- ครูสอญอ ครูอินดี้โรงเรียนเทศบาลชุมชนขยายโอกาส หนึ่งในครูรุ่นใหม่ที่นักการศึกษาหันกลับไปถอดบทเรียนวิธีการออกแบบการศึกษาของเขา
- ครูรุ่นใหม่ที่ทำให้เห็นว่า การศึกษาที่มีมาตรฐานและตอบโจทย์ชุมชนเกิดได้จริงโดยไม่ต้องรอการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่คนทำงานเห็นร่วมกันว่า การศึกษาจะพัฒนาเกิดจากความสัมพันธ์ที่ดี
- “อยากทำให้เขาไปอยู่ที่ไหนก็ได้แต่มั่นคง” คือ motto ของครูสอญอ
– ออกแบบวิธีเรียนร่วมกับนักเรียน
– วิชาการก็สอน แต่เน้นให้เด็กค้นหาตัวตนมากกว่า
– โฮมรูมตอนเช้าใช้ชื่อ ‘โฮมรูม โฮมใจ’ นั่งล้อมวงแบ่งปันสารทุกข์สุกดิบประจำวัน
– 25:1 คือสัดส่วนนักเรียนต่อครูประจำชั้น
– ใช้ ‘ระบบตาม’ เมื่อนักเรียนเลื่อนชั้น ครูประจำชั้นตามไปด้วย
และวิธีการสอนอื่นๆ ที่ฟังดูแล้วใกล้เคียงกับคำว่า ‘อิสระ’ ไม่ถูกแช่แข็งเหมือนภาพจำการศึกษาไทย และอาจให้ภาพโรงเรียนเอกชนหัวก้าวหน้าที่เปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนเพื่อขับเน้นศักยภาพและความเต็มพร้อมของผู้เรียน
แต่หากบอกว่าวิธีการเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในโรงเรียนเทศบาล ซ้ำเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่ครั้งหนึ่งค่าเฉลี่ยการเรียนของเด็กเคยอยู่ระดับท้ายๆ ของโรงเรียนในเขตเทศบาลเดียวกัน พูดแบบนี้เราจะพอมีหวังต่อระบบการศึกษาไทยได้ไหม?
แน่นอนว่าการพูดแบบนั้นเป็นการเหมารวมและออกจะ ‘เกินไป’ สักนิด เพราะหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ให้เห็นว่าเรามีครูรุ่นใหม่ เลือดใหม่ ผลัดขึ้นมาเขย่าวงการศึกษาแทบทุกหัวระแหง และหนึ่งในนั้นคือ ครูสัญญา มัครินทร์ หรือที่รู้จักในนาม ครูสอญอ แห่งโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น แต่ก่อนจะว่ากันเรื่องครูพันธุ์ใหม่ (แต่จิตพิสัยไม่เดือด) ขอกลับไปถึงการปรับวิธีการสอนและดำเนินงานของโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยกันก่อน
หมุดหมายการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว เทศบาลนครขอนแก่นได้ปรับนโยบายมาเน้นเรื่องการพัฒนาการศึกษา และโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการด้วย เป็นเวลาเดียวกับที่ครูสัญญา ซึ่งขณะนั้นเป็นนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สาขาศิลปศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชั้นปีสุดท้ายและเข้าไปฝึกงานที่โรงเรียนแห่งนี้พอดี เมื่อเห็นว่าคณะทำงานเอาจริงกับการปฏิรูประบบการศึกษา โดยการเริ่มดูงานกับสถานศึกษาหลายที่ บรรยากาศของคณะทำงานและครูก็เปิดโอกาสให้ทดลอง รื้อสร้าง และออกแบบการเรียนรู้แบบใหม่ได้
เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม โรงเรียนบ้านโนนชัยพร้อมแล้วที่จะสร้างชั้นเรียนใหม่คือ ม.1-ม.3 ภายใต้นิยามทางการศึกษาว่า ‘โรงเรียนขยายโอกาส’ ครูสัญญาที่ขณะนั้นเริ่มทำงานสอนครั้งแรกที่โรงเรียนเทศบาลสวนสนุก ในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น จึงกลับมาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมออกแบบการเรียนการสอนร่วมกับครูรุ่นแรกอีก 5 คน
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 11 ปี ไม่เพียงแต่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยจะเป็นโรงเรียนที่ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองในพื้นที่ และผลการศึกษาของนักเรียนขึ้นมาอยู่ที่ระดับกลางของเทศบาล ครูสัญญา หรือครูสอญอคนนี้ยังเป็นที่รู้จักและพูดถึงในวงกว้าง ว่าเป็นครูรุ่นใหม่ที่ช่างเข้าอกเข้าใจ มีวิธีการสอนที่สุดแสนจะวัยรุ่น เน้นดึงและคลี่ขยายตัวตนของเด็กให้เต็มพร้อม ที่สำคัญ เขายังเน้นสร้างสำนึกด้านการเท่าทันอารมณ์ จิตใจ และความต้องการของเด็กมากกว่าจะปฏิเสธและบอกว่าธงของการเรียนคือความสำเร็จทางวิชาการอย่างเดียว
อย่างที่เขาย้ำตลอดบทสนทนาว่า สิ่งเดียวที่หวังอยากเห็นจากเด็ก คือเมื่อเขาเห็นคุณค่าของตัวเอง และ
“อยากทำให้เขาไปอยู่ที่ไหนก็ได้แต่มั่นคง” ครูสอญอกล่าว
วิธีคิดตอนออกแบบหลักสูตรเพื่อโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย คืออะไร
เราอยากทดลองวิธีการสอนที่ไม่ใช่การ talk and chalk (สอนบนกระดานดำ ครูอธิบายปากเปล่า) แต่ออกแบบว่าจะให้เด็กมีส่วนร่วมยังไง เชื่อมโยงเนื้อหาระหว่างตัวเขากับเนื้อหายังไง ความตั้งใจคืออยากทำโรงเรียนที่ตอบโจทย์ชุมชนและก็ตอบโจทย์เด็กในยุคปัจจุบันได้ด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้นเรามีเพื่อนครูก่อการหรือครูร่วมรุ่นที่ออกแบบหลักสูตรร่วมกันประมาณ 5 คน ก็ต้องเป็นความฝันร่วมกันด้วยว่าเราอยากเห็นเด็กเป็นแบบไหน อยากให้โรงเรียนเป็นแบบไหน วิธีที่จะไปถึงฝัน มันต้องมีวิธีการยังไงดี ระหว่างที่ออกแบบนี้เราก็ตระเวนไปเรียนรู้กับคนนั้นคนนี้ เช่น อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู, อาจารย์ประภาภัทร นิยม, อาจารย์ประชา หุตานุวัตร กระทั่งครูบาอาจารย์สายวัด อย่างวัดป่าสุคะโตและวัดป่าโสมพนัส เราก็ไป
‘โจทย์ชุมชน’ และ ‘โจทย์ของเด็กปัจจุบัน’ เป็นอย่างไร?
ในคำขวัญของโรงเรียนพูดเรื่อง ‘โรงเรียนวิถีชุมชน’ อยู่แล้ว หัวใจของมันก็คือทำการศึกษาให้มีมาตรฐาน และให้เขามีสำนึกรักชุมชนและท้องถิ่น แต่พอบอกว่า ‘รักท้องถิ่น’ มันก็เป็นวาทกรรม มันเหมือนที่เขาบอกให้เด็กมีวินัย 12 ประการ พูดง่ายมาก แต่… ทำยังไงนะ? (หัวเราะ) มันสอนกันไม่ได้ แต่เราต้องสร้างประสบการณ์บางอย่างให้เด็กไปถึงคุณค่าตรงนั้นโดยไม่บอกไม่สอน ให้เขาพบด้วยตัวเอง ทีนี้วิธีการหรือ ‘how to’ ที่จะทำให้ไปถึงตรงนั้น มันก็ต้องออกแบบให้เขาได้เกี่ยวข้อง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน
หรือในแง่การร่วมกันออกแบบโจทย์ร่วมกับผู้ปกครอง อธิบายก่อนว่าโรงเรียนเราใช้ ‘ระบบตาม’ คือครูประจำชั้นจะตามนักเรียนตั้งแต่ ม.1 ไปจนจบ ม.3 เพราะเราเชื่อว่าถ้าความสัมพันธ์ดีจะทำเรื่องการศึกษาได้ดี เพราะฉะนั้น ตั้งแต่ ม.1 เราก็คุยกับผู้ปกครองให้ชัดเลยว่าเราจะทำอะไร เราบอกกับเขาเลยว่า “ลูกๆ ของคุณจะออกไปเรียนนอกห้องเรียนเหมือนไปเล่นมากเลยนะครับ” (หัวเราะ) คุยให้รู้ไปเลยแล้วมาคาดหวังร่วมกัน
สุดท้ายพอเห็นภาพร่วมกัน ผู้ปกครองก็เสนอว่า “เฮ้ย ถ้าจะติดตามการเรียนรู้ ต้องมีการประชุมร่วมกันทุกเดือนนะ” ทีนี้เข้าทางเราเลย (ดีดนิ้ว) ตอน ม.1 เราประชุมกันทุกเดือน ถี่มาก แต่พอ ม.2 ม.3 เขาเริ่มไว้ใจเราละ
ส่วนโจทย์ของเด็กปัจจุบัน ก็มาคุยกันว่าเขาอยากเรียนอะไร ไหนลองออกแบบซิ แต่ด้วยความที่นักเรียนมันเยอะ ก็ต้องมาดูว่ามีจุดไหนที่เหมือนกันและเรียนร่วมกันได้ ขณะเดียวกันคุณก็ยังได้เรียนในสิ่งที่คุณสนใจจริงๆ ได้อยู่ และคุณก็ต้องเรียนในสิ่งที่มันจำเป็นด้วยแม้ว่าตอนนี้คุณอาจยังไม่เห็นความจำเป็นก็ตาม
แต่ก็ยังไม่ใช่แค่นี้ เราต้องชวนผู้ปกครองคุยด้วยว่าคุณคาดหวังอะไรกับลูก คาดหวังอะไรกับครู และคาดหวังอะไรกับตัวผู้ปกครองด้วยกันเอง นักเรียนก็เหมือนกัน นักเรียนคาดหวังอะไรจากครู ผู้ปกครอง หรือจากเพื่อนด้วยกันเอง ให้แต่ละคนต่างไปคิดสามข้อนี้มาแล้วมาดูกันว่ามีจุดร่วมตรงไหนและจะขยับไปด้วยกันได้และอย่างไร
เรามักได้ยินว่าแม้ครูจะตั้งใจดี แต่ก็มักถูกดูดจากระบบหรือโครงสร้างแข็งทื่อตายตัว หลายครั้งที่เจตนาดีอยากเปลี่ยนการศึกษา แต่ก็ทำไม่ได้?
ด้วยโครงสร้างโรงเรียนมันเอื้อให้ครูออกแบบวิธีการเรียนได้พอสมควร เพราะเราเห็นร่วมกันว่าถ้าจะทำการศึกษาแบบนี้ ต้องให้พื้นที่ครูและให้อำนาจกับเด็กสร้างพื้นที่ โอเคว่ามันทำไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เนอะ แต่การเรียนรู้ในห้องเรียนจำนวน 30 ชั่วโมง/สัปดาห์เนี่ย อย่างน้อยมันจะมีประมาณ 11 ชั่วโมง/สัปดาห์เลยนะที่เราจะทำแบบนี้ได้ โดยเฉพาะคาบโฮมรูมช่วงเช้าที่เราเรียกว่า ‘โฮมรูม โฮมใจ’ ชวนเขาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มาฟังกัน มาแลกเปลี่ยน มาสร้างบทสนทนาต่อกัน (dialogue) และเรามีวิชาบูรณาการที่เน้นกระบวนการเรียนรู้มากกว่าตัวข้อมูลหรือเนื้อหาโดยมีครูสอนร่วมกันเป็นทีม 6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ส่วนอีก 19 ชั่วโมง/สัปดาห์ เราก็ยังเรียนตามหลักสูตรได้
ในหน้าเพจของครูสัญญา จะเห็นวิธีการเรียนการสอนที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเน้นให้เด็กค้นหาตัวตนของตัวเอง ต้นกำเนิดของโครงการแบบนี้คืออะไร
ยกตัวอย่างโปรเจ็คท์ ‘ค้นพบตัวเองค้นพบอาชีพ’ ของนักเรียนชั้น ม.3 ปีนี้ดำเนินมาเป็นปีที่ 2 แล้ว แต่ว่ารายละเอียดแต่ละปีจะต่างกันแล้วแต่เด็กๆ แต่วิธีคิดคือ เรามองว่าก่อนที่เขาจะพบตัวเองหรือพบอาชีพที่อยากทำ เขาต้องรู้จักตัวเองก่อน ปกติแล้วเราก็จะมีเครื่องมือช่วยเขาหาด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การชวนคนในอาชีพนั้นๆ เข้ามาพูดคุยและสร้างแรงบันดาลใจกับนักเรียน แต่มันก็ได้ระดับหนึ่งและอาจไม่ตรงกับความสนใจเขาจริงๆ และเราเองก็สรรหาอาชีพเหล่านั้นมาได้ไม่ครบ
ทีนี้เด็กๆ เขาสะท้อนว่า “ขอพื้นที่ให้พวกเขาได้ออกไปฝึกประสบการณ์มากขึ้นกว่านี้ได้มั้ยครู?” เราก็มาคิดร่วมกันระหว่างเด็กและทีมครูว่ามันควรเป็นประมาณไหนดี เด็กๆ เขาก็เสนอรูปแบบการเข้าค่าย ให้เด็กได้ไปลองฝึกประสบการณ์ในอาชีพนั้นๆ
แต่โครงการนี้เราทำกับนักเรียน ม.3 จำนวน 2 ห้อง มีนักเรียน 45 คน จัดกลุ่มอาชีพที่เด็กๆ อยากเป็นได้ประมาณ 20 อาชีพ ด้วยความที่เด็กค่อนข้างเยอะ ก็มีการคุยกันว่าก่อนจะถึงวันเข้าค่ายจริงคือวันที่ 6-8 กันยายน เขาจะจัดการอย่างไรกันดี เด็กๆ เขาเลยเสนอว่า “มันต้องมีคนไปลองฝึกก่อนนะครู” ก็เลยมีอาสา 10 คนไปทดลองฝึกประสบการณ์ก่อนวันเข้าค่ายจริง เช่น มีเด็กคนหนึ่งอยากเป็นครูสอนสังคม เราก็ส่งเขาประกบครูสังคมคนอื่นก่อนเลย คือถึงแม้ว่าเราจะเป็นครูสังคมอยู่แล้ว แต่เขาอาจจะอยู่กับเราจนชินและมองว่าวิธีการสอนของเราเป็นเรื่องปกติก็ได้ เราก็ให้เขาเอาคาบบูรณาการไปอยู่กับครูคนนั้นเลย เราก็ไปคุยกับเพื่อนครูว่าขอสลับเวลากันได้มั้ย ประมาณนี้
หรือมีเด็กที่อยากเป็นเชฟ ก็นี่เลย… ขอให้ผู้ปกครองช่วย (หัวเราะ) และมีคนที่อยากเป็นหมอลำ อยากเป็นนักดนตรี เป็นนักร้อง เราก็พาไปเลย ไปฟังหมอลำ ไปฟังดนตรี
ทำไมถึงให้ความสำคัญกับ ‘ตัวตน’ หรือ ‘อาชีพ’ ของเด็กๆ ถึงขนาดทำค่ายอย่างจริงจัง
หลักๆ อยากให้เด็กมีประสบการณ์ตรง และให้เขาค้นพบตัวเองให้ชัดว่า เมื่อฝึกจบ เมื่อไปเจอหน้างานจริง เขาอาจจะชอบหรือไม่ก็ได้ แต่ก็ไม่เป็นอะไรนะเพราะอย่างน้อยเขาก็ได้รู้แล้วแหละ ที่สำคัญจริงๆ คือมันมีผลต่อการเลือกเรียนต่อ จะไปสายสามัญ สายอาชีพ หรือบางทีก็มุ่งไปที่อาชีพนั้นตรงๆ เลย
อย่างรุ่นที่แล้วมีคนหนึ่งสนใจนวดแผนไทย เขาก็ไปเรียนนวดโดยตรงแล้วเรียน กศน. เอา ตอนนี้มีประเทศในเครือข่าย (คนทำงานในวงการนวดแผนไทย) จีบไปแล้ว ถ้าเขาอายุครบ 18 ปี ก็เตรียมตัวไปเกาหลีเลยเพราะเขานวดดีมากและมีรายได้ด้วย ขณะที่กลับมาโรงเรียนก็เล่าให้เพื่อนฟังอย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันโอเคมากและก็ศรัทธากับอาชีพนี้ เลี้ยงพ่อแม่ได้ด้วย” เราว่ามันเป็นทางเลือกที่ใกล้ตัวและตอบโจทย์เขา
เพราะครูสอนนักเรียนมาแล้วกว่า 11 ปี และเป็นครูที่เน้นให้นักเรียนรู้จักและค้นพบตัวเอง ถ้าให้ลองวิเคราะห์ ครูคิดว่าเด็กรุ่นใหม่มีคาแรคเตอร์แบบไหน
เอาจริงๆ แล้วคาแรคเตอร์ของคนรุ่นเรา เด็กรุ่นที่เราเพิ่งสอนใหม่ๆ กับเด็กรุ่นนี้ก็ไม่ต่างกันมากนะ ยังมีความเป็นเด็กอยู่ มีความก๋ากั่น แต่อาจจะซ่าคนละอย่าง (หัวเราะ) คาแรคเตอร์ที่เราเห็นว่าเป็นมุมดี คือเด็กรุ่นนี้จะรู้เรื่องสิทธิเยอะ เข้าถึงข้อมูลเก่ง บางเรื่องเขารู้กว่าเรามาก อีกมุมหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นมุมลบหน่อย คือไม่ค่อยอดทน แล้วก็ติดสมาร์ทโฟนมาก (ลากเสียง)
ในกลุ่มคาแรคเตอร์บวกๆ อาจเพราะเราเปิดพื้นที่ให้เขาได้ถกเถียง
เราว่ามันมีส่วนมากๆ เราเคยไปเวิร์คช็อปกับโรงเรียนอื่น ไปทำกระบวนการแบบนี้กับเด็กห้องเรียนในโรงเรียนท็อปๆ ด้วยนะ แต่เรากลับพบว่าวิธีแลกเปลี่ยนของเขามันยังกล้าๆ กลัวๆ และไม่สนุก คือมันจะมีเซนส์แบบ ‘เราผิดรึเปล่าวะ’
แล้วถ้าเป็นคาแรคเตอร์ที่ครูคิดว่าไม่ค่อยดีในสายตาผู้ใหญ่ จะดูแลอย่างไรดี
อย่างความไม่อดทน เรารู้สึกว่าส่วนหนึ่งเด็กๆ ถูกดึงจากเทคโนโลยีนะ สิ่งที่ครูต้องทำคือ ครูต้องอดทนมากขึ้น (หัวเราะ) คือถ้าเป็นยุคเรา แค่ครูกระแอม “เอ้ย… เงียบหน่อย” เราก็จะชะงักแล้วใช่ปะ แต่ยุคนี้เงียบได้แป๊บนึงนะ เขาก็อยู่กับเราแค่ท่าทีแต่ใจไม่ได้อยู่กับเรา ดังนั้นเราต้องเอาสิ่งที่เขาสนใจนี่แหละ ดึงขึ้นมาแล้วพลิกให้เขามองอีกมุมว่า มันมีบทเรียนหรือมันมีคุณค่าบางอย่างอยู่ในนั้นนะ
ด้วยวิธีไหน
อย่างกลุ่มติดเกม เราก็จัดเลย “เอางี้มั้ย มาทำ e-sport ให้จริงจังในโรงเรียนไปเลย แต่ครูไม่มีความรู้เลยนะว้อย เอ็งเอาป่าววะ” เด็กตอบผมว่า “แต่ก่อนที่ครูจะชวนพวกผมทำ ครูต้องเล่นเป็นก่อน” ซึ่งเราก็ลองเล่นนะ แต่ไม่อินเลยอะ (หัวเราะ) แต่ก็รู้ว่า “อ๋อ มันยังงี้ใช่มั้ย” แต่จริงๆ ไม่อิน (ย้ำ) แต่พอเล่นเสร็จก็ “มา… มาทำกลุ่ม ROV กัน”
พอทำกลุ่มมันก็ต้องมีการจัดการ “เอ็งจะแบ่งงานกันยังไง จะจัดระบบยังไง เดี๋ยวต้องมีคนมาจัดโต๊ะ เตรียมของนะ” คืออย่างน้อยเขาก็หลุดมาจากเกมแล้ว เพราะต้องมาเตรียมงาน ต้องเตรียมประกาศ ทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ ชวนคนนั้นคนนี้มาเล่น เราเห็นเขาคุยกัน เห็นเขาหาวิธี และจากที่เขาเคยแข่งกันเองก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะต้องมาสอนน้องเล่น สุดท้ายเด็กแซวผมว่า “สรุปครูไม่ได้สนอง need ผมนี่หว่า” (หัวเราะ)
พอจบงาน เราก็เสนอให้ e-sport เป็นกีฬาของโรงเรียนเลย มีถ้วยรางวัล คืออย่างน้อยเด็กได้ถือถ้วย มันเกิดความภูมิใจแล้วนะ เห็นตัวลีบๆ ไม่ได้เตะบอลหรือไปแข่งอะไรกับเขา แต่ในใจรู้สึกมีคุณค่าแล้ว เป็นคนจัดงานอีก เขาอาจเกิดความภาคภูมิใจและอยากทำอะไรให้คนอื่นต่อบ้างก็ได้
นี่คือการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส อยากถามถึงเรื่องที่เราคิดว่าเป็นปัญหามาพลิกให้เขาเห็นคุณค่า แต่เราจะตามแก้ปัญหาในเด็กทุกคน ซึ่งแต่ละคนก็มีปัญหาไม่เหมือนกันได้อย่างไร
อูย (ลากเสียง) เราแก้ไม่หมด แก้ไม่ได้แน่ๆ แต่อย่างน้อยเรามีพื้นที่ปลอดภัยซึ่งก็คือวงคุย ‘โฮมรูม โฮมใจ’ ทุกเช้านี่แหละ วงคุยแบบนี้เราจะรู้ว่าคนไหนควรทำงานต่อแบบจริงใจแล้วค่อยชวนเขาคุยนอกรอบอีกที แต่ในตัววงเองมันจะเยียวยากันอยู่แล้ว หรือกระทั่งตัวครูเอง เวลาเครียดๆ ก็ใช้วงนี้เช็คอินและเล่าให้เขาฟัง เมื่อแลกเปลี่ยน ถูกรับฟัง และเห็นว่าปัญหามันคลี่คลายระดับหนึ่งแล้ว เราก็ค่อย “แล้วเราจะให้กำลังใจเพื่อนยังไงดี?”
ด้วยความที่มันมีกระบวนการแบบนี้ เราเลยรู้สึก ถึงเราจะแก้ปัญหาไม่หมด แต่มันปลอดภัยและถูกเยียวยา ปัญหาจะไม่เลวร้ายขนาดที่เราตามแก้ไม่ทัน
ซึ่งเอาจริงๆ เราตั้งธงชัดด้วยว่าครูไม่ใช่นักแก้ปัญหา “ปัญหาของเอ็ง เอ็งต้องดีลเอง” แต่ครูจะรับฟังและจะช่วยชี้ว่ามันมีหลายทางนะ หรือชวนดูว่ามันมีทางอื่นอีกมั้ย ส่วนจะเลือกอะไรก็แล้วแต่เอ็งเลย เราให้คุณค่ากับการตัดสินใจของเขา ‘เอ็งเป็นเอ็ง เราเป็นเรา’
แต่ความ ‘เราเป็นเรา’ นี่แหละที่ต้องทำให้เห็นว่าเราจะซัพพอร์ตตัวเองยังไงให้รอดได้ และความเป็นเรามันจะอยู่ร่วมกับคนอื่นยังไง จะสร้างสรรค์อย่างไรได้ต่อ
มีปัญหาไหนมั้ยที่คิดว่าหนักหน่วงในสายตาคนอื่น แต่จริงๆ แก้ได้ด้วยความรู้สึก ‘มั่นคง’
อย่างปัญหาเด็ก drop out หรือออกไปกลางคัน เราก็บอกเลยว่า “จะเรียนหรือไม่เรียนก็ได้นะ เพราะบางทีระบบมันรกรุงรังสำหรับเอ็งใช่มั้ย แต่มันมีวิธีการแบบนี้นะ เอ็งเลือกได้” ท้ายที่สุดเด็กออกกลางคันไปก็เยอะ เพราะปัญหาครอบครัว มันก็เป็นปัญหาที่เปราะบางเนอะ เด็กในโรงเรียนมีหลากหลาย ทั้งที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ สิ่งแวดล้อมโรงเรียนอยู่ใกล้ชุมชนแออัด มีทั้งปัญหายาเสพติด ค่านิยมของคนในโซนนั้น การไม่เรียนหนังสือมันไม่เป็นไร เพราะเขาให้คุณค่ากับการทำงานและการใช้ชีวิต
สำคัญคือ เด็กที่ drop out ไม่ได้รังเกียจโรงเรียน ก่อนจะออกเราทำให้ชัดว่าเราให้คุณค่ากับสิ่งที่เขาเลือก “เอ็งไปไหนก็ยังเป็นเอ็ง และครูยังเป็นครู เรายังเป็นเพื่อนกัน ไม่จำเป็นต้องหลบหน้าหลบตา” ที่น่าสนใจคือวันไหว้ครู เด็กกลุ่มนี้ก็ยังมาหา ยังมารวมรุ่น ยังไปมาหาสู่กัน
ซึ่งอันที่จริงแล้วต้องบอกว่าโรงเรียนให้คุณค่ากับความเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กจะมาจากไหน ไม่ว่าจะเลือกเรียนต่อ อาชีวะ เลือกที่จะไม่เรียน หรือกระทั่งเด็กที่อยู่ในสลัมก็เจ๋งและมีคุณค่า แต่การจะสร้างความคิดให้ “คนเคารพคน” ครูต้องเชื่อแบบนั้นนะ เราเชื่อว่าพลังงานแบบนี้จะถูกถ่ายเทไปสู่นักเรียน เด็กๆ จะถูกบ่มเพาะเรื่องนี้ เขาสะท้อนตัวครูก็ได้ แนะนำครูก็ได้
เรามีวัฒนธรรมตักเตือน ถ้าใครทำไม่ดีไม่ชอบเราเตือนกันได้ และถ้าอะไรที่ดีเราต้องชื่นชมและขอบคุณกันและกัน สร้างวัฒนธรรมแบบนี้
ทำทั้งหมดนี้ อยากให้เด็กเห็นอะไรในตัวเอง
อยากให้เขารู้จักตัวเอง เห็นว่าเขาเป็นใคร เท่าทันตัวเอง เท่าทันโลก โลกที่เปลี่ยนไปมันจะมีมุมมองอีกเยอะมาก แล้วเราจะดีลกับมันยังไง แต่มากกว่าอยู่รอดคือให้อยู่ร่วมกันได้ เพราะเขาไม่ใช่แค่ตัวคนเดียว แต่ชีวิตเขาเกี่ยวข้องกับครอบครัวและเพื่อน อยากให้เขาเข้าใจความแตกต่างของคนอื่นและเคารพซึ่งกัน และก็อยากให้เขาอยู่อย่างมีความหมายและสร้างสรรค์ด้วย
11 ปีที่ผ่านมา ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ในตอนออกแบบโรงเรียนมั้ย?
ตอบโจทย์ไม่หมดเนอะเพราะชุมชนเองก็เปลี่ยน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ ชุมชนเขาเห็นว่าลูกหลานของเขาไว้ใจโรงเรียน เห็นว่าลูกเขามีความสุข อยากมาโรงเรียน ด้วยความที่เด็กมันน้อยเราก็เห็นปัญหาและตามทัน ในภาพรวมเรารู้สึกว่าเราเอาอยู่ ชุมชนเองเขาก็เห็นการเติบโตและเห็นการเคลื่อนไหวของเด็กๆ อยู่เสมอ
ทุกสิ้นเทอมเราจะมีวงให้เขาเล่าว่าเขาได้เรียนรู้อะไร เขาเห็นอะไร ซึ่งเขาก็สะท้อนว่า ลูกเขาเติบโตแบบนี้นะ ลูกเขาคิดแบบนี้นะ มีวงให้ผู้ปกครองมาบ่น เรามีพื้นที่แบบนี้ให้ผู้ปกครองด้วยเหมือนกัน หมายความว่า โรงเรียนไม่ได้ผูกขาดตัวเองออกจากชุมชน แต่โรงเรียนเป็นพื้นที่สาธารณะให้ได้มาปฏิสัมพันธ์กัน ขับเคลื่อนอะไรบางอย่างร่วมกันให้มันดีขึ้น ไม่มีใครโดดเดี่ยวออกจากกัน
เราเห็นความเคลื่อนไหวในวงการศึกษา เห็นครูรุ่นใหม่ไม่ยอมแพ้และลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับการเรียนการสอนมากขึ้น กระทั่งเปลี่ยนแปลงมันด้วยตัวเอง ในแง่นี้ เรามีความหวังกับการศึกษา กับครูพันธุ์ใหม่ใช่มั้ย
การจะเป็นครูที่ดีต้องเป็นนักเรียนอยู่เสมอ เราจะเอาความสำเร็จในอดีตมาใช้ไม่ได้แล้ว แม้กระทั่งกับบางเรื่องที่เราเคยคิดว่าเอาอยู่ แต่พอเจอเด็กกลุ่มใหม่ในปัญหาเดิม เราเอาไม่อยู่นะ ต้อง unlearn และ relearn ใหม่เหมือนกันเนอะ
แต่เรามีความหวังกับครูรุ่นใหม่นะ มีการจัดวงคุยและเวิร์คช็อปการสอนแบบใหม่เยอะมาก เราเองก็ไปลักจำจากคนอื่นเหมือนกัน ที่ยังเป็นปัญหาคือ ครูรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เข้าไปอยู่ในระบบแล้วจะฟีบเพราะเขารับใช้ระบบไปหน่อย ตัวระบบเหมือนจะดูใหญ่ แต่เอาเข้าจริงมันก็คือคนนี่แหละ ถ้าเราดีลกับคนได้ มีวิธีการประนีประนอมกับระบบ มันทำได้นะ
อย่างงานประเมินที่หลายคนมีปัญหา สำหรับเรามันคือของเล่น เพราะอย่าลืมว่าสิ่งที่ควรจะจริงจังและให้น้ำหนักกับมันมากหน่อย คือหน้างานกับเด็ก นี่ของจริง พยายามกลับไปถามตัวเองว่าตอนที่เราอยากเป็นครู เป้าหมายของเราคืออะไร ทำตามใจนายเพื่อให้ได้ขั้น หรือความสนุกกับนักเรียนและทำให้จิตวิญญาณการเป็นครูเติบโตขึ้นรึเปล่า เราว่าฝั่งหลังมันน้อยมาก
11 ปีกับการเป็นครู ถ้าให้ประเมินตัวเอง ประเมินอย่างไรดี
เราทำกราฟการทำงานนะ สามสี่ปีแรก เราเป็นนักแสดง เราเล่นกับบทครู เขาสั่งให้เราทำอะไรเราก็ทำไป เล่นไป แต่พอสักพักเราเป็นผู้กำกับนี่หว่า (หัวเราะ) ได้กำกับนักเรียน ตัวเอง เพื่อน แต่ตอนนี้เราเป็นผู้อำนวยการสร้างแล้ว รู้สึกว่าบางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่จะอำนวยยังไงให้เพื่อนทำงาน ให้นักเรียนทำงาน หรืออำนวยยังไงให้บางจังหวะเราเป็นนักแสดง หรือบางจังหวะเป็นเด็กเสิร์ฟน้ำ
สุดท้ายนี้ ทิ้งท้ายคำคมงามๆ นิดหนึ่งนะคะ ^^
เราว่าถ้าไม่ได้มองว่าครูเป็นอาชีพ ทุกคนเป็นครูอยู่แล้ว เป็นครูให้ตัวเอง อย่างในร้านกาแฟเราเห็นคนคุยกันเสียงดัง นี่ก็โคตรเป็นครูเลยนะ “กูจะไม่เป็นแบบนี้อะ” หรือเราอาจจะเอาไปคุยกับนักเรียน “เอ็งรู้แล้วนะว่ามันรบกวนคนอื่นยังไง” คือทุกแรงย่างก้าวหรือทุกแรงกระเพื่อมก็เป็นครูได้
อีกเรื่องคือ เราเชื่อว่าคนเป็นครู โคตรโชคดี เป็นคนที่เตรียมอนาคตของสังคมเลยนะ เรามองว่าคือโอกาส ซึ่งถ้าเราทำแบบ “พอๆ แล้วๆ” แสดงว่าเรากำลังสนับสนุนให้คนในอนาคตเป็นแบบ “พอๆ แล้วๆ” ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตยก็ต้องสร้างในห้องนี่แหละ แล้วเขาจะจำแพทเทิร์น วิธีการออกไปใช้จริงข้างนอก และถ้าครูเชื่อ เขาก็จะทำอะไรที่มันสนุกจริงๆ