- ครูนางฟ้า เป็นโครงการที่มุ่งเสริมศักยภาพครู ให้แนวทางในการดูแลจิตใจเด็ก พร้อมสร้างความเข้มแข็งทางใจ เพื่ออยู่ในโลกโกลาหลนี้อย่างสมดุล ‘ไม่กลายเป็นผู้กระทำความรุนแรง และไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง’ เป็นการช่วยเด็กกลับคืนเข้าสู่ระบบการศึกษา
- ครูลีซ่า-นูริทรา แปแนะ หนึ่งในครูนางฟ้าบอกว่า การที่จะเป็นครูนางฟ้าในการดูแลช่วยเหลือเด็กนั้น จำเป็นต้องมีทักษะสำคัญอย่างการสื่อสารเชิงบวก แล้วรับฟังโดยไม่ตัดสิน และที่สำคัญคือ “ต้องเชื่อว่าปัญหาเดียวกัน ไม่อาจจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหมือนกันได้”
- การฝึกให้เด็กได้ ‘รู้จักตัวเอง’ เท่าทันอารมณ์ ความต้องการของตัวเอง จะทำให้เขาไม่เดินหลงทาง หลุดออกจากระบบการศึกษา
เด็กมีปัญหาการเรียน ขาดเรียนบ่อย ไม่ค่อยอยากมาโรงเรียน เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ขาดที่พึ่งพิงทางใจ ซ้ำยังพบปัญหาการใช้สารเสพติด และติดการพนัน อะไรนำพาให้เด็กคนหนึ่งที่ควรจะมีอนาคตที่ดีเข้าสู่วงจรเช่นนี้? และในฐานะครูจะช่วยเหลือเด็กได้อย่างไรบ้าง?
คำถามนี้ตั้งต้นขึ้นเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา หรือที่แวดวงการศึกษามักเรียกกันว่า ‘เด็กกลุ่มเปราะบาง’
The Potential มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ครูลีซ่า’ นูริทรา แปแนะ โรงเรียนอาสาศาสตร์วิทยา จังหวัดยะลา ในงาน มหกรรมวิชาการ ‘สุข Marathon ‘Happiness is Blooming’ ภายใต้แนวคิด ‘เพราะสุขภาพคือพลังสำคัญที่เราสร้างได้ร่วมกัน’ รวมพลังสร้างสุขภาวะชุมชนอย่างยั่งยืน จัดโดยสถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) ภายใต้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายกว่า 100 องค์กร ถึงแนวทางในการดูแลจิตใจเด็ก พร้อมสร้างความเข้มแข็งทางใจ เพื่ออยู่ในโลกโกลาหลนี้อย่างสมดุล ‘ไม่กลายเป็นผู้กระทำความรุนแรง และไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง’
ครูลีซ่า ใช้แนวทางที่ได้จากการอบรมใน โครงการครูนางฟ้า เครือข่ายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จ.ยะลา เพื่อเสริมศักยภาพครูในการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยเรียนรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงบวก พร้อมกับเครื่องมือต่างๆ นำมาปรับใช้ในการดูแลเด็ก

เปลี่ยน ‘ครู’ วิชาการจอมเนี้ยบ เป็น ‘ครูนางฟ้า’ ในการช่วยเหลือดูแลนักเรียนกลุ่มเปราะบาง
ก่อนจะไปเรียนรู้แนวทางในการดูแลเด็กกลุ่มเปราะบาง ครูลีซ่า เล่าให้ฟังถึงปัญหาที่พบเจอในโรงเรียนอาสาศาสตร์วิทยาว่า โรงเรียนอาสาศาสตร์วิทยาเป็นโรงเรียนสอนศาสนารูปแบบปอเนาะ ระดับชั้นมัธยมศึกษาต้นจนถึงปลาย ซึ่งปัญหาที่พบคือ เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ขาดที่พึ่งทางใจ จึงหันหน้าเข้าหายาเสพติด และติดการพนัน
“ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการจะไปมั่วสุมยาเสพติด อาจจะมีพื้นฐานครอบครัวที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอยู่แล้ว แล้วก็เป็นกลุ่มที่ขาดที่พึ่งพาทางใจ รวมถึงเป็นเด็กกำพร้าค่ะ บางคนก็เป็นเด็กยากจนที่ถูกรับมาเลี้ยง แล้วก็เป็นเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ อยู่แค่กับย่ากับยาย คือเด็กกลุ่มเปราะบ้างที่เราใช้เรียกก็คือเป็นเด็กที่ไม่ได้รับการพึ่งพาทางใจอยู่แล้ว แล้วเด็กก็สุ่มเสี่ยงที่จะไปเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเสพติด หรือว่าอาจจะตกไปเป็นเหยื่อของกลุ่มที่ไม่พึงประสงค์”
และแม้การติดตามเด็กกลับคืนสู่ห้องเรียนจะเป็นเรื่องยาก แต่ครูลีซ่าก็ยังตั้งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ จนกระทั่งได้เครื่องมือจากโครงการครูนางฟ้า นำมาปรับใช้กับเด็กๆ ที่โรงเรียน
“ในเรื่องของระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เราได้เทคนิคความรู้ว่าในการดูแลเด็กจะต้องมีความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง โดยเฉพาะจิตวิทยาค่ะ หลักๆ ก็จะเป็นในเรื่องของ MI Message (Motivational Interviewing Message) หรือการสื่อสารเชิงบวกค่ะ เป็นการเปลี่ยนคำพูด ปรับวิธีการสอน ถามความต้องการของเขามากขึ้น
สำหรับเด็กที่เขามีปัญหาทางใจ หรือพฤติกรรมไม่ดี แบบฝึกต่างๆ จากโครงการครูนางฟ้า สามารถช่วยคัดกรองปัญหาของเด็กในเบื้องต้น ทำให้ครูสามารถไปพูดคุยกับเขาได้ตรงจุด ทำให้เขาได้ ‘รู้จักตัวตน’ ของตัวเอง
เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วคนที่มีปัญหาเขารู้ตัวเองอยู่แล้วว่าเขาจะต้องใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหา เพียงแต่ว่าเขาต้องการใครสักคนมารับฟัง เราจะต้องแสดงออกให้เห็นว่าเรารับฟังเขา เราอยู่เคียงข้างเขา ไม่ว่าเขาจะเลือกชอยส์เอหรือว่าชอยส์บีในการแก้ปัญหา”
การที่จะเป็นครูนางฟ้าในการดูแลช่วยเหลือเด็ก จึงจำเป็นต้องมีทักษะสำคัญอย่างการสื่อสารเชิงบวก แล้วรับฟังโดยไม่ตัดสิน และที่สำคัญคือ “ต้องเชื่อว่าปัญหาเดียวกัน ไม่อาจจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหมือนกันได้”
“เริ่มแรกเลยคือ เราจะมีแบบฝึกที่เป็นการคัดกรองกลุ่มสีฟ้า สีเขียว สีเหลือง สีส้ม แล้วก็สีแดงค่ะ แต่ละกลุ่มมันก็จะมีปัญหาแตกต่างกัน แต่ในกรณีที่เราเจอเคสซึ่งรู้แล้วว่าเขามีปัญหา เราจะคุยกับเขาก่อน คุยด้วยคำถามปลายเปิด แล้วก็เป็น MI Message ก็คือเป็นการสื่อสารเชิงบวก ก็ให้เขาพยายามเล่า แล้วก็ฟังให้มากที่สุด”
“หลังจากนั้นก็จะให้เด็กๆ ทำกิจกรรม ‘กราฟวัดลอยจม’ ค่ะ ให้เขาได้แสดงว่าในช่วงชีวิตตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย แล้วก็ปัจจุบัน ในแต่ละช่วงชีวิต กราฟชีวิตของเขาเป็นยังไงบ้าง อย่างเช่น ตอนประถมความสุขของเขาขึ้นอยู่กับการได้เงินค่าขนม 10 บาท อาจจะมีความสุข ตรงที่ได้อยู่กับเพื่อน มัธยมอาจจะมีความสุขที่ได้อยู่กับเพื่อนสนิท แต่ว่าปัญหาเริ่มเข้ามาแล้วในเรื่องนู่นนี่นั่น
กราฟวัดลอยจมจะช่วยให้เขารู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น แล้วก็ได้สะท้อนตัวเองว่าในแต่ละช่วงชีวิต เหตุการณ์ไหนบ้าง ช่วงไหนบ้างที่เป็นเหตุการณ์ชีวิตที่ดี แล้วก็เหตุการณ์ชีวิตที่แย่ ทำให้เขาได้รู้ว่าชีวิตที่ผ่านมาเขาก็สามารถผ่านมาได้ แล้วก็ถ้ามีโอกาสข้างหน้าเขาเจอเหตุการณ์ที่แย่ เขาจะทำยังไง ในเมื่อบทเรียนที่ผ่านมาเขาก็ได้เห็นแล้วว่าสถานการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เขาใช้วิธีการใดหรือว่าใครที่ช่วยให้เขาหลุดพ้นจากสถานการณ์ที่แย่ แล้วอะไรที่มันเป็นความสุขที่ทำให้เขาอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ค่ะ”
ครูลีซ่า ย้ำว่าปัญหาเดียวกัน ไม่อาจแก้ปัญหาด้วยวิธีการเหมือนกันได้ เพราะประสบการณ์ชีวิตที่เจอย่อมแตกต่างกัน การฝึกให้เด็กได้ ‘รู้จักตัวเอง’ เท่าทันอารมณ์ ความต้องการของตัวเอง จะทำให้เขาไม่เดินหลงทาง หลุดออกจากระบบการศึกษา

เมื่อครูเปิดใจ รับฟัง สื่อสารเชิงบวก ผลลัพธ์คือเด็กเปลี่ยนพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
“เด็กๆ เปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้นเลยค่ะ ยกตัวอย่าง เด็กนักเรียนชาย 40 คน เป็นเด็กกลุ่มที่เราประจำชั้นมาตั้งแต่เขาอยู่ม.1 ก็คือเป็นปีแรกที่ทำงานเลย จนตอนนี้เขาอยู่ม.4 เราเห็นการเปลี่ยนแปลงว่า หลังจากที่ได้รู้จักโครงการครูนางฟ้าแล้วก็ได้นำเทคนิคต่างๆ มาใช้ เด็กมีความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรมตรงที่ว่าเขาเข้าหาเรามากขึ้น ไว้วางใจและเปิดใจที่จะพูดคุยกับเรา ก่อนหน้านี้เราอาจจะเป็นคนที่ไม่ค่อยคุยกับเด็ก อาจจะเป็นคนที่ตัดสินเขา ด่วนตัดสินไปเลยค่ะ คือเห็นภาพแค่มุมเดียว แต่ทุกวันนี้เราเข้าใจเขามากขึ้น รับฟังเขามากขึ้น”
“ยกตัวอย่างเด็กคนนึงที่ขาดเรียนบ่อยๆ ใน 1 เดือนเขามาเรียนแค่อาจจะ 7 วัน ไม่ก็ 8 วัน แล้วก็ก่อนหน้านั้น ครูทุกคนก็คือไม่เอาเขาเลย วันไหนที่เขาไม่มาโรงเรียน เท่ากับว่าเป็นวันที่ครูมีความสุข แต่มันไม่ใช่สำหรับเรา พอเราเป็นครูประจำชั้นในมุมของคนที่เป็นครูประจำชั้น เราจะรักเขาเหมือนเขาเป็นลูกของเราจริงๆ เลยค่ะ
ทีนี้พอเราได้ลองคุยกับเขา ได้นำทักษะกระบวนการต่างๆ ของครูนางฟ้าไปใช้ ได้มองเห็นว่าอ๋อ…จริงๆ แล้วปัญหาที่ทำให้เขาไม่อยากมาโรงเรียน หนึ่งเลยก็คือเพื่อน และสองก็คือครูเองนั่นแหละที่ทำให้เขาไม่อยากมาโรงเรียน เพราะว่าเขาเป็นเด็กเกเรเขาเป็นเด็กไม่ดี จริงๆ แล้วเราในความเป็นครูก็คือมันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องดูแลเขาให้มากขึ้น ฟังเขาให้มากขึ้น ถ้ายิ่งแย่เรายิ่งต้องเติมค่ะ แล้วพอหลังจากที่เราได้พูดคุยกับเขามากขึ้น ตอนนี้เขามาเรียนทุกวันเลย”
นอกจากครูลีซ่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กแล้ว ครูลีซ่าเองคิดว่าตัวเองก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย
“ตอนแรกก็ไม่รู้ตัวนะคะ แต่ก็ได้ฟังจากเด็ก เหมือนที่ผ่านมาเราเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการด้วย เด็กๆ ก็คือเกร็ง กลัว ไม่ค่อยที่จะเข้าหาเรา คาบไหนที่เป็นวิชาสอนของเรา เด็กจะนั่งตัวตรง ไม่อะไรเลย ก็คือจะตั้งใจฟังอย่างเดียว แต่หลังจากที่เราได้เรียนรู้วิธีการต่างๆ เราก็ได้ปรับเปลี่ยนใช้กับตัวเองก่อนก็คือทำให้เด็กสนุกมีความสุข ทำให้เด็กมองเราเปลี่ยนไป อยากจะมาเรียนกับเราทุกคาบ แล้วก็ไม่เกร็งไม่กลัว สามารถเข้ามาพูดกับครูได้ทุกช่วงเวลาเลย”
ครูลีซ่า มองว่า จิตวิทยาการสื่อสารเชิงบวกที่ได้เรียนรู้มานั้น ช่วยลดปัญหาใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม นั่นก็คือ ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้ด้วย
“การสื่อสารเชิงบวกสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนที่กำลังแย่ให้ดีขึ้นได้ เพราะว่าคำพูดของเราเปรียบเสมือนอาวุธ คำพูดของคนหนึ่งคนมันสามารถทำให้คนมีชีวิตอยู่ต่อได้ด้วย แล้วก็บางทีกลับกันก็อาจจะทำให้ชีวิตของเขาดับลงได้ด้วยเช่นเดียวกัน ครูเชื่อว่าอย่างนั้นค่ะ
การสื่อสารเชิงบวก มันสามารถเริ่มต้นได้จากตัวเองเลย ไม่จำเป็นต้องไปคาดหวังจากคนอื่น เราเป็นคนมอบให้ก่อน เวลาเด็กได้ฟังจากครู เขาก็มักจะเลียนแบบจากเราค่ะ”
“สิ่งดีๆ คำพูดดีๆ มันดี มันไม่ใช่แค่เป็นคำพูดโลกสวยหรือว่าคำพูดสวยหรูค่ะ เพราะว่าคนเรามันสามารถอยู่ได้ด้วยคำพูดดีๆ พอเราได้รับคำพูดดีๆ มันจะทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า กลับกันถ้าเราโดนคำพูดที่ไม่ดี สาดใส่อยู่ทุกวันมันอาจจะทำให้ชีวิตเราแย่ลงได้
ถ้าเราพูดดีกับเด็ก ใช้การสื่อสารเชิงบวกกับเด็ก มันจะส่งผลดีกับการเรียนรู้ของเด็กมากกว่าการใช้คำพูดที่ทำให้เขากลัว ไม่กล้าแสดงออก สิ่งไหนก็ตามที่เขาทำไม่ได้ เราเสริมแรงบวกไปเลย หนูทำได้ ครูอยู่ตรงนี้ หนูสู้อีกนิดนึง ประมาณนี้ค่ะ ก็คือเชื่อว่าเขาทำได้”

เมื่อก่อนครูลีซ่าเองก็เคยเป็นครูไหวใจร้าย พูดจาตัดสินเด็กโดยไม่รู้ตัว แต่พอได้เรียนรู้การสื่อสารเชิงบวก ก็ทำให้ได้ตระหนักว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเติบโตและเรียนรู้ได้จากคำพูดตำหนิ กดดัน
“พอเราย้อนกลับไป คำพูดที่เคยพูด เช่น “ทำไมเธอถึงทำไม่ได้” มันเป็นคำพูดที่ไปทำให้เขารู้สึกแย่ค่ะ โดยเฉพาะออกมาจากปากของคนเป็นครู เพราะว่าหลายๆ เคส ที่ไปพบจิตแพทย์ อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจสำหรับคนเป็นครูนะคะ เพราะว่าเด็กๆ หลายคนที่ไปพบจิตแพทย์ส่วนใหญ่แล้วเพราะเขาถูกคนที่เป็นครูนี่แหละ พูดจาไม่ดีใส่”
“ในฐานะที่เป็นครู เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดกับเด็กๆ เป็นคนที่จะต้องสื่อสารอยู่กับเด็กทุกๆ วัน ใช้ไปเลยค่ะ คำพูดที่เป็น MI Message หรือว่าคำพูดเชิงบวก เพราะว่าเด็กๆ เขาอยากจะได้รับคำพูดดีๆ จากคนเป็นครู ในอดีตคนอาจจะเติบโตมาได้ด้วยคำด่า คำตำหนิ แต่ในปัจจุบันนี้โลกแล้วก็สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว เราหันมาพูดหรือว่าสื่อสารด้วยพลังบวก มันก็จะยิ่งส่งเสริมให้ชีวิตอีกหลายๆ ชีวิต สามารถดำเนินชีวิตไปด้วยดีได้ค่ะ”
อีกทั้งฝึกให้เด็กได้สำรวจตัวเอง เพื่อเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง รู้จักตัวเองมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้เด็กมองเห็นคุณค่าในตัวเอง
“การที่เด็กได้รู้จักตัวเองมันทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่า คนเราเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มันย่อมที่จะไม่ไปทำอะไรที่ส่งผลเสียให้กับตัวเอง แล้วถ้าเขายิ่งได้รู้ตั้งแต่แรกๆ เลยว่าเขารู้สึกยังไง มีความคิดอ่านยังไง มันจะยิ่งดีต่อการเรียนรู้ในอนาคต
ถ้าสมมุติว่าคนๆ นึง รู้สึกว่าเขามีคุณค่า เขาก็ย่อมที่จะไขว่คว้าพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพื่อที่ทำให้เขาเป็นคนที่ดีขึ้น เก่งขึ้น แล้วก็สามารถไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นได้อีกด้วย พอรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าปุ๊บ มันก็จะนำไปสู่การที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วยค่ะ”
ซึ่ง ครูลีซ่า ย้ำว่าบางทีครูอาจจะเน้นสอนแต่เนื้อหาในตำราเรียน ละเลยการที่ทำให้เด็กเขาได้รู้จักตัวเอง หรือว่าได้ทบทวนเรื่องราวในแต่ละวันไป
“ในความเป็นครูค่ะ ส่วนใหญ่ก็คือแนะนำเก่ง แต่เราไม่ได้ดูว่าเด็กบางคนเขาเจอปัญหา เหมือนกับที่เราเคยเจอ แต่เขาไม่อาจจะแก้ปัญหาแบบที่เราเคยแก้ได้นะคะ เพราะว่าปัญหาเดียวกันไม่สามารถใช้แนวทางวิธีการแก้ปัญหาเดียวกันได้ เพราะแต่ละคนมันก็มีพื้นหลังชีวิตที่ไม่เหมือนกัน
เพราะฉะนั้น การที่เราทำให้เขาได้รู้จักตนเอง มันก็เหมือนกับว่าเป็นการสนับสนุนเขาว่าเขาสามารถทำได้นะ ไม่ว่าเขาจะเลือกแนวทางไหนในการแก้ปัญหาก็ตามหรือว่าแนวทางไหนที่เขาจะใช้ชีวิตก็ตาม ก็คือยังมีคนที่เข้าใจเขา โดยเฉพาะตัวเขาเองนี่แหละ ที่จะสามารถก้าวข้ามทุกๆ ปัญหาไปได้ เพราะว่าไม่มีใครจะอยู่คอยช่วยเหลือเราได้ตลอดจากตัวเอง”
