- ‘สืบฮีต สานฮอย ฮ้อยกำกึ๊ด คนฮักหละปูน’ งานบุญประจำปีชาวหละปูน ที่คนทำงานแอบผลักประเด็นพลังเยาวชนหละปูนเข้าไป หนึ่งในความตั้งใจของคนทำงานคือต้องการสื่อสารถึงพลังเยาวชนให้กับผู้ใหญ่ใจดีได้รู้และร่วมกันผลักดันทำงานต่อ ขณะเดียวกัน ก็หวังอยากส่งต่อและเห็น ‘สปิริต’ ให้ละอ่อนลำพูนสืบสานต่อไป
- 15 โครงการ 8 พื้นที่ คือโครงการจากประชากรเยาวชนที่จัดแสดงในงานวันนั้น ไม่ใช่แค่การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ปล่อยของ แต่เป็นพื้นที่ให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เรียนรู้จากกันและกันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ด้วย
งาน ‘สืบฮีต สานฮอย ฮ้อยกำกึ๊ด คนฮักหละปูน’ ครั้งที่ 2 คืองานประจำจังหวัดที่รวมเอางาน “บุญตานข้าวใหม่ ปู๋จาพระธาตุเจ้าหริภุญชัย” และงาน “พลังเยาวชนคนหละปูน” จัดขึ้นพร้อมกัน ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ณ วันที่ 19-20 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเยาวชน นับเป็นการจับมือร่วมกันทำงานหลายภาคส่วน นำโดย สถาบันวิจัยหริภุญชัย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล
แม้เป็นงานบุญประจำปี แต่ผู้จัดก็ซ่อนโจทย์ไว้ในงาน นั่นคือ การส่งต่อ ‘สปิริตลำพูน’
‘สปิริตลำพูน’ ในที่นี้หมายถึงจิตวิญญาณของความเป็นคนลำพูน การรู้จักและภูมิใจในรากเหง้า เห็นคุณค่าของภูมิปัญญา ฮีตฮอย และการไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาของบ้านเมือง
แต่การส่งต่อ ‘สปิริต’ นั้นไม่ง่ายเพราะปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทั้งภาวะความเป็นเมืองที่ต่างคนต่างอยู่และทำงาน เมืองอุตสาหกรรม ปัญหาสารเคมี การเกษตร สิ่งแวดล้อม ปัญหาการศึกษา และความมั่นคงในครอบครัว
ท่ามกลางปัญหาเหล่านี้ คำถามคือ ผู้ใหญ่จะส่งต่อ ‘สปิริตลำพูน’ ที่ไม่นิ่งดูดาย ให้เยาวชนลุกขึ้นมาร่วมรับผิดชอบอย่างไร?
“ต้องเล่าก่อนว่า เดิมทีวัดพระธาตุหริภุญชัยฯ จะมีพญาข้าวเปลือกอยู่คู่กับวัดพระธาตุ แต่พญาข้าวเปลือกนี้หายไปเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ปีที่แล้วเราจัดทำพญาข้าวเปลือกขึ้นใหม่ซึ่งทำจากไม้ขนุน และได้ฟื้นฟูประเพณีการแห่พญาข้าวเปลือกขึ้น ซึ่งจะจัดขึ้นทุกๆ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือนสี่เป็ง
“ถามว่าทำไมปีนี้จึงชูงานเยาวชนขึ้นร่วมกับงานตานข้าวใหม่นี้? ต้องเล่าอีกเช่นกันว่า เดิมทีสถาบันหริภุญชัยทำงานกับละอ่อนในนามเครือข่ายเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูนอยู่แล้ว แต่การทำงานขาดหายไปเพราะเด็กๆ โตขึ้น การเชื่อมต่อระหว่างกันก็หายไประยะหนึ่ง พอทางโครงการ active citizen เข้ามาชวนมูลนิธิฯ ให้ร่วมทำงานด้านเยาวชน จึงเอื้อให้เราได้กลับมาฟื้นฟูเครือข่าย และถือเป็นโอกาสดีที่จะสานต่อโครงการ
“อีกประเด็นคือ และเพราะเมืองลำพูนเองได้ชื่อว่าเป็นเมืองอายุยืน เป็นเมืองที่มีผู้สูงอายุมากติดอันดับต้นๆ ของประเทศ เป็นโอกาสอันดีที่จะสร้างเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาทำงาน” คือคำอธิบายถึงจุดประสงค์และที่มาที่ไปของงานมหกรรม จากหนึ่งในแม่งานอย่าง วันเพ็ญ พรินทรากุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน
ในฐานะแม่งาน ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำพูน หรือที่เรียกว่า ‘โหนด’ จังหวัดลำพูน คนทำงานกับเยาวชนและพี่เลี้ยงมาตั้งแต่จุดสตาร์ท วันเพ็ญเล่าว่าการเดินทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะไม่ใช่การทำงานกับเยาวชนที่มีแต้มต่อทางสังคม
“เด็กที่ทำโครงการกับเรา เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงราว 80 เปอร์เซ็นต์ เด็กที่เรียบร้อยหรือพร้อมหน่อย มีแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เราจึงหวังว่าโครงการนี้จะไปสร้างโอกาส สร้างพื้นที่ สร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างให้กับละอ่อนได้” วันเพ็ญอธิบาย
15 โครงการ 8 อำเภอ คือโครงการและประชากรเยาวชนที่มาจัดแสดงงานในวันนั้น แม้ 80 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในโครงการจะเป็นเยาวชนที่วันเพ็ญห่วงใยเป็นพิเศษ แต่พลังที่เด็กๆ แสดงในวันนี้ เข้าตาและได้ใจผู้ใหญ่หลายคนในงาน
“มันสนุกมากที่ได้ยินน้องๆ ทุกพื้นที่เล่าให้ฟังว่าทำไมเขาถึงทำ มันยากไหม สนุกตรงไหน เรียนรู้อะไร จบโครงการแล้วจะทำอะไรต่อ แววตาที่เป็นประกายของน้องๆ ทำให้เรารู้เลยว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างเราคือการทำให้คนรุ่นใหม่มีประกายตาแห่งความสนุก ตื่นเต้น ภาคภูมิใจแบบนี้
“สำหรับสังคมไทย เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นอกจากทำให้สังคมนี้เป็นสังคมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ที่พวกเขาจะได้เติบโตและใช้ศักยภาพของเขาได้เต็มที่” ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. สะท้อนบนเวทีเปิดการแสดงตอนกลางคืน
ขณะที่ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวเช่นกันว่า “อยากแสดงความยินดีกับคนจังหวัดลำพูนว่าท่านมีลูกหลานที่เก่งกล้าสามารถ ความสำคัญของโครงการที่น้องๆ ทำอยู่ที่ ‘ได้ทำ’ และมันมีความหมายเนื่องจาก ‘ผู้ใหญ่ทั้งหลายให้โอกาส’
“น้องๆ ได้เรียนรู้ชุมชนของตัวเอง จากที่เคยเห็นก็มาทำความเข้าใจ และจากที่เข้าใจก็เลือกโครงการมาทำจนสำเร็จ หลายโครงการอยากจะเลิกหลายรอบ เจอปัญหาแต่ก็สู้และอดทน เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่เวลาเจอปัญหา แล้วสู้แบบน้องๆ
“และนี่คือเป็นการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เขาไม่ได้จากในโรงเรียน โจทย์ที่เขาดึงจากชุมชนเป็นโจทย์ชีวิตจริงแท้ๆ เราได้เรียนรู้กับมัน การที่จะต้องแก้ปัญหาก็เป็นการแก้ปัญหาจากเรื่องจริง สำเร็จจริง และเอามาใช้ประโยชน์ได้จริงในชุมชน”
คีย์เวิร์ดเรื่อง ‘คนรุ่นใหม่’ และ ‘การเรียนรู้ในศตวรรษที่21’ คือโจทย์เดียวกับที่คนทำงานอย่างวันเพ็ญเห็น อย่างที่เธอให้นิยามว่า ‘ละอ่อนทุกวันนี้ แม้นั่งอยู่กับที่ แต่เขาไปทั่วโลก’ คุณูปการของโครงการนี้สำหรับเธอ จึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใหญ่ได้เรียนรู้โลกของเด็ก และยังเป็นพื้นที่ให้ละอ่อนเอง ก้าวเข้ามาเรียนรู้วิธีคิดของผู้ใหญ่ เพื่อหวังว่านั่นจะเป็นโอกาสในการส่งต่อ ‘สปิริต’ ชาวหละปูนต่อไป
“เราทำงานกับเยาวชนมาเกือบปี นอกจากเห็นว่าเขามีศักยภาพอย่างไร ยังเป็นโอกาสของผู้ใหญ่อย่างเราด้วยที่จะใช้พลังเยาวชนมาหนุนเสริมและสืบทอดประเพณี”
ความคาดหวังของวันเพ็ญบรรลุผลแน่นอน หลักฐานคือจากทั้งหมด 15 โครงการ ละอ่อนหละปูนทำโครงการเกี่ยวกับวัฒนธรรมอยู่ 12 โครงการ ที่เหลืออีก 3 โครงการเป็นประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ด้าน ชีวัน ขันธรรม หัวหน้าโครงการและผู้จัดการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น หนึ่งในทีมพัฒนาเยาวชน ‘โหนด’ จังหวัดลำพูน กล่าวถึงความคาดหวัง
“เราคาดหวังจากงานมหกรรมไว้สองส่วน ส่วนแรก-เราต้องการสร้างการเรียนรู้ในการบริหารจัดการเรื่องยากและใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วมันใหญ่เกินตัวเขานะ มันไม่ใช่การทำงานแค่คนหรือสองคน แค่ทีมหรือสองทีม แต่เป็นงานใหญ่ที่เยาวชนทั้ง 15 พื้นที่เข้ามาช่วยกันทำงาน ยิ่งงานใหญ่ก็ยิ่งยาก ซึ่งผมคิดว่างานแบบนี้เหมาะเป็นแบบฝึกหัดสำหรับเด็กในช่วงท้ายโครงการ หลังจากที่เขาผ่านการเรียนรู้ในโครงการของแต่ละโครงการมาแล้ว
“สอง-ต้องการ ‘สื่อสาร’ พลังและสาระจากฝีมือของเด็ก พวกเขาต้องสื่อสารการทำงานตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการจนกระทั่งจบโครงการ เด็กๆ ต้องสื่อสารให้คนลำพูน ทั้งผู้ใหญ่ เครือข่ายภาคีที่ทำงานเยาวชน สื่อสารที่มาในงานให้เขาเห็นพลังและศักยภาพตรงนี้ ซึ่งเราหวังว่า นอกจากเห็นผู้ใหญ่ใจดีมาเห็น ยังอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับเราด้วย”
ชีวันกล่าวถึงงานเบื้องหลังมหกรรมที่สำคัญอีกส่วน ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน ‘กลไก’ การทำงานของเด็กและเยาวชน คือ ‘พี่เลี้ยง’
“แม้งานนี้จะเป็นงานเยาวชน แต่กระบวนการพัฒนาที่เราทำคู่ขนานไปกับเยาวชน คือการพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยงไปด้วย การที่พี่เลี้ยงจะหนุนเด็กให้เกิดการเรียนรู้และบรรลุคุณลักษณะที่วางไว้ ต้องมีการออกแบบ ดีไซน์ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพี่เลี้ยงไม่น้อยกว่าการพัฒนาเยาวชนเลย จะถือว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในบทเรียนงาน active citizen ลำพูนปีที่หนึ่งเลยก็ว่าได้” ชีวันกล่าว
‘สืบฮีต สานฮอย ฮ้อยกำกึ๊ด คนฮักหละปูน’ คืองานบุญประจำปีชาวหละปูน ที่คนทำงานแอบผลักประเด็นพลังเยาวชนหละปูนเข้าไปด้วย หนึ่งในความตั้งใจของคนทำงานคือต้องการสื่อสารถึงพลังเยาวชนให้กับผู้ใหญ่ใจดีได้รู้และร่วมกันผลักดันทำงานต่อ ขณะเดียวกัน ก็หวังอยากส่งต่อและเห็น ‘สปิริต’ ละอ่อนหละปูนไปด้วย
งานนี้ ปลุกพลังชาวลำพูนได้จริงมั้ย? – เราถาม
“ในระดับพื้นที่ พี่ว่ามันสร้างความตื่นตัวให้คนในชุมชนได้พอสมควรนะ แรกๆ มันอาจไม่เห็นอะไรเลย ไม่เห็นแกนนำ ไม่เห็นพี่เลี้ยง แต่ท้ายที่สุดมันส่งพลัง พอคนหนึ่งเข้ามาจัดการ ก็ส่งพลังให้คนอื่นมาจัดการต่อ ผู้ใหญ่ในชุมชนอยู่นิ่งไม่ได้
“อย่างคนที่มาในวันนี้ เฉพาะคนที่มาดูเด็กฟ้อนก๋ายลาย บ้านนั้นก็มากันเกือบสี่สิบคน ครูยกกันมาเกือบทั้งโรงเรียน จากเดิมที่ครูบอกว่า ‘ไม่เอาแล้ว เหนื่อย ไม่อยากทำแล้ว’ แต่พอเห็นเด็กตั้งใจ เด็กอยากทำ ไม่มีใครมาส่งก็ร้องได้ แบบนี้มันสร้างพลังนะ เด็กๆ อยู่ไกลจากที่จัดงานไปสองร้อยกว่ากิโล ก็ไม่เป็นไร เราไปรับมาเอง
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงกับเด็กบางคน จากที่ไม่เคยสนใจ จากที่แสบๆ แค่เห็นเขาเปลี่ยนแปลง รับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ก็สร้างความภูมิใจให้กับเรา ไม่น่าเชื่อนะ (หัวเราะ)”
ขณะที่ชีวันตอบคำถามเดียวกันว่า “ความคาดหวังที่ตั้งใจไว้ก่อนทำงานและคิดว่าบรรลุผล คือการเปลี่ยนแปลงในตัวเยาวชนลำพูน เห็นหลายคนกลับมาสนใจเรียนรู้บ้านตัวเอง ภาคภูมิในชาติพันธุ์ ภาคภูมิในภูมิปัญญา แต่สิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดตั้งแต่แรก แต่มาเห็นชัดขึ้นในภายหลัง คือ ‘กลไก’ ที่จะขยับงานเยาวชนจังหวัดลำพูนต่อไป”
เราได้แต่ช่วยกันหวังว่า จะเห็นงาน ‘ละอ่อนหละปูน’ เป็นที่ที่สอง สาม สี่ … และเกิดขึ้นกับหลายภูมิภาคทั่วไทย