- ‘กล้าที่จะสอน’ รวบรวมจากการพูดคุยกับครูในพื้นที่ต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่า การสอนที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่มาจากตัวตน ความซื่อตรง ความรักในอาชีพและความมีสำนึกในวิชาชีพของครู
- ‘กล้าที่จะสอน’ สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาถึงข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของครู โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความกลัว’ แล้วจึงคืนความเป็นตัวเอง
- “ไม่ใช่เพียงเพราะเธอต้องการให้ครูช่วยเหลือเธอให้ก้าวหน้าเท่านั้น แต่ครูก็ต้องการสติปัญญาและพลังชีวิตของพวกเธอที่จะช่วยให้ชีวิตของครูสดใหม่มีพลังไปด้วย” หัวใจที่หวั่นกลัวของครู หน้า 109
ภาพ: นัฐยากร บุญเกิด / วิภาวรรณ เผือกเชาว์ไวย์
“ในการเผชิญกับการตัดสินของคนหนุ่มสาว ครูต้องหันเข้าหานักศึกษาแทนที่จะหันหน้าหนี แล้วพูดกับพวกเขาว่า “มีช่องว่างที่ใหญ่มากระหว่างเรา แต่ไม่ว่ามันจะกว้างและต้องเสี่ยงเพียงใด ครูให้สัญญาว่าเชื่อมมันให้ได้ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเธอต้องการให้ครูช่วยเหลือเธอให้ก้าวหน้าเท่านั้น แต่ครูก็ต้องการสติปัญญาและพลังชีวิตของพวกเธอที่จะช่วยให้ชีวิตของครูสดใหม่มีพลังไปด้วย” หัวใจที่หวั่นกลัวของครู หน้า 109
“แต่สำหรับครูบางคนที่ให้ความใส่ใจกับเรื่องราวเหล่านี้ ไม่มีความแตกต่าง ไม่ว่าเราจะให้นิยามชุมชนว่าเป็นพื้นที่แห่งปฏิสัมพันธ์ที่เปิดเผยชัดเจน เป็นละครหรือการสนทนาภายใน ครูเหล่านี้อ้างว่าการศึกษาจะไม่สามารถบรรลุความเป็นชุมชนในรูปแบบใดๆ ตราบที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนเป็นไปอย่างไม่เสมอภาคกันทั้งในเชิงสถานะและอำนาจ…
“…ภัยคุกคามที่แท้จริงของชุมชนในห้องเรียน ไม่ใช่ความแตกต่างในอำนาจและสถานะระหว่างครูกับนักเรียน แต่เป็นการขาดความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันที่ความแตกต่างถูกหนุนเสริม …” ชุมชน: ความหลากหลายและอุปสรรค หน้า 241
คำกล่าวข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งจาก หนังสือ ‘The Courage to Teach’ หรือที่ใช้ชื่อไทยอย่างห้าวหาญว่า ‘กล้าที่จะสอน’ เขียนโดย ปาร์กเกอร์ เจ. ปาล์มเมอร์ แปลเป็นภาษาไทยโดย เพ็ญนภา หงส์ทอง และ ณัฐฬส วังวิญญู ที่ทำให้เห็นภาพรวมและสะท้อนถึงบทสรุปที่เป็นแก่นของการเรียนรู้ว่า กุญแจของการเรียนรู้อยู่ที่ ‘หัวใจ’ ของผู้สอนและผู้เรียน
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นบนพื้นฐานข้อมูลที่รวบรวมจากการพูดคุยกับครูในพื้นที่ต่างๆ จนได้ข้อสรุปว่า การสอนที่ดีไม่ใช่แค่เรื่องเทคนิค แต่มาจากตัวตน ความซื่อตรง ความรักในอาชีพและความมีสำนึกในวิชาชีพของครู
ปาล์มเมอร์จึงพาผู้อ่านเดินทางเข้าไปสำรวจภายในของตัวเอง เพื่อปลุกกระตุ้นพลังและแรงบันดาลใจในการสอนให้ครูมีความกล้าและสามารถยืนหยัดต่อไปได้โดยไม่ถอดใจ เขาตั้งใจท้าทายระบบและการสอนของนักการศึกษาจำนวนหนึ่งที่สูญเสียจิตวิญญาณความเป็นครูไปแล้วอย่างสิ้นเชิง
ปาล์มเมอร์ เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการสอนและเป็นนักจัดการศึกษามากว่า 30 ปี เขาจึงพยายามชี้ให้เห็นถึงความกลัวหรือความไม่กล้าเปลี่ยนแปลงบทบาทการสอนของครู จนกลายเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่เป็นปัญหาหลักทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนการศึกษาทั้งระบบได้
“…ครูที่ไม่ได้เรื่องวางตัวห่างจากวิชาที่ตัวเองกำลังสอน และด้วยเหตุผลนี้จึงห่างจากนักเรียนด้วย ครูที่ดีรวมเอาตัวเอง วิชาที่สอน และนักเรียน เข้าไว้ในสายใยชีวิต” บทที่ 1 การสอนที่พ้นจากเทคนิค
ปาล์มเมอร์พยายามชี้ให้เห็นว่า การสอนที่ดีเกี่ยวข้องกับ อัตลักษณ์ และ ความซื่อตรง ในความเป็นครู แกนหลักในการประกอบอาชีพที่ต้องใช้ทั้งสติปัญญา อารมณ์ความรู้สึกและจิตวิญญาณ ในขณะที่ครูและนักเรียนต้องเผชิญหน้ากัน ครูไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่สอน ครูที่ดีต้องรักการเรียนรู้ด้วย วิถีการสอนของครูต้องสร้างความไว้วางใจให้กับผู้เรียนเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างครูกับนักเรียน ทำให้นักเรียนอยากรู้ อยากเรียนรู้ แล้วอยากกลับมาเรียนอีกอย่างต่อเนื่อง สร้างการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและยั่งยืน
กรณีศึกษาในเล่มนี้ทำให้รู้และเข้าใจว่า
- ทำไมการสอนให้ได้ดีจึงไม่ใช่แค่มีเทคนิคการสอนที่ดีอย่างเดียว?
- การค้นคว้าและเก็บข้อมูล เพื่อหาคุณลักษณะนิสัยของครูที่ดีซึ่งมีคุณลักษณะบางอย่างเหมือนๆ กัน
- การเรียนรู้วิธีการเชื่อมต่อการเรียนรู้ระหว่างครูกับนักเรียน เป็นต้น
จุดเด่นของหนังสืออยู่ที่การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาถึงข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดของครู โดยเฉพาะเรื่อง ‘ความกลัว’ ซึ่งเป็นศัตรูที่ร้ายกาจต่อการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเอง ทั้งต่อตัวนักเรียนและครู เพราะความกลัวทำให้เกิดความรู้สึกตัดขาด ไม่สามารถเชื่อมโยงได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่ครูอยากเป็นผู้สอนที่ควบคุมทุกอย่าง ไม่ชอบให้นักเรียนตั้งคำถามหรือแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวการถูกท้าทาย
นอกจากการขจัดความกลัวแล้ว ปาล์มเมอร์ยังผลักดันให้สร้างความเปลี่ยนแปลงการสอนด้วยการจัดบรรยากาศการเรียนให้มีความตื่นตัว ภาษาที่ใช้ในหนังสือ คือ การสร้างความสัมพันธ์ของความย้อนแย้ง (paradox) ยกตัวอย่างเช่น
- การเปิดพื้นที่ให้มีทั้งพื้นที่เปิดและปิด เช่น การเรียนรู้ควรมีพื้นที่ให้นักเรียนตั้งคำถาม ขณะเดียวกันต้องกำหนดขอบเขตการอภิปรายให้ตรงประเด็น
- การเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล และการแสดงความคิดจากข้อสรุปภายในกลุ่ม (การรับฟังผู้อื่น)
- การไม่มองข้ามเรื่องราวเล็กๆ ของนักเรียน และไม่ลืมเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและสังคม เป็นต้น
ในขณะที่เนื้อหาสามบทแรกพูดถึงครูโดยเน้นที่ตัวบุคคล แต่ในส่วนที่เหลือของหนังสือ ปาล์มเมอร์นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้กับชุมชน เขาแนะนำวิธีการเอาชนะความกลัว แล้วเรียกคืนความเป็นตัวเองของครูกลับมา รวมทั้งการจัดการกับความขัดแย้งบางอย่างภายในตัวเอง หนังสือ ‘กล้าที่จะสอน’ จึงช่วยกระตุ้นและเป็นแรงกระเพื่อมทางจิตวิญญาณของครู เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสร้างความงดงามของการสอนและการเรียนรู้ขึ้นมาได้ใหม่