- เสรี จินตนเสรี อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วัย 77 เพิ่งคว้าแชมป์ แบดมินตันอาวุโส ชิงแชมป์โลก 2019 มาหมาดๆ
- ไม่ใช่เล่นอย่างจริงจังมาตลอดชีวิต แต่เพิ่งกลับมาหวดลูกขนไก่อย่างจริงจังเมื่ออายุ 60 เศษ หลังจากตรวจสุขภาพแล้วพบว่าเจอของ ‘เลวร้าย’ เยอะไปหมด
- ครั้งหนึ่งเคยเห็นเพื่อนล้มฟุบกลางคอร์ทแบด หัวใจวายและจากไปต่อหน้าต่อตา แทนที่จะขยาด กลับรู้สึกว่า ตายง่ายแบบนี้ดี แทนที่จะไปโดนสายระโยงระยางทางการแพทย์ทั้งหลาย – ให้ผมตีแบดตาย ผมก็มีความสุข
“เสรี จินตนเสรี คว้าแชมป์โลก แบดมินตันอาวุโส 2019”
เป็นข่าวเล็กๆ และอายุค่อนข้างสั้นในโลกออนไลน์ที่โดนข่าวชิ้นใหม่ไล่เบียดแทบจะทุกนาที ถ้าไม่คลิกอ่านข่าวชิ้นนี้หรือพิมพ์ชื่อ เสรี จินตนเสรี คนนอกแวดวงการเงินอาจไม่รู้เลยว่านักแบดมินตัน วัย 77 ปีคนนี้คือ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งคว้าแชมป์การแข่งขันแบดมินตันอาวุโส ชิงแชมป์โลก 2019 หรือ โยเน็กซ์ บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ ซีเนียร์ แชมเปี้ยนชีพ 2019 ชายเดี่ยวรุ่นอายุ 75 ปี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
The Potential นัดพบสุภาพบุรุษท่านนี้ที่คอร์ทแบดมินตันแห่งหนึ่ง คุณเสรีเสียเหงื่อที่นี่อย่างสม่ำเสมออาทิตย์ละอย่างน้อย 3 วัน
ย้อนกลับไปวัยเด็ก คุณเสรีเริ่มเล่นแบดมินตันตั้งแต่อายุ 12 ปี เพราะมีคอร์ทแบดอยู่ข้างบ้าน เลยนึกสนุก เดินไปดูว่าเขาเล่นกันอย่างไร
“ไม่มีโค้ชนะ ดูไปดูมาเราก็จำแต่ของดีๆ มันก็ทำให้เราเล่นแบดมินตันได้ ดูไปเล่นไป สนุกๆ ไม่ได้เอาจริงเอาใจเท่าไหร่ เรียนหนังสือมั่ง เตะฟุตบอลมั่ง เล่นกีฬาที่เด็กทั่วๆ ไปเล่น”
เริ่มต้นจากความสนุกไม่ได้หวังติดทีมชาติ แต่ความสนุกก่อให้เกิดความอยากเอาชนะ นำไปสู่การพัฒนาฝีมือ จนได้ติดทีมชาติเมื่ออายุริมๆ จะ 20
“แต่เป็นทีมชาติระดับหางแถวนะ (หัวเราะ) ไปแข่งต่างประเทศบ้าง ในประเทศบ้าง แต่ยิ่งโต ก็ต้องเอาจริงเอาจังกับการเรียนมากขึ้น กีฬาเลยเหมือนค่อยๆ หลุดจากแถว จนมาตีอีกทีมันไม่สนุกแล้ว ตีกับใครก็สู้เขาไม่ได้ ไม่มีความสุข”
จนเรียนจบ ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ ถ้าเปรียบเป็นเพื่อน กับแบดมินตันก็ยิ่งเข้าขั้น ‘คนแปลกหน้า’ ขณะที่หน้าที่การงานเจริญก้าวหน้าตามลำดับ
จนข้ามหลักไมล์ชีวิตไปถึงขวบปีที่ 62 การตรวจสุขภาพร่างกายหนนั้น เข้ามาเปลี่ยนชีวิต
“ผมให้หมอตรวจละเอียดทั้งร่างกาย ปรากฏว่าเจอแต่ของที่เลวร้ายเยอะไปหมด คอเลสเตอรอลสูงมาก HDL (ไขมันดี) ต่ำมาก LDL (ไขมันที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง) สูงมาก ซึ่งเป็นอันตราย ความดันก็แย่ น้ำตาลสูงพร้อมที่จะเป็นเบาหวาน ยูริคที่มาของโรคเกาต์ ผมก็สูงกว่าชาวบ้าน คุณหมอก็จะสั่งยาผม ผมก็กลับมาคิดว่าถ้าผมกินยา มันก็คงลงไปที่ตับไตอันที่หนึ่ง และมันไม่ได้แก้ที่พื้นฐาน ยามันรักษาเดี๋ยวเดียว”
คุณเสรีจึงนึกถึงการออกกำลังกาย เพื่อนเก่าอย่างลูกขนไก่ก็กลับมาอีกครั้ง แต่กลับมาหนนี้ มาแล้วมาเลย อยู่ยาวจนจะอีก 3 ปีจะเข้าเลข 8
เมื่อเราถามว่าจะเล่นไปจนถึงเมื่อไหร่?
“ให้ผมตีแบดจนตายคาคอร์ท ผมก็มีความสุข (หัวเราะ)”
เป้าหนึ่ง: กินยามันง่าย ตายเพราะตีแบดดีกว่า
“พอบอกคุณหมอว่าไม่กินยาคุณหมอถามว่าจะเอาไง จะเอา (ยา) รึยัง ผมบอกเดี๋ยวก่อน (ขำ) ผมนึกถึงการออกกำลังกายอย่างบ้าคลั่งได้ ให้เหงื่อมันออกให้เยอะที่สุด มันขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้เลือดสูบฉีด”
ยิ่งเป็นคนชอบความท้าทายและการแข่งขัน ทำให้คุณเสรีกลับมาเล่นแบดมินตันอย่างบ้าคลั่งอีกครั้ง
จนกลับไปให้หมอตรวจอีกครั้ง ค่าที่ไม่ดีทุกอย่างกลับลดลง สวนทางกับไขมันดีที่เพิ่มขึ้น จนหมอบอกว่า “คุณตีแบดเลย”
“ผมก็เล่นใหญ่เลยนะ ปรากฏหัวเข่าพัง ตีไปตีมามันอดไม่ได้ เราเคยวิ่งไล่เพื่อเอาชนะ พอกลับมาตีใหม่สังขารมันคนละเรื่อง ผมก็ไปหาหมอถามว่าทำไงดี ถ้าผมเลิก ไอ้ของเลวร้ายๆ ก็กลับมาอีก”
วิธีที่คุณเสรีเลือกใช้คือ ตีต่อไป (แต่เป็นความสามารถส่วนบุคคล-ไม่แนะนำให้ใครทำตาม)
“พอดีพี่ชายผมเป็นหมอการกีฬาโดยเฉพาะ เขารู้ว่าเราเข่าไม่ดี ก็บอกว่า อย่าไปหยุด ตีมันอย่างเก่า มากขึ้นยิ่งดี สร้างกล้ามเนื้อให้ได้ กล้ามเนื้อที่ดีจะคุ้มครองเข่า แขนก็เหมือนกัน”
แน่นอน การกินยาเป็นสิ่งง่าย แต่ถ้าเลือกทางนั้นตั้งแต่ต้น เขาบอกว่า “คงไม่มานั่งอยู่ตรงนี้” ทัศนคติในการมองชีวิตจึงสำคัญ
“เล่นๆ อยู่ หมอก็เตือนอีก คุณรู้ไหมเล่นแบดมินตัน หัวใจวาย ตายคาคอร์ทได้นะ แล้วมันก็มีคนตายจริงๆ วันนึง เล่นแบดเสร็จผมก็นั่งพักอยู่ข้างๆ เพื่อนผมล้มฟุบ ทุกคนวิ่งไปปฐมพยาบาล ปั๊มหัวใจอยู่พักหนึ่ง ในที่สุดเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ผมเลยมานั่งนึกดู เอ๊ะ ชีวิตคนเราตายง่ายอย่างงี้มันมีความสุขนี่ แทนที่จะไปโดนสายระโยงระยางทั้งหลาย ให้ผมตีแบดตายผมก็มีความสุข ขอให้ทุกคนอนุโมทนาด้วย (ยิ้ม)”
ที่พูดแบบนี้ได้ เพราะในวัย 77 ปี คุณเสรีไม่มีห่วงอะไรแล้ว ทุกคนทุกอย่างรอบข้างอยู่ได้เพราะจัดการไว้เรียบร้อย
“ผมเลยตีแบดอย่างบ้าคลั่งเข้าไปอีก ไปแข่งแชมป์โลกตั้งแต่อายุ 65 จนตอนนี้ได้เหรียญทองเหรียญที่ 6 แล้ว ก็ยังดีใจอยู่นะ”
เป้าที่สอง: ตีแบดให้เหมือนทำงาน
ถึงจะบอกแค่ว่า “ยังดีใจ” แต่แววตาของสุภาพบุรุษวัย 77 ปีวิบวับมากเมื่อเล่าถึงเหรียญทองที่คว้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่รุ่น 60 ปี 65 ปี 70 ปี จนล่าสุด 75 ปี
“พวกที่ตีด้วยกันบอกว่า อ้าว คุณตีดีนี่หว่า เพราะพื้นฐานผมมี ตีแล้วร่างกายผมก็ดีขึ้น ใครๆ ก็อยากคู่ด้วย (ยิ้ม)”
นอกจากพื้นฐานดี ถึงที่สุดแล้วเมื่อลงสนาม “มันต้องสู้กันด้วยสมอง” เลือดร้อนวัยหนุ่มอยากจะเอาแต่ลูกชนะ มันใช้ไม่ได้แล้วเมื่อถึงวัยเกษียณ การเก็บแต้มของคนรุ่นคุณปู่คุณตาหมายความสถานเดียวว่า “ไม่ตีเสีย”
“ล่าสุดผมแข่งกับเจ้าภาพ กองเชียร์เขาเป็นพัน มันเริ่มกดดัน ช่วงแรกผมเสียง่ายๆ เลยต้องมาวางแผนใหม่ว่า ตีไม่เอาสวย ไม่เอาเก่ง ใจผมเอาแต้มอย่างเดียว แต่ไม่ได้โกงนะ”
เทียบกับตอนอายุ 19 สไตล์การเล่นตอนนั้น บอกได้คำเดียวว่า ไม่กลัวใคร หากไม่ใช่การสักแต่หวด แต่คือความมั่นใจว่าจะวิ่งไปให้ทันทุกลูกอย่างรอบคอบ
“เร็วแต่รอบคอบ ยังเป็นจนถึงตอนนี้ ทำให้เราได้เปรียบ การทำงานก็เหมือนกัน เรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน ทุกเช้าจะมีเช็คลิสต์ เราทำให้ไว รอบคอบ แต่ไม่ใช่เร็วชุ่ยๆ เดี๋ยวเดียวก็เสร็จแล้ว ทุกๆ กิจกรรมแม้แต่การแปรงฟัน ผมมี minimum เวลาเท่านี้คือเท่านี้ เราต้องใช้เวลาให้คุ้มที่สุด”
“ใจจริงอยากเล่นแบบสวยๆ นะ เสิร์ฟจากข้างหลังให้คู่ต่อสู้แหงนหน้าตีสุดคอร์ท เหมือนรัชนกเลยนะ (ยิ้ม) แต่พอเราเสิร์ฟแบบนี้ ออกข้างบ้าง ออกหลังบ้าง ไปไม่ถึงบ้าง เสียแต้มไปฟรี ผมเลยเสิร์ฟอยู่ข้างหน้าดีกว่า ชัวร์”
เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมา คุณเสรีทำงานด้านกฎหมายมาตลอด ถ้าพลาด หรือตกหล่นอะไรไป นั่นคือความเสียหาย ทุกอย่างจึงอยู่บนพื้นฐานการเรียงลำดับ และจัดความสำคัญของชีวิต
“ทำทุกอย่างให้ดีที่สุดและทำให้เสียหายน้อยที่สุด” คติที่ใช้ทั้งการทำงานและตีแบด ส่วนการใช้ร่างกายและมันสมองเปรียบเสมือนการลงทุนที่มีทั้งรับและเสี่ยง
“ทั้งงานและแบด ถ้าไม่อยากทำก็ถอนตัวได้ แต่มันยังทำให้เราเดินต่อไปได้ เลยไม่ได้คิดถึงเรื่องถอนตัว” ถึงจะเกษียณแล้ว คุณเสรีก็ยังเป็นที่ปรึกษา เป็นประธานกรรมการ เป็นกรรมการบริหารให้หลายๆ บริษัท
เป้าสาม: พัฒนา อย่าขี้เกียจ
เหตุผลสำคัญที่ทิ้งไม้แบดไปเมื่อวัยหนุ่มคือ ไม่ได้ซ้อมสม่ำเสมอ สิ่งที่ตามมาคือ แพ้และไม่สนุก จากความรู้สึกว่าตัวเองไม่พัฒนา
“ผมไม่ชอบ มนุษย์เรามันต้องพัฒนาขึ้นทุกครั้งสิ ไม่ว่าจะเรื่องอะไร”
พอกลับมาเล่นตอนสูงวัย ถามว่าแพ้ไหม-ใช่ ท้อไหม-พยักหน้า…แต่เล่นต่อ
“ไม่ได้ก็ช่างมัน whatever happen เราได้สุขภาพ ได้เหงื่อ ได้เพื่อน มันคุ้ม อีกอย่าง คนเรามันต้องพัฒนาตลอด ไม่พัฒนาก็เสื่อมลง สังขารก็เช่นกัน ถ้าคุณพัฒนาได้ก็ทำเถอะ ผมก็พยายามเล่นลูกแปลกๆ ที่เด็กรุ่นใหม่เล่นกัน มันก็ลำบากเพราะพื้นฐานต่าง แต่เราก็เรียนรู้ไป”
เห็นมีไฟในแทบทุกประโยคอย่างนี้ ในวันและวัย 77 ก็มีโหมดระโหยโรยแรงเหมือนกัน แต่คุณเสรีไม่เก็บมันไว้นาน
“อย่านึกว่าผมแข็งแรง ผมก็มีจุดอ่อนเหมือนทุกท่าน เพียงแต่เราหาวิธี handle”
หนึ่งในวิธีนั้นคือสลับโหมดไปทำงาน
“เพราะการทำงานทำให้เราได้ใช้สมองในทุกๆ ครั้งที่มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น อย่างตอนนี้มีปัญหาจีนกับสหรัฐ มีเอฟเฟ็คต์หลายอย่าง เราก็ต้องคิดหมด เพราะงานกฎหมายต้องลงรายละเอียดมาก ตัวอักษร ถ้อยคำ จะกระทบใครบ้าง นี่ทำให้ผมยังอยากทำงานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่ไหว”
ส่วนกีฬา ถ้าใจรักก็อย่ารอ
“ถ้าไม่อยากมาเล่น คุณก็จะทำได้ไม่ดี ใจรักคือรู้สึกสนุกแล้วหาทางทำให้เหมาะกับเรา พอเรารัก เราสนุก มันก็ไม่ขี้เกียจทำให้มัน easy efficiency ศึกษาแล้วก็ปรับ พัฒนาตัวเอง ปัญหาเข้ามาก็แก้”
ส่วนสำคัญคือ พ่อแม่
“คุณพ่อคุณแม่ผมไม่ได้รู้เรื่องแบดนะ แต่เขาเห็นว่าลูกคนนี้ทำอะไรดี ทำอะไรเร็ว ก็ส่งเสริมให้เล่น แต่สมัยผม กีฬามันยังเป็นอาชีพไม่ได้ไง ท่านก็ให้เลือกเรียนไว้ก่อน ผมก็เข้าใจนะ แต่ถ้ามันเปิดกว้างอย่างตอนนี้ พ่อแม่ผู้ใหญ่ควรช่วยเด็กดูก่อน ดูว่าเขาชอบหรือเปล่า ถ้ายังไม่ชอบก็ช่วยเขาดูต่อไป จะได้ไม่เสียเวลา”
ก่อนจากกัน เราถามถึงเป้าหมายอันใกล้ของนักแบดวัย 77 ปี เช่น เตรียมไปแข่งในอีก 2 ปีข้างหน้า…โดยไม่ได้มีความรู้เลยว่า แชมป์ที่คุณเสรีเพิ่งคว้ากลับมาคือ รุ่นอาวุโสสูงสุดแล้ว
“โอย…อายุเท่านี้แล้วยังจะมีเป้าอะไรอีกล่ะ แบดก็แข่งรุ่นแก่สุดไปแล้ว แต่ก็…พัฒนาไปเรื่อยๆ do the best เงินไม่ได้ต้องการ ที่ต้องการคือสุขภาพ รักษาไว้ ไม่ใช่ให้เสื่อมลง นั่นแหละเป้าหมาย”