- ไม่อยากเห็นปู่ยาตายาย ใช้ชีวิตอย่างซึมเศร้ากันอีกต่อไป วัยรุ่นบ้านเขาน้อย จ.สตูล จึงลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยและทำให้สุขภาพกายและใจของวัยถือไม้เท้า-ดีขึ้น
- เด็กๆ เลือกใช้ ‘ระบบวิจัย ใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากรพสต. และลงเก็บข้อมูลเพิ่มในพื้นที่ สำรวจความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งใช้แบบสอบถาม จดบันทึก อัดเสียง และถ่ายวิดีโอ เพราะคิดว่าการรู้ข้อมูลรอบด้านจะทำให้ ‘แก้ปัญหาได้ถูกจุด’
- ไม่ใช่แค่ตรวจสุขภาพและสร้างกิจกรรมออกกำลังกาย พวกเขาอยากต่อยอดโครงการจักสารชุมชนและให้ผู้สูงอายุในฐานะปราชญ์ชุมชนและผู้รู้เรื่องวัฒนธรรมเป็นผู้ถ่ายทอดโครงการ นอกจากงานจักสานอาจกลายธุรกิจชุมชน แต่ผู้สูงอายุยังได้มีกิจกรรมทำ และสานต่อวัฒนธรรมชุมชนอีกด้วย
ภาพชุมชนชนบทในฝันของใครหลายคนอาจเป็นภาพทุ่งนาเขียวขจี ผู้คนหลากวัย เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ อยู่ด้วยกันเป็นวิถีชีวิตที่งดงามตามครรลอง…
ตัดภาพกลับมาชีวิตจริง-คนรุ่นใหม่และวัยแรงงานพากันย้ายถิ่นออกจากชุมชนที่เคยวิ่งเล่น ไปเรียน ไปทำงานเพื่อปากท้องในเมืองใหญ่เพราะอยู่บ้านไม่มีจะเลี้ยงปากท้อง และหลายคนไม่มีโอกาสได้หวนกลับบ้านเกิดอีกเลย
ภาพที่เห็นคือ ‘สังคมสูงวัย’ ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น หลายๆ ที่มีช่องว่างเพราะความต่างระหว่างวัย แต่ไม่ใช่ที่นี่ – บ้านเขาน้อย
เยาวชนกลุ่มหนึ่งในชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ประกอบด้วยซอล-ไฟซอล สาดอาหลี, นี-ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด และนิส-นัสรีน สาดอาหลี เล็งเห็นปัญหานี้ จึงรวมกลุ่มกันทำโครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน ด้วยการลุกขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุในชุมชนที่ขาดคนดูแล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ มีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกาย สังคม และจิตใจ
‘ตั้งใจดี’ คือจุดตั้งต้น แต่หัวใจสำคัญของกิจกรรม คือ ‘ข้อมูล’
“ในหมู่บ้านของเรามีผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ บางคนถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัว ไม่อบอุ่น ทั้งยังมีผู้สูงอายุติดเตียง พวกเราเลยเห็นตรงกันว่าน่าจะทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จากที่เคยซึมเศร้าเพราะอยู่แต่ในบ้าน ให้เขาได้ออกมาทำกิจกรรมพบปะกับเพื่อนวัยเดียวกัน ได้พูดคุย ได้หัวเราะให้เขารู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน เพื่อให้เขามีกำลังใจในการมีชีวิตต่อไปค่ะ” นิสบอกเล่าความตั้งใจของเธอ
เมื่อความตั้งใจมีแล้ว ขั้นต่อไปคือการเก็บข้อมูล ทีมงานเก็บข้อมูลจาก 2 ทาง หนึ่ง-ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว คือจำนวนผู้สูงอายุจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ สอง-ข้อมูลด้านสุขภาพที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้สำรวจไว้ และจากข้อมูลชุดนี้พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคความดัน รองลงมาคือเบาหวาน
หลังได้ข้อมูลชุดแรกแล้ว ทีมงานเดินหน้าหาข้อมูลอีกชุดโดยลงไปเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ และสำรวจความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชนด้วยแบบสอบถาม จดบันทึก อัดเสียง และถ่ายวิดีโอ เพราะคิดว่าการรู้ข้อมูลรอบด้านจะทำให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด
ผลการสำรวจทำให้ทีมงานพบว่า ผู้สูงอายุในชุมชนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้ป่วยติดเตียง 2 คน ต้องใช้ไม้เท้าพยุงตลอดการเดิน 1 คน ส่วนรายที่ยังเดินเหินคล่องแคล่วก็มีโรคประจำตัวคือโรคความดัน สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการด้านสุขภาพคือการดูแลช่วยเหลือตามอาการเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการและคิดว่าสำคัญมากกว่า คือความต้องการทางด้าน ‘จิตใจ’
ซอลเล่าว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่บอกว่าอยากพบปะกับเพื่อนๆ เพราะคู่ชีวิตของเขาจากไปแล้ว ทำให้ต้องอยู่คนเดียว หรือไม่ก็อยู่กันอย่างเงียบเหงา เนื่องจากลูกหลานไปทำงานกันหมดจึงต้องการเจอเพื่อนรุ่นเดียวกันเพื่อคลายเหงา
กิจกรรมที่คุณตาคุณยายบอกว่าอยากทำ คือพื้นที่ให้ผู้สูงอายุมาพบปะกัน อาจเป็นสิ่งที่พวกเขาทำกันเองอยู่แล้วและทำไหว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยนำกิจกรรมเหล่านี้มาทำร่วมกันเลย เช่น การปลูกผักร่วมกัน สานใบลานใบเตยด้วยกัน
จากข้อมูลทั้งหมด ทีมงานจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบกิจกรรม นั่นคือ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง, กิจกรรมตรวจวัดความดันเพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นระยะ และ การลงไปเติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุ
กิจกรรมสร้างสุข(ภาวะ) ออกกำลังกายและเข้าเยี่ยมคุณปู่ย่าตามบ้านเรือน
กิจกรรมแรกที่ทีมงานจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้มาพบปะกันคือกิจกรรมออกกำลังกายด้วยไม้กระบี่กระบองซึ่งทุกคนผลิตได้เองและทำได้ง่ายจากวัสดุท้องถิ่น สถานที่ออกกำลังกายคือมัสยิดประจำชุมชน นอกจากนี้ ทีมงานยังประสานกับ อสม. เพื่อให้เข้ามาช่วยเป็นวิทยากรให้ความรู้ วัดความดันผู้สูงอายุ และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะจัดด้วย กระทั่งเลือกเป็นการออกกำลังกาย
ผลของความตั้งใจ คือการตอบรับของผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมนั้นเกินกว่าความคาดหมาย และบรรยากาศโดยรวมดำเนินไปอย่างราบรื่น
“มันไม่ใช่แค่ออกกำลังกายอย่างเดียว แต่ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนได้พบปะกัน ได้สนุกสนานกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันกับเขา ปกติแล้วชาวบ้านจะได้เจอกันต้องอาศัยช่วงวันฮารีรายอเท่านั้น กิจกรรมนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุได้มีโอกาสมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มีเสียงหัวเราะ การพูดคุยเรื่องสารทุกข์สุขดิบจึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาหลักที่เกิดขึ้นระหว่างรอทำกิจกรรม” นิสเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
กิจกรรมต่อมาคือการเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้านเพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุในวันเสาร์อาทิตย์ หลังเลิกเรียน หรือขึ้นกับเวลาของสมาชิกแต่ละคนว่าจะว่างวันไหนบ้าง หลายครั้งไม่ใช่แค่การเยี่ยมอย่างเดียว แต่มีของฝากติดไม้ติดมือไปให้ผู้สูงอายุ และชวนน้องคนอื่นๆ ในชุมชนไปช่วยฟังช่วยคุยด้วย ซึ่งทุกครั้งที่ไปจะมีการจดข้อมูลไว้เพื่อเก็บเป็นข้อมูล นอกจากนี้ ในกิจกรรมจะมีการวัดความดันและการพูดคุยเป็นกำลังใจแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ ทีมงานต้องไปเรียนรู้วิธีวัดความดันจากพี่ๆ อสม. ผ่านการฝึกอย่างจริงจึงเพื่อความเข้าใจ
“ระหว่างตรวจ เราก็จะพูดคุยกับผู้สูงอายุไปด้วยว่าความดันของเขาเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นปกติ และคอยให้กำลังใจเขาครับ” ซอลเล่า
ระดับความสุขไม่จำกัดอายุ
แม้ข้อมูลที่จดบันทึกจะยังไม่สามารถบอกความก้าวหน้าด้านสุขภาพกายของผู้สูงอายุได้ แต่สิ่งที่ทีมงานสัมผัสถึงความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนคือ ‘สุขภาพใจ’ ของผู้สูงอายุที่เพิ่มเลเวลขึ้นจนปรากฏออกมาเป็นรอยยิ้มตลอดเวลาที่พวกเขาไปหาที่บ้าน ชัดเจนที่สุด เห็นจะเป็นกรณีของผู้สูงอายุติดเตียงท่านหนึ่งที่พยายามยกแขนยกขาของตัวเองให้ได้เวลาที่พวกเขาไปช่วยทำกายภาพบำบัด ขณะเดียวกันทีมงานก็ค้นพบว่าสุขภาพใจพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างจากผู้สูงอายุ
“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยไปเยี่ยมผู้สูงอายุคนอื่นนอกจากญาติของตัวเอง แต่โครงการนี้ทำให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักกับผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น แม้ต่อไปจะไม่ทำโครงการนี้แล้ว เราก็คงไปเยี่ยมผู้สูงอายุเหมือนเดิมอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะเกิดความผูกพันกับเขาไปแล้ว” นิสบอกความรู้สึก
ไม่ใช่แค่ตรวจเยี่ยมสุขภาพ แต่พวกเขายังเดินหน้าโครงการต่อไปสำหรับผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อย โครงการที่ว่าไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือข้อมูลความต้องการของผู้สูงอายุที่ทีมงานเคยสำรวจไว้ก่อนหน้านี้
“จักสานเป็นภูมิปัญญาของชุมชนบ้านเขาน้อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้สูงอายุหลายคนยังมีภูมิปัญญาเรื่องนี้อยู่ เราจึงจะจัดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุจะได้มารวมตัวและร่วมกันถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุด้วยค่ะ” นิสเล่า
นีเสริมต่อว่า ยังมีกิจกรรมปลูกผักคิดว่าจะใช้พื้นที่แถวมัสยิด เพราะเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ผู้สูงอายุได้รวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันได้ และผู้สูงอายุจะได้มีผักปลอดภัยไว้กินด้วย
แม้กิจกรรมหลังจากนี้จะมีเป้าหมายที่มากขึ้นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอาหารการกินดี ๆ ทีมงานก็ยังไม่หลงลืมเป้าหมายหลักที่จะจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นพื้นที่รวมตัวกันของผู้สูงอายุได้พบปะกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ซึ่งพวกเขายืนยันว่า เพราะเป้าหมายที่สำคัญที่สุดนั่นคือการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลผู้สูงอายุมีกำลังใจในการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป
เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กๆ ผ่านการทำงานกับผู้สูงวัย
มองจากความสำเร็จของโครงการ หลายคนอาจคิดว่าพวกเขาเดินทางด้วยทิศที่ถูกต้อง และย่ำอยู่บนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่าสำหรับการทำงานภายในทีม พวกเขาก็ต้องพบขวากหนามไม่ต่างจากทีมอื่นๆ ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่อง ‘เวลา’ เพราะชีวิตของแต่ละคนไม่ได้มีพาร์ทเดียว ไหนจะการเรียน การบ้าน กิจกรรม และครอบครัว แม้แต่กะเซาะห์-บาจรียา แซะอามา พี่เลี้ยงโครงการเองก็ยังมีปัญหา เธอกล่าวขอโทษน้องๆ หลายครา แต่ในที่สุดปัญหาดังกล่าวก็คลี่คลายลงได้
ซอลเล่าว่า เริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนว่าแต่ละคนต่างไม่มีเวลา เบื้องต้นคุยกันว่าจะล็อกเวลาทำงานหลังเลิกเรียน และเสาร์-อาทิตย์ แต่ละคนต้องสละเวลาส่วนตัวมาทำเพื่อส่วนรวม เวลาที่ไม่ได้มาทำกิจกรรมก็ลองบริหารเวลาของตัวเองควบคู่ไป
วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวใช้เวลาอยู่ช่วงหนึ่งจึงเข้าที่เข้าทาง และกลายเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะช่วยฝึกนิสัยการบริหารเวลาของพวกเขาไปในตัวด้วย ขณะเดียวกันทีมงานแต่ละคนก็ได้ค้นพบศักยภาพใหม่ที่ฉายแสงออกมาหลังจากเข้ามาทำโครงการนี้
นิสเล่าว่าโครงการนี้ยังเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาศักยภาพและความสามารถทางสังคม (soft skill) ของเธอด้วย เช่น เมื่อก่อนไม่ค่อยพูด ถามคำตอบคำ กลับจากโรงเรียนก็จะเก็บตัวอยู่ในบ้าน ขั้นแรก โครงการทำให้เธอพัฒนาทักษะการพูด ทักษะการบริหารจัดการ ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ
นีเองก็เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูดเช่นกัน เธอบอกว่าเมื่อก่อนเวลาต้องนำเสนองานในโรงเรียน เธอจะให้เพื่อนเป็นคนพูดแทน แต่หลังจากเข้ามาทำโครงการนี้ เธอพบจุดเปลี่ยนที่เข้ามาพังทลายกำแพงความกลัวลงไป
“ครั้งหนึ่งตอนเข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปของโครงการกลไกฯ บังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ และ ประวิทย์ ลัดเลีย โคชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล) ให้เราทุกคนพูดตอนจบกิจกรรมว่าได้เรียนรู้อะไร ถ้าใครไม่พูดจะไม่ได้กลับบ้าน หนูมีเรื่องที่จะพูดอยู่ในใจมาตลอดทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมแต่ไม่กล้าพูด เพราะกลัวผิด กลัวถูกต่อว่า แต่ครั้งนั้นด้วยความกลัวไม่ได้กลับบ้าน เลยฝืนใจพูดออกมาค่ะ (หัวเราะ)
“พอพูดแล้วไม่มีใครตำหนิ หนูเลยรู้สึกดีที่กล้าพูด หลังจากนั้นเวลาเข้าร่วมเวทีหรือมีกิจกรรมอะไรก็พูดออกมาเอง ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน แค่พูดไปตามที่คิด ตามที่เห็นค่ะ”
เช่นเดียวกับซอลที่บอกว่าการไม่ถูกตัดสินว่าสิ่งที่พูดนั้นผิดหรือถูกก็มีผลต่อความกล้าของเขา จากเมื่อก่อนไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เพราะกลัวทำผิด แต่พอได้เข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปที่ต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ และทำกิจกรรมที่ต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุก็ทำให้เขาพบจุดเปลี่ยน
“ภูมิใจมากครับที่ได้ทำโครงการนี้ เพราะถ้าไม่มีโครงการนี้ พวกเราอาจไม่มีความรู้ ความกล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใสในทุกๆ วันแบบนี้” ซอลบอกถึงความสุขที่ได้รับ
ความตั้งใจสุดท้ายของทีมงานเกี่ยวกับโครงการนี้คือ อยากให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงตั้งใจว่าจะจัดทำ ‘นาฬิกาชีวิต’ ของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ที่รวบรวมข้อมูลจากการพูดคุยสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อเปรียบเทียบกันแล้วบันทึกไว้ใน ‘สมุดผู้สูงอายุต้นแบบ’ ทีมงานแอบกระซิบเคล็ดลับบางข้อที่พวกเขารู้มาว่า
“ผู้สูงอายุที่สุขภาพดีส่วนใหญ่ จะตื่นเช้ามาออกกำลังกาย เน้นทานผักทานปลาเป็นประจำ และดื่มนมก่อนเข้านอนค่ะ”
เป็นตัวอย่างของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ซ้ำยังลุกขึ้นมาเอาธุระกับผู้สูงอายุในชุมชนเสมือนเป็นคนในครอบครัว “รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ” ของผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรม ถือเป็นรางวัลที่เยาวชนกลุ่มนี้รู้สึกภาคภูมิใจหลังจบโครงการ