- 1 ใน 6 เสียง ของเด็กนักเรียนชั้น ม.ปลาย บอกในสิ่งที่ไม่เคยบอกว่า “อยากขอแค่เวลาว่างมากขึ้น เพราะเวลาว่างหลักๆ ใช้ไปกับการเรียนซะส่วนใหญ่ ถ้าคิดๆ ดูก็ใช้ชีวิตกับการเรียนไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์”
- วันหยุด-ที่ไม่เคยได้หยุด เพราะเด็กๆ ต่างเห็นตรงกันว่าทุกเวลา ‘มีค่า’ ถ้าเลือกได้จึงขอใช้เวลาเหล่านี้ทุ่มไปกับการเรียนพิเศษ หาความรู้เพิ่มเติม มากกว่าไปเที่ยวเล่น
- คำถามที่ตามมาคือ ทำไมแค่การเรียนในห้องเรียนถึงไม่เพียงพอ? ทำไมเด็กๆ ถึงใช้เวลาในสถาบันเรียนพิเศษใกล้เคียงกับเวลาในห้องเรียนหลัก
เรื่อง: ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย/อสรา ศรีดาวเรือง
ถ้าพูดถึงช่วงเวลาวันเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุดตามเทศกาลสำคัญต่างๆ นั่นคงจะหมายถึงช่วงเวลาที่ทุกคนมักใช้ไปกับการพักผ่อน ไม่ขอแบกรับข้อมูลอะไรมาใส่ในหัวอีก แต่ช่วงวันเหล่านี้กลับดูเหมือนเป็นเพียงแค่วันธรรมดาของเด็กหลายๆ คน เพราะยังมีเด็กนักเรียนบางกลุ่มที่พวกเขาใช้วันเวลานอกโรงเรียนไปกับการเรียนพิเศษเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ในคณะและมหาวิทยาลัยที่ใจหวัง แม้กระทั่งวันเด็กในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พวกเขายังคงมุ่งหน้าไปเรียนด้วยเหตุผลที่ต่างกันออกไป บ้างก็เพราะกังวลว่าการสอบ GAT-PAT จะถูกเลื่อนให้เร็วขึ้น บ้างก็ลืมไปแล้วว่าวันเด็กเคยสนุกอย่างไร
เวิ้งหนึ่งในย่านลาดพร้าว เราพบกับเหล่านักเรียนจากหลากหลายสถาบันที่มุ่งหน้าจากโรงเรียนเพื่อมาเรียนพิเศษอีกครั้งในช่วงเย็นของวันธรรมดา หมุดหมายคือ ‘วิสุทธานี’ เวิ้งที่รวบรวมสถาบันการเรียนการสอนที่เด็กๆ สามารถเลือกลงคอร์สวิชาตามความสนใจ เพื่อนำไปต่อยอดการเรียนและการสอบสู่ความฝันในอาชีพที่พวกเขาตั้งใจไว้ เราพบนักเรียนตั้งแต่เด็กมัธยมต้นที่กำลังค้นหาตนเอง ไปจนถึงเด็กมัธยมปลายที่กำลังวุ่นวายอยู่กับการเตรียมสอบ GAT-PAT ที่ถูกเลื่อนมากระชั้นขึ้น
ใช่ พวกเขาคือเด็กที่กำลัง พยายาม เพื่อสร้างความปลอดภัยในอนาคตที่กำลังจะมาถึง และใช่อีกนั่นแหละที่พวกเขาคือเด็กที่เลือกและถูกเลือกให้ละทิ้งช่วงเวลาในแบบที่เด็กๆ หลายคนมี
The Potential จึงอยากชวนมาฟังเสียงของเด็กๆ กลุ่มนี้ เสียงที่พวกเขาไม่เคยพูด หรือเคยพูดไปแล้ว ผู้ใหญ่ไม่ได้รับฟัง
นายเตชินท์ เพชรา อายุ 16 ปี (ปันปัน)
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
คณะที่อยากเรียน: บัญชี หรือ นิติศาสตร์
ปันปัน – เริ่มเรียนพิเศษตั้งแต่ชั้น ป.4 จนตอนนี้ย่างเข้าสู่ชั้น ม.4 ความที่ปันปันมีทักษะของการเรียนเลข บวกกับครอบครัวที่มีพี่ชายเรียนนิติศาสตร์และคุณพ่อที่ทำงานในศาลปกครอง ทำให้ ปันปัน มีความสนใจในสาขาวิชานิติศาสตร์และบัญชี แม้ส่วนหนึ่งในตัวเลือกอาชีพของปันปันจะได้รับอิทธิพลจากครอบครัว แต่ปันปันก็ไม่ได้รู้สึกว่านั่นคือกรอบ กลับกันเขามีความพยายามที่จะค้นหาตัวตนผ่านความฝันที่ตั้งไว้ทั้งสอง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็มีเสียงที่อยากส่งไปสู่ครอบครัวเช่นกัน
“อย่าเปรียบเทียบการเรียนของเรากับเด็กคนอื่น มันทำให้ตัวผมรู้สึกไม่เก่ง เรื่องการเรียนการสอนก็อยากบอกว่าอย่าคิดว่าเด็กรู้ทุกเรื่องแล้ว ปล่อยให้เราตะลุยโจทย์อย่างเดียว เพราะบางคนก็ยังไม่เคยเรียนมาก่อน”
นายณัฐภัทร มั่นเจริญโชติ อายุ 16 ปี (อันดา)
โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
คณะที่อยากเรียน: แพทยศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์
อันดา – อีกหนึ่งเด็กหนุ่มที่เริ่มเรียนพิเศษด้วยเพราะอยากเสริมทักษะวิชาการเพื่อความฝันในการเป็นแพทย์หรือวิศวกร ด้วยความฝันของอันดาทำให้เขาเลือกที่จะสละเวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปกับการเรียน ทั้งในรั้วของโรงเรียนและในห้องเรียนพิเศษ “อยากเรียนแพทย์ไม่ก็วิศวะ เพราะเราคิดว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงดี อาชีพที่มั่นคงสำหรับเราคงเป็นอาชีพเกี่ยวกับความสวยความงามหรือศัลยแพทย์ เพราะคนเดี๋ยวนี้ชอบดูแลตัวเอง แต่ผมอยากเป็นแพทย์ แต่จะแพทย์อะไรค่อยเลือกอีกที”
อันดาก็คืออีกหนึ่งคนที่มีเสียงอยากจะส่งต่อไปยังคนรอบข้าง และครอบครัว
“อยากให้มีเวลาว่างมากขึ้น เพราะเราไม่ค่อยมีเวลาว่าง หลักๆ เราใช้เวลาไปกับการเรียนซะส่วนใหญ่ ถ้าคิดๆ ดูก็ใช้ชีวิตกับการเรียนไปแล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ อาทิตย์หนึ่งเราเรียนแทบทุกวัน แต่ละวันเราเลิกเรียนประมาณหนึ่งทุ่ม มันค่อนข้างเหนื่อย”
นางสาวธัญสุดา ประเสริฐวิทยา ม.4 (บุ๊ค)
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
คณะที่อยากเรียน: แพทยศาสตร์
บุ๊ค – ด้วยความถนัดทางทักษะวิทย์-คณิต บุ๊คจึงเริ่มความฝันในการเป็นหมอมาตั้งแต่เด็ก และมุมานะในการเรียนโดยนอกจากเรียนในห้องเรียนแล้ว หลังเลิกเรียนเธอจึงขอครอบครัวมาเรียนพิเศษ ทั้งช่วงเย็นของวันธรรมดาและบางครั้งในวันเสาร์อาทิตย์ “หนูขอครอบครัวมาเรียนพิเศษอาทิตย์ละประมาณสามวัน และอ่านหนังสือหนักมากในช่วงสอบ เพราะหนูอยากเป็นหมอมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอโตขึ้นก็เริ่มไม่แน่ใจเพราะยากมาก”
ก่อนหน้าวันเด็กหนึ่งวัน เราได้มีโอกาสชวนบุ๊คคุยถึงเรื่องการเรียน ความฝัน และวันที่เธอต้องการจากครอบครัว “ถ้าให้บอกอะไรกับผู้ใหญ่ ก็คงอยากไปเที่ยวต่างจังหวัดไกลๆ บ้าง อยากไปภาคเหนือภาคใต้ หนูแค่อยากไปเที่ยวไกลๆ นอกจากการไปเที่ยวห้างที่อยู่แค่ในกรุงเทพฯ ไปเที่ยวกับใครก็ได้ แต่จริงๆ อยากไปกับครอบครัวมากกว่า เพราะหนูไม่ต้องเสียเงินเองค่ะ”
นายก้องภพ ระดมสุข ม.4 (ก้อง)
โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
คณะที่อยากเรียน: วิศวกรรมศาสตร์
ก้อง – ด้วยความฝันที่อยากเป็นวิศวกร ก้องจึงมาเรียนพิเศษที่นี่เช่นเดียวกับบุ๊ค ในหนึ่งวันเขาใช้เวลาช่วงเช้าจนเกือบถึงช่วงเย็นไปกับการเรียนรู้ในโรงเรียน และช่วงเย็นถึงค่ำไปกับการเรียนในห้องเรียนสอนพิเศษ คล้ายๆ กับเพื่อนๆ หลายคนในห้องเรียนที่ต่างก็เรียนพิเศษเช่นกัน ชีวิตเด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ ของก้อง ทำให้เขาถูกฝึกจากครอบครัวในเรื่องของการใช้เงินโดยเริ่มจากการฝึกให้เงินเป็นรายอาทิตย์จนถึงรายเดือน การถูกฝึกเช่นนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดจากการจัดการกับเงินและเรียนรู้ที่จะแก้ไข ก้องจึงอยากส่งเสียงไปยังครอบครัว ในเรื่องที่เขาไม่ค่อยได้กล้าบอก
“สำหรับผม คงเป็นเรื่องเงิน เพราะผมได้เงินเป็นรายเดือน บางเดือนก็ถูกหักไปกับค่านั่นนี่ ผมอยากบริหารจัดการเงินให้ชัดเจนและสม่ำเสมอ ให้เขากำหนดมาเลยว่าจะให้เท่าไร ให้มันตายตัว เพราะผมคิดว่าเราโตพอที่จะจัดการกับมันได้”
นายคณิน พงษ์ชนวงศ์ อายุ 17 ปี
โรงเรียนอุดมศึกษา (ลาดพร้าว)
คณะที่อยากเรียน: วิศวกรรมศาสตร์ (โยธา)
สองหนุ่มเพื่อนซี้จากชั้น ม.6 คณินและภูวดลแท็กทีมมาเรียนพิเศษที่นี่เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านจากวัยมัธยมสู่รั้วมหาวิทยาลัย และด้วยเหตุการณ์ก่อนหน้านี้จากกระแส #เลื่อนเลือกตั้ง สู่กระแส #ทวงคืนวันสอบ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับเขาทั้งสอง เสียงนี้จึงไม่ใช่แค่เสียงของพวกเขาทั้งสองเท่านั้น แต่เป็นเสียงที่เพื่อนหลายๆ คนในชั้นเรียนของพวกเขา ไปจนถึงเสียงที่เด็ก ม.6 ทั้งประเทศอยากบอกเช่นเดียวกัน
“เรื่องการเลื่อนสอบ GAT-PAT ผมอยากบอกว่าทำอะไรก็นึกถึงลูกๆ หลานๆ พวกเขาเรียกเราว่าอนาคตของชาติ แต่ว่าตอนนี้เขาทำแต่อนาคตของตัวเอง เห็นเพียงอนาคตของตัวเองเท่านั้น”
นายภูวดล พรรณวังชี อายุ 17 ปี
โรงเรียนอุดมศึกษา (ลาดพร้าว)
คณะที่อยากเรียน: นิเทศศาสตร์
“ผมก็…เหมือนที่เพื่อนพูดแหละครับ ผมพูดไม่ค่อยเก่ง ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ไม่อยากพูดอะไร เพราะพูดไปเขาก็ยังมองเราเป็นเด็กอยู่”