- แม้จะเติบโตมากับชายเลและป่าเลน และป่าเลนแห่งนี้จะมีชื่อเสียงระดับจังหวัด แต่กลุ่มเยาวชนจากบ้านท่าน้ำเค็มใต้ ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล แทบไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับผืนป่าเลนบ้านเกิด เมื่อได้รับการชักชวนให้เข้าร่วม โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล พวกเขาจึงเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะพาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ และส่งต่อความรู้เหล่านี้แก่น้องๆ รุ่นต่อไป
- เข้าป่าเลนหาความรู้ จัดค่ายเยาวชนส่งต่อข้อมูล และตั้งใจทำนิทานสิ่งแวดล้อม คือทั้งหมดที่พวกเขาทำเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้มา
การรวมตัวของทีมงานในโครงการ ศึกษาความเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลนหลังการประกาศเขตอภัยทานสู่การสร้างสำนึกรักษ์ป่าเลน บ้านท่าน้ำเค็มใต้ เกิดขึ้นจากการชักชวนของ กีรีน-สากีรีน เส็นสมมาตร ประธานเยาวชนรักท่าแพที่มีการรวมตัวกันเพื่อทำโครงการท้าทำดี ที่จะสัญจรพัฒนาหมู่บ้านอยู่เป็นประจำทุกวันเสาร์แรกของเดือน เมื่อกีรีนได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการกลไกชุมชนฯ เขาก็ชวนกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมคือ ฮาดี-อับดุลฮาดี มานีอาเหล็ม และ 3 สาวรุ่นน้องอย่าง รอ-นัซรอ เหมซ๊ะ, ซารอ-ซารอ ทิ้งน้ำรอบ และ เล็ก-ซอฮาบีย๊ะ เย็นจิต เข้าร่วมกลุ่มด้วย
“ตอนคุยกันว่าจะทำโครงการอะไร เราคิดถึงจุดเด่นของหมู่บ้าน นั่นก็คือป่าเลน ป่าเลนที่บ้านเราค่อนข้างเยอะและอุดมสมบูรณ์มาก เกิดจากผู้ใหญ่ในชุมชนเขารวมกลุ่มกันดูแลทำให้ที่นี่เป็นหนึ่งในเครือข่ายอนุรักษ์ป่าชายเลน มีภาคีหลายเครือข่ายเข้ามาจัดกิจกรรมปลูกป่า แต่ถึงอย่างนั้น พวกเรากลับไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าป่าเลนบ้านเรามีพื้นที่กี่ไร่ มีพันธุ์ไม้ มีสัตว์น้ำอะไรบ้าง เลยคิดกันว่าเราน่าจะเรียนรู้ให้มากกว่านี้ในฐานะที่เป็นคนที่นี่” กีรีนเล่า
หลังได้โจทย์ที่แน่ชัด ทีมงานได้ประชุมร่วมกับพี่เลี้ยงกลุ่ม เพื่อกำหนดขอบเขตในการจะลงสำรวจป่าชายเลน โดยป่าชายเลนของชุมชนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ‘เขตใช้สอย’ ที่ให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และ ‘เขตอภัยทาน’ ที่ห้ามเข้าไปกระทำการใดๆ ทีมงานเลือกสำรวจเขตอภัยทานก่อน เพราะเขตป่าใช้สอยเป็นที่ที่มีคนเข้าไปเยอะจึงได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงอยู่แล้ว ขณะที่เขตอภัยทานยังไม่ค่อยมีการสำรวจและเก็บข้อมูลพันธุ์ไม้พันธุ์สัตว์ พวกเขาจึงอยากรู้ข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนในเขตอภัยทาน
สิ่งที่พบจากการสำรวจทำให้พวกเขาได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ รู้สึกทึ่งกับทรัพยากรของป่าชายเลนในบ้านเกิด
“เรารู้แค่ว่าป่าเลนมีหอย ปู ปลาตัวเล็กๆ ในน้ำ การทำข้อมูลครั้งนี้เราเจอกับปลาตีนและรู้ว่าความสำคัญของมันต่อระบบนิเวศป่าเลนคืออะไร ยังได้เจอโกงกางที่มีอายุกว่า 80 ปีด้วย” กีรีนเล่า
ภายหลังการสำรวจ ทีมงานได้นำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวม และศึกษาประโยชน์ของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์เพิ่มเติม เพื่อเตรียมนำไปใช้จัดค่ายส่งต่อความรู้แก่เด็กและเยาวชนในกิจกรรมต่อไป
จัดค่ายเรียนรู้ และอุปสรรคที่คาดไม่ถึง
เพราะข้อมูลที่รวบรวมศึกษา หากไม่ส่งต่อ อาจเป็นได้แค่ข้อมูลที่อยู่ในกระดาษ พวกเขาจึงคิดต่อยอดโครงการด้วยการจัดค่าย ต้องการให้น้องๆ และเยาวชนคนอื่นได้รู้จักป่าชายเลนมากขึ้น เพื่อจะได้ร่วมกันถ่ายทอดและอนุรักษ์ป่าชายเลนต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าฟังก์ชั่นของการจัดค่าย ไม่ใช่แค่ผู้ร่วมงานจะได้ความรู้ แต่ทีมผู้จัดก็ยังได้พัฒนาทักษะการบริหารจัดการทำงานด้านอื่นๆ ด้วย
ขณะจัดงาน ทุกคนร่วมมือแข็งขัน รวมทั้งกลุ่มผู้ปกครองของเด็กๆ ก็เข้ามาสมทบอย่างจริงจังไม่แพ้เด็กๆ เช่น มะ (แม่) ของกีรีนกับมะของก๊ะบ๊ะ-ฮาบีบ๊ะ เส็นสมมาตร หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง และกลุ่มแม่บ้าน ที่มาช่วยเด็กๆ ทำอาหารในการเข้าค่าย
กิจกรรมการเรียนรู้ในวันเข้าค่ายแบ่งออกเป็น 3 ฐาน ให้แต่ละกลุ่มเวียนเข้ามาเรียนรู้ ได้แก่
- ฐานพันธุ์ไม้ ที่มีผู้รู้มาให้ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ไม้ก่อนเริ่มกิจกรรม แล้วจึงเล่นเกมนำชื่อต้นไม้ไปวางให้ตรงกับต้นไม้ ซึ่งส่วนมากน้องจะวางไม่ค่อยถูก เพราะยังไม่แม่นเรื่องข้อมูล
- ฐานสัตว์ โดยมีพี่ๆ จากกู้ภัยและ อสม. อาสามาให้ความรู้ เกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน
- ฐานฝึกความสัมพันธ์ ทีมงานดูแลกันเอง โดยให้น้องๆ เดินบนเชือกแล้วบุกตะลุยโคลน เพื่อฝึกความสามัคคีและละลายพฤติกรรม
“น้องๆ ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมค่อนข้างดีและสนุกสนานกันมากค่ะ เราเลยคิดจะจัดกิจกรรมภาคกลางคืนนอกเหนือจากแผนที่วางไว้ เพราะอยากให้ความรู้สึกของน้องๆ ต่อเนื่อง โดยให้เขาแสดงละครเป็นกลุ่ม พี่เลี้ยง 1 กลุ่ม กลุ่มกู้ภัย 1 กลุ่ม กลุ่มเยาวชน 3 กลุ่ม” ซารอเล่า
กิจกรรมวันที่ 2 ทีมงานเริ่มต้นด้วยกิจกรรมเช็คอิน ให้น้องๆ พูดความรู้สึกจากการทำกิจกรรมวันแรก โดยนำแนวคิดกิจกรรมนี้มาจากการไปเข้าร่วมเวทีเวิร์คช็อปจากโครงการกลไกฯ
นัซรออธิบายว่า ก่อนเริ่มกิจกรรมอื่นๆ จะมีการเช็คอินกันก่อน เพราะจะทำให้เรารู้ว่าน้องๆ มีความรู้สึกอย่างไรกับกิจกรรมที่พวกเราจัด เขาได้เรียนรู้อะไร และฝึกการพูดและกล้าแสดงออกให้น้องๆ ด้วย ซึ่งสิ่งที่น้องๆ สะท้อนส่วนมากคือ กิจกรรมสนุกและอยากมีกิจกรรมแบบนี้อีก
เช็คอินเสร็จแล้ว ทีมงานแบ่งน้องเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 6 คน ให้แต่ละกลุ่มระดมความคิดและวาดรูปตามโจทย์ว่าอยากพัฒนาอะไรเกี่ยวกับป่าชายเลน แล้วจึงให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอพร้อมอธิบายเหตุผล สิ่งที่พอจะเป็นไปได้คือ การทำหอคอยชมวิว และป้ายเช็คอินไว้ถ่ายรูป ส่วนกิจกรรมสุดท้ายคือ ให้น้องนำป้ายชื่อพันธุ์ไม้ที่ทำไว้ไปติดตามต้นไม้นั้นๆ
“ทำเสร็จแล้วรู้สึกโล่ง (ลากเสียง) มากค่ะ ไม่คิดมาก่อนว่าทำได้ขนาดนี้ (ยิ้ม) ตอนแรกเครียดมากว่าจะออกมาเป็นยังไง กลัวไม่มีคนมา ถ้าคนมาร่วมน้อยจะไม่สนุกหรือเปล่า แต่พอผ่านกิจกรรมช่วงเช้าที่มีสันทนาการ แล้วน้องมีความสุข น้องให้ความร่วมมือ เห็นความสามัคคีที่มากขึ้น เรารู้สึกดีมากๆ ค่ะ” ซารอเล่าความรู้สึกเมื่อค่ายเสร็จสิ้น
แม้จะร่าเริงกับผลสำเร็จของค่าย แต่ทีมงานก็ไม่ลืมประเมินว่าควรทำสิ่งใดให้ดีขึ้นในกิจกรรมนี้ นั่นคือ ‘การรักษาเวลา’ ทั้งเวลาการทำกิจกรรม และการตามน้องๆ ให้มาเข้าร่วมกิจกรรมตรงเวลา
ป่าเลนยั่งยืน คนเปลี่ยนแปลง
จากการเดินหน้าหาความรู้ใส่ตัวเองจนเกิดความรู้สึกดีๆ ต่อป่าชายเลน กระทั่งกลายเป็นคนส่งต่อการเรียนรู้และความรู้สึกดีๆ แก่คนอื่น เปรียบดั่งเส้นทางการเรียนรู้ที่มีจุดเช็คพอยต์ให้ทีมงานได้พัฒนาตัวเองไปทีละขั้นและค่อยๆ ค้นพบความเปลี่ยนแปลง
“กล้าแสดงออกมากขึ้น” เป็นทักษะแรกที่พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวว่าได้เรียนรู้เต็มๆ จากการที่ต้องไปซักถามความรู้จากผู้รู้ และนำฐานกิจกรรมภายในค่าย เล็กเล่าว่า
“เดิมหนูขี้อายมากและไม่ค่อยมั่นใจ เวลาต้องออกไปนำเสนอทีไร ไปไม่เป็นทุกที แต่พอมาทำโครงการ เราได้ฝึกการนำเสนอหลายครั้ง เริ่มชิน พูดได้ไม่เขินอาย และได้นำทักษะการวางแผนไปใช้กับการเรียนด้วย เช่น วางแผนนำเสนองานกลุ่ม แบ่งบทบาทหน้าที่กัน และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตัวเองมากขึ้น”
ส่วนซารอเล่าว่า เธอมีจิตอาสามากขึ้น จากเมื่อก่อนเวลาทำงานกลุ่มจะทำแค่ตามหน้าที่ของตัวเองเสร็จก็จบ แต่ตอนนี้จะเมื่องานตัวเองเสร็จก็จะไปช่วยเพื่อนต่อ เพราะมองว่าเป็นงานของกลุ่ม หากงานเสร็จก็เป็นความสำเร็จร่วมกัน
สำหรับนัซรอ ความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายกับเธอมากที่สุดคือ ‘การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น’
“เมื่อก่อนเรายึดความคิดของตัวเองเป็นหลัก ไม่เห็นด้วยก็พูดออกมาเลยว่า ‘ทำไมไม่ทำแบบที่เราคิด’ งานกลุ่มก็คืองานเดี่ยว ถ้าคิดจะทำแบบไหนก็ทำเองคนเดียว แต่พอปรับวิธีคิด รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนมากขึ้น หนูพบว่างานดีขึ้น เพราะพอเราฟังก็นำความคิดของเขามาปรับกับของเราได้ ลองนำวิธีการทำงานแบบนี้ไปใช้ในโรงเรียน ด้วยการแบ่งหน้าที่กับเพื่อนเวลาทำงานกลุ่ม ไม่ยึดความคิดของตัวเองค่ะ”
แม้จะเป็นประธานกลุ่มเยาวชนของชุมชน และรับหน้าที่ประธานโครงการนี้ด้วย แต่กีรีนกลับบอกว่าที่ผ่านมาเขายังไม่สามารถเป็นผู้นำของคนอื่นได้ดีพอ เพราะไม่กล้าพูด แต่พอมาทำโครงการเหมือนกับสถานการณ์ทั้งหมดบังคับให้เขาต้องพูด จนก้าวข้ามความกลัวไปได้
“เคยเป็นคนไม่กล้าพูดเลย ไม่กล้าถือไมค์ ถ้ามีคาบที่ครูให้นำเสนอก็จะโดดเรียนหรือไม่ก็ให้เพื่อนนำเสนอแทน แต่ตอนไปเสนอโครงการครั้งแรก โดนน้องๆ และพี่เลี้ยงให้ออกไปนำเสนอ เลยรวบรวมความกล้าบอกตัวเองว่า เราเป็นประธาน ต้องพูด อย่ายอม ต้องทำให้ได้ เพราะถ้าเราทำไม่ได้ น้องๆ คนอื่นก็คงไม่มั่นใจเหมือนกัน ตอนแรกยาก เสียงสั่น พูดติดขัดเพราะเราท่องจำมา พี่โจ้ (กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร เจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล) แนะนำว่าเวลาพูดต้องสบตาคนฟังและคณะกรรมการ หลังจากนำเสนอ การพูดของผมดีขึ้น กล้าพูดมากขึ้น เพราะเมื่อผ่านครั้งแรกไปได้ ทำให้ครั้งต่อไปมั่นใจขึ้นครับ” กีรีนเล่า
อีก 2 ทักษะที่กีรีนได้เรียนรู้ คือ ‘การจัดการ’ ที่เขาสามารถหาและจัดสรรกำลังคนในการทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอพี่เลี้ยงบอก และ ‘ความรับผิดชอบ’
“ความรับผิดชอบเรื่องเวลาสำคัญมากครับ เราเป็นผู้นำต้องไม่ให้คนอื่นรอ เมื่อก่อนถ้าเขานัดเรา 9 โมง เราตื่น 9 โมงเลย ไปสายอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เดี๋ยวนี้ต้องไปก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมครับ”
กว่าจะทำมาจนเห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง ทีมงานสารภาพว่าพวกเขาต่างคนก็ต่างท้อ จนอยากเลิกหลายครั้ง แต่สิ่งที่รั้งพวกเขาไว้คือ ‘เพื่อนร่วมทีม’ และ ‘พี่เลี้ยง’ กีรีนเป็นตัวแทนกลุ่มเล่าเรื่องราวว่า
“ช่วงที่เฟลมากคือ ตอนแรกที่ชวนเพื่อนมาทำโครงการ หลายคนรับปากแล้วแต่สุดท้ายไม่มา เราเสียใจ แต่เพื่อนในทีมก็ช่วยให้กำลังใจกัน บอกกันว่าพวกเราโตแล้ว รับงานมาก็ต้องทำให้ดีที่สุด สู้ให้ถึงที่สุด พอผ่านมาได้ก็มานั่งคิดว่าถ้าตอนนั้นเราเลิกไปก่อนอาจเสียใจไปตลอดว่าทำไมไม่ทำต่อ เพราะสุดท้ายเราทำได้ แม้จะไม่ได้เหมือนกลุ่มอื่น แต่ก็ดีที่สุดเท่าที่กำลังของพวกเรามีครับ” กีรีนเล่า
ขณะที่นัซรอเสริมว่า “อีกอย่างคือมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนด้วย พี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาตลอด ผู้ใหญ่ในชุมชนหลายคนก็มาช่วยงาน เราคงทำได้ไม่ถึงขนาดนี้ ถ้าไม่มีพวกเขาคอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา และให้กำลังใจ” ก๊ะบ๊ะ เล่าเทคนิคการดูแลทีมงานเยาวชนของทีมพี่เลี้ยงว่า ช่วงแรกจะทำให้กลุ่มเยาวชนดู เพราะพวกเขายังไม่รู้งาน ยังไม่มั่นใจ เมื่อรู้งานแล้ว พี่เลี้ยงจะปล่อยให้เยาวชนลองทำ เวลาติดขัดอะไรค่อยมาปรึกษา เพื่อฝึกการคิด การทำ และความรับผิดชอบ
ด้าน บังดีน-ตายุดดีน สืบเหม พี่เลี้ยงอีกคน เล่าว่า “เวลาจะช่วยน้องๆ หาทางออก พวกเราจะเน้นตั้งคำถามเป็นหลักเพื่อให้เขามองเห็นทางออกด้วยตัวเอง ถ้าจำเป็นต้องช่วยจริงๆ มักต้องเป็นเรื่องยาก เช่น การประสานงานกับวิทยากรที่เป็นผู้อาวุโส”
ทีมพี่เลี้ยงกล่าวถึงความตั้งใจที่พวกเขาทุ่มเทให้ทำงานกับเด็กๆ เพราะอยากเห็นคนรุ่นต่อไปขึ้นมาช่วยรับผิดชอบชุมชนเรื่องทรัพยากร และถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไปเหมือนดั่งที่คนรุ่นพวกเขา และคนรุ่นก่อนพยายามทำเรื่อยมา
ก๊ะบ๊ะบอกว่า อยากให้เยาวชนพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และกลับมาพัฒนาชุมชน เสียสละความสุขส่วนตัวคนละนิดหน่อย เพื่อความสุขของชุมชน เหมือนคนรุ่นก่อนที่ช่วยกันทำให้ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์ดังเช่นวันนี้
ดูเหมือนกิจกรรมสุดท้ายของทีมงานก็กำลังค่อยๆ เริ่มสืบทอดเจตนารมณ์ของผู้ใหญ่ เพราะพวกเขาจะถอดบทเรียนความรู้ตลอดการทำโครงการออกมาเป็นหนังสือนิทานเกี่ยวกับป่าชายเลน ซึ่งตอนนี้ทำเสร็จไปแล้วเรื่องหนึ่ง เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปู่ที่ชวนหลานลงสำรวจป่าชายเลน โดยมีหลานเป็นคนซักถาม และมีคุณปู่เป็นคนอธิบาย
“แนวคิดการทำนิทานมาจากตัวพวกเราที่อยากรู้ว่าในป่าเลนมีอะไรบ้าง จึงไปถามจากผู้ใหญ่ โดยจะนำไปเผยแพร่ให้น้องๆ ในโรงเรียนประถมได้เรียนรู้เรื่องป่าเลนมากขึ้นครับ” กีรีนเล่า
นอกจากนั้นทีมงานยังอยากทำแผ่นพับเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่คนทั่วไปด้วย ความรู้ทั้งหมดที่ได้จากการทำโครงการนี้จึงกำลังกลายเป็น ‘ความรู้ที่ถูกส่งต่ออย่างไม่มีวันสิ้นสุด’
“เราอยากถ่ายทอดให้น้องๆ รู้ว่า เมื่อก่อนป่าเลนบ้านเราที่ไม่อุดมสมบูรณ์เป็นอย่างไร แล้วพี่ๆ ผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันดูแลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์จนมีชื่อเสียงได้อย่างไร ไม่อยากให้สิ่งที่พี่ๆ ทำมาดีกว่า 10 ปีมาล่มที่เรา อยากให้คนมาสานต่อจากพวกเราไปอีกเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น” กีรีนฝากความหวังเอาไว้