- เริ่มจากการสังเกตเห็นเพื่อนบ้านปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำ แต่ผู้ใหญ่แถวนั้นไม่มีใครลงมือทำอะไรเลยสักคน
- เด็กหญิงวัย 11 ปีจึงลุกขึ้นมาเปิดเพจเฟซบุ๊คและติดป้ายแจ้งเตือนว่า “แม่น้ำสายนี้สกปรก” หลังจากทดสอบแล้วว่าปนเปื้อนไปด้วยแบคทีเรียจากอุจจาระ…อี๋
- นอกจากรางวัลโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ได้มา สิ่งสำคัญกว่าคือ การแก้ปัญหาน้ำเสียระดับนโยบาย โดยมีจุดเปลี่ยนมาจากเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
“ฉันอยากว่ายน้ำแต่แม่ก็ห้ามเสมอ”
ตอนอายุได้ 11 ปี สเตลลา โบลส์ (Stella Bowles) เธอสวมรองเท้าบู๊ทยางลงไปเก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำลาเฮฟข้างบ้านมาทดสอบ บ้านของเธออยู่ในแถบชายฝั่งตอนใต้ของรัฐโนวาสโกเชีย แคนาดา หลังจาก อันเดรีย คอนราด แม่ของเธอบอกว่าเพื่อนบ้านกำลังใช้ท่อตรงอย่างผิดกฎหมาย ในปี 2015
“แม่อธิบายว่ามันเป็นท่อที่ต่อตรงจากห้องน้ำในบ้านสู่แม่น้ำ โดยไม่มีผ่านการบำบัดใดๆ นั่นทำให้ฉันมีคำถามต่อมาอีกเพียบ”
โบลส์ เรียนรู้วิธีการทดสอบน้ำจาก เดวิด แม็กซ์เวล นักฟิสิกส์และอดีตศาสตราจารย์ที่เกษียณแล้ว เด็กหญิงเก็บตัวอย่างน้ำนำมาวิเคราะห์และพบระดับของการปนเปื้อนอุจจาระในแม่น้ำสูงกว่ามาตรฐานที่รัฐบาลกลางแคนาดากำหนดไว้ – มันสกปรกเกินกว่าจะลงว่ายน้ำหรือแม้กระทั่งแล่นเรือผ่าน
ไม่นานหลังจากนั้น โบลส์ วางป้ายขนาดใหญ่ใกล้ท่าจอดเรือเตือนว่าแม่น้ำนี้ปนเปื้อนไปด้วยแบคทีเรียจากอุจจาระ เธอเปิดเพจในเฟซบุ๊คเพื่อกระตุ้นสมาชิกในชุมชนตามไอเดียของแม่ด้วย ทั้งคู่คิดว่าเพจนี้จะทำให้คนราว 100 คนรับรู้เรื่องแม่น้ำสกปรก แต่ผิดคาด เพราะมันเข้าถึงได้หลายพันคนในไม่กี่วันและกลายเป็นเรื่องที่ชาวชุมชนพูดถึงไปทั่ว
แคโรลิน โบลิวาร์-เก็ทสัน (Carolyn Bolivar-Getson) นายกเทศมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมใช้ระบบร้องเรียนเพื่อควบคุมการใช้ท่อตรงอย่างผิดกฎหมาย คือต้องมีรายงานการร้องเรียนก่อนจึงจะสามารถจัดการได้ และดูจากจำนวนครัวเรือนที่ใช้ท่อตรงทำให้การบังคับใช้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย
“ฉันคิดจริงๆ นะว่า จุดเปลี่ยนมาจากโครงงานวิทยาศาสตร์ของเด็กหญิงวัย 11 ปี – สเตลลา โบลส์”
การตรวจสิ่งปนเปื้อนในแม่น้ำทำให้เด็กหญิงคว้าเหรียญเงินจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์งานแสดงวิทยาศาสตร์ปี 2017 ในฤดูร้อนปีเดียวกัน เธอช่วยโน้มน้าวให้รัฐบาลแคนาดาเปลี่ยนท่อทั้งหมดที่ต่อตรงลงแม่น้ำลาเฮฟเป็นถังบำบัดน้ำเสียภายในปี 2023 ทางการวางแผนจะติดตั้งถังบำบัดจำนวน 50-100 ถังในปี 2018 และอีกปีละ 100 ถังจนถึงปี 2023
ก่อนหน้านี้ แม็กซ์เวล เคยทดสอบและบันทึกการเพิ่มจำนวนแบคทีเรียในแม่น้ำนานสองปีก่อนจะส่งผลให้รัฐบาลและเผยแพร่สู่สาธารณะในแบบของเขาแต่ก็ไม่สำเร็จ เขามองว่า ความแตกต่างระหว่างแคมเปญของเขากับ โบลส์ คือแก่นของมัน
“เด็กๆ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอิทธิพลต่อรัฐบาลด้วยการใช้ทักษะของโลกโซเชียลมาเป็นเครื่องมือสำคัญ เพราะคุณก็รู้ดีว่าคุณไม่อาจปฏิเสธเด็กได้หรอก”
ตอนนี้ โบลส์ วัย 14 ปีได้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง My River และยังออกแบบอุปกรณ์ทดสอบน้ำให้กับเด็กคนอื่นๆ ในโนวาสโกเชียโดยใช้เงินทุนจากรางวัลที่เธอได้ แถมยังฝึกให้พวกเขาทดสอบแหล่งน้ำในชุมชนตัวเองด้วย
“ฉันอยากแสดงให้เด็กคนอื่นๆ เห็นว่า วิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือเหมือนที่โรงเรียน”
ผู้ใหญ่เป็นกองหนุน
งานวิจัยหลายแห่งแนะนำว่า ครอบครัวที่ทำงานอาสาร่วมกันจะมีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น และการมีส่วนร่วมในชุมชนจะช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเอง แถมลดโอกาสเกิดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจเกิดในช่วงวัยรุ่น ได้ด้วย
มาดูกันว่าในฐานะผู้ใหญ่ใกล้ตัวเด็ก เราจะสามารถทำอะไรให้พวกเขาได้บ้าง
- กระตุ้นความรับผิดชอบด้วยการมอบหมายงานบ้านให้ทำ
- กระตุ้นให้เด็กๆ ช่วยคิดหาวิธีช่วยเหลือคนอื่นแบบง่ายๆ
- ทุกครั้งที่คุณจะช่วยคนอื่น ลองให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมด้วย
- อ่านหรือเล่าเรื่องเด็กคนอื่นๆ ที่ช่วยเหลือให้ชุมชนดีขึ้น
- ส่งเสริมให้เด็กๆ เข้าร่วมในกิจกรรมที่ตรงกับความถนัดและความสนใจของพวกเขา เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ เพื่อช่วยให้เด็กๆ มองเห็นจุดแข็ง ทิศทาง เป้าหมาย และความเพลิดเพลินของตัวเอง
กิจกรรมช่วยเหลือชุมชนสไตล์เด็กๆ
อ๊ะ…ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งไปเร่งให้พวกเขากระโดดไปร่วมกิจกรรมในกลุ่มเคลื่อนไหวใหญ่ๆ เพราะพวกเขาอาจไม่เข้าใจและคงรีบถอยหนีให้เร็วที่สุด ลองมาเริ่มต้นด้วยกิจกรรมง่ายๆ ก่อนดีกว่า
- รู้จักลงคะแนนเสียง ลองให้พวกเขาได้เลือกและออกความเห็นในสิ่งที่พวกเขาอยากช่วย แม้จะเป็นกิจกรรมเล็กน้อยอย่างให้อาหารสัตว์ มันจะมีความหมายมากหากเด็กๆ ได้เลือก
- เริ่มต้นใกล้ๆ บ้าน เช่น ช่วยถอนหญ้าหรือกวาดใบไม้ให้คุณยายข้างบ้าน หรือช่วยทำธุระให้เพื่อนที่ป่วยอยู่ แล้วนำประสบการณ์นี้มาพูดคุยโยงไปถึงการช่วยเหลือชุมชนที่กว้างมากขึ้น
- ส่งต่อคำขอบคุณ ชวนเด็กๆ และเพื่อนของเขามาทำกิจกรรมให้คนในชุมชน เช่น ทำการ์ดขอบคุณให้คุณลุงที่คอยรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน หรือทำการ์ดปีใหม่ให้คุณตำรวจจราจร ลองคุยกับพวกเขาดูว่ามีใครบ้างที่เด็กๆ อยากขอบคุณ
- กิจกรรมรักษ์โลก เริ่มด้วยกิจกรรมง่ายๆ อย่าง พกขวดน้ำประจำตัวเพื่อลดการใช้พลาสติก ช่วยเก็บขยะตามข้างทาง หรือกิจกรรมอะไรก็ได้ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเท่าที่เขาจะทำได้