- พฤติกรรมเสี่ยงของวัยรุ่น 4 ด้าน ‘เสพ เซ็กส์ ซ่า เศร้า’ หากผู้ใหญ่ไม่ได้ให้ความเอาใจใส่ถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็กมากพอ หรือช่วยเหลืออย่างทันท่วงที อาจพบจุดจบน่าเศร้าอย่างที่มักเห็นในข่าวหน้าหนึ่งที่เด็กเครียดกระโดดตึกดับ หรือมีพฤติกรรมโมโหร้ายลงมือทำร้ายผู้อื่นอยู่เสมอๆ
- สำรวจสุขภาพจิตเด็กไทยกับหมอฝน – พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้ที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กในสังกัดสพฐ ผ่านแพลตฟอร์ม ‘School Health Hero’ ในการเฝ้าระวังนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคม ในโรงเรียน
- “ปัญหาสังคมเป็นปัญหาที่เจอเยอะในโรงเรียน เพราะว่าโรงเรียนเป็นแหล่งรวมเด็ก เพราะฉะนั้นเด็กที่มาอยู่ด้วยกันก็จะเป็นเหมือนการจำลองสังคมของเด็ก เด็กมากหน้าหลายตามีเพื่อนที่ทั้งดีแล้วก็อาจจะแกล้งเรา หรือว่าทะเลาะกันก็ตาม”
ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน เป็นพื้นฐานด้านจิตใจที่ดีที่จะช่วยผลักดันให้เด็กคนหนึ่งแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น อย่างมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ต่อกันมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจิตที่ปัจจุบันเด็กและเยาวชนมักประสบพบเจอกัน เช่น ซึมเศร้า สมาธิสั้น ใจร้อน ความอดทนต่ำ ขาดความมั่นใจ รู้สึกไร้ค่า เป็นต้น
ซึ่งเป็นภาวะความเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ และสังคม ที่ควรได้รับการดูแลเอาใจใส่ เฝ้าสังเกตพฤติกรรมตั้งแต่เนิ่นๆ ในวัยเด็ก ก่อนจะสายเกินแก้ และรุนแรงถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ทำร้ายผู้อื่น หรือเป็นภัยต่อสังคม
หมอฝน – พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ผู้ที่ทำงานส่งเสริมสุขภาพจิตของเด็กในสังกัด สพฐ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผ่านแพลตฟอร์ม ‘School Health Hero’ ให้ครูเฝ้าระวังและประเมินปัญหาสุขภาพจิตนักเรียน โดยใช้งานในโรงเรียนในสังกัดสพฐ. ตั้งแต่ระดับป.1-ม.6 ให้ข้อมูลว่า
พฤติกรรมที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ในอดีตมักจะพบในช่วงวัยรุ่นและพบได้ในโรงเรียน นั่นคือพฤติกรรมเสี่ยง 4 ด้าน ‘เสพ เซ็กส์ ซ่า เศร้า’ ซึ่งเด็กที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้มักจะถูกตัดสินให้ออกจากโรงเรียน โดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกทาง หากผู้ใหญ่ให้ความเอาใจใส่ถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของเด็กมากพอ ช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เด็กอาจไม่พบจุดจบน่าเศร้าอย่างที่เรามักเห็นในข่าวหน้าหนึ่งที่เด็กเครียดกระโดดตึกดับ หรือมีพฤติกรรมโมโหร้ายลงมือทำร้ายผู้อื่นอยู่เสมอๆ
“ก่อนที่เด็กจะทำแบบนั้นมันมีสัญญาณเตือน มีจุดเปลี่ยนหลายๆ อย่าง อาจจะเป็นปัญหาอารมณ์ เด็กเริ่มเครียด หงุดหงิดง่าย เด็กเริ่มท้อแท้เบื่อหน่าย เด็กไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งมันน่าจะสะท้อนให้เห็นช่วงใดช่วงนึงก่อนหน้าที่เด็กจะทำร้ายตัวเอง แต่เนื่องจากความไวหรือว่าการดูแลที่มันลึกหน่อยอาจจะยังไม่มากพอ หรืออาจจะเป็นการที่คุณครูไม่ได้ให้น้ำหนักกับการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเท่ากับการเรียนการสอน ก็เป็นไปได้ที่เด็กหลายๆ คนถ้าไม่มีอาการที่รุนแรงจริงๆ ก็จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาช่วยเหลือ”
ระบบสุขภาพจิตโรงเรียน ดูแลช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยง
หมอฝนเล่าว่า ในการดูแลสุขภาพจิตเด็กให้ได้ประสิทธิภาพนั้น หน่วยงานสาธารณสุขกับโรงเรียนต้องร่วมมือกัน โดยแรกเริ่มเดิมทีกรมสุขภาพจิตได้เป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญกับโรงเรียน ออกแบบพัฒนาระบบที่เรียกว่า ‘สุขภาพจิตโรงเรียน’ ร่วมกัน หรือ ‘School mental health’
“รูปแบบแรกๆ จะทำแบบที่โรงเรียนเขามีต้นทุนเดิมคือระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เขาก็จะดูแลนักเรียนในโรงเรียนเบื้องต้นก่อนว่านักเรียนคนไหนอาจจะมีพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัญหา พฤติกรรมที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่ในอดีตมักจะพบในช่วงวัยรุ่น เป็นพฤติกรรมเสี่ยง 4 ด้าน คือ ‘เสพ เซ็กส์ ซ่า เศร้า’ เสพก็คือเสพสารเสพติด ในปัจจุบันมันจะรวมถึงการเสพติดทางพฤติกรรมด้วย เช่น ติดเกม ติดการพนัน เซ็กส์ก็คือปัญหาเรื่องเพศ พฤติกรรมมีเพศสัมพันธ์ หรือว่าพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม ลามกอนาจาร ซ่าก็จะเป็นพฤติกรรมเกเร เช่น เด็กอาจจะหนีเรียน หรือว่าทะเลาะวิวาทกัน ส่วนเศร้าก็คือปัญหาเรื่องอารมณ์ วิตกกังวล ซึมเศร้า ไม่อยากมาโรงเรียน ทำร้ายตัวเอง เป็นต้น”
“คราวนี้จะทำยังไงให้ระบบสุขภาพจิตได้ค้นหาสิ่งนี้ได้เร็ว แล้วก็สามารถดูแลช่วยเหลือได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะไม่เช่นนั้นเด็กที่มีปัญหา ‘เสพ เซ็กส์ ซ่า เศร้า’ มักจะถูกตัดสินให้ออกจากโรงเรียน ทำโทษที่รุนแรง หรือว่าเด็กก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือแก้ปัญหาที่ถูกทาง ก็จะมีปัญหาเรื่องเรียนไม่จบ หรือว่ามีพฤติกรรมที่หนักยิ่งขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้นกรมสุขภาพจิตก็เลยเห็นโอกาสในช่วงก่อนโควิดไม่นาน เราก็คิดว่าเราไม่มีฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาลมาก่อน ว่าเด็กในโรงเรียนของแต่ละแห่งมีปัญหา ‘เสพ เซ็กส์ ซ่า เศร้า’ เท่าไหร่ มีปัญหาเด็กเรียนหนังสือแย่ แล้วมันมาจากปัญหาสุขภาพจิตเท่าไหร่ เราไม่มีข้อมูลที่เป็นฐานที่ดูร่วมกันที่แชร์กันได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการนำข้อมูลทั้งหมดที่ในโรงเรียนพึงจะมีมาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ที่เรียกว่า ‘School Health Hero’ เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยเหลือในการเฝ้าระวังนักเรียนที่มีปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ สังคม ในโรงเรียน
การช่วยเหลือก็คือคุณครูพอรู้ว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยง คุณครูก็จะไม่ได้ปล่อยเด็กไปจนหมดเทอม สมมติว่าถึงขั้นติดยา หรือว่าตั้งครรภ์แล้วจึงค่อยมาดูแล แต่ว่าเราจะดูตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเสี่ยงอะไรที่น่าสงสัยบ้าง ช่วยเหลือไปก่อนเลย แล้วก็อาจจะมีการส่งต่อ เพราะคุณครูก็อาจจะเริ่มไม่แน่ใจว่าจะดูแลเด็กยังไง ก็สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตได้ โดยจะแจ้งเตือนไปยังโรงพยาบาลหรือว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตในสถานพยาบาลที่อยู่ในอำเภอเดียวกับโรงเรียน อันนี้ก็คือหน้าที่ของแพลตฟอร์ม School Health Hero เป็นการเก็บข้อมูลที่ตรงกันระหว่างโรงเรียนกับโรงพยาบาล สามารถส่งข้อมูลเชื่อมต่อมายังโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอให้พบหน้ากัน”
เช็คลิสต์ 9 ข้อ พฤติกรรมเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต
ในการประเมินพฤติกรรมของเด็กที่มีความเสี่ยงจะเกิดปัญหาสุขภาพจิต ผ่านแพลตฟอร์ม School Health Hero นั้น หมอฝนอธิบายต่อว่า ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า 9 Symptoms หรือว่า 9S ชุดคำถาม 9 ข้อ ในการประเมิน โดยครอบคลุมประเด็น 3 หมวดด้วยกัน ได้แก่ ปัญหาพฤติกรรม ปัญหาอารมณ์ และปัญหาสังคม
- ปัญหาพฤติกรรม ได้แก่ 1.ซนไป 2.ใจลอย 3.รอคอยไม่ได้
- ปัญหาอารมณ์ ได้แก่ 4.เครียด หงุดหงิดง่าย 5.ท้อแท้เบื่อหน่าย 6.ไม่อยากไปโรงเรียน
“ปัญหาอารมณ์ อาจจะเจอได้ยากกว่า เพราะว่าตัวเด็กเองต้องแสดงออกออกมาถึงเห็นชัด ถ้าเกิดเขาเก็บไว้คุณครูก็ต้องใช้ความใกล้ชิด ความรู้จักพอสมควรที่จะทำให้เห็น ซึ่งหมวดนี้ก็จะสะท้อนถึงอารมณ์ที่มักจะไม่ปกติในเด็กตั้งแต่ประถมฯ จนถึงมัธยมฯ เลย เมื่อมีความเครียด หงุดหงิดง่ายขึ้นมา สะท้อนว่าเด็กช่วงนั้นอาจมีการปรับตัวบางอย่าง อาจมีเรื่องกระทบจิตใจ หรืออาจจะถูกกลั่นแกล้งก็ได้ ทำให้เขามีปัญหาอารมณ์ ถ้าคุณครูเห็นข้อใดข้อหนึ่งคุณครูก็เลือกสังเกตเลือกว่ามีหรือไม่มีในระบบ School Health Hero แล้วพอเลือกเสร็จมันก็จะประมวลผลอนุมัติเพื่อจะเปลี่ยนเป็นค่าคะแนนว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่”
- ปัญหาสังคม ได้แก่ 7.การกลั่นแกล้งเพื่อน 8.ถูกเพื่อนแกล้ง และ 9.ไม่มีเพื่อน
“ปัญหาสังคมเป็นปัญหาที่เจอเยอะในโรงเรียน เพราะว่าโรงเรียนเป็นแหล่งรวมเด็ก เพราะฉะนั้นเด็กที่มาอยู่ด้วยกันก็จะเป็นเหมือนการจำลองสังคมของเด็ก เด็กมากหน้าหลายตามีเพื่อนที่ทั้งดีแล้วก็อาจจะแกล้งเรา หรือว่าทะเลาะกันก็ตาม
เด็กบางคนมักจะเป็นผู้ถูกกระทำบ่อยๆ ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นจุดเฝ้าระวังถึงปัญหาการปรับตัวและปัญหาอารมณ์ตามมาได้ และข้อสุดท้าย ‘ไม่มีเพื่อน’ คือการที่เด็กคนนึงไม่มีเพื่อนมันเป็นความเสี่ยงที่เยอะ เพราะเด็กที่ถูกกลั่นแกล้ง หรือเด็กที่ทำร้ายตัวเองส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่มีเพื่อนเลย เป็นเด็กที่สังคมไม่ค่อยดี”
โดยระบบ School Health Hero นี้ทำให้การประเมิน Real time เพียงแค่เปิดหน้าที่เป็นห้องเรียนของคุณครู ซึ่งต้องสมัครเป็น User ของระบบก่อน จากนั้นก็จะเห็นนักเรียนในห้องเรียนของตัวเองทั้งหมดทุกคน ซึ่งทุกคนจะถูกประเมิน 9S โดยคุณครูทำหน้าที่ประเมิน จากการสังเกตการณ์เด็กแต่ละคนตามข้อคำถาม 9S สุดท้ายระบบจะประมวลผลให้ว่ามีเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ควรดูแลอยู่กี่คน
“พอคุณครูเห็นสถานะที่ขึ้นมาว่าควรดูแล ก็จะเป็นข้อสังเกตของคุณครูเองแหละที่จะดูว่า อ๋อ…เด็กคนนี้มีจุดต้องการความช่วยเหลือนะ อาจจะเฝ้าระวังสังเกตการณ์ดูก่อนว่า เด็กเริ่มมาโรงเรียนไม่ค่อยสม่ำเสมอ เริ่มมีปัญหาการปรับตัวอะไรหรือไม่ และคุณครูสามารถให้การช่วยเหลือได้เร็วขึ้น อาจจะเป็นการไปพูดคุยหรือไปเยี่ยมบ้าน หรือว่าไปทำการเสริมสร้างทักษะที่เขาจำเป็นต้องมีมากขึ้น ซึ่งอันนี้แล้วแต่ความสามารถหรือศักยภาพแต่ละโรงเรียนจะพัฒนาคุณครูไป”
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงด้วย ‘พฤติกรรมเชิงบวก’
หมอฝนเล่าว่า จากการทำงานร่วมกันกับโรงเรียนหลายแห่ง โรงเรียนมีวิธีหลากหลายที่จะช่วยให้เด็กที่มีความเสี่ยงได้รับการช่วยเหลือ โดยหลักๆ เช่น การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมบางอย่าง การส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมในโรงเรียน หรือมีชั่วโมงซ่อมเสริม รวมถึงการไปเยี่ยมบ้านที่ทำกันประจำทุกปี
“ในเด็กกลุ่มเสี่ยงบางคนก็ต้องการการดูแลที่เฉพาะในบางด้าน อย่างเช่นถ้าเป็นเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม สิ่งที่ต้องการมากๆ คือ ‘การปรับพฤติกรรมเชิงบวก’ ซึ่งทักษะในการปรับพฤติกรรมเชิงบวก จากที่หมอได้ทำงานมาหลายปีก็พบว่า ครูแต่ละสถานศึกษาไม่ได้มีทักษะการปรับพฤติกรรมเชิงบวกที่เท่าเทียมกัน เเล้วทักษะนี้เป็นทักษะที่ต้องผ่านการฝึกผ่านการลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบด้วย เช่นที่เราอาจจะเคยได้ยินว่า เราจะทำโทษยังไง เราจะชื่นชมยังไง จริงๆ แล้วเหมือนเป็นทักษะที่ไม่ยาก แต่จริงๆ แล้วไม่ง่ายเหมือนกัน”
“ถ้าเกิดครูบอกว่าครูคุ้นชินกับการดุตำหนิเด็กต่อหน้าเพื่อน เช่น เด็กที่คุยเสียงดัง แล้วครูบอกว่าเกเร เสียงดัง ไม่น่ารัก แล้วพูดในห้องที่มีเด็กเยอะๆ อันนี้ก็ไม่เป็นการปรับพฤติกรรมเชิงบวก
เราอาจจะเห็นวิธีแบบนี้อยู่เรื่อยๆ แล้วมันไม่ค่อยได้ผล ถ้ามันไม่ได้ผลแปลว่า มันอาจจะยังมีจุดไม่เหมาะสม หรือว่าไม่ช่วยให้เกิดพฤติกรรมใหม่ที่ดี เด็กคนนั้นก็อาจจะรู้สึกอายเพื่อนที่ครูดุเขาต่อหน้าเพื่อน เขาอาจจะไม่ได้หยุดได้นานหรอก สักพักนึงเขาอาจจะคุยเสียงดังขึ้นมาอีก
ดังนั้นการปรับพฤติกรรมแบบที่ทำอยู่มันอาจได้ผลแค่ชั่วคราว ไม่ได้เกิดพฤติกรรมใหม่ที่ดี แต่การปรับพฤติกรรมหรือการชมที่เหมาะสม อาจจะทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น เช่นแทนที่ครูจะไปเพ่งเล็งกับการแค่คุยเสียงดัง แต่ครูเห็นว่าเด็กคนนี้ในคาบเขาสามารถยกมือตอบคำถามหรือว่าให้ความร่วมมือ เช่นมานั่งใกล้ครู หรือว่าสนใจมองกระดานที่ครูกำลังเขียนอยู่ ถ้าครูเปลี่ยนจากการดุเป็นการชม พอเขาหันมาสนใจหรือว่าตอบคำถาม แล้วครูชมว่านี่เป็นพฤติกรรมที่ดีนะ ครูอยากให้เรามีส่วนร่วมแบบนี้ โดยที่เวลาเด็กคุยกับเพื่อนนิดหน่อย ไม่ต้องไปตำหนิ ไม่ต้องไปดุ อันนี้อาจจะเป็นวิธีการปรับพฤติกรรมเชิงบวกที่ได้ผลมากกว่า”
สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการที่คุณครูต้องได้รับการฝึกอบรมมาก่อนเพื่อจะไปช่วยเหลือนักเรียนได้ ซึ่งหมอฝนให้ข้อมูลว่า ในกรมสุขภาพจิตจะมีหลักสูตรที่เรียกว่า SAFE B-MOD (School and Family Empowerment for Behavioural Modification) คือโปรแกรมเสริมพลังผู้ปกครองและครู เพื่อการปรับพฤติกรรมเด็กวัยเรียน เมื่อคุณครูผ่านการฝึกอบรม จะสามารถทั้งชมและทำโทษอย่างเหมาะสม โดยไม่สร้างตราบาปให้เด็ก ไม่ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นได้
“ส่วนถ้าเกิดเป็นปัญหาอารมณ์ วิธีที่จะช่วยให้ปัญหาอารมณ์ดีขึ้นมักจะต้องผ่านทักษะที่ครูจะต้องมีก็คือ ทักษะการให้คำปรึกษาวัยรุ่น ซึ่งจริงๆ แล้วจะเน้นทักษะด้านการฟัง การถาม การสะท้อนความรู้สึก แล้วก็การสรุปความ
ถ้าเกิดว่าครูเห็นเด็กมีปัญหาเครียด เศร้า หรือว่ารู้สึกไม่อยากมาโรงเรียน เพราะถูกเพื่อนแกล้ง แล้วถ้าคุณครูใช้การสั่งสอนหรือบอกแนะนำอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ฟังเขา สิ่งที่เด็กอยากเล่าหรือว่าปัญหาที่เขาเจอจริงๆ จะไม่ได้ถูกช่วยเหลือ
เพราะฉะนั้น การให้คำปรึกษา โดยเฉพาะทักษะการฟังเป็นทักษะที่คุณครูจำนวนมากยังไม่ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมเท่าที่ควร”
ซึ่งอีกหนึ่งหลักสูตรที่จะมาตอบโจทย์ปัญหาอารมณ์ได้ดี คือ Deep Listening การเป็นนักฟังเชิงลึก ซึ่งจะช่วยเสริมสมรรถนะการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังอย่างตั้งใจมากขึ้น เมื่อคุณครูฟังเป็น ปัญหาด้านอารมณ์ เช่น เด็กทะเลาะวิวาทกัน หรือมีปัญหาความไม่เข้าใจกัน จะถูกคลี่คลายได้ตรงประเด็นมากขึ้น
“ส่วนปัญหาด้านสังคมนี่จริงๆ เป็นปัญหาที่เจอทุกโรงเรียนเลยก็ว่าได้ นั่นคือการกลั่นแกล้งรังแก (Bully) แต่ว่าในเมืองไทยเราอาจจะไม่ได้ยกเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เนื่องจากว่าการกลั่นแกล้งรังแกมันเป็นปรากฏการณ์ที่เจอประจำ แล้วก็ในอดีตมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่นเพื่อนแค่ล้อเอง แค่ถูกแหย่นิดๆ หน่อยๆ เรายังแยกไม่ค่อยออกว่าอะไรเรียกว่ากลั่นแกล้ง อะไรเรียกว่าล้อเล่น”
โดยหมอฝนมองว่า ปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กที่ถูกแกล้ง เด็กที่แกล้งเพื่อน หรือมายด์เซ็ตของครูที่เห็นความสำคัญของปัญหานี้ แต่รวมไปถึงเด็กที่พบเห็นเหตุการณ์ด้วย จำเป็นต้องได้รับการแนะนำเพื่อจะปรับเปลี่ยนวิธีการแสดงออกเพื่อให้การช่วยเหลือเพื่อนได้ด้วย
“วิธีที่โรงเรียนควรจะทำมากๆ ก็คือนำเอาโปรแกรมป้องกันการรังแกกัน (Anti-bullying program) ไปใช้ ทางสพฐ. ก็ออกเป็นเล่มคู่มือน่าจะออกมาไม่กี่ปีล่าสุด เพื่อจะเป็นแนวทางให้คุณครูใช้ เเล้วก็ทางสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นทำเป็น E-Learning ให้ครูเข้ามาเรียนเลยว่า แบบไหนที่เรียกว่าล้อเล่น แบบไหนที่เรียกว่ากลั่นแกล้งรังแก แล้วถ้าเกิดครูเห็นเหตุการณ์ครูจะมีปฏิกิริยาแสดงออกกับเหตุการณ์แบบนั้นยังไง ครูก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดที่เด็กคนนี้ล้อคนนี้ซ้ำๆๆๆ จนเด็กคนนี้รู้สึกว่าเป็นเหยื่อ แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้จนต้องมีความรุนแรงถึงขั้นว่าเด็กเขาไม่อยากจะมีชีวิตอยู่”
ดังนั้น ผู้อำนวยการหรือผู้บริหารโรงเรียนต้องประกาศเป็นนโยบายว่าโรงเรียนเราจะไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งรังแกกัน รวมถึงในกลุ่มครูด้วยกันต้องตระหนักถึงการพูดจาที่ส่อไปทางประจานกันหรือล้อกันให้นักเรียนได้ยิน และไม่ทักนักเรียนบางคนในห้องด้วยฉายานาม เช่น แว่น อ้วน ซึ่งหากพูดซ้ำๆ อาจเป็นการตีตรา หรือเรียกว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางวาจาได้
หากทุกคนให้ความเคารพกันและกัน การกลั่นแกล้งรังแกกันทั้งทางร่างกาย วาจา และทางสังคมในโรงเรียนก็จะลดลง
เด็กไทยขาดทักษะอารมณ์และสังคม
เด็กมีภาวะความเสี่ยงด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม ส่งผลให้แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่มองว่าไม่น่ารัก และก้าวร้าวนั้นมีที่มา หมอฝนอธิบายโดยแบ่งเป็นปัจจัยด้านชีวภาพและปัจจัยด้านจิตใจ
“ในด้านชีวภาพ (Bio Psycho Social) เด็กคนนึงอาจจะเกิดมาด้วย พลังงานที่เยอะ มีพันธุกรรมที่อาจจะมีความหุนหันพลันแล่น แล้วก็ซนมากเป็นทุนเดิม ซึ่งอันนี้ก็เจอบ่อย เขาจะไม่นิ่งสงบเหมือนเด็กทั่วไป ทำให้เด็กมีความใจร้อน หุนหันพลันแล่นง่าย มักจะกระทบกระทั่งกับคนอื่นได้ง่ายด้วย กลายเป็นเด็กที่ไม่น่ารักในสายตาผู้ใหญ่ ตามมาด้วยปัจจัยด้านจิตใจ เด็กก็จะรู้สึกถึงความไม่พอใจ โกรธเคือง หรือว่าถ้าเกิดมีอีกฝ่ายนึงดุเขา ตำหนิต่อว่า ทำโทษ หรือตี เด็กที่ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้อยู่แล้ว พอถูกกระทำแบบนั้นด้านจิตใจก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น จะยิ่งรู้สึกทั้งต่อต้าน โกรธ เสียใจ ไม่พอใจ อยากจะเอาคืนสารพัด รวมทั้งอาจจะรู้สึกถึงความไม่ดีของตัวเอง เสียความมั่นใจ รู้สึกตัวเองไร้ค่า รู้สึกตัวเองแย่ ก็ได้”
“เพราะฉะนั้นจิตใจที่มันสั่งสมมาเรื่อยๆ บ่มเพาะให้เด็กคนนั้นไม่ได้เป็นคนที่มีความสามารถเต็มศักยภาพของเขาที่จะทำอะไรให้สำเร็จ แล้วพอเข้าสังคมเช่น ไปมีเพื่อน ไปทำกิจกรรม ไม่สำเร็จอีก ถูกแอนตี้อีก ถูกต่อว่า ถูกล้อ มันก็จะทำให้พฤติกรรมเขาดูไม่น่ารัก แล้วก็กลายเป็นเด็กที่อาจจะเป็นภัยกับคนอื่นโดยที่มันเกิดจากความเสี่ยงมาทุกๆ ด้านที่เล่ามา ทั้งทางด้านชีวภาพ ทางด้านจิตใจ สุดท้ายอาจจะเป็นเด็กที่เรียนไม่จบ ออกจากโรงเรียนกลางคัน ไปใช้ยาเสพติด หรือไม่ทำผิดกฎหมาย สารพัดอย่างที่เรามักจะเห็นในข่าวก็เกิดขึ้น”
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กขาดทักษะทางสังคมและอารมณ์ หรือ SEL (Social Emotional Learning) คือทักษะชีวิตชนิดหนึ่งที่เด็กไทยควรได้รับการส่งเสริม โดยทักษะชีวิตจะประกอบไปด้วย ‘ทักษะด้านอารมณ์ สังคม ความคิด’
“ถ้าเกิดเด็กเล็กๆ รู้ว่าพอเขาโกรธ เขาโวยวายเสียงดังได้แต่เขาต้องไม่ไปตีเพื่อน เวลาเขาเจ็บเขาก็ร้องไห้ได้นะ ไม่ได้แปลว่าเจ็บแล้วต้องอดทนอดกลั้นแล้วไม่บอกใคร ทักษะอารมณ์มันควรจะถูกส่งเสริมมาตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่อนุบาล ประถมฯ ไล่ๆ ขึ้นมา ถ้าเราขาดการส่งเสริมสิ่งนี้แต่ว่าเราไปเน้นสอนวิชาการในโรงเรียนอย่างเดียว เด็กก็จะขาดทักษะอารมณ์
พอขาดทักษะอารมณ์ พอรู้สึกอารมณ์ไม่ดี โกรธ ไม่พอใจ หรือว่าแค่ดูคลิปในมือถือแล้วแม่บอกให้หยุดดูได้แล้วเพราะเดี๋ยวต้องไปทำการบ้าน เด็กก็จะวี๊ดจะเหวี่ยงหรือว่าอาละวาด อันนี้ก็คือทักษะอารมณ์ที่ยังน้อย”
“ส่วนทักษะสังคม การอยู่กับเพื่อนอยู่กับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันไม่ได้แปลว่าเราต้องเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องรู้จักรอคอย ต้องรู้จักแลกเปลี่ยน รู้จักการตกลงเจรจาได้ รู้จักปฏิเสธได้ จริงๆ เด็กไทยจำนวนมากน่าสงสารเหมือนกันตรงที่ว่าเขาไม่ค่อยถูกฝึกให้ปฏิเสธแล้วก็ปกป้องตัวเอง บางทีก็ถูกเพื่อนล่วงละเมิด เช่นเพื่อนมาเอาของไป เด็กหลายๆ คนก็ยอมให้ถูกทำอย่างนี้อยู่เป็นปีๆ เลย ห้ามไม่เป็น ปฏิเสธไม่เป็นว่าอันนี้ของฉันนะ ห้ามเอาไปนะ หรือแม้แต่เด็กที่โตไปจนถึงเรียนมัธยมหรืออาชีวะแล้วก็มีจำนวนมากที่เพื่อนเอาบุหรี่มาให้ลอง ชวนไปกินเหล้า ชวนไปทำอะไรก็ตามไม่รู้จักทักษะในการปฏิเสธหรือเอาตัวรอดเลย สุดท้ายคือหลงไปอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงแล้วถูกติดร่างแหไปด้วย ถูกจับ จริงๆ เด็กเราเองต้องการการเสริมสร้างทักษะเรื่องอารมณ์และสังคมค่อนข้างมาก”
ดังนั้น ทักษะอารมณ์และสังคม จำเป็นต้องฝึก เพราะเด็กไม่สามารถเป็นเองแต่กำเนิด ทั้งที่บ้านและโรงเรียนจำเป็นต้องร่วมมือกันฝึกฝนเด็กให้มีทักษะนี้มากพอที่จะเอาตัวรอดได้
“เมื่อเริ่มเข้าวัยรุ่นเด็กจะรู้สึกว่าเพื่อนทำแบบนี้กัน เพื่อนมีแฟชั่นแบบนี้กันแล้วฉันไม่มี วันก่อนหมอมีเด็กที่เพื่อนย้อมผมทั้งกลุ่มเลยแต่ฉันผมดำคนเดียว เนี่ยไม่ได้ ห้ามแปลกแยกจากเพื่อน ฉันต้องย้อมผมด้วย ก็จะเป็นช่วงวัยรุ่นที่เขาจะรู้สึกว่าสังคมเพื่อนจะเป็นแรงกดดันสำคัญที่ทำให้เขาต้องเข้ากลุ่มเข้าพวก แต่ถ้าเกิดเป็นช่วงเด็กหน่อยอย่างเช่นป.3 ป.4 อาจจะยังไม่ถึงขนาดว่าแคร์เพื่อนมาก แต่มันจะเห็นชัดๆ ในช่วงวัยรุ่น เพราะฉะนั้นวัยรุ่นเองถึงเป็นวัยที่ต้องมีทักษะอารมณ์และสังคมค่อนข้างเข้มแข็งมาระดับหนึ่งละ ถ้าเกิดไม่เคยถูกสอนเลยแล้วมาเจอเหตุการณ์ที่เพื่อนจะชวนไปทำอะไร อยากจะซื้อของแพง ทุกคนต้องมี เอามาอวดกัน แล้วเขาไม่มีเขาก็จะทนกับภาวะตรงนี้ได้ยาก
จริงๆ มันเป็นทักษะชีวิตที่ทำให้เขาเผชิญความเครียดได้ดีขึ้น เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง เช่น โควิด น้ำท่วม ไฟไหม้ คืออะไรที่มันไม่คาดคิดต้องอาศัยทักษะอารมณ์และสังคมในการรับมือกับสิ่งพวกนี้ ไม่งั้นเขารู้สึกปรับตัวไม่ได้ เจออันนี้แล้วไปต่อไม่เป็น เพราะฉะนั้นควรจะต้องมีทักษะนี้เป็นพื้นฐาน”
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการมี Social awareness หรือตระหนักรู้ทางสังคมด้วย
“การที่คุณไปขึ้นรถไฟฟ้าคุณเห็นคนท้องยืนอยู่แล้วไม่มีที่นั่งคุณรู้สึกยังไงบ้าง จริงๆ อันนี้ก็คือทักษะที่เรียกว่า Empathy การเห็นอกเห็นใจคนอื่น เรารู้สึกได้ว่าเราเป็นห่วงเขา คนที่นั่งอยู่ก็อาจจะไม่ได้มองเห็นอาจจะก้มหน้าก้มตาอยู่กับมือถืออยู่ก็เลยไม่มีใครลุกให้ การฝึกทักษะพวกนี้มันต้องมีสถานการณ์หรือชี้ให้เห็นจุดสำคัญที่คนเราส่วนใหญ่มีความเห็นอกเห็นใจอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ถูกฝึกบ่มเพาะมามันก็จะน้อย ไม่มี awareness ที่มากพอที่จะทำให้รู้ทันสถานการณ์ที่เจอรอบๆ ตัว ซึ่งมีทั้งมีน้อยกับมีมาก แต่พอเจอสถานการณ์ที่เราจะสละที่นั่งเราให้เขา หรือเราเป็นคนที่ยืนอยู่เหมือนกันแต่จะไปบอกคนที่นั่งให้ลุกให้คนท้องนั่งดีไหม มันเป็นการตัดสินใจบนสถานการณ์ที่เฉพาะหน้า หลายๆ ครั้งอาจจะทำแล้วเกิดความรู้สึกแย่ หรือว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นมา เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะต้องฝึกในสถานการณ์หลากหลาย”
การดูแลสุขภาพจิตเด็ก โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย พ่อแม่เอาใจใส่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
จากการทำงานกับโรงเรียนมาระยะเวลาเกิน 5 ปี หมอฝนมองว่า ระบบการศึกษาไทยอาจจะยังดูแลเด็กและเยาวชนไม่ครบองค์ประกอบเท่าที่ควร
“อย่างที่พูดถึงระบบสุขภาพว่า เราอยากจะช่วยให้เด็กและวัยรุ่นมีสุขภาวะที่ดี สุขภาวะที่ดีมันไม่ใช่แค่สมองฉลาดแล้วก็เรียนรู้ได้หรือเกรดดี แต่มันต้องคือร่างกายแข็งแรง เช่นช่วงที่มี PM 2.5 คุณครูก็ต้องปกป้องเด็กจากอันตรายจากฝุ่น ก็ต้องระวังไม่ให้เด็กออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือใส่หน้ากากอนามัยเป็นต้น ต้องคำนึงมิติในเรื่องของร่างกายด้วย”
“สุขภาพจิตใจก็สำคัญ มันอาจจะมองเห็นยากกว่าด้วยซ้ำ อยากให้คุณครูหันมามองว่า ถ้าเด็กสุขภาพกายและสุขภาพจิตดีเขาจะเรียนหนังสือได้ดีขึ้น มันจะส่งผลต่อทั้งการเรียนแล้วก็ความตั้งใจศักยภาพในการเรียนมันจะสูงขึ้น
เช่น คุณครูรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กได้เยอะขึ้น อย่างช่วงใกล้สอบแล้วเด็กบางคนเครียดมาก กินไม่ได้นอนไม่หลับ หรือทำข้อสอบไม่ทัน จริงๆ คุณครูก็สามารถใช้โอกาสนี้ในการช่วยให้เด็กกลับมาทบทวนความรู้สึกตัวเอง แล้วมันก็คือการช่วยเหลือให้เด็กจัดการอารมณ์ที่เขาต้องเจอในการเรียนได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นมิติร่างกายจิตใจสำคัญ แล้วก็สังคมอีก
อย่างเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกกัน บางโรงเรียนเด็กมาหาหมอด้วยเรื่องว่ามีรุ่นพี่ไม่ชอบขี้หน้าเขาแล้วก็มาท้าจะมีเรื่องกับเขาบ่อยๆ เด็กก็ยังไม่รู้เลยว่าจะไปขอคำปรึกษาใคร เด็กรู้สึกว่าไม่รู้จะเอาตัวรอดจากการถูกข่มขู่จากรุ่นพี่นี้ยังไงดีจนไม่อยากไปโรงเรียน จริงๆ ถ้าเกิดคุณครูรู้ว่าสังคมที่มันปลอดภัยแล้วก็เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นแบบไหน คุณครูก็จะสามารถเฝ้าระวังได้ ก็จะสังเกตได้ว่า เอ๊ะ…ทำไมเด็กนี้ชอบจับกลุ่มจะมาทำอะไรกันหลังโรงเรียน หรือว่ารุ่นพี่กับรุ่นน้องนี้ชอบท้ากันหรือชอบพูดจารุนแรงใส่กัน อันนี้ก็คือบรรยากาศทางสังคมที่คุณครูเองจะช่วยเฝ้าระวังทำให้มันปลอดภัยเป็นที่เหมาะกับการเรียนรู้ได้ดีขึ้น”
นอกจากนี้หน้าที่ในการเฝ้าระวังสุขภาพจิตของเด็ก ผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันดูแล เพราะหลายๆ ครั้งที่เกิดปัญหาพ่อแม่จะรู้ก่อนคุณครู ถ้าสังเกตและหมั่นถามไถ่เด็กอย่างสม่ำเสมอ
“ถ้าเกิดลูกมาเล่าให้ฟังว่า วันนี้เพื่อนขโมยเงินไป พ่อแม่รู้แล้วพ่อแม่ทำยังไง พ่อแม่สอนให้เด็กรู้จักปกป้องตัวเองไหม หรือว่าสอนให้เด็กไปฟ้องครูเวลาเกิดเหตุแบบนี้ อันนี้พ่อแม่ก็สามารถช่วยเฝ้าระวังแล้วก็ป้องปรามไม่ให้เกิดซ้ำๆ เป็นแบบเรื้อรั้งได้
เพราะฉะนั้นพ่อแม่ใกล้ชิดลูกอันนี้สำคัญ แล้วก็รับฟังลูก รับฟังความรู้สึกลูก วันนี้หนูไปโรงเรียนมีความสุขไหม เล่นกับใครบ้าง วันนี้คุณครูคนไหนดุไหม หรือมีความรู้สึกอะไรกับเหตุการณ์อะไรที่โรงเรียนหรือเปล่า การถามความรู้สึกมันจะทำให้ลูกเปิดเผยกับพ่อแม่ แล้วลูกก็จะสะท้อนได้ว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรที่เป็นความรู้สึกจริงๆ แล้วพ่อแม่ก็จะหาทางช่วยเหลือตั้งแต่ต้นทาง ดีกว่าที่จะให้เด็กรู้สึกปิดบังแล้วก็ไปแก้ปัญหาเอง ซึ่งอย่างนั้นบางทีมันจะเกิดผลเสียที่ตามมาได้”
“ความสัมพันธ์ที่ดีมันจะเป็นพื้นฐานที่จะคุยอะไร จะถามอะไร โดยเฉพาะประเด็นที่เรามักจะกลัวว่าพูดไปแล้วมันจะจี้จุดหรือว่าเป็นประเด็นที่คุยยาก คือถ้ายิ่งเป็นประเด็นที่คุยยากยิ่งต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีก่อน อย่างเช่นเวลาหมอจะถามว่าเขาเคยทำร้ายตัวเองไหม เคยมีเพศสัมพันธ์กับแฟนไหม เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าไหม ประเด็นยากๆ ที่ถามแล้วไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง อย่างเรายังไม่เชื่อว่าเด็กคนนี้ไว้ใจเรา แล้วเขารับรู้ถึงความปรารถนาดีที่เรามีให้ มักจะไม่ใช่คำถามแรกที่เราจะถามแล้วได้คำตอบอยู่แล้ว เราก็ต้องคาดหวังไว้เลยว่า ถ้าเราจะไปถามพุ่งเป้าที่เรื่องนี้โดยที่เด็กยังไม่ได้ไว้ใจเลย คุณไม่มีทางได้คำตอบหรือไม่มีทางหาทางออกที่ช่วยเหลือเด็กได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะถามเรื่องยากต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีก่อน แต่ก่อนจะถามเรื่องยากเราควรจะถามเรื่องง่ายๆ ให้เป็นด้วย
เรื่องง่ายๆ ก็อย่างเช่น วันนี้เป็นไง มีความสุขไหม เบื่อไหม เล่นอะไรมา ถามเรื่องทั่วไปให้มันคุ้นชินไปก่อน ให้รู้สึกว่าลูกก็คุยกับเราได้ทุกเรื่อง พอเขาคุยกับเราได้ทุกเรื่องปุ๊บมันจะเกิดช่องว่างที่น้อยลง แล้วพอพ่อแม่เริ่มสังเกตว่าช่วงนี้ทำไมลูกแปลกๆ เก็บตัว ลูกมีปัญหาอะไรไหม อยากจะถาม อยากจะเข้าไปทำความรู้จักมากขึ้นมันจะทำให้พ่อแม่ไม่อายไม่กลัวที่จะเข้าไปถามลูก แต่ถ้าเกิดว่าความสัมพันธ์มันห่างเหิน มันเจอกันแค่สองสามวันครั้งแล้วก็เอาเงินวาง ลูกกลับมาจากโรงเรียนก็ไม่ได้เจอไม่ได้ถามไถ่กันเลยยากค่ะ พ่อแม่จะเข้าไปคุยเรื่องยากๆ มันก็จะมีช่องว่างเยอะเกินไป”