- คนเราเรียนรู้ได้ทุกที่ไม่เฉพาะในห้องเรียน ‘โรงภาพยนตร์’ ก็เช่นกัน
- คุยกับ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club ถึงฟังก์ชันของโรงภาพยนตร์ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่แห่งความเอนเตอร์เทนเมนต์ แต่เป็น Space – พื้นที่หนึ่งในการเรียนรู้ เล่าถึงฟังก์ชันที่เปลี่ยนไปของโรงภาพยนตร์สมัย Stand Alone ถึง Multiplex ว่าวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปพร้อมรูปแบบนั้นเปลี่ยนไปแค่ไหน
- “ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่เราอ่านนิตยสารเกี่ยวกับหนัง ซึ่งมันก็พาเราไปรู้จักกับความคิดของคนทำ เจาะลึกการถ่ายทำ มีบทความในเชิงศิลปะเชิงสังคมต่างๆ หนังพาเราแตก แยก ย่อย และเชื่อมโยงไปถึงสิ่งอื่นๆ เราเคยไปดูหนังเรื่อง Trainspotting ในเทศกาลหนังอังกฤษ ฟังไม่รู้เรื่องเลยเพราะมันไม่มีซับแล้วก็พูดสำเนียงสก็อตติชกันทั้งเรื่อง แต่เพลงเพราะมาก พอดูเสร็จออกจากเฉลิมกรุงต้องรีบไปหาซื้อแผ่นซีดีมาเก็บไว้ พื้นที่ของการดูหนังมันเป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างเรากับสิ่งอื่นๆ ในโลกใบนี้”
ไม่ใช่แค่ห้องเรียนหรอก ที่หล่อหลอมเราให้เป็นเราอย่างในทุกวันนี้
หากมองย้อนกลับไปในชีวิตของตัวเอง ผู้อ่านคงเห็นด้วยว่าความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่ในตอนนี้ ล้วนมีที่มาจากหลายแห่งหน เรื่องบางเรื่องเราพบยามที่ได้คุยกับเพื่อน บางเรื่องได้มาจากโทรทัศน์ บางอย่างก็รู้จากอินเทอร์เน็ต แม้ปลายทางของความรู้จะมีหน้าตาเหมือนๆ กัน แต่รูปแบบในการเสาะหานั้นมีหลากหลายเกินกว่าจะนับ
นั่นเพราะว่ามนุษย์เรามีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน บางคนเรียนรู้ได้ดีในห้องเรียน บางคนกลับเอนจอยกว่ากับการเรียนในพื้นที่อื่นๆ นอกห้อง ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club องค์กรที่คัดสรรภาพยนตร์สารคดีคุณภาพจากทั่วโลกมาเผยแพร่ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในคนแบบหลังที่ว่านั่น เธอเติบโตมากับภาพยนตร์และโรงหนัง รู้จักโลกผ่าน ‘เรื่องเล่า’ ของคนอื่นที่อยู่บนจอขนาดยักษ์
แต่การดูหนังในโลกที่เธอเติบโตและเรียนรู้ชีวิตผ่านมันช่างแตกต่างจากการดูหนังในสมัยนี้ ชนิดที่เรียกว่าห่างไกล โรงหนังที่เคยเป็นความสุขของเธอเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วยังทำหน้าที่ในฐานะ ‘พื้นที่การเรียนรู้’ ที่ไม่ใช่ห้องเรียนได้อยู่หรือเปล่า เราชวนผู้อ่านติดตามในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้
คุณเติบโตโดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหนังและโรงหนังอย่างไรบ้าง
ความทรงจำสมัยเด็กๆ คือ เมื่อก่อนโรงหนังมันไม่ใช่มัลติเพล็กซ์ (Multiplex) แบบทุกวันนี้ แต่เป็นแบบสแตนด์อโลน (Stand Alone) และไม่ได้มีเยอะ แต่ละโรงก็จะฉายหนังคนละประเภทกัน
การดูหนังสมัยก่อนก็ไม่ใช่สิ่งที่เราทำได้บ่อยๆ แต่เหมือนเป็นกิจกรรมครอบครัวในวาระพิเศษ เช่น ตรุษจีน วันหยุด ช่วงปิดเทอม หรืออาจจะเป็นวันเสาร์ที่พ่อกลับจากต่างจังหวัดแล้วอยู่กันพร้อมหน้า ดังนั้นมันจึงเป็นกิจกรรมที่ประทับใจ เป็นภาพบวก เพราะมันไม่ใช่การดูหนังคนเดียว แต่มันเป็นการไปดูหนังด้วยกัน จะมีภาพของความต้องเตรียมตัว แต่งตัวออกไปดูหนัง ดูเสร็จต้องไปกินข้าวกัน ดังนั้นสำหรับพี่ การดูหนังเป็นภาพแบบนี้ เราจะรู้สึกว่ามันเป็นความบันเทิงที่มาพร้อมกับความประทับใจ
พอเราโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น เป็นช่วงที่เราอ่านนิตยสารเกี่ยวกับหนัง ซึ่งมันก็พาเราไปรู้จักกับเรื่องความคิดของคนทำ เจาะลึกการถ่ายทำ มีบทความในเชิงศิลปะ เชิงสังคมอะไรต่างๆ หนังพาเราแตก แยก ย่อย และเชื่อมโยง ไปถึงสิ่งอื่นๆ เช่น เราเคยไปดูหนังเรื่อง Trainspotting ในเทศกาลหนังอังกฤษ ซึ่งฟังไม่รู้เรื่องเลยเพราะมันไม่มีซับ แล้วก็พูดสำเนียงสก็อตติชกันทั้งเรื่อง แต่เพลงเพราะมาก พอดูเสร็จออกจากเฉลิมกรุงต้องรีบไปหาซื้อแผ่นซีดีมาเก็บไว้ พื้นที่ของการดูหนังมันเป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างเรากับสิ่งอื่นๆ ในโลกใบนี้
โรงสมัยก่อนมีหนังฉายทุกวันไหม แล้วที่บอกว่าแต่ละโรงฉายหนังไม่เหมือนกันคือแบบไหน
ก็ฉายทุกวันเหมือนโรงหนังทั่วไป เพียงแต่โรงหนังไม่ได้มีจำนวนมากและใกล้บ้านเหมือนทุกวันนี้ อย่างที่บอกว่าโรงสมัยก่อนเป็นแบบสแตนด์อโลน คือ เป็นตัวโรงหนังอย่างเดียว ไม่ได้ผูกติดอยู่กับห้าง และเป็นโรงขนาดใหญ่ แต่ละกลุ่มโรงก็จะเป็นคนละเจ้าของกัน ซึ่งเขาก็จะเลือกหนังที่เขาเชื่อ เพราะฉะนั้นก็จะมีบางโรงที่ฉายเฉพาะหนังอินเดีย หนังจีน หรือหนังไทย ก็เลยทำให้มีความแตกต่าง ซึ่งถ้าเราอยากดูหนังประเภทไหนเราก็ต้องไปที่โรงนั้น
พอเปลี่ยนจากสแตนด์อโลนมาเป็นมัลติเพล็กซ์ บรรยากาศความเป็นมหรสพและมุมมองของคนที่มีต่อโรงหนังเปลี่ยนไปยังไงบ้าง
เราว่ามันเปลี่ยนพฤติกรรมการรับรู้เรื่องการดูหนังไป จากเดิมโรงหนังมีจำนวนน้อย และตั้งอยู่ในที่ของมัน เราเป็นฝ่ายต้องเข้าไปหา แต่พอโรงหนังเปลี่ยนจุดยืนทางการตลาด เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชน กลายเป็นส่วนหนึ่งในพฤติกรรมของคนเดินห้าง คนก็เลยมีความรู้สึกต่อโรงหนังเปลี่ยนไป เช่น เมื่อก่อนนี้เราต้องเตรียมนัดหมายเพื่อนเพื่อไปดูหนัง เข้าสกาล่า แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นว่าเราไปเดินห้าง ระหว่างรอเพื่อนไม่มีอะไรทำก็ไปดูหนัง กินข้าวกับเพื่อนเสร็จไม่รู้ทำอะไรก็ไปดูหนัง หรือดูหนังเสร็จไม่รู้ทำอะไรก็ไปเดินห้าง มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมอีกแบบหนึ่ง ที่โรงหนังและการดูหนังไม่ใช่เป้าหมายหลักเสมอไป
เวลาเราดูหนังที่ย้อนยุคหน่อย คนที่มีชื่อเสียงมักต้องควงกันไปดูหนังรอบเปิดตัวหรือรอบพรีเมียร์ โรงหนังดูเป็นสถานที่ที่มีสัญญะบางอย่าง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
เราคิดว่าโรงหนังเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงที่สร้างวัฒนธรรมบางอย่างขึ้นมา เพื่อให้ดูเป็นอุตสาหกรรมที่มีคุณค่าและมูลค่า งานเปิดตัวที่ว่านั้นก็คงเหมือนการเปิดตัวของมหกรรมที่มีความพิเศษ หรูหรา แล้วหนังก็ถูกผูกอยู่กับมูลค่าของความหรูหรา เช่น การสร้างวัฒนธรรมเดินพรมแดง การสร้างวัฒนธรรมว่าเมื่อมีการมอบรางวัลตุ๊กตาทอง ทุกคนต้องแต่ตัวหรู ต้องประโคมเครื่องเพชร ซึ่งนี่เป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะตอนแรกที่หนังได้ถือกำเนิดขึ้น มันมีภาพลักษณ์ตรงกันข้ามกับตอนนี้เลย
ย้อนไปสมัยเริ่มต้น หนังเป็นแค่ภาพเคลื่อนไหวในสิ่งประดิษฐ์สำหรับก้มดูคนเดียว เป็นแค่ความตื่นตาตื่นใจชั่วครั้งชั่วคราว แต่พี่น้องลูมิแอร์ (Lumiere) กลับมองว่าหนังมีคุณค่าทางสังคม คือแทนที่จะดูคนเดียวกลับเอามันฉายขึ้นจอ เกิดการสร้างประสบการณ์ร่วมแก่คนที่มานั่งดูด้วยกันแล้วตื่นตาตื่นใจกับภาพเคลื่อนไหวตรงหน้าไปด้วยกัน มูลค่าทางตลาดก็เกิดขึ้น และโรงหนังก็เป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นทางการตลาดที่ว่านั้น เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีในการฉายและสร้างค่านิยมใหม่ๆ ในการชมมาเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมการดูหนังในโรงถูกปรับเปลี่ยนตามทิศทางการตลาดไปด้วย
ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นการกลับมาของโรงหนังเล็กๆ เหมือนเขาก็พยายามหาพื้นที่ของตัวเอง คุณมองว่าทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์แบบนี้
จริงๆ มันก็เป็นปรากฏการณ์ปกติ เพราะเมื่อก่อนตอนที่โรงย่อยๆ ยังไม่ปิดตัว สิ่งที่มีก็คือความหลากหลายของหนัง เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้สึกว่าการไปดูหนังอินเดียคือหนังอาร์ต หรือหนังไต้หวันที่มาฉายมันอินดี้ มันไม่มีคำว่าหนังนอกกระแสหรือในกระแส คำเหล่านี้มันมาพร้อมกับตลาดหนังของอเมริกัน มาพร้อมกับฮอลลีวูดที่พยายามบูมตัวเองขึ้นมาเป็นตลาดใหญ่ แล้วเราก็รับวัฒนธรรมนี้เข้ามาจนนำมาสู่หนังที่ใช้คำว่าแมส
เมื่อมีโรงหนังที่ทำมาเพื่อขายตลาดใหญ่ หนังสเกลเล็กหรือกลางที่ทุนไม่หนาพอก็จะถูกกีดกันออกไป แต่เรารู้สึกว่าการที่ตลาดเป็นแบบนี้มันคือการบิดเบือน เพราะเราอยู่กับความหลากหลายมาตั้งแต่ต้น แล้ววันหนึ่งก็มีคนมากำหนดว่าสิ่งนี้คือสินค้าตลาด ส่วนสิ่งนั้นไม่ใช่ ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่ความจริง และเราเชื่อว่ากลุ่มที่ถูกมองว่าไม่ใช่หนังตลาด มันก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ แค่อาจจะถูกทำให้ลดน้อยลง
อย่างโรงหนัง House ที่เป็นโรงของค่ายสหมงคลฟิล์ม ซึ่งเป็นค่ายจัดจำหน่ายหนังอิสระ เขามีหนังหลากหลายประเภท แน่นอนเขาก็ต้องการพื้นที่สำหรับปล่อยหนังของเขาเอง แต่อีกส่วนหนึ่งคนทำโรงก็มีความเชื่อในเรื่องหนังอิสระและหนังนอกกระแสด้วย
Bangkok screening Room ก็เป็นแบบโรงของคนรักหนังจริงๆ คือใช้ทุนตัวเองทำเอง ค้นหารูปแบบโปรแกรมมิ่งที่มีความเฉพาะตัว ส่วน Lido และ Scala เจ้าของเดิมคือเครือ Apex ซึ่งก็นำเข้าหนังอิสระเช่นกัน
เราเลยบอกว่า เมื่อก่อนที่ยังไม่ได้มีบริษัทสตูดิโอใหญ่จากฮอลลีวูดเข้ามา คนที่ทำค่ายจัดจำหน่ายและทำโรงหนังก็ดำเนินธุรกิจตามปกติ เขาไม่ได้มองว่าเขากำลังทำหนังอินดี้อะไร เขาก็ทำธุรกิจหนังน่ะ มันเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่มีโรงหนังที่ฉายหนังสารพัดแบบ แต่พอสตูดิโอเข้ามา การตลาดแบบฮอลลีวูดเข้ามา ระบบโรงแบบมัลติเพล็กซ์เข้ามา สมดุลของตลาดก็เปลี่ยนไป ใครไม่ใหญ่ก็กลายเป็นนอกกระแสไป
โรงหนังเป็นสถานที่ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ไหม
แน่นอน มันคือหน้าที่สำคัญของหนังเลย
เพราะหนังทุกเรื่องคือเรื่องเล่าของคนอื่น ชีวิตและความคิดของผู้คนที่ถูกถ่ายทอดด้วยพลังของภาพและเสียง การดูหนังจึงเป็นประตูสู่การเรียนรู้คนอื่นได้อย่างมีศักยภาพที่สุด
ในที่นี้เราหมายถึงการดูหนังโดยรวมเลยนะ ไม่ใช่แค่การดูในโรง สำหรับเราเวลาดูหนังเรื่องหนึ่งมันเชื่อมกับสิ่งอื่นๆ เสมอ ไม่ว่ามันจะอยู่ในโรงใหญ่ โรงเล็ก กลางแจ้ง ในห้องประชุม แกลเลอรีหรือที่ไหน เราก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่การจ่ายเงิน ซื้อตั๋ว นั่งดูเสร็จ แล้วกลับบ้าน แต่เรามองว่าพื้นที่ของการดูหนังมันเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเรากับคนอื่นๆ และตัวหนังเอง มันก็เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเรากับสิ่งอื่นๆ ในโลกใบนี้
เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวนักเรียนโดดเรียนเพื่อไปดูหนังลดราคา คุณคิดว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอะไร
มันก็สะท้อนว่าถ้าเราเลือกได้เราก็อยากไปดูหนัง เพราะมันเป็นความบันเทิงง่ายๆ แต่พอเราต้องมาเสียเงิน 200 บาทเราก็เริ่มคิดมากแล้ว พอตั๋วหนังแพงเนี่ยมันก็ จะกีดกันคนดูอย่างเราๆ จำนวนหนึ่งออกไปเพราะกำลังซื้อไม่ถึง จะดูหนังสักเรื่องเริ่มต้องคิดถึงความคุ้มค่า ไม่อยากจะเสียเงินไปกับการทดลองดูอะไรเสี่ยงๆ โดยง่ายแล้ว
แต่ทีนี้อะไรล่ะคือความคุ้มค่า? ส่วนใหญ่ความรู้สึกที่เรามีต่อคำว่าคุ้มค่ามันก็จะไปเกี่ยวข้องกับการตลาด เราไม่ได้เลือกความคุ้มค่าของหนังจากการที่มันเป็นหนังของประเทศที่เราไม่เคยดูมาก่อน หรือหนังอะไรเนี่ยท่าทางพิลึกพิลั่นไม่เคยดู ฯลฯ ใช่ไหม ตรงกันข้าม เรามีแนวโน้มจะเลือกในสิ่งที่การตลาดของหนังโน้มน้าวให้เรารู้สึกว่าต้องดู พลาดไม่ได้ ถ้าพลาดแล้วจะเสียดาย จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระแส ฯลฯ
ทุกอย่างเลยอยู่ภายใต้พลังทางการตลาด แต่ถ้าหนังราคา 25 บาทคุณไม่ต้องคิดอะไรมาก หนังอะไรก็ดูได้หมด ซึ่งมันดีมากเลย วันนั้นที่ตั๋วหนังราคา 25 บาทนั่นปรากฏว่าหนังทุกเรื่องที่ฉายอยู่สามารถทำรายได้พุ่งสูงมากทั้งที่บางเรื่องแทบไม่มีคนดูในวันอื่น แสดงว่าพอราคาตั๋วไม่ใช่อุปสรรคแล้ว เราก็พร้อมจะดูหนังที่อยู่นอกกระแสการตลาดมากขึ้นได้
ในยุคก่อน ตั๋วหนังราคาแพงไหม
ตอนพี่เรียนอยู่มัธยมชอบไปดูหนังที่โรงหนังสยาม ตอนที่ยังไม่ไฟไหม้ แถวหน้าสุด 15 บาท เลิกเรียนวันศุกร์ปุ๊บดูหนังต่อปั๊บ หนังอะไรเข้าอยู่ก็ดูหมด
แล้วทำไมเดี๋ยวนี้ตั๋วหนังถึงต้องแพงขนาดนั้น
นั่นสิ เราเคยทำกราฟิกเปรียบเทียบราคาตั๋วหนัง เทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของหลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เชื่อไหมว่าตั๋วหนังของประเทศไทยแพงเป็นอันดับต้นๆ ของตารางเลย ซึ่งเราไม่เข้าใจว่าตั๋วหนังต้องแพงอะไรมากมาย โรงอาจจะให้คำตอบว่าเขาลงทุนปรับคุณภาพเยอะมาก โรงดีกว่าสมัยก่อนอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่เราก็จะมีคำถามอีกแหละว่าความสูงส่งแบบนี้คนดูเป็นฝ่ายเรียกร้องก่อน หรือโรงและอุตสาหกรรมปั้นระดับมาตรฐานใหม่ขึ้นมาก่อนและเป็นฝ่ายผลักคนดูเข้ามาสู่วัฒนธรรมดูหนังในสถานที่หรูหราราคาแพงจนกลายเป็นวงจรที่ถอนตัวไม่ได้กันแน่ สำหรับเราแล้วความหรูหรานี้มันเกินจำเป็นไปมากๆ
และประเด็นสำคัญกว่านั้นคือเรามีโรงแทบจะแบบเดียว วิธีคิดเดียว แถมยังดำเนินธุรกิจแบบผูกขาดอีกด้วย แทบไม่เหลือทางเลือกอะไรเลย จริงๆ ในต่างประเทศมันก็มีทั้งประเทศที่ตั๋วถูกและแพง แต่สิ่งหนึ่งที่เขายังมีอยู่ก็คือความหลากหลาย มันไม่ได้ผูกขาดโดยวิธีคิดแบบเดียวเหมือนประเทศเรา อย่างเกาหลีซึ่งเป็นประเทศที่ตลาดโตมากๆ ก็มีโรงหนังหรูๆ แบบราคา 500 – 600 บาท มีอาหารให้กินมีโซฟาผ้าห่มเว่อร์ๆ แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ได้มีแค่โรงแบบเดียวเครือเดียว มันมีโรงอิสระ มีทางเลือกแบบอื่นๆ ให้คนดู ความหลากหลายคือสิ่งสำคัญที่สุดนะในความคิดเรา
นอกจากราคาตั๋วหนังแล้ว โรงหนังในไทย มีอะไรที่แปลกจากที่อื่นอีกไหม
อันนี้ไม่แน่ใจว่าที่อื่นเป็นแบบนี้ไหม แต่มันเป็นเรื่องประหลาดดีในสายตาเรา คือเมื่อก่อนเรามองโรงหนังว่าเป็นที่บันเทิง แต่ปัจจุบันเหมือนมันเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ไปแล้ว การมีคนพูดคุยกันหรือกินอะไรจุบจิบส่งเสียงในโรงเคยเป็นเรื่องธรรมดาๆ ตอนเรายังเด็ก แต่ทุกวันนี้เป็นความผิดบาปไปแล้ว คือพฤติกรรมพวกนี้ถ้ามากไปมันก็สร้างความรำคาญแหละ แต่การต้องนั่งเงียบนิ่งเกร็งมันก็มากไปเหมือนกัน คนรุ่นปู่ย่าพ่อแม่เราไม่กล้าเข้าโรงหนังเดี๋ยวนี้เลยเพราะเขารู้สึกกลัวไปทำอะไรผิดมารยาท มันไม่ใช่ที่สำหรับเขาแล้ว ยังไม่นับรวมบรรยากาศรายรอบของโรงซึ่งมันมากและยากเกินไปสำหรับคนอีกหลายกลุ่ม การมาดูหนังในโรงทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องยากสำหรับเขา
พอมันกีดกันคนจำนวนหนึ่ง เลยกลายเป็นว่าโรงหนังเป็นพื้นที่เข้าถึงยากหรือเปล่า
ใช่ พี่ว่ามันเห็นชัดขึ้นในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจไม่ดี อาจจะด้วยปัจจัยเรื่องราคา คนจำนวนหนึ่งก็จะไม่ไปโรงหนังแล้ว มีทางเลือกอื่นให้ดูในราคาประหยัด และด้วยบรรยากาศของโรงอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่ง หนังที่เลือกมา รูปแบบการใช้บริการ หรือการสร้างภาพลักษณ์ของโรง มันทำให้คนจํานวนหนึ่งรู้สึกว่าโรงหนังไม่ใช่ที่ของเขา เช่น ผู้สูงอายุ เพราะขนาดเราโตมากับการดูหนังเรายังรู้สึกว่าการไปโรงหนังทีนึงมันเหนื่อยมาก เหมือนทุกอย่างมันดูดพลังของเราไปหมด
ส่วนตัวพี่คิดว่าเมื่อก่อนการดูหนังมันเป็นอะไรที่ง่ายและมีความเป็นมนุษย์กว่านี้ อย่างตอนเด็กๆ ที่เราดูมันก็เป็นโรงง่ายๆ บ้านๆ ไปถึงดูหนังแผ่นดูใบปิด จ่ายค่าตั๋วกับพนักงาน ยืนคุยกันรอโรงเปิด เดินเข้าโรง ทุกอย่างเข้าใจง่ายและเป็นมิตร แต่อันนี้คือขับรถไปหาที่จอดรถ กว่าจะไปกดตู้ซื้อตั๋ว กดผิดกดถูก ไม่รู้เรื่องอีกกว่าจะเลือกหนังได้ กว่าจะดูโฆษณาอีกครึ่งชั่วโมง เราหมดแรงที่จะรู้สึกอะไรกับหนังที่ดูแล้ว ดูหนังเสร็จออกไปเจอพรม ไฟ เจอการตกแต่ง คือทุกสิ่งทุกอย่างเรารู้สึกว่ามันมากไป ซึ่งน่าตลกที่มันสวนทางกับการที่ทุกวันนี้มีโรงทุกมุมเมือง คือโรงหนังอาจจะไปง่ายขึ้น แต่เรากลับไม่ได้มีความรู้สึกว่าการดูหนังมันเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายและเป็นมิตร แปลกดี
ทีนี้พอมันเริ่มยากคนก็มีวิธีอื่น เช่น ดูผ่าน Streaming คุณว่าสิ่งนี้มันทำให้การเรียนรู้จากหนังเปลี่ยนไปไหม
สื่อภาพยนตร์มันเกิดขึ้นมาในฐานะมหรสพ ที่ต้องดูในสถานที่ที่มีคนเยอะๆ เราต้องการอารมณ์ร่วม การสร้างประสบการณ์เป็นลักษณะเฉพาะของหนังที่อาจจะจำเป็นต้องมีโรงหนังหรือสถานที่ทางกายภาพสำหรับดูหนังด้วยกัน
แต่ถ้าพูดถึงการเรียนรู้ในเชิงเนื้อหาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่สำคัญอาจไม่ใช่ Platform การดูแบบสตรีมมิ่งไม่ได้ลดทอนสิ่งนี้หรอกตราบใดที่มันยังมีส่วนอื่นๆ ตามมา เช่น ดูเสร็จแล้วคุณก็สามารถโพสต์เฟซบุ๊กหรือทวิตบอกว่าคุณดูอะไรมาเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เราเชื่อว่าบ่อยครั้งการเรียนรู้มันเกิดจากบทสนทนา มากกว่าจากตัวหนังเองเสียอีก
คุณให้ความสำคัญกับบทสนทนาหลังจากที่หนังจบมาก
เรารู้สึกว่าหนังมันทรงคุณค่า เมื่อถูกพูดถึงและแลกเปลี่ยน เราชอบฉากไหน ตรงไหน ไม่ชอบอะไร อันนี้คือโมเมนต์ที่สำคัญ แล้วมันก็สามารถเป็นได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นเสวนาวิชาการ หรือ เอาผู้กำกับเอานักวิชาการมาพูดก็ได้ คนดูหนังคุยกันเองนี่แหละมีชีวิตชีวาที่สุด
ท้ายที่สุดแล้วในความเห็นของคุณ โรงหนังสำคัญกับมนุษย์และสังคมอย่างไร
ถ้าพูดถึงโรงหนัง ความรู้สึกแรกของเรามันคือที่ที่เราไปแล้วมีความสุข ในแง่ของปัจเจกการเข้าไปในโรงหนังมันคือการใช้เวลาเพื่อเติมความสุขให้กับตัวเอง ไม่ว่าคุณจะมองว่าความสุขนั้นหน้าตาแบบไหน ได้หนีจากความทุกข์ภายนอก ได้หัวเราะ ได้ร้องไห้ หรือได้เติมความรู้และสติปัญญา
ในแง่สังคมเราคิดว่าโรงหนังเป็นพื้นที่ที่ทำหน้าที่ขัดเกลาคน ขัดเกลาทั้งรสนิยม ทั้งความเข้าใจที่มีต่อมนุษย์คนอื่นๆ รสนิยมในที่นี้หมายความว่าเราได้เข้าไปดูศิลปะรูปแบบหนึ่ง ได้ดูเรื่องเล่าของคนอื่น ได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นๆ ในพื้นที่ทางสังคมแบบที่เรายังมีความเป็นส่วนตัวด้วยในเวลาเดียวกัน
ในการดูหนัง เราไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบๆ แต่เรามีอารมณ์ร่วมกันต่อสิ่งที่ดูได้ มันเป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญในการสร้างการเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เราเข้าไปใช้เวลาสั้นๆ อยู่ในพื้นที่ที่อาจแทบไม่มีใครรู้จักกัน แต่ภาพและเสียงบนจอกลับสามารถทำให้เราสามารถมีความรู้สึกร่วมกันในสิ่งเดียวกันได้ เมื่อหนังจบและออกจากโรงแล้วเรายังพกพาความรู้สึกและความรับรู้เหล่านั้นออกมาได้ ยังอ้อยอิ่งกับมันได้ พูดคุยกับคนอื่นหรือสัมผัสมวลอารมณ์ของคนที่ดูหนังรอบเดียวกับเราได้
เรารู้สึกว่าโรงหนังควรจะรักษาความรู้สึกที่เป็นนามธรรมเหล่านี้ให้ได้ ไม่ว่าจะโดยบรรยากาศ การออกแบบ ราคาตั๋ว หนังที่เลือกมาฉาย เราอยากเห็นโรงหนังที่เป็นแบบนี้ โรงหนังที่เห็นคุณค่าของการมาดูหนัง ไม่ใช่โรงที่ทำทุกทางเพื่อจะดึงเราให้เข้าไปเสียเงินให้มากที่สุดและเร็วที่สุด และเมื่อหนังจบก็ถีบเราออกไปจากหนังและสถานที่อย่างเร็วที่สุดพอกันแบบที่เป็นอยู่