Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Unique Teacher
11 August 2021

ครูวรวุฒิ ขึ้นสันเทียะ : ห้องเรียน Active Learning หน่วยพิทักษ์สายน้ำแห่งบางเสร่ เมื่อครูกับนักเรียนคือบัดดี้ที่เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • โครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน (OECD) 6 ขั้นตอน นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุก หรือ Active Learning ที่ครูวรวุฒิขึ้นสันเทียะ โรงเรียนชุมชนบ้านบางเสร่ จังหวัดชลบุรี นำมาใช้กระตุ้นการคิด นำไปสู่การออกแบบชิ้นงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริงของนักเรียน โดยเน้นสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ผ่านเครื่องมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
  • Force Connection เป็นเทคนิคที่ครูนำมาใช้ขยับเปิดประเด็นการเรียนรู้ ครูให้นักเรียนเลือกคำที่ชอบหรือสนใจ แล้วแบ่งหมวดหมู่เขียนคำเหล่านั้นลงไปในตารางจนครบทุกคน หลังจากนั้นให้วงกลมเลือกคำที่ชอบหรือสนใจในแต่ละหมวดอีกครั้ง
  • “จากการจัดการเรียนการสอนในหน่วยผู้พิทักษ์สายน้ำแห่งบางเสร่ นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ เขารู้ว่าต้องการเรียนเรื่องอะไรเพราะได้สำรวจ สร้างแรงบันดาลใจ และออกแบบสิ่งที่อยากเรียนรู้ด้วยตนเอง 

“นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง” ฟังดูเหมือนง่าย เหมือนครูไม่ต้องทำอะไร ให้นักเรียนคิดเองทำเอง แต่เบื้องหลังการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดเองทำเอง ‘ครู’ เป็นกำลังสำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อการสนับสนุนและช่วยกรุยทางให้นักเรียนสร้างการเรียนรู้ของตัวเองได้ หมายความว่า ครูจะอยู่เฉยไม่ได้เป็นอันขาด

เช่นเดียวกับการจัดการเรียนการสอนของ ครูวรวุฒิ ขึ้นสันเทียะ โรงเรียนชุมชนบ้านบางเสร่ จังหวัดชลบุรี ครูเป็นเพื่อนชวนคิดพานักเรียนออกแบบการเรียนรู้ด้วยตัวเอง คาบเรียนนี้บูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เข้ากับ โครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน (OECD) ครูให้อิสระนักเรียนคิด ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสมผสานกับกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สร้างโปรเจคจนเกิดเป็นชิ้นงานต้นแบบ ที่เป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตของคนในชุมชน

ที่ที่ฉันอยู่นี้มีอะไรอยู่บ้าง

หน่วยบูรณาการ นักพิทักษ์สายน้ำแห่งบางเสร่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนชุมชนบ้านบางเสร่ จังหวัดชลบุรี เป็นคาบเรียนที่ไม่เคยหมดความสนุก ครูให้นักเรียนมีส่วนร่วมสร้างการเรียนรู้ทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การออกไปเปิดประสาทสัมผัส ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนที่เป็นบ้านของนักเรียนเอง เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจมาช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ ครูให้นักเรียนได้ลงมือทำไปทีละขั้นตอน วางบทบาทเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริม และคอยตั้งคำถาม เพื่อนำนักเรียนไปสู่เป้าหมายการเรียนรู้ที่ ‘นักเรียน’ วางไว้ ครูกับนักเรียนจึงเป็นเหมือนบัดดี้ที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทำให้ครูสามารถประเมินผล ติดตาม และสังเกตพัฒนาการของนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง แล้วสามารถชวนนักเรียนพัฒนาไอเดียต่อยอดจากสิ่งที่ทำได้

วันนี้ The Potential มาเปิดห้องเรียนครูวรวุฒิ ให้ได้สนุกไปด้วยกัน!!

จู่ๆ จะให้นักเรียนออกไปสำรวจชุมชนโดยไม่มีเป้าหมายก็คงไม่ใช่ เป้าหมายของการสำรวจ คือ การเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) รวมถึงอารมณ์ความรู้สึก แล้วบันทึกสิ่งที่รับรู้ได้ออกมาเป็นคำศัพท์ เช่น สมุด ปากกา ดินสอ เสียงนก ความรู้สึกร้อนหรือเย็น เป็นต้น 

ประเด็นชวนคิดก็คือว่า บางอย่างมีอยู่แต่อาจมองไม่เห็น บางอย่างส่งเสียงแต่อาจไม่เคยได้ยิน น่าสงสัยเหมือนกันว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า

ครูวรวุฒิ เล่าว่า เมื่อกลับมาถึงห้องเรียนยังไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แค่หยิบกระดาษชาร์ทแผ่นใหญ่กับปากกาที่ครูเตรียมไว้ให้ขึ้นมา แบ่งกลุ่มแล้วเขียนสิ่งที่ตัวเองพบลงในกระดาษ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการทำ Force Connection

Force Connection เป็นเทคนิคที่ครูนำมาใช้ขยับเปิดประเด็นการเรียนรู้ ครูให้นักเรียนเลือกคำที่ชอบหรือสนใจ แล้วแบ่งหมวดหมู่เขียนคำเหล่านั้นลงไปในตารางจนครบทุกคน หลังจากนั้นให้วงกลมเลือกคำที่ชอบหรือสนใจในแต่ละหมวดอีกครั้ง

“ในชุมชนของเรา นักเรียนพบเจออะไรบ้างที่อยากให้ดีขึ้น” 

“สิ่งที่นักเรียนภูมิใจในชุมชนคืออะไร?” ครูตั้งคำถามกับนักเรียน

“ผมภูมิใจในทะเลบางเสร่ครับ” 

“หนูรู้สึกภูมิใจและอยากดูแล ถนนสายวัฒนธรรม หมู่บ้านชาวประมงบางเสร่ค่ะ” นักเรียนตอบ

ครูให้นักเรียนมองกลับไปในกระดาษแล้วถามต่อว่า 

“ในคำที่นักเรียนนำมาเชื่อมโยงกันนี้ สามารถนำคำเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เป็นวิธีการหรือชิ้นงานที่ช่วยให้ชุมชนดีขึ้นยังไงได้บ้าง หรือช่วยให้สิ่งที่เราภูมิใจในชุมชน อยู่คู่กับชุมชนบางเสร่ต่อไปยังไงได้บ้าง” 

ที่เล่ามานี้เป็นแค่ส่วนเสี้ยวของโครงงานนวัตกรรมเพื่อชุมชน (OECD) 6 ขั้นตอน นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบเชิงรุก หรือ Active Learning ที่ครูวรวุฒินำมาใช้กระตุ้นการคิด นำไปสู่การออกแบบชิ้นงานที่ใช้ประโยชน์ได้จริงของนักเรียน

OECD 6 ขั้นตอน คิดสร้างสรรค์คิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ 

ฐานเรียนแบบ Active Learning ของ OECD เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นสร้างทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณ ผ่านเครื่องมือขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ ​OECD ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้กัน​ใน 14 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบันนวัตกรรมนี้กำลังถูกนำมาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนในประเทศไทย 

ทั้งนี้ เครื่องมือของ OECD มี 2 ส่วน ส่วนแรก คือ แบบประเมินวัดความสามารถของผู้เรียน ให้ผู้เรียนเกิดทักษะจากการทำแบบฝึกหัดซึ่งแทรกซึมอยู่ในข้อสอบที่บูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว เรียกว่า STEM

ส่วนที่สอง กระบวนการเรียนการสอนแนว Innovative Base หรือการเรียนเพื่อนำไปสู่การคิดนวัตกรรม โดยใช้ 6 ขั้นตอน จาก OECD ที่ถูกปรับปรุงให้เหมาะสมกับสังคมไทย ได้แก่ 

  1. การประเมินทักษะการคิดของผู้เรียน (ก่อนเรียน) 
  2. การคิดประเด็นการเรียนรู้จากแรงบันดาลใจ 
  3. การวางแผนบูรณาการ ความร่วมมือในการเขียนแผนระหว่างครูกับนักเรียน 
  4. การจัดการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ​ 
  5. รีเฟลคชั่น หรือ การคิดสะท้อนให้ผู้เรียนประเมินตัวเอง และ
  6. ​เน้นย้ำ ซ้ำทวน ชวนคิดต่อยอด ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาเป็นเครื่องมือ

สิ่งหนึ่งครูวรวุฒิให้ความสำคัญ คือ การประเมินทักษะการคิดผู้เรียนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ครูรู้ว่านักเรียนแต่ละคนมีความโดดเด่นเรื่องอะไร ไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสินแต่ครูจะนำผลจากการประเมินทักษะมาจัดกลุ่มผู้เรียนให้เพื่อนช่วยเพื่อน อีกด้านหนึ่งครูเองจะได้รู้ว่าควรเข้าหานักเรียนแต่ละคนแบบไหน แล้วควรเปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงทักษะที่โดดเด่นของตัวเองออกมาอย่างไร

“ในช่วงที่นักเรียนต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ คนที่คิดได้อยู่แล้ว ครูไม่ต้องเข้าไปกระตุ้นมาก แต่ให้เวลากับผู้เรียนที่ขาดทักษะด้านนี้ ด้วยการเข้าไปตั้งคำถามช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ หรือคนนี้เก่งด้านคิดรวบยอดก็ให้เขาได้นำเสนอกับเพื่อนๆ ทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจ” 

นวัตกรรมที่เกิดจากการเอาใจ…ใส่ชุมชน

ครูวรวุฒิ กล่าวว่า นอกจาก เครื่องมือ Force Connection แล้ว ขั้นที่ 2 การคิดประเด็นการเรียนรู้จากแรงบันดาลใจ สิ้นสุดลงที่การทำ ‘FILA Mapping‘ ด้วยการให้นักเรียนแต่ละกลุ่มนำกลุ่มคำจากการเชื่อมโยงใน Force Connection มาสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ช่วยรักษาสิ่งที่นักเรียนภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง

FILA ย่อมาจาก 

F = Fact ความจริงที่เกิดขึ้น เป็นที่มาของปัญหาสาเหตุของการทำสิ่งประดิษฐ์หรือผลงานนี้

I2 = Idea, Innovation นวัตกรรม หรือวิธีการที่จะทำให้ปัญหาหายไป

L = Learning issue ความรู้และทักษะที่ต้องใช้ในการสร้างนวัตกรรมจนสำเร็จลุล่วงไป

A = Action Plan วิธีดำเนินการหรือแผนในการสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จ

“สำหรับประเด็นการเรียนรู้ ผมจะตั้งคำถามระหว่างที่นักเรียนกำลังคิด เช่น หนูรู้ได้อย่างไร หรือมีวิธีการสังเกตยังไงจึงรู้ว่าเป็นน้ำเสีย ครูต้องตั้งคำถามเพิ่มเติมไปในระหว่างเด็กทำกิจกรรมเลย พยายามโยนคำถามเข้าไปเพื่อให้นักเรียนคายสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้มาเรื่อยๆ โดยที่ครูไม่บอกเลยว่าต้องมีการลำดับการเรียนรู้เรื่องใดก่อนหลัง แล้วพอทำชิ้นงานจริงๆ ไป จะมีประเด็นการเรียนรู้เกิดขึ้นมาให้เขาแก้เพิ่มเติม” ครูวรวุฒิ กล่าว

เครื่องบำบัดน้ำเสียของชุมชน

“พวกเราเดินสำรวจผ่านเส้นทางคลองที่ไหลลงทะเล ทุกคนได้กลิ่นเหม็นมาก ทำให้พวกเราอยากแก้ปัญหานี้โดยการสร้างเครื่องบำบัดน้ำเสียด้วยนวัตกรรมของพวกเราเอง” พันทวงษ์ วงอุทร เอ่ยถึงที่มาที่ไปของชิ้นงาน

เครื่องบำบัดน้ำเสียมาจากสิ่งที่นักเรียนพบในชุมชน แล้วถูกจำแนกหมวดหมู่ออกมาเป็น ทรัพยากรธรรมชาติ อาชีพ เครื่องใช้ไฟฟ้า แหล่งท่องเที่ยว และปัญหาที่ต้องแก้ไข แล้วเชื่อมโยงคำว่า ปู ชาวประมง คอมพิวเตอร์ หาดบางเสร่ และ น้ำเน่าเสีย พัฒนาขึ้นมาเป็นชิ้นงาน ครูวรวุฒิ เล่าว่า นักเรียนต้องการสร้างเครื่องบำบัดที่ดึงน้ำเน่าเสียจากคลองมาผ่านเนื้อเยื่อบาง ๆ เพื่อบำบัดคุณภาพน้ำก่อนปล่อยให้ไหลลงชายหาดบางเสร่และใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นตัวควบคุม

“กลุ่มเครื่องบำบัดน้ำเสีย ในครั้งแรกทำมอเตอร์ดูดน้ำมาผ่านเครื่องกรอง มอเตอร์หมุนช้าเกินไป ผ่านไปสักพักมอเตอร์หยุด นักเรียนเลยเจาะใบพัดมอเตอร์เพื่อลดแรงต้านในน้ำ ระหว่างทำงานอุปกรณ์การเจาะไม่พอ นักเรียนเลยใช้ธูปจุดไฟมาช่วยเจาะแต่ธูปดับทุกครั้งที่โดนพลาสติก ทดลองไปเรื่อยๆ จนพบว่าต้องเป่าธูปให้แดงตลอดระหว่างที่เจาะ ทุกขั้นตอนที่ทำนักเรียนได้เรียนรู้ แล้วทดลองใหม่เมื่อทำพลาด” ครูวรวุฒิ เล่า

ท้ายที่สุดแล้วแม้การติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมยังไม่สามารถทำได้ในหน่วยการเรียนครั้งนี้ แต่สมาชิกในกลุ่มตั้งใจพัฒนาเครื่องบำบัดน้ำเสียให้มีความสมบูรณ์ในอนาคต นักเรียนยืนยันว่าการเรียนบูรณาการแบบนี้ทำให้พวกเขาสนุก มีความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาที่พบจากการลงมือทำและอยากทำให้สำเร็จ เพราะอยากให้ชิ้นงานถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

“จากการจัดการเรียนการสอนในหน่วยผู้พิทักษ์สายน้ำแห่งบางเสร่ นักเรียนกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ เขารู้ว่าต้องการเรียนเรื่องอะไรเพราะได้สำรวจ สร้างแรงบันดาลใจ และออกแบบสิ่งที่อยากเรียนรู้ด้วยตนเอง 

“เขาได้สืบค้นจนมองเห็นกระบวนการเรียนรู้ชัดเจน พอมาทำจริงบางครั้งไม่ได้เป็นไปตามที่สืบค้น ไม่เหมือนในตำรา ก็มีการแก้ไขปัญหาและมีการประเมินผล นักเรียนจะพบความรู้และเป็นความรู้ที่เหมาะกับตัวเองด้วย” ครูวรวุฒิ กล่าว

หน่วยบูรณาการ นักพิทักษ์สายน้ำแห่งบางเสร่ ทำให้เยาวชนกลุ่มเล็กๆ มองเห็นบ้านของตัวเองในมุมมองใหม่ สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ เกิดความใส่ใจ แล้วเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับชุมชน เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้พวกเขารักและดูแลสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป

ปัจจุบันครูวรวุฒิ ย้ายจากโรงเรียนชุมชนบ้านบางเสร่ไปสอนที่โรงเรียนบ้านตะคร้อ จังหวัดนครราชสีมา บรรยากาศการเรียนในห้องเรียนยังคงเต็มไปด้วยความสนุกสนานและเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

Tags:

Active Learningหน่วยพิทักษ์สายน้ำแห่งบางเสร่ครูวรวุฒิ ขึ้นสันเทียะ

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Book
    ครบรอบ 20 ปี หนังสือ ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย’ กับคำถามที่ว่า การศึกษายังคงเป็นเพียงเรื่องฉาบฉวย?

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trendSocial Issues
    ข้อสังเกตในยุคที่ ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ เมื่อ AL อาจทำให้มุมมองการสอนของเราแคบลง

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • ‘ปูม้าที่หายไป’ โจทย์การเรียนรู้บริบทชุมชนที่เด็กออกแบบเอง: โรงเรียนบ้านแหลมไทร จังหวัดตรัง

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learningSocial Issues
    ‘อยู่รอดปลอดภัย’ วิชาที่ช่วยให้เด็กคิดได้-ทำเป็น เพราะภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องไกลตัว

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Beyond Schooling : 3 รูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่หยุดแค่รั้วโรงเรียน

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel