- 7 การเดินทางของ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี กับจุดเริ่มต้นเป็นนักเคลื่อนไหวปัญหาการพังทลายของหาดทรายจากโครงสร้างแข็งบนหาดสมิหลาตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้น ม.5 ถึงวันนี้ น้ำนิ่งกลายเป็นคนทำงานภาคสังคมเต็มตัว และเป็นนักวิจัยในงานใหญ่อย่างสงขลา สมาร์ทซิตี้ ต้นแบบเมืองอัจฉริยะที่เริ่มต้นจากรั้วมหาวิทยาลัยขยายสู่เมือง
- วิธีคิดที่ชัดเจนของน้ำนิ่งคือ ‘การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความรู้ด้านสังคม’ หลายศาสตร์เข้ารวมกัน เขาไม่เชื่อเรื่องการเรียนทฤษฎีในมหาวิทยาลัยเพียงสายใดสายหนึ่ง แต่การเรียนรู้เพื่อทำงานกับสังคมคือสนามจริงที่อยู่ตรงหน้า ปะทะจริง ถกเถียงด้วยความรู้เพื่อหาข้อสรุปจริง เอาตัวเข้าไปคลุกเพื่อถามให้ชัดว่า ถ้าจะอยู่ตรงนี้ ต้องรู้อะไร เท่าไหน และหาความรู้ที่ว่าได้อย่างไร
ภาพ: เดชา เข็มทอง
หากพูดถึง หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา หลายคนนึกถึงภาพทะเลสีสวยคู่วัฒนธรรมผสมผสานทั้งจีน ไทย และมุสลิม แต่อีกด้านของเหรียญเดียวกัน หาดสมิหลากำลังเจอกับปัญหา ไม่สิ… ต้องเรียกว่าเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน
ย้อนกลับไปราวปี 2543 กับการกัดเซาะชายหาดรุนแรง หน่วยงานรัฐแก้ไขด้วยการก่อสร้างโครงสร้างแข็งกันคลื่นซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ยิ่งซ้ำปัญหา ทำให้เกิดการกัดเซาะมากขึ้น
หากค้นข้อมูลเกี่ยวกับข่าวข้างต้น ชื่อของ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี เป็นต้องขึ้นมาอันดับแรกๆ และหากคลิกคำค้นในหมวดรูปภาพ คุณอาจได้พบกับน้ำนิ่งตั้งแต่ครั้งใส่กางเกงนักเรียนสีน้ำเงินขณะอยู่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ไล่เรื่อยถึงภาพปัจจุบันที่เติบโตสูงใหญ่ประกอบบทความของงานเกี่ยวกับหาดและการพัฒนาสังคม
โครงการแรกที่น้ำนิ่งกับเพื่อนทำ คือโครงการ Beach for Life ศึกษาปัญหาการพังทลายของหาดทรายจากโครงสร้างแข็งบนหาดสมิหลา บนฐานความร่วมมือของ ‘เยาวชน’ ในจังหวัด แม้ขณะนั้นเขาเป็นเพียงนักเรียนชั้น ม.5 แต่ทำงานกับชายหาดจริงจังขนาดที่ว่ามีการ call for action หรือ ออกไปหาเครือข่ายร่วมกับเพื่อนและพี่จากสถาบันการศึกษาต่างๆ กว่า 9 สถาบัน เพื่อร่วมศึกษาและธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน ฉบับที่ 1 ได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2557 เพื่อใช้สำหรับเปิดโอกาสให้คนสงขลามีส่วนร่วมในการดูแลหาดสมิหลา ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลา ทีมงานต้องลงพื้นที่จริงเพื่อรับฟังปัญหา รวมทั้งข้อมูลพื้นฐานวัฒนธรรมของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ
แม้ชื่อของน้ำนิ่งและโครงการ Beach for Life จะไม่ได้โด่งดังเป็นที่รับรู้ของคนทั้งประเทศจนหยุดยั้งการใช้โครงสร้างแข็งเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายหาดได้จริง แต่ความเคลื่อนไหวของพวกเขาได้สร้างการตื่นตัว ความรู้สึกฮึกเหิม ส่งต่อความรู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรของพวกเขาให้คนในพื้นที่ สำคัญที่สุด เวลานั้นน้ำนิ่งสร้างพลังเยาวชนจังหวัดสงขลาได้จริง
เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่เขายังทำงานอย่างต่อเนื่อง The Potential มีโอกาสพบน้ำนิ่งในวันหนึ่ง ขณะที่เขากำลังทำเวิร์คช็อปพัฒนาเยาวชนในพื้นที่โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา–ทำ อย่างที่เคยถูกปฏิบัติและฝึกครั้งเป็นนักเรียนชั้น ม.5
แม้การพูดคุยครั้งนี้คล้ายการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบทั่วไป แต่ระหว่างทางของบทสนทนากลับเป็นประโยชน์ เห็นวิธีคิด การทำงาน และการเติบโตของคนคนหนึ่งบนฐานการทำงานพัฒนาชุมชนว่าถูก ‘ก่อร่าง’ จนเติบโตขึ้นและมี ‘วิธีคิด’ ต่องานของพวกเขาอย่างไร
ปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง
ตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่ม และผู้ประสานงานโครงการ Beach for Life เฉพาะที่สงขลาฟอรั่ม เราทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา (The Young Citizen) กับทางมูลนิธิสยามกัมมาจล อีกหนึ่งโครงการเป็นงานวิจัยของสงขลาฟอรั่มเอง ทำประเด็น inclusive cities คือพยายามดึงภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาเมือง
คุณเพิ่งเรียนจบโปรแกรมการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้
เพราะตอนนั้น (ปี 55) โครงการเกี่ยวกับชายหาดที่ทำอยู่ยังไม่จบ คิดว่าคงใช้เวลาอีกนานเลยอยากเรียนใกล้บ้านเข้าไว้ ตอนนั้นเราได้ทุนไปเรียนที่จุฬาฯ คณะวิทยาศาสตร์ทางทะเล แต่ไม่ไป
จากมุมคนนอก ถ้าเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่จุฬาฯ ดูจะตรงสายกับโครงการ Beach for Life ที่ทำอยู่ แถมได้ทุนเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนสาขาพัฒนาชุมชนที่มหาวิทยาลัยใกล้บ้าน
ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อนว่า แม้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ใช้ input กับคน แต่หน้างานที่ปฏิบัติจริง สิ่งที่ใช้คือกระบวนการทางสังคมแทบทั้งหมดเลย เช่น ทำให้คนมีความรู้ทำยังไง? ทำให้ชาวบ้านมานั่งคุยกัน มีส่วนร่วม ทำให้คนคิดต่างเขาคิดเหมือน การจัดการเรื่องความขัดแย้ง ทั้งหมดนี้ทำยังไง? พวกนี้คือความรู้ทางสังคมศาสตร์ทั้งหมดเลย
แชร์อย่างนี้ว่า เราเคยทำโครงงานวิจัยวิทยาศาสตร์เรื่องสารก่อมะเร็งในระบบผลิตน้ำประปา ได้รางวัลด้วยนะ แต่หลังจากนั้นงานวิจัยเราตั้งหิ้งเลย จบงานวิจัยแล้วก็จบไป ไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่โปรเจ็คต์ที่ทำแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต้องทำกับชุมชน สำหรับเรา ความรู้สายสังคมจำเป็นมากกว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การเรียนเรื่องกระบวนการทำงานกับชุมชนจึงเป็นเรื่องที่เราอยากทำความเข้าใจ เลยรู้สึกว่าสาขาพัฒนาชุมชนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี
ความเข้าใจที่ว่า ‘การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ความรู้ด้านสังคม’ ได้มาตอนไหน เพราะเข้าใจว่าตอนตัดสินใจเรียนต่อ คุณยังอยู่ชั้นมัธยมอยู่เลย
ผมว่ามันมาช่วงตอนทำธรรมนูญเยาวชนฯ นะ โดยเฉพาะช่วงหลังลงสำรวจชุมชนคลองแดน (อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา) นั่งคุยกับชาวบ้านที่คลองแดนตอนปีแรก เรารู้สึกกับมันเยอะ เห็นเลยว่าคลองแดนเป็นชุมชนที่เขาสร้างกติกาชุมชนและทำอะไรได้เยอะมาก เขาไม่เห็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อะไรเลย หรือตอนเราลงชุมชนเก้าเส้ง (อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา) ก็รู้สึกว่าการลงไปคุยกับชุมชนมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันไม่ใช่เรื่องที่จะบอกว่า โครงสร้างแข็งคืออะไรแล้วเขาจะฟัง นึกออกไหม? เลยรู้สึกว่าเราน่าจะเรียนอะไรที่เกี่ยวกับพวกนี้
ตอนที่คิดว่าจะเรียนอะไรต่อ เรามองหลายสาขามาก เช่น สาขาสันติศึกษา แต่ว่าเปิดเฉพาะปริญญาโท แต่เอาจริงๆ ตอนนั้นมันไม่ได้คิดถึงขนาดนี้หรอกนะฮะ คิดแค่ว่าประหยัดค่าเทอม ขอเรียนใกล้บ้าน เรียนแล้วต้องมีเวลาเยอะๆ เพราะจะทำเรื่องหาดต่อ ซึ่งมันต้องใช้เวลา ต้องโดดเรียนมาทำงานได้ เพราะถ้าทำแค่เสาร์-อาทิตย์ไม่พอแน่ๆ
เด็ก ม.5 คนนั้น ไม่ได้มองสิ่งที่ทำอยู่เป็นแค่โครงการฯ ในแง่พื้นที่ทดลองหรือฝึกวิชาของเยาวชน?
ไม่ได้มองเป็นแค่โครงการ ฝันของเราคือทำให้คนมีความรู้เรื่องชายหาด อยากให้หาดกลับมาเหมือนเดิม ตั้งใจไว้ว่าทำแล้วมันต้องเห็นผล ไม่อยากทำแค่ให้ได้คำตอบแต่ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง
เหมือนตอนทำวิจัยสารก่อมะเร็งในระบบผลิตน้ำประปา ทุ่มเทชีวิตทั้งชีวิตเลย ขนน้ำเองอะไรเอง แล้วมันก็ตั้งหิ้งเป็นเอกสารอยู่ตรงนั้น
มันอาจจะไม่ได้คิดชัดขนาดนี้ตั้งแต่ทีแรกนะ แต่มีคนช่วยทำให้เราคิดชัดขึ้นเยอะมาก อย่างเช่นป้าหนู (พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม) อาจารย์สมปรารถนา (สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) อาจารย์สมบูรณ์ (ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่) และพี่ๆ หลายคน
เล่าบรรยากาศตอนนั้นให้ฟังได้ไหมคะ ว่าเด็ก ม.ปลาย คนหนึ่งอยู่ในสิ่งแวดล้อมหรือบรรยากาศแบบไหน จึงมีความคิดเข้มข้นขนาดนี้
จริงๆ ช่วงนั้น เรื่องชายหาดที่มันเข้มข้นในตัวเองด้วยนะ มีช่วงสถานการณ์ว่าจะวางกระสอบทรายหรือไม่ มีเรื่องข้อเสนอเรื่องเติมทราย ป้าหนูเองก็เชิญคนมาร่วมพูดคุยกันบนเวทีบ่อยมากและเราก็ไปร่วมแทบทุกเวทีเลย อาจารย์สมบูรณ์ อาจารย์สมปรารถนาก็ให้ความรู้เราเยอะมาก รู้สึกเลยว่า โห… ทำไมทั้งชีวิตมันมีแต่เรื่องชายหาดขนาดนี้
ที่พีคสุดคือเหตุการณ์ลุงพีระ (พีระ ตันติเศรณี)* โดนยิง ก็เป็นจุดที่ทำให้รู้สึก ‘เอ๊ะ’ ว่าจะไปต่อหรือหยุดดี สุดท้ายเราก็ไปต่อเพราะเพื่อนยังไปต่อ หลายเรื่องมากๆ ประกอบกัน และเราเองก็เป็นกลุ่มที่ถูกจับตามอง มันเลยรู้สึกว่าเราต้องทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สงขลาฟอรั่มเองก็ทำกระบวนการกับเราอย่างเข้มข้น เวลาพี่ตั้งคำถามกับเรา เราก็รู้สึกว่ามันจะต่างจากคนอื่นมากเลย
คำถามแบบไหน?
เราฝันอยากเห็นอะไร? การทำธรรมนูญจะมีอิมแพคอะไร? หรือการที่อาจารย์มาให้ไอเดียว่าต่างประเทศเขาทำ beach monitoring กันแล้วนะ แล้วของเรานี่จะยังไง? คือมันมีการตั้งคำถามเพื่อให้คิดต่อ และเสนอตัวอย่างให้เห็น ทั้งหมดมันคือกระบวนการทำให้เราชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าเรากำลังจะทำอะไรอยู่
พูดได้ไหมว่า ข้อเสนอทุนเรียนต่อในวันนั้นจึงไม่ได้สำคัญแล้ว เพราะเราเองมีความรู้ในมือ และชัดเจนด้วยว่า เราอยากรู้อะไร ต้องการความรู้อะไรเพิ่มเติม
เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปเรียนสาขาเฉพาะ เช่น ตอนนี้คนมักจะบอกว่า “น้ำนิ่งควรเรียนกฎหมายนะ เพราะว่าเข้าใจกฎหมายเยอะมากเลย เข้าใจนโยบายสังคม นโยบายสาธารณะ” แต่เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเรียนเลย เพราะเราเรียนรู้ระหว่างทางได้ตลอด
เราไม่จำเป็นต้องไปเรียนรู้กฎหมายแพ่งเพราะเราไม่ได้ใช้กฎหมายแพ่ง เราใช้กฎหมายปกครอง เราเรียนรู้เรื่องสิทธิมากกว่าที่จะไปเรียนรู้กฎหมายทั้งหมด เราเลยรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องไปเรียนให้ลึก เรียนให้ลึกหมายความว่าเรียนให้เข้าใจหลายๆ เรื่อง แต่ว่าเรียนสักเรื่องหนึ่งให้มันลึก เรียนเรื่องสิทธิก็ให้มันลึกเรื่องนี้ไปเลย
อย่างการพัฒนาชุมชน ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวกับชุมชนแท้ๆ เลย เรื่องมานุษยวิทยา สังคมวิทยา เราก็ไม่ได้สนใจ เราสนใจตัวกระบวนการ สนใจเรื่องเครื่องมือที่จะเอามา apply กับงาน สนใจเรื่องการจัดวงคุยกับคนเพื่อให้คนได้คุยกันอย่างทั่วถึงมากกว่าที่จะไปสนใจทฤษฎีทางสังคมอย่างเดียว เราเลยรู้สึกว่าเรื่องเรียนมันไม่ได้เป็นเรื่องหลัก
และความเป็นจริงในสาขาวิชาเท่าที่เรียนมา การเรียนในห้องไม่ได้ตอบโจทย์ความรู้ที่เราจะเอาไปใช้ได้เลยเพราะมันเรียนแค่หลักการ แต่ถ้าเราได้ลงมือทำจนเข้าใจหลักการ มันจะไปได้หมดเลย
เช่น เข้าใจเรื่องหลักการพัฒนาชุมชน เรื่องปรัชญาพัฒนาชุมชน เรื่องมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีความเสมอภาค เขาจะพัฒนาได้เมื่อได้รับโอกาส ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ เราก็จะทำงานได้โดยที่มีแก่นแกนของเราอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปเรียนเครื่องมือเจ็ดชิ้น อันนั้นมันหาเอาตอนไหนก็ได้ เรารู้สึกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นคำตอบทั้งหมด ตัวที่เอามาทำงานต่างหากคือสิ่งที่ทำให้เราเห็นแก่นแกนของมหาวิทยาลัย แก่นแกนที่อาจารย์บอกชัดขึ้น
การได้มีพื้นที่การเรียนรู้แบบนั้น หมายถึงการทำโครงการนอกห้องเรียน ณ อายุเท่านั้น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของคุณไหม?
เรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนนะ เพราะก่อนหน้านั้นผมทำโครงการกับชุมชนอยู่ก่อนก็จริง แต่มันไม่ได้เป็นพื้นที่ให้เราได้ลองอย่างเป็นพื้นที่ของเราจริงๆ แต่โครงการฯ นี้มีพื้นที่ให้เราได้ลอง มีงบให้ มีพี่เลี้ยงให้ มีคนคอยทำให้มันชัดขึ้น และมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พอทำจริงเห็นความล้มเหลวกับความสำเร็จ ไอ้ความล้มเหลวมันถูกใช้เป็นตัวตั้งและท้าทายเราต่อ ปีนี้ยังทำไม่สำเร็จ ปีหน้าจะไปต่อไหม? ขณะที่ก่อนหน้านั้น เราไม่เคยมานั่งทำอะไรแบบนี้ ทำเสร็จแล้วก็แล้วไป
อีกอันที่ผมคิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ คือหนังสือเรื่อง การเมืองภาคพลเมือง ที่ป้าหนูยื่นให้ช่วงทำธรรมนูญเยาวชนฯ หนังสือเล่มนี้บอกอะไรหลายอย่างถึงเรื่องการลงมือทำของคนเพื่อเปลี่ยนแปลงชุมชนที่ตัวเองอยู่ เลยรู้สึกว่าการกระทำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ มันมีทางนะ เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าต้องทำเอง ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ให้ได้ ต้องทำให้มันชัดนะ แล้วองค์ประกอบอื่นๆ เช่น เรื่องงบ พี่เลี้ยง เรื่องความรู้ที่ได้จากนักวิชาการ มันเป็นจุดที่มาซัพพอร์ตทำให้เราทำมาอย่างต่อเนื่อง
เราเคยถูกตั้งคำถามเรื่องคุณค่าของสิ่งที่ทำด้วยหรือเปล่า แปลกใจว่าทำไมเด็กคนหนึ่งถึงอินเรื่องเมือง ชุมชน สังคม ไม่ค่อยพูดเรื่องของ ‘ฉัน’ สงสัยว่ากระบวนการโค้ช ตั้งคำถามเรื่องคุณค่าของสิ่งที่เราทำด้วยไหม
จริงๆ ชีวิตผมก็มีเรื่องฉันนะ ฉันจะเที่ยว ฉันจะนู่นนี่นั่น แต่เรื่องฉันมันอิ่มพอดีแล้ว รู้สึกว่าเรามีแรงที่จะทำเพื่อเรื่องอื่นๆ อย่างเรื่องหาดก็คือเรื่อง ‘ฉันฝันอยากจะเห็น’ นะ เหมือนฝันว่าเราจะเรียนจบปริญญาน่ะครับ
แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าการเรียนจบปริญญามีค่าสำหรับผม แต่ถ้าหาดมันกลับมา มันโคตรมีค่าเลยนะ การได้หาดกลับคืนก็เหมือนเราได้ปริญญาใบนึง และมันตอบสนองความท้าทายบางอย่างในตัวเองเหมือนกัน
อย่างช่วงนี้ผมทำเรื่องเมือง ป้าหนูจะถามว่าเมืองเป็นยังไง เราเห็นอะไรบ้างที่ไม่โอเค? ซึ่ง มันมีหลายเรื่องมากเลยนะที่เราไม่โอเคแต่เราไม่มีโอกาสได้ลงมือทำ ชีวิตเราต้องอยู่กับเรื่องพวกนี้นะ เราเห็นความเฮงซวย ความไม่พอใจบางอย่างที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมัน และเราก็ทนไม่ได้ที่จะเห็นมันเป็นอย่างนั้น เวลาคนบอกว่าทำเพื่อส่วนรวม ผมรู้สึกว่าจริงๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องส่วนรวม ‘จ๋า’ ขนาดนั้น จริงๆ มันคือเรื่องส่วนตัวนี่แหละเพราะเราอยู่ในสังคมนี้
เข้าใจว่าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้จากการปฏิบัติมาพอสมควร พอไปเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง
เป็นเด็กมหาวิทยาลัยที่ไม่ชอบกิจกรรมมหาวิทยาลัยเลย เพราะกิจกรรมมหาวิทยาลัยมันกดทับเราสุดๆ ช่วงแรกผมเข้านะเพราะอยากรู้ว่ามันคืออะไรจะได้ไม่วิจารณ์อย่างคนไม่รู้ แต่พอหมดเทอมแรกก็ไม่เข้าอีกเลย ทำอารยะขัดขืน แล้วหลังจากนั้นก็โดนแกล้งตลอดแต่ก็ยืนหยัดได้ อาจเพราะสงขลาฟอรั่มสอนให้เราเป็นคนไม่สยบยอมน่ะ
เราทำเรื่องความเป็นพลเมือง อะไรที่มันไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง เราจะไม่สยบยอม แต่เราจะมีวิธีของเราที่จะพิสูจน์ว่ามันคืออะไร ถ้าให้ผมไปคลาน ให้ผมไปลอกคลองดีกว่า ถ้าผมต้องโดนพี่ว้าก ให้ผมไปตัดต้นไม้ แต่งอาคาร กวาดขยะ อะไรแบบนี้จะดีกว่า
กับเรื่องการเรียนในห้อง ผมเรียนพัฒนาชุมชน คลองแดนเป็นชุมชนหนึ่งที่ถูกยกตัวอย่างบ่อยมากในข้อสอบ ซึ่งการที่เรามาคลุกอยู่กับสงขลาฟอรั่ม เราเห็นอยู่ว่าชุมชนคลองแดนเป็นยังไง ข้อสอบถามว่า ‘ชุมชนเข้มแข็งคืออะไร ให้ยกตัวอย่าง’ ‘กระบวนการมีส่วนร่วมคืออะไร และจะสร้างการมีส่วนร่วมได้ยังไง’ โห… ชิลมากฮะ เราเข้าใจอยู่แล้วว่าชุมชนเข้มแข็งคืออะไร เห็นภาพอยู่ว่าคลองแดนคือชุมชนเข้มแข็งได้เพราะอะไร เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วม เราลองผิดลองถูกจากงานเราอยู่แล้ว รู้ว่าบทเรียนมันคืออะไร เชื่อมทฤษฎีไปสู่เรื่องราวของสังคม จากเรื่องราวของสังคมกลับมาสู่เรื่องงานของเรา
เรียกว่าเป็นการสรุปการทำงานของตัวเองลงข้อสอบกันเลยทีเดียว
ใช่ฮะ (ยิ้ม)
ตอนนี้เรียนจบแล้ว แล้วก็มีเวลาทำงานตามความตั้งใจอย่างเต็มที่ ‘สาแก่ใจ’ แล้วไหม
ถ้าไม่นับการทำงานตอนเป็นน้องในโครงการ ก็ทำงานมาปีนี้ เป็นปีที่ห้าที่หกแล้วนะ จากน้องกลายมาเป็นผู้ช่วย เป็นพี่ เป็นโค้ช ตอนนี้กลายมาเป็นคนที่ต้องดูทั้งหมดรวมถึงงานวิจัยด้วย ถึงสงขลาฟอรั่มจะเป็นองค์กรเล็กๆ แต่เราก็รู้สึกว่าเติบโต ทั้งตัวงาน ทั้งวิธีคิดมาเรื่อยๆ มันก็ ‘สาแก่ใจ’ นะ แต่ก็ยังรู้สึกว่า ‘ไม่จบ’ ยังมีความฝันอยากถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้มาเป็นงานเขียนดีๆ อยู่อีก
คิดว่าหลักใหญ่ใจความ ในการเติบโตของมนุษย์ ของเยาวชนคนหนึ่งที่มีจิตสำนึกพลเมืองแบบนี้ มันมาจากอะไรบ้าง
โอกาสในการพัฒนาคนมันมีหลายเรื่องมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่น ป้าหนูเชื่อในตัวผม แม่เชื่อในตัวผม ว่าผมเรียนรู้ลงมือทำและเติบโตได้ มันคือหัวใจของกองไฟ คือจุดที่สว่างที่สุดของกองไฟ ถ้าเชื่อเรื่องนี้แล้ว ทุกอย่างจะโชติช่วงหมดเลย
ซึ่งถ้าเราเชื่อแบบนั้น เราย่อมให้โอกาสเขาไปเรียนรู้ ผมได้รับโอกาสเยอะมากเลยนะ ทั้งที่บางเรื่องทำแล้วมันต้องพลาดแน่ๆ แต่ก็ยังได้รับโอกาส แม้จะพลาดนะ แต่โค้ชค่อยๆ เอามาตี ทำให้ค่อยๆ โต เม็ดเงินก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเดินไปได้อย่างราบรื่นนะ แต่มันก็ไม่ควรโปรยหว่านให้ใช้อย่างฟุ่มเฟือย ต้องเจอปัญหาบ้าง เพื่อให้ได้คิดและเรียนรู้
แล้วก็เอื้อเฟื้อความสะดวกให้เขา โยนหนังสือดีๆ ไปให้เขา ตั้งคำถามคมๆ ให้เขา สร้างแรงเสียดทานบ้างเล็กน้อยให้เขา มันจะได้รู้สึกว่าระหว่างทางไม่ได้สบายเกินไป หรือถ้าให้มันลำบากเกินไปมันก็หมดพลังที่จะทำ คือมันต้องมีทั้งแรงเสียดและก็มีน้ำมันคอยหล่อลื่น และถ้าทุกคนได้โอกาสแบบนี้ มันจะเกิดคนที่เติบโตงอกงามอีกเยอะมากเลย
ผมรู้สึกว่าสิ่งสำคัญที่สงขลาฟอรั่มทำคือ กลับมาทบทวนว่าอะไรคือจุดบกพร่องและความสำเร็จที่มันเกิดขึ้น จุดบกพร่องคือความท้าทายไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่จะจมปลักอยู่ตลอดแล้วก็กักขังตัวเองว่าฉันทำไม่ได้แล้ว แต่มันคือความท้าทายที่จะก้าวต่อเมื่อฉันได้รับโอกาส
ถ้ามันเกิดแบบนี้ขึ้นกับเด็กทุกคนนะ มันจะเกิดสิ่งสร้างสรรค์อีกเยอะมากเลย เหมือนผมที่สร้างสรรค์อะไรได้เยอะมากเลย แล้วเราก็ภูมิใจที่เราได้สร้างสรรค์เรื่องหาดและเรื่องต่างๆ เพราะเราได้รับโอกาสแบบนี้
*พีระ ตันติเศรณี อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครสงขลา ถูกยิงเสียชีวิตด้วยอาวุธสงครามกลางเมืองสงขลา วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555 จากเหตุความขัดแย้งโครงการก่อสร้างกระเช้าลอยฟ้าข้ามทะเลสาบสงขลาบริเวณหาดแหลมสนอ่อน เนื่องจากเกรงว่าการก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และนายพีระมีเจตนาต้องการอนุรักษ์ป่าสนผืนสุดท้ายกลางเมืองสงขลาไว้