- ซูเปอร์แมว : โค้ชคนแกร่ง เปลี่ยนเด็กเสี่ยงเป็นเด็กสร้างสรรค์
- วิธีทำงานกับเยาวชนของพี่แมวคือใช้วิธีชวนคุยถอดบทเรียน และทำหน้าที่เป็นโค้ชสนับสนุนการทำงาน ให้อิสระแก่เด็กๆ ได้ลงมือทำงานเองภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงในระดับหนึ่ง
- วิธีเรียนรู้แบบ Activity-Based Learning ที่เรียนโดยการลงมือทำเป็นทีม ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด จะช่วยพัฒนา EF
‘วัยรุ่น’ เป็นวัยที่มีพลังงานล้นเหลือทั้งร่างกายและอารมณ์ หุนหันพลันแล่นและมีความคิดเป็นของตัวเอง เป็นวัยที่ชวนปวดหัว ยากจะรับมือมากที่สุด
ในทางกลับกัน หากพลังงานของวัยรุ่นนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์และถูกที่ถูกทางก็จะสร้างประโยชน์ได้มหาศาล ยกตัวอย่าง กลุ่มเยาวชน P.N.D. ในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่รวมตัวกันทำกิจกรรม อย่างโครงการเรียนรู้ชุมชนปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด ภายใต้โครงการ Active Citizen สนับสนุนโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสมุทรสงคราม สสส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยมีผู้ใหญ่คอยสนับสนุนอย่างเต็มกำลังอย่าง ‘พี่แมว’ หรือน้าแมวของเด็กๆ นั่นเอง
พี่แมว-นิภา บัวจันทร์ นักวิจัยท้องถิ่นแห่งแพรกหนามแดง ผู้ผ่านการทำงานพี่เลี้ยงชุมชนร่วมกับเยาวชนกลุ่ม P.N.D. จะมาเล่าให้ฟังว่าเมื่อต้องทำงานร่วมกับวัยรุ่นในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น ‘ดีล’ กันอย่างไรบ้าง
พี่แมวเริ่มทำงานกับชุมชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 และเข้ามาทำงานเยาวชนในปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา ได้ผ่านการทำงานวิจัยท้องถิ่นในประเด็นเด็กและเยาวชน รับทราบปัญหาเด็กและเยาวชนในพื้นที่แพรกหนามแดงว่ามีเด็กกลุ่มเสี่ยง เกเร มั่วสุม คนในชุมชนไม่ไว้วางใจ มองว่าเป็นเด็กที่ไม่เอาไหน
งานวิจัยที่พี่แมวทำจึงเน้นการกู้ศักยภาพของเยาวชนเหล่านี้ด้วยการดึงเข้ามาทำกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ร่วมกับชุมชน
“เหนื่อยมาก” คือความรู้สึกของพี่แมวในการทำงานวิจัยช่วงแรกๆ
“ก็มีหลายคนที่อยากมาช่วยงานเรา แต่พอเจอจริงเขากลับหนี อย่างใส่เสื้อกล้าม รอยสักเต็มตัว ตัวซกมกเดินเป๋มา พูดจาไม่เพราะ ก็ถอยไปเหลือพี่คนเดียว … ตอนนั้นอยากร้องไห้ ไม่มีใครเลย พี่เลี้ยงใหญ่ก็ไม่ดู พี่เลี้ยงพื้นที่ก็บอกปิดเหอะ เด็กพวกนี้ไม่รับผิดชอบ เดี๋ยวตรวจฉี่ม่วง ตำรวจจับ หัวร้างข้างแตก ตอนทะเลาะกันเมาๆ เราก็ต้องเรียกไป”
แม้จะถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นเด็กไม่เอาไหน แต่ก็มีวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงจำนวนหนึ่งเดินเข้ามาหาพี่แมวเพื่อขอโอกาสกลับตัวใหม่ ด้วยความที่คุ้นเคยกับพี่แมวจึงทำให้กล้าเดินเข้ามาขอความช่วยเหลือ เพราะ ‘ไปทางไหนผู้ปกครองก็ไม่ให้เข้าบ้าน ไปปั๊มตำรวจก็มาไล่ เป็นเด็กที่มีปัญหากับสังคม’
นอกจากเด็กกลุ่มเสี่ยงยังมีเด็กๆ อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นเด็กเก็บตัว โลกส่วนตัวสูง พี่แมวก็ดึงตัวเข้ามาทำงานวิจัยในชุมชนด้วย
ระยะแรกการทำงานเป็นงานวิจัยที่ ‘วิชาการ’ มากเกินไป ต่อมาเมื่อมีโครงการ Active Citizen ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องพาเด็กไปเรียนรู้ทรัพยากรและเรื่องราวต่างๆ ในแพรกหนามแดง ก็มีการจัดกิจกรรมที่สนุกสนานและน่าสนใจมากขึ้น เหล่าวัยรุ่นก็ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองจากโครงการนี้
“พอมากลางงานวิจัย มีโครงการ Active Citizen มาช่วย ก็จะทำให้เด็กปรับ สันทนาการเป็น ทำกิจกรรมกับน้องๆ ได้ เด็กที่เคยปาระเบิดขวดก็มาอุ้มเด็กสองสามขวบ ชวนเล่นเกมด้วยกันได้ตรงนี้ เป็นภาพที่เราไม่เคยเห็น” พี่แมวกล่าว
Step 1: เข้าหาเด็ก
ขั้นตอนแรกที่สำคัญคือ การชี้แจงและเปิดเผยต่อชุมชน เพื่อให้สบายใจกันทุกฝ่าย
“แรกๆ ตำรวจกลัวเด็กรวมกลุ่มจึงเป็นที่เพ่งเล็ง ก็ทำความเข้าใจกับเขา จะพาเด็กพวกนี้ไปทำดี ทำงานกับเด็กพวกนี้ต้องที่โล่ง คนทำงานต้องประสานงานทั้งชุมชนทั้งตำรวจ”
การทำกิจกรรมเป็นโอกาสให้วัยรุ่นได้พิสูจน์ตัวเองว่าจากเด็กไม่เอาไหนก็เปลี่ยนแปลงเป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนได้ และยังก่อให้เกิดการทำกิจกรรมต่อเนื่องในชุมชนโดยเด็กรุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย
“เราดึงเข้ามา ให้โอกาสเขา ทำให้เขาออกจากโลกมืดหม่นของเขาได้ รับงานได้ ผลิตงานสื่อได้ คือกลับตัวแล้วทำเพื่อคนอื่น ส่วนหนึ่งก็ประกอบอาชีพ มีโอกาสก็กลับมาช่วยในชุมชน รุ่นสองต่อมาก็สานงานต่อในชุมชน”
Step 2: ทำกิจกรรม
“พอมีกิจกรรมก็เรียกเด็กในชุมชน พอจัดก็ใช้พื้นที่ชุมชนเป็นหลัก ให้เขามานั่งดู มานั่งเล่นอยู่ในที่โล่งๆ ไปเยี่ยมบ้านนู้นบ้านนี้ รู้จักผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กหลายช่วงวัย ตั้งแต่ยี่สิบกว่าจนถึงเด็กอนุบาล (ตอนนี้อยู่ ป.2) เรียกว่าให้เด็กเชื่อมชุมชน ก็ตั้งโจทย์ให้เด็กๆ ตั้งคำถามไปสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว”
เคล็ดลับของการทำงานกับเด็กๆ และเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชนของพี่แมวคือ “เน้นเล่นเกม ให้ของขวัญ กินให้อิ่ม”
ในการทำงานกับเด็ก ภายใต้เกมสนุกต้องมีข้อคิดแฝงไว้ด้วย แล้วมาถอดบทเรียนว่าเล่นแบบนี้รู้สึกอย่างไร ได้อะไรบ้าง
“ตั้งคำถามถามยังไงให้เค้าคิดได้ ตั้งคำถามเยอะๆ การเล่นเกมจะเล่นอย่างไรให้ครอบครัว ชุมชนมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้เข้าร่วมโดยไม่เขิน สุดท้ายพี่ให้รางวัลเป็นของขวัญแต่ต้องสร้างการมีส่วนร่วม เช่น ที่ 1 ได้จิกซอว์ตัวใหญ่ๆ เพื่อให้คนอื่นช่วยต่อ หรือเล่นเกมดูชนิดต้นไม้รอบโครงการบ้านเอื้ออาทร ถ้าไม่รู้จักให้ไปถามพ่อแม่ ถ่ายรูปมาว่าไปกับพ่อกับแม่ กับยาย แล้วยายบอกอะไร”
“ผู้ปกครองบางคนมานั่งเฝ้า เขาก็แปลกใจ เดี๋ยวนี้ทำไมเรียกเด็ก 8 โมง เด็กมา 7 ครึ่ง สามสี่โมงไม่กลับบ้าน แม่ต้องมานั่งดูว่าเล่นอะไรกัน กลายเป็นดึงพ่อแม่มาเล่นกับเด็ก ดูความเปลี่ยนแปลงของลูกได้ จากเด็กก็ขยายมาเป็นผู้ปกครอง ”พี่แมวเล่าให้ฟัง
วิธีรับมือวัยรุ่นของพี่แมว
1. พูดคุยถอดบทเรียน
พี่แมวจะพูดคุยหลังการทำกิจกรรมว่าทำกิจกรรมแล้วรู้สึกอย่างไร ได้อะไรบ้าง กระบวนการนี้จะทำให้เด็กๆ ได้ทบทวนในสิ่งที่ตัวเองทำ ผลพลอยได้คือประสบการณ์จากการลงมือทำกิจกรรมและเกิดความภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นจากการได้ลงมือทำ
หากมีใครทำผิดพี่แมวไม่ลงโทษ แต่จะใช้วิธีถอดบทเรียน ถามความรู้สึก ให้ทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้น การใช้เหตุผลต่างๆ หากรู้ว่าผิดระเบียบ
พี่แมวเชื่อว่าทุกคนผิดได้ แต่อยู่ที่ว่าผิดแล้วฟังเหตุผลหรือไม่ กระบวนการนี้เองทำให้เด็กได้ย้อนคิดด้วยตัวเองว่า เมื่อทำอะไรไม่สมควรลงไปแล้วจะต้องปรับปรุงโดยไม่ต้องลงโทษกันให้เหนื่อยแรง
นอกจากชวนถอดบทเรียนแล้ว พี่แมวยังใช้วิธีบอกและเตือนเรื่องต่างๆ เช่น การใช้เหตุผล มารยาททางสังคม ฯลฯ โดยไม่ใช้ท่าทีสั่งสอนอบรมตรงๆ แต่จะเติมเข้าไปในระหว่างการทำงานร่วมกัน
“สมมุติว่าถ้าเราลงไปเจอตายายผู้เฒ่าจะทำยังไง ต้องไหว้ไหม เอ้า ไหว้สวัสดี หลังจากนั้นเวลาเด็กๆ เจอเราหรือเจอคนแก่ๆ ก็จะสวัสดีเป็น ถ้าไม่ทำก็ไม่ดุ แค่เตือนเขาว่าลืมอะไรป่าว”
หรือการเข้าไปหาวัยรุ่นที่มีโลกส่วนตัวสูงหรือวัยรุ่นที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค พี่แมวก็จะมีวิธีพูดคุยที่แตกต่างออกไปคือใช้วิธีพิมพ์แชทบอกหรือเตือน เพราะโดยธรรมชาติวัยรุ่นแต่ละคนแตกต่างกัน
“อย่างเด็กเงียบๆ พูดไปก็นั่งมอง เหมือนเขาปิดกั้นตัวเอง แต่การที่เราคุยทางข้อความก็จะคุยกันได้ยาว เมื่อไรเราเข้าถึง เขาก็จะส่งมาเป็นข้อความ พูดได้ก็พูด พูดไม่ได้ก็มาปรึกษากัน”
กับเด็กกลุ่มนี้ พี่แมวตามไปแอดเป็นเพื่อน
“เราก็จะตามเป็นเพื่อนทั้งไลน์ทั้งเฟซบุ๊ค สอนผ่านในนั้นเลย มีปัญหาอะไรก็จะแชทมา ใช้วิธีสอนสองช่องทาง”
“เวลาทำอะไรเราจะนึกถึงตัวเองสมัยเด็กว่าเราไม่อยากให้ใครบังคับหรือต่อว่า ก็คุยกันดีๆ จะมองย้อนถึงตัวเองในเวลานั้น ทุกคนมีช่วงเวลาหนึ่งเหมือนกันหมดคืออยากเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ถ้ามีกรอบบังคับมากมันจะหัก”
2. เป็นโค้ชสนับสนุนการทำงานของเด็กๆ
“ให้เวลาเท่านี้ๆ โยนงานให้ แล้วทวง จะใช้ไม้นี้ตลอด”
เมื่อมีโครงการหรือกิจกรรมเข้ามา การให้เด็กลงมือคิดและทำกิจกรรมเองโดยที่พี่แมวไม่สั่ง แต่ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง คอยทำหน้าที่เป็นโค้ชสนับสนุนอยู่ห่างๆ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ เด็กๆ จะเรียนรู้วิธีการทำงานจากพี่แมว เช่น เวลาประสานงานหรือคุยกับคนอื่นเราทำอย่างไร
จะทำให้เด็กๆ มีอิสระในการทำงานพอสมควรภายใต้กรอบเงื่อนไขต่างที่วางไว้ นอกจากนี้พี่แมวยังคอยเป็นคนประสานงานในกลุ่มเด็กๆ ด้วยการเป็นผู้รับฟังและคอยทำความเข้าใจกันในทีม
“พี่ไปคุย ไปทำตัวเหมือนเขาเป็นลูกหลานเรา มีปัญหาอะไร กินข้าวหรือยัง ไม่ทำงานเหรอ ไม่ไปไหนเหรอ ถ้าเด็กมีปัญหาอะไรกันก็มาเล่า เราจะฟังทีละคนแล้วเป็นคนประสาน เอาเหตุผลคนนี้มาพูดให้อีกคน ให้คิดเองว่าควรทำตัวยังไง
แต่เด็กมีหลายช่วงวัย เรื่องเยอะหน่อยจะเป็นเด็กโต วัย 17-20 ที่มักทำงานแล้วขัดใจกันเอง
“เราต้องพยายามจูน เอาปัจจัยที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปบอกเด็ก พยายามทำความเข้าใจให้เขารู้สึกว่าเป็นทีม ยอมรับกันและกัน และให้เข้าใจคนอื่นด้วย ก็ถามปัญหาที่เขาเจอ ที่ทำให้เป็นแบบนี้ ทำให้รู้ว่าเขาก็อยากมีที่ยืน อยากให้คนยอมรับ และเมื่อคนเข้าใจเขา ก็ทำให้เขาดีขึ้นได้ ถ้าดึงมาถูก เขาจะเอาตัวอย่างที่เขาเจอมาไปถ่ายทอดบอกว่าอย่าเลียนแบบเขา อย่าทำแบบเขา”
Activity-Based Learning สร้าง EF และเปลี่ยนแปลงตัวเอง
วิธีการของพี่แมวอาจเรียกได้ว่าเป็นวิธีเรียนรู้แบบ Activity-Based Learning ที่เรียนโดยการลงมือทำเป็นทีม ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด จะช่วยพัฒนา EF ไปโดยอัตโนมัติ ครูที่มีความสามารถในการทำหน้าที่โค้ชของกระบวนการเรียนรู้จะช่วยให้เด็กพัฒนา EF ได้ดี
Executive Function & Self Regulation เป็นความสามารถของสมองในการควบคุมพฤติกรรมของคนให้อยู่ในวิถีชีวิตดีงาม ไม่ถูกชักจูงโดยสิ่งยั่วยวนภายนอกหรือแรงกระตุ้นเชิงกิเลสตัณหาอารมณ์ภายในตนให้เกิดพฤติกรรมหุนหันพลันแล่นไร้สติยั้งคิด ให้รู้จักอดทนรอเวลาหรือจังหวะที่เหมาะสมเพื่อมีชีวิตที่ดีกว่า
ด้วยกระบวนการเหล่านี้เองจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากเยาวชนกลุ่มเสี่ยงกลายเป็นเยาวชนที่ทำประโยชน์ต่อชุมชนบ้านเกิด ซึ่งพี่แมวเล่ากรณีอดีตหัวโจกประจำตำบลให้ฟังว่าจากที่เคยเป็น ‘ตัวเปิด’ (ตัวนำในการทะเลาะวิวาท) เปลี่ยนมาเป็นแกนนำ Active Citizen จากไม่เอาอะไรเลยก็เปลี่ยนแปลงอยากจะประกอบอาชีพ และได้เป็นแพทย์อาสา ได้รับการยอมรับจากชุมชน
“พี่ดีใจที่ทำให้เด็กพวกนี้เปลี่ยนอนาคตของเขาได้ มีอนาคตที่ดีขึ้น ถ้าไม่มีคนช่วยก็อาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น เขาอาจจะไม่มีโลกใบใหม่ของเขา เนี่ยแม่ (เขาเรียกเราว่าแม่) แต่งทหารติดชุดกาชาดมา ทำให้เราภูมิใจ จากเด็กที่นั่งประชุมแล้วตำรวจเรียกว่าจะไปไหน”
“เขาเชื่อว่าทำดีก็ทำได้ ก็เลยให้ความรู้สึกดีๆ กับคนผ่านไปผ่านมา เขาเชื่อใจเด็กพวกนี้มากขึ้น”
เหนือสิ่งอื่นใด พี่แมวเชื่อในศักยภาพและพลังล้นเหลือของวัยรุ่นและเชื่อในพลังของการเปลี่ยนแปลงว่าเด็กสามารถเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้
“เด็กพวกนี้ ถ้าปล่อยไปจะเป็นปัญหาสังคม ถ้าดึงมาเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป 2-3 คน ค่อยๆ ดึง พอเป็นรุ่นต่อไปเข้ากระบวนการเรื่อยๆ ก็จะรู้จักคิด มีคนยอมรับเขา ก็จะรู้สึกว่าเด็กโตขึ้นมีทักษะการใช้ชีวิต ไม่ใช่หลงอยู่กับมือถือ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นช่วงหยุดจัดกิจกรรม เด็กก็จะทักมาแล้วว่าเมื่อไหร่จะได้ทำกิจกรรมอีก พอเราบอกปุ๊บว่าไปเกี่ยวข้าวกันไหม เขาก็ไป”
“มันสนุกตอนเห็นเด็กเปลี่ยน จากแก่นแก้วเกเรก็ดีขึ้น มีคนชมแทนที่จะมีคนด่าก็เป็นความภูมิใจของเรา พี่อยากเปลี่ยนเด็กกลุ่มนี้ อยากให้มีที่ยืน คนยอมรับ”
“เราเชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนได้ หาวิธี กระบวนการทำให้เขาเปลี่ยน แล้วหาให้เจอ บางคนบังคับได้ บางคนไม่ได้ บางคนทำตามเราจริงแต่ใจขัดขืน แต่เมื่อไรใจไปกับเรา เขาทำยิ่งกว่าเราอีก” พี่แมวทิ้งท้าย