- ผู้ใหญ่ที่พอใจกับการใช้ชีวิต มองสิ่งต่างๆ ในแง่บวก รู้จักปล่อยวางและเพลิดเพลินกับเรื่องราวรอบตัว จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น มากกว่าคนที่ชอบโมโห หงุดหงิดง่ายและฉุนเฉียว
- การออกกำลังกายแบบเบาๆ ทุกวันในผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับความเสื่อมของร่างกายได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่เคยออกกำลังอย่างต่อเนื่องมาก่อน
- คุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายเกิดขึ้นได้ด้วยการมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจ แล้ววางแผน ลงมือใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการตั้งแต่วันนี้ ไม่เสียเวลากับการบ่นเรื่องไม่ได้อย่างใจ แต่พอใจกับสิ่งที่มี
เชื่อว่าหลายคนไม่อยากแก่หรือกลัวความแก่ แต่ ‘ความแก่’ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อันที่จริงไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำไปว่าแต่ละคนมีเวลาชีวิตเหลืออยู่เท่าไร จะมีลมหายใจอยู่ไปจนถึงวัยที่เรียกกว่า ‘แก่’ แล้วจริงๆ หรือเปล่า
สิ่งสำคัญกว่าการเฝ้านับถอยหลังนาฬิกาชีวิต ท้อแท้สิ้นหวังกับอายุที่เพิ่มขึ้น คือ เราควรหันมาเตรียมความพร้อมรับวัยชราอย่างมีคุณภาพ และใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุด
ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1801-1900) อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์อยู่ที่ราว 40 ปี แต่ปัจจุบันมนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมถึง 2 เท่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรปล่อยให้ตัวเลขที่มากขึ้นเป็นตัวบ่งชี้สภาพชีวิตที่ถดถอย แต่ควรหันมาดูแลตัวเองอย่างกระตือรือร้น
เป็น ‘ผู้อาวุโส’ ที่น่าเคารพมากกว่าน่ารำคาญ
เป็น ‘คนชรา’ ที่รู้เท่าทันมากกว่ารู้ล้าหลัง
เป็น ‘ผู้สูงอายุ’ ที่มีความสุขและมีกำลัง ไม่อมความทุกข์และซึมเศร้า
ให้วันเวลาและประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวผ่านมานั้นเป็นตัวแปรสะท้อนคุณภาพการใช้ชีวิต ที่เป็นตัวอย่างให้คนรุ่นหลัง จนอยากรีบแก่เพื่อเดินตามรอยไอดอลของพวกเขา
คิดบวกไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ แต่เป็นยาอายุวัฒนะ
ผลการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London: UCL) พบว่า ผู้ใหญ่ที่พอใจกับการใช้ชีวิต กล่าวคือ มองสิ่งต่างๆ ในแง่บวก รู้จักปล่อยวางและเพลิดเพลินกับเรื่องราวรอบตัว จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเมื่ออายุมากขึ้น มากกว่าคนที่ชอบโมโห หงุดหงิดง่ายและฉุนเฉียว
นักวิจัยสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหญิงและชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 3,199 คน ทั้งหมดอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลเป็นเวลา 8 ปี งานวิจัยโฟกัสไปที่ประสิทธิภาพการทำงานของระบบในร่างกาย และประเมินความพึงพอใจในการใช้ชีวิตของแต่ละคนตามสเกลที่กำหนด เน้นไปที่ 4 ส่วนต่อไปนี้
1. ฉันสนุกกับสิ่งต่างๆ ที่ทำ
2. ฉันเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น
3. เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันมีความสุขกับชีวิตของฉัน
4. ฉันรู้สึกว่าชีวิตฉันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง
ความรู้สึกที่สื่อสารออกมา เมื่อประมวลแล้วจะสะท้อนให้เห็นว่า แต่ละคนมีความพึงพอใจกับชีวิตขนาดไหน จากการศึกษาพบว่าคนที่ไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต มีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าถึง 3 เท่า และมีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองน้อยลง ขณะที่ผู้สูงวัยที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แต่งตัว และมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมองน้อยลงด้วย
เช่นเดียวกับ ผลการศึกษาของ เบคคา เลวี (Becca Levy) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขและจิตวิทยา จากโรงเรียนการแพทย์และสาธารณสุขแห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale School of Public Health) พบว่า แบบแผนการคิดเชิงลบต่อความแก่ ส่งผลให้คนมีอายุสั้นลง ผลการวิเคราะห์กลุ่มตัวอย่าง 660 คน จากออกซ์ฟอร์ด โอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 20 ปี โดยนำมาเทียบกับข้อมูลการตายแสดงให้เห็นว่า คนที่มีทัศนคติเชิงบวกต่อความแก่ มีชีวิตอยู่ได้ยาวนานกว่าเฉลี่ย 7.5 ปี
เลวีบอกว่า ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับความแก่เกิดขึ้นจากการเติบโตทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมการต่อต้านริ้วรอยที่โปรโมทข้อเสียของความแก่ ทำให้ผู้คนหวาดกลัวโรคภัย กลัวร่างกายเหี่ยวย่น ทั้งหมดเพื่อผลตอบแทนทางธุรกิจจากการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคที่มากขึ้น
“ทัศนคติเชิงบวกมีอิทธิพลต่อกลไกร่างกายทั้งด้านจิตวิทยา พฤติกรรมและสรีรวิทยา วิธีคิดเชิงบวกทำให้คนมีพฤติกรรมดีขึ้น จากการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต พวกเขาจะรับมือกับภาวะตึงเครียดได้ดี ซึ่งความเครียดนี้เองที่เป็นตัวการทำให้สมองเสื่อมและสมองหดตัว” เลวีกล่าว
เมื่อวิธีคิดมีผลต่อลมหายใจ The Potential เชื่อว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคในการใช้ชีวิต และไม่ว่าคุณจะอายุมากขนาดไหนก็สามารถทำให้ทุกๆ วันเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังและมีคุณค่าได้หากปรับวิธีคิดให้ถูกต้อง
เรื่องนี้ทำให้นึกถึงนายแบบชาวจีน วัย 82 ปี ‘หวาง เต๋อซุน’ (Wang Deshun) ที่ได้รับความสนใจในวงการแฟชั่นช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
“เขาดูดีแม้ขณะไม่สวมใส่เสื้อบนร่างกาย ดูไม่ต่างจากนายแบบหนุ่มที่อายุน้อยกว่าเขาถึง 4 เท่า ไม่แปลกที่เขาได้รับการยอมรับทั้งในวงการแสดงและจากแฟชั่นดีไซเนอร์ในประเทศจีนและทั่วโลก…” เป็นข้อความที่นิตยสาร GQ กล่าวถึง หวาง เต๋อซุน ในบทความ ‘The Secrets of the 80-Year-Old Chinese Runway Model’ หรือ ‘ความลับของนายแบบรันเวย์ชาวจีนวัย 80’ เมื่อ 2 ปีก่อน
อะไรทำให้ผู้ชายสูงวัยคนนี้ ฝ่าฟันความแตกต่างทางความเชื่อและค่านิยมในสังคม จนกลายเป็นที่รู้จัก กลายเป็นศิลปิน นักแสดง และนายแบบแถวหน้าสุดฮอตระดับโลกได้?
ที่แน่ๆ ความสำเร็จของเขาไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน
หวาง เต๋อซุน เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1936 ที่เมืองเซินหยาง สาธารณรัฐประชาชนจีน ครอบครัวยากจน ไม่ได้เรียนหนังสือ เขาทำงานเลี้ยงตัวเองตั้งแต่เป็นแรงงานในโรงงาน เป็นคนขัดรองเท้า แล้วก้าวเข้าสู่ชีวิตนักแสดงที่อยู่กับกองทัพ จนเมื่ออายุเข้า 40 กลางๆ แพทย์วินิจฉัยว่าหวางป่วยเป็นโรคผิดปกติในระบบประสาท และถูกสั่งให้หยุดแสดงละคร
หลังจากนั้นเมื่ออายุก้าวเข้าปลาย 50 เขากลายเป็นศิลปินแสดงปฏิมากรมีชีวิตที่ได้รับความสนใจ หวางฟิตร่างกายแล้วใช้เรือนร่างของตัวเองแสดงเป็นรูปปั้นในท่วงท่าต่างๆ (living sculpture) ผสานกับละครใบ้ที่เคยแสดงมาก่อนหน้านี้
จนกระทั่งในวัย 67 ปี หวางได้ก้าวไปอีกขั้น เมื่อได้รับงานแสดงภาพยนตร์ครั้งแรก ใน ‘Warriors of Heaven and Earth’ (2003) ภาพยนตร์ย้อนยุคฟอร์มใหญ่และได้รับบทบาทการแสดงอย่างต่อเนื่อง เขาใช้ชีวิตโดยไม่ได้คำนึงถึงอายุ และรักษารูปร่างได้อย่างดีจนก้าวเข้าสู่วงการเดินแบบครั้งแรกในวัย 79
นิตยสาร GQ บอกว่าในระหว่างการสัมภาษณ์ หลายคนอาจหวังว่าจะได้รับคำแนะนำเรื่องการกิน การออกกำลังกาย และการรักษาสุขภาพจากหวาง เพราะรู้ว่าเขามีวินัยในการดูแลตัวเองอย่างมาก เขาเข้ายิมมาเป็นเวลา 30 ปีอย่างต่อเนื่อง เล่นไอซ์สเก็ต และทำกิจกรรมต่างๆ อีกหลากหลาย แต่คำตอบที่ได้ทำให้เซอร์ไพรส์ยิ่งกว่า
“การที่ผมออกกำลังกายและควบคุมอาหาร ไม่ได้เป็นเรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ผมใช้ร่างกายของผมทำงานศิลปะ ผมเลยต้องดูแลร่างกายให้ดี ผมไม่ใช่นายแบบแต่เป็นนักแสดง ร่างกายของผมเป็นเครื่องมือหนึ่งให้ผมได้ถ่ายทอดความเป็นศิลปะ ผมไล่ล่าความเป็นปัจจุบัน ความท้าทายใหม่ๆ ในชีวิตทำให้ผมค้นพบตัวเองในหลายๆ ด้าน”
เรื่องเล่าชีวิตในแบบฉบับของหวาง เต๋อซุน สอดคล้องกับมาตรฐานชีวิต 4 ข้อที่นิตยสารรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ออนไลน์ แพลตฟอร์มที่นำเสนอสาระความรู้ เรื่องราวของผู้คนและไลฟ์สไตล์จากทั่วทุกมุมโลก แนะนำไว้เป็นแนวทางใช้ชีวิตในวันที่อายุมากขึ้น ได้แก่
หนึ่ง คงความสตรอง หรืออยู่อย่างแข็งแรง (stay strong)
สอง กินดี (eat well)
สาม คงความสงสัยใคร่รู้ไว้เสมอ (stay curious)
และ สี่ ไม่ตัดขาดเพื่อนและสังคม (stay connected)
แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้น สุขภาพร่างกายก็เริ่มถดถอย หลายคนมีความเสี่ยงเป็นโรคทางพันธุกรรมที่จะส่งผลชัดขึ้นเมื่อแก่ตัวลง หวาง เต๋อซุน ป่วยเป็นโรคผิดปกติในระบบประสาท แต่เขาไม่ยอมแพ้ต่อโรค หรือจะพูดว่าเขาไม่สนใจมันเลยด้วยซ้ำ ความคลั่งไคล้และความสนใจในศิลปะและการแสดง ปูทางให้หวางต้องดูแลตัวเอง เพราะเขาใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือส่งสารไปยังผู้ชม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบังเอิญหรือไม่ก็ตาม แต่การออกกำลังกายช่วยให้หวางมีกำลังและยังเดินเหินได้อย่างแข็งแรง รวมทั้งยังรักษากล้ามเนื้อในวัย 80 ปีไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
เพราะฉะนั้น การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม…ช่วยให้อยู่อย่างแข็งแรงได้!
โดยเฉพาะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วัยหนุ่มสาว แต่หากยังไม่เคยเริ่ม เริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สาย เพราะกล้ามเนื้อของคนเราสามารถพัฒนาได้ในทุกช่วงวัย หวาง เต๋อซุน บอกว่า เขาหันมาออกกำลังกายอย่างจริงจังตอนอายุปาเข้าไป 50 ปีแล้ว
ผลการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) จากการสำรวจผู้สูงอายุเพศหญิงและชาย 1,600 คน พบว่า การออกกำลังกายแบบเบาๆ ทุกวันในผู้สูงอายุ ลดความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับความเสื่อมของร่างกายได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ แม้ไม่เคยออกกำลังอย่างต่อเนื่องมาก่อน
การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยยืดอายุให้กระดูก เส้นเอ็น และอวัยวะภายใน ช่วยลดความเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหวในท่วงท่าต่างๆ บรรเทาอาการปวดเรื้อรังจากโรคไขข้อ และประสาทอักเสบ ทำให้ใช้ชีวิตได้อย่างคล่องแคล่วและเต็มกำลังในทุกอิริยาบถ นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญในร่างกาย ป้องกันภาวะความดันโลหิตต่ำ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม เราควรเลือกออกกำลังให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของตัวเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น
โยคะ เสริมสร้างสมาธิ ทำให้ร่างกายมีความยืดหยุ่นและสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
พิลาทิส สร้างความมั่นคงแข็งแรงให้แกนกลางลำตัวและกระดูกสันหลัง
การเดิน เสริมศักยภาพการรับน้ำหนักและความหนาแน่นของมวลกระดูก
การปั่นจักรยาน สร้างความสมดุลให้กับระบบในร่างกายและความตึงตัวของกล้ามเนื้อ
แม้แต่การจูงสัตว์เลี้ยงออกไปเดินเล่น ว่ายน้ำ หรือการทำสวน ก็ถือเป็นการออกกำลังเช่นกัน แล้วจะยิ่งสนุกมากขึ้นเมื่อได้รวมกลุ่มออกกำลังกายเป็นหมู่คณะกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ
จอห์น เจ. ราทีย์ (John J. Ratey) ผู้แต่งหนังสือติดอันดับขายดี ‘Spark: The Revolutionary New Science of Exercise and the Brain’ ที่พูดถึงวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เกี่ยวกับการออกกำลังกายและสมอง ดีกรีศาสตราจารย์ด้านคลินิกจิตเวช โรงเรียนการแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) และเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลด้านประสาทวิทยา (Neuropsychiatry) กล่าวว่า การออกกำลังกายกล้ามเนื้อช่วยผลิตสิ่งที่ราทีย์ให้นิยามว่า ‘Miracle-Gro’ (สิ่งที่ทำให้สมองพัฒนาได้อย่างน่าอัศจรรย์) เนื่องจากการออกกำลังกายกระตุ้นการสร้าง BDNF (brain-derived neurotrophic factor) หรือโปรตีนซึ่งเป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง ที่ช่วยสร้างสื่อประสาทและการเชื่อมต่อในสมอง นอกจากนี้ยังสร้างโดพามีน* (Dopamine) และเซโรโทนิน** (Serotonin) สารเคมีในสมองที่มีผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์
อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้แก่ตัวขึ้นได้อย่างมีความสุข คือ การเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ บางคนอาจพบพรสวรรค์หรือความสามารถที่ไม่เคยรู้มาก่อน หรือเกิดความภาคภูมิใจจากการได้ลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยทำ โดยเฉพาะในยุคที่โลกเชื่อมถึงกันเพียงปลายนิ้วสัมผัส แทนที่จะปฏิเสธเทคโนโลยีเพราะความไม่คุ้นเคย ควรหันมาเปิดรับเทคโนโลยี เพื่อรับข้อมูลข่าวสาร และเข้าถึงเแหล่งความรู้ในโลกออนไลน์ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนภาษาใหม่ๆ การทำอาหาร ทำขนม งานฝีมือ หรือแม้แต่การดูหนังฟังเพลงเพื่อสร้างความบันเทิงด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องนั่งเหงาๆ อยู่คนเดียว
เพราะไม่ว่าอยู่ในวัยไหนความสงสัยใคร่รู้จะช่วยเปิดโลก การเปิดรับข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ๆ ทำให้สมองตื่นตัว ยิ่งเมื่อไม่หยุดคิดไม่หยุดทดลอง ผลลัพธ์ที่ได้คือการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และความสามารถในการยอมรับความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและผู้อื่น นั่นเพราะความสงสัยใคร่รู้ นำมาสู่การหาคำตอบเพื่อสร้างความเข้าใจ หลายครั้งยังช่วยสร้างความสนุกสนานให้เกิดขึ้นได้ด้วย
อย่ามองว่าวัยเกษียณ คือ การใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย เพราะความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนการใช้ชีวิตที่สั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือความผิดพลาด ก็เป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ เรื่องราวของ พงศ์กาณฑ์ โกมลกนก เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ เส้นทางชีวิตของเขาถูกนำเสนอในสื่อหลากหลายสำนักในช่วงที่ผ่านมา ชีวิตของบุคคลวัยเกษียณที่ไม่หยุดเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เป็นบุคคลธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีและจับต้องได้
หลายคนรู้จักพงศ์กาณฑ์ อดีต รปภ.แบงก์ชาติที่ทำงานมากว่า 25 ปี ในนามของ ลุงติ๊ก สเกล เขาลุกขึ้นมาปลุกความฝันที่เคยหมดอายุในวัย 20 ต้นๆ คือ ความรักในการทำงานศิลปะ และความเป็นศิลปิน (จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเพาะช่าง) ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งตอนอายุ 59 (ปัจจุบันอายุ 61 ปี) ด้วยการทำโมเดลสามมิติ (Diorama) จำหน่ายเป็นรายได้หลัก และถ่ายทอดให้แก่ผู้ที่สนใจ
ลุงติ๊กให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Marketeer ที่นำเสนอเรื่องราวข่าวสารการตลาดว่า เริ่มต้นเขาลังเลพอสมควรที่จะหันมาทำสิ่งที่ละทิ้งมานาน แต่ลูกเป็นคนผลักดันให้เขาลงมือทำ
“มันจะมีคนซื้อหรือ ในไทยมันจะมีคนเล่นแบบนี้สักกี่คน แล้วอีกอย่างเราก็ไม่ได้ทำงานศิลปะมาตั้งเกือบ 40 ปี แล้วเราจะทำได้ไหม จะไปต่อได้จริงๆ หรือ เอาง่ายๆ อย่างตอนกลับไปทำลุงยังไม่รู้เลยว่ามันมีวัสดุที่เรียกว่าพลาสวูดเกิดขึ้นบนโลกแล้ว ตอนนั้นความคิดลุงวนอยู่แต่แบบนี้ แต่ลูกชายบอกให้ลอง ก็ลองดู สรุปงานแรกที่กลับไปทำในรอบหลายปีนั่นก็ขายได้ 280 บาท จำได้ว่ารู้สึกดีใจมากเลย ที่มีคนเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ”
ความสงสัยใคร่รู้จากสิ่งที่เห็นรอบตัว และประสบการณ์เรียนรู้ทำให้เกิดแบรนด์ ‘ลุงติ๊ก’ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ประกอบร่างโมเดลและฉากสามมิติต่างๆ ลุงติ๊ก เล่าว่า การเอาตัวเองเข้าไปขลุกอยู่กับการทำโมเดล ทำให้พบว่าวัสดุบางอย่างสามารถเอาสิ่งใกล้ตัวมาแทนได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อวัสดุจากต่างประเทศ จึงลองทำวัสดุที่ทดแทนได้ขึ้นมาเอง
แม้มีออร์เดอร์เข้ามามากมาย แต่เมื่อรู้ว่าตัวเองขลุกอยู่กับการทำงานมากเกินไป ลุงติ๊กก็ปฏิวัติตัวเองใหม่อีกครั้ง เขาบอกว่า แม้เคยไม่มีเงิน แต่เงินก็ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะเติมเต็มความรู้สึกของคนที่เคยขาดได้
เพราะสิ่งที่ต้องการมากกว่าเงินคือความสุข และอีกสิ่งที่จะมาเติมเต็มให้ความสุขของเขาสมบูรณ์ขึ้นได้ คือการมีเพื่อนให้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน นี่จึงเป็นที่มาให้ลุงติ๊ก เปิดสอนทำฉากและโมเดลสามมิติที่บ้าน จนมีผู้คนจากหลากหลายอาชีพสนใจสมัครมาเรียน
จากความคิดของลุงติ๊ก สะท้อนให้เห็นว่าการไม่ตัดขาดเพื่อนและสังคม (stay connected) ทำให้การใช้ชีวิตยามสูงวัยมีความตื่นเต้นและสนุกมากขึ้น การเปิดบ้านสอนทำโมเดล ทำให้ลุงติ๊กมีเพื่อนทุกเพศทุกวัยจากหลากหลายอาชีพ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ช่วยต่อยอดความคิดและเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานต่อๆ ไปได้
ลืมภาพคนแก่อยู่ติดบ้าน รอลูกหลานกลับมาเยี่ยมไปได้เลย แก่แล้วไม่ได้หมายความว่าไปไหนไม่ได้ หรือทำกิจกรรมที่สนุกกับกลุ่มเพื่อนไม่ได้
ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัว รวมถึงเพื่อนฝูงและเข้าสังคมมีสุขภาพดีกว่าคนที่เก็บตัวตัดขาดจากโลกภายนอก
ในช่วงราว 15 ปีที่ผ่าน มีการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุ 55-64 ปี อาศัยอยู่บ้านเพียงลำพัง และมีผู้สูงวัยราว 1 ล้านคนที่ไม่พบเจอใครเลยเป็นเวลาถึง 1 เดือน สิ่งนี้เป็นผลพวงจากการหย่าร้าง
ด้วยเหตุนี้จึงมีคำแนะนำว่า ผู้สูงวัยควรใช้เวลาพูดคุยกับคนรอบตัวอย่างน้อยสักหนึ่งคนต่อวัน ลองสมัครร่วมทำงานอาสาให้กับชุมชนหรือในโอกาสพิเศษหรือวันพิเศษต่างๆ วิธีนี้จะทำให้เราโฟกัสเรื่องตัวเองน้อยลงและสนใจความเป็นอยู่ของคนอื่นมากขึ้น การสวมบทบาทเป็นผู้ให้จะทำให้มีความสุขในทันที และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะมองเห็นคุณค่าของตัวเองจากการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น
หากไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน ลองหันมาเขียนบันทึกประจำวัน หรือบทเรียนชีวิตถ่ายทอดประสบการณ์ส่งต่อให้คนอื่นดูก็ได้
หรือเปลี่ยนจากกิจกรรมโลดโผนในวัยหนุ่มสาวมาเป็นการนั่งจิบชาสนทนายามบ่าย หากเพื่อนเก่าล้มหายตายจากกันไป ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ และการมีเพื่อนต่างวัยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แถมยังช่วยทำให้มีชีวิตชีวามากขึ้น
คุณภาพชีวิตที่ดีในบั้นปลายเกิดขึ้นได้ด้วยการมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจ แล้ววางแผน ลงมือใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการตั้งแต่วันนี้ ไม่เสียเวลากับการบ่นเรื่องไม่ได้อย่างใจแต่พอใจกับสิ่งที่มี ลองนึกภาพวัยชราที่ไม่ได้ใช้ชีวิตไปวันๆ แต่มีเวลาว่างได้พักผ่อนเอนกาย ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นและยังคงเพลิดเพลินกับชีวิต
เหมือนอย่างที่ จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) นักเขียนบทละคร วรรณกรรม และนักวิจารณ์ดนตรีชาวไอริช ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 1925 บอกว่า
“You don’t stop laughing when you grow old; you grow old when you stop laughing”
“คุณไม่ได้หยุดหัวเราะเมื่อคุณแก่ตัวลง แต่คุณแก่ตัวลงเมื่อคุณหยุดหัวเราะ”
Fun Fact!โดพามีน* ได้รับการขนานนามว่า สารแห่งความสุขเพราะจะถูกปล่อยออกมาเมื่อร่างกายกำลังสนุกหรือพึงพอใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการได้ทำสิ่งที่ชอบ การได้กินอาหารอร่อยถูกปาก รวมถึงขณะที่กำลังเรียนรู้หรือทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจ โดพามีนจึงมีส่วนช่วยเรื่องสมาธิ และทำให้ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายเซโรโทนิน** เป็นสารสื่อประสาทที่ควบคุมและปรับสภาวะอารมณ์ ที่ทำงานสัมพันธ์กับโดพามีน หากร่างกายมีเซโรโทนินต่ำ จะทำให้รู้สึกเศร้าหรือกังวล การออกกำลังจะช่วยปรับสมดุลให้สมองผลิตสารเคมีทั้งสองได้อย่างพอเหมาะอย่ามองข้ามการอ่าน การเขียน หรือเกมตัวต่อสำหรับเด็ก ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองได้แบ่งเวลา 20 นาทีในแต่ละวัน ดูวิดีโอตลกและผ่อนคลาย เพราะสิ่งนี้สามารถช่วยฟื้นฟูความจำในผู้สูงอายุผู้พันแซนเดอร์ส (Colonel Sanders) ผู้ก่อตั้งเคเอฟซี (KFC) เขาโดนปฏิเสธถึง 1,009 ครั้ง ก่อนมีคนให้โอกาสทดลองสูตรไก่ทอดที่คิดค้นขึ้น ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากเขาเกษียณเมื่ออายุ 65 ปี และกลายเป็นมหาเศรษฐีตอนอายุ 88 ปีเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandela) นักเคลื่อนไหวชาวแอฟริกา ถูกจับตัวคุมขังถึง 2 ทศวรรษ ก่อนถูกปล่อยตัวเมื่ออายุได้ 72 ปี หลังจากถูกปล่อยตัว 4 ปี ความมุ่งมั่นทางการเมืองและสังคมของแมนเดลาทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ และได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 1993 |