- ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาธ์แบงค์ อังกฤษ พบว่า ผลการสอบของนักเรียนจะลดลงมากถึง 1 ใน 3 หากพวกเขาเรียนในห้องเรียนที่มีเสียงดัง
- เรียนรู้ได้ลึกและกว้างขวาง-ไม่ต้องเร่งตัวเองเกินไป-สร้างวินัยพร้อมดึงสมาธิ คือ 3 อย่างที่เด็กๆ จะได้จากช่วงเวลาของความเงียบ
- ครูเอง ถ้าปล่อยให้นักเรียนโต้เถียง และทำหน้าที่แค่คอยสังเกตการณ์ วิธีนี้จะทำให้ครูสามารถฟังนักเรียนได้อย่างลึกซึ้ง
ผู้ใหญ่มักเรียกร้องให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิดกล้าแสดงออก แต่คำถามคือพวกเขาจะทำได้อย่างไรหากไม่มีเวลาหยุดนิ่งและทบทวนเสียงที่ดังอยู่ในหัวของตัวเอง ท่ามกลางสิ่งรบกวนแวดล้อมที่พร้อมจะทำให้เขาเสียสมาธิได้ทุกวินาที
ความเงียบคือคำตอบ และหลายๆ โรงเรียนในต่างประเทศได้เริ่มบรรจุวิชาเงียบลงในหลักสูตรแล้ว
ดร.เฮเลน ลีส์ (Helen Lees) จากวิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง บอกว่า การสอนให้เด็กๆ รู้จักประโยชน์ของความเงียบในบรรยากาศปลอดความตึงเครียด จะสร้างโอกาสให้พวกเขาใช้สมาธิและสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ซึ่งจะส่งผลต่อความสนใจและพฤติกรรมของนักเรียนอย่างมาก
เพิ่มความเงียบในห้องเรียน
ผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาธ์แบงค์และสถาบันการศึกษาแห่งกรุงลอนดอนพบว่า ผลการสอบของนักเรียนจะลดลงมากถึงหนึ่งในสามหากพวกเขาเรียนในห้องเรียนที่มีเสียงดัง
ดร.ลีส์ ยังบอกว่า ความเงียบมีโครงสร้างที่กระตุ้นให้เกิดวินัยภายในและส่งผลให้สามารถคิดอย่างอิสระได้มากขึ้น เพราะบ่อยครั้ง ความเงียบถูกอ้างถึงในฐานะ การสะท้อนความคิดอย่างลึกซึ้ง (contemplative reflection) เป็นเวลาที่ใช้คิดถึงความหมายของบทเรียนในชั้นเรียน หรือประสบการณ์นอกกำแพงโรงเรียน ช่วยให้นักเรียนเปิดกว้างกับการเรียนได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม
“เมื่อเราใช้แนวทางการวิจัยเกี่ยวกับการตั้งโรงเรียนและนำมารวมกัน สิ่งที่เราเห็นคือการศึกษาที่ปราศจากความเงียบไม่ค่อยให้ผลดีนัก ทั้งในแง่การเรียนรู้ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเชื่อมั่นในตนเอง รวมถึงสุขภาพของนักเรียนด้วย”
แต่ความเงียบ ไม่ใช่แค่การออกคำสั่งให้ “อยู่เงียบๆ” เพราะการใช้ความเงียบลงโทษจะกลายเป็นการหยุดยั้งความสามารถตามธรรมชาติของเด็กๆ ไปทันที – ลีส์ เพิ่มเติม
วิชาเงียบของนักเรียน
นักเรียนได้อะไรจากช่วงเวลาของความเงียบบ้าง
• เรียนรู้ได้ลึกและกว้างขวาง ให้นักเรียนนั่งโดยไม่มีสิ่งรบกวนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการซึมซับและจดจำเนื้อหา ประมวลผลความรู้สึกและความคิดจากเพื่อนๆ และพิจารณาความสำคัญของมุมมองอื่นได้ เมื่อมีเวลาให้คิดมากขึ้น นักเรียนจะสามารถพิจารณาเนื้อหาในวิชาประวัติศาสตร์ โดยคิดถึงผลจากเหตุการณ์ในอดีตที่กระทบต่อชีวิตและชุมชนของพวกเขาในปัจจุบัน
• ไม่ต้องเร่งตัวเองเกินไป ปกติแล้วนักเรียนต้องตามให้ทันครู เพื่อนร่วมชั้น และหลักสูตรที่ทั้งเร็วหรือช้ากว่าระดับความเร็วของพวกเขา การบ้าน กีฬา การสอบ กระทั่งเวลาพักเที่ยงยังมีเส้นตายและกำหนดเวลา ช่วงเวลาหยุดพักใคร่ครวญจะทำให้เด็กๆ มีโอกาสตามทันและประมวลผลสิ่งที่ทำไปตามจังหวะของตัวเอง
• สร้างวินัยและดึงสมาธิ ความเงียบทำให้ได้ยินเสียงลมหายใจของตัวเอง กระตุ้นให้นักเรียนฝึกมีสมาธิและควบคุมตัวเองไม่ให้พูดเรื่อยเปื่อยในห้อง รวมถึงพัฒนาการสื่อสารให้รอบคอบตั้งใจ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานเป็นทีม กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันในสังคมด้วย
วิชาเงียบสร้างความเป็นหนึ่งเดียว
“ความเงียบเป็นหนึ่งในของขวัญยิ่งใหญ่ที่สุดที่เรามี” เฟรด โรเจอร์ส (Fred Rogers) เคยว่าไว้ เขาเป็นพิธีกรรายการทีวีสำหรับเด็ก Mr.Rogers’ Neighborhood ซึ่งออกอากาศมาตั้งแต่ปี 1967-2001
ไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่จะได้ประโยชน์จากวิชาเงียบ ครูเองสามารถรื่นรมย์กับความเงียบในแต่ละวันได้เช่นกัน โดยปล่อยให้นักเรียนโต้เถียงและคอยนำบทสนทนาขณะที่ครูคอยสังเกตการณ์ วิธีนี้จะทำให้ครูสามารถฟังนักเรียนได้อย่างลึกซึ้งและใส่ใจต่อความสนุก ความกลัว และความกังวลของนักเรียน
ดังนั้น ไม่ใช่แค่การพูด ออกคำสั่ง จะช่วยให้ครูสื่อสารกับนักเรียนได้ แต่ความเงียบยังเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนด้วย
นอกจากนี้ ความเงียบถือเป็นโอกาสในทุกความสัมพันธ์ ทั้งที่โรงเรียน ห้องเรียน บ้าน หรือชุมชน การสะท้อนความเงียบร่วมกันสามารถสร้างความเข้าใจและความเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างลึกซึ้ง ผ่านการรับฟังความคิดเห็นและความเชื่อของคนอื่นอย่างตั้งใจ โดยไม่คาดหวังหรือโต้แย้งทันที
ช่องว่างระหว่างการฟังอย่างเงียบสงบนั้นทำให้เข้าใจแนวคิด มุมมอง และประสบการณ์ที่อาจแตกต่างไปจากของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความกลัวที่หายไป ความเข้าใจที่ตามมา และสามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งได้
อย่างไรก็ตาม การสร้างชุมชนและวัฒนธรรมที่เหมาะสมจะสะท้อนความเงียบได้ต้องใช้การฝึกฝน ความอดทน และเวลา