- เวลาที่ลูกตั้งแง่ ศิษย์ต่อต้าน เพื่อนเย็นชาใส่ ทุกครั้งที่ได้รับผลกระทบจากอารมณ์และพฤติกรรมของพวกเขา เรามักตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร ยอมทำตาม, โมโหกลับ, เอาหลักการเข้าสู้ หรือ เฉไฉ ทำเป็นไม่สนใจ ไม่เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้น?
- นี่คือ ‘กลไกป้องกันตัวเองเมื่อเราเกิดความเครียด’ 4 ข้อใหญ่ตามหลักจิตบำบัดซาเทียร์ ใต้แนวคิด ‘แบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง’ หรือ The Iceberg Model
- รู้เพื่ออะไร? ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนคนอื่น แต่เพื่อเข้าใจว่าภายใต้พฤติกรรมที่เขาแสดงออก อาจไม่ใช่สิ่งที่คิดจริงๆ เหนือสิ่งอื่นใด รู้เพื่อสำรวจกลไกตั้งรับและความคิดที่เราอาจไม่เคยรู้ว่ามีอยู่
- ซาเทียร์มีวิธีการและรูปแบบที่หลากหลาย แต่หัวข้อที่ยกมาชวนคุยวันนี้คือ การทำความเข้าใจบุคคลผ่านที่มาครอบครัว และแบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2558 ให้ความหมายสำนวน ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ ว่า ‘ลูกย่อมไม่ต่างจากพ่อแม่มากนัก’ พ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูเป็นแบบไหน มีพฤติกรรมแบบไหน ลูกย่อมเลียนแบบและซึมซับพฤติกรรมแบบนั้น
ในอีกความหมาย ไม่ใช่แค่พฤติกรรมที่ลูกซึมซับ แต่คือวิธีมองโลก พฤติกรรมอัตโนมัติ(ที่แก้ไม่หาย) คำอธิบายว่าทำไมเราจึงสร้างกำแพงป้องกันตัวเองจากเรื่องบางอย่าง หรือมักถูกดึงดูดเข้าหาบางสิ่ง ถ้าค้นให้ลึกลงไปจริงๆ อธิบายได้จากประสบการณ์ที่ได้รับจากครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อมวัยเด็ก
เวอร์จิเนีย ซาเทียร์ (Virginia Satir 1916-1988) นักเขียน ครู และนักจิตบำบัดอเมริกัน ผู้บุกเบิกแนวคิดจิตบำบัดครอบครัว ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น Mother of Family Therapy หรือ มารดาแห่งจิตบำบัดครอบครัว เสนอกรอบคิดอันโด่งดัง เช่น ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Virginia Satir Change Process Model), ทฤษฎีเกราะป้องกันตนเพื่อความอยู่รอด (Survival Coping Stances), แบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง (The Iceberg Model)
ทั้งหมดนี้มีแก่นแกนที่ว่า พฤติกรรมที่แสดงออก (Behavior) เราจะเจ็บปวดกับอะไร เพิกเฉยกับอะไร มองโลกด้วยสายตาแบบไหน รู้สึกต่อสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไร เรามั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเองเรื่องไหน ไม่มั่นใจต่ออะไร ความมั่นใจที่มีอยู่ระดับไหน อธิบายได้หากเข้าใจกลไกธรรมชาติภายในจิตใจ และเข้าใจว่าความรู้สึกแต่ละส่วนทำงานสัมพันธ์กันอย่างไร ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการยอมรับตัวเอง อย่างที่ซาเทียร์เคยพูดไว้ว่า
“ฉันรู้สึกเศร้า ฉันพูดแบบเศร้า มองดูแล้วเศร้า ฉันรู้ว่าฉันเศร้า ฉันพูดถึงความเศร้าได้ และฉันจะเลือกเองว่าจะขอความช่วยเหลือจากใคร”
เพราะการทำงานกว่า 50 ปีของซาเทียร์ ถูกนำไปทดลองใช้กับหลายพื้นที่หลากวัฒนธรรม เธอมุ่งพัฒนา ค้นคว้า วิจัยแนวคิดจิตบำบัดครอบครัวที่นำไปปรับใช้หรือคลี่คลายปัญหาในครอบครัว กับคนทำงานทางสังคม และกับครูในโรงเรียน ด้วยวิธีการให้ผู้คนเหล่านั้นเข้าใจความคาดหวัง แรงปรารถนา และศักยภาพที่ซ่อนอยู่ผ่านระดับความเชื่อมั่นในตัวเอง
คีย์เวิร์ดของแนวคิดซาเทียร์คือ หารูปแบบที่ทำให้แต่ละคนพัฒนา เปลี่ยนแปลงวิธีการเห็นตัวเอง เข้าใจ และอธิบายตัวเองได้อย่างชัดแจ้ง เข้าใจว่า ‘สิ่งที่แสดงออก’ ใช่สิ่งที่อยู่ในใจจริงๆ หรือไม่ ซาเทียร์มีวิธีการและรูปแบบที่หลากหลาย แต่แก่นแกนหรือวิธีที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง และจะขอยกมาอธิบายในที่นี้ คือ…
การทำความเข้าใจผ่านที่มาครอบครัว และแบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง
ครอบครัว ปัญหาคู่ชีวิต ที่ส่งผลต่อคนเป็นลูก
ตามแนวคิดซาเทียร์ จุดประสงค์ของจิตวบำบัดครอบครัว คือการคลี่คลายปมปัญหาหรือรอยแผลที่เกิดจากครอบครัวและประสบการณ์วัยเด็ก ซาเทียร์เห็นว่า ‘รอยแผล’ ของแต่ละคนอาจแตกต่าง มีได้หลายรอยแผล และผู้ที่ทำให้เกิดรอยแผลไม่ได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่มาจากตัวละครหลากหลายที่กระทำต่อกันเป็นลูกโซ่ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฝากรอยแผลไว้รอยใหญ่และหนักแน่นที่สุด คือ ‘สมาชิก’ ในครอบครัว โดยเฉพาะ พ่อ แม่ และปัญหาจากความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง
ในแนวคิดจิตบำบัดครอบครัวตามแนวซาเทียร์ (Satir Family Therapy Model) อธิบายต้นตอปัญหาความสัมพันธ์ครอบครัวไว้หลายประการ
สาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ของคู่สมรส คือเมื่ออยู่กันไป (ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้นที่ว่า อยู่ร่วมบ้านกัน 24 ชั่วโมง) คือการที่ใครอีกคนไม่อาจเติมเต็มสิ่งที่คู่สมรสคาดหวัง โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีความมั่นใจต่ำ มักมีกลไกบางประการที่หวังพึ่งพิงคู่สมรส ไม่ใช่แค่ทางกายภาพ แต่พึ่งพิงความมั่นคงมั่นใจในระดับความปรารถนา ไม่มากก็น้อย นั่นทำลายความรู้สึกเป็นอิสระในตัวเอง
แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ ‘คู่สมรส’ ที่มีปัญหา ค้นให้ลึกคือทุกคนต่างมีความแหว่งวิ่นในตัวเอง แต่ในฐานะสมาชิกครอบครัว ปัญหาของพ่อแม่หรือผู้ดูแล -ในฐานะผู้บ่มเพาะเลี้ยงดู สร้างสภาพแวดล้อม ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความมั่นใจ สภาพแวดล้อม
ประสบการณ์ในบ้านเหล่านั้นส่งต่อให้ลูก มากบ้างน้อยมาก สิ่งที่ตกค้างอยู่ในตัวคนคือประสบการณ์ที่ซึบซับเอาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านและจากความสัมพันธ์ในบ้าน
แนวคิดซาเทียร์ยังเชื่อว่าประสบการณ์ ที่สร้างวิธีคิดและกลไกป้องกันตัวเฉพาะ ไม่อาจย้อนดูได้เพียงความสัมพันธ์ระดับปัจเจก แต่เชื่อว่าต้องดูความสัมพันธ์ร่วมทั้งครอบครัว เพราะสิ่งที่แม่ทำต่อลูก ไม่ได้มาจากแรงขับของแม่เพียงประการเดียว แต่มาจากประสบการณ์ที่แม่รับมาจากบุคคลอื่นอีกที
เมื่อเข้าใจที่มา ประสบการณ์ในชีวิต อันเป็นสารตั้งต้นที่กำหนดว่าเราจะคิด มีปฏิกิริยา หรือตั้งกำแพงต่อสิ่งใดแล้ว ขั้นต่อมาคือทำความเข้าใจว่าสารตั้งต้นดังกล่าว ทำให้เรามีปฏิกิริยาอย่างไร ผ่านอุปมา ‘แบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง’
แบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง
เคยไหมที่… สิ่งที่พูดไม่ใช่สิ่งที่คิด สิ่งที่คิด ก็ไม่อาจเรียบเรียงออกไปได้ หรือบางครั้งก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ทำไมจึงพูด หรือมีปฏิกิริยาอย่างนั้น เราอาจเริ่มต้นทำความเข้าใจด้วยแนวคิดซาเทียร์ ด้วยอุปมาว่าพฤติกรรมที่แสดงออก เป็นเพียง ‘ยอด’ ของภูเขาน้ำแข็ง
สิ่งที่โผล่พ้นน้ำคือความสัมพันธ์ระหว่างเรากับโลก สิ่งที่อยู่ใต้น้ำ คือความสัมพันธ์ของโลกภายใน
Behavior : พฤติกรรม การกระทำ คำพูด ที่แสดงออกให้เห็นได้ซึ่งหน้า เป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดหนึ่ง ซาเทียร์เปรียบพฤติกรรมเหมือนสิ่งที่โผล่พ้นน้ำ เป็นสิ่งที่คนอื่นเห็น เป็นพฤติกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก
Coping Stance : กลไกป้องกันตัวเอง หรือรูปแบบพฤติกรรมที่มักแสดงเมื่อเจอกับปัญหา ต้องเผชิญกับความเครียด กลไกป้องกันตัวของแต่ละคนมักมีสารตั้งต้นจากประสบการณ์ในวัยเด็กหรือที่ได้รับจากครอบครัว แบ่งได้เป็น 5 พฤติกรรมใหญ่ โดยอธิบายผ่านความสัมพันธ์ระหว่าง ตัวเอง(self), คนอื่น (other) และบริบท (context)
- Blaming : กลไก ‘ตำหนิ’ สนใจบริบทและตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น
ตำหนิไว้ก่อน ใช้การตำหนิปิดบังความกลัว ยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อถือคือสิ่งถูก เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง หลายครั้งนำไปสู่ความหวาดระแวงผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่มักป้องกันตัวเองด้วยการตำหนิ จะสนใจเนื้อหาและสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเชื่อ มักมีปัญหาทางสุขภาพเกี่ยวกับการหายใจ - Placating : กลไก ‘เอาใจ’ สนใจบริบทและคนอื่น ไม่สนใจตัวเอง
เป็น Mr. Yes man มักยอมทำตามสิ่งที่ผู้อื่นร้องขอโดยไม่สนใจความรู้สึกตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะ การปฏิเสธ หรือความรู้สึกบาดหมางระหว่างกัน เคารพคนอื่น แต่ไม่เคารพตัวเอง ผู้ที่มีกลไก ‘เอาใจ’ มักมีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร ไมเกรน ท้องผูก - Superreasonable : กลไก ‘มนุษย์เหตุผล’ สนใจบริบท ไม่สนใจตัวเองและคนอื่น บางตำราเรียกว่า ‘มนุษย์คอมพิวเตอร์’ สนใจที่เนื้อหาและความถูกต้องเป็นหลัก รู้และเข้าใจหลักการอย่างถ่องแท้ ไม่ทำงานด้วยความรู้สึก คนมักจะมองคนที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ว่า เย็นชา เจ้าหลักการ ปัญหาสุขภาพมักเผชิญกับอาการเยื่อเมือกแห้ง เช่น ตาแห้ง เนื้อเยื่อในช่องปากแห้ง
- Irrelevant : กลไก ‘เฉไฉ’ สนใจทั้งตัวเอง ผู้อื่น และบริบท เราอาจพบว่าเขาคือนักเอ็นเตอร์เทรน มีบุคลิกสนุกสนานเฮฮาและเข้าไปอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ทุกวง ดึงดูดความสนใจของตัวเองและคนอื่นให้หลุดออกจากความเครียดได้เก่ง บทสนทนามักเป็นเรื่องทั่วไปแต่ไม่จับยึดที่แก่นเรื่อง บางครั้งดูกระวนกระวาย หรือมีปฏิกิริยาล้นเกิน เช่น มักเป่าปาก กระพริบตาถี่ ร้องเพลง หลุกหลิก หรือไม่ก็เพิกเฉยต่อสถานการณ์เคร่งเครียดไปเลย
- Congruence : สอดคล้องกลมกลืน ไม่ต้องใช้กลไกป้องกันตัวใดๆ เลย เป็นภาวะที่ยอมรับ สมดุล เชื่อมโยง ยอมรับ หรือรู้สึกสงบอยู่ในภาวะนั้นๆ
Feeling : ความรู้สึกต่อสถานการณ์ตรงหน้า เช่น สุข เศร้า เหงา หดหู่ สงสาร
Feeling About Feeling : ความรู้สึกต่อความรู้สึก เป็นความรู้สึกในระดับที่สอง ว่าเรารู้สึกต่อความรู้สึกของเราอย่างไร เช่น เรารู้สึกสุขเมื่อไม่ทำงาน นอนดูซีรีส์อยู่เฉยๆ แต่เรารู้สึกไม่พอใจที่ตัวเองมีความสุข กังวลว่าความสุขที่เกิดขึ้นจากการดูซีรีส์แทนที่จะไปทำงาน เป็นเรื่องไม่สมควร
Perception : การรับรู้ที่ไม่ใช่แค่รู้สึก แต่ผ่านการตีความ มีความคิด สมมติฐาน ความเชื่อ ว่าตัวเองทำสิ่งนั้นเพราะอะไร ทำไปด้วยเหตุผลอะไร และเป็นทัศนคติหรือตีความผ่านประสบการณ์ของเรา
Expectation : ความคาดหวัง เป็นได้ทั้งความคาดหวังว่าอยากให้ตัวเองรู้สึกหรือคิดอะไร, คาดหวังว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับเรา และ ความคาดหวังของผู้อื่นต่อตัวเรา เช่น คาดหวังว่าตัวเองจะต้องเข้มแข็งกว่านี้ และคาดหวังให้คนอื่นเชื่อใจ อยากให้คนอื่นเข้าใจว่าตัวเองคิดอะไรอยู่
Yearning : ความปรารถนา ความต้องการแท้จริง เช่น ปรารถนาจะถูกรัก เคารพ ได้รับการยอมรับ อย่างที่ ศ.พญ. นงพงา ลิ้มสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่าคือ ‘อาหารใจ’
Self – ‘ตัวตน’ : ตัวตนลึกๆ หรือแก่นแกนของตัวเอง
กรณีศึกษา: แผนที่ครอบครัว และ จิตบำบัดด้วยการ ‘ผจญภัย’
เพื่อให้เข้าใจว่าจะนำอุปมา ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ไปใช้อย่างไร กรณีนี้จะอธิบายผ่านกรณีศึกษา AdventureBased Therapy with At-Risk Youth Using the Satir Model ที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ The Satir Journal ปี 2008 โดยคลอส ไคลน์ (Klaus Klein) ผู้ให้คำปรึกษาสำหรับพ่อแม่และวัยรุ่น ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา เจ้าของโครงการจิตบำบัดวัยรุ่นที่มีปัญหาผ่านการบำบัดด้วยวิธีการ ‘ผจญภัย’ ใช้วิธีทำงานผ่านแนวคิดซาเทียร์ และแบบจำลอง ‘ภูเขาน้ำแข็ง’
วิธีการของ AdventureBased Therapy คือการทำจิตบำบัดร่วมกับสมาชิกในครอบครัว คือ
หนึ่ง – ทำจิตบำบัดในห้องเพื่อทำแผนที่ครอบครัว (Family of Origin: FOO) เพื่อให้เห็นปมปัญหาชีวิตของเด็กๆ
สอง – ออกไปตั้งแคมป์ในป่าเพื่อให้เห็นว่า เมื่ออยู่ในสังคมเล็กๆ เขาจะมีวิธีรับมือกับเครือข่ายสังคมตรงหน้าอย่างไร
ตัวละครที่ Klein อ้างถึงมี 3 ตัวละคร เพื่อให้เห็นพฤติกรรมกลไกการป้องกันตัวของคน (Coping Stance)
แผนที่ครอบครัว และตัวละครต่างๆ
คือการทำแผนผังครอบครัวของผู้เข้าบำบัดว่าครอบครัวพวกเขาประกอบไปด้วยใครบ้าง มีลำดับญาติอย่างไร เพื่อให้เห็นความเป็นมา ความสัมพันธ์ของสมาชิกแต่ละคน แผนภูมิครอบครัวจะเป็นเครื่องมืออย่างดีเพื่อให้เห็นประสบการณ์ของผู้เข้าบำบัด ประกอบกับกระบวนการตั้งคำถามเฉพาะของผู้บำบัดหรือผู้รับฟังด้วยแล้ว จะยิ่งช่วยให้เห็นปมปัญหาของผู้เข้าบำบัดได้
มอลลี่, เกรด 12 อายุ 18 ปี
Coping Stance: กลไก ‘มนุษย์เหตุผล’
แผนที่ครอบครัวของมอลลี่ระบุว่าพ่อแม่ของเธอหย่ากันขณะที่มอลลี่ยังเด็ก มอลลี่อยู่กับแม่ในบ้านพักสหกรณ์ (Cooperative Housing) เธอไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อมากนักทั้งยังพยายามรักษาระยะห่างระหว่างเธอและพ่อเอาไว้ พ่อในความทรงจำของเธอคือคนที่ไม่มีความรับผิดชอบ ส่วนแม่ เธอก็ไม่ได้คิดว่าแม่มีความรับผิดชอบที่ดีไปกว่าพ่อเท่าไหร่นัก คาแรกเตอร์ของมอลลี่คือเด็กสาวที่โตเกินอายุ เป็นผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ใส่ใจคนอื่น Coping Stance ของมอลลี่คือ ‘มนุษย์เหตุผล’
แอน, เกรด 11 อายุ 16 ปี
Coping Stances: กลไก ‘เอาใจ’ และ กลไก ‘ตำหนิ’
พ่อแม่ของแอนหย่าร้างเช่นกัน แอนอาศัยอยู่กับแม่แต่ยังติดต่อกับพ่ออยู่บ้าง ตลอดมา แอนพยายามทำดีกับแม่ สร้างความสัมพันธ์เพื่อเข้าไปสู่โลกของคนเป็นแม่ อยากเป็นที่รักและได้รับความเคารพ แต่ชัดเจนว่านั่นคือเรื่องที่ยากที่สุดในชีวิตเธอ แอนไม่เคยรู้สึกว่าเข้าไปในโลกของแม่ได้ รู้สึกว่าแม่ไม่เคารพเธอมากพอ แต่แอนยังยอมรับ ใส่ใจ และตั้งใจที่จะปฏิบัติกับแม่เช่นนั้นต่อไป กลไกป้องกันตัว(Coping Stances) ของแอน ตอนแรกเธอมักใช้กลไก ‘เอาใจ’ แต่เมื่อถึงทางตัน หลายครั้งเธอจะพลิกขั้วเปลี่ยนไปใช้กลไก ‘ตำหนิ’ แทน
แฟรงค์, เกรด 12 อายุ 18 ปี
Coping Stance: กลไก ‘เฉไฉ’
แฟรงค์อยู่กับพ่อและแม่ ทั้งคู่และสมาชิกในครอบครัวคนอื่นมีประวัติเมาแล้วทำร้ายร่างกาย แฟรงค์รักพ่อแม่ของเขาและหวังว่าเขาจะทนได้ เรื่องร้ายต้องผ่านไป หวังตลอดว่าสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต้องดีขึ้น ภายใต้ความเครียด แฟรงค์จะใช้กลไกป้องกันตัว (Coping Stance) ‘เฉไฉ’ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา อย่างไรก็ตาม เขาเป็นคนจิตใจดี ร่าเริง แต่ในเวลาเดียวกันก็เก็บเนื้อเก็บตัว
เข้าแคมป์
สถานการณ์ในแคมป์มีอยู่ว่า วันที่ 4 ของการเข้าแคมป์ มอลลี่และแอนเกิด ‘คอนฟลิก’ มีรอยขุ่นมัวในใจ ต่างไม่เข้าใจต่อพฤติกรรมของคนตรงข้าม แอนไม่รู้ว่าทำไมตลอดการเข้าค่าย มอลลี่ถึงเย็นชากับเธอ ไม่ต้องการสุงสิง และสื่อสารเท่าที่จำเป็น แอนเก็บความขุ่นหมองไว้ในใจ ทำเป็นไม่เห็นว่ามอลลี่เย็นชา และพยายามเข้าหามอลลี่ และทำทุกอย่างที่ควรทำต่อไป ขณะที่แฟรงค์พยายามหลบเลี่ยงทั้งมอลลี่และแอน ด้วยการหากิจกรรมอื่นๆ ทำอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ว่าง และต้องเข้าไปในสถานการณ์มาคุของสองสาว
‘จุดแตกหัก’ ของเรื่องคือการจัดเต็นท์ แอนเห็นว่ามอลลี่เป็นพี่โตสุด ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์และเข้ามาช่วยเหลือเธอบ้าง แต่มอลลี่ไม่ได้ทำตามที่แอนคาดหวัง แม้เหตุการณ์ในครั้งนั้นอาจไม่ร้ายแรง แต่เมื่อรวมกับสิ่งที่แอนเก็บอยู่ในใจตลอดหลายวัน เหตุการณ์เล็กน้อยนั้นกลับเป็นชนวนระเบิดลูกย่อมๆ ท้ายที่สุดแอนเดินไปหาไคลน์เพื่อขอความช่วยเหลือ และห้องให้คำปรึกษาไม่ใช่อะไรอื่น คือมุมเล็กๆ ในป่า ที่มีตอไม้และก้อนหินเป็นเก้าอี้นั่นเอง
ภูเขาน้ำแข็งของ ‘แอน’
หลังไคลน์ พูดคุยกับมอลลี่ ใช้คำถามเฉพาะที่พุ่งเป้าไปที่ ‘ความรู้สึก’ พบว่า อย่างแรก แอนไม่อาจใช้กลไก ‘เอาใจ’ ได้อีกต่อไป แอนเปลี่ยนโหมดเป็นพฤติกรรม ‘การตำหนิ’ แอนอธิบายว่ามอลลี่เย็นชา ใช้น้ำเสียงดูถูกเธอ ฉุนเฉียวง่าย และเย่อหยิ่ง
จากที่พูดคุยกับแอนทั้งหมด ภูเขาน้ำแข็งของแอนขณะนี้คือ…
- พฤติกรรม: เดินหนีจากมอลลี่ โกรธและโมโห
- Coping Stance: กลไกตำหนิ
- ความรู้สึก: เจ็บปวด ผิดหวัง คับข้องใจ สับสน
- ความเข้าใจ: ฉันไม่สมควรได้รับการปฏิบัติแบบนี้, ฉันพยายามทำดีกับมอลลี่มามาก, ฉันพยายามอย่างมากที่จะเคารพเธอ, ฉันพยายามจะเป็นเพื่อนกับเธอ
- ความคาดหวัง แบ่งเป็น
– ความคาดหวังต่อตัวเอง: ฉันควรจะทำตัวดี ฉันควรเคารพเธอ ฉันควรจะรู้สึกดีกับตัวเอง ฉันควรทำสิ่งที่ถูกต้อง ฉันควรเป็นเพื่อนกับเธอได้
– ความคาดหวังต่อคนอื่น: เธอควรจะเคารพฉัน เธอควรปฏิบัติกับฉันดีกว่านี้ เธอควรเข้าใจฉัน - ความปรารถนา: ความเป็นธรรม การยอมรับ ความเข้าใจ ความสัมพันธ์
- Self: รู้สึกไม่มีค่า ไม่มีความมั่นใจ
ขณะที่เธอเข้าใจ ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ ของตัวเอง ทำให้เธอย้อนกลับไปยังแผนที่ครอบครัว แอนเข้าใจว่าสิ่งที่เธอรู้สึกต่อมอลลี่ขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอใช้กลไก ‘เอาใจ’ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ใช้กับแม่มาตลอดเวลา พอถึงจุดหนึ่งที่เธอเอาใจใครต่อไปไม่ไหว สถานการณ์พลิกเปลี่ยนเป็นคนที่ชอบตำหนิ เหมือนอย่างที่เธอมีต่อมอลลี่ เมื่อเข้าใจอย่างนั้น สิ่งที่แอนเสนอจะทำ คือการปรับความเข้าใจกับมอลลี่ด้วยการสื่อสารผ่านภูเขาน้ำแข็งในของเธอที่เพิ่งค้นพบ
แต่ก่อนที่ไคลน์ จะพามอลลี่มาเจอกับแอน เขาเลือกที่จะเข้าไปคุยกับมอลลี่ เพื่อสำรวจภูเขาน้ำแข็งของเธอเสียก่อน
ภูเขาน้ำแข็งของ ‘มอลลี่’
จากที่ไคลน์ตั้งใจจะเจาะเข้าไปที่ความบาดหมางระหว่างมอลลี่กับแอน เมื่อมอลลี่นั่งอยู่ตรงหน้า ไคลน์สังเกตความผิดปกติที่เกิดกับมอลลี่ มอลลี่ที่เขารู้จักมาตลอดก่อนเข้าแคมป์ไม่ใช่คนเย็นชาและดูก้าวร้าว ไคลน์ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบางสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับมอลลี่ ทำให้เขาคิดไปถึงเหตุการณ์ก่อนเข้าค่าย เขาทราบว่ามอลลี่เพิ่งเลิกกับแฟนซึ่งคบกันมาหลายปี ซึ่งเป็นแฟนคนแรกและเป็นรักครั้งแรก
แทนที่จะมุ่งตรงไปยังปัญหาระหว่างมอลลี่และแอน ไคลน์สนใจปัญหาที่เคยรับรู้มาข้างต้นและลองสอบถามว่า ตลอดหลายวันของการเข้าค่าย ในหัวของมอลลี่มีสิ่งใด มีภาพอะไร และเสียงในหัวเป็นอย่างไร แม้นั่นจะเป็นบาดแผลของมอลลี่ แต่การให้มอลลี่ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวโดยใช้คำถามเฉพาะที่เจาะจงไปที่ ‘ความรู้สึก’ และ ‘สถานการณ์ใดหนึ่ง’ ทำให้เห็นว่าปัญหาของมอลลี่ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของแอน แอนเพียงได้รับผลกระทบจากความรู้สึกของมอลลี่เท่านั้น
และนี่คือ ภูเขาน้ำแข็งของ ‘มอลลี่’
- พฤติกรรม: สร้างระยะห่าง ฉุนเฉียวง่าย
- Coping Stance: มนุษย์เหตุผล
- ความรู้สึก: เจ็บปวด หลงทาง ผิดหวัง เศร้าลึก ไม่มั่นคง
- ความเข้าใจ: ฉันจบความรู้สึกเจ็บปวดเพราะผู้ชายคนนี้ได้, ฉันไม่เจ็บ, เรื่องนี้ไม่ได
- ส่งผลอะไรกับฉัน, มันไม่ใช่เรื่องใหญ่, เดินต่อไป, ฉันต้องการพื้นที่
- ความคาดหวัง
– ความคาดหวังต่อตัวเอง: ฉันไม่ควรเจ็บแบบนี้, ไม่ควรสนใจเขาอีก, ฉันต้องมีความสุขอีกครั้ง, ฉันต้องควบคุมมันได้
– ความคาดหวังต่อคนอื่น: ทุกคนต้องเข้าใจฉัน - ความปรารถนา: ความสงบ, ความเข้าใจ, ความสัมพันธ์ การยอมรับ ความรัก
การพูดคุยครั้งนี้ ชัดเจนว่าความรู้สึกที่มอลลี่มีต่อ ‘คนอื่น’ ส่งผลกระทบต่อแอน เมื่อเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าว มอลลี่จึงอยากสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับแอน
ภูเขาน้ำแข็งของ ‘แฟรงค์’
ระหว่างที่แฟรงค์พยายามหากิจกรรมให้ตัวเองทำตลอดเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานการณ์มาคุของสองสาว เมื่อแอนและมอลลี่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนปรับความเข้าใจไคลน์ จึงดึงแฟรงค์กลับมาเพื่อให้เขาได้มีส่วนร่วมกับการพื้นที่พูดคุยตรงหน้า สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แฟรงค์เผื่อเขาอาจอยากแลกเปลี่ยนเพื่อค้นหาภูเขาน้ำแข็งของตัวเอ
- พฤติกรรม: หลีกเลี่ยง, หาทางให้ตัวเองยังวิ่งวุ่นวายเสมอ
- Coping Stance: กลไก ‘เฉไฉ’
- ความรู้สึก: กลัว รู้สึกว่ามีอย่างอื่นที่มีอิทธิพลเหนือกว่า
- ความรู้สึกต่อความรู้สึก: ไม่สบายใจ, อึดอัด, เศร้า
- ความเข้าใจ: มีปัญหาเยอะเกินไป, วุ่นวายเกินไป, ไว้ใจใครไม่ได้
- ความคาดหวัง
– ความคาดหวังต่อตัวเอง: เราควรสงบกว่านี้, เราควรรู้สึกปลอดภัย, เราควรทำงานหนักกว่านี้, เราควรใส่ใจคนอื่นกว่านี้
– ความคาดหวังต่อคนอื่น: ผู้คนควรมีความรับผิดชอบ, พวกเขาควรเข้าใจเรา - ความปรารถนา: ความสงบ, ปลอดภัย, การยอมรับ, ความเข้าใจ, ความยุติธรรม
- Self: เราอยู่กับความหวาดกลัว จึงไม่อาจให้หรือแบ่งปันแก่ใครได้
ระหว่างที่แฟรงค์ทำงานกับภูเขาน้ำแข็งของตัวเองต่อหน้าหญิงสาวทั้งสอง เขามีความกล้าที่จะอธิบายและบอกเล่าความกลัวของตัวเอง และอย่างน้อยที่สุด เขาได้เข้าใจว่า ‘ความวุ่นวาย’ (ตามที่เคยคิด) ไม่ได้ร้ายแรงและน่ากลัวเท่าในจินตนาการ
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างการจำลอง ‘ภูเขาน้ำแข็ง’ เพื่อให้เห็นภาพการนำไปปรับใช้ และวิธีการทำงาน อย่างไรก็ตาม ศาสตร์ของซาเทียร์ยังมีอีกมาก หลายระดับ และหลายประเด็น แต่ทั้งหมดเน้นให้ทำความเข้าใจ ‘ความคิดภายใน’ ของตัวเอง
ไม่ได้ให้รู้เพื่อกลัว แต่เพื่อเข้าใจ ทำงานกับมัน โดยเฉพาะคุณครู ผู้ปกครอง สมาชิกในครอบครัว ที่จะนำไปปรับใช้เพื่อเข้าใจกลไกการตอบสนอง พฤติกรรมของตัวเอง และอาจได้คำตอบว่า พฤติกรรมอะไรที่เคยเห็นว่าเล็กน้อย แท้จริงแล้วอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อคนอื่นอย่างไม่ทันรู้ตัวเลยก็ได้