- เป้าหมายสำคัญของโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย จังหวัดสตูล คือ การสร้างเยาวชนให้เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนและชุมชน จนเกิดความหวงแหนบ้านเกิดของตนเอง โดยจากการศึกษาประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของชุมชน การอพยพย้ายถิ่นเพื่อตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษ วิถีชีวิตในการดำรงชีพ สถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และตำนานเล่าขานบ้านเขาน้อย
- หัวใจของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมถึงการพัฒนาชุมชน คือ ความเสมอภาค ทุกคนต้องได้รับสิทธิเสมอภาคเหมือนกัน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดได้แสดงความคิดเห็น เมื่อทุกคนมีพื้นที่ในการสื่อสาร การประสานงานเพื่อทำงานร่วมกันจะเป็นไปได้ง่ายและมีทิศทาง
ทะเลหมอกที่คลอเคลียไปกับทิวเขากระทบแสงสีทองของพระอาทิตย์ที่ค่อยๆ ปรากฏขึ้นในยามเช้า คือ ภาพที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างถิ่นให้มาหยุดยืน ณ จุดชมวิวเขาภูน้อย บ้านเขาน้อยเหนือ หมู่ 3 ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่จากความร่วมมือร่วมใจของคนบ้านเขาน้อย
ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ เป็นผืนนากว่า 2 พันไร่กว้างไกลสุดสายตา โอบล้อมด้วยภูเขาสามด้าน มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีสายน้ำชลประทานไหลผ่าน และเป็นชุมชนหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 150 ปี อ้างอิงข้อมูลที่ได้จากการสืบค้น สำรวจ สัมภาษณ์และสังเคราะห์ โดยเด็กและเยาวชนในชุมชน ภายใต้โครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย
ทว่าย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ชุมชนที่เคยเงียบสงบต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ได้เข้ามาในพื้นที่ บวกกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มถอยห่างจากความเป็นชุมชนและถูกชักจูงไปในทางที่ผิด ความพยายามที่จะหาแนวทางแก้ไขจึงเกิดขึ้น โดยอาศัยกลไกที่มีอยู่เดิมทั้งองค์กรศาสนา องค์การท้องถิ่น รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้เยาวชน รื้อฟื้นความสัมพันธ์และสร้างสำนึกร่วมทางสังคมของคนในชุมชนขึ้นมาจนสามารถฝ่าวิกฤติไปได้
เปิดพื้นที่ให้เยาวชนรวมพลแก้ปัญหา
ใครจะไปนึกว่าการเข้ามาของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญญาณของความเจริญทางเศรษฐกิจ ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระดับฐานรากจนทำให้ชุมชนเล็กๆ อย่างบ้านเขาน้อยสั่นคลอน สอและ หลงสมัน หรือครูสอและ พี่เลี้ยงโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฯ ครูสอนศาสนาโรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา และผู้บริหารฝ่ายวิชาการมัสยิดบ้านเขาน้อย กล่าวว่า บ้านเขาน้อยเป็นชุมชนขนาดเล็ก ปัจจุบันมีประชากรทั้งสิ้นราว 1,200 คน ประมาณ 161 ครัวเรือน ย้อนกลับไปราวปี 2556 การเข้ามาของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน อีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นศูนย์กลางกระจายยาเสพติด ซึ่งเป็นด้านมืดที่แทบไม่มีใครมองเห็นและไม่ได้นึกถึง
“ปัญหาในพื้นที่มีอยู่แล้วก็คือปัญหายาเสพติด ช่วงนั้นผู้ใหญ่บ้านก็เพิ่งได้รับตำแหน่งมาใหม่ๆ ร่วมกันทุกวิถีทางช่วยให้น้องๆ รอดพ้นจากตรงนั้น ศูนย์การค้าเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย แต่พอคนหมู่มากเข้าไปอยู่ตรงนั้นก็สามารถทำงานในรูปแบบอื่นได้ กลายเป็นเหมือนฮับกระจายของไปทั่ว พื้นที่เขาน้อยบางส่วนเป็นเส้นทางผ่านและเป็นจุดพักยาเสพติด ชุมชนเราตอนนั้นก็มานั่งร่วมคิด ฝ่ายปกครองกับฝ่ายศาสนามาคุยกันหาทางออก
หากเราไม่มีกิจกรรม ไม่มีพื้นที่ให้เด็กเยาวชนแสดงความสามารถ อนาคตปัญหาชุมชนเราอาจแย่ไปกว่านี้ แต่เมื่อมีกิจกรรม เรามีเวที เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมกับผู้ใหญ่ เด็กก็มีความรัก ความเป็นห่วงพื้นที่มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจน”
มัสยิดดารุลนาอีม บ้านเขาน้อย เป็นศูนย์กลางของชุมชน ครูสอและ เล่าว่า ปกติชุมชนใช้มัสยิดเป็นฐานในการทำกิจกรรม ไม่ว่าฝ่ายปกครอง หรือของฝ่ายศาสนา อีกด้านหนึ่งมัสยิดจึงเปรียบเสมือนจุดยึดเหนี่ยวของคนในพื้นที่ เป็นสถานที่ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ และมีพื้นที่กว้างขวางทำให้การจัดกิจกรรมเป็นไปได้อย่างคล่องตัว
ครูสอและ เล่าว่า ราวปี 2557 เป็นช่วงที่สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชนรุนแรงมาก ทั้งเรื่องยาเสพติด เรื่องชู้สาว หลังจากนั้นปี 2558 ผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่จึงมาร่วมกันระดมความคิดเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา เห็นพ้องต้องกันว่าฐานที่ช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ทุเลาเบาบางลงได้ต้องอาศัยองค์กรศาสนามาเป็นตัวหลัก องค์กรฝ่ายปกครองเข้ามาช่วยเสริม แล้วเปิดพื้นที่ดึงเด็กและเยาวชนมาร่วมทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ โดยมีผู้ใหญ่คอยให้การสนับสนุน
“เมื่อก่อนเด็กห่างเหินกับองค์กรศาสนากับผู้นำชุมชน เด็กไม่ค่อยเข้าใกล้ เด็กไม่ปฏิสัมพันธ์ด้วย ไม่ค่อยให้ความสนใจกับกิจกรรมในพื้นที่ เพราะเขายังไม่เห็นความสำคัญว่ากิจกรรมหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดในชุมชนจะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร ผู้ใหญ่ไม่เคยเปิดโอกาสให้เด็กพูด ถึงเวลาเราก็บอกว่าขอยี่สิบคน ขอสามสิบคน แต่บางทีเขามาด้วยความอึดอัด เขาไม่อยากทำในส่วนตรงนั้น ในกลุ่มผู้ใหญ่ก็มาคิดร่วมกันระหว่างองค์กรศาสนากับองค์กรปกครองในท้องที่ แล้วก็ได้ให้ท้องถิ่นเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่ง”
ครูสอและ บอกว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนต้องอาศัยความตั้งใจ ความพยายาม และความร่วมมือจากองค์ประกอบทางสังคมทุกส่วนในชุมชน เพื่อจับมือกันวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชนไปในทิศทางเดียวกัน
“ปี 2558 ชุมชนเน้นเรื่องบุหรี่เป็นประเด็นแรก เราคิดว่าบุหรี่คือต้นตอของปัญหายาเสพติดทุกประเภท ใช้คณะกรรมการหมู่บ้านกับคณะกรรมการมัสยิดลงสำรวจพื้นที่ เก็บข้อมูลว่าในหนึ่งครอบครัว สมมติมี 5 คน พ่อสูบไหม? สูบอย่างไร สูบแบบต่อเนื่อง สูบบ้างเว้นบ้าง ลูกสูบไหม? สูบอย่างไร สูบวันละเท่าไร สูบกี่ซอง สูบประเภทไหน เราเอารายละเอียดมาทั้งหมด มาประมวลข้อมูลทั้งหมด แล้วรายงานไปยังสาธารณสุขจังหวัด ผลปรากฎว่าบ้านเขาน้อยมีสถิติผู้สูบบุหรี่ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของจังหวัด เราเลยจัดกิจกรรมเกี่ยวกับบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง”
ตามล่าหาอดีตบ้านเขาน้อย รื้อฟื้นความสัมพันธ์ในชุมชน
โครงการแรกที่กลุ่มแกนนำเยาวชนบ้านเขาน้อยได้ลงมือทำ ภายใต้โครงการ Satun Active Citizen คือ โครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน ควบคู่กับโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ส่วนในปีที่สองกลุ่มเยาวชนรุ่นต่อมาได้ริเริ่มโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์สู่การพัฒนาชุมชนบ้านเขาน้อย
เป้าหมายของชุมชน คือ การสร้างเยาวชนให้เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนและชุมชนจนเกิดความหวงแหนบ้านเกิดของตนเอง ส่วนเป้าหมายของโครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ฯ คือ การศึกษาประวัติศาสตร์ที่มาที่ไปของชุมชน การอพยพย้ายถิ่นเพื่อตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษ วิถีชีวิตในการดำรงชีพ สถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และตำนานเล่าขานบ้านเขาน้อย
กระบวนการเรียนรู้จากการทำโครงการ ทั้งจากการสืบค้นข้อมูลในเอกสาร หนังสือ และอินเทอร์เน็ต การลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุในชุมชน การบริหารจัดการเวลาทั้งการเรียน งานบ้าน และงานในโครงการ การฝึกฝนการทำงานเป็นทีม การได้ร่วมเรียนรู้กับเพื่อนเยาวชนจากพื้นที่อื่น และการเรียนรู้จากปัญหาอุปสรรคผ่านการลงมือทำ ทำให้เยาวชนได้เปิดหูเปิดตาและพัฒนาตัวเอง
“เมื่อเข้าสู่โครงการนี้ เราสร้างกระบวนการทำงานให้กับเด็ก เราได้สอนวิธีคิดให้กับเด็ก ทำให้เด็กเกิดความรักและหวงแหนโครงการที่เขาคิดขึ้นมา เพราะว่าทุกกิจกรรมในสามโครงการที่เขาน้อยได้ทำในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นความคิดที่มาจากเด็กๆ ทั้งสิ้น ผู้ใหญ่แค่นำเสนอไปบางส่วนเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับทุกฝ่ายที่อยู่ในพื้นที่ ทำให้เด็กเขารักในสิ่งที่เขาทำ”
หากเทียบกับประสบการณ์ครั้งแรกที่กลุ่มแกนนำเยาวชนได้ทำความรู้จักกับคณะทำงาน Satun Active Citizen ครูสอและ บอกว่า เด็กๆ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“ตอนนั้นล้อมวงประมาณ 7 – 8 คน ที่เป็นแกนนำ มีผู้ชาย 4 คน ผู้หญิง 3 คน มาด้วยกัน พอโยนคำถามไป น้องมีความคิดอย่างไรบ้าง น้องๆ แอบไปอยู่หลังเสา ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในเบื้องต้น ผม ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่าม ต้องเค้นน้องๆ ให้พูดออกมาว่ามีความคิดเห็นอย่างไร พร้อมที่จะทำหรือไม่ ใช้เวลาเป็นครึ่งชั่วโมงกว่าจะมีคำพูดแรกออกมาจากน้องๆ”
“เราได้เห็นว่าการที่เราไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กทำงานตั้งแต่ต้น เมื่อถึงบทที่จะทำงานจริงๆ แล้ว เด็กไม่กล้าแสดงออก เห็นชัดเจนเลย แม้ว่าเป็นการสนทนาที่ไม่มีพิธีการใดๆ ทั้งสิ้น เด็กก็ยังไม่กล้า ถ้าเป็นพิธีการเราคิดว่าน่าจะหนักไปกว่านี้อีก แต่หลังจากที่ทำโครงการมา เด็กตอบรับกับโครงการ เข้ารับการพัฒนา วิถีการเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ดีขึ้น มีความรับผิดชอบขึ้น แล้วก็มีคำพูดกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น พอมาโปรเจกต์ปีที่สอง แทบไม่ต้องไปจ้ำจี้จ้ำไชไม่ต้องไปช่วยคิดอะไร เขาสามารถวิเคราะห์ขึ้นมาเองได้ ต่อไปจะต้องทำอะไร นั่นคือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน”
คำถามคือ…การเรียนรู้ รื้อฟื้นเรื่องราวในอดีต ช่วยให้เกิดการพัฒนาได้อย่างไร?
สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านเขาน้อย ทำให้รู้ว่าการพัฒนาไม่ได้เกิดขึ้นจากการโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เข้ามาเท่านั้น แต่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นตลอดระยะเวลาที่กลุ่มแกนนำเยาวชนแต่ละรุ่นแต่ละมือทำโครงการมาตั้งแต่ต้น ความสัมพันธ์และการค้นพบความจริงในความสัมพันธ์ระหว่างทำโครงการ ทำให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปได้ และเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน
“ชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนอยู่กันแบบครอบครัวเดียวกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความเป็นครอบครัวเดียวกันเพิ่งมาเฉลยในปีที่ผ่านมาจากโปรเจกต์ของเยาวชน หลังไปสำรวจเรื่องการสืบสานวงศ์ตระกูลของคนในพื้นที่ พบว่า ผู้ใหญ่บ้านคนที่สามของเขาน้อยเป็นต้นตระกูลคนเขาน้อย เขามีลูกทั้งหมด 6 คน แล้วก็แยกไปมีครอบครัว กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณใกล้เคียง กลุ่มแกนนำเยาวชนที่ทำงานในปีที่ผ่านมา พบว่า 80% ของคนในชุมชน เป็นลูกหลานของผู้ใหญ่บ้านคนที่สามของเขาน้อย ผู้ใหญ่ทอง สาดี หมายความว่าคนในชุมชนเป็นครอบครัวเดียวกันจริงๆ”
“โปรเจกต์ที่สองเกิดขึ้นมาบนคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมรู้จักกันดีขึ้น เพราะแม้กระทั่งพี่น้องใกล้ชิดกันก็ยังไม่รู้ว่าเป็นพี่น้องที่มาจากต้นตระกูลเดียวกัน จากต้นตระกูลหกคน นามสกุลก็ไปคนละทิศละทาง ดังนั้นถ้าเด็กอยากรู้เรื่องประวัติชุมชน ตัวเราเองก็ยังรู้ตรงนี้ไม่ลึก เด็กต้องไปหาข้อมูลจากผู้สูงอายุเอง มีปราชญ์ที่เป็นแกนนำในพื้นที่อยู่สองสามคน อาทิตย์นี้ได้มาสักสองเรื่อง อาทิตย์หน้าตั้งข้อสงสัยอีกก็ไปถามต่ออีก เจาะลึกขึ้นมาเรื่อย ๆ ครู คณะกรรมการหมู่บ้านกับคณะกรรมการมัสยิดเป็นสื่อกลางในการเชื่อมระหว่างกัน”
“ในพื้นที่เด็กเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ หลังจากทำงานกับผู้สูงอายุมาในโปรเจกต์แรกเรื่องสุขภาพ ตอนนั้นเด็กๆ ฉุกคิดจากการที่ไปนั่งเผชิญหน้ากัน แล้วไม่รู้จักกันเลยทั้งที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน สิ่งที่เห็นชัดเจนจากโปรเจกต์แรกคือ เราได้น้ำตาจากผู้สูงอายุ เพราะเขาไม่รู้ว่านี่คือลูกคือหลานของเขาเอง เด็กไม่เคยเข้าหาผู้สูงอายุ อยู่คนละส่วนกัน หลังจากนั้นก็มานำเสนอแล้วมานั่งคุยกันว่าเหมาะสมแล้วที่จะทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ เน้นไปที่เรื่องวงศ์ตระกูลของคนในพื้นที่”
พลังคนต่างวัยถักทอชุมชนให้เข้มแข็ง
การพัฒนาจุดชมวิวเขาน้อย รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีธรรมชาติและวิถีชุมชนของคนบ้านเขาน้อย เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย ที่บอกว่าทุกเพศทุกวัยนั้นไม่ใช่คำกล่าวลอยๆ แต่เป็นแบบนั้นจริงๆ ที่บ้านเขาน้อย
“ตลาดเขาน้อยเป็นตลาดเช้า เปิดตั้งแต่หกโมงเช้าถึงเก้าโมง เปิดมาได้สองปีแล้ว นักท่องเที่ยวหรือคนที่ลงมาจากเขามักแวะทานอาหารกันตรงนั้น มีผักผลไม้พื้นบ้านจากพี่น้องในชุมชน ทุกวันพุธมีตลาดเย็น พอคนในชุมชนมาทำกิจกรรมด้วยกัน เราก็เริ่มสร้างธุรกิจของชุมชนขึ้นมา จัดให้มีตลาดช่วยพี่น้องที่อยู่ในพื้นที่ นำโปรเจกต์ของกลุ่มเยาวชนเข้าไปใช้ กำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ คนมาจากที่ไหนก็ตามเมื่อมาช็อปที่ตลาดนี้ จะไม่มีคนสูบบุหรี่ เป็นที่เข้าใจกันแล้วว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ปลอดบุหรี่จริงๆ”
ภาพความระเบียบและความสงบสุขของชุมชนเขาน้อยในวันนี้ ได้ถูกหล่อหลอมขึ้นผ่านบทเรียนในอดีตตลอดช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปก่อนหน้าปี 2552 ครูสอและ กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองทำให้ชุมชนเปราะบาง จุดด้อยของพื้นที่ คือ ผู้นำศาสนา ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำท้องถิ่น ไม่หันหน้าเข้าหากัน ไม่มีการปรึกษาหารือในการทำงานเพื่อชุมชน เพราะมีแนวทางการทำงานไปกันคนละทิศคนละทาง แต่ความสามัคคีทำให้ปัจจุบันระบบกลไกชุมชนกลับมาทำงานได้อย่างเข้มแข็ง
“ยุคนั้นเลือกตั้งบ่อย ผู้ใหญ่บ้านวาระแค่ห้าปีต้องเลือกใหม่ ท้องถิ่นสี่ปีเลือกตั้งใหม่ เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งฝ่าย แต่องค์กรศาสนาเป็นองค์กรที่มั่นคง สององค์กรนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ เลยไม่สามารถหลอมรวมคนในพื้นที่ให้มาอยู่ในจุดเดียวกันได้ แต่หลังจากได้ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันมา เขาเข้าหาผู้นำศาสนา มานั่งพูดคุยกัน มานั่งแก้ปัญหาร่วมกัน กลายเป็นโมเดลการทำงานร่วมกันของชุมชนในท้ายที่สุด”
“การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ทั้งฝ่ายปกครองกับฝ่ายศาสนามาคุยกัน สนับสนุนบุคคลที่เข้าไปอยู่ตรงนั้น หากใครไม่ตามมติของผู้นำท้องที่กับผู้นำศาสนา ถึงลงเลือกตั้งไปโอกาสที่ได้ตำแหน่งมีน้อย พอเราได้ทั้งสามส่วนของผู้นำมาเป็นองค์รวม เพื่อร่วมกันแก้ปัญหากันทั้งหมด จึงทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็งขึ้นมา ในช่วง 2552 – 2557 เป็นช่วงที่สังคมบ้านเขาน้อยกำลังปรับเปลี่ยน แล้วกลับมาเป็นสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข”
ปัจจุบันกลไกชุมชนบ้านเขาน้อยได้รับมอบหมายให้ต่อยอดโมเดลการพัฒนาชุมชนไปยังพื้นที่ข้างเคียง มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุน เสริมจุดแข็งของชุมชน เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สาขาผังเมือง ได้เข้ามาวางแปลนพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เรื่องถนนสุขภาพเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ชุมชน และจับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ส่งเสริมการปลูกผักคอนโดเพื่อสุขภาพในพื้นที่ด้วย เป็นการสานต่อโครงการของกลุ่มเยาวชนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ครูสอและ กล่าวว่า หัวใจของการพัฒนาเด็กและเยาวชน ร่วมถึงการพัฒนาชุมชน คือ ความเสมอภาค ทุกคนต้องได้รับสิทธิเสมอภาคเหมือนกัน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูดได้แสดงความคิดเห็น เมื่อทุกคนมีพื้นที่ในการสื่อสาร การประสานงานเพื่อทำงานร่วมกันจะเป็นไปได้ง่ายและมีทิศทาง
“ปัจจัยที่ชัดเจนเลยก็คือผู้นำในท้องที่ ทั้งสามส่วน ทั้งศาสนา ทั้งท้องที่ แล้วก็ท้องถิ่น หากเด็กทำไปแล้วทั้งสามส่วนไม่เป็นตัวหนุนเสริม ไม่ให้โอกาสก็ลำบาก เด็กจะเดินไปไม่ได้ ปัจจัยที่สอง พี่เลี้ยงต้องเอาใจใส่ต้องเป็นกันเอง อยู่เสมือนพี่กับน้อง แม่กับลูก ทำงานร่วมกันได้ สามารถสื่อสารกันเข้าใจระหว่างพี่เลี้ยงกับเด็ก พี่เลี้ยงต้องเป็นที่ไว้วางใจของเด็ก เด็กมีความเชื่อมั่นในตัวของพี่เลี้ยง
สำหรับครูลูกตัวเองอยู่กับครูอย่างไร ลูกของคนอื่นก็อยู่กับครูแบบนั้น นั่นคือจุดที่เด็กให้ความไว้วางใจ อยู่กับเราแล้วเขาปลอดภัย เขามีความสุข ลูกเขาก็เหมือนลูกเรา เด็กทุกคนสามารถเข้ามาพูดคุยได้ตลอด ไม่ต้องกลัวการเข้าหาเรา”
“ปัจจัยที่สาม การบริหารจัดการเงิน เราเปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโครงการของเขา เด็กทำบัญชีเอง เด็กต้องรู้ว่ามีงบประมาณอยู่เท่านี้ ระยะเวลางานเหลืออีกสองเดือนต้องทำอย่างไร ต้องวางแผนแล้ว มิฉะนั้นปัจจัยของเราอาจไม่สอดคล้องกัน แล้วพอหลายส่วนมาหนุนเสริม มันช่วยให้การขับเคลื่อนกิจกรรมของเราไปได้เร็วขึ้น”
เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง หลังจากมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับเด็กเยาวชนและชุมชนอย่างหลากหลายตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ครูสอและ กล่าวทิ้งท้ายสั้นๆ ว่า
“ครูได้พัฒนาตัวเองไปเยอะ หลายเรื่องราวเราไม่รู้ แต่พอมาทำโครงการเราได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น เช่น เรื่องการอยู่กับเด็ก ทักษะชีวิตในการเข้าใจเด็ก เรามีวุฒิภาวะมากขึ้น มีภาวะผู้นำมากขึ้นจากการรับบทบาทตรงนี้
หากเรายังใช้ชีวิตเดิมๆ ของเรา ไม่พัฒนาไม่ได้เรียนรู้จากตรงนี้ แม้กระทั่งการพูดกับเด็กก็ถือเป็นปัญหาสำคัญแล้ว เมื่อก่อนบางทีเราอาจพูดไม่เข้าหูเด็กบ้าง เราก็เข้าใจว่าเยาวชนวัยรุ่นเป็นช่วงที่อ่อนไหว แต่พอเราได้พัฒนาตัวเอง เราสามารถเลือกใช้คำพูดวาจาต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้เข้าร่วมโครงการ นี่ถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นใจ
อย่างที่บอก สิ่งสำคัญคือเรื่องของความไว้วางใจ ต้องเอาความซื่อสัตย์และความเสียสละของเราเข้ามาส่วนหนึ่งในการทำงานตรงนี้”