- จากเด็กหนุ่มติสต์แตก มีบ้านเป็นร้านเกม จู่ๆ ก็ทิ้งทุกอย่างแล้วมุ่งหน้าเข้าสวนมะพร้าว
- เรื่องทั้งหมดเริ่มต้นจากความอยากเท่ตามประสาวัยรุ่น แต่พอได้ลงมือทำจริงๆ ความเท่ก็ถูกสะกดใหม่กลายเป็น ‘ศักยภาพ’
- สนใจ เรียนรู้ ลงมือทำ ผิดพลาดก็ฮึดใหม่ คือเคล็ดลับ ‘วิชามะพร้าวเผา’ – วิชานอกห้องเรียนที่ได้คะแนนเป็นประสบการณ์และชีวิตที่เปลี่ยนตลอดไป
เพราะฝันอยากมีรูปตัวเองเท่ๆ อยู่ในหนังสือกับเขาบ้าง…
นั่นคือแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ นาย-เปรมจิณณวัตร ลาภภูต หนุ่มน้อยจากบ้านทุ่งมน ตำบลห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษในปี 3
เส้นทางของนาย อาจจะดูแปลกไปจากคนอื่นๆ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ จุดเริ่มมาจากการได้เห็นรูปของเพื่อนอยู่ในหนังสือถอดบทเรียน “พลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2” เลยลองเปิดอ่านดู และพบว่าในหนังสือมีเรื่องราวสนุกๆ จนรู้สึกอยากลงมือทำโครงการกับเขาบ้าง จึงตัดสินใจถามข้อมูลจากตุ้ยนุ้ย-หนึ่งในเพื่อนที่อยู่ในหนังสือ และตบปากรับคำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม
นายยอมรับว่าเดิมเป็นคนโลกส่วนตัวสูง ไม่สนใจใคร ไม่เว้นแม้กระทั่งคนในครอบครัว กลับจากโรงเรียนก็จะรีบเข้าบ้าน เปิดทีวี เล่นเกม วันไหนวันหยุดก็ขับรถเข้าร้านเกมทันที จะให้มาสนใจคนรอบข้างบอกได้เลยว่า – ไม่มี
วิชามะพร้าวเผา
หนทางสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียนเกิดขึ้นจากการทำโครงการเพื่อชุมชน ชื่อว่า ‘โครงการมะพร้าวเผาของดีประจำหมู่บ้านทุ่งมน’ ร่วมกับเพื่อนๆ ในทีม
อยากทำเรื่องมะพร้าวเผา แต่ไม่มีใครมีความรู้เรื่องนี้เลยสักคน ทำอย่างไรถึงจะรู้…
คำตอบที่ได้คือ ต้องพาตัวเองไปเรียนรู้…นายและเพื่อนลงพื้นที่ สอบถามข้อมูลจากคนในชุมชน ไปพบปะผู้คนที่ทำสวนมะพร้าว สำรวจจำนวนมะพร้าวสวนในชุมชน ราคาขายของมะพร้าวเผา รวมถึงเทคนิคการเผามะพร้าว
นายอาสาทำหน้าที่สำรวจจำนวนต้นมะพร้าว เพราะคิดว่าน่าจะง่ายที่สุด
“ตอนนั้นผมอาสาทำหน้าที่นี้ เพราะคิดว่าคงไม่ยาก แค่เดินเข้าไปในบ้านที่เขามีต้นมะพร้าวแล้วไปขอนับต้นมะพร้าว ตอนนั้นรู้สึกสนุกที่ได้เข้าไปบ้านโน้น ออกบ้านนี้”
จากคนที่ไม่เคยสนใจใคร เมื่อต้องเข้าไปนับต้นมะพร้าวของบ้านแต่ละหลัง ทำให้นายค่อยๆ พาตัวเองเข้ามาใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่ตื่นเช้ามาเข้าร้านเกมก็เปลี่ยนมาเป็นเข้าสวนมะพร้าวแทน จากคนมีโลกส่วนตัวสูงก็เริ่มเดินออกจากโลกของตัวเอง เข้ามาพูดคุยกับลุง ป้า น้า อารอบบ้านมากขึ้น
ต่อมาเมื่อสืบค้นจนทราบขั้นตอนการทำมะพร้าวเผาตามแบบฉบับของชุมชนทุ่งมนแล้ว ด้วยความร้อนวิชา ทำให้สมาชิกทุกคนในทีมอยากลองเผามะพร้าวด้วยตัวเอง แต่ก็ล้มไม่เป็นท่า การทำมะพร้าวเผาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
คว้าน้ำเหลวจนสำเร็จ
“ผมต้องปีนเก็บลูกมะพร้าว ครั้งแรกลูกมะพร้าวร่วงมาแตกเกือบหมด แทบจะใช้ไม่ได้เลย จนมารู้เทคนิคว่าก่อนตัดต้องเอาเชือกผูกไว้ก่อน หลังจากตัดเสร็จค่อยๆ ปล่อยเชือกลงมา เพื่อลดแรงกระแทกของมะพร้าว”
ไม่ใช่เพียงแค่การเก็บมะพร้าวที่ต้องมีเทคนิค แต่ทุกขั้นตอนของการเผามะพร้าวพวกเขาต้องค่อยๆ เรียนรู้ไป ผิดบ้าง ถูกบ้าง ขั้นตอนที่ไหนที่ผิดพลาดไปก็ค้นหาเหตุผล จนค่อยๆ แก้ไขไปทีละขั้นตอน ทั้งสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต เช็คความถูกต้องจากคนทำมะพร้าวเผาจริงๆ ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาทดลองทำด้วยตัวเองเพื่อค้นหาคำตอบ
จากคนที่ไม่เคยมีทักษะในการเผามะพร้าวเลย ไม่รู้แม้กระทั่งสายพันธุ์ของมะพร้าว แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าจะถามอะไร ขั้นตอนไหน นายและเพื่อนในทีมตอบได้หมด
นานาแบบฝึกหัดนอกห้องเรียน
ไม่ใช่เพียงแค่การลงมือทำโครงการในชุมชนเท่านั้นที่กระตุ้นให้นายเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง แต่กิจกรรมเวิร์คช็อปโดยพี่เลี้ยงโครงการพลังเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษที่ออกแบบให้เยาวชนทุกทีมต้องนำเสนอผลงานของตนเองคือหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นายกลายเป็นคนกล้าพูด กล้านำเสนอ
“เหตุผลที่เรายอมลุกออกมาจากพื้นที่ส่วนตัว เพราะเห็นว่าเพื่อนบางคนพูดไม่ได้ ไม่กล้าพูด เพราะยังเขินอาย แต่สิ่งที่ทำให้ผมกล้าพูด คือ เรารู้ข้อมูล เราเลยไม่กลัวที่จะลุกออกไปพูดหน้าเวที”
ความเปลี่ยนแปลงของนายยิ่งฉายแววชัดเจนยิ่งขึ้นในงานมหกรรมหนังกลางแปลงที่เขาและเพื่อนๆ ได้นำสารคดีเกี่ยวกับมะพร้าวเผาบ้านทุ่งมนฝีมือตัวเองไปเปิดให้คนในชุมชนได้รับชม
“วันนั้นผมไม่คิดว่าตัวเองจะทำได้ ตอนแรกก็หวั่นใจกลัวว่าคนที่เข้ามาชมนิทรรศการในบูธของเราจะถามอะไรเราบ้าง จะตอบได้ไหม แต่พอถึงเวลาจริงๆ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าความกล้าของผมมาจากไหน ผมทักทายผู้คนที่แวะเวียนเข้ามาดู หยิบใบแนะนำโครงการให้คนที่เข้ามาชม พูดคุยกับเขา ตอบคำถามได้หมดเลย”
จากเด็กชายคนหนึ่งที่ไม่สนใจโลกภายนอก ชีวิตอยู่แค่ในโลกของเกมออนไลน์ แต่เมื่อเขาได้ทำโครงการในชุมชนกลับพบว่า โลกความเป็นจริงสนุกกว่าโลกในเกมเป็นไหนๆ การได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ได้ลงมือทำจากสิ่งที่ไม่รู้จนเกิดเป็นความชำนาญ ส่งผลให้นายในวันนี้กลายเป็นคนที่มีความรู้ในเรื่องมะพร้าวเผาทุ่งมนไปโดยปริยาย
“ส่วนหนึ่งเพราะมีโอกาสได้ลงมือทำ เหมือนที่โครงการพาให้เราได้ลองทำ ได้ลองพูด เราเลยรู้ว่าเราจะต้องทำอะไร พูดอย่างไร ยิ่งได้พูดในหลายๆ เวทีก็ยิ่งทำให้ตัวเองกล้าขึ้น ”
สู้ต่อไปนะนาย!