- จากเด็กยากจนที่พลิกชีวิตตัวเองด้วยการศึกษา ครูจิ๋วมุ่งมั่นที่จะส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาส โดยเริ่มต้นจากการเป็นครูอาสาในแหล่งก่อสร้าง จนปัจจุบันรับหน้าที่ผู้จัดการโครงการครูข้างถนนและโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่
- ทั้งสองโครงการทำงานกับกลุ่มเด็กเร่ร่อนและเด็กลูกคนงานก่อสร้าง โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ทำอย่างไรให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาและอยู่ให้ได้นานที่สุด
- “เราไม่ได้เพียงแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องลงไปดูที่ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กด้วย เพื่อจัดการให้เข้าถึงสวัสดิการการศึกษา สวัสดิการสาธารณสุข สวัสดิการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ซึ่งต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน”
ความยากจน ความห่างไกล ไร้สถานะพลเมือง รวมไปถึงโรคระบาดและอีกหลายสาเหตุ ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งเข้าไม่ถึงหรือตกหล่นจากระบบการศึกษา คือภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่นับวันยิ่งน่าเป็นห่วง
ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คาดการณ์ไว้ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คนในระดับชั้นประถมศึกษาราว 4% มัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลายอยู่ที่ 48% และในจำนวนนี้โอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียง 8-10%
ขณะที่ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) เมื่อปี 2562 ระบุว่าจากนักเรียนกว่า 7 ล้านคน ในระบบการศึกษาภาคบังคับของประเทศไทย มีเด็กถึง 8 แสนคนที่มาจากครอบครัวยากจนที่รายได้เฉลี่ยไม่ถึง 3,000 บาท/คน/เดือน กลุ่มนี้คือ “เด็กนักเรียนยากจนพิเศษ” ที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาส่วนหนึ่งเพราะต้องดูแลคนในครอบครัวและหารายได้เลี้ยงครอบครัว ซึ่งในยุคโรคระบาดเช่นนี้ นอกจากเด็กกลุ่มยากจนพิเศษแล้ว ยังมีกลุ่มเด็กลูกแรงงานและเด็กเร่ร่อน มีแนวโน้มที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
โอกาสทางการศึกษาสำคัญอย่างไร แล้วการจัดการศึกษาจะทำได้อย่างไร ใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบไหน คุยกับ ‘ครูจิ๋ว’ ทองพูล บัวศรี แห่งมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ในโครงการ ‘ครูข้างถนน’ และ ‘โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่’
จากเด็กยากจนคนหนึ่ง ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา
ภาพความแร้นแค้นของหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญแวบเข้ามาในหัวเมื่อ ‘ครูจิ๋ว’ เล่าถึงชีวิตตัวเองในวัยเด็กให้ฟัง หมู่บ้านที่ไม่มีเด็กเรียนหนังสือ มีเพียงบ้านของเธอบ้านเดียวที่ดั้นด้นที่จะเรียน แม้ระยะทางจากบ้านไปโรงเรียนจะห่างไกลและไม่สามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ก็ตาม
“ครูจิ๋วก็เป็นเด็กยากจนมาก่อน แต่ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ป.5 มาจนจบปริญญาตรี เป็นทุนการศึกษาทั่วไป และทุนจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในระดับปริญญาตรี ให้ผ่านสภากาชาดแต่ละจังหวัด ซึ่งครูจิ๋วแจ้งเจตจำนงไปว่า เราต้องการทุนเพราะว่าเป็นเด็กยากจน และมีภาระที่ต้องส่งเสียน้องเรียนหนังสือ แล้วระหว่างเรียนครูจิ๋วก็รับสอนพิเศษวิชาคณิตกับวิทย์ด้วย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน แล้วครูของเราให้โอกาสตลอดตั้งแต่ประถมไม่เคยหยุดที่จะสนับสนุน หรือตอนที่ไม่มีเสื้อผ้าเพื่อนก็เอาเสื้อผ้ามาให้” ครูจิ๋วเล่าถึงโอกาสที่เธอเคยได้รับตลอดมา
อีกทั้งความฝันของครูจิ๋วในตอนนั้นเองก็มี ครูจันทร์แรม ศิริคำฟู ครูผู้สอนหนังสือเด็กยากจนบนดอย ทั้งที่จบเพียงชั้น ป.4 เป็นแรงผลักดันชั้นดีให้มุ่งมั่นที่จะส่งต่อโอกาสที่ตัวเองเคยได้รับให้กับเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสและไม่รู้ว่าโอกาสจะทำให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร
หลังจากจบการศึกษาจากวิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยาหรือมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ครูจิ๋วก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้า อยากมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาส จนถึงวันนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเด็กที่มูลนิธิสร้างสรรค์เด็กมาตลอด 33 ปี โดยเริ่มต้นเป็นครูอาสาสอนในแหล่งก่อสร้าง ครูประจำศูนย์ ผู้ประสานงานโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง และได้เข้าไปคลุกคลีในแวดวงการศึกษาในฐานะเลขานุการของหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากนั้นก็กลับมาฟื้นฟูโครงการศูนย์เด็กก่อสร้าง จนตอนนี้รับผิดชอบโครงการครูข้างถนนและโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ในฐานะผู้จัดการโครงการที่เน้นภาคสนามเป็นส่วนใหญ่
สร้างโอกาสทางการศึกษากับ ‘ครูข้างถนน’ และ ‘โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่’
‘ครูข้างถนน’ และ ‘โรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่’ เป็นโครงการที่ครูจิ๋วดูแลอยู่ โดยทำงานกับกลุ่มเด็กเร่ร่อนและเด็กลูกกรรมกรก่อสร้างตามไซต์ก่อสร้างต่างๆ ทั้งสองโครงการมีเป้าหมายร่วมกันคือ ทำอย่างไรให้เด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาและอยู่ให้ได้นานที่สุด เพราะเธอเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า… โอกาสทางการศึกษาพลิกชีวิตคนได้
โครงการครูข้างถนน ครูจิ๋วลงพื้นที่เดินตามถนนไปสร้างความไว้วางใจและสำรวจความต้องการของเด็กในด้านการศึกษา โดยจะแบ่งเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือ เด็กเร่ร่อนไทยถาวร ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน (Dropout) ซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาที่ตามมาอีกมาก
“เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเรียนแค่ป.2, ป.3 แล้วก็ออกมาใช้ชีวิตบนถนนถาวร อยู่ใต้ทางด่วนบ้าง ไปนอนป้ายรถเมย์บ้าง แล้วส่วนตรงนี้เป็นส่วนที่ยากมากต่อการคืนเด็กเข้าสู่ระบบ”
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มเด็กเร่ร่อนชั่วคราว เด็กกลุ่มนี้ใช้พื้นที่อยู่บนถนน ขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย และขอทาน มี 3 ชุมชน คือ ชุมชนโค้งรถไฟยมราช, ชุมชนแถวเพชรบุรีซอย 7 และชุมชนพื้นที่คลองตัน ซึ่งเด็กสองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เน้นเรื่องการศึกษา คือให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ โดยประสานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการขออุปกรณ์การเรียนต่างๆ ให้กับเด็ก
“ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มที่เราทำงานมา 7-8 ปี และเริ่มเป็นโมเดลได้แล้วก็คือ กลุ่มเด็กเร่ร่อนต่างด้าว ซึ่งเดิมเลยจะถือว่าเป็นกลุ่มค้ามนุษย์ แต่เราก็ทำให้เห็นว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นแค่กลุ่มเร่ร่อนแล้วก็ออกไปตามพื้นที่ต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ตอนนี้เรามีเด็กกลุ่มนี้ประมาณร้อยกว่าคนที่เข้าสู่ระบบการศึกษา”
ครูจิ๋วเล่าว่า ที่ต้องเน้นเรื่องการศึกษาให้กับเด็กเร่ร่อนต่างด้าวนั้น ก็เพราะว่าถ้าเข้าสู่ระบบการศึกษา เด็กจะมีอักษร G หมายถึงนักเรียน นักศึกษาที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานออกเลขรหัสให้
“การมีอักษร G คือจะเริ่มเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล แล้วก็เด็กกลุ่มนี้เดิมเขาต้องถูกผลักดันกลับประเทศ แต่มันจะมีมติครม. เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2559 ให้เด็กกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราว เรียนหนังสือตามช่วงชั้นที่สามารถเรียนได้ ก็เลยเป็นผลทำให้ครูจิ๋วต้องเอาเด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการศึกษา
ซึ่งมันก็มาผนวกกับเด็กอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง โครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ โดยจะมีเจ้าหน้าที่สองท่านที่ทำงานตรงนี้อยู่ แล้วเด็กกลุ่มนี้ตอนเข้าโรงเรียนก็เหมือนกันคือเราใช้มติครม. เมื่อปี 2535 แก้ไขเมื่อ 8 ก.ค. 2548 ว่า เด็กทุกคนสามารถเข้าเรียนตามช่วงชั้นได้ เรียนตามศักยภาพของพวกเขาได้ เราก็เลยมีเด็กลูกกรรมกรก่อสร้าง 227 คน เข้าสู่ระบบการศึกษาในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ คือมีโรงเรียนเปรมประชา, โรงเรียนประชาอุทิศ, โรงเรียนวัดพิชัย, โรงเรียนวัดมักกะสัน และโรงเรียนปลูกจิต”
สำหรับโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ งานหลักๆ ก็คือ หนึ่ง หลังจากที่นำเด็กเข้าโรงเรียนแล้ว จะมีการติดตามใบเกิดของกลุ่มเด็กต่างด้าวที่เรียนในประเทศไทย เพราะบางคนเกิดในโรงพยาบาลแต่ไม่ได้รับใบรับรองการเกิด กว่าจะได้ใบเกิดแต่ละคนใช้เวลา 8 เดือนถึง 2 ปี สอง เมื่อได้ใบเกิดมาแล้ว จะเข้าไปสู่เรื่องของการรักษาพยาบาล คือเด็กที่เกิดในประเทศไทยทุกคนต้องได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานเท่ากับเด็กไทย คือ วัคซีนป้องกันวัคโรค (BCG) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี (HB) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) และวัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบเจอี โดยจะเน้นกับพ่อแม่ว่าเด็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามสมุดบันทึกแรกเกิดสีชมพู และสาม คือระบบการส่งต่อเวลาที่เด็กต้องรักษาหรือเมื่อเด็กมีปัญหาต่างๆ เพราะเด็กเหล่านี้มักเป็นวัณโรค และปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้กำลังเผชิญกับโควิด-19 ด้วย
ครูจิ๋ว คือ นักบูรณาการในการจัดการความรู้
หากจะนิยามการทำงานในบทบาทการเป็นครูของครูจิ๋วนั้น เธอบอกว่าเป็น ‘นักบูรณาการในการจัดการความรู้’ ที่เน้นงานภาคสนามเป็นหลัก งานเอกสารเป็นรอง แต่สองส่วนนี้ขาดกันไม่ได้ เนื่องจากแต่ละเคสเข้าถึงค่อนข้างยากการลงพื้นที่ไปสำรวจจากสภาพจริงและการสร้างความเข้าใจร่วมกันจึงสำคัญอย่างมาก
ซึ่งเมื่อเด็กกลุ่มนี้ต้องเรียนออนไลน์ เด็กกลุ่มนี้ก็ต้องเผชิญกับความไม่พร้อมทั้งเครื่องมือสื่อสารที่จำเป็น สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร ส่งผลให้การเรียนไม่มีประสิทธิภาพ เด็กส่วนใหญ่เรียนไม่รู้เรื่อง ครูจิ๋วยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่ง ทุกวันจันทร์พ่อจะขี่มอเตอร์ไซต์หรือจ้างวินไปรับการบ้านที่โรงเรียนให้ลูกทั้ง 2 คน แต่เมื่อถึงเวลาเรียนออนไลน์ สมาร์ทโฟนมีเครื่องเดียว กับเด็กสองคนที่ต้องเรียน และในบางครั้งพ่อก็ต้องใช้ในการติดต่อกับผู้รับเหมาใหญ่เพราะเขาต้องโทรสั่งงาน นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
“ในขณะเดียวกันครูจิ๋วก็เจอศึกหนักคือ เด็กที่อยู่ในโค้งรถไฟยมราช ชุมชนคลองส้มป่อย ชุมชนคลองตัน และชุมชนเพชรบุรี เด็กค้างค่าเทอมบางคนค้างกันมาตั้งแต่ม.1 ราว 20,000 กว่าบาท นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น เราก็ต้องจัดการหางบประมาณไปจัดการ เด็กที่ต้องขึ้นม.1 กับ ม.4 ก็ต้องไปจ่ายเงินที่โรงเรียนก่อนไม่อย่างนั้นเด็กเรียนออนไลน์ไม่ได้ ต้องจ่ายค่าเทอมก่อนถึงจะเอาชื่อเข้าแล้วถึงจะได้เอกสารเรียนออนไลน์ แล้วตอนนี้ทั้งเทอมเป็นการเรียนออนไลน์หมด”
อุปสรรคในการเรียนของกลุ่มเด็กกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่แค่การเรียนออนไลน์ที่เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ พวกเขายังถูกผลักภาระให้ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งทำให้เรียนหนังสือได้น้อยลง เพราะใช้เวลากว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน อยู่บนท้องถนน เพื่อขายดอกไม้ ขายพวงมาลัย ส่งผลให้เด็กมีโอกาสที่จะออกกลางคันสูงมาก
อีกทั้งการเข้าถึงระบบการศึกษายังหมายถึง ข้าว 2 มื้อ ที่เด็กจะได้รับจากโรงเรียนด้วย โดยโรงเรียนสังกัดกทม. จะมีข้าวเช้ากับกลางวันให้เด็ก เมื่อเสียโอกาสตรงนี้เท่ากับว่าภาระของครอบครัวจะต้องกินอาหารสามมื้อต่อวัน แต่รายได้จากการขายพวงมาลัยบางครั้งอาจจะได้ข้าวเพียงมื้อเดียว ซึ่งครูจิ๋วยอมรับว่าไม่สามารถประคองได้ทุกคน
“ตอนนี้มีเด็กอยู่ในมือที่เป็นลูกกรรมกรก่อสร้าง 700 คน เด็กเร่ร่อนทั่วไปอีก 200 คน รวม 900 คน เราไม่สามารถมีอาหารทั่วถึงได้ทุกวัน วันไหนอาหารน้อยเด็กก็จะต้องช่วยเหลือตัวเอง ก็จะได้กินบ้างอดบ้าง แล้วเรื่องการเรียนรู้ไม่ต้องพูดถึงมันลดน้อยถอยลงไปเรียกว่าด้อยเลยก็ว่าได้ ขนาดคนที่มีครอบครัวครบสมบูรณ์เขายังบอกว่าลูกเขาเรียนพัฒนาการช้าลง แต่เด็กของครูจิ๋วไม่ต้องพูดว่าพัฒนาการช้าลง มันแทบจะไม่ได้เรียนเลย”
“เราจึงไม่ได้เพียงแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาอย่างเดียว แต่ต้องลงไปดูที่ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวเด็กด้วย เพื่อจัดการให้เข้าถึงสวัสดิการการศึกษา สวัสดิการสาธารณสุข สวัสดิการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ซึ่งเราไม่สามารถทำงานองค์กรเดียวได้ เราก็ต้องทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ในการที่จะช่วยให้เขาได้มีที่ยืนทางการศึกษาให้ได้นานที่สุด”
การเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัด
สำหรับโครงการโรงเรียนเด็กก่อสร้างเคลื่อนที่ ในเด็กแรกเกิดจนถึง 3 ขวบ จะเน้นเสริมทักษะชีวิต โดยมีเครื่องเล่นและอุปกรณ์การเรียน เช่น หนังสือนิทาน วิธีแรก ครูจะเล่านิทานให้แม่ฟังก่อน จากนั้นแม่ก็เอาหนังสือนิทานไปเล่าให้ลูกฟังอีกที อีกวิธีคือใช้นิทานเสียง ซึ่งเป็นนิทานจากยูทูบนำมาต่อเข้ากับทีวีเปิดให้ทุกคนดู โดยรถโรงเรียนเด็กก่อสร้างนี้จะเข้าไปทำกิจกรรมสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ยังเน้นให้เด็กได้รับวัคซีนและอาหารพื้นฐานไปพร้อมๆ กัน
ส่วนในเด็ก 3 – 6 ปี ถ้าเป็นกรณีเด็กไทย ครูจิ๋วบอกว่าส่วนใหญ่นำเข้าศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน ซึ่งจะมีหลักสูตรที่เรียกว่า ‘หลักสูตรลูกคนงานก่อสร้าง’ เสริมทักษะผ่านกระบวนการเล่น ฝึกให้อ่านออกเขียนได้ โดยเริ่มจากการเขียนตามรอย ระบายสี เล่านิทาน กลอนคำคล้องจอง เป็นการปูพื้นฐานก่อนเข้าสู่รั้วโรงเรียน และหน้าที่ต่อมานั่นคือ ทำอย่างไรที่ให้เขาได้ทำการบ้านทุกคน
“ตอนนี้หลายบริษัทอย่างแคมป์อิตาเลี่ยนไทยดอนเมือง เขาจะมีกลุ่มแม่บ้านช่วยสอนการบ้านตอนเย็นให้เด็ก ตรงนี้เราก็จะช่วยเสริมว่าอะไรที่แม่บ้านเขาไม่รู้หรือมีปัญหาก็จดบันทึกมา เวลาเราไปเราก็จะเสริมให้ เช่น อุปกรณ์ไม่พอ กระดาษทำรายงานไม่พอ สี ดินสอ ปากกาไม่พอ แล้วงานก่อสร้างหยุดหมด พ่อแม่ก็ว่าง ลูกก็อยู่บ้านบางทีก็ทะเลาะกัน หนังสือเราก็เลยเป็นสิ่งที่เด็กๆ จะระบายสี เปลี่ยนบทบาทมาเป็นครูแทน มีอะไรก็โฟนอินกัน และตอนนี้สิ่งสำคัญเลยคือเราต้องส่งอาหารไปให้ทุกๆ แหล่งก่อสร้าง อะไรที่เราพอหาได้เราก็จะแบ่งปันกันไป”
นอกจากนี้ก็จะเป็นเด็กวัยมัธยมฯ 12 ปีขึ้นไป ซึ่งตอนนี้ ม.1-ม.6 กำลังมีปัญหาเรียนไม่ทันเพื่อน เนื่องจากอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้และบรรยากาศห้องเรียนออนไลน์ทำให้ไม่สามารถโฟกัสกับการเรียนได้เท่าที่ควร
สำหรับครูจิ่ว เมื่อเด็กได้เข้าเรียนแล้วใช่ว่าภารกิจจะจบ เพราะยังต้องคอยติดตามการเรียนที่โรงเรียนของเด็กด้วย ประสานกับครูที่โรงเรียนเพื่อให้เขาได้ใช้ชีวิตที่โรงเรียนอย่างปลอดภัย
“ครูจิ๋วหวังว่าเขาจะมีโอกาสได้พูดแล้วก็ได้รับฟัง พูดให้เป็น รับฟังให้มาก และลงมือทำ”
เธอบอกว่า ที่ผ่านมาพยายามทำตัวให้เป็นแบบอย่างของคนที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาและสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้ เพื่อว่าเด็กๆ จะได้เห็นความสำคัญและคุณค่าของการศึกษา “เมื่อโอกาสมาถึงแล้ว จงรักษาโอกาสไว้ให้ดี”
“เราพูดให้เขาเห็นภาพว่า เพื่อนคุณเหมือนกัน เขาไม่ได้เรียนหนังสือเลย เขามีลูกแล้ว สุดท้ายเขาพาลูกไปขอทาน คุณเคยเป็นเด็กขอทานคุณอยากไปขอทานพร้อมลูกคุณไหมละ ถ้าไม่อยากก็ตั้งใจเรียน ตรงนี้ครูจิ๋วแค่ชี้ให้เขาเห็นว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณมีโอกาสได้รับสิทธิเหล่านี้ แต่จะไม่ได้บอกว่าทุกคนต้องทำตาม
ขอแค่ให้เขาได้โอกาสทางการศึกษาให้มากที่สุดตามที่เขาจะได้เรียน ถ้าจะเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยก็จบม.3 อย่างน้อยก็ไม่ไปขายบริการทางเพศ ไม่มาขอทาน การจบม.3 ก็คือจะมีเรื่องของการรักษาพยาบาล ประกันสิทธิแน่ นี่คือขั้นต้น ซึ่งมันไม่ใช่แค่ว่าเขาเป็นเด็กต่างด้าว แต่เด็กทุกคนควรจะมีสิทธิในการศึกษาไม่ว่าจะเป็นเด็กชนชาติไหน”
เพราะความหวังสูงสุดของครูจิ๋วคือ… “เด็กทุกคนอยากเรียนต้องได้เรียน”
อ้างอิง
เด็กไทยจนแค่ไหน…จนไม่ได้เรียน | Dashboard (eef.or.th)
กสศ.สำรวจสถานการณ์เด็กหลุดออกนอกระบบหลังเปิดเทอมใหม่ | กสศ. (eef.or.th)