- ‘ปันจักสีลัต‘ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านการป้องกันตัวที่มีมาอย่างยาวนานของชาวมลายู และสำหรับที่สตูลปันจักสีลัตหนึ่งเดียวที่ยังมีอยู่ อยู่ที่ชุมชนบ้านทุ่ง และชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล
- จะเป็นอย่างไรเมื่อวัยรุ่นชาย-หญิงในชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ปันจักสีลัต กับภารกิจสืบค้นประวัติความเป็นมา ฝึกซ้อมการร่ายรำรวมถึงดนตรีที่ใช้ประกอบระหว่างการแสดง สื่อสารความรู้เรื่องปันจักสีลัต รวมถึงการหารุ่นน้องมาฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ร่ายรำ
- นับว่าเป็น Project-based learning ที่อุ่นหนาฝาคั่ง เพราะเต็มไปด้วยคุณครูและพี่เลี้ยงในชุมชน รวมถึงผู้ปกครองคอยสนับสนุน ชวนติดตามค่ะ
ภาพ เยาวชนกลุ่มปันจักสีลัต
กระทืบเท้า ตบมือ ตบขาดังฉาดๆ ข่มขวัญคู่ต่อสู้ สลับกับการขู่สำทับดูชั้นเชิง ขณะที่ดนตรีประโคมเร่งเร้าจังหวะ ผู้ชมใจเต้นรัวไปกับการแสดงต่อสู้ตรงหน้า ผู้ที่อยู่บนเวทีต้องอาศัยสมาธิ ชิงไหวชิงพริบ แก้เกมให้ได้ เพราะเวทีนี้ไม่มีการพักยก ไม่มีการให้น้ำ ไม่มีพี่เลี้ยงคอยกำกับ หากฝ่ายใดสามารถทำให้อีกฝ่ายล้มลงได้โดยที่ตนเองไม่ล้ม ถือว่าฝ่ายนั้นเป็นผู้ชนะ
เรากำลังพูดถึง ‘ปันจักสีลัต‘ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้านการป้องกันตัวที่มีมาอย่างยาวนานของคนชาวมลายู ในแถบประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน รวมถึงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา นอกจากนี้ ยังเป็นกีฬาประจำชาติของประเทศบรูไนดารุสซาลาม และถูกบรรจุเป็นกีฬาแข่งขันชิงแชมป์ทั้งในระดับนานาชาติและระดับโลก
แม้ในแวดวงการกีฬาปันจักสีลัต เป็นกีฬาที่ไม่ได้รับการเอ่ยถึงเท่าใดนัก ยังไม่ต้องพูดถึงนอกแวดวงการกีฬาที่หลายคนอาจนึกภาพไม่ออกด้วยซ้ำว่าปันจักสีลัตคืออะไร นี่เป็นสาเหตุให้กลุ่มเยาวชนใน ชุมชนบ้านทุ่ง และชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล (เคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันมาก่อน แต่ถูกแบ่งออกเนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้น) จับมือกันทำ โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล
พลังกาย พลังจิต และพลังปัญญา ที่อยู่ในการแสดง
จีนา – จุฑาภรณ์ อุดรเสถียน อายุ 17 ปี, วา – วาซิม ติงหวัง อายุ 15 ปี และ มา – ปิยานุช ชายเหตุ อายุ 17 ปี ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ปันจักสีลัตเป็นศิลปะพื้นบ้านของหมู่บ้าน หนึ่งเดียวในจังหวัดสตูล โครงการของพวกเขาไม่ได้เริ่มจากศูนย์เสียทีเดียว เพราะกลุ่มแกนนำรุ่นพี่เคยศึกษาและเก็บข้อมูลปันจักสีลัตบางส่วนไว้ จากการทำ โครงการแนวทางการสร้างการเรียนรู้ด้านคนตรีปันจักสิลัตของชุมชนบ้านทุ่ง ครั้งก่อน สำหรับโครงการต่อเนื่องในปีที่สองมีเป้าหมายเพื่อเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมปันจักสีลัต รวมทั้งเผยแพร่เรื่องราวปันจักสีลัตให้คนรุ่นใหม่ในชุมชน รวมถึงคนภายนอกได้รับรู้ นำช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียที่ทันสมัยเข้ามาเป็นตัวช่วย
หากยังนึกภาพไม่ออกว่าปันจักสีลัตเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักปันจักสีลัตกันสักหน่อย
ปันจักสีลัต เรียกสั้นๆ ว่า “สิละ” หรือ “ซีละ” เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวอย่างหนึ่งของไทยมุสลิม มีลักษณะคล้ายคลึงกับคาราเต้ กังฟู หรือมวยไทย มุสลิมทางภาคใต้เรียกการต่อสู้แบบสิละอีกอย่างหนึ่งว่า “ดีกา” หรือ “บือดีกา” เป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวอย่างสง่างาม ด้วยเผยแพร่ไปในหลากหลายพื้นที่ ปันจักสีลัตจึงมีชื่อเรียกมากมาย รวมถึง “อังชัน” และ “ฆายง” ส่วนคำว่า “ปันจักสีลัต” (Pencak Silat) ที่เป็นชื่อเรียกสากล มีที่มาจากอินโดนีเซีย คำว่า “ปันจัก” หมายถึงการป้องกันตัว ส่วน “สีลัต” หมายถึงศิลปะ เมื่อนำสองคำมารวมกันจึงได้ความหมายว่า “ศิลปะการป้องกันตัว”
มีระเบียบกฎเกณฑ์ในการประดิษฐ์ท่าต่อสู้ เป็นการจัดระเบียบการเคลื่อนไหวร่างกายให้มีจังหวะท่วงทีในเชิงรุกและเชิงรับอย่างว่องไว เรียงร้อยท่าทางอันเกิดจากกระบวนความคิดฉับพลันในการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยใช้พลังปัญญาที่สุขุมเยือกเย็น ซึ่งมีผลพวงมาจากจิตสมาธิอันแน่วแน่ การต่อสู้สิละจึงเกิดจากการรวมพลัง 3 ฐานเข้าด้วยกันคือ พลังกาย พลังจิต และพลังปัญญา ที่แสดงให้เห็นความอ่อนโยน พลิ้วไหว ขณะเดียวกันก็ทรงพลังและมีอานุภาพในการป้องกันตัวและทำลายคู่ต่อสู้สูง
“คนที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลย พอมาฝึกซ้อมจะรู้สึกยาก เพราะต้องใช้ความอดทนสูงมากๆ ต้องอาศัยการฝึกฝน จดจำ และมีสมาธิ” จีนา กล่าว
โครงการปันจักสีลัตของกลุ่มเยาวชนดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ช่วงปีที่ผ่านมากลุ่มปันจักสีลัตเยาวชนก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น พวกเขาได้รับคำเชิญให้ร่วมแสดงตามงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน บางงานได้ค่าจ้าง บางงานก็อาสาไปแสดงเพื่อเป็นโอกาสเผยแพร่ความรู้ และบางงานก็ติดสอยห้อยตามผู้ใหญ่ออกไปทำการแสดง สร้างความภาคภูมิใจให้กับกลุ่มเยาวชนอยู่ไม่น้อย
“ปันจักสีลัตเป็นศิลปะพื้นบ้านในหมู่บ้านของเรา หนึ่งเดียวในจังหวัดสตูล พวกเราควรรักษาเอาไว้ เวลาคนพูดถึงว่าปันจักสีลัตมีที่ไหนบ้าง มันเป็นความภาคภูมิใจที่ได้บอกว่ามีที่บ้านทุ่ง หมู่บ้านของเราที่เดียว” จีนา กล่าว
สืบสาน สืบต่อ ให้เป็นรูปธรรม
งานหลักสำหรับโครงการในครั้งนี้อยู่ที่การประชาสัมพันธ์ข้อมูล ด้วยคลิปวิดีโอเจ๋งๆ ภาพกิจกรรมน่าสนุก ภาพบรรยากาศสวยๆ ที่พ่วงมากับสาระความรู้เกี่ยวกับปันจักสีลัตบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงการหารุ่นน้องมาฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ร่ายรำ การบอกเล่าประวัติความเป็นมาของปันจักสีลัตประกอบการร่ายรำบนเวที และสิ่งที่กลุ่มเยาวชนได้พัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ คือ ลานซ้อมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง
“เราทำเป็นลานสี่เหลี่ยม แล้วมีสี่เหลี่ยมใหญ่อยู่ตรงกลาง ทำจากทราย ก่อปูนขึ้นนิดหน่อย เอาไว้ให้นักดนตรีนั่ง” วาซิม กล่าว “แต่ไหนแต่ไรมาพวกเราซ้อมอยู่ที่ลานจอดรถ เวลาซ้อมอาจมีหกล้มกันบ้าง เลยอยากให้มีสนามฝึกซ้อมเป็นทราย จะได้ไม่ได้รับบาดเจ็บ”
“หนูเคยเรียนปันจักสีลัตมาก่อนตอนช่วงอยู่ชั้น ป. 4 หรือ ป.5 ตอนนั้นหนูกับเพื่อนสนิทอีกคนสนใจ เลยชวนเขามาลองรำ ดูว่าเราจะทำได้ไหม แล้วก็ทำได้เลยทำไปเรื่อยๆ ตั้งแต่มีโครงการของบ้านทุ่ง ในหมู่ 13 หนูเป็นนักรำหญิงรุ่นแรก พอขึ้น ม.1 ต้องไปเรียนต่างจังหวัด ก็เลยห่างหายจากปันจักสีลัต ไปประมาณ 3 ปี ครั้งนี้ได้ก็กลับมารำอีก หนูดีใจมากที่มีโครงการเรียนรู้ปันจักสีลัตขึ้นมาในชุมชน”
จีนา กล่าวต่อว่า “ครูที่สอนพวกเราอายุมากแล้ว พอเราได้เรียนรู้หนูคิดว่าเป็นหน้าที่ของเราที่จะช่วยส่งต่อให้รุ่นน้องได้เรียนรู้ด้วย ส่วนตัวหนูอินกับการซ้อม การแสดงและการทำโครงการนี้มากๆ หนูอยากทำโครงการมาตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่ติดที่เรียนอยู่ต่างจังหวัด พอมีโครงการปีที่ 2 หนูอยู่ชั้น ม.4 แล้วได้กลับมาบ้าน วาซิมกับมา ชวนให้เข้ามาทำโครงการนี้ หนูตอบตกลงทันที”
เสาร์ อาทิตย์ ตอนเย็นๆ เป็นช่วงเวลาที่กลุ่มเยาวชนมักนัดหมายกันซ้อมรำปันจักสีลัต การแสดงเต็มรูปแบบมีดนตรีประกอบสร้างสีสันและเพิ่มมนต์ขลัง เครื่องดนตรีสีลัต ประกอบด้วยกลองยาว 1 ใบ กลองเล็ก 1 ใบ ฆ้อง 1 คู่ และปี่ยาว 1 เลา เมื่อนักสีลัตขึ้นบนสังเวียนแล้ว ดนตรีจะประโคมเรียกความสนใจคนดู โดยเฉพาะเสียงปี่ที่เร้าอารมณ์ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามวยไทย
ความอดทน ความขยัน ความมีวินัย และไหวพริบ เป็นคุณสมบัติที่กลุ่มเยาวชนย้ำว่าจำเป็นสำหรับนักสีลัต
จีนา เล่าว่า การแสดงสีลัตแบบรำเดี่ยวจะเป็นการรำไหว้ครู การรำสีลัตที่พวกเขาฝึกฝนเป็นศิลปะการต่อสู้แบบสวยงามที่ต้องรำเป็นคู่ เมื่อคู่ต่อสู้รุกเข้ามา อีกฝ่ายต้องแก้ไขให้ทันเวลา แม้จะมีแบบแผนท่ารำไว้ให้ฝึกฝน ผลัดกันเป็นฝ่ายรุกและตั้งรับ แต่สิ่งที่ท้าทาย คือ การจดจำท่ารำให้ถูกต้อง แต่ละคู่จึงจำเป็นต้องจับคู่ซ้อมท่าทางการรำให้เข้าจังหวะและพร้อมเพรียงกัน
“แรกๆ ฝึกรำพื้นฐานไปก่อนค่ะ รำไหว้ครู ฝึกซ้อมกับเพื่อนที่คู่กัน ฝึกไปเรื่อยๆ พอเริ่มได้ก็เริ่มฝึกซ้อมท่าต่อสู้ ซ้อมจนไม่เกิดข้อผิดพลาด ถ้าตั้งใจประมาณหนึ่งเดือนก็สามารถออกงานได้ ช่วงทำโครงการมีปัญหาเรื่องเวลาที่ไม่ตรงกัน เพื่อนมาได้บ้างไม่ได้บ้าง บางทีครูไม่ว่าง ถ้าคู่ซ้อมเราไม่มา เราก็ซ้อมกับเพื่อนผู้ชายไปก่อน แต่ถ้าได้ซ้อมกับคู่ของเราก็จะจับจังหวะกันได้ดีกว่า” จีนา กล่าว
เผยแพร่ สื่อสาร สร้างการรับรู้
‘เทศกาลยอนหอยหลอด‘ งานประจำปีขององค์การบริหารส่วนตำบลละงู เป็นอีกหนึ่งเวทีที่กลุ่มเยาวชนได้นำปันจักสีลัตออกไปอวดโฉม จีนา บอกว่า เธอซ้อมหนักทั้งวัน ตั้งแต่เช้า พักเที่ยง แล้วกลับมาซ้อมต่อ เป็นเวลาประมาณ 1 อาทิตย์ก่อนวันงาน เพราะอยากร่ายรำออกมาให้สวยงามที่สุด
ด้านวาซิม เล่าถึงบรรยากาศการออกงานครั้งแรกของตัวเองว่า “การแสดงในวันนั้นมีทั้งคู่ผู้ชายและคู่ผู้หญิง ลำดับแรก คือ การนำเสนอข้อมูล ผมออกไปเล่าประวัติปันจักสีลัต ความเป็นมาของปันจักสีลัต แล้วก็ต่อด้วยการรำไหว้ครู พอรำไหว้ครูเสร็จก็เป็นการต่อสู้ แล้วก็จบด้วยการกล่าวขอบคุณ และฝากผู้ชมให้ติดตามเพจรวมพลเยาวชนคนรักปันจักสีลัต
ในส่วนการรำปันจักสีลัตเป็นไปตามที่คาดหวัง แต่ติดตรงที่เล่าประวัติ ผมลืมเนื้อ ลืมบท เพราะตื่นเต้น พูดไม่ออก แต่ผมคิดว่าเราออกงานแรก เราก็ได้ความกล้าแสดงออกขึ้นมามากขึ้น เพราะได้ลองทำแล้วครั้งต่อไปเราก็พยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม จำสคริปของตัวเองได้ดีกว่าครั้งแรก”
ด้านจีนา กล่าวเสริมขึ้นถึงเรื่องการถอดบทเรียนหลังการแสดงแต่ละครั้งว่า “กับเพื่อนที่รำด้วยกันเรามีการพูดคุยกันว่างานนี้เราผิดช่วงไหนบ้าง เราจะแก้ไขอย่างไรก็มาฝึกซ้อมให้ดีกว่าเดิม”
แฟนเพจ “รวมพลเยาวชนคนรักปันจักสีลัต” และ ช่องยูทูป “รวมพลเยาวชนคนรักษ์ปันจักสีลัต CHANNEL” เป็นช่องทางที่กลุ่มเยาวชนตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวปันจักสีลัตผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ติดตามซึ่งเป็นเพื่อนวัยเดียวกันได้เป็นอย่างดี
“ทุกครั้งที่ไปออกงานเราจะประกาศในเฟสบุ๊ก โพสต์ขอบคุณ อัดคลิปวิดีโอมาตัดต่อลงยูทูป คลิปที่ไปแสดงในงานแต่งงานที่คนมาดูคลิปกว่า 400 ครั้ง ลงทุกงาน อัพเดทกิจกรรมเวลาซ้อมก็ลงเพจด้วย” วาซิม กล่าว
“เหมือนมีคนรู้จักเรามากขึ้น โดยเฉพาะรุ่นเดียวกันและรุ่นน้องที่สนิท ที่ติดตามข้อมูที่พวกเรานำเสนอในเฟสบุ๊ก คนในโรงเรียนจะทักว่าแสดงสีลัตเหรอ ทำโครงการอะไร เกี่ยวกับอะไร อยากทำด้วย มีมาถามเยอะอยู่เหมือนกัน เขาเห็นที่พวกเราโพสต์ เขาก็ติดตาม ช่วยเชียร์ หนูก็บอกว่าเป็นโครงการของมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำเกี่ยวกับจุดเด่นของหมู่บ้าน ถ้าสนใจมาซ้อมก็มาได้ เข้ามาเรียนกันได้กับหนูกับเพื่อนๆ ได้” จีนา กล่าว
แม้พวกเขาบอกว่าไม่อยากคาดหวังมากกับอนาคต เนื่องจากแต่ละคนต่างกำลังทะยอยออกไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยนอกชุมชน แต่หลังสถานการณ์โควิด – 19 คลี่คลาย กลุ่มเยาวชนเริ่มหาเวลากลับมารวมตัวฝึกซ้อมกันอีกครั้ง ถือว่าเป็นการจุดไฟไม่ให้มอด สิ่งที่พอเป็นความหวัง คือ รุ่นน้องที่สนใจเข้ามาร่วมกิจกรรมฝึกซ้อม ทำให้กลุ่มเยาวชนมีกำลังใจที่จะเรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่งต่อไป
กีฬาปันจักสีลัตในปัจจุบัน เดิมจัดให้มีการแข่งขัน 2 ประเภท ทั้งในการแข่งขันชิงแชมป์นานาชาติและการแข่งขันชิงแชมป์โลก คือ ประเภทการต่อสู้จริง และการแสดงศิลปะการต่อสู้ (เป็นการแสดง) แต่การแข่งขันปันจักสีลัตในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 13-18 มีการแข่งขันเพียงประเภทเดียว คือ ประเภทการต่อสู้ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงโดยแยกการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. การต่อสู้ (Tanding) 2. ประเภทเดี่ยวปันจักลีลา (Tunggal) 3. ประเภทคู่ปันจักลีลา (Ganda) และ 4. ประเภททีมปันจักลีลา (Rega) เริ่มใช้เป็นครั้งแรกในการแข่งขันปันจักสีลัตชิงแชมป์โลก ปี 1997 ณ ประเทศมาเลเซีย และการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ประเทศอินโดนีเซีย จนถึงปัจจุบัน กติกาในการต่อสู้มีข้อห้ามบางส่วน ดังนี้ 1. ห้ามใช้นิ้วแทงตา 2. ห้ามบีบคอ 3. ห้ามชกต่อยแบบมวย 4. ห้ามใช้เข่าแบบมวยไทย 5. ห้ามเตะหรือตัดล่าง 6. ห้ามใช้ศอก ทั้งศอกสั้นและศอกยาว |
โครงการสร้างการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล” ดำเนินการโดย สถาบันวิจัยหริภุญชัย สนับสนุนโดย สำนักส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) |