- Cultural Ecology เครื่องมือทางศิลปะที่แสนทรงพลังในการจับมือคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันทั้งในฐานะของผู้เล่นและผู้ชม เสกคาถาให้คนเหล่านั้นเท่าทันรากฐานโบราณของตัวเองและไปด้วยกันได้อย่างร่าเริงกับความร่วมสมัยของตัวละครที่เหลือในโลก
- ง่ายที่สุดคือการอธิบายว่าเป็นครูอุ๋ย ศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง ครูละครที่เรียนศิลปะการละครเพื่อทำอย่างอื่น ละครเร่เพื่อพัฒนาไมตรีในสังคม เข้าใจชุมชน สร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมผ่านละครร้อยแปดรูปแบบจนยึดหลัก Cultural Ecology หรือนิเวศวิทยาวัฒนธรรม เพื่อสร้างการวิพากษ์ในโลกจริงที่สมาชิกในสังคมสนุกกับชีวิต และเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนได้โดยที่ไม่มีใครทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่
- ในพาร์ทของครูอุ๋ยเอง เธอเป็นตัวละครในสังคมโลกที่อยากใช้ละครเพื่อสร้างคนและระบบนิเวศน์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เพราะคิดว่ามันเป็นเครื่องมือทางศิลปะที่แสนทรงพลังในการจับมือคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันทั้งในฐานะของผู้เล่นและผู้ชม เสกคาถาให้คนเหล่านั้นเท่าทันรากฐานโบราณของตัวเองและไปด้วยกันได้อย่างร่าเริงกับความร่วมสมัยของตัวละครที่เหลือในโลก
เรื่องราวมันอาจจะเริ่มง่ายๆ มาจากตอนที่เด็กหญิงพรรัตน์ ดำรุง ตัวจิ๋วได้จับมือตัวการ์ตูนใส่รองเท้าสเก็ตจริงๆ ใน Holiday on Ice สมัยก่อน แล้วเกิดความทรงจำว่าละครสามารถสร้างความรู้สึกอิ่มเอมในหัวใจได้ หรือเป็นตอนที่นั่งเย็บชุดละครอย่างบ้าคลั่งอยู่หลังเวทีละครตอนเรียนวิชาละครที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าตัวบอกว่าทำงานถึกเยี่ยงทาส แต่ก็ไม่เคยบ่นเพราะมีความสุขมาก หรือไม่ก็ตอนเรียนปริญญาโทด้านการบริหารการศึกษาแบบเรียนไปร้องไห้ไปที่มหาวิทยาลัย NSU ที่รัฐหลุยเซียนา สหรัฐอเมริกา จนไปลงเรียนการละครซึ่งเป็นวิชาโทในปริมาณที่มากกว่าวิชาที่ตั้งใจไปเรียน
“ภาควิชาศิลปการละครดึงดูดเราเข้าไป หลังโรงละครฝึกให้เราเป็นนักปฏิบัติ เย็บผ้า ทำหุ่น ทำฉาก เรารู้สึกว่าเรามีความเป็นส่วนตัวในการทำงานหลังฉาก แต่เราก็ไม่ได้โดดเดี่ยวเพราะเราเย็บชุด ทำฉาก เราเพนท์สีเพื่อช่วยงานใครสักคนหนึ่ง เราชอบวาดรูป ชอบประดิษฐ์ พอใช้ทักษะนี้แล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าเราสนุก มีพื้นที่ปลอดภัยให้แสดงออก เรามีส่วนเล็กๆ ในการทำงานใหญ่ และงานที่ทำก็มีคนเห็น มีคนชอบ ถือว่าเป็นการออกสื่อแบบหนึ่ง”
จะบอกว่าโลกนี้คือละครก็ไม่ผิด เพราะครูอุ๋ยวนเวียนอยู่กับโรงละคร คณะละครหุ่นเล็กๆ โดยมีงานหลักคือ เขียนบท สร้างหุ่น สร้างสรรค์ฉากหุ่น ให้ตัวละครแปลกประหลาดในนิทานสำหรับเด็กมีชีวิตขึ้นมา วาดภาพ ประดิดประดอยอุปกรณ์ประกอบฉากนับตั้งแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากครูแอ๋ว หรือ รศ.อรชุมา ยุทธวงศ์ ครูคนแรกๆ ผู้แนะนำให้รู้จักละครสร้างสรรค์และบุกเบิกงานละครสำหรับเด็กและเยาวชนในช่วง พ.ศ. 2516 -2522
ที่สำคัญคือครูแอ๋วเป็นผู้ก่อตั้งและผู้จัดรายการ “หุ่นหรรษา” ที่ออกอากาศแบบสดทางช่อง 4 บางขุนพรหม และเป็น influencer ทางใจในช่วงเวลาที่ครูอุ๋ยคิดไม่ตกว่าอยากเป็นครูหรือนักการละครในช่วงเรียนปริญญาโทอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
จิตวิญญาณครูและเชื้อไฟจึงถูกเติมอยู่ไม่เคยขาด ครุศาสตร์ฝึกฝนให้ครูมีระบบคิดในเชิงสังคมศาสตร์ด้วยปริญญาในฐานะนักการศึกษา องค์ความรู้ตะวันตกสร้างคอนเซปต์การสอนละครที่แตกต่างจากความรู้ในสาขาวิชาการละคร (Drama/ Theatre Studies) จะใช้กิจกรรมละครอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการพูดคุยสื่อสารกับเพื่อนๆ สนุกกับการเรียนปนเล่น ร้อง เต้น เล่นเป็นละคร
เมื่อกลับมาที่ประเทศไทย ครูอุ๋ยจึงตะลุยทำรายการหุ่นหรรษาร่วมกับครูแอ๋วในฐานะคนเขียนบท คนออกแบบและสร้างสรรค์ฉากและหุ่นในแต่ละตอน เป็นครูพิเศษสอนการละครที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จากนั้นจึงกลับมาร่วมทัพกับครูแอ๋วที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพื่อสอนวิชาใหม่ในยุคนั้น ได้แก่ ละครในการศึกษาช่วยงาน พานิสิตไปลงพื้นที่ทำละครเร่ในต่างจังหวัดในนามละครเร่อักษรศาสตร์
ปรุงรสชาติการละครให้ถึงใจผู้ชม ประยุกต์ด้วยการเหยาะส่วนผสมจากภูมิรู้ตะวันตกลงไปในความเป็นไทยจนกลายเป็นคลาสเท่ๆ ที่มีเวทีเป็นชุมชนและคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้น สร้างละครเวทีให้เหมาะกับวัยที่แตกต่าง เด็ก ทำให้ “ละคร” เป็น “เพื่อนสนุก-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ไม่สอนสั่ง”
“ครูว่าครูมีความเป็นลูกผสมในทุกเรื่องและมีรสนิยมบางอย่างที่อยากจะเข้าใจคนไทย ด้วยความที่ครูไม่ได้เรียนที่จะเป็น Theatre director ที่สร้างผลงานแล้วนำเสนออยู่ในโรงละคร แต่ได้เข้าไปหาชุมชน สำรวจว่าใครเป็นหัวหน้าชุมชน พระ คุณครูที่นี่แข็งแรงไหม ดังนั้น ทั้งหมดนี้เป็นความรู้ทางสังคมที่ทำให้เราต้องคิดด้วยว่าละครของเราจะสนุกไหม มีอะไรบ้างที่จะทำให้ผู้ชมของเราสนุกไปกับสิ่งที่เราทำ
ดังนั้น ความรู้ของเราคนเดียวมันไม่เวิร์ค เพราะต้องเก็บรวบรวมทักษะหรือเรื่องราวอื่นๆ ในชุมชนด้วย ละครคือการทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่เราจะเลือกใครมาช่วยงานเราล่ะ อะไรคือความทุกข์ หรือปัญหาความขัดแย้งในใจเขา แล้วเราอยากจะเล่าอะไรให้เขาฟังแต่เป็นละครพื้นบ้านที่มีรากมาจากเขาและถูกตีความใหม่ นิทาน-และเรื่องพื้นบ้านจึงเป็นข้อมูลที่คนนอกสามารถมองเข้าไปในชุมชน นิทานก็จะถูกตีความใหม่อีกครั้งโดยมีที่ทางในการวิพากษ์ วิจารณ์ จากมุมมองที่แตกต่างออกไป”
ย้อนความกลับไป เด็กหญิงพรรัตน์ ดำรุง บอกว่าตัวเองโตมาจากความเป็นลูกผสม เป็นเด็กกรุงเทพฯ ที่โตมาพร้อมกับลิเกที่ยายดูและชุมชนช่างของการรถไฟไทยที่ย่านมักกะสัน แต่มีพ่อแม่ที่ใฝ่ใจการศึกษาจึงส่งเสริมให้เรียนในโรงเรียนคอนแวนต์ที่เธอต้องร้องเพลงในโบสถ์ เติบโตในวัฒนธรรมแคทอลิกที่มีเพื่อนหลายคนมาจากชุมชนพ่อค้า นักธุรกิจย่านเยาวราช เมื่อสอบเอ็นทรานซ์ผ่านเข้าไปเป็นสาวอักษรฯ จุฬาฯ ก็เป็นปัจเจกที่สนใจการเมืองทั้งในยุคของ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ
นิยามการเป็นครูของศาสตราจารย์พรรัตน์ ดำรุง จึงลื่นไหลและหลากหลายไปตามหัวใจวัยรุ่นของเธอเอง เป็นอาจารย์ที่ภาควิชาศิลปการละครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เกษียณอายุในปี พ.ศ. 2558 และตามหาตัวเองในบทที่ต้องเล่นต่อ ที่ยังไม่สิ้นสุด โดยการเป็นเมธีวิจัยอาวุโส (สกว.) 2559 ภาคีราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม 2561 และศาสตราจารย์วิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2562
ง่ายที่สุดคือการอธิบายว่าเป็นครูละครที่ “ทำละครเพื่อคนอื่น” ละครเร่เพื่อพัฒนาไมตรีในสังคม เข้าใจชุมชน สร้างระบบนิเวศน์ทางวัฒนธรรมผ่านละครร้อยแปดรูปแบบจนยึดหลัก Cultural ecology หรือนิเวศวิทยาวัฒนธรรม เพื่อสร้างการวิพากษ์ในโลกจริงที่สมาชิกในสังคมสามารถสนุกกับชีวิต อยู่ร่วมกันกับสรรพสิ่งทั้งในโลกของ ละคร การแสดง และการวิพากษ์ในโลกความเป็นจริงได้
นิเวศวิทยาวัฒนธรรมเป็นแนวคิดทางมานุษยวิทยาที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับวัฒนธรรม ว่ารูปแบบของโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมและจักรวาลวัฒนธรรมนั้นๆ
ในมุมมองเชิงมานุษยวิทยา จูเลียน สจ๊วต นักมานุษวิทยาชาวอเมริกันเชื่อว่า วัฒนธรรมจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ เขาศึกษากลุ่มชุมชนที่ยังใช้ชีวิตในวิถีดั้งเดิม และเห็นว่าผู้คนเหล่านั้นปรับใช้ทรัพยากรล้อมรอบเพื่อการมีชีวิตรอดอย่างไร สร้างเงื่อนไข ประเพณี และความเชื่อเพื่อให้ชุมชน สังคมของตนอยู่ได้อย่างเหมาะสมในสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ
ไม่มีมนุษย์คนใดที่ไม่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมใด และวัฒนธรรมเองก็เป็นชิ้นส่วนหนึ่งของปัจเจกที่จะสื่อสารเรื่องราวของตัวเองต่อสังคมโลกได้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ จึงเป็นปัจจัยสำคัญและลึกซึ้งในการที่จะพัฒนาชุมชนไปได้อย่างยั่งยืน
นิเวศวัฒนธรรมในแบบของครูอุ๋ยเป็นนิเวศวัฒนธรรมทางศิลปะที่มีความเชื่อมโยงกับนโยบายแห่งรัฐ หรือเมือง โดยมีหลักคิดว่าศิลปะ-วัฒนธรรมเปรียบเสมือนกับระบบนิเวศ และมีคุณค่ามหาศาลต่อมนุษย์ ให้ชีวิต ความภาคภูมิใจและความรื่นรมย์ เป็นทั้งกระบวนการ เครื่องมือ และผลผลิตในการพัฒนา ผู้คน ชุมชน และสังคมอย่างยั่งยืน”
ในพาร์ทของครูอุ๋ยเอง เธอก็เป็นตัวละครในสังคมโลกที่อยากใช้ละครเพื่อสร้างคนและระบบนิเวศทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้ศิลปะ-วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ในรั้วและนอกรั้วมหาวิทยาลัยเพราะคิดว่ามันเป็นเครื่องมือทางศิลปะที่แสนทรงพลังในการจับมือคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันทั้งในฐานะของผู้เล่นและผู้ชม เสกคาถาให้คนเหล่านั้นเท่าทันรากฐานโบราณของตัวเองและไปด้วยกันได้อย่างร่าเริงกับความร่วมสมัยของตัวละครที่เหลือในโลก
เริ่มง่ายๆ จากเรื่องเล่า นิทาน จินตนาการที่เป็นความทรงจำร่วมของชุมชนนั้นๆ จับมือทำความรู้จักกับตัวเองว่าเป็นใคร อัตลักษณ์พลิกแพลงมาอย่างไรตั้งแต่เริ่มหายใจบนโลก แล้วคุณค่าเล็กๆ ตรงนี้จะสามารถสร้างสำนึกทางสังคมและระบบนิเวศแห่งความอบอุ่นได้ในปลายทางของโลกที่ก้าวขาที่ไม่รอใคร
Cultural ecology คืออะไร เชื่อมโยงกับการทำละครอย่างไร
คำว่า Cultural Ecology คือ การสร้างพื้นที่ดีๆ ที่ทำให้ศิลปะได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้คนได้ และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เน้นให้มีกิจกรรมทางศิลปะ-วัฒนธรรม สร้างละคร-การแสดงที่เชื่อมต่อผู้คนต่างหน้าที่ ต่างความคิดในชุมชนนั้นๆ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ กิจกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงกับการละครแบบง่ายๆ ตรงที่เราสามารถใช้กระบวนวิธีของละครมานำเสนอในพื้นที่ร่วมสมัยที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายๆ เป็นผลงานละครที่สัมพันธ์กับการพัฒนาผู้คนให้มีประสบการณ์ด้านการละครที่แตกต่าง หรือนำเสนอศิลปะแบบดั้งเดิมในเงื่อนไขใหม่ๆ ทำให้เกิดการวิพากษ์ วิจารณ์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกันในชุมชน
ถ้าเราเห็นคุณตาแก่ๆ ที่ทำหมอลำมาตลอดชีวิต เป็นศิลปินพื้นบ้าน ถึงเขาจะเป็นเกษตรกรที่เลี้ยงหมูอยู่ แต่เราเข้าใจในทักษะหรือสิ่งที่เขาฝึกฝนมาตลอดชีวิตหรือเคารพเขาไหม เราจะใช้ความรู้ของเขาอย่างไรเพื่อเล่าเรื่องที่เป็นสมัยใหม่ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้คือการทำงานร่วมกันและเคารพกัน เราต้องนับถือภูมิรู้ที่แตกต่างจากเรา ทำความเข้าใจ พูดคุยในละครหรือพื้นที่ใหม่ แล้วก็ทำความเข้าใจคนดูว่าคือใคร ถ้าคิดแบบนี้ก็จะเรียกได้ว่าเป็นสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม เราจะเป็นทั้งผู้ที่สร้างสรรค์ทำงาน และผู้ที่สร้างการเชื่อมโยง มีแพลตฟอร์มในการพูดคุยกัน แล้วเราก็สามารถที่จะนำเสนอความคิดที่เป็นความดีงามโบราณ แต่นำเสนอวิธีเล่าใหม่หรือแตกต่าง
ทำไมต้องเป็น ecology แบบโบราณ
ก็เพราะพื้นที่ที่ครูอยู่เป็นพื้นที่สมัยใหม่ มีแต่คนทันสมัย ล้ำไปสู่อนาคต มีความเป็นสากลและเป็นพื้นที่ธุรกิจการค้า เลยอยากนำเสนองานการแสดงที่แตกต่าง เรื่องแบบโบราณที่คนรุ่นเก่าต้องการถ่ายทอดสื่อสารโดยใช้ทักษะความรู้แบบตะวันตกมาช่วยสนับสนุน
แพลตฟอร์มของการทำงานศิลปะที่มหาวิทยาลัยที่ใช้ทักษะหรือภูมิรู้ของศิลปินโบราณมันจะสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ หรือสร้างเรื่องซึ่งมีความเป็นลูกผสมและ critical thinking (ความคิดเชิงวิพากษ์) ให้กับผู้ชมได้ ครูหลายคนโตในเมืองแล้วได้โอกาสไปเมืองนอกมีความรู้ที่เป็นสากลแต่ทำไมถึงไม่คิดจะเรียนรู้จากชาวบ้านที่เป็นครู ผู้ที่ตลอดชีวิตมีความรู้ในศิลปะและทักษะของท่าน
อย่างในชีวิตของครู ครูอยู่ในหอคอยงาช้างมาตลอดซึ่งก็คือมหาวิทยาลัย แล้วคนในมหาวิทยาลัยก็ถือเป็นคนที่มีโอกาสดีกว่า สิ่งที่สังคมเราขาดก็คือการเชื่อมต่อกับโลกของชุมชน
เมื่อเราได้แพลตฟอร์มที่มีบรรทัดฐานจากศิลปะที่เป็นของโบราณ ผสานกับศิลปะในโลกปัจจุบันที่คนหลายคนเสพ แล้วจะสามารถสร้างเป็นตัวตนของชุมชนเรา Cultural Ecology จึงจะเกิดเพราะผู้คนโดยรอบ แล้วศิลปินท้องถิ่นก็จะเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้โดยที่ไม่ต้องจบปริญญา เป็นผู้ให้ความรู้กับวัยรุ่นได้ ผลที่ตามมาคือจะเกิดเด็กลูกผสมที่เข้าใจทั้งละครร่วมสมัย ละครตะวันตก การใช้ critical mind รวมไปถึงการร้องเพลงโบราณ คุณค่าของชาติพันธุ์ซึ่งเด็กแต่ละคน จะติดสติปัญญาให้เกิดภูมิรู้ว่าฉันมาจากไหน ฉันเป็นใคร
ถ้าคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องคิดถึงเรื่องโบราณเพราะโลกมันก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ
การที่เราจะหลากหลายกับคนในโลกได้ เราต้องรู้จักตัวเองก่อน แต่การรู้จักตัวเราเองนั้นไม่ต้องกลับไปสู่เรื่องโบราณอย่างเดียว ระบบการศึกษาจะต้องเปิดให้เกิดการรู้จักตัวเอง เช่น มันจะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถร้องแร็พโดยใช้สำเนียงอีสาน สำเนียงเหนือ สำเนียงใต้ หรือสำเนียงอื่นๆ ที่บ้านเรามี
เราเป็นชาติที่มีความเก๋า มีศิลปวัฒนธรรมที่แข็งแรง ดีงาม และแตกต่าง ศิลปะการเล่าแบบเก่า หรือการร่ายรำ ดนตรีแบบเดิมๆ เป็นความทรงจำร่วมกันของชุมชนจะทำให้เราเข้าใจเจ้าของเรื่อง รู้ว่าเราเป็นใคร ทำไมต้องร้องด้วยภาษาแบบนี้ ศิลปะโบราณทำให้เรามีทักษะที่แตกต่างและเป็นคนที่ไม่เหมือนใคร
ครูคิดว่าคนที่จะทำให้ Cultural Ecology มีประสิทธิภาพอย่างชัดเจนคือคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับการสร้างสรรค์งานซึ่งใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือแล้วเชื่อมต่อกับคนที่แตกต่างจากเรา มันเลยสำคัญว่าเรารู้จักตัวเราไหม เรามีภูมิรู้อะไร ถ้าภูมิรู้ของเราเป็นภูมิรู้สากล มันก็จะเหมือนกันไปหมด แต่ถ้าเรารู้จักความรู้ที่เป็นชาติพันธุ์ของเรา เราก็มีสิ่งที่จะไปแลกเปลี่ยนหรือเชื่อมต่อได้
ทำอย่างไรให้คนในชุมชนทันสมัยไปกับเราด้วย เราจะเล่าเรื่องเก่าๆ และเรื่องใหม่ๆ อย่างไร ให้มันตอบโจทย์ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในชุมชนในวันนี้
ดังนั้น ครูเห็นว่ามหาวิทยาลัยหรือระบบการศึกษาของเราควรออกแบบให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจตนเองและชุมชน ไม่ใช่เรียนไปเพื่ออยู่ในกรอบอะไรบางอย่างที่เป็นกรอบของอำนาจ ครูมีอำนาจที่จะสั่งการ ซึ่งมันระบาดในระบบ แต่กิจกรรมทางศิลปะ กีฬา ละคร มันทำให้คนอ่อนโยนลง ทำให้คนใช้ศิลปะซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่แม้จะเป็นเรื่องบ้านๆ อย่างดนตรีหมอลำ สิ่งเหล่านี้ทำให้กลับไปสู่ความรื่นรมย์ แล้วมันก็ทำให้คนเราสามารถพูดคุยหรือแม้กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์กันได้ผ่านกิจกรรมทางศิลปะ
การใช้ละครเพื่อนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์สำคัญอย่างไร
จุดตั้งต้นของการฝึกละครคือการสร้างพื้นที่ให้เกิดการสื่อสาร รับฟังแลกเปลี่ยน เราจะนั่งกันเป็นวงกลม ที่ทุกคนได้มองเห็นหน้ากัน พูดคุย เท่าทียมกัน คนในวงกลมจะแสดงความคิดเห็นกันตรงๆ แต่คนสร้างงานก็มีสิทธิจะเห็นต่างกัน ไม่ปรับแก้ เพราะเป็นสิทธิของเขาในการพัฒนางานของตน
การใช้ละครเป็นวิธีทางธรรมชาติด้วยซ้ำ เพราะบางครั้งไม่ได้มีบทหรือมีบทให้นิดหน่อย ที่เหลือมันเปิดพื้นที่ให้เราสบายใจที่จะพูด ความเป็น top-down มันจะหายไป เราจึงสามารถมีความเป็นกันเองและมีความเท่าเทียมกันได้ มีความเป็นประชาธิปไตยแบบที่ไม่ต้องสอนประชาธิปไตย
ทุกคนพูดได้อย่างเท่าเทียมกัน มีกฎระเบียบสั้นๆ นิดหน่อยวางไว้ คนนี้พูดก่อน คนนี้ฟัง เพราะฉะนั้นกิจกรรมของละครมันเชื่อมต่อกับสิ่งเหล่านี้ถ้าเราประยุกต์มันในวิถีชีวิต ในระบบการศึกษา มันเชื่อมตัวเรากับคนที่เราทำงานด้วยแล้วมันก็ขยับไปที่ชุมชน ใช้ศิลปะเป็นตัวเชื่อมแล้วค่อยลองทำงานด้วยกัน การวิพากษ์ เป็นการส่องทาง สื่อสารความคิดต่าง เช็คว่าสิ่งที่เราทำชัดเจนไหม บ้านเราต้องการพื้นที่ในการแสดงความเห็นที่แตกต่าง
รูปแบบของละครที่จะสร้าง ecology ที่ดีต้องเป็นไปอย่างไร
เป็นละครรูปแบบไหนก็ได้ แต่ทุกช่วงกระบวนการต้องมีการสื่อสาร ช่วยกันแสดงความเห็นและแก้ปัญหา พื้นที่ของละครทั้งหน้าฉากและหลังฉากล้วนเป็นพื้นที่อิสระที่ต้องมีวินัยกำกับ และทุกคนต้องยอมรับนับถือวินัยนั้นร่วมกัน ละครแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วมและไม่ได้มุ่งหวังให้ใครเป็นศิลปิน นักแสดง แต่หวังให้มีการ สื่อสาร พัฒนาทักษะ และเกิดการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันโดยเชื่อว่าทุกคนในกลุ่มมีศิลปะในเนื้อในตัว ให้พื้นที่กับผู้คนได้ใช้ศิลปะ และเราต้องเชื่อในศิลปะ เพราะศิลปะทำให้อ่อนโยน
แต่ศิลปะที่ใช้ใน Applied Theatre(ละครประยุกต์) หรือ Cultural Ecology มันจะไม่ได้เข้มข้นที่พุ่งไปสู่เส้นทางของความทรหดและการฝึกฝีมือ แต่ศิลปะในวิถีที่ทำเพื่อให้เกิดความรื่นรมย์ พูดคุย ร้องรำทำเพลงได้ ดังนั้นจะร้องเหน่อ แหบ คาราโอเกะก็ทำได้ ใช้ภาษาสนุกได้ แต่ขณะเดียวกันจะต้องบวกกับ Critical Thinking ด้วย
ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ดูง่าย ย่อยง่าย สื่อสารด้วย แต่ในความเป็นจริง คนที่จะเอาสิ่งนั้นมาทำจะต้องผ่านการวิจัย แทบจะต้องเป็นนักวิจัยเลย จึงจะทำสิ่งนั้นออกมาให้เวิร์ค
เราต้องเป็นนักวิจัยตลอดชีวิต มีองค์ความรู้เรื่องการจัดการชุมชนและความรู้เรื่องศิลปะ สำหรับละคร กระบวนการบางเรื่องก็ย่อยง่าย บางเรื่องสะเทือนใจ บางเรื่องพูดความจริงที่ทุกคนไม่กล้าพูดในวิถีปกติแต่เป็นความจริงในใจ ที่รับรู้ร่วมกัน การแสดงบางโครงการก็เป็นเพียงการนำเทคนิคของละครมาใช้เพื่อสื่อสารระหว่างผู้ร่วมกิจกรรมเพื่อทำให้เขาเข้าใจตน รู้ปัญหา
ดังนั้น ถ้าให้สรุปคือ Cultural Ecology เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ในพื้นที่ชายขอบมากๆ เล็กมากๆ แต่ทำให้คนสามารถเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของโลก ที่กำลังดำเนินไป แบบนี้ได้ไหม
คำว่า ชายขอบ ไม่น่าใช่ แต่คำว่า “ชุมชน- พื้นที่–เฉพาะพื้นที่ “น่าจะเป็นคำที่ใช้ในบริบทของนิเวศวัฒนธรรมได้ดีกว่า คำว่า “ชุมชน” “ชาวบ้าน” ก็ไม่ได้แปลว่า ชนบท ชายขอบ แต่อาจหมายถึงชุมชนเมือง เช่น โครงการนิเวศวัฒนธรรมทางศิลปะการแสดงของจุฬาฯ ที่สนใจการทำให้เกิดพื้นที่สำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ
โครงการวิจัยที่ทำอยู่ ใน cluster ศิลปวัฒนธรรมจึงต้องการทดลองสร้างพื้นที่ที่ไม่มีใครใช้โดยใช้ศิลปะ-การแสดงเป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน แนะนำว่ามาดูละครในพิพิธภัณฑ์ก็ได้นะ เราลองสร้างเงื่อนไขใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และกลวิธีที่แตกต่างในการเสพศิลปะ
เช่น เทศกาลชีวิตกับการแสดง LIFE | Performance เรานำเสนอทั้งพื้นที่จริงรอบๆ จุฬาฯ และพื้นที่เสมือนผ่านเพจ Ppar เทศกาลเคยนำเสนองิ้วไทยที่อุทยาน 100 ปี ของจุฬาฯ และเปิดการแสดงมโนราห์ที่ Lido Connect ทั้งหมดนี้ เป็นตัวอย่างในการนำงานแบบขนบให้มาอยู่ในพื้นที่ใหม่ ทำให้คนหลายรุ่นได้ชมงิ้วร่วมกัน โดยไม่ต้องไปศาลเจ้า ที่สยามสแควร์ ได้เห็นม็อบโนราห์ มีวัยรุ่นที่ร่ายรำแบบขนบได้แข็งแรง ทำให้คนที่ไม่เคยดูได้ซึมซับความงามที่แตกต่าง หรือครูเคยนำงิ้วแต้จิ๋วแต่ร้องไทยไปเล่นในพื้นที่ชนชั้นกลางที่อุทยาน 100 ปีฯ ชวนอาม่า อากง ของอาจารย์และลูกศิษย์แถวนั้นมาชม
นี่คือการเอาของโบราณมาเล่นในพื้นที่ใหม่ เช่น Lido connect ซึ่งมีเด็กใส่ชุดคอสเพลย์เดินกันเยอะ แต่จู่ๆ เรามารำโนราห์เฉยเลย หรือครูจัดงิ้วในสวนที่เล่นนอกเทศกาลงิ้ว มีคนที่ไม่เคยดูงิ้วเลยแต่พาคุณแม่มาดู ตัวเขาไม่รู้ภาษาแต้จิ๋ว เลยเป็นครั้งแรกที่เขาได้ดูงิ้วที่ร้องเป็นภาษาไทยในสวนแล้วรู้สึกประทับใจ เพราะเป็นภาษาไทยที่ร้องแบบงิ้วและร้องในสวนซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นการเล่นเพื่อถวายเจ้า มันเป็นกิจกรรมที่เขาดูด้วยกันได้ อยู่ร่วมกันได้
เราเลยได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่ นุ่งกางเกงยีนส์ใส่เสื้อยืดรำโนราห์กลางสยามสแควร์ โนราห์ไม่ใช่ของคนแก่ จะคนปักษ์ใต้จะคนกรุงเทพฯ เขาก็รำกัน ซึ่งสร้างความน่าตื่นเต้นไปอีกเพราะไปยึดพื้นที่ของโลกสมัยใหม่ กรุงเทพฯ ต้องมีพื้นที่และกิจกรรมที่เชื่อมระหว่างคนหลายรุ่นวัยรุ่นวัยเรียนไม่ได้จำเป็นต้องเกาหลี คอสเพลย์ญี่ปุ่นเท่านั้น
จริงๆ แล้วเขารำกันสวยมาก ท่ารำงดงาม เราไม่เคยเห็นแบบนี้ในพื้นที่ร่วมสมัย รถเมล์ถึงกับจอดดูเลย เป็น Event ที่ถ้าเรามาพินิจพิเคราะห์ต่อได้ว่ามันสร้างอะไรบ้าง
เราสามารถบอกว่ามันเป็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมได้ไหม
มันเป็นการพัฒนาพื้นที่ทางศิลปะ-วัฒนธรรมเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนดีขึ้น เช่น ลองทำให้เมืองหรือพื้นที่รอบชุมชนจุฬาฯ เป็นพื้นที่ทางศิลปะที่มีความแตกต่าง เกิดปรากฏการณ์การแสดงที่หลากหลาย เพราะศิลปะ เช่น ลิเก โนราห์ งิ้ว มันหายไปจากเมืองใหญ่ หรือแอบอยู่ในพื้นที่แบบเก่า ดังนั้น เราเลยลองนำงานศิลปะแบบเก่ามานำเสนอนอกเวลาตามแบบแผนและพื้นที่แบบเดิมเพื่อยืนยันว่าคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานแบบเก่าๆ ก็มีอยู่ เราต้องให้พื้นที่เขาด้วย
มันเป็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมแน่ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยเมื่อ 20 ปีก่อน แต่มันมีพัฒนาการเพราะว่า UN ประกาศนโยบายมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Culture Heritage) โดยมีจุดประสงค์คือ ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่หลากหลายในท้องถิ่น เพราะวัฒนธรรมเล็กๆ กำลังจะตาย UN เลยพยายามส่งเสริมให้ชาติที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมกลับไปฟื้นฟูอัตลักษณ์หรือว่าเอกลักษณ์ของชุมชนของคนในวัฒนธรรมนั้นๆ สิ่งที่ทำให้คนเรารู้ว่าเราหลากหลายนะเว้ย เรามีวัฒนธรรมเหนือ อีสาน โน่นนี่ มันแค่ถูกแบ่งแยกด้วยพรมแดน
อย่างไทยคือมีความเป็นชนชั้นของศิลปะ เช่น โขนเป็นศิลปะชั้นสูง ครูคิดว่ามันสามารถทลายกำแพงนี้ ไปจนเป็น Art Form ที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ไหม
ถ้าเราอยู่กับความเป็นจริง เราต้องยอมรับว่า กำแพงนั้นมันได้ถูกทำลายไปแล้วในวันนี้ เพราะโขนเป็นศิลปะไทยที่มีความป๊อบ เป็นที่นิยมอย่างมากจากเยาวชน บ้านเรามีเด็กๆ ฝึกโขนและอยากเต้นโขนจำนวนมากทั้งหญิงและชาย ใครเต้นโขนเป็นจะเท่มาก โขนเป็นงานแบบคลาสสิคที่มีแบบแผนมีวินัยที่ท้าทาย ต้องรักที่จะฝึกและมีความตั้งใจจริง ปัญหาหลักของบ้านเราคือ รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องในการจัดการเรื่องศิลปะวัฒนธรรมยังไม่เข้าใจโลกที่เปลี่ยนแปลง
และไม่รู้ว่าประเทศไทยต้องการนโยบายในการจัดการด้านศิลปวัฒนธรรมแบบใหม่ที่ไม่ใช่การถาโถมเพื่อขาย Product หรือการบริการเท่านั้น แต่เป็นการสร้าง “ระบบนิเวศที่เป็นวงจรของศิลปวัฒนธรรมที่ยั่งยืน” นั่นคือการสร้างพื้นที่คุณภาพเพื่อเป็นสถานที่สำหรับการแสดงที่สะท้อนความรุ่มรวย ความหลากหลาย ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ กระบวนการฝึกฝนศิลปะที่ใช้แนวคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างงานที่สะท้อนความดีแบบเก่าด้วยกระบวนวิธีแบบร่วมสมัย ใช้วิถีทางแบบสากลมาสนับสนุน และมีการพัฒนาระบบทุนสนับสนุนที่มีความต่อเนื่อง เป็นระยะเวลาที่ทำให้เครือข่ายต่างๆ มีความแข็งแรง เช่น โขนใช้เวลากว่า 10 ปีกว่าจะแข็งแรงได้
บ้านเรายังขาดแพลตฟอร์มที่มีการแสดงที่หลากหลาย ป้าๆ ยายๆ ตัวหนาๆ เราบอกกันว่า รำไม่สวยนะ ทั้งๆ ที่เป็นการรำแบบจิตวิญญาณ มีความอิสระ เป็นธรรมชาติ แต่คนมองว่าไม่สวยเพราะต้องเป็นไปตามแบบแผนเท่านั้น ฉะนั้น ความเข้าใจเรื่องศิลปะที่หลากหลายของเรามันน้อย เพราะเราเชื่อว่ามันมีแบบที่ถูกต้อง ดังนั้น มันต้องมีพื้นที่ให้คนเอา know-how ของศิลปะไปสร้างสรรค์สไตล์ของตัวเองให้ได้ ซึ่งยาก เพราะต้องส่งครู ต้องสอบ มีครูตรวจ
เราจึงควรส่งเสริมความงามของตัวศิลปะนั้นๆ ที่อาจไม่เป๊ะแบบมาตรฐาน แต่เป็นความงามแบบชาวบ้าน ถึงจะฉูดฉาด โฉ่งฉ่าง แต่ก็งาม คึกคักแต่สนุกเร้าใจ ว่ากลอน ด้นกลอนกันมันไม่ลดละ
ความงามที่สัมพันธ์กับชาติพันธุ์ สัมพันธ์กับความ ‘ไม่กรมศิลป์’ นั้นมีดีและความงามขึ้นอยู่กับตัวศิลปิน เป็นศิลปะของปัจเจก ถ้ารัฐและผู้คนที่ทำงานทางศิลปะมีความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของศิลปะในการ พัฒนาตัวตน รัฐก็ไม่ต้องทำอะไรมาก สนับสนุนปัจจัย ทุน และพื้นที่ของเทศกาลทางศิลปะอย่างต่อเนื่อง
เหมือนถูก Centralized (รวมศูนย์) ให้เป็นแบบฟอร์มเดียวกัน
เราล้วนยอมเอง บ้านเมืองของเราคุ้นเคยกับการรวมศูนย์ เชื่อฟังกัน ซึ่งถือว่าเป็นการปลูกฝังทั้งในระบบการศึกษา ในวิถีครอบครัว ในศรัทธาต่อศาสนาและประเพณี
ถ้าเราเป็นสถาบันการศึกษาก็ต้องมีหลักสูตรและแบบแผนเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติ การมีมาตรฐานจึงสำคัญ ดังนั้น แต่ละสถาบันที่สอนศิลปะ สอนการแสดง ก็ควรมีมาตรฐาน แต่ต้องมีสไตล์ของตนเองด้วย ศิลปะจึงจะสนุก เราจึงจะได้เห็นความงามที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค เช่น ที่เชียงใหม่ที่มีโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาที่สร้างพื้นที่การเรียนศิลปะล้านนา การฟ้อน การขับร้อง ดนตรี และศิลปะอื่น จากครูศิลปินล้านนา
คิดว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันที่เราโดน Disrupt จนโลกเชื่อมกันหมด ดังนั้นการสร้างความเข้าใจใน Cultural Ecology จะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง
เข้าใจว่า Cultural Ecology เป็นทิศทางของปัจจุบันและอนาคตที่มองศิลปวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนร่วมสมัย เมื่อโลกปัจจุบันเปลี่ยนทิศทางและให้ความสำคัญกับมนุษย์ การสร้างความเป็นอยู่และชีวิตที่มีคุณภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ระบบนิเวศทางวัฒนธรรมจึงจัดที่ทางให้ศิลปวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อมให้ผู้คนได้ เรียนรู้กันมากขึ้น
เราต้องมีพื้นที่ดีๆ สำหรับผู้คนได้เรียนรู้ศิลปะมากกว่าที่เคยเป็น งานการแสดงน่าจะมีปรากฏในโรงเรียนที่มีเด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่นานถึง 12 ปี ต่อเนื่อง มีพื้นที่ให้ งิ้ว ลิเก ฟ้อนต่างๆ ได้มีโอกาสแสดงในพื้นที่ศิลปะที่ผู้คนร่วมสมัยเข้าถึงได้
ช่องทางที่เราจะถ่ายทอดต้องมีหลายช่องทาง เพราะเด็กสมัยนี้ฉลาดมาก เช่น เขาดูบอยแบนด์เกาหลีแล้วก็เต้นตามได้เลย ดังนั้นทำไมไม่มีระบำไทย ฟ้อนไทยบ้างล่ะแล้วเต้นให้เป็นอีเวนท์ เราต้องสร้างความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยในแบบที่เราตีความให้ได้ แต่นี่เราไม่เล่นเลย เพราะรัฐมีความคิดแต่จะบอกเล่าอย่างเดียว
รัฐบาลมีเป้าหมายในการสร้างทักษะชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเก่ามากสำหรับครู แต่ถ้ารัฐบาลสนใจสิ่งนี้จริงจัง เราทุกคนก็ช่วยกันผลักดันได้ แต่มันต้องสร้างอีเวนท์ที่คนมีส่วนร่วม วัฒนธรรมที่เห็นแล้วเท่ เห็นแล้วดี ในวันนี้มีลูกหลานทั้งหญิงและชายสนใจโขน อยากเล่นเป็น มันเป็น Guts (สัญชาตญาณ) ที่ทำแล้วเท่ ไม่ต้องเต้นโคฟเวอร์ก็ได้ เต้นโขนได้ เท่ออก มันต้องสร้างพลังงานแบบนี้ให้ได้ในบ้านเมืองเรา
ในอีกมุมหนึ่งเขามองว่าเรื่องท้องถิ่น โขน มันยังติดขนบมากมาย แต่การเข้าหาวัฒนธรรมเกาหลีดูร่วมสมัยกว่าและเป็นปัจจุบัน เข้าถึงได้ มีอิสรภาพในการแสดงออก เช่น ในเรื่องการแต่งกาย เขาเลยรู้สึกเชื่อมโยงได้มากกว่า
จริงๆ แล้วเกาหลีเขาขายวัฒนธรรมที่ Repackaging นะ เขาเอาวัฒนธรรมโบราณมา Repackage ฉะนั้น เราก็ต้องทำแบบนั้น แต่เราดัน Repackaging ไม่เป็น Cultural Ecology ไม่ใช่ว่าอยู่ในชุมชนแล้วไม่ขายเลยนะ แต่ก่อนหน้านั้นมันต้องทำ Ecology เพื่อทำให้ตัวเองมีความรู้ เข้าใจเนื้อแท้ของศิลปวัฒนธรรมนั้นก่อนเพื่อนำไปสู่การรู้ว่าจะขายอะไรได้ แต่เราต้องรู้จักภูมิเราก่อน เราจะได้จัดช่องทางถูก แต่คนที่จะจัดช่องทางเหล่านั้นได้จะต้องมีความเข้าใจแก่นแท้ของวัฒนธรรมด้วย
Cultural Ecology ต้องรับใช้สังคมไหม มันต้องทำเพื่อพัฒนาสังคมหรือไม่ หรือจริงๆ แล้วทำเพื่อแค่เข้าใจตัวเอง เชื่อมโยงชุมชนเข้าด้วยกัน
คิดว่าเป็น Service ที่รัฐ ควรจัดให้แก่สังคม ทำให้พลเมืองผู้เสียภาษีมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในความคิดของครู มันไม่ใช่สิ่งใหม่เลยในวิถีไทย เพราะเรามีวิถีนี้ในอดีตอยู่แล้ว การร้องรำทำเพลง การทำอาหาร จัดบ้านจัดเรือน ศิลปะการแสดงอยู่ในกิจกรรม พิธีกรรมสำคัญๆ ระหว่างช่วงเปลี่ยนแปลงชีวิต พิธีกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญที่วัดล้วนเกี่ยวเนื่องกับศิลปะเพราะมันอยู่ในวัฒนธรรม เป็นวิถีชีวิต
ในวันนี้ คนที่อยู่ในชนบทยังใกล้ชิดกับศิลปวัฒนธรรมและมีนิเวศวัฒนธรรมที่แข็งแรง คนในเมืองใหญ่ๆ อย่างเราต่างหากที่พร่องขาดและถูกเติมเต็มไปด้วยความบันเทิงอื่นๆ ที่โลกมีเดียสะกดจิตเรา
บ้านเราจำเป็นต้องมี Cultural ecology ไหม
ครูว่าจำเป็น เพราะบ้านเรามีคนที่มีองค์ความรู้ดีมากจากตะวันตกและมีคนที่มีองค์ความรู้ของไทยนานาพรรณ ไม่ใช่ไทยกรมศิลป์ หรือไทยร่วมสมัย ไทยท้องถิ่น ไทลื้อ ไทมอญ เรามีเด็กที่เป็นกะเหรี่ยง อีสานเหนือ อีสานใต้ พูดภาษายาวี
บ้านเรายังมีศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในวิถีชีวิต เช่น ในชนบทยังใกล้ชิดกับศิลปะ ชุมชนจึงเป็นกลไกสำคัญ ถ้าจะสร้างระบบนิเวศทางวัฒนธรรมในพื้นที่ร่วมสมัย รัฐไทยคุ้นเคยกับการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมในแบบเก่า เช่น ผลงานที่เป็นตัวแทนชาติ แต่ในโลกวันนี้การจัดการให้ทุนทางศิลปวัฒนธรรม ต้องมีนโยบายรัฐหรือผู้นำชุมชนต้องสนับสนุน การพัฒนาพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผู้คนในชุมชน จัดหาพื้นที่สำหรับการแสดงและนำเสนอผลงานเพื่อให้วงจรการพัฒนาฝีมือศิลปินเกิดขึ้น สร้างผู้ชมหลากรุ่น สร้างรสนิยม “ไทยที่แข็งแรง” และทำให้เกิดระบบนิเวศทางศิลปวัฒนธรรมที่สุดท้ายจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาพลเมืองให้มีคุณภาพในการใช้ชีวิต มีความภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของตน และพัฒนาอาชีพในวิถีของศิลปินได้
ล้อมกรอบ ข้อมูลโดยครูอุ๋ย – จุดเริ่มต้นของการศึกษานิเวศวัฒนธรรมของครูอุ๋ยเกิดขึ้นจากผลงานวิจัยของ Dr. John Holden ที่นำเสนอเป็นหนังสือชื่อ The Ecology of Culture ให้กับสภาศิลปะและมนุษยศาสตร์ (Arts and Humanities Council) ของประเทศอังกฤษ ผลสังเคราะห์มาจากบทสัมภาษณ์ศิลปิน นักบริหารองค์กรศิลปะทั่วโลกว่า ศิลปวัฒนธรรมนั้นมีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไร และปรับมุมมองของ ศิลปวัฒนธรรมให้เหมือนกับสภาวะแวดล้อมที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ สร้างความมั่นคง ความภาคภูมิใจของผู้คนที่หลากหลาย สามารถเชื่อมโยงผู้คน มีระบบ เครือข่ายที่สัมพันธ์กัน และสร้างความเปลี่ยนแปลงชุมชน สังคมให้มีคุณภาพ – แนวคิดที่เห็นว่าศิลปวัฒนธรรมควรอยู่กับการใช้ชีวิตของผู้คนนั้นเป็นแนวคิดเพื่อตอบโต้และถ่วงดุลกับนโยบายทางเศรษฐกิจของ นายกรัฐมนตรี โทนี แบลร์ ของอังกฤษในยุค 90 ที่มองศิลปะและวัฒนธรรมเป็นทุนที่นำมาต่อยอดสร้างเม็ดเงิน เน้นการเร่งสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจ/ อุตสาหกรรมที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” – นิเวศวัฒนธรรมในวันนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และพื้นที่-พักอาศัย-ความเป็นอยู่ ให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่ดี และมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้คนหลากหลายชาติพันธ์ุ หลากหลายภูมิรู้อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขโดยใช้ “ศิลปวัฒนธรรม” เป็นสื่อ |