหนที่ไม่ดีก็ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง”
ขณะเดียวกันพี่เลี้ยงที่คอยชี้นำต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า มาถึงวันนี้เด็กๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก รู้สึกภูมิใจ และคิดว่านี่คือ ‘ความสำเร็จ’
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การพูดคุยต่อหน้าคนเยอะๆ นำเสนอสิ่งที่เขาอยากทำหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ นี่คือความสำเร็จแล้ว เพราะเราเชื่อว่าศักยภาพของคนแสดงให้เห็นชัดเจนคือ
- การนำเสนอ ถ้าเราทำเป็นแต่นำเสนอไม่เป็นก็จบ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทั้งสองอย่าง
2. การก้าวข้ามปัญหาของเขา จากตอนแรกที่เขาคิดว่าทำไม่ได้ เขาท้อ เขาเดินเข้ามาหา บอกไม่ไหวแล้ว เหนื่อย ทำไม่ถูกแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ทำได้
3. มีกลุ่มเด็กเยาวชนผุดขึ้นมาหลังจากการทำโครงการมากมาย เพื่อที่จะมาเติมรุ่นนี้ต่อหรือว่ารับไม้ต่อจากทีมนี้ต่อไป” ศักรินทร์เล่าถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ
สำหรับการดำเนินงานต่อจากนี้ เยาวชนคลองโต๊ะเหล็ม บอกว่า พวกเขายังอยากทำถังขยะเพิ่ม รวมถึงพาเด็กๆ ไปศึกษาดูงาน
“อยากให้มีถังขยะในหลายที่หลักๆ จะไปวางไว้ที่ร้านค้าและร้านที่เด็กๆ ชอบไป เพราะอยากให้คนอื่นเห็นว่านี่คือฝีมือของเด็กในหมู่บ้านเรา ส่วนขยะที่ถูกทิ้งไว้จะนำมาช่วยกันแยกประเภท เช่น อันไหนสามารถใช้ซ้ำได้ หรืออันไหนสามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งเราก็มีทฤษฎีที่จะกำจัดขยะคือ 7R (Refuse-Refill-Return-Repair-Reuse-Recycle-Reduce) และขยะบางส่วนสามารถนำไปขายเป็นเงินได้ นอกจากนี้ก็ตั้งใจพาเด็กๆ ไปดูงานที่บ้านนางพญาเพราะมีที่เก็บขยะอยู่ เสร็จแล้วจะทำแบบสอบถามว่าเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมกับเราได้ความรู้อะไร และอยากทำอะไรต่อบ้าง” ฮัสนาเล่าแผนการทำงานในอนาคต
การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในศูนย์ตาดีกา นับเป็นจุดเริ่มต้นของพลังการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การแก้ปัญหาขยะในระดับชุมชน ไม่เพียงเท่านี้ การเติบโตที่เด็กๆ ได้รับจากการลงมือทำ การฝึกวางแผนและแก้ปัญหา รวมถึงการทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาในชุมชนจะเป็นแรงผลักให้เขาอยากจะพัฒนาตนเอง และพัฒนาชุมชนบ้านเกิดต่อไป