- การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวชน 6 คนจากชุมชนบ้านสันตับเต่า อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน กับโครงการอนุรักษ์งานจักสานที่เป็นภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน
- ครูของเด็กๆ ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือปราชญ์ชุมชนและธรรมชาติในท้องที่
- อุปสรรคทำให้คนแกร่งขึ้น ทั้งความกล้าแสดงออก การฝึกสมาธิผ่านการจักสานการทำงานร่วมกันเป็นทีม การทำงานแข่งกับเวลา แต่เหนืออื่นใด โครงการกลายเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการใช้เวลาว่างของเยาวชนได้เป็นอย่างดี
ภาพ: พัชรี ชาติเผือก
ในยุคที่บรรจุภัณฑ์พลาสติกหาง่ายและทนทาน ไม่แปลกที่งานจักสานจะค่อยๆ เลือนหายไปจากวิถีของชุมชน ขณะเดียวกัน เมื่อเราหาความเพลิดเพลินจากโลกออนไลน์ได้ง่ายกว่าการพบปะเห็นหน้า ปัญหาการใช้เวลาว่างของเด็กๆ จึงเกิดขึ้น
นี่คือ 2 สถานการณ์ ที่ชุมชนบ้านสันตับเต่า อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน กำลังเผชิญอยู่ และก็คงดิ่งลงเรื่อยๆ ถ้าไม่มีตัวดึงกราฟให้กลับขึ้นมาอย่าง โครงการอนุรักษ์การจักสาน การประดิษฐ์ และงานฝีมือของ 6 สาว เลือดใหม่กลุ่มแรกของหมู่บ้าน ที่รวมกลุ่มกันพัฒนาบ้านเกิดด้วยการชุบชีวิตงานจักสายของผู้เฒ่าผู้แก่ให้กลับมาสวยสดใส-ไม่ล้าสมัย อีกครั้ง
ทำไมต้องจักสาน
โครงการอนุรักษ์การจักสาน การประดิษฐ์ และงานฝีมือ เกิดจาก แม่แดง-มาลัย วงค์อำนาจ ที่ปรึกษาโครงการชักชวน 4 สาวในหมู่บ้าน คือ แพร-ศิริพร บังคมเนตร, แพรว-บุษยา สิทธิตัน, อิ๋ม-กนกวรรณ มูลนำ, และ นิ้ง-บุชายา กองมา ซึ่งเป็นลูกมือช่วยทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรชุมชนอย่างสบู่ ยากันยุง ลูกประคบ ฯลฯ อยู่ก่อนแล้ว มารวมกลุ่มทำโครงการพัฒนาบ้านเกิดร่วมกัน ซึ่ง 4 สาวที่มีไฟอยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ ก็ชวนเพื่อนอีก 2 คน คือ บีม-อภิชญา มูลรัตน์ และ ทิพย์-ชรินทร์ทิพย์ หนานอิน มาร่วมทีมพร้อมทั้งแบ่งบทบาทหน้าที่กัน โดยให้นิ้งเป็นหัวหน้าโครงการ
เริ่มแรก สาวๆ สนใจเรื่องอาหาร เพราะเห็นเด็กหลายคนในหมู่บ้านมีภาวะอ้วนจากโภชนาการที่ไม่เหมาะสม จึงคิดรณรงค์เรื่องการกินผักและสมุนไพร แต่จากการประเมินแล้วพบว่ากระบวนการทำงานต้องใช้เวลานาน ทีมจึงพักประเด็นเรื่องอาหารไว้ก่อน แล้วหันมาจับเรื่องใกล้ตัวอย่างการจักสานแทน
“งานจักสานบ้านเรามีเยอะ ญาติหนูก็สานกล่องข้าว บ้านอื่นก็สานอย่างอื่น แต่มันไม่แพร่หลาย คนที่ทำเป็นคนแก่ คนในชุมชนก็ไม่ค่อยสนใจ เลยอยากอนุรักษ์และจะได้สอนน้องในชุมชนต่อด้วย” ทีมงานบอก
เมื่อได้หัวข้อ ทีมจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลปราชญ์ชุมชน ก่อนจะพบว่าในหมู่บ้านมีผู้รู้ด้านงานจักสานอยู่ถึง 11 คน มีภูมิปัญญางานจักสานที่หลากหลาย ทั้งก๋วยสลาก กล่องข้าว สานสุ่มไก่ ซุ้มทางมะพร้าว ดอกกุหลาบใบเตย เข่ง หิง (สวิง) กระด้ง เปาะเห็ด (ตระกร้าหาเห็ด) ข้อง และไซ ซึ่งส่วนใหญ่นี้ไม่มีผู้สืบทอดองค์ความรู้ต่อ
ทีมจึงรวบรวมกลุ่มเป้าหมายเป็นน้องๆ มัธยมต้นในหมู่บ้านจำนวน 10 คน (จากเยาวชนทั้งหมดของหมู่บ้าน 50 คน) โดยใช้วิธีการเชิงรุก บุกถามความสมัครใจถึงบ้าน
“จากนั้นเราก็ไปชี้แจงกับพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) บอกว่าพวกหนูทำโครงการเรื่องนี้ ขอใช้สถานที่ศาลากลางหมู่บ้านเป็นที่จัดอบรม ซึ่งพ่อหลวงยินดี และบอกด้วยว่าโครงการนี้ดี” แพรบอกวิธีทำงาน
หัวร้อนก็จะทำ
เมื่อกลุ่มเป้าหมายพร้อม สถานที่พร้อม ทีมก็เริ่มเคลื่อนงานด้วยการไปเรียนรู้งานจักสานจากปราชญ์ชุมชน ฝึกทำกุหลาบใบเตย ซุ้มทางมะพร้าว กล่องข้าว และก๋วยสลาก ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัสดุไปจนถึงการสานออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยไปเรียนรู้ที่บ้านปราชญ์ 1 วัน พร้อมเก็บองค์ความรู้ด้วยการถ่ายวิดีโอ แล้วกลับมาฝึกเพิ่มความชำนาญด้วยตัวเองที่บ้านแม่แดงอีก 3 วัน
“เราไปเรียนด้วยกันทั้งหมดเลยค่ะ เพราะถ้าเราไม่รู้เราก็ไปสอนไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ก่อน ต้องทำได้ด้วย ไม่อย่างนั้นน้องเขาก็ไม่เชื่อ” ทีมงานเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้
นอกจากจะเป็นการศึกษาภูมิปัญญาของชุมชนแล้ว ทีมยังได้ฝึกความอดทนและพยายามด้วย
“สานใบเตยเป็นดอกไม้ยากค่ะ ต้องใจเย็นๆ ทำจนหัวร้อน ไม่อยากทำแล้วก็มี แต่เห็นเพื่อนๆ ทำกันได้ก็ต้องพยายาม เพราะเราอยากทำให้ได้บ้าง” แพรเล่าพร้อมหัวเราะ
หลังจากมั่นใจในฝีมือตัวเองระดับหนึ่ง ทีมก็เริ่มกระบวนการจัดอบรมการสานใบมะพร้าวและใบเตยให้น้องๆ โดยเชิญปราชญ์มาร่วมสอน แม้ว่าผลที่ออกมาจะมีน้องหัวร้อนหรือหงุดหงิดกันบ้าง แต่ทุกคนก็ได้เรียนรู้หลักการสาน แม้จะยังไม่ค่อยสวยมากก็ตาม
เมื่อครั้งแรกสำเร็จด้วยดี การอบรมครั้งที่ 2 จึงตามมา โดยรอบนี้เป็นการสานก๋วยสลากและกล่องข้าว ซึ่งน่าสนใจตรงที่นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นน้องๆ จากรอบแรกแล้ว ยังมีผู้ใหญ่เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย
“น้องหายไปประมาณ 3-4 คนเพราะติดธุระ แต่มีผู้ใหญ่ประมาณ 10 คน มาดูแล้วก็มาทำด้วย เราก็เลยได้สอนให้เขาทำไปด้วย” ทีมงานเล่า
จากครั้งที่ 2 ต่อยอดสู่ครั้งที่ 3 ครั้งนี้พิเศษตรงที่เป็นการทำเพื่อใช้งานจริง ทีมร่วมกับน้องๆ ทำก๋วยสลากเพื่อใช้ในวันกินก๋วยสลาก งานนี้สร้างความแปลกประหลาดใจให้ผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก เพราะทุกคนล้วนพกตะกร้าพลาสติกไปร่วมงาน มีแต่ทีมเท่านั้นมาพร้อมตะกร้าสานงานประณีต
สานไป เติบโตไป
การทำก๋วยสลากไปวัดในครั้งนั้นถือเป็นการเปิดตัวโครงการของทีมกับชุมชนอย่างเป็นทางการ ได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ชี้วัดได้จากการจัดเวทีคืนข้อมูล ที่ตอนแรกทีมตั้งใจเพียงจะฉายวิดีโอสรุปงานให้ผู้ใหญ่บ้านดูเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามีคนมาร่วมงานกว่า 40 คน
“เราเล่าที่มาของโครงการนี้ ให้ข้อมูลว่าบ้านเรามีปราชญ์ผู้รู้กี่คน ข้อดีข้อเสียของก๋วยสลากและกล่องข้าว เคล็ดลับการทำ เพื่อให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญและอนุรักษ์ไว้ และก็ขอความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ด้วยว่าโครงการของเราเป็นยังไงบ้าง ผู้ใหญ่ก็ชมว่าโครงการดี ทำดี มีคนบอกว่าเราสามารถทำเป็นสินค้าโอท็อป ลงขายในเฟซบุ๊คได้ด้วย” แพรเล่าขั้นตอนการคืนข้อมูล
แพรวเสริมว่า “สิ่งประดิษฐ์บางชนิดหาวัตถุดิบยาก เช่น ใบตาล ไม้ไผ่ ลุงคนหนึ่งที่เขาขายใบเปล่าๆ ก็บอกว่าถ้าไม่มีให้ไปเอาที่บ้านลุงได้นะ คือผู้ใหญ่สนับสนุนให้ทำ สนับสนุนกันเยอะมาก” และเสริมว่า ไม่ใช่เพียงทำเพื่อใช้ในโครงการเท่านั้น แต่ทีมยังต่อยอดงานจักสานไปสู่การใช้งานจริงในชุมชน รวมถึงสร้างรายได้จากภายนอกอีกด้วย
“ถ้ามีกิจกรรมในชุมชนเราก็จะมีส่วนร่วมด้วย อย่างสานใบมะพร้าว หรืออย่างไปงานที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ลำพูน เขาก็สั่งทำซุ้มทางมะพร้าว ก็ได้ค่าจ้างมา” ทีมงานเล่าด้วยความภูมิใจ
ถือเป็นความสำเร็จของทีมในแง่ผลลัพธ์ของโครงการ แต่ที่มากกว่านั้นก็คือความสำเร็จส่วนตัว ที่สมาชิกทีมแต่ละคนได้ฝึกฝนทักษะและประสบการณ์ในการทำงานจริง
“ทำโครงการกันมา 7 เดือน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ เป็นคนตรงต่อเวลามากขึ้นค่ะ (หัวเราะ) แม่แดงนัดไปอบรม แต่ตื่นสายกัน แม่แดงก็บ่นว่าไปกับผู้ใหญ่ไม่ควรให้ผู้ใหญ่มารอ หลังจากนั้นก็ไม่สายกันอีกเลย” แพรวย้ำถึงความเปลี่ยนแปลง
อิ๋มเสริมว่า “จากเมื่อก่อนที่ไม่ค่อยคุยกับใคร เรียนอย่างเดียว ออกไปเที่ยวไม่ได้เพราะป้าหวง ไม่สนิทกับคนในชุมชนเท่าไหร่ พอได้มาทำโครงการก็ทำให้หนูกล้าแสดงออกมากขึ้น”
ขณะที่นิ้งเล่าถึงปัญหาที่ทีมประสบว่า “ปัญหาเกิดจากการบริหารจัดการหน้าที่ของสมาชิกในทีมได้ไม่ดีพอ โดยเฉพาะการมอบหมายหน้าที่ที่สมาชิกไม่ถนัด ส่วนปัญหาใหญ่ๆ ที่เจอก็นัดมาทำคลิปวิดีโอกัน แต่เพื่อนไม่ช่วยเลย เอาแต่เล่นเกมกัน ก็เลยเสียใจ ถอดใจจะไม่ทำแล้ว หรืออย่างให้ช่วยพิมพ์งาน เขาก็พิมพ์ได้ไม่ดี ก็ต้องมาไล่แก้ทุกอย่าง เหมือนทำเองหมดเลย”
แม้เด็กๆ จะท้อกับปัญหา แต่แม่แดงเล่าถึงความพยายามแก้ปัญหาของสมาชิกในทีมว่า “แม่แดงบอกเด็กๆ ว่า นิ้วมือคนเรายังไม่เท่ากันเลย ทุกคนจึงทำได้ไม่เหมือนกัน และเราจะเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ไม่ได้ น้องต้องดึงเอาความสามารถของแต่ละคนออกมา เก่งเรื่องไหนให้เขาทำเรื่องนั้นเขาถึงจะสนใจ และไม่ควรไปพูดลดทอนกำลังใจ มันไม่ดี ซึ่งสุดท้ายเด็กๆ เขาก็ช่วยดึงกันมาได้ค่ะ”
เพราะอุปสรรคทำให้คนแกร่งขึ้น เช่น สมาชิกทีมทุกคนที่ต่างก็เติบโตขึ้น ด้วยทักษะหลายๆ ด้านที่แต่ละคนได้เรียนรู้ ทั้งความกล้าแสดงออก การฝึกสมาธิผ่านการจักสานทำให้หลายคนนิ่งและใจเย็นขึ้น ได้ฝึกการทำงานร่วมกันเป็นทีม การทำงานแข่งกับเวลา แต่เหนืออื่นใดก็คือ โครงการได้กลายเป็นเครื่องมือที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาการใช้เวลาว่างของเยาวชนได้เป็นอย่างดี
ชวนเพื่อนปลุกพลังด้านบวก
ที่ผ่านมาน้องๆ บ้านสันตับเต่าหลายคนจึงละลายเวลาที่มีอยู่ให้หมดไปด้วยการเล่นเกม ไม่มีกิจกรรมใดอื่นนอกบ้าน จนกระทั่งโครงการนี้เกิดขึ้น หลายคนจึงเหมือนถูกปลุกพลังด้านบวกที่มีอยู่ในตัว ให้ลุกขึ้นมาใช้เวลาในการพัฒนาชุมชน ด้วยการอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าของตัวเอง
“เมื่อก่อนเป็นคนที่ทำตัวไร้สาระค่ะ (ยิ้ม) ทำตัวไม่มีประโยชน์ อยู่บ้านไปวันๆ เที่ยวเตร่กับเพื่อนตามประสาวัยรุ่น แต่หลังจากได้มาทำโครงการ ก็รู้สึกว่าทำตัวมีประโยชน์มากขึ้น ได้รู้ศักยภาพตัวเองว่าตัวเองทำได้ ไม่ดูถูกตัวเองเหมือนเมื่อก่อน ทำให้ได้รู้ว่าเราก็มีความสามารถค่ะ” แพรเล่าด้วยรอยยิ้ม
“ได้มาทำงานร่วมกับเพื่อนๆ จัดกิจกรรมกับคนในชุมชน ได้พบปะคนมากขึ้น ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ นอกจากการเรียนในโรงเรียนค่ะ แล้วก็ได้ความรู้ใหม่ๆ มากขึ้นด้วย เช่น การถ่ายภาพ การทำวิดีโอ ซึ่งนำมาใช้กับการทำโครงงานที่โรงเรียนได้ รู้อย่างนี้ออกจากบ้านมาตั้งนานแล้ว” บีมเสริมอย่างร่าเริง
ความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ คือผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่ผลสัมฤทธิ์หลักของโครงการเองก็ได้ตามเป้าหมาย นั่นคือทำให้ชุมชนหันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น ผ่านทางกระบวนการเวที และเครื่องมือที่ช่วยให้ชุมชนเห็นถึงความเชื่อมโยงของภูมิปัญญากับวิถีแห่งธรรมชาติ
“เราออกแบบและทำแผนที่หมู่บ้านด้วย บอกว่าบ้านเรามีอะไรบ้าง ใส่ตำแหน่งบ้านผู้รู้ สถานที่สำคัญ แล้วก็ทำปฏิทินซึ่งทำให้เห็นว่าเครื่องจักสานจะสอดคล้องกับฤดูกาลและกิจกรรมของหมู่บ้าน เวลาหน้าร้อนเขาจะสานเข่งไปใส่หอม หน้าฝนจะสานหิ้ง ไซ ตะกร้าเพาะเห็ด ตะกร้าใส่เห็ด หน้าหนาวก็จะเป็นก๋วยสลาก
และสิ่งที่ภูมิใจก็คือได้เห็นเอกลักษณ์ของชุมชนเราที่มีที่เดียว อย่างกล่องข้าวของที่อื่นเขาจะสานเป็นลายวน แต่บ้านเราสานแบบไขว้ขึ้น คือถ้าเห็นก็จะรู้เลยว่า นี่เป็นของที่สันตับเต่าค่ะ” ทีมงานเล่าด้วยสีหน้าภูมิใจ