- ครูเร-เรณุกา หนูวัฒนา คือหนึ่งในครูไม่กี่คนที่ ‘เอาอยู่’ ทั้งกิจกรรมในห้องและนอกห้องเรียน
- หลักการทำงานกับเด็กๆ ของครูคือ ไม่หยุดชวนทำกิจกรรม ไม่หยุดกระตุ้นเด็กๆ ไม่หยุดเตือนเวลาเด็กทำอะไรไม่สมควร จนเด็กๆ ต้องเป็นฝ่ายเตือนครูว่า ครูพักบ้างเถอะ
- วิธีคือไม่ห้าม ปล่อยให้เด็กๆ ลองทำ เกิดเรื่องยุ่งจะได้แก้ปัญหาเอง นี่คือทางลัดในการพัฒนาตัวเอง
‘ครู’ คือเฟืองสำคัญที่ช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้แก่เด็ก แต่เฟืองตัวใหญ่นี้กลับหมุนได้ไม่เต็มที่เพราะมีภาระอื่นๆ เข้ามาขัดขวาง เช่น เอกสาร การประเมิน ฯลฯ ที่แทบจะแย่งเวลานักเรียนไปทั้งหมด
แต่ภาวะที่ว่านี้ ครูเร-เรณุกา หนูวัฒนา อาจารย์ประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี กลับ ‘เอาอยู่’ ทั้งงานสอนในชั้นเรียนและงานกิจกรรมนอกห้อง
จะเรียกจับปลาสองมือก็ได้ แต่ครูเรมีวิธีการจับให้อยู่หมัด แถมได้ปลาตัวใหญ่กลับบ้านทั้งสองตัวเลยด้วย
ครูต้องเป็นต้นแบบ
หน้าที่สำคัญของครูเรคือ พัฒนาผู้เรียนให้ทำกิจกรรมตามแนวทางของอาชีวะเกษตร ภายใต้ ‘องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”
โจทย์ต่อมาที่ครูเรจะต้องแก้ให้ได้คือ จะชวนเด็กๆ มาร่วมขบวนได้อย่างไร
“คงเริ่มจากครูก่อน ครูคิดว่าในการพัฒนาตัวเอง เด็กๆ ต้องทำเพื่อสังคมด้วย แล้วเราอยู่กับเด็กอาชีวะเกษตรที่เป็นเด็กประจำ เขาห่างพ่อแม่มาอยู่นี่ ทำอย่างไรให้เขามีแนวคิดดีเพื่อสร้างตัวเอง เหมือนครูเป็นไม้สองต่อจากพ่อแม่ และไม้สองอย่างเราต้องเป็นต้นแบบให้เด็กๆ เห็นก่อน
เด็กเข้ามาจะมองว่าครูทำอะไรหลายอย่างจัง ครูเหนื่อยไหม ครูเอาเวลาไหนพักผ่อน บางคนเราบอกปุ๊บก็มาทำเลย”
ชวนเด็กๆ เปิดโอกาสให้ตัวเอง
ขั้นตอนการชวนเด็กๆ ให้มาทำกิจกรรมด้วย ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็พุ่งเข้าชน แต่ครูเรต้องดูลาดเลาก่อนหลายอย่าง
อันดับแรกจะต้องดูสถานการณ์และภาระหน้าที่ของเด็กๆ ก่อน หน้าที่หลักของเขาคือการเรียน หากทำกิจกรรมด้วยแล้วไม่จัดสรรเวลาดีๆ จะมีแต่เสียกับเสีย
“ก่อนจะชวนมาทำ จะบอกเด็กๆ ว่าจะเป็นประโยชน์กับเขานะ แต่ช่วงจังหวะที่เราไปชวนเขาต้องว่างด้วย เราต้องคอยมองสถานการณ์ ว่าทำสิ่งที่หนึ่งแล้ว สิ่งที่สองจะตามมา เหมือนกับการไต่ขั้น เด็กต้องเรียนหนังสือ ต้องมองแล้วคอยถามเหมือนพ่อเแม่ว่าตอนนี้มีงานอะไรทำไหม ไม่ใช่มองว่าทำเพื่อสังคมแล้วความรับผิดชอบหลักเขาเสีย เสียแล้วผลจะมาถึงเรา”
บางครั้งก็ต้องอาศัยเซนส์ส่วนตัว ชวนเด็กบางคนที่ครูรู้สึกว่า เหมือนมีแรงดึงดูดเข้าหากัน
“แต่ก่อนชวนจะเหมือนมีเรดาร์จับ เมื่อชวนแล้วเขาไม่ค่อยปฏิเสธ แต่เด็กก็มีสองแบบคือยอมอยู่กับเรา กับมาแว้บๆ แล้วก็ไป เราเชื่อว่าถ้าเด็กมีพลังความดีและจูนเข้าหาเราได้ ก็จะยอมให้โอกาสตัวเองพัฒนา”
และแรงดึงดูดนี้สามารถส่งต่อจากเด็กหนึ่งคน ไปสู่เด็กอีกหลายๆ คนได้เช่นกัน
“จากที่รู้สึกว่าเหนื่อยเกินไป เด็กคนแรกมาปุ๊บก็จะเชื่อมสายใยไปสู่เด็กคนที่สองเอง ถ้าคิดเหมือนกันก็เริ่มทำ แต่ก็มีเพื่อนที่ทำเป็นงานๆ เป็นช่วงๆ เพื่อนที่อยู่ข้างเขาก็มี เขาขอความช่วยเหลือก็จะมา” นอกจากเพื่อนแล้ว การที่รุ่นพี่ทำดีให้รุ่นน้องเห็นก็เป็นอีกหนึ่งแรงดึงดูด
“เด็กโตน้อยคนจะเป็นผู้นำน้อง เขาจะมองว่าการเรียนก็เยอะแล้ว อยู่กับตัวเองดีกว่า ฉันต้องสร้างอนาคต มันก็จะมีคนคิดเพื่อสังคมน้อย ส่วนใหญ่ที่มาทำจะเป็น ปวส. 2 กับ ปวส. 1 แต่จะไม่เยอะ แล้วน้อง ปวช. เข้ามาเห็นพี่เป็นไอดอล ก็จะมีพี่เป็นต้นแบบ มีพลังดึงดูดเข้ามา”
ไม่ใช่ว่าครูเรจะชวนสำเร็จหมดทุกคน มีไม่น้อยที่ชวนแล้วไม่มา เพราะเขาไม่สนใจจริงๆ
“เด็กบางคนทำสีหน้าเราก็ต้องวาง เออ…เขาคงยังไม่พร้อมเดินไปกับเรา”
“แต่ต้องไม่หยุดชวน” ครูเรบอก
ลบมาแค่ไหน ต้องเปลี่ยนให้เป็นบวก
โครงการที่ทำน้ำหมักจากน้ำเน่าเสียจากคอกหมูและเศษอาหารเสียจากโรงอาหารในวิทยาลัย คือหนึ่งในตัวอย่างที่ครูเรชวนเด็กๆ มาทำสำเร็จ
“ให้เด็กช่วยกันมองรอบตัวเขาว่ามีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิชาที่เขาเรียน ที่โครงการนี้เป็นจุลินทรีย์เพราะแป้ง (ศิริพร บุญมาก – หนึ่งในสมาชิกที่ทำโครงการ) มีเพื่อนเรียนสัตวศาสตร์ สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเห็นว่ามีขี้หมู ก็เชื่อมโยงของเขาไป”
เมื่อมีการเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนกับกิจกรรมโดยเน้นสิ่งที่เด็กๆ เรียนรู้เป็นสำคัญ สิ่งที่ตามมาคือ เด็กๆ เห็นว่าสามารถนำสิ่งที่เรียนไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้การสื่อสารกับเด็กก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน หากมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในโครงงานนั้น
“คำพูดกับเด็กเหล่านี้ต้องพูดในเชิงบวกแม้จะเป็นสิ่งลบ ต้องปลุกพลังเขาด้วย ปลุกพลังตัวครูด้วย แม้วันที่ครูเหนื่อย ครูก็ต้องแกล้งทำเป็นแอคทีฟตลอด เหมือนเป็นต้นแบบ”
นอกจากเป็นต้นแบบแล้ว ครูเรบอกว่ายังต้องเป็นเพื่อนร่วมทางกับเด็กๆ ด้วย
“เด็กบางคนเห็นเราตั้งแต่อายุน้อยๆ บรรจุตั้งแต่ 27-28 บอกอาจารย์เลิกได้แล้ว ไปทำงานวิชาการดีกว่า อยู่ตรงกิจกรรมเหนื่อย แต่เรามองว่ามีความสุข … ถ้ามีงานอะไรต้องอยู่ดึก บางทีเราไม่ไหวก็นอนอยู่กับเขา เราไม่ทิ้งกันเป็นเพื่อนร่วมทาง เด็กก็จะมองว่าครูไปเหอะ”
ในชีวิตปกติของเด็กๆ หากมีอะไรไม่สมควร ในฐานะครูเองก็ต้องเตือนเช่นเดียวกัน โดยใช้วิธีการเดียวกันคือไม่ดุ ไม่บังคับ ค่อยๆ พูด เช่น เมื่อเด็กๆ โพสต์สิ่งไม่เหมาะสมลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค
“อย่างโพสต์เฟซบุ๊ค เป็นผู้นำโพสต์ในเชิงไม่ดี รู้สึกอะไรโพสต์ไป เราก็ต้องค่อยๆ พูดกับเขา ไม่ดุ เราก็ต้องเข้าใจวัยรุ่นว่าอารมณ์ตอนนั้นเป็นอย่างไร ช่วยลบได้ไหม ครูว่ามันไม่ดีกับเรา อย่างเด็ก (โครงการ) Active ก็บอกว่าเธอกำลังจะเป็นพลเมืองนะ ฟังไม่ฟังไม่รู้ แต่เราเชื่อว่าเขาต้องฟังและต้องทำ เราไม่เคยบังคับ ทุกครั้งที่ไปพูดเขาก็ทำ ถ้าเกิดอารมณ์อีกก็ทำอีก เราต้องบอก”
ประเด็นสำคัญคือ “ครูต้องไม่หยุดกระตุ้นและเตือนเขา”
ปล่อยเด็กให้เติบโตเองบ้าง
ในบางสถานการณ์ของการทำกิจกรรมกับเด็ก ครูเรก็จำเป็นต้องปล่อย แม้ข้างในอึดอัดอยากจะเตือนหรืออยากจะบอกมากๆ ก็ตาม เพื่อให้โอกาสเด็กๆ ได้ฝึกเรียนรู้และแก้ปัญหาเอง
“บางเรื่องเราก็ปล่อย ให้จัดการเองได้ หลายครั้งที่เข้าร่วมโครงการ Active citizen ครูจะไปทำอย่างอื่นได้เยอะ หมายถึงให้เขาทำไป ติดต่อชาวบ้านไป บางทีถ้าปล่อยเขาบ้างจะแก้ปัญหาได้เยอะขึ้น เขาอยากได้อะไรก็จะบอก แรกๆ ไม่มีทักษะประสานกับชาวบ้านก็จะมาพึ่งเรา แต่ก่อนมาพึ่งเขาก็หาข้อมูลมาแล้ว เราก็อยู่นิ่งๆ เป็นข้อดีว่าปล่อยเขาบ้างเขาจะโตไวขึ้น”
“โครงการต้องการให้เด็กคิดได้ สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้เขาทำ กลับมาก็ทำได้เฉยเลย… ศักยภาพของเด็ก ถ้าเขาให้โอกาสตัวเองและลงมือทำเองจะเปลี่ยนแปลงได้มาก”
โลกกว้างขึ้นจากกิจกรรมนอกห้องเรียน
เชียร์และชวนการทำกิจกรรมขนาดนี้ แต่ครูเรก็บอกว่าการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนก็มีผลสะท้อนกลับไปยังการเรียนในชั้นเรียน และทั้งสองสิ่งนี้ยังเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการพัฒนาตนเองของเด็กอีกด้วย
“เด็กทำกิจกรรมไปพร้อมๆ กับการจัดการตัวเองในชั้นเรียนจะประสบความสำเร็จได้เร็ว ความคิดจะแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เหมือนยอมก้าวออกจากชั้นเรียนแล้วไปเห็นสิ่งใหม่ แต่การไปหาสิ่งใหม่ต้องเห็นคุณค่าสิ่งนั้นแล้วนำกลับมาใช้พัฒนาตัวเองเรื่อยๆ”
อีคิวจะเป็นตัวเชื่อมกิจกรรมในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้ไปด้วยกันได้ดี
“เขาจะตื่นตัวตลอดเวลาเมื่อเข้าชั้นเรียน ศักยภาพและบุคลิกของเด็กในชั้นกับนอกชั้นเรียนจะแตกต่างกัน นอกชั้นเรียนเขามีความอิสระในความคิดของเขา โครงการแอคทีฟซิตีเซนที่เขาเข้ามาทำ มีโจทย์ขั้นตอนเรื่อยๆ ซ้ำๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ แต่ในชั้นเรียนมันกระโดดกระเด้ง ถูกตีกรอบ ครูสั่งเด็กทำ เด็กก็จะมีความคิดว่าต้องทำแบบนั้น ครูเลยอยากให้มองให้รอบด้านว่านอกชั้นเรียนเกิดประโยชน์อะไร”
นอกจากนี้การทำกิจกรรมนอกชั้นเรียนทำให้เห็นโลกภายนอก คิดการณ์ไกล มองเห็นเส้นทางในอนาคตได้ชัดเจนขึ้น อย่าง แป้ง-ศิริพร บุญมาก ที่ออกไปทำกิจกรรมกับชาวบ้าน ศิษย์เก่า เจอผู้คนที่มีวัยแตกต่างกัน ก็จะได้มุมคิดใหม่ๆ มาด้วย
“เวลาเขาคุยกับคนโตแล้วถอดบทเรียน ทำให้หันมองตัวเองว่าเขาต้องอายุมากขึ้นแล้วจะดูแลตัวเองให้สุขภาพดีได้อย่างไร แล้วมองกลับไปหาพ่อแม่เขา พ่อแม่เขาอายุเท่านี้แล้ว อย่างแป้งพ่ออายุเยอะแล้วมีน้องเล็ก พ่อยังเหนื่อยอยู่แล้วเราจะช่วยต่อยอดยังไง โชคดีที่ปี 3 แป้งได้ฝึกเป็นผู้ประกอบการ ทำโครงการธุรกิจเพื่อสังคม ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลสนับสนุน แป้งชอบทำอยู่แล้ว เหมือนมีใจห่วงใยพ่อแม่ รักท้องถิ่นมากขึ้น”
หลังจบการศึกษา แป้งจึงตัดสินใจไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดไปด้วยแล้วทำงานที่บ้านไปด้วย ซึ่งเป็นเส้นทางที่อาจจะแตกต่างจากเพื่อนคนอื่นๆ ที่อยากจะเรียนจบมหาวิทยาลัย 4 ปีมากกว่า
“หลักสูตรบางทีไม่ได้ช่วยอะไร อีกสองปีต้องไปทำแบบเดิมซึ่งเราอิ่มตรงนี้แล้ว เขาน่าจะถูกฝึกมาเรื่องคิดอย่างอิสระ วางแผนเอง เหมือนได้เครื่องมือเยอะ โลกโซเชียลแชร์ให้เห็นตัวอย่างหลากหลายของคนที่ไม่ได้จบการศึกษาปริญญาตรี แต่พ่อแม่ก็อยากให้จบตรงนี้ ครูเลยแนะว่าให้ลองหามหาวิทยาลัยเปิด แล้วเขาก็จัดการได้ว่าไม่ทิ้งแน่ๆ ทั้งเรื่องบ้านและการเรียน เขายังเชื่อมั่นและหาความรู้ตลอดเวลา” ครูเรเสริม
สำหรับครูเร คุณค่า ความรู้และการนำไปใช้ สำคัญกว่าคะแนน
“เหมือนเวลาครูสอนภาษาอังกฤษ บอกกับเด็กเสมอว่าครูให้เธอมีความรู้ไม่ใช่ให้เกรด มีเกรดแต่ไม่มีความรู้ก็ไม่รู้เอาไปทำอะไร เด็กบางคนไม่ได้เข้าชั้นเรียนแต่มีความรู้ในการวัดผลได้ครูก็ให้”
การรับภาระสอนทั้งในชั้นเรียนและยังช่วยเด็กๆ ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนอาจเป็นภาระที่หนัก แต่ครูเรบอกว่าการทำสองสิ่งพร้อมกันนี้ก็พัฒนาตัวคุณครูเองด้วย ที่สำคัญ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เด็กๆ นับว่าเป็นผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจกว่าอะไรทั้งหมด
“ถ้าเราทำอะไรให้พวกเขาได้ ตัวเราเองก็พัฒนา ดังนั้นพลังก็จะไม่ถอย มีพลังมากขึ้นต่อเชื้อให้เด็กรุ่นต่อรุ่น สร้างความภูมิใจของคนที่เป็นครูจริงๆ”