- บ่อยครั้งที่ ‘การสอน’ (teaching) มักถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าหลัง คำว่า ‘การเรียนรู้’ (Learning) โดยเฉพาะ Active Learning ก็ดูจะกลายเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าและจำเป็น
- ‘การสอน vs การเรียนรู้’ ในการศึกษา ดูเหมือนจะไม่มีที่ทางให้กับความเป็นไปได้แบบอื่น ที่เราในฐานะครูถูกบีบให้มองเห็นตัวเองอยู่ในรูปของ Active กับ passive ทั้งที่ในความเป็นจริงยังมีความเป็นไปได้อื่นดำรงอยู่ในการศึกษาและการสอนด้วย เราจึงต้องเปิดพื้นที่ให้กับ ‘ความสัมพันธ์ทางการศึกษา’ (Educational Relationship)
- ‘ความสัมพันธ์ทางการศึกษา’ เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนบนคุณค่าและความหมายบางอย่าง ผ่านช่วงเวลาหนึ่งๆ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่มีการสะสม ฟูมฟัก จนกลายเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ (uniqueness) ใน ‘ห้องเรียน’
ในโลกที่ล้นไปด้วยข้อมูลอย่างปัจจุบัน บ่อยครั้งที่ ‘การสอน’ (teaching) มักถูกมองว่าเป็นเรื่องล้าหลัง และไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นอีกต่อไปสำหรับ ‘การศึกษา’ (Education) คำว่า ‘การเรียนรู้’ (Learning) โดยเฉพาะ Active Learning ก็ดูจะกลายเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าและจำเป็น จนกลายเป็นคู่ตรงข้ามที่ใครหลายคนนำมาใช้วิพากษ์หรืออธิบายความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เป็นอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็น หรือระหว่างการศึกษาที่เก่าล้าหลังกับการศึกษาที่ก้าวหน้า
เหตุผลหลักๆ อย่างน้อย 2 ข้อที่เราได้ยินบ่อยครั้งคือ หนึ่ง การสอนถูกตีตราเหมารวมเอาว่าเป็นการถ่ายโอนความรู้ไปสู่นักเรียน ครูเป็นผู้บอกข้อมูล ส่วนนักเรียนก็เพียงแค่รับเอาไป นักเรียนไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้น ในทางกลับกัน การเรียนรู้แบบ Active ต่างหากที่ครูควรยึดถือ เพราะมันกระตุ้นให้นักเรียนได้มีส่วนร่วม ได้ค้นพบหรือสร้างความรู้ความเข้าใจขึ้นมาเอง เราจึงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “ยุคนี้ไม่มีใครเขามาสอนกัน มันต้องให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง”
เหตุผลที่สอง คือการสอนยังถูกมองว่าไม่ได้สร้างอำนาจที่เท่าเทียม เพราะครูมีอำนาจเหนือกว่านักเรียน ขณะที่การเรียนรู้ คือกระบวนการที่ครูลดอำนาจของตัวเองลงกลายเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนบรรลุตามจุดประสงค์ที่วางไว้ การสอนจึงถูกมองเป็นผู้ร้าย เพียงเพราะการสอนคือการบรรยาย การสอนคือการใช้อำนาจ ทำให้นักเรียนกลายเป็นเพียงภาชนะที่คอยรองรับ (Passive) ในขณะที่ (Active) Learning ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของการศึกษานั้น ชี้ชวนว่าครูควรละทิ้งการสอนและกลายเป็นนักจัดการเรียนรู้ที่ดี (Learning Designer) เป็นโค้ชหรือผู้อำนวยการเรียนรู้แทน โดยมีความต้องการและความพึงพอใจของนักเรียนเป็นศูนย์กลาง
แต่การอธิบายหรือทำความเข้าใจด้วยแนวคิดคู่ตรงข้าม ‘การสอน vs การเรียนรู้’ หรือ ‘ครู vs นักออกแบบการเรียนรู้/ผู้อำนวยการเรียนรู้/โค้ช’ ก็กลายเป็นปัญหาเช่นกัน เพราะมันทำให้เราติดอยู่กับการมองภาพการศึกษาว่าเป็นเพียงเรื่องของการกระตุ้นเร้าความสนใจ การทำให้ Active ด้วยการเปลี่ยนเทคนิควิธีการ รูปแบบ และบทบาทไปเท่านั้น เป้าหมายของการเรียนรู้แบบ Active ที่เข้าใจกันจึงเป็นไปเพื่อให้มั่นใจว่านักเรียนอยู่ในลู่วิ่งการเรียนรู้ ครูถูกเปลี่ยนให้เป็นนักเช็คลิสต์ว่าการเรียนรู้ นั้น Active พอหรือยัง ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนจึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายหนึ่ง (ครู) ต้องทำการกระตุ้นอีกฝ่าย (นักเรียน) ให้เปลี่ยนจาก Passive เป็น Active ตลอดเวลา ตามมาด้วยการออกแบบนวัตกรรมหรือ Best Practice แนวทางเทคนิคการดึงดูดผู้เรียนด้วยลูกเล่นต่างๆ มากมายเพื่อสร้างแรงกระตุ้น ประหนึ่งบริษัทที่กำลังหาไอเดียมาเอาใจลูกค้า เพื่อเสนอให้เกิดความพึงพอใจแลกกับการตอบสนองเป็นพฤติกรรมที่ Active ขึ้นมา
ภาษาของ ‘Active Learning’ ได้กลายเป็น ‘ศูนย์กลาง’ หรือ ‘พิกัด’ ของการพูดคุยและขบคิดของเราต่อเรื่องการศึกษาและการสอน เมื่อมันอยู่ในพิกัดแบบนี้ การสอนโดยตัวมันเองจึงถูกมองเห็น ถูกทำให้เป็นชายขอบ หรือถูกรีดออกไปจากโครสร้าง
การศึกษาที่เห็นกันมากมายจึงเป็นผลลัพธ์ของการกระตุ้นเร้าความสนใจหรือเป็นเพียงความบันเทิงที่มีครูคอยอำนวยและควบคุมให้มันเกิดขึ้นเท่านั้น เราจึงเห็นปราฏการณ์ Active Learning ที่ระบาดอยู่ในแวดวงการศึกษา ทั้งที่เป็นวาทกรรมและดูเหมือนสัจธรรมของการคิดเกี่ยวกับการศึกษาที่ถูกลดทอนให้เหลืออยู่ในรูปของ ‘Active’ กับ ‘Passive’ ตามมาด้วยความวิตกว่า นักเรียนจะไม่ Active และนำมาสู่การพยายามเร่งเร้าหาวิธีการที่รวดเร็วที่จะทำให้นักเรียนแสดงพฤติกรรม Active ออกมา เมื่อไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ นักเรียนก็ถูกมองว่าไม่พร้อม เป็นวัตถุดิบที่ไม่ดี หรือไม่ก็เพราะตัวครูที่ยังไม่สามารถจะหาวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อจัดการควบคุมให้เกิดผลลัพธ์ที่ Active ได้ (อ่านเพิ่มเติมใน ข้อสังเกตในยุคที่ ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ เมื่อ AL อาจทำให้มุมมองการสอนของเราแคบลง https://thepotential.org/knowledge/active-learning-al/)
ข้อเขียนข้างต้นนี้ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นกับดักของคำอธิบาย ‘การสอน vs การเรียนรู้’ ในการศึกษา ที่ดูเหมือนจะไม่มีที่ทางให้กับความเป็นไปได้แบบอื่น ที่เราในฐานะครูถูกบีบบังคับให้มองเห็นตัวเองอยู่ในรูปของ Active กับ passive ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นยังมีความเป็นไปได้อื่นดำรงอยู่ในการศึกษาและการสอนด้วย เราจึงจำเป็นต้องทลายระนาบโครงสร้างทางการศึกษาที่ถูกกำหนดโดยภาษาของ Active Learning ด้วยการเปิดพื้นที่ให้กับ ‘ความสัมพันธ์ทางการศึกษา’ (Educational Relationship) ขึ้นมาในอีกแนวระนาบหนึ่ง โดยไม่ได้มี Active Learning เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป ณ ที่ตรงนี้เอง เราจะมองการสอนด้วยเลนส์และพิกัดแบบอื่นที่ไม่ใช่ Active หรือ Passive และการศึกษาก็ไม่ใช่เรื่องของผลลัพธ์จากการกระตุ้นเร้าความสนใจ ด้วยเช่นกัน
สำหรับ ‘ความสัมพันธ์ทางการศึกษา’ นั้น เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนบนคุณค่าและความหมายบางอย่าง ผ่านช่วงเวลาหนึ่งๆ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่มีการสะสม ฟูมฟัก จนกลายเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ (uniqueness) ใน ‘ห้องเรียน’ ของครูคนหนึ่งๆ ที่แตกต่างกันไป โดยไม่ได้ถูกนิยามผ่านแนวคิดขั้วตรงข้ามใดๆ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น นักเรียนในชั้นเรียนหนึ่ง อาจไม่ได้มองเห็นว่าครูที่กำลังสอนด้วยการบรรยายนั้นกำลังการถ่ายทอดความรู้ หรือเป็นชั้นเรียนที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาคิด แต่เป็นเขาเองที่ยินดีและมอบใจเปิดพื้นที่ให้ครูทำแบบนั้นต่อตัวเขา ทั้งนี้ก็อาจเพราะว่าครูได้มอบ ‘ความไม่ลงลอย’ ทางความคิดอันมีค่าให้กับเขาด้วยบทเรียนบางอย่าง แม้ครูจะบรรยายทั้งคาบเรียน ดุเสียงแข็ง หรือถูกริบเอาเวลาที่อยากจะเล่นเกมให้เพลินใจโดยให้เก็บมือถือก่อนเริ่มเรียน ก็ตาม ทั้งหมดนี้คือเรื่องความสัมพันธ์ทางการศึกษา ที่ความไว้วางใจและเห็นถึงหัวใจที่ครูปรารถนาที่จะมอบให้ และนักเรียนก็ยินดีที่จะโอบรับให้ใครสักคนเข้ามาในชีวิตของพวกเขา ผ่านการ ‘สอน’ เขา ดังที่ Biesta นักทฤษฎีการศึกษา เสนอว่า ในมิติของการสอนนั้น บางครั้งมันคือเรื่องของ ‘being taught’ ที่เรา ‘ยอมถูกแทรกแซง’ มันไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในความหมายแบบอำนาจแบบเก่า แต่มันคือการยินดีกับการมอบอำนาจที่ใครสักคนเข้ามาในชีวิตของเรา และเปิดเผยบางสิ่งบางอย่างกับเรา (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมอง Biesta ในการศึกษาอาจต้องการ ‘ความเสี่ยง’ ไม่ใช่ ‘ความมั่นคง https://thepotential.org/knowledge/the-beautiful-risk-of-education/)
ความสัมพันธ์ทางการศึกษา ยังอาจหมายถึง การสอนบนการเอาใจใส่ดูแลกัน ที่เมื่อครูคนหนึ่งมองเห็นความกลัวที่ซ่อนอยู่ในใจของนักเรียน เขาไม่กล้าที่จะแสดงความคิดออกมา ตลอดเวลาใน 1 ปีการศึกษา ครูจึงค่อยๆ สร้างบันไดให้นักเรียนปืนออกจากกำแพงความกลัวขึ้นมาได้ และยืนยันว่าความคิดของเขาจะไม่ถูกทำให้หายไปราวกับสิ่งที่ไร้ความสำคัญ ด้วยการคอยให้กำลังใจและแลกเปลี่ยนเมื่อนักเรียนแสดงความคิดเห็นออกมา เมื่อเวลาผ่านไป นักเรียนจึงยินดีที่จะรับบันไดที่ครูหย่อนลงมา
ความสัมพันธ์ที่วางอยู่บนการเอาใจใส่เช่นนั้นทำให้การศึกษาจึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เด็กมั่นใจได้ว่าเสียงและความคิดของเขาจะได้รับการรับฟัง ถูกมองเห็น และมีความสำคัญ
แน่นอนว่า ความสัมพันธ์ทางการศึกษานั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและฉาบฉวย มันใช้เวลาและไม่ได้ราบรื่น รวมถึงมันก็ไม่ได้หยุดนิ่งและไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับความสัมพันธ์อื่นๆ มันย่อมหมายถึงความพยายามที่จะปฏิเสธหรือท้าทายความสัมพันธ์ด้วย ตัวอย่างเช่น จากประสบการณ์หนึ่งในช่วงฝึกสอนของผู้เขียนเอง ในห้องเรียนที่นักเรียนนั่งเงียบ พวกเขารู้สึกว่าการเป็นนักเรียนที่ดีคือการจดตามที่ครูบอกและหาคำตอบจากในแบบเรียนมาส่งครู แต่เมื่อผู้เขียนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาด้วยการบอกกับพวกเขาว่าเราจะเรียนโดยไม่มีแบบเรียนและไม่จดตามที่ครูบอก ในช่วงเริ่มแรก พวกเขามักหันมาถามครูเสมอว่า “คำตอบอยู่หน้าไหน?” “ทำไมครูต้องให้พวกเราคิด?” หรือ “ทำไมไม่บอกมาเลยว่าเฉลยอะไร” ในทางหนึ่งผู้เขียนอยากจะยอมแพ้ และหันไปใช้ความสัมพันธ์แบบเดิม แต่อีกทางหนึ่งก็ยังคงเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลง จึงได้ยืนยันกลับไปว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องนำ ‘คำถามที่ยากๆ’ เข้าไปในชีวิตของพวกเขา ไม่ใช่คำถามง่ายๆ ที่คัดลอกจากแบบเรียนได้
ในท้ายที่สุด การยืนยันเช่นนี้ผ่านการสอนเสมอก็ผลิดอกออกผล นักเรียนยินดีที่จะให้ครูถามคำถามยากๆ กับพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีที่จะตอบมันผ่านทั้งการพูดและการเขียนแม้จะรู้ว่าไม่มีคำตอบสุดท้าย ในตอนนั้นเอง ที่พวกเขาเปลี่ยนจากคำถามที่ว่า คำตอบอยู่หน้าไหนในบทเรียน มาสู่ ครูคิดอย่างไรกับคำตอบของพวกเขา? นี่จึงไม่ใช่เรื่องของ Passive ไปสู่ Active Learning แต่มันคือการศึกษาที่ทำให้นักเรียนได้มองเห็นศักยภาพในตัวเอง และตัวพวกเขาก็ยินยอมให้การสอนของครูเข้ามารบกวนและปั่นป่วนชีวิตของพวกเขา
ดังนั้น การสอนจึงไม่ควรถูกมองในทางลบหรือล้าหลัง หรือมองว่าตรงข้ามกับคำว่า การเรียนรู้ การสอนในตัวมันเอง เป็นสิ่งหนึ่งดำรงอยู่และปรากฏขึ้นในความสัมพันธ์ทางการศึกษาในแบบใดแบบหนึ่ง ที่ซึ่งในความสัมพันธ์นั้นเรายินยอมและมอบใจให้การสอนคอยทำหน้าที่เข้าไปแทรกแซงพื้นที่ของการเติบโตในตัวเรา
“การเรียกใครสักคนว่า ‘ครู’ นั้น แท้จริงแล้วจึงไม่ใช่เพียงการบอกว่าเขาหรือเธอมีบทบาทหน้าที่ หรือมีอาชีพอะไร แต่เป็นคำชื่นชมยกย่องที่เรามอบให้ เมื่อตระหนักแน่แก่ใจว่า ใครคนหนึ่งได้สอนบางสิ่ง เผยให้เห็นความจริงบางอย่าง และทำให้เราได้กลายเป็น ‘ศิษย์’ อย่างแท้จริง”
Gert Biesta p.457
ในบทความ Receiving the Gift of Teaching: From ‘Learning From’ to ‘Being Taught By
อ้างอิง
Receiving the Gift of Teaching: From ‘Learning From’ to ‘Being Taught By เขียนโดย Gert Biesta
https://link.springer.com/article/10.1007/s11217-012-9312-9
แนวคิดเรื่องเสียงและการเปล่งเสียงเพื่อเสริมพลังอำนาจผู้เรียน เขียนโดย ผศ.ดร พิสิษฏ์ นาสี (ศึกศาสตร์ มช)
https://so01.tci-thaijo.org/index.php/cmujedu/article/view/244640
หนังสือ Stories Out of School: Memories and Reflections on Care and Cruelty in the Classroom