- Loose Parts คือ การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ยอดเยี่ยมสำหรับเด็ก จัดหาของเล่นที่ทำให้เด็กๆ สามารถทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการหรือสนใจ ของเล่นที่ว่านี้จะเน้นวัสดุที่เป็นธรรมชาติ แปรเปลี่ยนรูปร่างได้
- ไม่ควรใช้ของเล่นสำเร็จรูป เพราะบั่นทอนจินตนาการเด็ก และต้องปล่อยให้เด็กออกแบบการเล่นด้วยตนเองอย่างอิสระ
- สำคัญคือ ผู้ดูแลการเล่น ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่ในครอบครัว ต้องไม่แทรกแซงการเล่น มีหน้าที่เฝ้าดู หรือนั่งทำงานอยู่ใกล้ๆ และหากเด็กต้องการให้เล่นด้วยก็ต้องเล่นตามกติกาของเด็ก
ภาพ Loose Parts
ในช่วงที่โลกหยุดพัก ผู้คนต้องทำงานที่บ้าน ชะลอการเดินทาง และรักษาระยะห่าง แน่นอนว่าผลกระทบเหล่านี้ส่งผลถึงเด็กๆ ของเราด้วยเช่นกัน โอกาสที่จะได้ออกมาเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ หายไป โอกาสที่จะได้เดินทางไปเรียนรู้ตามสถานที่ต่างๆ หายไป ต้องอยู่บ้านและมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเท่านั้นเป็นเพื่อนเล่น ทำเอาหลายๆ บ้านเริ่มโอดครวญว่าหมดมุกจะหาของเล่นมาเล่นกับลูกแล้ว แต่อย่าเพิ่งท้อ บทความนี้ชวนพ่อแม่ผู้ปกครองมารู้จักกับอีกหนึ่งแนวคิดของการเล่น ที่เป็นตัวช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองในช่วงเวลาที่ยุ่งยากอย่างนี้
Loose Parts คือ แนวคิดหนึ่งของการเล่นอิสระ (Free Play) เป็นการสร้างสรรค์ของเล่นที่แปรรูปได้ หลากหลายและสร้างจินตนาการ
เด็กๆ ต้องการเพื่อนเล่นก็จริง แต่ถ้าเราเข้าใจ และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะที่จะเล่น เหมาะที่จะปลดปล่อยจินตนาการ จะพบว่าเด็กๆ สามารถเล่นคนเดียวได้เป็นวัน
ก่อนจะมีการระบาดอย่างหนักของ โควิด 19 ระลอกใหม่ กลุ่มไม้ขีดไฟออกแบบการเล่นตามแนวคิด Loose Parts แล้วสัญจรไปติดตั้งตามโรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กกว่า 20 แห่ง เพื่อให้เด็กๆ ได้ออกมาปลดปล่อยจินตนาการ เราจึงพบว่าเด็กๆ สามารถออกแบบวิธีเล่นได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่เราจัดสภาพแวดล้อมจัดของเล่นให้เหมาะสม โดยช่วงวัยที่เหมาะที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาจินตนาการและการเรียนรู้ของเด็กคือ ช่วง 3 – 6 ขวบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าช่วงวัยอื่นจะเล่นไม่ได้ เราพบเด็ก 7 – 9 ขวบ ก็เล่นอย่างสนุกสนานเช่นกัน
Loose Parts คืออะไร?
Loose Parts คือ การสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับเด็ก จัดหาของเล่นที่ทำให้เด็กๆ สามารถทำอะไรก็ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการหรือสนใจ ของเล่นที่ว่านี้จะเน้นวัสดุที่เป็นธรรมชาติ แปรเปลี่ยนรูปร่างได้ เช่น ท่อ รางไม้ แผ่นไม้ ผ้า สภาพแวดล้อมนั้นต้องมีกลิ่น สี และสถานะที่หลากหลาย ทั้งของแข็ง ของเหลว มีความหลายหลาย ทั้งผ้า ไม้ ก้อนหิน ดิน น้ำ รวมทั้งต้องเป็นของเล่นที่ท้าทายความสามารถของเด็กด้วย ไม่ง่ายจนเกินไป ไม่ปลอดภัยจนหมดความท้าทาย หรือสรุปง่ายๆ คือ ของเล่นนั้นต้องแปรเปลี่ยนได้หลากหลาย ไม่ถูกจำกัดตายตัว หรือถูกคิดว่าแล้วว่าต้องเล่นอย่างไร ต้องเล่นตามกติกา ทุกอย่างต้องปรับได้ จับคู่ใหม่ได้ จัดวางใหม่ได้ ตามใจเด็ก ยิ่งหลากหลายยิ่งส่งเสริมให้เด็กค้นพบความมหัศจรรย์ของการเล่น แค่เตรียมพื้นที่ เตรียมวัสดุอุปกรณ์เอาไว้ เด็กจะเป็นผู้ออกแบบวิธีเล่นเอง
เมื่อสภาพแวดล้อมและของเล่นพร้อม การเล่นของเด็กจะเป็นอย่างไร
การเล่นของเด็ก ‘ไม่มีเพศ’: เด็กเล็ก 3 – 6 ขวบเล่นทุกอย่างที่เป็นการเลียนแบบชีวิตประจำวัน หรือจากที่เห็นตามสื่อต่างๆ โดยยังไม่สนใจความเป็นเพศใดใด เราจึงเห็นเด็กผู้หญิงเอาท่อมาทำปืนไล่ยิงเพื่อน และในขณะเดียวกันเราก็เห็นเด็กผู้ชายมาเล่นทำกับข้าวตรงโซนเครื่องครัว แม้กระทั่งโซนตุ๊กตาและเศษผ้าก็ยังมีทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายเล่นด้วยกัน ความจริงแล้วนี่คือการเล่นที่ขับเคลื่อนด้วยเจตจำนงของเด็กอย่างแท้จริง
เพราะธรรมชาติไม่ได้แบ่งแยกการเล่นของเด็กตามเพศสภาพ มีแต่ผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย หรือคุณครูเท่านั้น ที่เป็นผู้แทรกแซงเจตจำนงนี้ของเด็ก ด้วยการกะเกณฑ์ว่า เด็กผู้ชายต้องเล่นปืน เด็กผู้หญิงต้องเล่นตุ๊กตา ซึ่งนั่นเป็นการบั่นทอนเจตจำนงการเล่นของเด็กลงอย่างสิ้นเชิง
การเล่นของเด็ก ‘ไม่มีแบบแผน’: การไม่มีแบบแผนไม่ได้เท่ากับความวุ่นวาย และไม่ได้เท่ากับความไม่เป็นระเบียบ เพราะเอาเข้าจริงแล้วผู้ใหญ่ไม่มีทางคิดวิธีเล่นได้ดีเท่าเด็ก ผู้ใหญ่ไม่มีทางคิดวิธีเล่นได้โดนใจเด็กเท่าตัวเด็กเอง เราจึงเห็นเด็กจับคู่วัสดุที่ไม่เข้ากันเลย (ในสายตาเรา) เป็นของเล่นชิ้นใหม่ เราเห็นเด็กผสมวิธีเล่นจากการเล่น 2 อย่างเข้าด้วยกัน เราเห็นรูปแบบการเล่นที่เราเองแทบจะคิดไม่ถึง และนั่นคือการทำงานของจินตนาการของเด็กอย่างเต็มที่ที่สุดแล้ว เมื่อไม่มีผู้ใหญ่คนไหนแทรกแซง
เล่นเลียนแบบ: เด็กๆ เริ่มเล่นจากการเลียนแบบ เลียนแบบพฤติกรรมคนใกล้ตัว เลียนแบบธรรมชาติ รวมทั้งเลียนแบบเพื่อนที่เล่นก่อนหน้า ในเด็กที่ขี้อาย หรืออาจจะมีทักษะการเล่นน้อย เราจะเห็นเด็กกลุ่มนี้ค่อยๆ มองดูเพื่อนเล่น แล้วขยับมาเล่นตามเพื่อน ในขณะที่กำลังมองนั้น คือการที่ค่อยๆ รวบรวมความกล้า ค่อยๆ รวบรวมเจตจำนงของตัวเอง เมื่อพร้อมจึงลงมือเล่น จากที่เลียนแบบเพื่อน จนกลายเป็นสามารถออกแบบวิธีเล่นด้วยตัวเองได้
เล่นชิ้นเดียว เล่นอย่างเดียว: ตั้งแต่ต้นจนจบกิจกรรมเกือบ 2 ชั่วโมง เราเห็นเด็กบางคนเล่นของเล่นประเภทเดียว แต่เขาเล่นตั้งแต่ค่อยๆ เล่นจนชำนาญ ตัวอย่างการเล่นลูกไม้ไต่ตามราง เริ่มจากการวางรางยังไงให้ลูกไม้กลมๆ กลิ้งตามรางและมาลงตะกร้าที่วางไว้ได้โดยไม่ร่วงระหว่างทาง เราเห็นเด็กที่ค่อยๆ ทำแบบลองผิดลองถูก แก้ปรับทิศทางราง วางองศาของรางให้รับกับลูกไม้ได้แบบพอดิบพอดี ใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะเป็นที่พอใจ บางคนเล่นตรงนี้อย่างเดียวจนหมดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แววตาแห่งความภูมิใจที่สามารถเอาชนะเจ้าลูกไม้กลมๆ ให้กลิ้งตามรางได้โดยไม่ร่วงระหว่างทาง นั่นมันสุดยอดแล้วสำหรับการเล่นครั้งนั้น
เล่นแปลงร่าง: เป็นรูปแบบการเล่นที่โดนใจเด็กๆ มาก เพราะเด็กต่างมีจินตนาการของตัวเอง จากนิทาน จากสื่อต่างๆ ก็แล้วแต่ แต่ละคนอยากแปลงร่างเป็นอย่างอื่นในจินตนาการที่ไม่ใช่ตัวเอง วัสดุอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เด็กหยิบจับมาแปลงร่างได้ ไม่ว่าจะเป็นลังกระดาษ ผ้า สี ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในการสร้างสรรค์จินตนาการให้เด็กได้ทั้งสิ้น เราจึงเห็นมงกุฎพระราชา เห็นสไบพระราชินี เห็นปีกนก หรือสัญลักษณ์ซุปเปอร์ฮีโร่ เต็มไปหมด
เล่นด้วยกันหลายคน แต่ต่างมีจินตนาการของตัวเอง: บางครั้งเราเห็นเด็กๆ นั่งเล่นด้วยกันเป็นกลุ่ม ลองเข้าไปนั่งใกล้ๆ แล้วจะพบว่า ต่างคนต่างเล่น ต่างคนต่างมีจินตนาการของตัวเอง เพราะเด็กเล็กสามารถเล่นคนเดียวด้วยเจตจำนงของตัวเองได้ ขอแค่มั่นใจว่ามีพ่อแม่ ครู อยู่ใกล้ๆ ขอแค่มั่นใจว่าจะปลอดภัยก็พอ
ครอบครัวจะสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมแบบนี้ให้เด็กได้อย่างไร
ในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดแบบนี้ที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน เด็กก็เช่นกันที่ต้องหยุดอยู่บ้าน แต่เจตจำนงการเล่นของเด็กไม่ได้หยุดตามไปด้วย หากครอบครัวจะลองหาพื้นที่เท่าที่มีมาสร้างสรรค์การเล่นตามแนวคิด Loose Parts ให้ลูกๆ ที่บ้านก็จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ที่ต้องคอยคิดกิจรรมมาเล่นกับลูกทุกวันลงได้ แถมยังช่วยเพิ่มจินตนาการให้ลูกได้ด้วย โดยการหาของเล่นที่สามารถให้เด็กได้ผจญภัย ได้เล่นโดยมีมุมมองจากที่สูงบ้าง ได้ซ่อน ได้ค้นหา ได้เชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น สัตว์เลี้ยง แมลง มีมุมลับที่เป็นที่พัก ผ่อนคลาย หรือมีการเล่นตามจินตนาการเพ้อฝัน
ทั้งนี้สามารถปรับได้ตามสภาพพื้นที่ของแต่ละครอบครัวได้ ไม่ตายตัว ไม่มีข้อจำกัด เน้นวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นธรรมชาติ ของที่มีในบ้าน เช่น ลังกระดาษ ท่อพลาสติกเก่าๆ เศษผ้า เครื่องครัวที่พังๆ รวมทั้งวัสดุที่เป็นธรรมชาติ เช่น ใบไม้ กิ่งไม้ ก้อนหินก็ได้ ไม่เอาของเล่นสำเร็จรูป ซึ่งบั่นทอนจินตนาการเด็กไปหมดแล้ว เริ่มจากมุมเล็กๆ ในบ้านก่อนก็ได้ เพื่อให้อยู่ในสายตา แล้วค่อยๆ ขยับมาที่สวนหลังบ้านก็ได้ เพื่อให้การเล่นท้าทายขึ้น
สิ่งสำคัญอีกอย่างของการเล่น ที่สำคัญไม่แพ้วัสดุอุปกรณ์ที่เราเตรียมไว้ให้เด็กได้เล่น นั่นคือ ผู้ดูแลการเล่น (Play Worker) ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่ในครอบครัวที่ใกล้ชิดเด็กนั้นแหละ ต้องไม่แทรกแซงการเล่นของเด็ก
มีหน้าที่เฝ้าดู หรือนั่งทำงานอยู่ใกล้ๆ หากเด็กต้องการให้เราเล่นด้วยก็ต้องเล่นตามกติกาของเด็ก ไม่ใช่ของเรา ไม่ยุ ไม่ห้าม ไม่บอกว่าทำไม่ได้ ยกเว้นเสียแต่ว่า มันจะอันตรายเอามากๆ มีนักการศึกษาท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า
“ความปลอดภัยเป็นเรื่องของ Play Worker แต่ความเสี่ยงเป็นงานของเด็ก”
การเล่นที่ปลอดภัยจนเกินไปก็ขาดความท้าทาย ความเสี่ยงจะช่วยพัฒนาทักษะของเด็กขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของ Play Worker ด้วย
เพราะการเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เด็กจึงไม่ควรหยุดเล่น
ช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้ หากลองเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ใช้เวลาที่ต้องอยู่บ้านออกแบบพื้นที่เล่นในบ้านให้กับลูกๆ ของเราดู เผลอๆ ช่วงวิกฤติของใครใคร อาจกลายเป็นช่วงเวลาทองของครอบครัวเราก็ได้
ติดตามหรือขอข้อมูลได้ที่ เพจกลุ่มไม้ขีดไฟ หรือ Let ‘s Play More เพราะเราเชื่อว่า “การเล่นเป็นการงานสำคัญที่เด็กทุกคนต้องทำให้บรรลุผลก่อนก้าวเข้าสู่วัยรุ่น” |