- การบอกเด็กไปว่าใครสักคนได้ตายไปแล้ว และเขาจะไม่กลับมาอีก จะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น
- ข้อดีของเด็กๆ คือ การแสดงความเสียใจ และร้องไห้อย่างเปิดเผย สิ่งนี้ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งกว่าผู้ใหญ่ใกล้ตัวเสียอีก
- วิธีสนับสนุนเด็กๆ ที่รู้สึกสูญเสียได้ดีที่สุดคือ ฟังเขาโดยไม่ตัดสิน และ ให้กำลังใจขณะที่เขาเศร้า เปิดใจและเปิดกว้าง ยินดีตอบทุกๆ คำถามของพวกเขาที่จะนำไปสู่การรู้ทันความรู้สึก
ความตายเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับ แต่สำหรับเด็กๆ มันอาจจะยากมากกว่าถ้าจะอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ความตายคืออะไร ในทางกลับกัน เด็กๆ มักจะถามว่า “แล้วเมื่อไหร่ …จะกลับมา” หรือ “เมื่อไหร่หนูจะได้เจอ…อีก”
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา แชนนอน เบอร์เบอร์รี (Shannon Burberry) มืออาชีพผู้รับจัดงานศพที่บ้าน (Funeral Home Manager) ในสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า การบอกเด็กไปตรงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้นจะเป็นการดีกว่า อย่างไรก็ตาม รายละเอียดและข้อมูลว่าควรบอกอย่างไร ต้องคำนึงเรื่องอายุเด็กเป็นสำคัญ
หลายปีก่อนที่การ์ตูนชุด Sesame Street มีเหตุกาณ์สำคัญคือ การเสียชีวิตของ Mr.Hooper และ Big Birds ไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ได้เพื่อนๆ ช่วยกันอธิบายอย่างตรงไปตรงมาผ่านภาษาที่กระชับ ชัดเจน ว่าการตายคืออะไรและไม่สามารถทำให้มนุษย์กลับมามีชีวิตได้อีก ท้้งหมดนี้ช่วยให้ Big Birds เข้าใจและยอมรับได้ว่า Mr.Hooper ได้ตายไปแล้วและเขาจะไม่มีวันกลับมาอีก การเศร้าเสียใจเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ขณะเดียวกันเราก็สามารถระลึกถึงความทรงจำดีๆ ที่เราเคยใช้ชีวิตร่วมกับผู้เสียชีวิตได้เช่นกัน
ปล่อยให้เขาเศร้าและร้องไห้
เด็กๆ มีความสามารถในการทำความเข้าใจมากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด การบอกเขาด้วยประโยคว่า “คุณย่าหลับไปแล้ว” หรือ “”คุณปู่จากเราไปแล้ว” ยิ่งจะทำให้เขาสับสน
การบอกเด็กไปว่าใครสักคนได้ตายไปแล้ว และเขาจะไม่กลับมาอีก จะทำให้เด็กๆ เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าครอบครัวค่อนข้างเคร่งศาสนา พ่อแม่หรือญาติใกล้ชิดสามารถอธิบายไปพร้อมๆ กับความเชื่อในโลกหลังความตายของศาสนานั้นๆ ก็ได้
โดยประสบการณ์ส่วนตัวของนักจัดการงานศพอย่าง แชนนอน เบอร์เบอร์รี เห็นว่า ข้อดีของเด็กๆ คือ การแสดงความเสียใจ และร้องไห้อย่างเปิดเผย สิ่งนี้ทำให้พวกเขาแข็งแกร่งกว่าผู้ใหญ่ใกล้ตัวเสียอีก การแสดงอารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างอิสระ ทำให้พวกเขาฝึกแชร์ความคิด ความรู้สึกได้อย่างสบายใจ โดยไม่กังวลนั่นนี่ เพียงแค่ผู้ใหญ่ให้โอกาสเด็กๆ แสดงความรู้สึกออกมาเท่านั้น
การบอกให้ หยุดร้อง หรือ เงียบ เป็นเรื่องต้องห้ามอย่างยิ่ง
ให้พวกเขามีส่วนร่วมด้วย
โดยส่วนใหญ่ เด็กๆ มักจะชอบหรือดีใจเมื่อถูกมอบหมายให้ทำงาน เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ใครๆ ก็อยากรู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีประโยชน์ และสิ่งที่เรียกว่าหน้าที่จะฝึกความรับผิดชอบให้พวกเขา
เช่นเดียวกับเด็กๆ ในงานศพ เราสามารถมอบหมายหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ ให้พวกเขาคอยช่วยในงานที่ถือว่าเป็นการ “บอกลาบุคคลที่รักครั้งสุดท้าย” ได้ เขาจะเต็มใจและกระตือรือร้นอย่างมาก
หรือจะให้เด็กๆ ทำของขวัญก็เป็นอีกความคิดที่ดี
เด็กๆ ชอบทำของขวัญและมอบให้คนที่ตัวเองรัก นั่นเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน แม้ว่าผู้รับจะไม่มีลมหายใจแล้วก็ตาม การให้พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วม จะยิ่งช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น รวมถึงคนในครอบครัวทุกคน เป็นการดีที่จะร่วมกันทำของขวัญให้ผู้จากไป โอกาสนี้ดีมากที่จะใช้ตอบคำถามต่างๆ ที่เด็กๆ สงสัย สุดท้ายความร่วมมือร่วมใจที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นประสบการณ์หรือเหตการณ์ที่ช่วยบำบัดความเศร้า และให้ทุกคนไม่อายที่จะแสดงความรู้สึกออกมา
เราเศร้าไม่เท่ากัน เด็กก็เช่นกัน
ไม่มีวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการหยุดความเศร้า เด็กๆ เองก็ไม่รู้วิธีที่จะควบคุมและรู้ทันความรู้สึกตัวเอง พวกเขามักจะใช้วิธีหนีไปอยู่ในจินตนาการหรือโลกความฝันที่สร้างขึ้นมาเพื่อลืมความสูญเสีย
เด็กบางคนอาจอยู่กับเพื่อนในจินตนาการที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเพื่อข้ามผ่านความสูญเสียไปให้ได้ สิ่งนี้จะพาเด็กๆ ให้เข้าไปสำรวจโลกใบที่เขารู้สึกว่าปลอดภัย ผู้ใหญ่ควรให้โอกาสเด็กๆ เข้าไปสำรวจ ตรวจสอบความคิดและความเชื่อว่า เมื่อใครคนใดคนหนึ่งตาย จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
วิธีสนับสนุนเด็กๆ ที่รู้สึกสูญเสียได้ดีที่สุดคือ ฟังเขาโดยไม่ตัดสิน และ ให้กำลังใจขณะที่เขาเศร้า เปิดใจและเปิดกว้าง ยินดีตอบทุกๆ คำถามของพวกเขาที่จะนำไปสู่การรู้ทันความรู้สึก
พาเด็กๆ ไปงานศพด้วย
เด็กๆ มีสิทธิไปงานศพเช่นผู้ใหญ่ หลายคนอาจคิดว่ามันอาจจะหนักเกินไป หรือเด็กๆ ไม่เข้าใจหรอกว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่พ่อแม่ทำได้และควรทำคือ อธิบายกระบวนการข้้นตอนต่างๆ และบอกว่าเมื่อไปถึงงาน เด็กๆ จะเจอหรือต้องทำอะไรบ้าง
งานศพบางงานจัดที่บ้าน อนุญาตให้ครอบครัวและเด็กๆ เข้าร่วมได้ ก่อนเข้างานอาจจะให้เวลาเด็กๆ ยืนสังเกตการณ์ข้างนอกก่อนว่า ในงานมีอะไรบ้าง เด็กจะได้รุู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและรับรู้ว่านี่คือพื้นที่ในการแสดงความรู้สึก
สุดท้าย ความเศร้าและความเจ็บปวดจะค่อยๆ ง่ายขึ้น
เด็กๆ ก็ต้องโตขึ้น ความเจ็บปวดจะค่อยๆ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่ผู้ใหญ่ควรทำคืออยู่ใกล้ๆ และบอกว่ามีหลายวิธีที่จะทำให้สภาพจิตใจดีขึ้นได้ จนเมื่อเด็กๆ อายุ 6 ขวบ พวกเขาจะเริ่มรู้ว่าความตายคือสิ่งถาวร เมื่อมีใครสักคนจากไป เขาจะจากไปตลอดกาล
สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องอธิบายให้เขารู้ว่า เราต่างรักคนที่จากไปมากแค่ไหน ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ ปัจจุบันจึงสำคัญกว่า ความเจ็บปวด ความเสียใจจะคลี่คลายเป็นประสบการณ์ คล้ายกองหนุนช่วยให้พวกเขาผ่านเรื่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น คงเหลือไว้แค่ความทรงจำดีๆ ให้ระลึกถึง