- ‘พัฒนาคนผ่านผลงาน’ คือหัวใจและเป้าหมายหลักของ ‘โครงการต่อกล้าอาชีวะ’ โดยโจทย์ในปีนี้คือ ‘อาชีวเกษตร’ ที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักเรียนอาชีวะทั่วประเทศ สร้างสรรค์ผลงานมาแก้ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่หรือในชุมชนของตนเอง
- เครื่องเพาะเมล็ดแคคตัสระบบปิด (วิทยาลัยเทคนิคแพร่) เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการ ‘ต่อกล้าอาชีวะ’ พัฒนาโดยกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคแพร่ โดยสามารถควบคุมผ่านระบบ IoT เพื่อเพาะเมล็ดแคคตัสให้มีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น
- นอกเหนือจากความสำเร็จของโครงการและนวัตกรรมแล้ว สิ่งที่พวกเขาได้กลับไปมีมากกว่านั้น ทั้งประสบการณ์และทักษะที่ได้จากการทำงานร่วมกันเป็นทีม
‘พัฒนาคนผ่านผลงาน’ คือหัวใจและเป้าหมายหลักของ ‘โครงการต่อกล้าอาชีวะ’ ซึ่งโจทย์ในปีนี้คือ ‘อาชีวเกษตร’ ที่เปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักเรียนอาชีวะทั่วประเทศ สร้างสรรค์ผลงานมาแก้ปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่หรือในชุมชนของตนเอง ด้วยการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและด้านอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ และได้เรียนรู้จากการทำงานจริงไปตลอดเส้นทางการเข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่การเริ่มต้นส่งผลงาน ไปจนถึงการคิดไอเดียเพื่อตอบโจทย์เกษตรกร
กลุ่ม เครื่องเพาะเมล็ดแคคตัสระบบปิด (วิทยาลัยเทคนิคแพร่) เป็นหนึ่งในผลงานจากโครงการ ‘ต่อกล้าอาชีวะ’ ที่รังสรรค์ไอเดียออกมาได้น่าสนใจไม่แพ้ใคร เพราะนำโจทย์จากชีวิตประจำวันมาพัฒนาออกมาเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ
‘เครื่องเพาะเมล็ดแคคตัสระบบปิด’ สามารถควบคุมผ่านระบบ IoT หรือควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือได้ และทำให้การเพาะเมล็ดแคคตัสมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น ช่วยลดระยะเวลาของการเพาะเมล็ดแคคตัสให้ลดลง
พัฒนาโดยกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิคแพร่ ซึ่งประกอบไปด้วย บาส-ศิริพงศ์ บุญประสิทธิ์, นุ่น-ธิดาลักษณ์ เรือนมูล, มิก-ณัฐนนท์ ปัญญาไว และ โอเว่น-กิตตินันท์ วุฒิ โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการคือ อาจารย์เจ-ว่าที่ ร.ต. ธวัชชัย สุเขื่อน และอาจารย์เอก-เอกชัย ศรชัย
แต่นอกเหนือจากความสำเร็จของโครงการและนวัตกรรมแล้ว จากคำบอกเล่าของสมาชิกในกลุ่ม ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่พวกเขาได้กลับไปมีมากกว่านั้น
เพราะการได้เข้าร่วมในโครงการนี้ทำให้ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ และได้เครื่องมือสร้างทักษะสำคัญ ที่เปรียบเสมือนกุญแจในการเปิดประตูสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเอง รวมถึงยังเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สร้างประสบการณ์ชีวิตซึ่งไม่สามารถหาได้จากตำราไหนๆ
“ผมภูมิใจที่ได้ทำอะไรสักอย่างให้กับวิทยาลัยและกับตัวผมเอง รวมถึงกับผู้อื่นที่นำนวัตกรรมของเราไปใช้ต่อ ผมได้เรียนรู้การเข้าสังคมการทำงาน มันเปรียบเสมือนกับว่าเราได้ทำงานในชีวิตจริง ซึ่งไม่มีในตำรา และสอนกันไม่ได้เพราะต้องใช้ประสบการณ์ครับ” บาส กล่าว
จากโจทย์ในชีวิตประจำวันสู่ ‘เครื่องเพาะเมล็ดแคคตัสระบบปิด’
“จริงๆ ผมก็มีความสนใจในการเพาะเลี้ยง ‘แคคตัส’ ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะว่าที่บ้าน คุณพ่อก็เลี้ยงแคคตัสเป็นอดิเรก บวกกับการที่ในภูมิภาคของเรานั้นมีผู้ที่เลี้ยงแคคตัสอยู่หลายกลุ่มในหลายๆ พื้นที่อยู่แล้ว
การที่ได้มาเห็นโครงการต่อกล้าอาชีวะ ก็ทำให้ผมปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่า ‘ทำไมเราไม่ลองใส่ความชอบในงานอดิเรกของเราส่งไปในงานต่อกล้านี้ดูล่ะ?’ บวกกับสาขาที่พวกเราเรียนอยู่นั้นก็เป็นสาขาเทคนิคคอมพิวเตอร์ เลยมีความคิดที่อยากจะประยุกต์สองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน
ซึ่งโจทย์ในการออกแบบโครงการนี้เริ่มจากงานอดิเรกของเรานี่แหละครับ โดยจากการสอบถามคุณพ่อของผมที่เป็นผู้เลี้ยงแคคตัส ก็พบว่าเขาประสบปัญหาในการเพาะเลี้ยงแคคตัส เพราะแคคตัสนั้นใช้ระยะเวลาในการเติบโตค่อนข้างนาน อีกอย่างคือบางทีก็เพาะสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง มีตายและขาดทุนบ้าง ทำให้พวกเราได้เล็งเห็นถึงปัญหาทั่วไปที่เกิดขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วครับ ” บาส-ศิริพงศ์ บุญประสิทธิ์ กล่าว
หาคำตอบที่ใช่ด้วยทักษะการแก้ปัญหา
หลังจากเลือกแคคตัสมาเป็นโจทย์ในการสร้างนวัตกรรมภายใต้โครงการนี้ ทีมอาชีวศึกษาวิทยาลัยแพร่ไม่เพียงใช้การตั้งสมมติฐานและทดลองกันเอง พวกเขายังอาศัยการค้นคว้าจากงานวิจัยอื่นๆ ที่คล้ายกันเพื่อออกแบบการทดลองด้วย
“สิ่งที่เรานึกถึงอย่างแรกคือเรื่องแสงค่ะ เพราะปัจจัยสำคัญในการเติบโตของพืชคือแสง เราก็ต้องมาคิดก่อนว่า อะไรที่สามารถมาทดแทนแหล่งกำเนิดแสงหรือดวงอาทิตย์ได้ และทำให้ต้นแคคตัสของเราเติบโตได้ตลอดเวลา รวมถึงตอนกลางคืนด้วย
เราจึงเลือกใช้ Led Grow Light ที่มีหลักการเหมือนโรงเรือนที่เอาไว้ใช้ปลูกพืช โดยเราเลือกใช้ Led สีแดงม่วงนี้ เพราะเป็นสีที่ค่าสเปกตรัมความถี่ของแสงมีประสิทธิภาพต่อแคคตัสมากที่สุดค่ะ” นุ่น-ธิดาลักษณ์ เรือนมูล อธิบาย โดยในการทดลองนั้นพวกเขาเลือกใช้ ‘วิธีเปรียบเทียบ’ เพื่อหาข้อสรุปสุดท้าย
“เราจะมีการเพาะ 2 รูปแบบ คือ การเพาะแบบปกติที่เกษตรกรเพาะกัน คือเพาะอยู่ในถุง ส่วนแบบที่สองคือ ใช้เครื่องนี้ของเรามาเพาะค่ะ จะมีการจดบันทึกและถ่ายรูปรายสัปดาห์ เพื่อที่จะสามารถนำมาเปรียบเทียบให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า 2 รูปแบบนี้มีความแตกต่างในการเติบโตอย่างไรบ้าง” นุ่นอธิบาย
ก่อนหน้านั้นก็มีการทดลองเพื่อหาค่าพารามิเตอร์ที่เหมาะสมที่สุด โดยทดลองทำทั้งหมด 6 เครื่อง เครื่องละ 3 สายพันธุ์ และตั้งค่าพารามิเตอร์ให้แตกต่างกัน เพื่อหาประสิทธิภาพว่าแต่ละสายพันธุ์นั้นมีค่าพารามิเตอร์หรือปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตในช่วงใด
โดยดูค่าพารามิเตอร์ที่ได้จากการเก็บข้อมูลการเพาะที่ทดลองในเครื่อง มาเทียบกับการทดลองแบบดั้งเดิม เพื่อหาประสิทธิภาพว่าเครื่องของเราสามารถลดระยะเวลาในการเพาะและเพิ่มอัตราการงอกได้หรือไม่ หลังจากนั้นจึงนำค่านั้นมาพัฒนาเครื่องต่อไป
ทุกคนแสดงความมั่นใจว่า นวัตกรรมของพวกเขาจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการเพาะพันธุ์ต้นแคคตัสได้ไม่มากก็น้อย เพราะตัวเครื่องมีจุดเด่นคือ เป็นการเพาะในระบบปิด มีระบบ IoT ช่วยควบคุมและบันทึกข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในเครื่อง อีกทั้งยังสามารถควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตให้เหมาะสมต่อสายพันธุ์ของแคคตัส รวมถึงเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการขายต้นแคคตัสได้
“เราเคยเอาตัวเครื่องไปลงพื้นที่และทดลองใช้กับเกษตรกรที่เขามีพื้นที่ในการปลูกแคคตัสครับ ผลตอบรับก็คือเกษตรกรพอใจในการใช้นวัตกรรมของเรา แต่ว่าอุปสรรคคือตัวเครื่องมีพื้นที่ในการเพาะค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการของเกษตรกร เบื้องต้นเราคิดว่านวัตกรรมของเราจึงเหมาะกับผู้ที่เลี้ยงแคคตัสในพื้นที่จำกัดและเพาะเลี้ยงในจำนวนที่ไม่มาก เช่น กลุ่มที่เลี้ยงแคคตัสมือสมัครเล่น หรือกลุ่มที่เลี้ยงที่บ้าน ซึ่งเราก็มีแผนที่จะทำตัวเครื่องที่ใหญ่กว่านี้และตอบโจทย์ต่อความต้องการของเกษตรกรมากขึ้นครับ” บาสอธิบาย
เรียนรู้ร่วมกันจากการทำงานเป็นทีม
หลังจากได้ไอเดียแล้วก็จะต้องมีการประชุมปรึกษาหารือเพื่อทำชิ้นงานกันต่อไป และแม้ว่าทุกคนจะมีเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่ก็หาเวลารวมตัวกันได้โดยในทีมมีการแบ่งการทำงานอย่างชัดเจนเป็น 3 ส่วน คือ ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และแคคตัส
“ถ้าเป็นวันเรียนปกติ เราก็มีเรียนวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่ก็จะมีวิชาที่เราว่างพร้อมกันทั้ง 4 คน เราก็จะมานั่งคุยเรื่องโปรเจกต์นี้ด้วยกัน ประมาณอาทิตย์ละ 1 ถึง 1 วันครึ่ง โดยเครื่องนี้เราใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ในการแก้ไขปรับปรุงเครื่องให้เสร็จสมบูรณ์ ส่วนระยะเวลาถ้ารวมช่วงการคิดตั้งแต่ต้นก็ราวๆ 7-8 เดือนได้ครับ” บาส กล่าว
แน่นอนว่าในทุกการทำงานกลุ่ม เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกันและมีข้อขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็มีการปรับความเข้าใจกันและช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อให้งานเดินต่อไปได้
โอเว่น-กิตตินันท์ วุฒิ เล่าว่า เวลาเกิดปัญหาขึ้น ทุกคนในกลุ่มก็จะเคารพเสียงส่วนมากเป็นหลัก ช่วยกันคิดและแก้ปัญหาทีละขั้นตอน จนออกมาเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์
ผลลัพธ์ของโครงการคือผลงานและการพัฒนาตนเอง
หลังจากใช้เวลาร่วมกันในการพัฒนาโครงการจนสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นหนึ่งใน 15 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้มาจัดแสดงในงานประชุมวิชาการและนิทรรศการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) สิ่งที่แต่ละคนได้รับนอกจากความรู้นอกห้องเรียนจากการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง คือประสบการณ์และทักษะชีวิต ที่สร้างพื้นฐานและความมั่นใจในการเดินต่อไปสู่เส้นทางที่ตนเองคาดหวัง
“สำหรับนุ่น คิดว่าตัวเองได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการนำเสนอ เพราะส่วนตัวเราเป็นคนชอบเกี่ยวกับเรื่องการนำเสนออยู่แล้ว รู้สึกว่าตัวเองได้ฝึกทักษะการพูด พูดเก่งขึ้น สื่อสารเก่งขึ้น และกล้าที่จะพูดมากขึ้นค่ะ”
บาสกล่าวต่อว่า “ส่วนผมได้เรียนรู้การแบ่งเวลาให้เหมาะสมครับ เพราะเราไม่ได้ดูแลแค่ตัวเครื่องเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมีเวลาดูแลตัวเอง ให้เวลากับคนอื่น และให้เวลากับงานด้วย
ความเอาใจใส่นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นตัววัดว่างานของเราจะออกมาดีได้ขนาดไหนครับ ผมคิดว่ามันอยู่ที่ความใส่ใจครับ”
“จริงๆ ปกติแล้วผมก็ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องพืชสักเท่าไหร่ แต่ผมจะค่อนข้างที่จะรู้เกี่ยวกับฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์เป็นหลัก หลังจากที่ได้มาทำงานนี้ผมก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับพืช ผมเลยต้องไปศึกษาเพิ่มเติมและถามจากเพื่อนๆ เอาอีกที ทำให้ผมมีความรู้ความชำนาญเรื่องพืชมากขึ้น และมีความกล้าในการพรีเซนต์ นำเสนอ และกล้าแสดงออกมากขึ้นหลังจากที่ได้เข้าร่วมงานต่อกล้าอาชีวะนี้ครับ” โอเว่น กล่าว
อีกหนึ่งในสมาชิกทีมฯ มิก-ณัฐนนท์ ปัญญาไว กล่าวเสริมว่า แม้ปกติตนเองนั้นไม่ได้เลี้ยงแคคตัส แต่การได้เข้าร่วมโครงการและพัฒนานวัตกรรมเครื่องเพาะเมล็ดแคคตัสระบบปิด ก็ทำให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องต้นไม้และแคคตัสมากขึ้นจากการค้นคว้าและทดลอง และคิดว่านวัตกรรมนี้จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพได้
“ผมว่าสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ครับ เพราะว่าเครื่องนี้ทำให้ผลผลิตเยอะขึ้นมากว่าเดิม และใช้ระยะเวลาสั้นลงกว่าเดิม เราก็สามารถนำผลผลิตไปขายในท้องตลาดได้เร็วขึ้นด้วยครับ”
ความรู้สึกหลังจากเข้าร่วมโครงการต่อกล้าอาชีวะ
“รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจค่ะ ที่ได้เป็นตัวแทนมาเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมที่นี่ รู้สึกว่าเรามีความกล้ามากขึ้น เพราะว่ามีน้อยคนที่จะสามารถเดินเข้ามาทำงานหรือร่วมกิจกรรมนี้ได้ รู้สึกภูมิใจมากที่ทางคณะเลือกเรามาค่ะ” นุ่น กล่าว
“อย่างน้อยผมก็ภูมิใจที่ได้ทำอะไรสักอย่างให้กับวิทยาลัยและกับตัวผมเอง รวมถึงกับผู้อื่นที่นำนวัตกรรมของเราไปใช้ต่อ ผมได้เรียนรู้การเข้าสังคมการทำงาน มันเปรียบเสมือนกับว่าเราได้ทำงานในชีวิตจริง ซึ่งไม่มีในตำรา มันสอนกันไม่ได้เพราะต้องใช้ประสบการณ์ครับ” อีกหนึ่งความเห็นจากบาส
นอกจากนี้แต่ละคนก็ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะที่พวกเขาเป็นนักเรียนอาชีวะว่า แม้การเรียนในห้องเรียนจะสำคัญ แต่การแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนเพื่อเปิดประสบการณ์และสั่งสมความรู้ใหม่ให้กับตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะการเรียนในห้องเรียนอาจจะยังไม่พอ
“การที่เรามีความรู้แค่ในห้องเรียนอาจจะไม่เพียงพอ เราต้องเปิดโลกให้กว้างขึ้น ยอมรับมุมมองใหม่ๆ เข้ามา เพราะอาจจะมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านี้รอเราอยู่ข้างนอก มากกว่าการที่เราจะมานั่งแช่อยู่แค่ในห้องเรียนค่ะ” นุ่น บอก
“รู้สึกว่าการเรียนแค่ในห้องเรียนไม่พอครับ เพราะการเรียนในห้องเรียนก็ได้แค่ในหนังสือในห้องเรียนของเราครับ การที่เราได้ออกมาทำอะไรแบบนี้ก็เหมือนเราได้ออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นๆ ครับ” มิก ยืนยันอีกเสียง
ขณะที่โอเว่นมองว่า “การเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวอาจไม่ค่อยทำให้เราได้รับประสบการณ์มากเท่าที่ควรครับ แต่เมื่อเราออกมาทำสิ่งต่างๆ ออกมาเวิร์กช็อปหรือร่วมกิจกรรมแบบนี้ ก็ทำให้เราได้รับประสบการณ์หลายๆ อย่างมากขึ้นครับ”
บาสเองก็เห็นด้วยกับทั้ง นุ่น มิก และโอเว่น ว่าการเรียนในห้องเรียนอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรจะต้องเสริมประสบการณ์เพิ่มจากที่อื่น และแสดงความเห็นในมุมของตัวเองว่า
“สำหรับผมถ้าเรียนแค่ในห้องเรียนอย่างเดียว คุณก็อาจจะได้ความรู้สึกแค่ในส่วนของห้องเรียนครับ ผมก็อาจจะได้แค่ส่วนในห้องเรียน แต่ในยุคนี้อินเทอร์เน็ตมันเปิดกว้างมาก ทุกคนสามารถมีความรู้และรับความรู้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้หลายช่องทาง ซึ่งผมเชื่อว่า หลายๆ คนที่เขาอาจจะไม่ได้เรียนจบ อาจจะมีความรู้มากกว่าผมด้วยซ้ำ เพราะความรู้ต้องอาศัยประสบการณ์ด้วยครับ”
โครงการต่อกล้าอาชีวะ เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาศักยภาพของตนเองผ่านการพัฒนาผลงาน ผ่านการพัฒนาทักษะ 4C ได้แก่ Critical Thinking, Communication, Creativity และ Collaboration โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยปีนี้เป็นปีแรกที่เปิดพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบให้แก่กลุ่มนักเรียนอาชีวะจากทุกสถาบันส่งผลงานเข้ามา และคัดเลือกเหลือเพียง 15 ผลงานสุดท้ายจากทั่วประเทศ เพื่อนำมาจัดแสดงในพิธีปิดโครงการต่อกล้าอาชีวะ ประจำปี 2564 พร้อมพิธีมอบโล่ เกียรติบัตร และการนำเสนอสรุปผลในการพัฒนาต่อยอดผลงาน ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี จัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2565 |