- การเติบโตของเยาวชนโครงการก๋ายลายสะบัดชัยล้านนา บ้านป่าตึงเหนือ ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน กับการสืบทอดฟ้อนก๋ายลายของชาวไทลื้อ และการตีกลองสะบัดชัยของล้านนา ผสมผสานให้เป็นการแสดงในชุดเดียวกันในชื่อ การแสดงก๋ายลายสะบัดชัย
- ไม่ใช่แค่ฝึกซ้อมให้แสดงเป็น แต่อยู่ที่ระหว่างทางการฝึกซ้อม ทำงานเป็นทีมกับเพื่อน และการเข้าไปศึกษาวัฒนธรรมจากปราชญ์ชุมชน
- ไม่ใช่แค่เด็กที่เติบโต แต่พี่เลี้ยงก็ได้เรียนรู้และปรับจูนวิธีทำงานไปพร้อมกับเด็กๆ ด้วย
เสียงกลองสะบัดชัยประกอบการฟ้อนก๋ายลาย ได้รับเสียงปรบมืออย่างกึกก้องในกิจกรรมคืนข้อมูลสู่ชุมชนของโครงการก๋ายลายสะบัดชัยล้านนา ยิ่งบวกกับคำชื่นชมและคำพูดที่บอกว่าภาคภูมิใจมากแค่ไหน ทั้งหมดนี้ทำให้ แยม-ธารีรัตน์ วงค์ใจ, ชมพู่-พิชญาภา นุนพนัสสัก, บีม-พรนภา นุนพนัสสัก และ ดีน-พิทักษ์พล เป็นพนัสสัก กลุ่มเยาวชนจากบ้านป่าตึงเหนือ ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ตื้นตันจนหุบยิ้มแทบไม่อยู่
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาก็บากบั่นกับการทำโครงการและต้องฟันฝ่าอุปสรรคมาไม่ใช่น้อย…
เหตุเกิดเพราะความอิจฉา
“พวกเราเห็นหมู่บ้านอื่นมีการรวมกลุ่มเด็กๆ มาทำกิจกรรม เราก็อิจฉาเขา หมู่บ้านเราควรจะมีแบบนี้บ้าง มารวมกลุ่มกันทำนั่นทำนี่ ได้ช่วยผู้ใหญ่ด้วย และอยากให้ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กๆ ในหมู่บ้านนี้ดีจัง”
แยม บอกเล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลุ่มเยาวชนของบ้านป่าตึงเหนือเริ่มมารวมกันทำกิจกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นเพื่อนเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เด็กทำให้สนิทสนมเป็นทุนเดิม เมื่อแจ๋ว-จุไรลักษณ์ เป็นพนัสสัก พี่เลี้ยงโครงการ ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการปลุกสำนึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูน ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนเลือกโจทย์โครงการได้ตามความสนใจของตัวเอง พวกเขาที่ชอบการทำกิจกรรมอยู่แล้ว จึงอยากเข้าร่วมด้วยเพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
หลังผ่านการพูดคุยถึงความถนัด ความสนใจ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน ทีมงานตัดสินใจนำ ‘ก๋ายลาย’ และ ‘กลองสะบัดชัย’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมาชิกในทีมมีความสามารถอยู่แล้วมารวมเป็นการแสดงชุดเดียวกัน โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นการช่วยสืบทอดก๋ายลายของชาวไทลื้อ และการตีกลองสะบัดชัยของล้านนาไว้ รวมทั้งสร้างการแสดงก๋ายลายสะบัดชัยให้เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านป่าตึงเหนือ
…แต่กว่าจะตกลงกันได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
แยมเล่าว่า “ตอนประชุมทีม เราถามย้ำกันหลายรอบมากค่ะว่าจะเลือกเรื่องนี้จริงไหม อยากให้แน่ใจว่าทุกคนอยากจะทำจริงๆ แล้วจะเกิดประโยชน์กับหมู่บ้านเราจริงๆ พอทุกคนตกลงแน่นอน พวกเราก็ไปคุยกับพี่แจ๋วค่ะว่าอยากทำเรื่องนี้ แล้วถ้ามีเวทีพิจารณาโครงการเมื่อไร เดี๋ยวเราจะไปแสดงให้เขาดูก่อน”
แม้จะบอกอย่างหนักแน่นว่าจะขึ้นแสดงให้ผู้ทรงคุณวุฒิดูในเวทีพิจารณาโครงการ เพราะมีความสามารถอยู่แล้ว แต่การก้าวออกมายืนหน้าเวทีในสถานที่ที่ต่างจากบริบทเดิมก็ทำให้ทีมงานเกิดอาการ “สู้แบบสั่นๆ!”
“ตอนออกไปพูดยากมากค่ะ มีความสั่นเพราะไม่เคยพูดในที่มีคนเยอะๆ เราพยายามแบ่งหน้าที่เพื่อให้พูดง่ายขึ้น หนูจะพูดที่มาของโครงการ แพนจะพูดบริบทของหมู่บ้าน พี่แน็กพูดสรุป แล้วก็ซ้อมพูดมาด้วย แต่มันเป็นครั้งแรกที่พูดในเวทีใหญ่แบบนี้” แยมเล่าอาการตอนนำเสนอ
บีมที่เป็นคนโชว์ฟ้อนก๋ายลายบอกว่า “วันนั้นตื่นเต้นมาก กลัวจำท่าไม่ได้ เพราะรำบนเวทีใหญ่คนเดียว แล้วคนก็เยอะด้วย”
ถึงจะสั่น แต่ทีมงานก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำให้การนำเสนอผ่านไปได้ด้วยดี สิ่งที่พวกเขาได้รับกลับมาจากผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคำแนะนำเต็มกระบุง โจ้-กิตติรัตน์ ปลื้มจิต เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บอกว่าเขาไม่ได้สนใจว่าเราจะตีกลองเก่งหรือรำสวย แต่สนใจว่าพวกเราจะมีความรู้เรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
คำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิกลายมาเป็นเครื่องมือเสริมให้การทำงานขั้นต่อมาของทีมงานแข็งแรงขึ้น นั่นคือ ‘การลงพื้นที่เก็บข้อมูล’ ที่พวกเขาตัดสินใจไปสอบถามกับผู้รู้ทั้งในชุมชนและนอกชุมชน โดยเริ่มจากการสืบค้นอินเทอร์เน็ต
“หลังนำเสนอ เรากลับมาลองสืบค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อน เพื่อให้รู้เบื้องต้นว่ากลองสะบัดชัยมีที่มาอย่างไร ฟ้อนก๋ายลายเป็นอย่างไร แล้วไปถามพี่แจ๋ว ถามพ่อหลวงว่ามีผู้รู้ในชุมชนหรือชุมชนข้างเคียงที่มีความรู้เรื่องนี้ไหม พี่เขาก็แนะนำให้ไปที่บ้านทาป่าเปา บ้านทาปลาดุก ส่วนบ้านป่าตึงเหนือของเราก็มีลุงเกียรติ พิริแก้ว เราเลยแยกกันไปสอบถามผู้รู้บ้านอื่น แล้วกลับมาช่วยกันสัมภาษณ์ผู้รู้บ้านเรา” แยมเล่า
แต่ก่อนจะเดินทางไปหาลุงเกียรติ พวกเขาเตรียมคำถามด้วยการโยนสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ลงมาแล้วจัดกลุ่มและลิสต์คำถามออกมาเป็นรายข้อ ภายใต้การแนะนำจากพี่แจ๋วเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน จากนั้นแบ่งบทบาทกันเพื่อให้หน้างานไม่สะดุด โดยแยมจะรับหน้าที่ถามหลัก ส่วนน้องๆ ช่วยกันจดและถามเสริม
แยมให้เหตุผลง่ายๆ ที่เลือกทำหน้าที่นี้ เพราะเห็นว่าตัวเองเป็นพี่จึงควรเป็นหลักแก่น้องๆ หลังจากนั้นทีมงานได้ไปสอบถามเรื่องการฟ้อนก๋ายลายกับ วิ-วัชรพงษ์ พิริแก้ว รุ่นพี่ของกลุ่มเยาวชนบ้านป่าตึงเหนือ ที่ออกไปเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นทั้งผู้รู้และผู้ถ่ายทอดการฟ้อนก๋ายลายแก่พวกเขา
ผลการเก็บข้อมูลเรื่องกลองสะบัดชัยจาก 3 หมู่บ้านพบว่าข้อมูลความเป็นมา ลักษณะการตี การนำไปใช้เหมือนกันหมด คือ มีจังหวะเร้าใจ ตีให้ทหารฮึกเหิมก่อนออกรบ ทำให้เข้ากับการฟ้อนก๋ายลาย ที่มีท่าทางโลดโผน เลียนแบบท่าทางของสัตว์ ข้อมูลทั้งหมดที่ได้ถูกนำมารวบรวมและพิมพ์เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์สำหรับใช้ในกิจกรรมต่อไป
ลั่นกลอง ร่ายฟ้อน ดังก้องชุมชน
หลังจากได้ข้อมูลเกี่ยวกับก๋ายลายและกลองสะบัดชัย ทีมงานได้มีโอกาสแสดงในงานสงกรานต์ประจำปีเพื่อเผยแพร่ให้คนในชุมชนรู้จักโครงการของพวกเขา แยมเล่าว่า
“ตอนเช้าชุมชนจะจัดงานรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ส่วนตอนเย็นพวกเราได้จัดการแสดงฟ้อนก๋ายลายกับกลองสะบัดชัยให้คนในหมู่บ้านรู้ค่ะ โดยให้พ่อหลวงช่วยประกาศเสียงตามสายเชิญชวนมาร่วมงาน ก็มีมาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่บางคนสนใจมาก ชื่นชมและให้เงินสนับสนุนด้วยค่ะ (ยิ้ม) พวกเราก็เก็บเข้ากองกลางของกลุ่มเยาวชนบ้านป่าตึงเหนือ”
นอกจากนั้นทีมงานยังได้ไปแสดงในงานวันแม่ และนำโครงการเข้าไปพูดคุยในวงประชุมประจำเดือนของหมู่บ้าน เพื่อสอบถามความคิดเห็นจากลุงๆ ป้าๆ ในการพัฒนาโครงการเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ก็บอกว่าอยากให้พวกเขาฝึกซ้อมเยอะๆ เพื่อให้เกิดความโดดเด่นเวลาไปออกงานและทำให้กลายเป็นเอกลักษณ์ของบ้านป่าตึงเหนือ
ระหว่างที่กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปนี้เอง ทีมงานพบว่าอุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้การทำงานของพวกเขาไม่ลื่นไหลเท่าที่ควรคือเรื่อง ‘เวลา’
“พวกหนูเรียนกันคนละโรงเรียนค่ะ คนที่เรียนในเมืองจะกลับรถรับจ้างซึ่งต้องรอเด็กที่เรียนเทคนิคด้วย กว่าจะกลับถึงบ้านก็เลยค่ำ บางทีก็ติดกิจกรรมของโรงเรียน หรือบางคนก็มีเรียนพิเศษ มีทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ค่ะ” แยมอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น
ก่อนที่บีมจะเฉลยเคล็ดลับที่ทำให้ผ่านอุปสรรคดังกล่าวมาได้จากการรู้จัก “รับฟังกันและกัน”
“พี่แจ๋วกับพี่แยมจะให้โอกาสเราพูดและเสนอความคิดเห็นเสมอ ไม่เคยบังคับให้ทำ มีแต่ถามว่าถนัดอะไร อยากทำอะไร ตอนที่เราไม่มีเวลามาทำงานกันพี่ๆ ก็ถามความเห็นเรา คุยกันจนหาเวลาที่จะมาทำงานด้วยกันได้”
แยมเสริมว่า พี่แจ๋วคือเบื้องหลังที่คอยปลูกฝังว่าทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร ทุกคนต้องฟังกัน หลังจากนั้นทีมงานได้ไปเข้าร่วมอบรมสื่อซึ่งถือเป็นบทเรียนใหม่เอี่ยมที่ทำให้เห็นศักยภาพของตัวเอง
ดีนที่ออกตัวว่าชอบเวทีนี้เป็นพิเศษเล่าว่า “ตอนแรกๆ ที่เริ่มทำสื่อก็ยากเหมือนกันครับ เพราะไม่เคยทำมาก่อน แต่พอหัดไปเรื่อยๆ ทำไปทำมาก็สนุกดี มีเสียงเอฟเฟ็คต์ต่างๆ ให้ลองเล่น จนมาเวทีอบรมสื่อครั้งที่ 2 ที่มีอุปกรณ์ให้เรียนรู้มากขึ้น ได้ลองใช้ขาตั้งกล้อง ชอบมากครับ”
นอกจากได้สนุกกับการลงมือทำแล้ว การที่ต้องตกตะกอนข้อมูลแล้วเรียบเรียงออกมาเป็นสตอรี่บอร์ด (storyboard) ทำให้ทีมงานได้ทบทวนกิจกรรมที่ผ่านมาทั้งหมดไปในตัว ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับกิจกรรมต่อมานั่นคือ ‘การคืนข้อมูลชุมชน’
“เราอยากเล่าให้ผู้ใหญ่ฟังว่าเราได้ทำอะไรไปบ้างตั้งแต่กิจกรรมแรกจนกิจกรรมสุดท้าย มีอุปสรรคอะไร และได้เรียนรู้อะไรมาบ้างจากการทำโครงการ แล้วก็อยากให้ชุมชนให้คำแนะนำค่ะ ว่ามีอะไรเพิ่มเติมไหม เพื่อจะทำให้โครงการนี้และหมู่บ้านก้าวหน้าต่อไป” แยมบอกข้อมูลที่อยากคืนสู่ชุมชน
“จากนั้นก็แบ่งบทบาทหน้าที่กันตามความถนัด หนูเป็นพิธีกร พี่แยมกับดีนดูแลเครื่องเสียงและโปรเจคเตอร์ ชมพู่เป็นฝ่ายลงทะเบียนและต้อนรับ มีพี่ๆ รุ่นก่อนที่ออกไปเรียนนอกชุมชนแล้วกลับมาช่วยด้วยค่ะ” บีมเล่า
เมื่อจัดการงานในกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ทีมงานจัดการงานนอกกลุ่มต่อด้วยการประสานกับพ่อหลวงช่วยประกาศเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาเข้าร่วม เหล่าแม่บ้านในชุมชนอาสามาช่วยพวกเขาทำอาหาร ทำขนม ส่วนกลุ่มผู้ชายก็มาช่วยจัดสถานที่ให้ แต่ในช่วงเวลาที่เตรียมงานนั้นกลับมีเหตุให้แยมที่เป็นหัวหน้าทีมต้องไปเข้าค่ายและไม่ได้มาช่วยน้องๆ เตรียมงาน กระทั่งถึงวันจริง…
“วันนั้นหนูต้องขอออกมาจากค่ายก่อนเพื่อมาช่วยน้อง มาเตรียมเครื่องเสียง มาตีกลอง หนูอยากมาดูด้วยตัวเองว่ากิจกรรมจะเป็นอย่างไร และอยากช่วยน้องๆ รับผิดชอบให้กิจกรรมผ่านไปได้ด้วยดีที่สุดค่ะ” แยมเล่าด้วยน้ำเสียงรู้สึกผิดต่อการทำหน้าที่ได้ไม่เต็มร้อย ทว่าผลลัพธ์ของโครงการที่ออกมากลับไม่ผิดไปจากความคาดหวังของพวกเขาเท่าไรนัก
“ผลก็เป็นไปตามที่คาดหวังค่ะ ผู้ใหญ่ในชุมชนให้คำแนะนำมาเต็มเลยว่าควรทำอย่างไร ทั้งเรื่องการเก็บข้อมูล การซ้อมตีกลอง และการเพิ่มจำนวนคนมาฟ้อน แล้วเขาก็ดีใจที่เด็กรุ่นหนูมาสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมตรงนี้ไว้ค่ะ”
ทั้งหมดนี้จึงนำมาสู่รอยยิ้มกว้างของทีมงานที่เจือด้วยความภาคภูมิใจที่ยืนหยัดทำสิ่งที่เชื่อมาจนถึงตอนนี้
แม้ระยะเวลาการทำโครงการจะสิ้นสุดลง แต่ทีมงานบอกว่าจะยังไม่หยุดการทำงาน เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อได้มีโอกาสไปแสดงข้างนอก และได้รายได้กลับมา พวกเขานำมาสะสมไว้บัญชีของกลุ่มเยาวชน ทำให้ตอนนี้มีเงินส่วนหนึ่งที่จะบริหารกลุ่มต่อไปได้
แยมให้เหตุผลว่าที่ยังทำต่อ เพราะการจะอนุรักษ์ก๋ายลายสะบัดชัยให้อยู่คู่ชุมชนบ้านป่าตึงเหนือจำเป็นต้องทำไปเรื่อยๆ และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
“คำว่าอนุรักษ์สำหรับหนูคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้กลองกับการฟ้อนก๋ายลายกลายเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เล่นไปเรื่อยๆ มีงานไหนก็ไปโชว์ตลอด ให้อยู่คู่กับหมู่บ้านไปเรื่อยๆ ต้องไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องเติมเรื่อยๆ ซ้อมมากขึ้น พลิกแพลง คิดค้นท่าใหม่ๆ และถ่ายทอดแก่น้องๆ รุ่นหลัง น้องเองก็ถ่ายทอดต่อไปอีกให้คนรุ่นหลัง”
เมื่อถามต่อว่าสุดท้ายแล้วจุดมุ่งหมายสูงสุดที่พวกเขาวาดหวังไว้คืออะไร แยมเป็นตัวแทนของทีมตอบว่า
“ถ้าเราแก่มา แล้วเห็นรุ่นลูกๆ มาฟ้อนมารำก็ดีใจแล้วค่ะ (ยิ้ม)”
เรื่องของเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่อาจนิ่งดูดาย “โครงการนี้เป็นโครงการแรกเลยที่ทำให้พี่ได้มาทำงานกับเด็กเยาวชน ตอนนั้นอาจารย์จักรพันธุ์ เพียรพนศักดิ์ ที่เป็นญาติกับคนในหมู่บ้าน เขามาหาผู้ใหญ่บ้าน แล้วมาคุยกับผู้ใหญ่บ้านว่าสนใจทำโครงการที่ให้เด็กทำอะไรก็ได้ดีๆ ในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก็ถามพี่ว่าสนใจไหม พี่บอกทันทีว่าสนใจ โดยไม่ได้ถามเลยว่าจะต้องทำอะไรอย่างไร เพราะพี่มีลูกแล้วก็นึกถึงเยาวชนในหมู่บ้าน ที่เราไม่เคยมีกิจกรรมอะไรที่รวมกลุ่มทำอะไรมีประโยชน์แบบนี้ให้เขาทำหรือพัฒนาศักยภาพเขาเลย” แจ๋ว-จุไรลักษณ์ เป็นพนัสสัก บอกเล่าจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงโครงการ ซึ่งทำให้เธอได้พบกับกลุ่มเยาวชนบ้านป่าตึงเหนือโดยเริ่มจากชวนดีน ลูกชายของเธอเองและแยม สาวน้อยบ้านใกล้เรือนเคียงที่เห็นมาแต่เล็กแต่น้อย “พี่ตัดสินใจชวนเขา เพราะมองแล้วว่าเขาสามารถทำงานได้ กับบ้านแยมก็อยู่ใกล้ๆ กัน รู้จักพ่อแม่ของเขา รู้ว่าโดยพื้นฐานทางครอบครัวแล้ว เขาเลี้ยงลูกไม่มีปัญหาอะไรเลย ถึงไม่ใช่เด็กเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ แต่รู้จักคิดรู้จักปฏิบัติ รับผิดชอบตัวเองได้ เลยมั่นใจว่าถ้าแยมมาร่วมโครงการนี้เขาสามารถทำงานนี้ได้ แยมก็ไปชวนบีม ชวนชมพู่มาร่วมด้วย” แจ๋วยอมรับว่า นอกจากไม่รู้รายละเอียดโครงการมากนักแล้ว เธอยังไม่ค่อยเข้าใจด้วยว่าการเป็นพี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชนต้องทำอย่างไรบ้าง จนได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีอบรมพี่เลี้ยงกับพี่เลี้ยงจากจังหวัดสตูล “สิ่งที่วิทยากรสอนคือกระบวนการทำงานกับเด็ก ที่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเขา เชื่อในศักยภาพของเขา และเปิดโอกาสให้เขาทำ ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาเราทำผิดไปหน่อย เลยเริ่มกลับมาปรับปรุงตัวเอง จากตอนแรกที่เป๊ะมาก เอาตัวเองเป็นมาตรฐาน และสั่งให้น้องทำ ก็เปลี่ยนทั้งหมดเลย” กระบวนการเปลี่ยนแปลงของแจ๋วเริ่มจากการย้ายอำนาจที่อยู่กับเธอ ไปให้แยมที่เป็นประธานกลุ่มเป็นคนจัดการ เพื่อให้น้องได้ฝึกความเป็นผู้นำ แล้วมีปัญหาอะไรที่แยมจัดการเองไม่ได้จึงค่อยมาปรึกษา ซึ่งแยมก็สามารถจัดการงานแต่ละอย่างให้ผ่านไปได้เท่าที่กำลังของเธอจะทำได้ดีที่สุด “งานที่ออกมาอาจไม่ต้องถึงกับถูกใจเราที่สุด เพราะเด็กเขาทำได้ไม่เหมือนผู้ใหญ่อยู่แล้ว แต่เขาก็ทำได้ดีในระดับความสามารถของเด็ก อย่างตอนไปอบรมสื่อ เราเห็นโครงการอื่นส่งกันหมดแล้วก็ใจคอไม่ดี เลยคุยกับแยมว่าทีมเราควรส่งวิดีโอได้แล้ว เพราะนี่ถือเป็นการบ้าน แยมก็บอกโอเค ทันแน่นอน ปรากฏว่าเย็นวันนั้นหลังเลิกเรียน เขาก็รวมตัวกันทำจนเสร็จแล้วส่งคืนนั้นเลย จากตอนแรกที่เราเองคะเนว่าอย่างน้อยต้อง 2-3 วันถึงจะเสร็จ นี่ทำให้รู้เลยว่าเด็กมีศักยภาพมากกว่าที่เราคิด ถ้าเราให้โอกาสเขาได้แสดงความคิดเห็น ได้ตัดสินใจ เขาก็ทำได้” นอกจากเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานกับทีมงาน แจ๋วยังเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงลูกของตัวเองด้วย จากที่เป็นคนแข็งและพูดแรงเมื่อดีนทำอะไรที่ไม่เหมาะสม อย่างการออกไปแว้น เธอยอมรับว่าจะห้ามลูกด้วยถ้อยคำรุนแรง แต่หลังอบรมกลับมา เธอยอมให้ลูกทำสิ่งที่อยากทำ “ภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน” ว่าอนุญาตให้แต่งรถได้แล้วขี่ไปขี่มาแถวบ้าน โดยไม่ไปรวมกลุ่มแว้น เพียงขี่ไปขี่มาแถวบ้าน ฟากดีนที่เห็นว่าแม่ยอมรับฟังความต้องการของตัวเองจึงค่อยๆ ยอมมาร่วมทำโครงการ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีจากการได้เรียนรู้การทำเพื่อส่วนรวม “ดีนปรับปรุงตัวดีขึ้นจากที่เป็นคนใจแคบ ไม่เห็นใจคนอื่น ซึ่งพลาดที่เราเองที่เคยสอนเขาว่าทำงานต้องได้เงิน พอมาโครงการนี้เลยบอกเขาว่าไม่มีเงินให้เหมือนทุกครั้งนะ แต่จะคอยให้กำลังใจไปเรื่อยๆ จนไม่น่าเชื่อว่าดีนจะเปลี่ยนไปได้ กลายเป็นเด็กที่ใจกว้างขึ้น รู้จักแบ่งปัน แล้วความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกก็ดีขึ้นด้วย เราเชื่อใจลูกมากขึ้น เขาก็เปิดโอกาสให้เข้าถึงมากขึ้น มีอะไรก็มาคุยกับแม่” แจ๋วนำทักษะการเป็นพี่เลี้ยงที่เปิดโอกาสให้เด็กทำ และเปิดใจรับฟังเด็กไปปรับใช้กับการทำงานในฐานะผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และงานขับรถรับ-ส่งเด็กนักเรียนด้วย ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นคนใจเย็น ถ้อยทีถ้อยอาศัย และเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น “เวลามีประชุมประจำเดือนของชุมชน เมื่อก่อนทุกอย่างต้องเป๊ะแต่ตอนนี้เรารู้วิธีสื่อสารมากขึ้นว่าต้องรับฟังคนอื่น ไม่ใช่ว่าเรารู้แล้วไปข่มเขา เพราะทุกคนต่างมีความรู้ไม่เหมือนกัน และอาจรู้ในสิ่งที่เราไม่รู้ด้วย แล้วก็โยงไปปรับใช้กับเด็กในรถของเราด้วยที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น เพราะรับเฉพาะเด็กม.1-ม.6 เมื่อก่อนเวลาเด็กมาช้า ไม่ขึ้นรถ แล้วเพิ่งไลน์มาบอกว่าไม่ไป พี่จะโมโหว่าเปลืองค่าน้ำมันรถ เสียเวลา แต่ตอนนี้ก็คิดว่าสงสัยเด็กตื่นสายเลยลืม เราให้โอกาสเด็กเยอะขึ้น” แม้โครงการจะสิ้นสุดระยะเวลา แต่แจ๋วยังไม่ยุติบทบาทพี่เลี้ยง เธอตั้งเป้าไว้ว่าหลังจากนี้จะทำห้องสมุดที่ข้างบ้าน ให้เป็นพื้นที่รวมตัวของเด็กๆ ให้มานั่งอ่านหนังสือหรือมานั่งเล่นโทรศัพท์มือถือก็ยังได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อเธอ เพื่อดีน หรือเพื่อเด็กคนใดเป็นพิเศษ แต่เพื่อให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนมีพื้นที่ทำสิ่งดีๆ และเติบโตมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงพัฒนาบ้านป่าตึงเหนือแห่งนี้ต่อไป |