- คุยกับ เกตุวดี Marumura ในประเด็นพื้นที่สาธารณะ ในฐานะอดีตนักเรียนทุนญี่ปุ่น อาจารย์มหาวิทยาลัยและนักเขียนที่มีผลงานมากมายเกี่ยวกับญี่ปุ่น
- public space อยู่แทบทุกที่ในญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ในเมือง คอนโดสูง หรือชุมชนต่างจังหวัด
- สิ่งที่ทำให้ public space ในญี่ปุ่นเข้มแข็ง สรุปคร่าวๆ ได้ 4 ข้อ คือ 1. วัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่ปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ผ่านวิธีการสอนจากครอบครัว 2. สถาบันอื่นๆ ไม่ว่าจะโรงเรียน ชุมชนหรือภาคเอกชน มีนโยบายการส่งเสริมให้ public space แข็งแรงขึ้น 3. รัฐบาลและท้องถิ่นมองเห็นความสำคัญและสนับสนุนให้เกิด public space เสมอ 4. ระบบเศรษฐกิจและการตลาดที่ไม่ทอดทิ้ง public space
ทำไมเราไม่แปลกใจเมื่อเห็นเด็กญี่ปุ่นเดินทางไปไหนมาไหนเองคนเดียว หรือกับกลุ่มเพื่อน ด้วยขนส่งสาธารณะที่ดีทั้งรถประจำทางและรถไฟ
ทำไมแม่ๆ ถึงต้องตื่นเช้า ทำข้าวกล่องหรือเบนโตะให้ลูกไปกินที่โรงเรียนทุกมื้อกลางวัน
ทำไมเทศกาลชมดอกซากุระจึงเป็นเรื่องสำคัญและถูกยกระดับให้เป็นกิจกรรมของครอบครัว ทุกๆ โกลเด้นวีค (เทศกาลวันหยุดยาวประจำปี)
และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย ญี่ปุ่นมีพื้นที่น้อยกว่า 1.5 เท่า และมีประชากรมากกว่าถึง 2 เท่า
ญี่ปุ่นสร้างวัฒนธรรมเหล่านี้ได้อย่างไร ทำไมถึงหา ‘พื้นที่สูดหายใจ’ ได้มากกว่า
คุยกับ ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกด) อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ผู้ใช้ชีวิตในช่วงวัยเรียนมหาวิทยาลัย ตรี-โท-เอก นานกว่า 8 ปี เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต จนพบว่าสิ่งที่ทำให้หลงใหลไปกับประเทศนี้ นอกจากรอยยิ้มและความใจดีของคนแล้วคือหลักคิดการทำธุรกิจแบบยั่งยืน
ทั้งหมดนี้ดุนหลังให้มาเป็นอาจารย์ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีผลงานด้านการเขียนออกมาให้เห็นอีกมากมาย ภายใต้ชื่อ เกตุวดี Marumura
จุดเริ่มต้นกับการไปเรียนที่ญี่ปุ่น
เมื่อ 20 ปีที่แล้วก่อนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น เรารู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเสน่ห์มากๆ ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้จักญี่ปุ่นมากนัก แต่ถือว่าเป็นประเทศในเอเชียที่พัฒนามาก จีนเองก็ยังไม่ผงาดและยังไม่โดดเด่นเท่าญี่ปุ่น ซึ่งคนไปเรียนต่อในยุคนั้น ส่วนใหญ่มักเลือกทางอเมริกา-ยุโรป มากกว่า แต่เรากลับรู้สึกว่าคนเลือกไปฝั่งนั้นเยอะมากแล้ว อีกอย่างมีความคิดว่าแนวคิดแบบฝรั่งจะเอามาประยุกต์ใช้กับบ้านเราได้จริงหรือ ก็เลยอยากลองเลือกอะไรที่แตกต่าง
ตอนเด็กมีฝันอะไร ทำไมต้องไปเรียนถึงญี่ปุ่น
อยากพัฒนาประเทศ อยากเป็นนายกรัฐมนตรี (หัวเราะ) อยากทำให้ประเทศดีขึ้น เราจะรู้สึกเศร้าเวลาเห็นคุณยายสูงอายุมานั่งขายพวงมาลัย อีกอย่างหนึ่งคือคุณพ่อ-คุณแม่ ทำงานบริษัทญี่ปุ่นเลยคุ้นเคยกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก ตัวการ์ตูนญี่ปุ่น ขนมญี่ปุ่น เรารู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใกล้ตัวเรา บวกกับความชอบส่วนตัวเราด้วย และอยากออกไปเรียน ตัดสินใจไปเรียนที่นู่น
ชอบการ์ตูนญี่ปุ่นตัวไหน
(หัวเราะ) บอกไปก็อายเหมือนกัน เราชอบ ‘เครยอนชินจัง’ นอกจากความตลกของการ์ตูนเรื่องนี้ เรารู้สึกว่าการ์ตูนชินจังสามารถเล่าชีวิตของคนญี่ปุ่นออกมาได้อย่างมาก ขนาดตัวเราเองที่ไปอยู่ญี่ปุ่นตั้งนาน ยังไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามันมีวันเนื้อลดราคา แต่เรารู้เรื่องนี้ได้จากการอ่านการ์ตูนชินจัง หรือว่าถั่วนัตโตะ (ถั่วหมัก) ที่เจอในการ์ตูน เราไม่คิดว่าคนญี่ปุ่นจริงๆ เขาจะชื่นชอบและรับประทานกันได้มากขนาดนี้ เพราะสมัยนั้นคนก็รู้จักแค่ซูชิ เทมปุระ ไม่มีใครพูดถึงถั่วหมัก หรือแม้กระทั่งชุดนักเรียนที่เห็นในการ์ตูนมันก็ดูน่ารักไปหมด ทุกอย่างมันดูว้าวและถ่ายทอดชีวิตคนญี่ปุ่นออกมาได้เป็นอย่างดี
พอไปสัมผัสญี่ปุ่นจริงๆ มันเหมือนหรือต่างจากที่เราอ่านมาจากการ์ตูนไหม
เหมือนนะ แต่มันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ เช่น เรารู้ว่าคนญี่ปุ่นขยัน แต่พอไปอยู่จริงๆ เขาขยันมาก เราเคยอยู่ชมรมดนตรีเล่นกีตาร์ มันมีงานแสดงแค่คอนเสิร์ตเล็กๆ จัดแสดงในโรงเรียน แต่เขาซ้อมกันอย่างดี ซ้อมกันเอาเป็นเอาตาย เช้ายันเย็น มันเลยทำให้เรารู้สึก “อ๋อ ไอ้ที่เขาบอกว่าคนญี่ปุ่นขยัน มันต้องขยันประมาณนี้เนอะ” ทำให้เราซึมซับและเห็นภาพชัดขึ้นมากกว่า
เพราะเหตุผลใดบ้างถึงทำให้เขามีวัฒนธรรม ‘มุ่งมั่น’ แบบนี้
หลักๆ น่าจะเป็นเพราะการศึกษา เป็นวิธีสอนคนแบบญี่ปุ่น วิธีสอนของพ่อแม่ญี่ปุ่นมีความต่างกับที่ไทยเล็กน้อย พ่อแม่ไทยจะห่วงลูก ดูแลดี ส่วนพ่อแม่ญี่ปุ่นจะปล่อยให้เด็กคิดเอง ทำเองค่อนข้างมาก สื่อและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ก็มีส่วน ในละครไทย พระเอก-นางเอก รักกันแง่งอนกัน น่ารักๆ แต่ญี่ปุ่นละครแทบทุกเรื่องมักจะมีเรื่องอาชีพแฝงอยู่ในเนื้อเรื่อง เช่น ทนายความที่สู้เพื่ออะไรบางอย่าง หรือ นายธนาคารที่สู้เพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ละครเอง inspire เราตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเห็นเฉดของการทำงานในแต่ละอาชีพ เช่น พนักงานขายคอนโด เราคิดว่ามันไม่น่าสนใจ แต่ญี่ปุ่นสามารถทำให้เห็นว่าผู้ขายคนนี้เข้าใจ user ได้ขนาดไหน เข้าใจความต้องการที่ไม่มีใครเห็นได้ และทำมุมมองออกมาได้อย่างน่าสนใจ เราคิดว่าด้านสื่อ และสิ่งแวดล้อม จะทำให้คนญี่ปุ่นขยัน ทำให้มองเห็นว่าทุกอาชีพมีเป้าหมาย
อย่างที่สอง คือการสอนของพ่อแม่ญี่ปุ่น มันจะมีคำพูดติดปากของแม่ญี่ปุ่นที่มักจะบอกลูกว่า ‘กัมบารุ’ หมายถึง ‘พยายามนะ-สู้สู้นะ’ แทนที่จะชมว่า ลูกเก่ง การชมเด็กด้วยคำว่าพยายามนะ จะทำให้เด็กมีความรู้สึกอยากพยายามเข้าไปอีก
อย่างที่สาม ครูในญี่ปุ่นเองก็มักจะไม่ค่อยชม หรืออวยเด็กมาก ยิ่งกรณีที่เด็กโตแล้ว เช่น เด็กมัธยม เด็กมหาวิทยาลัย หากเด็กคนไหนเก่งและทำได้แล้ว ก็จะนิ่งๆ ไว้ อยากให้เด็กทำได้อีก หากเด็กยังทำไม่ได้ก็จะเข้าไปช่วยฝึกจนเด็กทำได้ด้วยตัวเอง
บทบาทของครูเอง ก็สำคัญในการสร้างคน เราคนไทย ชินกับการที่คุณครูสั่งให้เราทำการบ้าน ทำรายงานส่ง บางที ครูก็พาเราไปทัศนศึกษาใช่ไหมคะ ครูญี่ปุ่นก็ทำ แต่รูปแบบจะแตกต่างนิดหนึ่ง
ตัวอย่างเช่น วันนี้ครูญี่ปุ่นจะพาเด็กไปทัศนศึกษา ใครอยากรู้อะไร อยากดูอะไร ไปหาข้อมูลมาและเขียนเส้นทางออกมาเสนอครูได้เลย ซึ่งวิธีการนี้ไม่ใช่การสั่งให้เด็กเดินตามครู เด็กจะคิด ได้วางแผน ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆ นี่คือสิ่งที่เป็นจุดต่าง เมื่อเด็กญี่ปุ่นโตขึ้นมากลายเป็นว่า เขาจะสนุกกับการหาข้อมูล สนุกกับการคิด สนุกกับการลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น โดยเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองชอบ และจะนำพาความขยันเข้ามาเองเหมือนกับว่าเด็กญี่ปุ่นถูกเลี้ยงมาโดยให้พื้นที่มาตั้งแต่แรกเลย
แล้วในแง่ของครอบครัวญี่ปุ่นเป็นอย่างไรบ้าง
ตอบโดยทั่วๆ ไป ญี่ปุ่นมีความน่ารักอย่างหนึ่ง คือ คุณแม่ญี่ปุ่นมักจะทำอาหารให้ลูก ดูได้จากซีรีส์ญี่ปุ่น จะเห็นฉากทำอาหาร ทำให้ตัวเองทาน ทำให้ลูก ทำให้สามี ถ้าเด็กคนไหนที่หิ้วข้าวกล่องจากร้านสะดวกซื้อไป ครูจะตั้งข้อสังเกตแล้วว่าที่บ้านเด็กสถานการณ์โอเคดีไหม ทำไมแม่ถึงไม่ทำเบนโตะให้ลูก
ส่วนการกดดันในเรื่องเรียน เราเชื่อว่าในญี่ปุ่นมีคุณแม่หลายแบบ 1. แม่ที่ปูทุกอย่างในชีวิตให้ลูก (education mama) อยากให้เรียนจบสูงๆ ส่งเรียนกวดวิชา อยากให้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ เข้าทำงานบริษัทใหญ่ๆ แต่ด้วยความที่ญี่ปุ่นเขาให้เกียรติคนทุกอาชีพอยู่แล้ว ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นพนักงานดับเพลิง คุณต้องเรียนไม่เก่ง
เพียงแต่ว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดี พ่อแม่หลายๆ คน ก็อยากให้ลูกทำงานราชการมากขึ้น เพราะงานราชการ เงินเดือนมั่นคง ไม่ได้ถึงขั้นต้องบังคับลูกให้เป็นอาชีพใด
เราว่าพ่อแม่เด็กไทยมีผลต่อความคิดลูกมากๆ จากประสบการณ์ที่เคยเห็น ลูกอยากทำงานแบบนี้ พ่อแม่ก็จิ้มเลยให้ไปเข้าบริษัทนี้นะ แต่ญี่ปุ่นไม่ถึงขั้นนั้น ยังปล่อยให้เด็กเลือกเองอยู่บ้าง
การมอบ space ให้ลูกแบบครอบครัวญี่ปุ่น คือการให้ลูกพึ่งพาตนเอง มันมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง
แล้วแต่วัฒนธรรมเลยค่ะ เขาก็ชินแบบนี้ ของไทยเราก็พึ่งพิงกัน พ่อแม่ดูแลลูกสุดๆ แล้วพอพ่อแม่แก่ ไม่ไหวจริงๆ ลูกก็มาดูพ่อแม่สุดๆ ซึ่งญี่ปุ่นก็จะประหลาดใจว่า เฮ้ย เราตักข้าวให้พ่อแม่ ญี่ปุ่นจะไม่ขนาดนั้น พ่อแม่ก็ตักเองสิ พ่อแม่ก็พยายามช่วยตัวเองด้วยนะ ไม่อยากให้ใครมายุ่ง อยากพึ่งพาตัวเองให้ได้ คิดคนละแบบกัน
นิสัยการรู้จักพึ่งพาตัวเอง ใช่การสอนให้ลูกรู้จักทำความสะอาดห้องเรียนเอง เดินไปโรงเรียนเอง โตขึ้นมาก็แยกไปอยู่เอง หรือเปล่า?
ใช่ค่ะ พยายามไม่รบกวนคนอื่น ญี่ปุ่นพื้นที่เล็กกว่าไทย 1.5 เท่าแต่ประชากรมากกว่าไทย 2 เท่า พื้นที่เขามีจำกัดมาก การที่เราใช้ชีวิตโดยไปสร้างความลำบากให้คนอื่น มันเป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่น่ารัก แค่เอาอาหารกลิ่นเหม็นมาทานในห้องพักกลางวัน ก็ไม่มีใครกล้าทำแล้วเพราะกลัวว่ากลิ่นจะไปรบกวนคนอื่น
ทุกอย่างถูกคิดมาด้วยความคิดว่า อย่ารบกวนคนอื่นนะ สมมุติเรายืนอยู่ในรถไฟ แล้วคนอื่นเอาเท้ามาเหยียบเรา เราจะเป็นฝ่ายขอโทษนะ ขอโทษที่ฉันวางเท้าไม่ดี ที่ไปรบกวนการเดินของคุณ คือขอโทษทั้งสองฝ่าย แต่ฝ่ายที่โดนเหยียบแทนที่จะโมโห ก็ขอโทษด้วย
หรือเด็กวิ่งเล่นในรถไฟ แม่จะดุ อย่ารบกวนคนอื่นสิลูก เป็นแม่ไทยอาจจะบอกว่าอย่าวิ่ง แต่แม่ญี่ปุ่นจะพูดชัดเลยว่า อย่ารบกวน ทำอะไรต้องระวัง นึกถึงคนอื่นด้วยนะ แล้วจะมีวิธีการสอนให้เราคิดถึงคนอื่นตลอดเวลาจริงๆ
เวลาไปงานแต่ง ปกติคนไทยก็ไปขอซองหน้างาน ญี่ปุ่นต้องซื้อซองใหม่ ซองต้องสวยงาม ต้องใช้พู่กันเขียนชื่อ ถ้าเขียนไม่สวยก็ให้ที่ร้านเขียนให้ เงินใส่ซอง ก็ต้องแลกธนบัตรใหม่เพราะเป็นการแสดงความยินดีกับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคู่บ่าวสาว มีความจุกจิกแบบนี้เราต้องคอยนึกถึงฝ่ายตรงข้ามตลอดๆ
เด็กๆ ก็จะถูกสอนเวลาไปบ้านคนอื่น ถอดรองเท้าบ้านใคร ต้องกลับรองเท้าแล้วหันออกนะ ไม่อย่างนั้นเจ้าบ้านจะมาหยิบรองเท้าให้เราแล้วกลับให้ มือเขาจะเลอะ เราก็ต้องกลับเอง เมืองไทยเราใครจะถอดก็ถอดไป ใส่กลับก็ใส่ไป แขกก็จัดการของแขกเอง ญี่ปุ่นพยายามทรีต อีกฝ่ายก็เกรงใจ ไม่อยากให้ทรีตมากจนเกินไป ดูเป็นความมีเยื่อใยต่อกันและกัน
มีความเกรงใจแต่ก็มีเยื่อใยซึ่งกันและกัน – ภายใต้แนวคิดแบบนี้ เหตุผลคืออะไร
มันคือการอยู่ร่วมกัน แล้วประเทศเขาภัยพิบัติเยอะมาก เดี๋ยวสึนามิ เดี๋ยวแผ่นดินไหว ถ้าเขาไม่รู้จักกัน ไม่อยู่ร่วมกันได้ ต่างคนต่างอยู่มันไม่รอดหรอก นึกถึงภาพบ้านเราตอนน้ำท่วมก็ได้ค่ะ หรือสึนามิ ยังจำได้เลย ฝรั่งมาเข้าแถวบริจาคเลือด คนทุกชาติ ทุกชนชั้นมาช่วยกัน เวลาเกิดภัยพิบัติที มันทำให้คนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนะ แล้วมันทำให้เขารู้สึกมีสายสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ในทางกลับกันเราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น เพราะเวลาประสบภัยคนอื่นช่วยเรา คนอื่นประสบภัยเราก็ไปช่วยเขา
public space หรือพื้นที่ให้คนใช้ร่วมกันของญี่ปุ่นมีมากแค่ไหน
มาก (ลากเสียงยาว) เยอะกว่าไทยมากเลย สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ดีไซน์อาร์ท หน้าคอนโดก็ยังต้องมีพื้นที่สวนเลย
ที่ให้ความสำคัญ เพราะเขาวางผังเมืองและมองว่าทุกคนเท่าเทียมกัน วิธีคิดนี้สำคัญมาก จำได้ว่าภาพคนญี่ปุ่นไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง มีลานจอดของซูเปอร์คาร์ เราก็ชี้ให้ดูว่าเฮ้ย ยูดูสิ ลานจอดรถหรูมากเลย ญี่ปุ่นไม่มีเนอะ เขาก็บอกเออ ไม่มี แล้วก็ถามว่าทำไมต้องสร้างลานจอดซูเปอร์คาร์ พอบอกว่ามันจอดหน้าห้างแล้วมันเท่ แล้วห้างเราหาที่จอดยาก เขาพูดมาคำหนึ่ง เจ็บมากเลย ว่า ถ้าเป็นห้างญี่ปุ่น เราจะไม่พยายามกันพื้นที่พิเศษให้คน แต่พยายามหาว่าทำอย่างไรให้รถทุกคันได้มีสิทธิจอด
มันเป็นระบบศักดินาที่เราค่อยๆ สร้างขึ้นมา ใครจ่ายเยอะ มีบัตรเครดิต เราก็จะมีสิทธิพิเศษให้ ลัดคิวให้ แต่ญี่ปุ่นจะคิดกลับกันว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้บริการที่ดีหมด เท่าเทียมกัน
มันเป็นการเอาพื้นที่ส่วนกลางไปให้คนที่เค้ามีสิทธิบางอย่าง แปลว่าถ้าฉันไม่จ่ายเงินเยอะ แล้วฉันไม่มีสิทธิเหรอ มันต่างกันตั้งแต่มายด์เซ็ตแล้วว่าญี่ปุ่นทุกคนเท่าเทียมกัน แปลว่า public space ทุกคนมีโอกาสใช้ร่วมได้ ถึงขั้นที่บริษัทเอกชนหลายแห่งเอาพื้นที่ตัวเองไปทำ public space เพราะเขารู้สึกว่า เขาจะอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีชุมชนคอยช่วย
ญี่ปุ่นสอนหลักที่เรียกว่า ซัมโปโยชิ-หลัก 3 ได้ มาตั้งแต่โบราณว่า คนขายได้ ลูกค้าได้ สังคมได้ เคยถามคนญี่ปุ่นว่าทำไมต้องมีสังคม เขาบอกว่า ถ้าเราดีแต่คนในชุมชนเกลียดเรา เขาอาจไม่อยากให้ลูกมาทำงานในบริษัทเราก็ได้ อาจไม่อยากให้ลูกค้าคนอื่นมาซื้อของในบริษัทเราก็ได้ เราก็จะอยู่ลำบาก
(อย่างตอนนี้ แถวบ้านเรามีตลาดนัดตอนกลางคืนแห่งหนึ่งมาเปิด รถเยอะมาก ติดมาก แท็กซี่จอด ยึดเลนหนึ่งไปเลย นักท่องเที่ยวจีนอีก จนทางเท้าไม่มีทางเดิน ทุกวันเรานั่งคิดว่าเมื่อไหร่ตลาดนัดนี้จะไป ถ้าหนักเข้า ชาวบ้านแถวนั้นอาจถึงขั้นรวมตัวประท้วง แล้วธุรกิจเขาอาจไปไม่ได้เลยนะ) นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมชุมชนจึงสำคัญ
ญี่ปุ่นคิดว่าการที่เราไปอยู่ อาจรบกวนคนในชุมชนก็ได้ ฉะนั้นเราต้องใส่ใจและทำยังไงให้คนในชุมชนอยู่ได้ด้วย เราก็จะอยู่ได้ด้วย
public space ที่สร้างโดยบริษัทต่างๆ มีอะไรบ้าง
บริษัทรับรีโนเวทบ้านที่จังหวัดคานากาวะ ชื่อ ซากุระจูทาขุ บริษัทกันออฟฟิศส่วนหนึ่งเป็นห้องเล็กๆ เปิดให้เป็น public space มีพนักงานมาเฝ้า ใครจะเดินไปกินชา กาแฟ มีชมรมมานั่งพูดคุยกันก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย แขวนป้ายหน้าห้องว่า ใครอยากใช้ห้องน้ำ ยินดีต้อนรับ อยากจัดงานอะไรก็มาจัดที่ space นี้ได้ บางทีเชิญเชฟมาสอนทำอาหาร ซึ่งไม่เกี่ยวกับธุรกิจ ไม่ต้องมาใช้บริการรีโนเวทบ้านก็ได้ แต่พอเขาทำดีแบบนี้ คนก็นึกถึงเขาดี บอกต่อกัน เวลาใครรีโนเวทบ้าน ก็จะนึกถึงเขาเป็นคนแรก เขาก็จะได้ด้วย
โรงเรียนสอนขับรถยนต์ในญี่ปุ่นอีกที่ที่เคยไป มีพื้นที่ให้คนฝึกขับรถ และช่วงต้นปีเขาจะปิดลานนี้ให้คนในชุมชนมาออกร้าน คิดค่าเช่าร้านแค่ 100 เยน แล้วเอาเงินนี้ไปบริจาคให้คนสนุก ทำอาหารขาย ได้มาเจอหน้ากัน กลายเป็น festival เล็กๆ ถ้าเมืองไทย ไม่ใช่ห้าง นึกไม่ออกเลยนะ บริษัทไหนทำแบบนี้ อย่างมากเราก็ส่งเงินเป็นสปอนเซอร์ แต่เราไม่ค่อยสร้างพื้นที่
อีกที่ โรงงานผลิตวุ้น คิดว่าจะทำอย่างไรให้คนมาเที่ยวเมืองเล็กๆ เลยสร้างสวนดอกไม้ มีร้านอาหารที่ใช้ผงวุ้น คิดว่าถ้านักท่องเที่ยวเดินทางมากินที่นี่ และแวะซื้อของ คนในชุมชนก็น่าจะมีรายได้ด้วย วิน-วิน
แนวคิดเหล่านี้มีมานานแค่ไหน
หลักคิดซัมโปโยชิ มีมากว่า 400 ปีก่อนแล้วตั้งแต่สมัยเอโดะ แนวคิดที่ต้องดีกับสังคม แต่รูปแบบอาจเป็น public space เริ่มจากพ่อค้าเมืองโอมิ จังหวัดชิกะ ที่เป็นต้นแบบห้างไดมารู คนจะสงสัยว่าทำไมตระกูลนี้ประสบความสำเร็จจัง ก็ย้อนกลับไปดูในเผ่านี้คือ ทุกคนจะมีหลัก 3 ได้ ไม่ใช่แค่ฉันดี ลูกค้าต้องได้ สังคมต้องได้ด้วย
public space ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ มีอะไรบ้าง
ระดับเบสิคคือสวนสาธารณะหน้าคอนโด ทุกคอนโดต้องมี จะกลายเป็น community space ให้คนได้มาเจอหน้ากัน ยิ่งคนที่มีลูกวัยเดียวกันก็ทักทาย คุ้นเคยกัน ลูกโตไปโรงเรียนด้วยกัน พึ่งพากัน เป็นสิ่งที่ public space ให้
ระดับเมือง ทุกเมืองมีห้องสมุด ทุกคนไปยืม เพราะตอนเด็ก มีวิชาหนึ่ง ตอนปิดเทอมฤดูร้อน ชื่อวิชาวิจัยอิสระ เด็กจะไปหาหัวข้ออะไรก็ได้ที่ตัวเองสนใจ ไปวิเคราะห์ หาข้อมูล ส่วนหนึ่งไปหาที่ห้องสมุด เด็กจะรู้จักไปห้องสมุดเมือง ยืมหนังสือหาข้อมูล โตขึ้นมาก็ติดเป็นนิสัย ห้องสมุดดูง่าย ใครๆ ก็ยืมได้ คนดูแลก็เป็นอาสาสมัครที่เกษียณแล้ว
ศูนย์การเรียนรู้ เช่น มิไรคัง (Miraikan) National Museum of Emerging Science and Innovation พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติ จะสอนเรื่องวิทยาศาสตร์สำคัญอย่างไร โดยนำเสนอสนุกๆ ขยับขึ้นมาเป็นพิพิธภัณฑ์ แบบเก็บค่าเข้าชม ติดโปสเตอร์ทั้งเมือง จนทำให้เรารู้สึกอยากไปดู อยากไปเรียนรู้ ไม่ได้แปลว่าศิลปะเข้าหายาก ไม่ต้องรู้ทฤษฎีอะไรแต่มันก็สนุกแล้ว
บ้านเก่า รัฐบาลท้องถิ่นจะเข้าไปซื้อ รีโนเวท หาคนดูแล และ educate คน ทำให้คนเห็นความสำคัญของบ้านแบบนี้มากขึ้น
‘วิชาวิจัยอิสระ’ เป็นความพยายามเชื่อมโยงโรงเรียนกับ public space หรือเปล่า
เป็นวิชาที่เด็กญี่ปุ่นทุกคนต้องเรียน ไปหาข้อมูลแล้วมาพรีเซนต์หน้าห้อง ซึ่งเราจะทำไก่กาไม่ได้เพราะเพื่อนทั้งห้องดูเราอยู่ เรียนตั้งแต่ประถม บางคนก็ทำเรื่องแมลงของเรา ไปนั่งพลิกฝาท่อ ดูแมลง มีอะไรที่ไหนบ้าง ในเมือง แล้วไปห้องสมุดเพื่อหาว่าแมลงตัวนี้ชื่ออะไร แล้วกลับมาเขียนรายงาน วาดรูป
หลักสูตรโรงเรียนประถมญี่ปุ่นเป็นอย่างไร
แทบจะไม่ต่างกับไทยเลย แต่ที่ต่างกันคือวิธีการสอน เด็กมีอิสระในการคิด ติดตามสิ่งที่สนใจมากกว่า โตขึ้นมาเขาก็จะรู้ว่าชอบอะไร ชอบรถไฟ crazy มากๆ จำรถไฟได้หมดประเทศ
พอโตเป็นผู้ใหญ่ ยัง crazy อยู่ จะหาความรู้เพิ่มยังไงดี อะ มีพิพิธภัณฑ์รถไฟ บริษัทเอกชนก็ทำวารสารเกี่ยวกับรถไฟ มันโตไปด้วยกันทั้งสาย กลายเป็นว่ายิ่งอยู่ ก็ยิ่งเจอสิ่งที่ชอบและยิ่งอิน ยิ่งอยากสนุกในการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ
เด็ก ม.ปลายญี่ปุ่น จะกดดันกว่า แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว จะผ่อนคลายมากขึ้น ต่างจากบ้านเรา?
เด็กไทย ถ้าเป็นเด็กมหาวิทยาลัยก็ยังกดดันอยู่นะ เพราะเกรด เกียรตินิยมยังสำคัญ เข้าทำงานบริษัทยังดู แต่ญี่ปุ่นไม่ดูเพราะรู้สึกว่าความรู้มหา’ลัย ไม่สามารถเอาไปใช้ในบริษัทได้ แต่ละบริษัทจะมีองค์ความรู้และทักษะที่ต่างกันมาก บริษัทญี่ปุ่นจะรับเด็กจบอะไรก็ได้แต่ขอให้ความคิดทัศนคติเหมือนกันเป็นหลักมากกว่า
แล้วบรรยากาศในห้องเรียนไทยกับญี่ปุ่นต่างกันอย่างไร
เมืองไทยเราสอนให้เด็กเข้าใจ ตำรายาก ทฤษฎียาก อาจารย์จะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่าย คลาสสนุก แต่ญี่ปุ่นจะสอนให้ล้มลุกคลุกคลานแล้วคิด อาจารย์ไม่สอนเท่าไหร่ จะถีบให้เราไปคิด เช่น เราโดนให้เปรียบเทียบรายได้บริษัทยางรถยนต์ 4 เจ้า ทำกราฟมา แล้ววิเคราะห์จากข้อมูลที่เราทำ คือจะชี้จุดให้คิดเอง
ตอนเรามาสอน ป.โท เด็กก็ยังบอกว่าทำยังไงดี บอกมาเลย ต้องเขียนแผนยังไง ซึ่งอาจารย์ญี่ปุ่นจะกัดฟัน ไม่บอก ไปคิดเอง แล้วในทางกลับกันถ้าเด็กไม่คิดมา โหย จะโดนเยอะ แบบเสียเวลาผม
เป็นความท้าทายของอาจารย์ที่เรียนแบบญี่ปุ่นมา แล้วกลับมาสอนนักศึกษาไทย?
กลายเป็นว่าเรากลับสอนให้เขาคิดและสนุกนะคะ พอเจอคำตอบ สีหน้าเขาจะเปลี่ยนไปเลย ‘อ้อ มันเป็นอย่างนี้เอง’ เราว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับครูไทย และสนุกกว่าการสอนให้ท่องจำ สำหรับผู้สอน การสอนท่องจำมันง่ายมากเลย แต่สอนให้เขาคิด คนสอนจะเหนื่อย กว่าเขาจะคิดถึงตรงนั้น
กลับมาเรื่อง public space ทำไมพื้นที่สาธารณะในญี่ปุ่นถึงแข็งแรง เหตุผลหนึ่งคือ ประชาชนเสียภาษีเสียค่อนข้างสูงใช่ไหม
เพราะญี่ปุ่นโครงสร้างรัฐที่สนับสนุนให้เราทำเพื่อสังคม เพื่อคนอื่น เขากระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ของไทยรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง เมืองโกเบ แผ่นดินไหวทั้งเมือง ท้องถิ่นจะทำยังไงเพื่อฟื้นฟู ของเราอาจต้องรอกระทรวงนิดนึง แต่ญี่ปุ่นให้อำนาจกับท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นรู้จักตัวเองดีที่สุด เชื่อใจเขาให้เขาไปคิดเองทำเอง
สมมุติจะทำอะไรบางอย่างในเมือง เช่น จะปรับเมืองให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยว จะต้องมีกระบวนการพูดคุยกันก่อน รัฐบาลท้องถิ่น ชาวบ้าน เจ้าของโรงแรม เจ้าของร้านอาหาร มาคุยกันว่าถ้าทำโปรเจ็คท์นี้จะแฮปปี้ไหม สมมุติว่า เราจะทำให้เมืองนี้เป็นเมืองแห่งชาเขียว ทุกคนได้โจทย์ไป เจ้าของโรงแรมทำเครื่องดื่มชาเขียว ร้านอาหารทำบะหมี่รสชาเขียว ทุกอย่างก็จะไปทิศทางเดียวกัน กลับกันกับบ้านเราที่ต่างคนต่างทำ
ตรงข้ามกับรัฐไทย ที่ไม่ได้ทำหน้าที่รัฐบาล รัฐบาลค่อยเข้ามาแก้เวลาเอกชนแก้ปัญหาเองไม่ได้ เราจะเอื้อให้คนที่มีอำนาจเหมือนกัน คดีเสือดำ นาฬิกา เราก็ยังช่วยคนที่มีอำนาจ มันกลายเป็นว่าทุกคนต้องมีอำนาจ มีเงินเยอะ เพื่อ protect ตัวเอง แต่ญี่ปุ่น รัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรปันส่วนให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ และอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
คุณจอดรถเกะกะ ตำรวจมาแล้ว ไม่รับใต้โต๊ะ ไม่รับทิป เพราะมันคืองานเขา รายได้เขาสูงโดยไม่ต้องรับเงินพวกนี้ ของไทย ค่าตอบแทนน้อย ตำรวจก็ลำบาก พอคนไม่เคารพตำรวจ จอดรถเกะกะ public ก็เดือดร้อน จะมาบอกให้เราคิดถึงคนอื่นก็ลำบากนะ ที่จอดรถน้อย ไม่มีที่จอดเป็นที่เป็นทาง เราต้องตะเกียกตะกายนึกถึงตัวเองก่อน แค่นี้ฉันก็จะตายอยู่แล้ว คนนั่งรถเมล์ทุกวันทำไมจะไม่อยากนั่งแท็กซี่หรือขับรถ เพราะรถเมล์มันแย่มาก ขณะที่ประเทศอื่น อย่างตอนเราไปเดนมาร์ก เห็นโปรเจ็คท์ดีไซน์รถเก็บขยะ เขาให้ดีไซเนอร์มาออกแบบรถขยะ ที่ทำให้คนเก็บขยะทำงานได้ง่าย ถังขยะไม่เกะกะ รกเมือง ทำยังไงให้เป็น public space ที่คนมาใช้งานจริงๆ
public space ต้องเป็นทั้งโครงสร้างและจิตใจ?
ต้องถามว่าทำไปเพื่ออะไร เพื่อตัวเองหรือคนอื่น public space คือการทำเพื่อคนอื่น ชุมชนแฮปปี้
ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เข้าสู่สังคมสูงวัย มี public space อะไรที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตบ้าง
มีมหาวิทยาลัยที่เปิดเป็น Live Long Education ตอนที่เราเรียนอยู่ที่เมืองโกเบ (Kobe) มีวิทยาลัยเล็กๆ ชื่อว่า Silver College ที่หมายถึงผมสีเงินหรือผมหงอก เป็นโรงเรียนของผู้สูงวัย รับสอนตอนเช้า ตอนบ่ายก็จิบชา นั่งคุยกัน หากิจกรรมให้ผู้สูงวัยทำ จะมีแขนงต่างๆ เช่น การเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศอื่น เราเคยไปสอนที่นี่ สอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย รวมถึงแขนงที่เรียนเกี่ยวกับดูแลสุขภาพตัวเอง
หรือในกรณีบ้านที่มีผู้สูงอายุอยู่ลำพัง บางครั้งผู้สูงอายุเสียชีวิต ท้องถิ่นก็จะเข้ามาดูแล อาจจะเปิดบ้านหลังนั้นให้คนเช่าในราคาย่อมเยา และส่วนใหญ่ผู้ที่เข้าไปเช่า คือเด็กวัยรุ่น เด็กรุ่นใหม่ ที่อยากจะเรียนรู้วิถีชีวิต ทำนา เพื่อดึงคนเข้าท้องถิ่นอีกด้วย
แต่จากข่าวที่ปรากฏมีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวในบ้าน เป็นเพราะผู้สูงอายุญี่ปุ่นรู้สึกเกรงใจและไม่อยากรบกวนคนอื่นด้วยหรือเปล่า
ส่วนหนึ่ง คนญี่ปุ่นอยู่กันอย่างไม่รบกวนใคร ไม่อยากรบกวนลูกหลาน ซึ่งความสัมพันธ์ก็จะไม่ได้ใกล้ชิดเหมือนกับครอบครัวไทย ส่วนการพยายามลดปัญหาตรงนี้ ก็มีอาสาสมัครในท้องถิ่นที่จะคอยเข้าไปดูแลผู้สูงอายุ เพราะลูกหลานอาจจะเข้าไปทำงานในเมือง
ความฝันที่อยากเปลี่ยนแปลงประเทศ ยังอยากจะทำมันอยู่ไหม
ก็เปลี่ยนในแบบฉบับตัวเอง ได้สอนหนังสือ เขียนคอนเทนต์ ให้ผู้ประกอบการหรือลูกศิษย์มีหลักการ เพื่อไปต่อยอดให้ดีกับชุมชน ดีกับพื้นที่ อาจจะง่ายกว่าการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยซ้ำ
ญี่ปุ่นทำให้เราเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
เปลี่ยนมาก จากคนที่ชอบแข่งขัน ทุกอย่างต้องเป็นที่หนึ่ง ต้องเป็นผู้นำ ต้องเป็นประธานเชียร์ เราไดรฟ์ตัวเองเพื่อให้ได้ที่หนึ่ง แต่พอเราไปญี่ปุ่น แต่ก่อนที่เราเคยคิดถึงแต่ตัวเอง จิตใจค่อนข้างแข็งกร้าว ญี่ปุ่นทำให้เราได้รับจิตใจที่ดีกลับมามหาศาล อยู่ดีๆ ป้าข้างบ้านก็ยกเสื้อผ้าลูกสาวให้เรา พอเราได้รับมากก็ทำให้เราอ่อนโยนขึ้นในระดับหนึ่ง จนเราอยากเป็นผู้ให้กับคนอื่นบ้าง