- บ้านตะเหมก ชุมชนเก่าแก่ตั้งอยู่บนเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดตรังและพัทลุง เป็นที่ตั้งของควนดินดำ ป่าต้นน้ำของจังหวัดและสถานที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คนแถบนี้มากว่า 200 ปี
- กาลเวลาและยุคสมัยทำให้ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ห่างหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ แต่พลังแห่งธรรมชาติและสภาพแวดล้อมโดยรอบยังเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจและตราตรึงให้กับผู้ที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้
- โครงการ “ควนดินดำ” ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง จึงเกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อเรียนรู้รากเหง้าชุมชนและรักษาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้เอาไว้
‘แตะเมฆ’ ออกเสียงเป็นสำเนียงภาษาใต้ฟังคล้าย ‘ตะเหมก’ เป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งถึงที่มาที่ไปของชื่อ บ้านตะเหมก ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ที่ตั้งของ ควนดินดำ ป่าต้นน้ำของจังหวัดและสถานที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้คนแถบนี้มากว่า 200 ปี
บ้านตะเหมก ตั้งอยู่บนเขตรอยต่อระหว่างจังหวัดตรังและพัทลุง แม้ปัจจุบันมีถนนเดินทางสัญจรไปมาได้สะดวก แต่หากย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีก่อนหน้านี้ ชุมชนละแวกนี้ยังจัดเป็นพื้นที่ป่าเขาห่างไกลจากความเจิญ อย่างที่คนใต้มักพูดกันว่า ‘อยู่ในหมง!!’
มีประวัติเล่าต่อกันมาว่า เหมก หรือตะเหมก เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งอยู่แถบเชิงเขาบรรทัดฝากฝั่งจังหวัดตรัง เหนือบ้านตะเหมกขึ้นไปเป็นแนวเทือกเขาบรรทัดที่วางตัวยาวคล้ายเป็นกำแพงกั้นข้ามเขตแดน นอกจากข้อสันนิษฐานตามสำเนียงการออกเสียงในภาษาถิ่นแล้ว บ้านตะเหมกยังมีเรื่องเล่าถึงที่มาของชุมชนอีกไม่น้อย
หนึ่งในเรื่องเล่าที่เล่าโดย สำนักหินปัก ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เล่าต่อกันมาว่า ย้อนกลับไปกว่า 200 กว่าปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของชุมชนชาวมุสลิมผู้ลี้ภัยสงครามราวปี พ.ศ.2173 ชื่อสำนักหินปักมาจากหลุมฝังศพ (กุโบร์) ที่มีหินปักอยู่ด้านบน โดยเมื่อมีการสืบประวัติหลุมฝังศพของบุคคลที่น่าจะเป็นบุคคลสำคัญ พบว่ามีความเกี่ยวข้องทางสายสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นที่มากกว่า 8 ช่วงอายุคน จึงทำให้เชื่อได้ว่าพื้นที่แถบนี้มีผู้คนเข้ามาตั้งรกรากอยู่อย่างยาวนาน
หากย้อนกลับไปใกล้กว่านั้น ช่วงราวปี พ.ศ. 2517 สมัยนั้นชัยภูมิแถบนี้เป็นหนึ่งในฐานที่มั่นสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดตรัง พัทลุง และสตูล ในชุมชนยังเหลือผู้สูงอายุที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ครั้งนั้น บอกเล่าเรื่องราวให้ฟังได้ เป็นหลักฐานที่ยังมีลมหายใจ ที่ทำให้เห็นว่าบ้านตะเหมกแห่งนี้ได้ผ่านเรื่องราวมามากมาย
ด้วยเป็นชุมชนที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา รายรอบด้วยหุบเขาและลำห้วยน้อยใหญ่ บ้านตะเหมกจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถี เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการหลีกหนีจากความพลุกพล่านในเมืองใหญ่ เพื่อมาสัมผัสกับธรรมชาติบนผืนป่าต้นน้ำแห่งสำคัญ จุดกำเนิดของลำคลองและลำห้วยน้อยใหญ่รวม 25 สายก่อนไหลลงสู่แม่น้ำตรังแล้วลัดเลาะออกสู่ทะเลอันดามัน สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชน ประกอบด้วย น้ำตกหนานดิน บ่อน้ำผุด ที่พักคอมมิวนิสต์ที่ยังคงมีร่องรอยของหลุมจากการทิ้งระเบิด สำนักตะเหมกบรรพกาล บ้านรากพันป่า และสำนักหินปัก เป็นต้น
ความเชื่อที่ต้องพิสูจน์
ควนดินดำ เป็นพื้นที่จุดหนึ่งกลางป่าใหญ่ อยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปอีกราว 7 กิโลเมตร ต้องอาศัยการเดินเท้าเข้าไปตามเส้นทางธรรมชาติ ซึ่งสาเหตุที่เรียกพื้นที่ตรงนี้ว่าควนดินดำ เนื่องจากสีดินบริเวณนั้นเป็นดินเหนียวสีดำสนิท แตกต่างจากสีดินบริเวณรอบๆ อย่างชัดเจน คนในชุมชนเชื่อกันว่าบริเวณนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าป่าเจ้าเขาและเทวดาปกป้องรักษา ผู้คนจึงให้ความเคารพ บางคนเดินเท้าเข้ามาขุดดินไปเป็นส่วนผสมในการทำพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง บ้างก็นำไปใช้รักษาโรคเนื่องจากเชื่อว่าดินบริเวณนี้แก้อาการปวดเมื่อยให้ทุเลาเบาบางได้
กาลเวลาและยุคสมัยทำให้ความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ห่างหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ แต่พลังแห่งธรรมชาติและสภาพแวดล้อมโดยรอบยังเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจและตราตรึงให้กับผู้ที่ได้มาเยือนสถานที่แห่งนี้ อย่างไรก็ตาม น้ำฝน – พรรณธิภา เยาว์ดำ อายุ 15 ปี ลูกหลานของชุมชน บอกว่า เด็กบ้านตะเหมกบางคนรู้จักควนดินดำ แต่บางคนรับรู้เพียงว่า เหนือจากบ้านขึ้นไปเป็นภูเขา เป็นป่า แต่ไม่ได้รับรู้ถึงประวัติและความเป็นมาเป็นไปของชุมชน
อยากรู้ว่าทำไมควนดินดำถึงมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่เคารพของคนเฒ่าคนแก่?
ดินที่มีสีดำแตกต่างจากบริเวณอื่นนี้สามารถอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างไรได้บ้าง?
และ จะช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำของชุมชนอย่างไรได้บ้าง?
เป็นโจทย์และความตั้งใจที่ทำให้เกิด โครงการ “ควนดินดำ” ควนศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขาบ้านตะเหมก ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง จากการรวมกลุ่มกันของเด็กและเยาวชนในพื้นที่
ทุกปีในหน้าฝนตำบลละมอต้องประสบปัญหาน้ำท่วมและหน้าดินถล่ม เส้นทางตัดขาดจนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ขณะที่หน้าแล้งหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ต่ำกว่ากลับขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทางการเกษตร การศึกษาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ควนดินดำจึงมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ให้กลุ่มเด็กเยาวชนและคนในชุมชนเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและของดีที่มีอยู่ในบ้านของตัวเอง เรียนรู้ที่จะอยู่และรักษ์ธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์
“ทำไมต้นไม้ในป่าใหญ่ขนาดนั้น ต้นไม้ในหมู่บ้านว่าใหญ่แล้ว แต่ต้นในป่าใหญ่กว่ามากถึงขนาดประมาณ 10 โอบ อายุน่าจะกว่าร้อยปี และไม่ได้มีแค่ต้นเดียว” น้ำฝน เล่าถึงความประทับใจที่เธอมีต่อป่าของชุมชนซึ่งดูคล้ายจะเป็นรักแรกพบ
“ตอนเด็กๆ เราเคยตามผู้ใหญ่ไปปลูกป่า ได้ปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ ได้เห็นต้นไม้ที่ปลูกเติบโตขึ้นตามอายุของเรา แต่พอได้เข้าไปในป่า ได้ไปเห็นต้นไม้ใหญ่จริงๆ มันทำให้ได้คิดว่า โอ้โห…ยังมีต้นไม้ที่แก่กว่าเราเป็นสิบปี ยี่สิบปี เวลาไปยืนที่รากต้นไม้ เรากลายเป็นคนตัวเล็กๆ ไปเลย” น้ำฝน เล่าอย่างตื่นเต้น
ศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้านเป็นแหล่งรวมตัวของกลุ่มเยาวชนเพราะเป็นจุดที่มีสัญญาณไวไฟ (WiFi) กิจกรรมในโครงการ ประกอบด้วยการเก็บข้อมูลประวัติความเป็นมาควนดินดำจากผู้อาวุโสและผู้นำชุมชน การศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาของดินบริเวณควนดินดำ การสำรวจเส้นทางเดินป่าไปยังควนดินดำ และการเก็บข้อมูลสถานที่สำคัญในชุมชน กลุ่มเยาวชนบ้านตะเหมก ได้วิเคราะห์ชุมชนของตัวเองผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ แผนที่ชุมชน ดอกไม้ชุมชน และตุ๊กตาชุมชน ทำให้รู้ว่าจุดเด่นของบ้านตะเหมก คือ ป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์กว่า 25,000 ไร่ ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้เศรษฐกิจ กล้วยไม้พันธุ์หายากและพืชพรรณท้องถิ่นหลากชนิด
สิ่งที่สร้างความประทับมากที่สุดหนีไม่พ้น การเดินป่า กิจกรรมเดินป่าจัดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อสำรวจเส้นทางตามธรรมชาติมีเจ้าหน้าที่จากอุทยานเขาปู่-เขาย่าเป็นผู้นำทาง ก่อนหน้านั้นเด็กๆ ยังได้บุกไปเรียนรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับป่าและการเดินป่าถึงสำนักงานของเจ้าหน้าที่
ละติจูดคืออะไร ต่างกับลองติจูดอย่างไร?
การจับพิกัดและการอ่านแผนที่ทำอย่างไร?
นอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานแล้วยังมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยจัดการต้นน้ำแม่น้ำตรังมาให้ความรู้เรื่องป่าต้นน้ำและสภาพดินที่เหมาะกับการปลูกป่าแก่เยาวชนด้วย
น้ำฝน บอกว่า หัวข้อที่ได้เรียนรู้ ยิ่งได้รู้ยิ่งทำให้อยากออกไปเดินป่าอย่างจริงจัง พวกเขาตื่นเต้นไปกับความรู้ แต่ก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ เมื่อจินตนาการภาพถึงการเดินเข้าไปในป่าทึบที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่ก็อยากตามหาความจริงซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับพวกเขา
ส่วนครั้งที่ 2 กิจกรรมตั้งชื่อน่ารักๆ ว่า พาเพื่อนเดินป่า รวมจิตอาสาอนุรักษ์ เด็กๆ ได้ชักชวนเพื่อนเยาวชนจากต่างพื้นที่ รวมถึงผู้ปกครองมาร่วมด้วย เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงธรรมชาติไปตลาดเส้นทาง นอกจากนี้ยังได้ทำประโยชน์ด้วยการเก็บขยะระหว่างทาง แล้วปักป้าย ชี้จุดสถานที่สำคัญ พันธุ์ไม้ควรรู้จัก รวมถึงป้ายแสดงจุดหวงห้ามต่างๆ
ความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อ ความรู้สึกและที่ได้เห็นด้วยตาตัวเอง ถูกกรั่นกรองออกมาเป็นบันทึกความรู้เกี่ยวกับพืชพรรณไม้ เช่น ชนิดเห็ด เฟิร์น พืชกินแมลง สัตว์ป่า และประวัติความเป็นมาของชุมชน ไว้ให้ศึกษาต่อ รวมถึง การทำแผนที่เดินป่าศึกษาธรรมชาติควนดินดำและจุดที่น่าสนใจระหว่างเส้นทางเป็นระยะทางไปกลับประมาณ 10 กิโลเมตร น้ำฝน บอกว่า พวกเขาช่วยกันวาดแผนที่บนผืนผ้าขนาดยาวประมาณ 4 เมตร เป็นความรู้และแสดงให้เห็นภาพรวมของป่าควนดินดำ ติดไว้ที่ฝาผนังศาลาอเนกประสงค์ประจำหมู่บ้าน และได้ลองร่างกติกาชุมชนสำหรับการเดินป่าควนดินดำ เพื่อเป็นบรรทัดฐานให้คนอยู่กับป่าได้อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“เพื่อนๆ เยาวชนในชุมชนสนใจกิจกรรมที่พวกเราทำ เวลาพวกเราประชุมกันก็มานั่งฟังด้วย ตอนเตรียมตัดไม้มาทำป้าย พ่นสีเขียนชื่อต้นไม้ ทาแลกเกอร์เคลือบบนไม้ก็มีหลายคนมาช่วย จนถึงวันที่เข้าไปเดินป่า เพื่อนๆ อาสาไปด้วยกัน บางคนเป็นเด็กๆ กลุ่มที่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กเกเร เขาก็สนใจไปกับเราช่วยกันแบกป้ายเพื่อนำชื่อต้นไม้ไปแปะไว้ตามต้นไม้ระหว่างทางเดินไปควนดินดำ พ่อแม่ของพวกเราบางคนรู้ว่าควนดินดำอยู่ตรงไหน แต่ไม่เคยเดินขึ้นไปก็ไปกับพวกเราด้วย ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวได้เลยเพราะบ้านหนูก็ไปกันทั้งครอบครัว ครอบครัวของพี่ๆ และเพื่อนๆ ในทีมก็ไปด้วย รวมๆ แล้วมากกว่า 50 คน” น้ำฝน เล่าถึงบรรยากาศการทำกิจกรรม
“เจ้าหน้าที่ป่าไม้แนะนำเด็กๆ ให้รู้จักชื่อพันธุ์ไม้ระหว่างทาง เขาได้รู้จักต้นไม้เพิ่มขึ้นจากเดิม แล้วเล่าให้ฟังว่าแต่ละจุดที่เดินผ่านเคยเจอสัตว์ป่าชนิดไหน เพราะเจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกข้อมูลจับพิกัดไว้ เช่น หมูป่า ไก่ป่า ลิง นางอาย กระจง ตัวเม่น และตัวนิ่ม ในป่ามีนกหน้าตาแปลกๆ หลายชนิด เจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าคนเข้ามาจำนวนน้อยๆ มีความเงียบ จะยิ่งมีโอกาสเห็นสัตว์ป่าได้มากขึ้น” อรวรรณ นิตมา พี่เลี้ยงโครงการ กล่าวเสริม
การนำเสนอภาพกิจกรรมการเดินป่าผ่านทางเฟสบุคของกลุ่มแกนนำเยาวชนก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมของพวกเขาได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนในชุมชนเพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ปกครองและคนนอกชุมชน
“เราลงภาพต้นไม้ขนาดใหญ่ หลายคนบอกว่าอยากเข้าป่าไปเห็นของจริง ในกลุ่มที่ไปสำรวจด้วยกันก็บอกว่าถ้ามีโอกาสอยากขึ้นไปอีก ถึงจะต้องเดินไกลแค่ไหนก็อยากมา” น้ำฝน สะท้อนเสียงตอบรับ เมื่อความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติได้เผยโฉมให้เห็นกับตา
คุณค่าของสิ่งที่ถูกมองข้าม
การอนุรักษ์ป่าของชุมชนเป็นภารกิจที่ผู้นำชุมชนและลูกบ้านต้องช่วยกันทำ เพราะบ้านตะเหมกรับอาสาเป็น ราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) แต่เดิมเป็นงานที่ผู้ใหญ่บริหารจัดการและร่วมกันรับผิดชอบ โครงการกลายเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ให้กลุ่มเด็กเยาวชนได้เข้ามาร่วมทำงานกับผู้ใหญ่ พลังเล็กๆ ที่จะกลายเป็นความความเข้มแข็งของชุมชนในอนาคต
“เด็กๆ ได้เรียนรู้สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ยังสามารถเห็นของจริงได้ จากเรื่องเล่าของผู้สูงอายุ ร่องรอยหลุมจากการทิ้งระเบิดที่ยังมีอยู่ให้เห็น พวกเขาได้เรียนรู้จากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน ทำให้เกิดความภูมิใจ เห็นคุณค่า รู้สึกหวงแหนและอยากดูแลรักษา” อรวรรณ กล่าว
“คุณยายท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของควนดินดำ เป็นกุศโลบายของคนสมัยก่อนที่ต้องการรักษาป่าต้นน้ำไว้ไม่ให้ถูกทำลาย ยิ่งมีเรื่องเล่าถึงความลี้ลับ ยิ่งที่ให้คนไม่กล้าเข้าไปในพื้นที่ หรือไม่นานมานี้มีคนเข้าไปล่าสัตว์ ตัดไม้บริเวณนั้นแล้วหายตัวไป จนต้องบนบานสานกล่าวถึงค้นหาตัวเจอ ยิ่งตอกย้ำให้คนในชุมชนเชื่อ ซึ่งเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นนี้เด็กเยาวชนอย่างเราก็ได้รับรู้ไปพร้อมๆ กับผู้ใหญ่ด้วย” น้ำฝน กล่าว
น้ำฝน เล่าต่อว่า ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำโครงการทำให้พวกเขาเห็นประโยชน์และคุณค่าในสิ่งใกล้ตัว ไม่เว้นแม้แต่สิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่าง ปลวก ที่มักถูกมองเป็นตัวร้ายกัดกินบ้านเรือน แต่ในธรรมชาติปลวกเป็นแมลงชนิดสำคัญเพราะเป็นผู้ย่อยสลายในระบบนิเวศน์ ปลวกทำหน้าที่ร่วมกันกับโปรโตซัว เชื้อราและแบคทีเรีย ช่วยย่อยซากพืช เศษไม้ ใบไม้ ท่อนไม้ หรือต้นไม้ที่หักล้มร่วงหล่นทับถมกันอยู่ในป่า ถึง 3 ใน 4 ของขยะธรรมชาติ การย่อยสลายเปลี่ยนแปลงไปเป็นฮิวมัสหรืออินทรีย์วัตถุภายในดิน ทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินในป่า และเป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้ต่อไป
“ปลวกมีหลายชนิด มีทั้งที่อาศัยอยู่ในเนื้อไม้ แยกเป็นเนื้อไม้เปียก เนื้อไม้แห้ง หรือปลวกที่อาศัยอยู่ในพื้นดิน ใช้หนวดสื่อสารระหว่างกัน ยิ่งได้รู้จักปลวกก็ยิ่งรู้สึกว่าปลวกเป็นสัตว์ที่มหัศจรรย์มาก เมื่อต้นไม้ล้มโค่นลงมา ปลวกเป็นคนทำความสะอาดเป็นผู้ย่อยสลายในธรรมชาติ ทำให้เราเข้าใจระบบนิเวศน์มากขึ้น เข้าใจว่าถ้าเราดูแลน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ ไม่ใช่แค่เราที่ได้ประโยชน์ แต่ชุมชนอื่นหมู่บ้านอื่นก็ได้ประโยชน์ด้วย” น้ำฝน กล่าว ทิ้งท้าย
เราเชื่อว่าป่า ขุนเขา และธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ ลมและไฟ มีพลังงานที่มนุษย์สัมผัสได้ ไม่ว่าพลังงานที่ว่าจะถูกตีความหรือเอ่ยถึงในรูปแบบใด อาจเป็นความเชื่อ ความลี้ลับ หรือร่องรอยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ธรรมชาติยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์เสมอเพราะธรรมชาติให้ชีวิต เป็นต้นน้ำที่ให้น้ำสะอาด เป็นแหล่งออกซิเจนที่ให้อากาศบริสุทธิ์ เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ วันนี้เด็กเยาวชนบ้านตะเหมกได้ลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้ทรัพยากรธรรมชาติที่โอบล้อมตัวพวกเขา คำถาม คือ แล้วเรากำลังให้อะไรคืนกลับแก่ธรรมชาติบ้าง?…
ละติจูด หรือ เส้นรุ้ง เส้นรอยตัดระหว่างผิวโลกกับพื้นราบที่ตั้งได้ฉากกับแกนขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ โดยรอยตัดจะเป็นวงกลมที่ขนานกับเส้นศูนย์สูตร ค่าละติจูดเริ่มนับ 0 จากเส้นศูนย์สูตรไปทางเหนือ หรือใต้ ลองจิจูด หรือ เส้นแวง เส้นรอยตัดระหว่างผิวโลกกับพื้นราบที่ผ่านแกนขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ โดยรอยตัดจะเป็นวงกลมที่ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตร ค่าลองจิจูดเริ่มนับ 0 จากเมริเดียนแรกไปทางตะวันออก หรือตะวันตก |