- Doomscrolling เป็นพฤติกรรมการเลื่อนหน้าจอเพื่อเสพข่าวร้ายหรือเนื้อหาเชิงลบอย่างต่อเนื่องจนหยุดไม่ได้ ซึ่งมักเริ่มจากความต้องการรู้เท่าทันสถานการณ์ แต่ลงท้ายด้วยความเครียด วิตกกังวล และกระทบต่อสุขภาพจิต
- เหตุผลที่เราหยุดเสพข่าวร้ายไม่ได้ มาจากสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับภัยอันตราย หรือที่เรียกว่า ‘อคติต่อสิ่งลบ’ (Negativity Bias) ซึ่งทำให้ข่าวร้ายดึงดูดใจกว่าข่าวดีโดยไม่รู้ตัว
- การเลือกติดตามข่าวที่เน้นการนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าการขายดราม่า ก็สามารถช่วยลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ เพราะข่าวที่เน้นดราม่ามักกระตุ้นอารมณ์รุนแรง
ในยุคที่เราสามารถเชื่อมต่อกับผู้คนทั้งโลกได้ผ่านหน้าจอเพียงเครื่องเดียว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลกจึงกลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน หลายคนเชื่อว่าการติดตามข่าวสารจำนวนมากเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะได้ไม่พลาดข้อมูลที่สำคัญและก้าวให้ทันทุกความเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม การเฝ้าติดตามข่าวสารจำนวนมากตลอดเวลาไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป บางคนเกิดความเครียดและความวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัวจากการเสพข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นข่าวในเชิงลบ พฤติกรรมเสพติดข่าวลบเช่นนี้เรียกว่า ‘Doomscrolling’ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่เราคิด
Doomscrolling คืออะไร?
Doomscrolling ประกอบขึ้นมาจาก 2 คำ ได้แก่ ‘doom’ หมายถึง หายนะ สถานการณ์เลวร้าย และ ‘scrolling’ หมายถึง การเลื่อนไถหน้าจอ เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง พฤติกรรมไถหน้าจอเพื่อเสพข่าวร้ายหรือเนื้อหาเชิงลบอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถหยุดได้ ซึ่งนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพได้
เช่น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา หลายคนเฝ้าติดตามข่าวในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลาจนเกิดความเครียดและความวิตกกังวล แม้จะรู้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต แต่บางคนก็ไม่สามารถหยุดได้เพราะกลัวว่าตัวเองจะพลาดข่าวที่สำคัญไป
นอกจากนี้ พฤติกรรม Doomscrolling ยังหมายรวมไปถึงการอ่านข่าวลบแบบเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ แบบที่ไม่สามารถถอนตัวได้ เช่น ข่าวอ่านหนึ่งแล้วยังตามอ่านคอมเมนต์ของข่าวนั้น อีกทั้งยังตามอ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นอีกจนไม่อาจหยุดได้
ที่อ่านก็เพราะกลัวพลาดข้อมูลที่สำคัญ
ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ที่มีพฤติกรรม Doomscrolling มักอ้างว่าทำเพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราต้องแยกให้ออกระหว่าง ‘อ่านเพื่อให้รู้เท่าทัน’ กับ ‘ยิ่งอ่านยิ่งติด’
ผู้ที่อ่านข่าวเพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลจะคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล พิจารณาว่าเหตุและผลของข่าวนี้คืออะไร ข่าวนี้มีผลกระทบกับชีวิตเราอย่างไร เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นก็คือจบ ไม่เก็บมาคิดฟุ้งซ่านต่อ แต่ผู้ที่ยิ่งอ่านยิ่งติดหรือ Doomscrolling จะอ่านข่าวต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถหยุดได้
ผู้ที่มีพฤติกรรม Doomscrolling ในตอนนี้แรกอาจรู้สึกว่าการอ่านข่าวสามารถคลายความไม่รู้ได้ ทำให้เกิดความสบายใจและรู้สึกเครียดน้อยลง แต่เมื่อยิ่งอ่านไปเรื่อยๆ กลับยิ่งเครียดมากขึ้น ไม่สามารถหยุดอ่านได้ เพราะต้องการขวนขวายหาความรู้สึกสบายใจเหมือนในตอนแรก
เมื่อการอ่านไม่ก่อให้เกิดความรู้เท่าทัน แต่นำไปสู่อารมณ์ที่ดิ่งลงเรื่อยๆ เราจึงรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เครียด ฯลฯ อีกทั้งพฤติกรรมนี้ยังไปเบียดบังกิจกรรมอื่นๆ จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายได้ เช่น ออกกำลังกายน้อย กินอาหารไม่มีประโยชน์ น้ำหนักขึ้น ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้น คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าข่าวร้ายดึงดูดใจได้มากกว่าข่าวดี เนื่องจากมนุษย์มีความเอนเอียงที่เรียกว่า ‘อคติต่อสิ่งลบ’ (Negativity Bias) กล่าวคือ เรามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องลบมากกว่าเรื่องบวก ทำให้คนส่วนใหญ่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ง่าย
ย้อนกลับไปในยุคดึกดำบรรพ์ ตอนที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในธรรมชาติที่ห้อมล้อมไปด้วยภยันตราย การมีความระแวดระวังเป็นเรื่องสำคัญมาก มนุษย์ที่ไม่สนใจสิ่งรอบตัวย่อมนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ไม่ยาก ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของตน มนุษย์จึงต้องคอยสังเกตและวิเคราะห์อยู่ตลอดว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นภัยหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงวิวัฒนาการมาให้สนใจเรื่องร้ายๆ มากเป็นพิเศษ และจดจำมันได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าในปัจจุบันมนุษย์จะไม่ได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อันตรายเช่นนั้นแล้ว แต่สัญชาตญาณนี้ก็ยังไม่หายไป ทำให้ข่าวร้ายหรือเรื่องลบจึงยังคงดึงดูดความสนใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และการจมอยู่กับเรื่องลบๆ ที่มากเกินไปก็ยิ่งทำให้ร่างกายเครียด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ในอนาคต
วิธีเลิก Doomscrolling
แม้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเรา แต่การมุ่งความสนใจไปที่ข่าวเชิงลบเพียงอย่างเดียวจนถึงขั้นเสพติดก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี Dr. Aditi Nerurkar อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพโลกและการแพทย์สังคมที่ Harvard Medical School แนะนำวิธีแก้ไขในเบื้องต้นด้วย ‘การลดเวลาใช้หน้าจอ’
Dr. Nerurkar ยกตัวอย่าง ‘การวางโทรศัพท์ให้ห่างจากเตียงนอน’ วิธีนี้จะช่วยลดการใช้โทรศัพท์ในตอนตื่นนอนได้ กล่าวคือ เมื่อโทรศัพท์อยู่ห่างตัว เราก็มีเวลาให้กับกิจกรรมหลังตื่นนอนมากขึ้น เช่น เข้าห้องน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นเหมือนกับตัวกันชนไม่ใช่เราเจอกับเรื่องเครียดโดยตรง ทำให้อารมณ์โดยรวมของวันนั้นสดใสมากขึ้น
อีกวิธีที่เรียบง่ายแต่ก็ได้ผลดีในการลดการใช้หน้าจอ คือ ‘การเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีขาวดำ’ เนื่องจากสีสันเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเรา เห็นได้จากในปัจจุบันมีศาสตร์ด้านการตลาดมากมายที่ศึกษาว่าสีต่างๆ มีผลต่ออารมณ์ของผู้บริโภคอย่างไร
Alex Hern บรรณาธิการข่าวเทคโนโลยีของ The Guardian ได้ลองเปลี่ยนหน้าจอโทรศัพท์เป็นสีขาวดำแล้วพบว่า การแจ้งเตือนต่างๆ ดึงดูดความสนใจน้อยลง เนื่องจากการแจ้งเตือนส่วนใหญ่มักเป็นสีแดง ซึ่งเป็นสีที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ได้ดี เมื่อการแจ้งเตือนกลายเป็นสีขาวดำ การกระตุ้นเร้านี้ก็ได้หายไป ทำให้การแจ้งเตือนไม่น่าดูดดึงให้กดเข้าไปดูอีกต่อไป
นอกจากนี้ การเลือกติดตามข่าวที่เน้นการนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าการขายดราม่า ก็สามารถช่วยลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ เพราะข่าวที่เน้นดราม่ามักกระตุ้นอารมณ์รุนแรง เช่น ความกลัว ความโกรธ หรือความเศร้า ซึ่งอารมณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นในตอนที่เราประสบกับภัยอันตราย ทำให้เราสนใจมากเป็นพิเศษตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์
เมื่อเราเสพข่าวที่นำเสนอโดยยึดข้อเท็จจริง จะช่วยให้รับรู้ข้อมูลอย่างมีสติ ไม่จมอยู่กับอารมณ์ด้านลบมากเกินไป ส่งเสริมการคิดอย่างมีเหตุผล รู้เท่าทันสถานการณ์ และเมื่อเข้าใจเนื้อหาอย่างชัดเจนแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไถหน้าจอต่อเพื่อหาอะไรเพิ่มเติมอีก จึงช่วยลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ในที่สุด
แม้พฤติกรรม Doomscrolling จะเริ่มต้นจากความตั้งใจที่ดีในการติดตามข้อมูลข่าวสารให้ทันโลก แต่หากเราปล่อยให้การเสพข่าวลบกลายเป็นกิจวัตรโดยไม่รู้ตัว ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้
เมื่อเรารู้เท่าทันธรรมชาติของมนุษย์ที่เอนเอียงไปทางเรื่องลบ และเลือกเสพข่าวอย่างเหมาะสมและมีสติ พฤติกรรม Doomscrolling ก็จะไม่ใช่กับดักที่ทำร้ายเราอีกต่อไป แต่เป็นโอกาสในการเติบโตอย่างมีคุณภาพท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายไม่รู้จบ
อ้างอิง
ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share. (2023). ชัวร์ก่อนแชร์ Keyword : DOOMSCROLLING ? — การเสพติดข่าว ที่บั่นทอนสุขภาพโดยไม่รู้ตัว !
นำชัย ชีววิวรรธน์. (2022). ‘ชั่วเจ็ดที กว่าจะดีสักหน’ ทำไมคนเราจำเรื่องแย่ๆ ได้ดีกว่าเรื่องอื่น?
Alex Hern. (2017). Will turning your phone to greyscale really do wonders for your attention?
Ashley Olivine. (2023). Doomscrolling: The Meaning and Impact on Mental Health.
Maureen Salamon. (2024). Doomscrolling dangers.
Nellie Bowles. (2018). Is the Answer to Phone Addiction a Worse Phone?
Thanatcha Suvibuy. (2022). รู้ว่าแย่แต่หยุดไม่ได้! ‘Doomscrolling’ พฤติกรรมเสพติดข่าวร้ายบนโลกอินเทอร์เน็ต.