- วัยรุ่นรู้เสมอว่าทำอะไรแล้วคุณจะหงุดหงิด และเขาไม่ลังเลหรอกที่จะทำมัน
- ‘ความโกรธโลก’ ของวัยรุ่น นั่นเพราะเขากำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งฮอร์โมน เคมีในสมอง ต้องการอัตลักษณ์ และกะเทาะตัวเองออกจากเงาของพ่อแม่
- แต่นี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะความไม่เข้าใจกันในวันนี้ อาจสร้างแผลรอยใหม่ที่อาจกลัดหนองไปตลอดชีวิต
- รวบรวมเทคนิคง่ายๆ รับมือกับวัยรุ่นแสนโกรธโลก
จะทำอย่างไรเมื่อลูกวัยรุ่นของคุณ ‘กลอกตา’ ใส่? นี่คือชื่อภาษาไทยที่แปลอย่างตรงไปตรงมาจากบทความ What to Do About Your Teenager’s ‘Eye-roll’ ในวารสารวิชาการ Psychology Today โดยจูดี วิลลิส (Judy Willis) ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา และพัฒนาการของสมองด้านการเรียนรู้ ขณะเดียวกันก็เป็นครูโรงเรียนประถมด้วย
ไม่เท่านั้น เธอยังปล่อยหมัดฮุคถามต่ออย่างไม่ยอมให้ผู้อ่านพ่อแม่ที่กำลังประมือกับลูกๆ ‘วัยรุ่น’ ว่า “รู้สึกไหมว่าพวกเขาจะรู้ลึกรู้จริง ว่าจะทำให้คุณหงุดหงิดได้อย่างไร และพวกเขาก็จะทำอย่างไม่ลังเลเลย”
เช่น ถ้าคุณอยากให้เขาพับผ้าห่ม เธอจะทำเป็นไม่ได้ยิน ถ้าคุณอยากให้เขาแต่งตัวสุภาพกว่านี้ พวกเขาจะถอนหายใจใส่ ถ้าคุณอยากกินมื้อค่ำที่เงียบสงบ พวกเธอจะทำหน้าเหม็นบูดและเริ่มบ่นว่าอาหารมันรสชาติไม่ได้เรื่องอย่างไร กระทั่งคุณอยากจะเอาใจเด็กๆ ด้วยการทำนายว่าพวกเขากำลังรู้สึกอะไร เด็กๆ จะเปลี่ยนอารมณ์ทันทีพร้อมตั้งแง่ว่า คุณกำลังรุกล้ำความเป็นส่วนตัว
ถ้าและถ้า… ที่อาจทำให้คุณหงุดหงิดและน้อยใจจนอยากจะถามว่า ‘พ่อ/แม่ ทำอะไรผิด?’
คำตอบคือ ไม่ผิด พวกเขาแค่กำลังเป็น ‘วัยรุ่น’
อย่าเพิ่งถอนหายใจเพราะรู้สึกว่าคำตอบที่ได้ไม่ชุบชูใจเลย มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เพียงแต่วิลลิสอธิบายการเป็นวัยรุ่นในแง่การเปลี่ยนแปลงภายในว่า พวกเขากำลังเปลี่ยนผ่านทั้งจากภายในร่างกาย พัฒนาการทางสมอง ฮอร์โมน และประสบการณ์ในแง่จิตวิทยา
วิลลิสอ้างงานของ แอนนา ฟรอยด์ (Anna Freud) นักจิตวิทยาและบุตรีของซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Schlomo Freud) แพทย์และนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย และบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ว่า…
วัยรุ่นคือช่วงวัยที่กำลังพัฒนา ค้นหา และปลดตัวเองออกจากเกราะกำบังหรือเงาของพ่อแม่ เริ่มต้นสร้างตัวตนใหม่ คือวัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งขณะที่กำลังเปลี่ยนนั้น แน่นอนว่าย่อมเจอการปะทะกับตัวตนเดิม และคนรอบข้างอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างงานเขียนของฟรอยด์ในปี 1958 ว่า
“เป็นเรื่องปกติสำหรับวัยรุ่นที่จะมีพฤติกรรมอันคาดเดาไม่ได้ ไม่มั่นคง เขาจะเป็นคนที่ฉลาด อ่อนไหว ใจกว้าง คิดถึงคนอื่น แต่คนคนเดียวกันนั้น ก็มีมุมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีอีโก้ และเอารัดเอาเปรียบ ได้เช่นกัน”
เหมือนจะเป็นเรื่องขำขัน และเห็นว่าการปะทะกันระหว่างพ่อแม่ และลูกในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่มันจะไม่ธรรมดาเลย ถ้าการปะทะกันในวัยนี้ สร้างบาดแผลใหญ่หลวงในหัวใจของพวกเขา เพราะชีวิตวัยรุ่นวันนี้ จะถูกบันทึก จดจำ และประกอบขึ้นเป็นตัวตนของเขาในวันต่อๆ ไป
ซึ่งคำแนะนำจากวิลลิสก็คือ “อย่าปล่อยให้การกระทำ คำพูด ของเขา (ลูก) บั่นทอน จนคุณ (พ่อ/แม่) ยอมถอดใจและถอยห่างออกไป”
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านประสาทวิทยา และคุณครูของเด็กๆ วัย 9-13 ปี วิลลิสให้คำแนะนำง่ายๆ ดังนี้
1. ไม่พอใจได้ แต่อย่าหายไป
อดทนต่อความไม่สงบ เคารพความโดดเดี่ยว ยอมรับความไม่พอใจบางอย่าง และเข้าใจต่อความโหวกเหวกโวยวายของวัยรุ่น ทั้งหมดนี้คือความปกติส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านกลายเป็นวัยรุ่น แต่เมื่อวัยรุ่นทำทั้งหมดนี้แล้ว เป็นธรรมดาที่คุณจะไม่พอใจ ไม่อยากอดทน งานหนักอยู่ที่ คุณต้องเป็นใครสักคนที่อดทนอยู่ตรงนั้น เป็นเสาหลักที่ปลอดภัย และยืนยันที่จะเคารพทุกๆ การเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น
2. แค่ฟัง ไม่ต้องช่วยแก้ปัญหา
นี่จะเป็นช่วงที่คุณรู้สึกหมดความสำคัญ เพราะเขาจะหยุดถามความเห็นของพ่อแม่ แม้คุณจะอยากสร้างบทสนทนาด้วยการถามว่า “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” แต่พวกเขาก็อาจจะตอบแค่คำสองคำแล้วก็หายไป
ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากเล่าให้ฟัง แต่พวกเขามีเซนส์แรงกล้า รับรู้ได้ว่า ‘คุณไม่ได้ฟังจริงๆ’ อีกเหตุผลหนึ่งคือ เขาไม่อยากให้คุณไม่สบายใจ และสุดท้ายจะลงเอยด้วยคำสั่งห้ามทำนั่นทำนี่ เพื่อชีวิตที่ง่ายกว่า พวกเขาก็แค่ไม่เล่าอะไรให้ฟังเลย
วิธีแก้เบื้องต้นง่ายๆ คุณแค่ต้องรับฟัง ไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่ท่าทางก็ต้องให้เห็นว่า ‘ฟังอยู่นะ’ ที่สำคัญ คือห้ามวิจารณ์ และห้ามพูดว่า “เรารู้ว่าลูกรู้สึกยังไง จริงๆ นะ ตอนที่เราอายุเท่าลูก เราก็เจออะไรแบบนี้เหมือนกัน” เพราะเด็กๆ จะได้แต่คิดในใจว่า “โนว… มันไม่มีทางเหมือนกัน พ่อ/แม่ไม่ได้เข้าใจเราจริงๆ หรอก”
เทคนิคง่ายๆ คุณแค่พูดว่า “แป๊บนึงนะ พ่อ/แม่คิดว่าลูกกำลังคิดแบบนี้ใช่ไหม…” แล้วก็เติมคำในช่องว่างด้วยการย้ำประโยคที่เด็กๆ เพิ่งพูด จะช่วยให้เขารู้สึกว่า คุณฟังเขาจริงๆ และทบทวน พร้อมถามความเห็น ซึ่งเขาก็จะสบโอกาสเล่าเรื่องต่อไป
พอเขาได้เล่าจนเต็มที่แล้ว คุณอาจแสดงความเห็นส่วนตัว หรือถ้าไม่เห็นด้วยจริงๆ ให้ถามต่อไปว่า ลูกรู้สึกแบบนี้ เพราะเรื่องนี้จริงๆ ใช่ไหม เทคนิคการสะท้อนอารมณ์กลับจะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกว่าคุณสนใจในตัวพวกเขา ช่วยให้เขาทบทวนความรู้สึกนึกคิด และคุณค่าของตัวเอง
ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ พวกเขาจะฟัง
3. สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แต่ห้ามสั่งการ
ยกตัวอย่างเช่น คุณบอกให้เขาล้างรถ ซึ่งเขาก็ล้างแล้วแต่ไม่สะอาด คุณแค่เดินไปบอกเขาว่า “เรารู้ว่าลูกล้างแล้วนะ ล้างอย่างดีเลยแหละ แต่มันมีจุดหนึ่งยังไม่ค่อยสะอาดตรงด้านบนและข้างๆ นะ อย่าลืมดูอีกครั้งนะลูก”
วิธีการระบุจุดที่ต้องแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา ช่วยลดความวุ่นวายและฟุ่มเฟือยทางอารมณ์ลงไปได้
4. ถ้าต้องทะเลาะ ก็ต้องวางแผนการต่อสู้
หัวข้อฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วคือ ถ้าถึงเวลาที่ต้องสื่อสาร ต้องยืนยันความต้องการของคุณจริงๆ ให้ใช้วิธี ‘มอบทางเลือก’ และเงื่อนไขให้ชัดว่าอะไรรับได้ อะไรรับไม่ได้ แสดงเจตนารมณ์ให้ชัดว่าคุณเคารพ (respect) แต่นี่คือสิ่งที่คุณคาดหวัง (expect)
ระหว่างนั้น คุณจะเจอกับการต่อรอง แต่ให้ท่องไว้เสมอว่ามาตรฐานของเงื่อนไขที่ยอมรับได้คืออะไร ข้อระวังคือ อย่าห้าม แค่กำหนดข้อแม้และคำขอสูงสุดเอาไว้เท่านั้น ส่วนวิธีการเป็นเรื่องของเด็กๆ
เช่น ถ้าหน้าที่ของพวกเขาคือการล้างจาน ให้คุณตั้งเงื่อนไขว่า จานต้องถูกล้างภายในสองทุ่ม ซึ่งถ้าเด็กๆ จะล้างก่อนหน้านั้น หรือล้างเอาช่วงสองทุ่มเป๊ะๆ คุณก็ห้ามว่าอะไรเด็ดขาด เทคนิคแบบนี้ดูเล็กน้อยขี้ปะติ๋ว แต่วิลลิสอธิบายว่า ยิ่งคุณออกแบบกฎที่เปิดโอกาสให้พวกเขาควบคุมวิธีการได้มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้เขามีความมั่นใจขึ้นเท่านั้น
5. บางทีก็ปล่อยๆ ไปบ้าง
เอาเข้าจริงแล้ว ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ไม่ถึงกับต้องเจ็บปวด หรือเสี่ยงอันตรายอะไรต่อชีวิต ก็ปล่อยๆ วัยรุ่นไปบ้าง เพราะการเป็นผู้ใหญ่มันต้องผ่านประสบการณ์อันเจ็บปวด สิ่งที่คุณควรทำคือรับฟังอย่างจริงใจ ชวนเขาพูดคุยแต่ไม่ใช่การซักไซ้ ยึดว่า ให้เขาได้พูด ได้ระบาย เพื่อให้เขาได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเอง ทบทวนบทบาทและความสำคัญของตัวเองในกรณีต่างๆ ก็พอ