- มุมมองแบบ ‘สิ่งแวดล้อมนิยม’ ที่มองว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมล้วนมาจากน้ำมือมนุษย์ที่บริหารจัดการไม่ดี ใช้อย่างไม่รู้คุณค่า เราจึงต้องกอบกู้โลกให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ด้วยการปลูกป่า และลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น มักถูกนำมาสอนในโรงเรียนไทย แต่จริงหรือ? ที่มนุษย์ทุกคนล้วนทำลายสิ่งแวดล้อม?
- การสอนสิ่งแวดล้อมควรเชื่อมโยงไปกับมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ร่วมด้วย ไปจนถึงตั้งคำถามถึงใจกลางของความไม่เป็นธรรมและการกดขี่
- ครูและนักการศึกษาจะต้องสร้าง ‘การตระหนักรู้เชิงวิพากษ์ทางสิ่งแวดล้อม’ ให้กับนักเรียนถึงความรุนแรงที่เป็นอยู่ ที่วางอยู่บนคำถามที่ว่า “ใครกันที่ได้ประโยชน์ ใครกันที่ต้องจ่าย ใครกันต้องทนทุกข์ จากการเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่”
เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านสำนักข่าว BBC ได้เผยแพร่บทความสารคดี ‘ภาวะโลกเดือด: ทำไมคนจนได้รับผลกระทบในหน้าร้อนนี้มากที่สุด’ เนื้อหาในบทความบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของคนจนเมืองในช่วงเวลาที่อุณหภูมิร้อนระอุ ที่ต่างต้องออกไปทำงานกลางแจ้งในเวลากลางวันและไม่สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มอิ่มในเวลากลางคืน ความอ่อนล้าเริ่มสะสมเป็นทวีคูณ ดังที่วิมล หญิงวัย 56 ปี ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “ช่วงนี้กว่าจะได้นอนก็เที่ยงคืน กว่าจะได้หลับก็ตี 2-ตี 4 ที่อากาศเริ่มเย็นลงแล้ว วันไหนไม่มีใครจ้างไปทำงาน เราก็อาจได้หลับไปถึง 8-9 โมง แต่ปกติแล้วเราก็ต้องออกไปทำงาน ไม่มีใครได้นอนถึง 8 โมง 9 โมง” เพราะไม่เช่นนั้นแล้วตัวเธอเองก็จะไม่มีรายได้มาประทังชีวิตในวันต่อไป
ด้วยรายได้ต่ำ การติดตั้งเครื่องปรับอากาศจึงเป็นเรื่องที่เกินเอื้อม การอาบน้ำเป็นทางเลือกที่ต้นทุนต่ำที่สุดที่พอจะช่วยบรรเทาความร้อนได้ชั่วคราว ขณะเดียวกันผู้คนที่พอมีกำลังในการจ่ายได้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาก็ต้องแลกมากับบิลค่าไฟที่สูงลิ่วเป็นเงาตามตัวในประเทศที่พลังงานล้วนราคาแพง มากไปกว่านั้น เรื่องราวที่ถูกเล่าผ่านบทความสารคดีนี้ ก็บอกกับเราว่า ลึกๆ เข้าไปในวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่ได้ยินจนชินหูอย่างภาวะโลกร้อน ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังสะท้อนถึงความเปราะบางทางสังคมที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงภายใต้วิกฤติการณ์นี้
จากสิ่งที่เกิดขึ้น เราสามารถมองประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมแยกขาดจากมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้จริงหรือ? ในฐานะครูและนักการศึกษา เราควรสอนหรือจัดการศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไร?
ปัญหาการสอนสิ่งแวดล้อมแบบ ‘สิ่งแวดล้อมนิยม’ ในโรงเรียนไทย
การสอนสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนไทยที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักวางอยู่บนมุมมองแบบ ‘สิ่งแวดล้อมนิยม’ (environmentalism) ที่มองว่า วิกฤติปัญหาสิ่งแวดล้อมล้วนมาจากน้ำมือของมนุษย์ที่บริหารจัดการไม่ดี ใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ดังนั้นเราทุกคนจึงต้องเรียนรู้ที่จะเป็น ‘พลเมืองรักษ์โลก’ ต้องตระหนักถึงผลกระทบ บริหารจัดการทรัพยากรให้ไปเป็นไปอย่างยั่งยืน และลดพฤติกรรมการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น วิชาสังคมศึกษาในโรงเรียนเองก็ได้รับบทบาทสำคัญในส่วนนี้ โดยมุ่งปลูกฝังนักเรียนให้รู้จักบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ ต้องตระหนัก อนุรักษ์ และวางแผนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เหมาะสม ขณะเดียวกันทางกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ออกแคมเปญโครงการโรงเรียนสีเขียวหรือห้องสีเขียวมาให้รางวัลโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังทัศนคติและความรู้ความเข้าใจในการบริหารและอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
แนวการสอนที่เราคุ้นเคยกันดีจึงก็มักอยู่ในท่วงทำนองที่ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่ง เราจึงต้องกอบกู้โลกให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม ด้วยการปลูกป่า และลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น
แต่จริงหรือ? ที่มนุษย์ทุกคนล้วนทำลายสิ่งแวดล้อม?
เป็นคำถามสำคัญที่ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พูดถึงในปาฐกถา ‘ความหวังและการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในมิติสิ่งแวดล้อมและการเมืองโครงสร้าง’ ในปีที่ผ่านมา อาจารย์เก่งกิจได้ชี้ว่าอันที่จริงเราทุกคนไม่ได้สร้างวิกฤติสิ่งแวดล้อม มีแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่ควบคุมทรัพยากร สร้างวิกฤติขึ้นมาและโยนความผิดให้เป็นเรื่องของเราทุกคน เราจึงหันหน้ามาโทษกันเอง ทั้งนี้ก็เพราะว่าในระบบทุนนิยม ธรรมชาติได้ถูกแปลงให้เป็นมูลค่าและกำไร ที่ซึ่งพวกเขาสามารถควบคุมการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ ทำให้ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันได้ การปล่อยมลพิษ จึงทำได้ง่ายและถูกกฎหมายเพียงจ่ายเงินให้กับรัฐเท่านั้น
ขณะเดียวกันชีวิตของผู้คนจำนวนมากที่ไม่มี ‘หลังพิง’ ไร้สวัสดิการที่เป็นตาข่ายรองรับในระบบทุนนิยมก็กลายเป็นคนที่ต้องรับภาระหนักที่สุดเมื่อเกิดวิกฤติสิ่งแวดล้อม อาทิ มลพิษ p.m 2.5 ไม่ใช่แค่ร่างกายเราที่ป่วยจากการสูดอากาศเข้าไป แต่ยังหมายถึงชีวิตเราที่ไม่สามารถทำงานได้ รายได้ที่ลดลง การดูแลคนรอบข้างก็ทำได้ยากขึ้น หรืออย่างเรื่องราวของวิมลที่พูดถึงไปในตอนต้น ที่แม้ตัวเธอเองจะอ่อนเพลียด้วยนอนหลับไม่เต็มอิ่มจากอากาศที่ร้อนระอุ แต่การจะพักผ่อนให้ร่างกายได้สดชื่นก็ดูจะเป็นเรื่องยาก เพราะนั่นหมายถึงการที่วิมลจะไร้รายได้ที่จะมาขับเคลื่อนชีวิตให้ตัวเองได้เดินต่อไป ดังนั้น วิกฤติสิ่งแวดล้อมจึงแยกไม่ขาดจากมิติทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อเงื่อนไขการใช้ชีวิตของเราแทบทั้งสิ้น
อาจพูดได้ว่า นี่คือ ‘การเมืองของการสอนสิ่งแวดล้อม’ ที่สะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นหรือวิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อมนั้นถูกเลือกที่จะสอนหรือไม่สอนอย่างไร ในโรงเรียนไทยดูเหมือนว่า มุมมองแบบสิ่งแวดล้อมนิยมที่แยกขาดออกจากมิติอื่นๆ ได้กลายเป็นแนวทางหลัก มากกว่าจะให้ความสำคัญกับการมุมมองที่เชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมไปกับมิติเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ร่วมด้วย ไปจนถึงตั้งคำถามถึงใจกลางของความไม่เป็นธรรมและการกดขี่
ไปให้ไกลกว่ามุมมองสิ่งแวดล้อมนิยม
เพื่อที่จะสอนสิ่งแวดล้อมไปให้ไกลกว่ามุมมองสิ่งแวดล้อมนิยม Greg William Misiaszek นักการศึกษาเชิงวิพากษ์ จากมหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก Paulo Freire (อ่าน Paulo Freire เพิ่มเติมได้ใน ‘เสี้ยวส่วนความทรงจำของ Paulo Freire ใน Pedagogy of Hope’) ได้เสนอ ‘Ecopedagogy’ ในฐานะศาสตร์การสอนนิเวศวิทยาเพื่อความเป็นธรรมขึ้นมาเป็นทางเลือก Misiaszek มองว่าปัญหาการสอนสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่การติดอยู่ในกรอบแนวทางการสอนสิ่งแวดล้อมนิยมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแนวการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน (Education for sustainable development: ESD) เขายอมรับว่าแม้ ESD จะมีการเชื่อมโยงระหว่างสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง แต่ก็ละเลยพื้นที่ของความเป็นการเมือง โดยปราศจากการตั้งคำถามว่าการพัฒนานั้นเป็นของใคร ใครกำหนด ใครได้และใครเสียประโยชน์จากการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อม (environmental ill) ภายใต้ร่มของการพัฒนา (Development) เวลาพูดถึงการพัฒนา มันอาจเป็นเพียงแค่ D ตัวใหญ่ที่เป็นมุมจากบนลงล่าง ไม่ได้ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมว่าใครเป็นคนกำหนดการพัฒนา ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การการผลิตซ้ำความรุนแรงและการกดขี่ให้คงอยู่ มากกว่าจะเปิดไปสู่การตัดสินใจร่วมกันทางประชาธิปไตยในฐานะ d ตัวเล็กที่ทุกคนกำหนดชะตาชีวิตร่วมกัน
Misiaszek เสนอว่า ความรุนแรงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นบนโลกของเรา ไม่ควรมองแยกจากกัน
ครูและนักการศึกษาจะต้องสร้าง ‘การตระหนักรู้เชิงวิพากษ์ทางสิ่งแวดล้อม’ (critical environmental literacy) ให้กับนักเรียนถึงความรุนแรงที่เป็นอยู่ ที่วางอยู่บนคำถามที่ว่า “ใครกันที่ได้ประโยชน์ ใครกันที่ต้องจ่าย ใครกันต้องทนทุกข์ จากการเสื่อมโทรมสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่”
สำหรับ Misiaszek คำถามเช่นนี้จะทำให้เราเห็นชัดว่าอะไรคือความรุนแรงและการกดขี่ที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง เขาเล่าถึงชีวิตของเขาขณะหนึ่งในปักกิ่ง ท่ามกลางสภาพอากาศย่ำแย่ที่เต็มไปด้วยมลพิษ เขาสังเกตเห็นว่า ชีวิตของคนจำนวนหนึ่ง (รวมถึงตัวเขา) ก็เพียงซื้อเครื่องปรับอากาศ ใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์ แล้วก็ทำงานต่อได้โดยไม่ต้องออกไปข้างนอก แต่ขณะเดียวกันคนจำนวนมากต้องออกไปทำงานกลางแจ้งโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย นี่คือความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นที่ถูกผลิตซ้ำ อันจริงหากเราตั้งคำถามต่อไปว่า ในช่วงที่สภาพอากาศเต็มไปด้วยมลพิษ ใครกันที่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน ใครที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เขาเหล่านั้นคือใคร เราอาจเห็นมากกว่าความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น แต่ปรากฏภาพของเพศ และเชื้อชาติให้เห็นด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อที่จะสร้างนักเรียนที่ตระหนักรู้ วิเคราะห์ และวิพากษ์ถึงความความไม่เป็นธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (socio-environmental injustices) ทั้งในระดับท้องถิ่นและโลก Misiaszek เห็นว่า เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียนในการทำความเข้าใจประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลากหลายศาสตร์เพื่อเอื้อให้เกิดมุมมองที่ลุ่มลึกและสายตาที่กว้างไกล
ตัวอย่างเช่น ครูอาจลองใช้เลนส์การมองแบบ ‘ชนชั้น’ มาใช้เป็นคำถามหลักที่พานักเรียนวิเคราะห์ว่าคนกลุ่มต่างๆ เผชิญหน้ากับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมอย่างไรภายใต้ความความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียม อาทิ ปัญหามลพิษ p.m 2.5 และอากาศที่ร้อนระอุซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่นักเรียนเผชิญ ครูอาจตั้งคำถามภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่เช่นนี้ ใครคือคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ใครกันที่ต้องจ่ายแพง เพราะอะไร และใครยังคงได้ประโยชน์จากมัน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มากกว่านั้น ในประเด็นมลพิษ ครูอาจชวนนักเรียนสืบสาวสาเหตุหมอกควันที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปหรือระบบเกษตรพันธะสัญญา เพื่อศึกษาว่าเหล่านี้นำมาสู่ปัญหาที่เป็นอยู่ได้อย่างไร หรือในสารคดีล่าสุดจาก THE STANDARD ‘เปิดโปงความจริงเรื่องรีไซเคิล การฟอกเขียวที่แหกตาผู้บริโภคมา 50 ปี’ ก็มีการชวนตั้งคำถามว่าภายใต้ แคมเปญการรีไซเคิล แท้จริงแล้วใครได้ประโยชน์จากสิ่งนี้กันแน่ ที่ครูสามารถหยิบมาเป็นสื่อการสอนในการพูดคุยเกี่ยวกับมายาคติการจัดการสิ่งแวดล้อมได้
Misiaszek บอกกับเราว่า ท้ายที่สุดการตระหนักรู้เชิงวิพากษ์อย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่ต้องชวนนักเรียนระดมความคิดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อความไม่ยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยที่ทุกคนจะได้เป็นเจ้าของอำนาจและทรัพยากรในการติดสินร่วมกันควบคู่ไปกับการฉายให้เห็นถึงพลังบวก ความหวัง และการต่อสู้ของผู้คนที่ต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงมาก่อนด้วย
ถึงเวลาแล้วที่การสอนสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องตั้งคำถามถึงความไม่ยุติธรรม!
ใครได้ประโยชน์? ใครกันที่ต้องจ่าย? ใครกันต้องทนทุกข์? จากการเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่
อ้างอิง
หนังสือ Educating the Global Environmental Citizen Understanding Ecopedagogy in Local and Global Contexts เขียนโดย Greg William Misiaszek
ภาวะโลกเดือด: ทำไมคนจนได้รับผลกระทบในหน้าร้อนนี้มากที่สุด
https://www.bbc.com/thai/articles/cd1v8p89vlmo
ปาฐกถา “ความหวังและการเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย ในมิติสิ่งแวดล้อมและการเมืองโครงสร้าง” โดย รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
https://www.lannernews.com/10022566-01/
3 วิธีการสอน ต้อนรับวันสิ่งแวดล้อมโลก (จากมุมมอง critical pedagogy)
https://inskru.com/idea/-Nzc0bV6aweRQf395IVo/#google_vignette
เปิดโปงความจริงเรื่องรีไซเคิล การฟอกเขียวที่แหกตาผู้บริโภคมา 50 ปี | KEY MESSAGES #162