- บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ฝันอยากเป็นผู้กำกับตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม 20 ปีถัดจากนั้น เขาเดินตามฝันนั้นได้สำเร็จ
- ผลงานส่วนใหญ่ของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ อยู่ในสายโฆษณาเป็นหลัก
- บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ไม่ได้จบเอกฟิล์มแต่จบเอกละครเวที
- ภาพยนตร์เรื่องแรกของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ คือ เคาท์ดาวน์ (2012)
- ภาพยนตร์เรื่องที่สองที่สร้างชื่อให้เขาเป็นผู้กำกับร้อยล้าน คือ ฉลาดเกมส์โกง (2017) คว้า 12 รางวัลจาก 16 รางวัลในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 ประจำปี 2017 และนั่งแท่นเป็นภาพยนตร์ไทยทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในฮ่องกงและไต้หวัน
เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์ / ณิชากร ศรีเพชรดี / รัชดา อินรักษา
ภาพ: ศิริโชค เลิศยะโส
หลังจาก ฉลาดเกมส์โกง เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากจะได้รับความนิยมในบ้านเราอย่างถล่มทลายแล้ว ยังโด่งดังข้ามไปอีกหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นภาพยนตร์ไทยทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในฮ่องกงและไต้หวัน เหล่านักแสดงนำในเรื่องต่างเดินสายตบเท้าเข้าร่วมงานและโปรโมตภาพยนตร์ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 27 ประจำปี 2017 ฉลาดเกมส์โกง ยังกวาด 12 รางวัลจาก 16 รางวัล สร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้มีส่วนร่วมในภาพยนตร์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
แต่ความสำเร็จทั้งหมด ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาง่ายๆ
The Potential ชวน ผู้กำกับฉลาดเกมส์โกง บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ มานั่งจับเข่าพูดคุยถึงความทุ่มเท ความตั้งใจ ความฝันที่แน่วแน่และไม่เคยล้มเลิก (แม้จะเคยคิดบ้าง) ถึงความอยากเป็นผู้กำกับที่ผุดเข้ามาในหัวเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็กมัธยมปลายและไม่เคยจางหายไปไหน พลังที่แรงกล้าดังกล่าวได้ผลักดันให้ชายคนนี้ขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับร้อยล้าน พร้อมกันนั้น The Potential ยังไม่พลาดที่จะชวน บาส-นัฐวุฒิ มานั่งถกถึงระบบการศึกษาแบบแพ้คัดออกที่เป็นเส้นเรื่องหลักของหนังในฐานะผู้กำกับ และครั้งหนึ่งก็เคยเป็นนักเรียนผู้เคยอาบน้ำร้อนมาก่อนเช่นกัน
“เพราะชีวิตมนุษย์ต้องผ่านบททดสอบตลอดเวลาจนกว่าจะตาย”
ส่องระบบการศึกษาไทยผ่านฉลาดเกมส์โกง
หากให้เปรียบ ฉลาดเกมส์โกง เป็นอะไรสำหรับ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ก็คงเหมือนกับลูกชายที่กลายเป็นคนดังผู้ตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไปเรียบร้อยแล้วในตอนนี้ แม้ตอนแรกเจ้าตัวจะเล่าว่าตอนคิดกันยังนึกไม่ออกว่าหน้าตาหนังจะเป็นอย่างไร จนสุดท้ายมาลงตัวหลังจากการทำการบ้านกับทีมงาน และได้รับรู้ปัญหาของระบบการศึกษาในปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ณ ขณะนั้น และในชีวิตต่อจากนั้น
“เราเคยเข้าใจว่า ระบบหรือแบบแผนการศึกษาไม่ดี หมายถึงแบบแผนการสอนในสังคมไทยที่สอนแต่วิชาการไม่ได้เน้นเรื่องทักษะ แต่พอทำการบ้านจริงๆ ปัญหามีมากกว่านั้น ไม่ใช่แค่โครงสร้างการวางแบบแผน”
“เรารู้สึกว่าจะเล่าแค่ความสนุกไม่พอแล้ว เพราะมีประเด็นหลายๆ อย่างที่ควรถูกถ่ายทอดผ่านหนังเรื่องนี้ เพราะอย่างนั้นจึงมีการปรับทิศทางของหนังจากตอนแรกที่มุ่งเสนอแต่ทริคสนุก ลดความสำคัญสิ่งเหล่านั้นลงให้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของความสนุกในหนังเท่านั้น และเน้นการขับเคลื่อนปมตัวละครที่วัยรุ่นแต่ละคนต้องเจอในสังคมระบบการศึกษาไทย”
ปมตัวละครที่ว่าจึงมีหลากหลายและมีจุดประสงค์หรือเส้นทางที่เลือกจะเดินแตกต่างกันออกไป ซึ่งทุกคาแรคเตอร์นั้น บาสเล่าว่า ทีมคนเขียนบทพยายามย่อยมาจากคนที่เราเห็น และเป็นตัวแทนของเด็กวัยรุ่นและคนในสังคมจากแต่ละจุด เพื่อให้เห็นโครงสร้างทางสังคมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
อย่างกรณีของลินสอบเพราะเข้าใจในวิชาเรียนอย่างถ่องแท้ ส่วนแบงค์ก็สอบเพื่อจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตน หรือสถานะของตัวเอง และเกรซที่ใช้การสอบเพื่อที่จะได้ทำในสิ่งที่ตนรัก นั่นคือการแสดงละคร ซึ่งไอเดียตรงนี้บาสอธิบายถึงสารที่เขาต้องการสื่อว่า
“อย่างตัวละครเกรซ ผมได้มาจากการหาข้อมูลโรงเรียนที่ไม่อนุญาตให้เด็กทำกิจกรรมถ้าผลการเรียนไม่ดีตามเกณฑ์ที่วางไว้ เด็กมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากันก็จริง แต่เด็กบางคนอาจชอบในด้านการทำคะแนน ชอบในการอ่านหนังสือ ในขณะที่เด็กอีกจำนวนหนึ่งก็มีความสุขกับการทำกิจกรรมด้านอื่นมากกว่า ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ถ้ากดดันเด็กที่ทำกิจกรรมด้วยเกรดเฉลี่ยที่มากเกินไป ผมว่าไม่แฟร์กับตัวเด็กและเป็นการเรียนที่ไม่ใช่สอนคนให้เป็นคนอย่างที่คนจะเป็น แต่เป็นการสอนคนให้เป็นแพทเทิร์นอย่างที่เราอยากเห็นมากกว่า ซึ่งมันเป็นเมสเสจที่ผมอยากจะสื่อออกมา”
ซึ่งสุดท้ายแล้ว บาสมองว่าการสอบจึงไม่ต่างอะไรกับการเอาตัวรอด เหมือนเป็น survival game อย่างหนึ่ง โดยไม่สนว่าจะใช้วิธีการอะไรแค่ขอให้เอาตัวรอด
“เกรซอยากจะเป็นนักแสดง มี passion ในด้านนี้ แต่คนรอบข้างกลับบอกว่าแสดงไม่ได้แต่เอาเวลาทั้งหมดมุ่งไปกับการเรียนก่อน ทั้งๆ ที่เกรดของเกรซเองก็ไม่ได้แย่ ผมเลยรู้สึกว่าก็ไม่แปลกที่เด็กจะหาทางเอาตัวรอดด้วยวิธีนี้”
แล้วมุมมองต่อระบบการศึกษาแบบนี้ของบาสเป็นอย่างไร บาสตอบพร้อมให้ข้อคิดว่า
การสอบเป็นอีกหนึ่งบททดสอบความเป็นคนประมาณหนึ่ง ค่อยๆ สะสมว่าเราจะโตขึ้นไปเป็นคนแบบไหน หมายถึงว่าจะโตไปเป็นเด็กที่ไม่อ่านหนังสือ และก็ลอกข้อสอบเพื่อนไปตลอด หรือจะโตไปเป็นเด็กที่เอาวะ ลุกขึ้นมาฮึดสู้ลองดูได้มากได้น้อย ก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ ถือเป็นการตอบมิติหนึ่งของการเป็นชีวิตมนุษย์
ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับบาสแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ยังเป็นภาพสะท้อนบางอย่างที่ทุกคนก็เห็นในสังคมยุคปัจจุบันจริงๆ
สิ่งที่เราเห็นเพื่อนหลายๆ คนที่เมื่อก่อนไม่ได้เป็นคนอย่างนี้ แต่พอเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตทำให้มึงเปลี่ยนไป โดยที่บางทีเราก็เซอร์ไพรส์กับสิ่งที่เกิดกับเพื่อนเหมือนกัน ถ้าถามว่าเข้าใจมันได้ไหมก็เข้าใจได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งตัวเราเอง คนรอบตัวเราก็มีส่วนต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้นหลังจากดูหนังเรื่องนี้ นอกจากการคุยกับเด็กวัยรุ่นแล้ว ผู้ใหญ่หลายๆ คนที่มีลูกหลานหรือมีเด็กๆ ที่ต้องดูแลควรตระหนักด้วยว่าเขามีบทบาทเหมือนกันนะ มากน้อยขึ้นอยู่กับเขา การเพาะเมล็ดบางอย่างในใจเด็กที่อาจเริ่มต้นความรู้สึกจากความผิดชอบชั่วดีที่แทบจะไม่มีอยู่จริงแล้วในปัจจุบัน ถ้าเราเพาะเมล็ดนี้ตั้งแต่เด็กวันหนึ่งเราโตเป็นผู้ใหญ่เมล็ดนี้จะค่อยๆ โตขึ้นและใจเราก็จะกลายเป็นใจเราโดยที่ไม่รู้ตัว”
16: เด็กชายผู้ฝันอยากเป็นผู้กำกับสุดเท่
เราจบบทสนทนาเกี่ยวกับหนังไว้เพียงเท่านั้น ก่อนจะพากันนั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งเขายังเป็นวัยรุ่น วัยร้อน วัยตามหาตัวเอง แต่บาสในวัยเพียง 16 ปี มีความฝันที่แน่วแน่แล้วว่าอยากเป็นผู้กำกับ
“ช่วงนั้นเริ่มรู้ตัวแล้วว่าวิชาการไม่ใช่ทางของเรา และมีความคิดอยากเป็นผู้กำกับหนัง อยากทำหนัง เพราะตอนนั้นชอบดูหนังมาก ดูจนเกรดตกจากเกรดสี่ลงมาสองกว่าๆ เลย”
จากเด็กห้องวิทย์ที่ทางบ้านคาดหวังอยากให้เป็นหมอ จนกระทั่งมาค้นพบความสุขจากการดูหนัง โดยหนังเรื่องแรกที่กระตุกต่อมความคิด ความเสี้ยนและความอยากเป็นผู้กำกับคือเรื่อง Good Fellas ของ Martin Scorsese
“จริงๆ รู้ว่าตัวเองชอบดูหนังมาก ตั้งแต่อายุ 14-15 ปีแล้ว เพราะที่บ้านมีญาติเปิดร้านเช่าวิดีโอ ผมเลยชอบดูหนังเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ตอนแรกดูเพื่อความบันเทิง ผมอินกับการดูหนังมากจนไม่สนใจการเรียนเลย หมดเวลาไปกับการดูหนัง อาจารย์ก็ผิดหวัง ซึ่งตอนนั้นสิ่งนี้เป็นเรื่องยิ่งใหญ่สำหรับผมมากแต่ผมก็ปฏิเสธตัวเองไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบแล้ว หนังคือเรา และอยากทำสิ่งนี้”
แต่เมื่อการเรียนหนังสือคือหน้าที่หลักและสำคัญที่สุดของอาชีพนักเรียน เขาอธิบายถึงวิธีการรับมือและจัดการกับตรงนั้นว่า
“ผมโชคดีที่พ่อแม่เข้าใจ และไม่ได้ขัดขวางเส้นทางการเป็นผู้กำกับหนังของผม” บาสยิ้มก่อนจะอธิบายต่อว่า “ผมไม่ได้ถูกบังคับว่าต้องเกรดสี่ทุกวิชา ขอแค่เรียนไม่ตกและวางแผนชีวิตตัวเองได้ อย่างเช่นอนาคตจะเรียนต่อคณะอะไร จะเข้ามหาวิทยาลัยที่ไหน ซึ่งผมมองว่าแค่คำว่าเข้าใจจากผู้ใหญ่ก็เป็นกำลังใจสำคัญที่มากเพียงพอจะทำให้เด็กมีแรงเดินต่อในเส้นทางที่เขาอยากจะเดิน”
เพียงคำว่า ‘เข้าใจ’ จากพ่อแม่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต้องสนใจหรือเพิกเฉยการเรียนหนังสือได้ บาสเสริมต่อว่า สิ่งที่ตามมาจากการที่พ่อแม่เข้าใจ คือการที่เขาเข้าใจตัวเองว่า ความรับผิดชอบและหน้าที่ในวัยเรียนคืออะไร
“พอการเรียนตกลงมาจนถึงสองกว่าๆ โชคดีที่พ่อแม่คอยพูดเตือนผม เขาไม่ห้ามผมจากการเที่ยวเล่น หรือสิ่งที่สนใจ ทำให้เริ่มเข้าใจว่าในฐานะมนุษย์วัยนี้หน้าที่ที่ต้องทำคือการเรียน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบหลักที่ต้องทำให้ดีที่สุด จากนั้นก็ตั้งใจเรียน รู้จักจัดลำดับความสำคัญเรื่องที่ต้องทำกับเรื่องที่อยากทำไว้ชัดเจน อย่างถ้าจะดูหนังก็ต้องอ่านหนังสือ หรือทำการบ้านให้เสร็จก่อน นิสัยนี้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผมเมื่อโตขึ้นมา ผมพยายามทำเต็มที่ทั้งสองฝั่งเท่าที่จะทำได้ สำคัญเลยคือไม่กดดันตัวเอง”
แล้ว ในวัย 16 ปี ตอนนั้นมุมมองต่อผู้กำกับคืออะไร เราโยนคำถามไปให้บาสในปัจจุบันย้อนถามผ่านกาลเวลาและความทรงจำไปถึงเด็กชายบาส เขาตอบว่าตอนนั้นเขามองว่าผู้กำกับคือ นักเล่าเรื่อง นักเล่าความรู้สึก
“ตอนนั้นยังไม่รู้เลยครับว่าผู้กำกับต้องทำอะไรบ้าง รู้แค่ว่าเป็นอาชีพที่ดูภาพรวมของหนัง และผมอยากเป็น ถ้าผมดูหนังเรื่องไหนแล้วรู้สึกชอบ สนุก ตื่นเต้นไปกับเรื่องราวของหนังเรื่องนั้น ผมจะบังคับให้คนที่บ้านดูและคอยสังเกตอยู่ห่างๆ ถ้าเขารู้สึกชอบเหมือนที่ผมรู้สึกเขาจะไม่เดินเข้าห้องน้ำ สิ่งนั้นทำให้ผมมีความสุข รู้สึกภูมิใจแทนผู้กำกับ เมจิคของภาพยนตร์คือทำให้ชีวิตประจำวันอันแสนธรรมดาของมนุษย์ทั่วไปไม่ธรรมดาอีกต่อไป และนั่นคือเมจิคของภาพยนตร์ที่ผมชอบ”
26: ชายหนุ่มผู้สับสนแต่ไม่หลงทาง
ผ่านไปอีก 10 ปี จากเด็กมัธยมปลายขาสั้นสู่การเป็น first jobber ครั้งแรกในชีวิต นุ่งกางเกงสแล็ค สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวเหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไป แต่นั่นไม่ใช่ภาพของบาส เพราะชายวัย 26 ปีนี้หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เขาตัดสินใจเดินตามฝันด้วยตัวเองอีกครั้งโดยไม่พึ่งครอบครัวอีกต่อไป มุ่งหน้าไปยังอีกฟากหนึ่งของโลก
“เป็นช่วงที่ตัดสินใจไปเรียนต่อฟิล์มที่นิวยอร์ค คิดว่าจะทำงานไปเรียนไปไม่ขอเงินที่บ้าน แต่แผนการเรียนต่อฟิล์มก็ล่มเนื่องด้วยค่าเรียนที่สูงมาก ผมตัดสินใจไม่เรียนต่อตั้งใจทำงานเก็บเงินและสร้างหนังด้วยตัวเอง ถือเป็นการสอบรูปแบบหนึ่ง คิดเสมอว่ากูจะผ่านมันไปได้เปล่าวะ กับความเชื่อในสิ่งที่กูเลือกมาตรงนี้”
จุดนี้เขาเล่าว่ามันคือ สนามสอบรูปแบบใหม่เปลี่ยนจากนั่งขีดเขียนบนกระดาษมาเป็นการสอบที่มีอนาคตและความฝันของเขาเป็นเดิมพัน บาสเล่าว่าชีวิตในช่วงนั้นคือ ทำงานร้านอาหารตอนเช้า แบกขากล้อง อุปกรณ์กล้องไปด้วย ตกเย็นถ่ายหนังกับเพื่อน นับว่าเป็นช่วงค้นหาตัวเอง
เหมือนมนุษย์ทั่วไป ครั้งหนึ่งเขาก็เคยท้อกับความฝันตัวเอง ปล่อยให้ตัวเองจมดิ่งและสับสน
สุดท้ายก็หาคำตอบไม่ได้ ผมก็แค่ทำต่อไปจนกว่าจะเจอคำตอบ จนกว่าจะเจอหนทางแก้ปัญหานั้น ถ้าตอนนั้นมีใครสักคนที่ดูหนังของผมและเดินมาชี้หน้าด่า ‘มึงห่วย มึงอย่าทำ มึงเลิกทำเหอะ’ ผมอาจเลิกทำหนังไปแล้วก็ได้ ซึ่งโชคดีที่ผมไม่เจอ
เหนื่อยไหม เราถาม เขาพยักหน้าตอบกลับอย่างรวดเร็วว่า
“เหนื่อยมากแต่สนุกครับ”
แม้จะมีท้อบ้างแต่ไฟความมุ่งมั่นเขาไม่เคยหมด เขายังคงเลือกเดินตามความฝันในวัย 16 ปีของเขา แล้วถ้าต้องประเมินให้คะแนนตอนช่วงวัย 26 ปี คิดว่าควรได้เท่าไร บาสตอบว่าถ้ามองในด้านวิชาการคงสอบตก
ทำไมล่ะ
“จริงๆ ผมเริ่มอาชีพผู้กำกับช้านะถ้าเทียบกับเด็กเจนฯใหม่ที่เดี๋ยวนี้กำกับกันเร็วมาก ผมใช้เวลาไปกับการค้นหาสิ่งเหล่านี้ให้ตัวเองนานไปหน่อย ถ้าให้พูดเรื่องเกรดในด้านวิชาการผมสอบตกเลยนะ เพราะวิชาฟิล์มก็ไม่ได้เรียน เรื่องเทคนิคกล้องที่ควรจะรู้ก็ไม่รู้เลย ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้นะ (หัวเราะ) หนังช่วงนั้นที่ทำก็จะซื่อบื้อมาก เสียงฟังไม่รู้เรื่องเพราะถ่ายด้วยกล้องวิดีโอ แต่ถ้าพูดในแง่มุมเกรดจิตพิสัยผมให้เต็มสิบเลยนะ มองย้อนกลับไปรู้สึกเหนื่อยแทนตัวเอง แต่ที่ทำได้ เพราะช่วงนั้น passion เยอะมาก”
แล้วมุมมองของการเป็นผู้กำกับเปลี่ยนไปอย่างไรจากเด็กวัย 16 ปีจนกลายมาเป็นหนุ่มในวัย 26 ปี เปลี่ยนไปแค่ไหน บาสตอบว่า เขาเข้าใจมันมากขึ้นและภาพความเท่ของอาชีพนี้เปลี่ยนไป
“เริ่มเข้าใจกระบวนการทำงานมากขึ้นจากที่เริ่มเมื่อตอนอายุ 16 ปีเคยคิดว่า ‘ผู้กำกับแม่งเท่มาก ชี้นิ้วสั่งพอ’ แต่พออยู่ในวัย 26 ปี ภาพความเท่ของการเป็นผู้กำกับเปลี่ยนไป มึงจะเท่ได้ มึงต้องเข้าใจธรรมชาติการทำงาน มานั่งไขว่ห้างหน้ามอนิเตอร์ เอาแต่ชี้นิ้วสั่งคนอื่นไม่ได้นะ มึงต้องเข้าใจด้วยว่าหนังคืออะไร เมสเสจที่อยากจะเล่าคืออะไร ภาพในหัวต้องชัดเจนอยู่ตลอดเวลา” ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ต้องทำการบ้านหนักขึ้นในแง่การคิด การอ่าน การเตรียมงาน เป็นมุมมองที่เปลี่ยนไป”
จากเรียนเอกละครเวที สู่การตั้งต้นทำภาพยนตร์เอง แต่มาจบลงที่การกำกับโฆษณา แน่นอนว่าความสงสัยของเรามีเต็มหัวว่ามันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร บาสอธิบายว่า พอเอาเข้าจริงแล้วการเรียนละครเวทีทำให้ตัวเขามองหนังเปลี่ยนไป
“จากเมื่อก่อนตอนดูหนังก็คิดว่า ‘เฮ้ย เรื่องนี้มุมกล้องเท่วะ’ แต่พอเรียนละครเวที ผมสนใจตัวละครมากขึ้น สนใจธีมมากขึ้น ถือเป็นข้อดีที่ได้รับจากการเรียนละครเวที คิดว่าหลังเรียนจบจะเรียนฟิล์มแต่ยังไม่เคยมีโอกาสเหมาะ”
ประกอบกับที่ทุกวันนี้ยุคนี้โฆษณาค่อนข้างกลายพันธุ์ มีความเป็นหนังสั้นแปะโปรดัคท์ตอนท้ายเป็นไวรัล ซึ่งมีความใกล้เคียงกับการทำหนังใหญ่ค่อนข้างเยอะ ต้องเล่าเรื่อง ต้องสื่อความรู้สึกส่งสารไปถึงคนดูให้ได้ เช่น สารของโฆษณาคือการขายของ จุดนี้ทำให้เขารับมือและจัดการกับมันได้อย่างลงตัว
“ผมเคยผ่านจุดที่ไม่ค่อยเข้าใจการทำโฆษณา ลูกค้าให้โจทย์มาผมก็ตีโจทย์ตามแบบที่ผมคิดว่าสนุก ในความเป็นจริงเรื่องราวอาจสนุกจริง แต่มันขายของไม่ได้ ลูกค้าไม่แฮปปี้ ตัวผมก็ไม่แฮปปี้ หลังจากเรียนรู้สิ่งที่ผ่านมาผมกลับมาหาจุดกึ่งกลางที่ลงตัวระหว่างการขายของให้ลูกค้า พร้อมกับขายความเป็นคนทำหนังของผมด้วย คือต้องรับผิดชอบโจทย์ลูกค้าควบคู่กับรับผิดชอบการทำหนังของผมไปพร้อมๆ กัน”
36: ผู้กำกับร้อยล้าน
สิบปีต่อมา เด็กชายบาสก็ทำตามฝันได้สำเร็จ แม้ภาพยนตร์เรื่องแรก เคาท์ดาวน์ จะไม่โด่งดังเท่ากับเรื่องล่าสุด ฉลาดเกมส์โกง ก็ตาม แต่เขาเล่าว่ารอยต่อระหว่างตรงนั้นได้สอนข้อคิดชีวิตบางอย่างให้เขาอย่างลึกซึ้ง
“ผมรู้สึกปล่อยวางมากขึ้น จากสมัยแรกๆ ที่เป็นผู้กำกับมักคาดหวังกับ feedback ค่อนข้างสูง คิดเสมอว่าผลออกมาต้องสวยหรู แต่ผลกลับตรงกันข้ามไม่ใช่อย่างที่คิด ความรู้สึกเหมือนเราล้ม เจ็บชิบหายเลย บางอย่างไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งที่ควบคุมได้คือความเต็มที่ของเรา ไม่ชุ่ยกับงาน ไม่โกงทีมงาน ไม่โกงคนดู เรื่องของ feedback หนังจะเป็นอย่างไร ฉายได้เงินกี่สิบล้านเป็นเรื่องที่บอกไม่ได้ รับผิดชอบโจทย์ที่ได้รับมาให้ดีก็พอ อย่างผมได้รับโจทย์หนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง โจทย์คือทำหนังวัยรุ่นโจรกรรมที่สนุกตื่นเต้นอย่างมีมิติ หลังจากได้รับโจทย์จากลูกค้ามาหน้าที่ผมคือคิดว่าทำอย่างไรให้เล่าเรื่องสนุก ขณะเดียวกันคนดูต้องจำโปรดัคท์ได้ จำเมสเสจที่ลูกค้าอยากสื่อสารได้นั่นคือความรับผิดชอบต่อตัวงานของผม ไม่เคยคิดว่าทำแล้วจะต้องได้ร้อยล้าน จะต้องได้รางวัล”
เพราะชีวิตมนุษย์ทุกคนเต็มไปด้วยการสอบ บาสเล่าว่า ไม่เพียงเฉพาะวัยรุ่นเท่านั้น เรียนจบมาก็จะมีการสอบในรูปแบบของการทำงาน เหมือนอย่างผมทำหนังเรื่องแรกก็ถือเป็นการสอบเอนทรานซ์อย่างหนึ่งซึ่งก็ไม่ผ่าน
ชีวิตมนุษย์ต้องผ่านบททดสอบตลอดเวลาจนกว่าจะตาย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่มองย้อนกลับมาปัญหาเหล่านั้นอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเขาในวัยนั้นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อพ่อแม่ ต่อโรงเรียน ไม่น่าแปลกใจที่จะรู้สึกว่ามีสปอตไลท์ส่องมากลางหัวตลอดการเดินทาง ในฐานะคนทำหนังแค่ต้องบอกเล่าความรู้สึกนั้นให้คนทุกวัยเข้าใจก็เท่านั้นเอง
ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนมุมมองต่อผู้กำกับอย่างหนึ่งหรือเปล่าสำหรับในช่วงวัย 26 ปี และ 36 ปี บาสตอบว่า ใช่ ก่อนจะอธิบายต่อว่า
“ผมว่าจริงๆ มันไม่ได้เปลี่ยนทุก 10 ปีมันเปลี่ยนทุกงานเลยนะสำหรับผม ทุกงานสอนอะไรบางอย่างเสมอ ถ้าเราเปิดตามองอย่างเป็นธรรม ไม่คิดเข้าข้างตัวเองก็จะเห็นจุดบอด จุดอ่อนของเราในการคิด การเล่าเรื่องทำไมถึงตบเข้าโปรดัคท์แบบนั้นจะเห็นภาพรวมทั้งหมด ผมว่าสิ่งเหล่านี้ค่อยๆ เปลี่ยนเราไปให้กลายเป็นผู้กำกับที่ดีขึ้นทีละนิดๆ”
ภาพยนตร์ ฉลาดเกมส์โกง อาจประเมินได้ว่า สอบผ่าน ในสายตาคนดูส่วนใหญ่ ความสำเร็จจากตรงนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว แต่บทสัมภาษณ์นี้เป็นการนั่งคุยกันก่อนที่ภาพยนตร์ฉลาดเกมส์โกงเกือบจะเหมารางวัลไปทั้งงานสุพรรณหงส์ บาสกลับมองว่า ความสำเร็จตรงนั้นไม่ใช่สิ่งถาวร พร้อมกับให้คำแนะนำแก่เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจเส้นทางนี้ว่า
“ผมว่าความสำเร็จเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าประคับประคองไม่ดีอาจกลายเป็นดาบสองคม ผมว่าเป็นเรื่องมายาประมาณหนึ่ง หมายถึงว่าเดี๋ยวนี้คนเก่งๆ มีมากขึ้น งานดีๆ มีมากขึ้น ความสำเร็จจึงเกิดง่ายและผ่านไปง่ายเช่นกัน ถ้าไปยึดติดมากเกินไปจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่พัฒนาตัวเอง คือถ้าจะให้คำแนะนำก็อยากจะบอกเด็กๆ ว่าจริงๆ ใช้ชีวิตตามสเต็ปของเด็กยุคนี้ไปเถอะ ดีมากๆ แล้ว ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามมีคนชอบงานที่เราทำ หรือว่าสำเร็จขึ้นมาในแบบที่เราต้องการก็เป็นเรื่องดี แต่ว่าอย่าไปยึดมั่นถือมั่นมากเกินไปจนไม่กล้าทำอะไรที่มันใหม่ ให้ปล่อยวางบ้าง”
สุดท้าย… สำหรับผู้กำกับหนังวัย 36 ปี ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ในช่วงวัย 16 ปี อยากจะบอกเด็กคนนั้นว่าอย่างไร
“คงยื่นแบงก์พันให้ใบหนึ่งและบอกว่า มึงไปซื้อหนังมาดูให้เยอะขึ้น แค่นั้นมั้งครับ (หัวเราะ)”