- “เรากำลังเลี้ยงดูเด็กแบบไหน” ชวนคิดผ่าน ‘The Twelve Senses’ ปรัชญาการเติบโตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนเป็นผู้ใหญ่ เป็น sensory ในระดับ ‘เซลล์’ และ ‘โซล’ (จิตวิญญาณ) เพื่อประกอบขึ้นเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่ง
- ฐานความคิดช่วงวัย 15-21 ปี เมื่อฐานกายและฐานใจถูกปลูกสร้างสมบูรณ์ ฐานความคิดที่เกี่ยวกับความเต็มพร้อมทางจิตวิญญาณก็จะส่งออกมาเป็นอัตลักษณ์ฉายโชนในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และยังเป็นเครื่องสะท้อนด้วยว่า ชีวิตมนุษย์ผู้นี้ถูกสร้างชีวิตมาอย่างไร
- The Twelve Senses ไม่ใช่แค่การสร้างลูก ยังคือการใช้ชีวิตของ ‘แม่’ ในนิยามของผู้เลี้ยงดู และเมื่ออ่านจนจบ คุณอาจพบการเป็นแม่ไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือการอยู่กับลูกอย่าง ‘มนุษย์’ กับ ‘มนุษย์’
เดินทางมาถึงฐานความคิด ซึ่งก็คือฐานสุดท้ายแล้วค่ะ (ใครที่เพิ่งเปิดมาเจอชิ้นนี้เพื่อกลับไปอ่าน The Twelve Senses ฐานที่ 1 และ The Twelve Senses ฐานที่ 2)
เมื่อฐานกายและฐานใจถูกปลูกสร้างอย่างเต็มพร้อม ฐานความคิด ซึ่งเกิดช่วงวัย 15-21 ปี ก็คือความเต็มพร้อมทางจิตวิญญาณ ความเต็มพร้อมในฐานการฉายโชนทางอัตลักษณ์ในการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ทั้งยังเป็นเครื่องสะท้อนกลับไปมาด้วยว่า ‘ชีวิตมนุษย์ผู้นี้ถูกให้ชีวิตมาอย่างไร’
ไม่ใช่แค่ในแง่การเลี้ยงดูแบบตรงตัว แต่ยังหมายถึงที่ผ่านมาเขา (ถูกทำให้) มีความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอง คนรอบข้าง และสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ท้ายบทความยังมี ‘หลังไมค์’ กับครูณา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเป็นมนุษย์ที่เธอนิยามว่า ‘เคยถูกน้ำร้อนลวกมาก่อน’ ไม่รู้ตั้งกี่รอบ
Sense 9: Sense of Hearing
รู้จัก ‘ทักษะการฟัง’: ไม่ใช่แค่การได้ยิน แต่คือพื้นฐานการเรียนรู้
sense of hearing เป็นผลจากเซนส์ที่ 4 (sense of balance) ถ้าคุณมีบาลานซ์ หูคุณดี คุณฟังเก่ง การฟังบอกอะไร? การฟังสร้างความเข้าใจการเรียนรู้ เคล็ดลับของคนที่เรียนเก่งไม่มีอะไรมากเลย ก็เพราะเขาฟังเก่ง ฟังต่อเนื่องยาวนาน เราอาจเคยเห็นคนเรียนเก่งที่ต้องพยายามอย่างหนักกับคนที่เรียนเก่งแบบ… เอาพรสวรรค์มาจากไหน มันไม่มีอะไรเลยนอกจากวัยเด็กเขาได้เล่นอย่างเต็มที่
และคนประเภทนี้ เมื่อผ่านชีวิตมาช่วงหนึ่ง วันที่เขาบอกว่าจะตั้งใจกับอะไร เขาใช้เวลาแค่แป๊บเดียวก็เข้าใจแล้ว แต่ลองเปรียบเทียบกับการศึกษาที่เฆี่ยนตีให้เรียน แค่เรื่อง ‘กรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อ พ.ศ. อะไร’ เราเรียนเป็นสิบรอบกว่าจะจบมหาวิทยาลัยแต่ก็ยังจำไม่ได้ เพราะมันไม่ได้เข้าไป touch ตัวเรา เพราะคุณต้องใช้ความพยายามเป็นสิบเท่ากว่าคนที่เล่นมาก่อน
ถ้าเราอยากให้เด็กเรียนเก่ง ต้องให้เขาฟังเก่ง ถ้าอยากให้เขาฟังเก่ง ก็ต้องให้เขาใช้ฐานกายที่ดี
ถ้าเราสร้างฐานกาย (touch, life, movement, balance) มาดี ก็จะพร้อมไปเรียนรู้ช่วงฐานความคิด (hearing, speech, thought, ego) หรือช่วงอายุ 15-21 ปี
เด็กส่วนใหญ่มาเรียนเก่งตอน ม.4-5 นี่แหละ เด็กที่เรียนเก่งตอนนี้ พวกนี้เก่งจริง และเก่งแบบไม่ต้องอ่านหนังสือเยอะ เพราะเขาผ่านการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับฐานกายมา
มีเด็กหลายคนที่เราดูว่าเรียนไม่โอเค ได้มาพบตอนมาเข้าค่ายว่าเขาขี่จักรยานไม่เป็น รู้ว่ามันเสี่ยงมากเลยนะที่จะให้ลูกเขาฝึกขี่จักรยาน แต่เชื่อมั้ยว่าเราก็ฝึกให้หัดขี่โดยการสร้างสถานการณ์ให้เพื่อนๆ ขี่จักรยานแล้วให้เขาอยากบ้าง เพราะเรารู้ว่าทักษะนี้มันสำคัญต่อชีวิตของเขา ไม่ใช่แค่เพียงเรียนเก่งด้วยนะ
ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะอยู่กับความกลัวว่าเด็กขี่จักรยานแล้วจะบาดเจ็บ มันมีเด็กที่บาดเจ็บ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าเวลาที่เขาพ้นจากความบาดเจ็บและทำมันได้ เขาจะได้อะไรจากมันเยอะมาก ฉะนั้น การขี่จักรยานหรือการทำกิจกรรมบางอย่าง ก็เพื่อให้เขาได้ตามหาสมดุลให้เจอและสุดท้ายเขาจะเรียนได้ดีขึ้น ใช้ชีวิตดีขึ้น มันอาจไม่ใช่แง่เดียวแบบที่พูดนี้ แต่เรื่องนี้ก็มีผลเยอะมากทีเดียวต่อความสมดุลในชีวิต
เวลาพูดถึงคำว่า ‘เล่น’ ในที่นี้ กินใจความถึงการเล่นกับ ‘เทคโนโลยี’ ด้วยรึเปล่า
ถ้ามองจริงๆ ถึงแม้ลูกพี่จะเล่นเกมเยอะ แต่การเล่นเกมของเขาก็เป็นศักยภาพทางกายบางอย่างที่เราแทบเข้าไม่ถึง และเอาจริงๆ ถ้าเราไม่เข้มงวดเกินไปและลองเปิดใจ ขณะที่เด็กเล่นเกมมันก็มีบางอย่างที่ทำให้เขาเข้าสู่ภาวะลื่นไหลบางอย่าง แน่นอนว่าเราคงไม่ให้เด็กเล่นเกมเร็วเกินไป แต่ในวัยที่เขาเล่นได้ เช่น ช่วงประถม ก็ให้เขามีโอกาสกับมัน อย่าถึงขั้นตัดเขาออกจากโลกภายนอกด้วยการห้าม
เขาเกิดมาในยุค IT เขามีความรู้บางอย่างที่เราไม่รู้ว่าเขารู้ มันอยู่ในระดับจิตวิญญาณเลย แล้วบางทีเราจะเห็นเขาเล่นหรือทำอะไรไปเร็วกว่าเรามาก connect เร็วมาก ในขณะที่เราทำแบบนั้นไม่ได้ แต่พอคนไม่เข้าใจก็ให้เขาตัดขาดกับเรื่องพวกนี้ มันเหมือนกับว่า เราตัดขาดเขาจากโลกของความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้นในยุคนี้
Sense 10: Sense of Language
รู้จัก ‘ชุดภาษา’ การสื่อสารที่สะท้อนชีวิตวัยเด็ก และการเข้าใจในสิ่งที่ไม่ได้พูด
ต่อเนื่องจาก sense of hearing การฟังก็ยังเป็นการรับชุดภาษาเข้ามาในชีวิตด้วย ชุดภาษาก็คือ sense of language หรือศักยภาพต่อการสื่อสาร ทั้งในเซนส์การ ‘ใช้’ และ ‘รับฟัง’ ชุดภาษา
ถ้าเอาให้เห็นภาพ sense of language จะสะท้อน sense of movement เพราะภาษามีการเคลื่อนที่ เวลาที่อยู่ในห้องร่วมกับคนอื่นอีก 4-5 คน ถ้าคุณด่าใครสักคนมันก็ ‘พรึ่บ’ หรือเคลื่อนไปหากันทั้งหมด ภาษามีการเคลื่อนที่ ในแง่หนึ่ง คนที่มี sense of language ยังสื่อว่าคุณเข้าใจเสรีภาพของมนุษย์แค่ไหน คือถ้าอยู่ในห้องอย่างสงบร่วมกัน คุณก็มีเซนส์ที่รู้ว่าคุณจะไม่เข้ามาแล้วตะโกนโหวกเหวก เพราะ movement ของคุณมันจะเคลื่อนไปสู่คนอื่น คุณจะเคารพเสรีภาพของคนอื่น
และมันยังมีผลในทางโลกภายในของเขาด้วย คนที่ใช้ชุดภาษาที่ดูไม่โอเค เสียดสี เจ็บแสบ มักเป็นคนที่ไม่ค่อยได้รับเสรีภาพในวัยเด็ก ภาษาของคนที่ถูกลิดรอนเสรีภาพ มักจะมีสองอย่าง
หนึ่ง-คุณไม่สามารถเอื้อนเอ่ยภาษาออกมาได้เลย เป็นคนพูดยาก ไม่กล้าแม้จะพูดอะไร
สอง-ภาษาเธอเสียดแทงมาก เพราะวันที่เธอถูกลิดรอนเสรีภาพ เธออยากได้เสรีภาพแต่ก็ไม่ได้ วันหนึ่งชุดภาษาจะกลายเป็นการจ้วงแทง แสบ ด่าคนได้เจ็บ จัดการคนด้วยคำพูดเชือดเฉือน หรือเคยเจอมั้ย… บางคนคุยตลก แต่เจ็บแสบจัง บางคนคุยตลกแบบน่ารักน่าเป็นเพื่อน
ในแง่นี้ ภาษาก็กำหนดบุคลิกภาพด้วย?
ใช่ คุณสื่อสารตามบุคลิกภาพของคุณนั่นแหละ คนที่มีบุคลิกภาพที่อ่อนโยน เรารู้สึกได้ว่าเขาใช้ชุดภาษาที่บอกความในใจได้โดยไม่ต้องสู้กัน เขามีวิธีต่อรองที่น่าฟัง ยิ่งถ้าเขามี sense of hearing ดี ชุดภาษาเขาก็จะยิ่งเยอะ ชุดภาษาก็ยังสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยเด็กเป็นผลลัพธ์ต่อมาด้วย
และยังเป็นคำตอบที่ว่า บางคนลงท้ายประโยคด้วยหางเสียง คะ/ขา/ครับ แต่ไม่ได้ให้ความรู้สึกสุภาพหรือเคารพกัน
เพราะไม่ใช่ ‘คำ’ ไม่ใช่ word แต่คือพลังงาน คือ energy
คำว่า energy เข้าไปอยู่ในทุกเซนส์เลย
เพราะมนุษย์คือ energy ทุกสิ่งในโลกคือ energy และชุดภาษาที่ดีใน sense of language มันลึกซึ้งขนาดว่า เขาจะได้ยินในระดับที่ลึกกว่าสิ่งที่อธิบาย ถ้าอ่านหนังสือก็เห็น ‘ระหว่างบรรทัด’ ที่ผู้เขียนใส่ไว้ หรือถ้าเขาฟังใคร (hearing) เขาจะรู้สึกเข้าใจมากเกินกว่าที่คนนี้พูด
ได้ยินในสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้อธิบาย
มันคือความลึกซึ้งที่ระดับพลังงานที่เชื่อมระหว่างคนสองคน และไม่ใช่ความคิด (thinking) แต่เป็นการดำรงอยู่ (being) ด้วยกัน
sense 11: sense of thought
รู้จัก ‘มุมมองชีวิต’ มองชีวิตอย่างไร เท่ากับ ถูกให้ชีวิตมาอย่างไร
ต่อเนื่องกันไป ในชุดภาษา หรือ sense of language มันจะหล่อหลอมคอนเซ็ปต์ หรือ ‘หลักการชีวิต’ จริงๆ ก็คือการตามหาความหมายของชีวิตเลย เธอเกิดมาเพื่อเป็นอะไร ต้องการสร้างความหมายแบบไหนให้กับโลกใบนี้ คุณมีหลักการชีวิตยังไง มีแนวคิดชีวิตยังไง เด็กจะเริ่มมีคอนเซ็ปต์แบบนี้ ถ้าเป็นคอนเซ็ปต์ของเขาก็คือ ฉันควรจะอยู่กับผู้คนยังไง ควรจะเรียนหนังสือยังไง ควรจะทำงานยังไง ควรดูแลชีวิตตัวเองยังไง
คอนเซ็ปต์เหล่านี้ก็เป็นได้ผลลัพธ์จากเซนส์ที่ 2 (sense of life) เขาถูกให้ชีวิตมายังไง เขาก็ใช้ชีวิตอย่างนั้น ในเซนส์นี้จะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นมายาวไกลมากในตัวเขา
ถ้าเขาเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น แล้วเราเริ่มเห็นสัญญาณในตัวเด็กบางอย่างที่เราคิดว่าเป็นปัญหา สัญญาณนั้นมันก็สะท้อนตัวเรานั่นแหละว่า เวลาที่เรากับเขาอยู่ด้วยกันมันเป็นแบบไหน มันช่างร้อนกันเหลือเกิน มันช่างห่างไกลกันเหลือเกิน หรือมันเป็นยังไง เราก็ต้องแก้ไขจุดนี้ ไม่อย่างนั้นเราต้องทำมันต่อไปด้วยแพทเทิร์นเดิมๆ ในชีวิตเรา
Sense 12: Sense of Ego
รู้จัก ‘อัตลักษณ์’ ที่ฉายโชนจากการบ่มเพาะการเป็นมนุษย์
คอนเซ็ปต์ของเขาเป็นยังไง มันจะฉายโชนออกมาในเซนส์สุดท้าย ฉายโชนออกมาเป็นคนคนหนึ่งที่ยืนตรงหน้าเรา ซึ่งเรียกว่า sense of ego หรืออัตลักษณ์ของเขา ซึ่งเป็นเป้าหมายของบทความชิ้นนี้ที่พยายามหาคำตอบว่าคาแรคเตอร์ของคนคนหนึ่งมีขึ้นมาได้อย่างไร
เวลาที่พูดถึงคำว่า ego มักจะให้ความหมายลบๆ
อันนี้พี่อยากพูดมาก (หัวเราะ) ความจริงมันก็คืออีโก้นั่นแหละ คนเราต้องมีอีโก้ก่อนจะวางเป็นอนัตตา ให้เราถืออัตตาให้ได้ก่อนเถอะ เพราะถ้าเราถือไม่ได้ เราจะวางอะไร พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่อยากให้เด็กมีอัตตา เขาเลยไม่มีอะไรในมือจะวางเลย เขาพยายามไขว่คว้า อยากจะมีอะไรในมือสักอย่างว่านี่คือ ‘ฉัน’ เมื่อไรจะยอมรับฉันสักที
อีโก้ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งลบไปหมด เพราะเด็กบางคนฉายโชนอีโก้เป็นแสงสว่าง เขายืนอยู่ตรงนั้นแล้วเรารู้สึกเลยว่า ‘นี่คือเธอ’ เธอที่จะใช้ชีวิตบนโลกนี้ เธอช่างมีอีโก้ หรือมีอัตลักษณ์ที่โคตรพิเศษเลย (เน้นเสียง) มันเป็นสิ่งที่ดี แต่เขาต้องผ่านกระบวนการตรงนี้ก่อน แล้วตอนหลังเขาจะไปอนัตตาหรืออะไรก็เรื่องของเขา แต่เขาต้องมีอัตลักษณ์ก่อน
คำว่า ‘อัตลักษณ์’ เหมือนความรัก เราไม่เคยระบุได้เลยว่ามันอยู่ตรงไหน รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเจอใครคนหนึ่งที่มีอัตลักษณ์บางอย่าง เราค่อยบอกได้ว่า คนนี้มีอัตลักษณ์ ซึ่งก็อธิบายไม่ได้อยู่ดีว่าคืออะไร
มันก็คือ energy ที่ไป touch คนอื่น อัตลักษณ์ของเด็กที่โตมาแล้วไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย พ่อแม่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย เขาจะฉายอัตลักษณ์ที่บอกได้ว่าพ่อแม่สัมผัสเขามาแบบไหน ตอนนั้นแหละ ถ้าเราให้ความหมายกับความรุนแรง อัตลักษณ์เขาก็คือความรุนแรง ถ้าให้ความหมายของความกลัว จะรู้เลยว่าคนนี้มี energy ที่ขี้กลัว เราจะจับความรู้สึกได้ภายใต้สิ่งที่เขาถูกเลี้ยงมา
แต่มันต้องแก้ได้ เราต้องตัดวงจรเก่าๆ ได้
ไม่ผิดหรอกที่เราเลี้ยงดูมาผิด แต่มันผิดที่เราจะดำเนินมันต่อไป ก็เพราะเราไม่รู้ เราทำดีที่สุดเท่าที่เรารู้ แต่เชื่อมั้ยว่า เรารู้ได้ใหม่ เราสร้างความเข้าใจได้ใหม่ ในมุมพ่อแม่ ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่เราสร้างมามันผิดเพราะมันฉายผลลัพธ์มาแล้ว เราก็แค่ไปรู้ใหม่ ไปหาความรู้ใหม่ เดี๋ยวเราก็จะได้รู้ในสิ่งที่ถูก แล้วทุกอย่างมันจะโอเค
พอได้เรียน 12 senses ครบหมด คุณจะรู้ว่ามันมีความหมายมาก (เน้นเสียง) มากเสียจน คุณจะเอาเวลาของคุณไปให้ลูกสอบแข่งเข้า ป.1 เหรอ คุณอยากจะเลี้ยงลูกเพื่อให้วันที่เขาอายุ 21 ปีออกไปเป็นสุภาพบุรุษ สตรี หรือ คนคนหนึ่งบนโลกใบนี้ หรือ คุณจะเลี้ยงเขา 0-7 ปี เพื่อให้เข้า ป.1 ได้
4 ฐานแรก (touch, life, movement, balance) คือการสร้างฐานเด็กให้มีความสุข
4 ฐานต่อมา (smell, taste, sight, temperature) ทำให้เขาเข้าใจตัวเอง
4 ฐานสุดท้ายนี้ (hearing, speech, thought, ego) ก็จะทำให้เขาอยากมีชีวิตที่มีความหมาย อยากเป็นคนที่เก่ง
สุขก่อนถึงดี ดีแล้วถึงเก่ง แต่สโลแกนประเทศไทยคือ ‘เก่ง ดี มีสุข’ แต่เราไม่เจอเด็กที่มีความสุขเท่าไหร่เลย เรียนหนังสือให้เก่งเป็นสิ่งที่ง่ายมากถ้าเราสร้างสิ่งที่ถูกต้องไว้ก่อน ความสุขที่สังคมยุคใหม่บอก เป็นความสุขจอมปลอมเยอะมาก ความสุขที่ต้องการได้ทางกายภาพ เพราะเขาต้องการชดเชยทางกายภาพวัยเด็ก ซึ่งมันชดเชยกันไม่ได้ ให้เด็กได้รู้จักความสุขที่แท้จริงก่อนเถอะ แล้วเมื่อเขาเข้าใจความสุขที่แท้จริง เขาจะรู้ว่าเวลาที่เขาทำให้คนอื่นทุกข์ เขาก็จะขาดความสุขนั้นไป นั่นแหละเรียกว่าความเป็นคนดี คนที่ไม่อยากสร้างความทุกข์ให้ผู้อื่น และคนดีก็จะไม่ทำตัวให้เป็นภาระของใคร นั่นจึงเรียกได้ว่าเขาจะพยายามทำตัวเองให้เก่งด้านใดด้านหนึ่ง ไม่พึ่งพาพ่อแม่ เป็นผู้ใหญ่ที่มีความหมายบนโลกใบนี้
หลังไมค์กับครูณา: The Twelve Senses ครู แม่ ภรรยา เพื่อน มนุษย์ ที่เคยถูกน้ำร้อนลวกมาก่อน
ครูณาแลกเปลี่ยนประสบการณ์บ่อยๆ ว่าเคยเป็นคุณแม่และภรรยาที่ไม่ใจดีมาก่อน ร้อนมาก่อน จุดไหนที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว จะปล่อยให้อารมณ์เหล่านี้อยู่กับครอบครัวไม่ได้
เป็นวันที่ทะเลาะกับสามีและลูก จนวันหนึ่งที่น้องปัณณ์อายุ 6 ขวบเดินเข้ามาถามว่า “รักเขาที่สุดจริงเหรอ” เราตอบว่า “ใช่สิ” แต่เขาบอกว่าไม่เข้าใจ เขาถามว่า “ถ้าเป็นเด็กคนอื่นเดินมาแล้วบอกว่า ‘หิวข้าว’ แม่จะทำยังไง?” ตอนนั้นเรารู้เลย เห็นตัวเองทันที เพราะเราเป็นครูณาที่ใจดี ถ้าเห็นนักเรียนเดินมาบอกว่าหิวเราจะเข้าไป “หิวข้าวเหรอลูก มาๆ ครูพาไปกิน” โห มันเห็นตัวเองเลย แต่ถ้าเป็นเขาเราจะตอบว่า “เมื่อเช้าแม่ก็ทำให้กินแล้วทำไมไม่กิน”
มันมีบางอย่างที่ไฮแจ็คเรา เหมือนสัญญาณเก่าสวมเราและทำให้เราทำโดยหลับใหลแล้วเขาปลุกเรา เราเลยรู้สึกว่า ความรู้ปริญญาที่เรามีมันไม่ได้ช่วยเลย คิดว่าเราคงขาดความรู้บางอย่าง ซึ่งตอนหลังเราเรียกความรู้ที่เราขาดว่า ‘วิชาชีวิต’ หลังจากนั้นเราเริ่มสนใจวิชาชีวิตและศึกษาการศึกษาทางเลือก เรียนรู้ด้วยตัวเองเลย
พอมาเรียนรู้เรื่อง 12 senses พี่ตกใจมากเลยว่ามนุษย์เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทำผิดต่อการเติบโตทางจิตวิญญาณ วันนี้พี่ก็ไม่รู้ว่าเข้าใจมันถูกมั้ย แต่พี่บอกกับผู้คนเสมอทุกครั้งที่เขาเข้ามาเวิร์ช็อปว่า พี่ตีความและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ผ่านประสบการณ์ของพี่
และเราจะไม่มีทางรู้หรอกว่าเราทำถูกมั้ยจนกระทั่งวันทีลูกเราอายุ 40 วันนั้นลูกเขาเลี้ยงตัวเองได้ใช่มั้ย ลูกเรามีความสุขใช่มั้ย ลูกเราไม่ฆ่าตัวตายใช่มั้ย ลูกเราไม่เป็นทุกข์กับความสัมพันธ์ใช่มั้ย แต่ที่พูดมาทั้งหมด ไม่ได้บอกว่าถ้าเกิดสิ่งเหล่านั้นขึ้นแล้วมันจะผิดหรือถูกนะ แต่หมายถึงว่า ชีวิตมันไม่มีผิดถูก กว่าเราจะเข้าใจว่า “เราพอจะได้นะ” มันใช้เวลานานมาก
หมายถึงว่าครูณาก็เคยผิดพลาด เคยเป็นแม่ที่ผิดพลาดมาก่อน
โอย… พี่จะบอกว่าพี่เคยโดนน้ำร้อนลวกมาก่อนหลายรอบ แต่พี่ขอบคุณตัวเองที่เชื่อว่าพี่รักลูกและรักในตัวเอง มันเลยทำให้พี่ตามหา พี่เป็นคนเคารพความฝัน เคารพตัวเอง คือเราจะไม่ทำให้ตัวเราเองเสียใจ ถ้าเราเลี้ยงลูกแล้วลูกเสียใจ เราก็เสียใจ เราก็จะตามหาสิ่งที่เรารู้สึกได้ว่ามันคือความเข้าใจชีวิตและมันคือความสุขจริงๆ
จุดเปลี่ยนวันนั้นถึงวันนี้ ประเมินได้มั้ย 12 senses ให้อะไรกับคนเป็นแม่
พี่รู้ว่าถ้าพี่ไม่เปลี่ยน เราไม่ได้มีลูกอยู่ใกล้ๆ เราหรอก เราเป็นอุณหภูมิที่ร้อน ลูกคงไม่ได้อยู่กับเรา เรารู้ว่าภายใต้ความคิดว่าเราเข้าใจเด็ก เรามีความสามารถจะฝึกเด็กให้เก่ง แต่ในตอนนั้นเราไม่มีความสามารถเข้าใจจิตวิญญาณเขาว่าเขากำอะไรมาเกิด เราจัดการเขาจนกระทั่งเขาทิ้งความเป็นตัวเอง เขาทิ้งฝัน แต่วันที่เราเข้าใจ เราปล่อยให้เขาเติบโตตามวิถีของเขาและเชื่อว่าสิ่งที่เขากำมาเกิด มันจะฉายโชนภายใต้สิ่งที่เราเข้าใจ มันไม่ได้ฉายทันทีวันที่เขาเป็นเด็ก แต่จะฉายเมื่อถึงวันที่พร้อม
จะเป็นยังไงถ้าเราอวยลูกเนี่ย (หัวเราะ) มันมาถึงวันที่พี่อวยลูกได้น่ะ คุณต้องเห็นวันที่เขาเล่นเปียโนและการที่เขาเข้าไปอยู่มหาวิทยาลัยอันดับสองของโลก ในวันที่เขาเล่นแล้วเราช็อกว่านี่คือลูกเราเหรอ วันที่เขาฉายความเป็นตัวเขาเองอย่างที่สุด อย่างที่พี่บอกว่าความยากในชีวิตของแต่ละวันสำหรับครอบครัวคือ วันนี้จะกินอะไรดี ชีวิตพี่สบายมาตั้งแต่เราเข้าใจ มันไม่มีอะไรที่เราต้องจัดการกัน หรือสร้างความทุกข์ให้กัน
พ่อแม่ทุกคน ทำแบบนี้ได้ไหม
พี่ไม่ได้บอกว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าเราอยู่กับปัจจุบัน เราจะรู้เองว่าเราต้องทำยังไงกับลูกเรา พี่ไม่ได้เตรียมพร้อมอะไรให้เขาเลยนะ แค่ไม่ขัดจังหวะความเป็นชีวิตของเขา เพราะจริงๆ มนุษย์เป็นแบบนี้ แต่เราเติบโตแบบผิดปกติจนเป็นปกติ เขาไม่ได้ดีลกับเรื่องทั่วไป ถ้าคนเข้าใจธรรมชาติ เราจะทำให้เขาเติบโตมาเป็นธรรมชาติ ธรรมชาติของมนุษย์คือความรัก ความอ่อนโยน และมีความเก่ง มนุษย์รู้ว่าตัวเองจะเป็นอะไร
การคุยครั้งนี้เหมือนมานั่งถอดบทเรียนเป็นข้อๆ แต่เอาเข้าจริงมันก็คือการใช้ชีวิตแบบ ‘มนุษย์กับมนุษย์’
เพราะว่าเรากับเขาก็เป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจตัวเราเองจริงๆ เราจะเข้าใจเขา ประเด็นคือเราไม่เข้าใจตัวเอง
ถ้าเคยผิดพลาดมาแล้ว แก้ยังไง แก้ได้ทุกเมื่อไหม และเริ่มอย่างไรดี
ไม่ต้องแก้ที่เขา เริ่มจากตัวเรา เพราะเขาคือผลลัพธ์ที่เราใช้ชีวิตมาทั้งหมด แก้สิ่งที่เราใช้ชีวิตอยู่ แก้วิถีชีวิตของเรา และถ้าให้ดี พ่อกับแม่ตกลงกันว่าเราควรจะแก้ว่าใช้ชีวิตยังไงดี คำว่าตกลงไม่ได้หมายความว่า เธอสองคนต้องคิดเหมือนกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ ลูกเรียนรู้ที่จะรู้จักชีวิตของเราสองคนในแบบที่ไม่เหมือนกันนี่แหละ
แค่พ่อแม่เข้าใจชีวิต อีกหนึ่งเดือนผ่านไปบุคลิกภาพเปลี่ยนไปเลย มันเห็นผลเร็วมาก ไม่ต้องคิดเหมือนกัน ไม่ต้องทำเหมือนกัน แต่ต้องเข้าใจว่ามนุษย์แตกต่างกัน เรายอมรับกันและกัน ใช้ชีวิตด้วยกัน พลังงานแบบนี้จะส่งผลต่อบุคลิกภาพของลูกทันทีเลย
เวลาที่เราอยู่กัน อันนี่พ่อ แม่ลูก (ขวา) มันแค่เท่านี้เองนะ มันมีส่วนนี้เองที่อยู่ด้วยกัน (ส่วนที่ 5) และมีข้อตกลงเล็กๆ น้อยๆ เวลาแม่อยู่กับลูก (ส่วนที่ 6) ก็เรื่องของเขา หรือพ่อแม่ก็ไปจู๋จี๋กันมั่ง (ส่วนที่ 2) แล้วแม่ก็ไปเสริมสวย ไปเที่ยว ไปมีแก๊งของตัวเอง (ส่วนที่ 3) ประเด็นคือคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจ ใช้ชีวิตแบบวงกลมนี้ (วงกลมซ้าย) เราเข้าใจและเราจะอยู่ด้วยกันแบบปึกแผ่น แต่คนที่โตมาแบบนี้ไม่เคยมีใครทำได้สักคน เพราะพ่อมีชีวิตของเรา มีความเป็นตัวเขาที่ไม่เหมือนแม่ แม่ก็เช่นกัน ถ้าสองคนนี้เข้าใจ ก็จะรู้ว่าลูกไม่เหมือนเรา เราก็จะไม่บังคับลูกในสิ่งที่ควรเป็น พอมันเกิดสเปซที่เข้าใจกันแบบนี้ ก็จบ
ลูกอยากเล่นเกมบ้างก็เออ… เรื่องของมัน และปล่อยให้เรื่องยากเป็นแค่ ‘วันนี้จะกินอะไรดี’ ก็พอ