- ‘The Wild Robot’ หรือ ‘หุ่นยนต์ผจญภัยในโลกกว้าง’ เขียนโดย ปีเตอร์ บราวน์ เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวของ ‘รอซ’ หุ่นยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุจนมาเกยตื้นบนเกาะร้าง ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่รอดและปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์กับสัตว์ป่า และการรับบทบาทเป็น ‘แม่’ของลูกห่านกำพร้า
- รอซ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง แม้จะถูกจำกัดด้วยโปรแกรมที่ตั้งไว้ แต่ด้วยระบบเอไอที่มีอยู่ในตัว ทำให้เธอก็สามารถข้ามขีดจำกัดและสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงเรียนรู้ที่จะมี ‘ความรัก’
- ไม่ว่าคุณจะเกิดมาเป็นอะไร หรือคุณถูกวางกรอบให้ดำเนินชีวิตแบบไหน แต่คุณก็มีสิทธิที่จะลิขิตชีวิตของตัวเอง มีสิทธิที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างเส้นทางชีวิตของตัวเอง
เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ คุณนึกถึงอะไร?
หากดูตามนิยามแล้ว ‘หุ่นยนต์’ หมายถึงเครื่องจักรกลที่มีโครงสร้างและรูปแบบหลากหลาย มีทั้งแบบที่ติดตั้งอยู่กับที่ และแบบที่สามารถเคลื่อนไหวได้ รูปลักษณ์ภายนอกของหุ่นยนต์อาจคล้ายมนุษย์ สัตว์ หรือมีลักษณะเป็นจักรกลอย่างชัดเจน สามารถทำงานได้หลายชนิด โดยที่มนุษย์เป็นผู้สั่งการ ผ่านทางการควบคุมโดยตรง หรือการเขียนโปรแกรมคำสั่งล่วงหน้าในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI : Artificial Intelligence) ทำให้หุ่นยนต์รุ่นใหม่ๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง สามารถจัดลำดับ ปรับเปลี่ยนแผนการทำงานได้ แต่ถึงกระนั้น หุ่นยนต์ก็ยังถูกควบคุมโดยมนุษย์ ผ่านทางโปรแกรมคำสั่งที่เขียนไว้ตั้งแต่เริ่มสร้างหุ่นยนต์ตัวนั้น
ตามรากศัพท์ดั้งเดิม หุ่นยนต์ หรือ robot เป็นภาษาเช็ก แปลว่า ทาส หรือผู้ถูกบังคับใช้แรงงาน โดยผู้ที่นำคำศัพท์นี้มาใช้ในความหมายใหม่ คือ คาเรล คาเปก (Karel Capek) นักเขียนชาวเช็ก ผู้ประพันธ์ละครเวทีเรื่อง R.U.R. Rossum’s Universal Robots ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อให้เป็นทาสของมนุษย์ แต่สุดท้าย หุ่นยนต์ได้วิวัฒนาการจนมีความฉลาดขึ้น และได้ลุกขึ้นสู้เพื่อปลดแอกความเป็นทาสจากมนุษย์
กลับไปที่คำถามข้างบน เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์ คุณนึกถึงอะไร? สำหรับผมแล้ว ผมนึกถึงคนที่ถูกตีกรอบ (ไม่ว่าจะโดยคนอื่นหรือโดยตัวเอง) ให้ต้องทำตามกฎกติกา คำสั่ง ค่านิยม หรือธรรมเนียมปฏิบัติ อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นแล้ว ชีวิตจะเกิดความสับสนจนไม่อาจทำงานได้เสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์
ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ ที่จะเกิดความสับสนจนถึงขั้นทำงานไม่ได้ หากคิดออกนอกลู่นอกทาง นอกเหนือจากโปรแกรมคำสั่งที่เขียนไว้
แต่มีหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง คิดนอกเหนือจากโปรแกรมคำสั่งที่มัน (หรือเธอ) ถูกตั้งไว้ หุ่นยนต์ตัวนั้น ชื่อ ‘รอซซัม’ หมายเลข 7134 หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘รอซ’ (ซึ่งก็คือ ชื่อเดียวกับหุ่นยนต์ในงานวรรณกรรมเกี่ยวกับหุ่นยนต์ชิ้นแรกของคาเปกนั่นเอง)
และนี่คือ เรื่องราวของรอซ ในงานวรรณกรรมเด็กชื่อ The Wild Robot หรือชื่อไทยว่า หุ่นยนต์ผจญภัยในโลกกว้าง เขียนโดย ปีเตอร์ บราวน์ (Peter Brown) ขณะที่ฉบับภาษาไทย แปลโดย วัรวิชญ์ ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีไปทั่วโลก รวมทั้งกวาดรางวัลมากมาย ไม่ว่า หนังสือเด็กดีเด่นของวอชิงตันโพสต์ หนังสือเด็กดีเด่นแห่งปี โดยการเลือกสรรของ Amazon
ล่าสุด หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นอะนิเมชั่นผลงานของ DreamWorks Animation ซึ่งว่ากันว่า เป็นหนึ่งในตัวเก็งอะนิเมชั่นรางวัลออสการ์ ในปีหน้า
ต้องบอกตรงๆ ว่า ตอนที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากชั้นวางในร้านหนังสือ ผมไม่รู้เลยว่า หนังสือเล่มนี้ได้รับคำชื่นชมมากแค่ไหน รู้แค่ว่า หน้าปกสวยดี ซึ่งก็เป็นผลงานการวาดภาพประกอบโดยปีเตอร์ บราวน์ ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้
จนเมื่ออ่านจบ ผมถึงรู้ว่า นี่คือหนึ่งในหนังสือที่ไม่ควรพลาด และเป็นหนึ่งในวรรณกรรมเด็กที่ดีที่สุดที่ผมเคยอ่าน
รอซซัม หมายเลข 7134 (Rossum Unit 7134) พร้อมผองเพื่อนหุ่นยนต์หลายร้อยตัว ที่ถูกผลิตจากโรงงานเดียวกัน เพื่อทำหน้าที่บางอย่างที่คาดกันว่า เป็นการทำงานในฟาร์ม ถูกลำเลียงขึ้นเรือสินค้าเพื่อส่งไปถึงมือลูกค้าที่ต้องการใช้งานหุ่นยนต์ดังกล่าว
ทว่า พายุเฮอริเคน แสดงให้เห็นว่า ถึงที่สุดแล้ว ธรรมชาติ มีฤทธานุภาพเหนือกว่าเทคโนโลยีที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ เรือสินค้าลำดังกล่าวถูกพายุพัดจนอับปางลง พร้อมลังไม้บรรจุหุ่นยนต์หลายร้อยใบ เหลือเพียง 5 ใบ ที่เกยตื้นบนชายฝั่งของเกาะร้างแห่งหนึ่ง
ลัง 5 ใบ ที่เกยตื้นชายฝั่งเกาะร้าง ถูกคลื่นซัดกระแทกกับโขดหิน จนหุ่นยนต์ข้างในพังเสียหายหมด เหลือเพียงหุ่นยนต์ตัวเดียวที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และชีวิตของหุ่นยนต์ตัวนั้นก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อนากทะเล ที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น เกิดเล่นซุกซนจนไปกดปุ่มสตาร์ทของหุ่นยนต์
“สวัสดี ฉันคือรอซซัม หมายเลข 7134 แต่เธอเรียกฉันว่ารอซก็ได้… เพียงแค่สั่งงาน ฉันก็จะทำให้เสร็จเรียบร้อย เมื่อเวลาผ่านไป ฉันจะหาวิธีทำงานให้สำเร็จดีกว่าเดิม… ขอบคุณที่ฟัง ฉันพร้อมทำงานแล้ว”
คำพูดแรกของรอซ ทำให้เรารู้ว่า เธอเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมให้ทำงานตามคำสั่ง และสามารถเรียนรู้ที่จะทำงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นด้วย
ทว่า บนเกาะแห่งนี้ ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ มีเพียงสัตว์ชนิดต่างๆ ตั้งแต่นากทะเล หมี สุนัขจิ้งจอก กวาง กระรอก ไปจนถึงห่านป่า แล้วรอซ จะทำงานตามคำสั่งของใคร?
ด้วยระบบเอไอที่มีอยู่ในตัว ทำให้รอซ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างที่เธอไม่เคยถูกโปรแกรมให้รู้ เธอเรียนรู้ที่จะอยู่รอดจากภัยธรรมชาติ หลบหลีกการทำร้ายของสัตว์ป่า และในที่สุด รอซเรียนรู้ที่จะพูดภาษาสัตว์ เพื่อสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนเกาะนั้น และจะได้ช่วยสัตว์เหล่านั้นทำงานให้ดีที่สุด ตามเป้าหมายสูงสุดของหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมให้ช่วยมนุษย์ทำงาน
แน่นอนว่า ด้วยรูปลักษณ์ที่แปลกแยกจากสัตว์ทุกชนิด ทำให้สัตว์ทุกตัวบนเกาะ หวาดกลัว ไม่ไว้ใจ และถึงขั้นเรียกรอซว่า ‘อสุรกาย’ ไม่มีใครอยากให้เธอช่วยเหลือ ไม่มีอยากให้เธอเข้าใกล้ด้วยซ้ำ
หมาจิ้งจอกชื่อ ‘สอดรู้’ เป็นสัตว์ตัวแรกที่ยอมมีปฏิสัมพันธ์กับรอซ เพราะกำลังตกที่นั่งลำบาก ถูกขนเม่นตำทั้งที่หน้าและอุ้งเท้า จนต้องร้องขอให้รอซช่วยดึงขนเม่นออก ซึ่งรอซก็เต็มใจช่วย และทำอย่างเต็มที่
หลังจากนั้น รอซเกิดอุบัติเหตุร่วงหล่นจากหน้าผาลงมาทับรังของห่านป่า ส่งผลให้ห่านป่าตายยกรัง เหลือเพียงไข่ฟองเดียว ซึ่งรอซรู้ว่า ถ้าเธอไม่ทำอะไรสักอย่าง ลูกห่านในไข่จะต้องตายตามพ่อแม่และพี่น้องของมันอย่างแน่นอน
ด้วยความช่วยเหลือให้คำแนะนำจากสัตว์หลายชนิด รวมถึงห่านป่าอาวุโส ที่ค่อยๆ ลดความหวาดกลัวต่อ ‘อสุรกายโลหะ’ ทำให้รอซ ค่อยๆ ฟูมฟักจนลูกห่านออกจากไข่ได้ในที่สุด และตั้งชื่อเขาว่า ‘จะงอยแจ๊ด’
รอซ กลายเป็นคุณแม่ ที่มุ่งมั่นจะเลี้ยงลูกห่านให้เติบโตอย่างดีที่สุด แน่นอน นี่ไม่ใช่สิ่งที่หุ่นยนต์ถูกตั้งโปรแกรมไว้ตั้งแต่แรก แต่คือสิ่งที่เธอค่อยๆ เรียนรู้จากการอยู่ร่วมกับสัตว์และความเป็นธรรมชาติบนเกาะนั้น
หรืออาจกล่าวอีกอย่างว่า ธรรมชาติ ค่อยๆ สอนให้รอซ เรียนรู้สิ่งที่อยู่นอกเหนือโปรแกรม นั่นคือ ‘ความรัก’
ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า วรรณกรรมเด็กหลายเล่มที่ลึกซึ้งตราตรึงใจผู้อ่าน มักจะสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับการพลัดพราก โดยเฉพาะความตาย อยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางกลับดาวของเจ้าชายน้อยในวรรณกรรมเรื่องเจ้าชายน้อย การตายของชาร์ล็อตในหนังสือเรื่องแมงมุมเพื่อนรัก หรือการสละชีพของดัมเบิลดอร์ อาจารย์ใหญ่แห่งโรงเรียนฮอกวอต์ในหนังสือชุดแฮร์รี พอตเตอร์
บางที อาจเป็นเพราะความตาย โดยเฉพาะความตายของคนที่เรารัก คือ ความทุกข์ที่แสนสาหัสที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในชีวิตคนเรา ดังนั้น เด็กๆ ทุกคน จึงควรได้เรียนรู้เรื่องนี้ผ่านทางวรรณกรรมเด็ก ที่สอนให้พวกเขารู้ว่า แม้ในโลกที่เยาว์วัยใสซื่อแสนบริสุทธิ์ ก็ไม่อาจหลีกพ้นจากเรื่องราวของความตายและการพลัดพรากไปได้
ความตายในหนังสือเรื่อง The Wild Robot ถูกถ่ายทอดผ่านทางการตายของสัตว์หลายๆ ตัว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ไม่อาจหลีกพ้นได้ แต่จะงอยแจ๊ด ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วแม่ของเขาที่เป็นหุ่นยนต์ล่ะ จะต้องพบกับความตายในสักวันหนึ่งด้วยหรือเปล่า
ตอนที่จะงอยแจ๊ดไปพบซากหุ่นยนต์ตัวอื่นๆ ที่อีกด้านหนึ่งของเกาะ ลูกห่านจึงได้เรียนรู้ว่า สำหรับหุ่นยนต์ ที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต การอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่ว่าจะเพราะชิ้นส่วนร่างกายพังเสียหาย หรือกระทั่งเพราะถูกกดปุ่มหยุดการทำงาน ก็เท่ากับตายไปแล้วเช่นกัน
อ่านถึงตอนนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า ปีเตอร์ บราวน์ ผู้แต่งเรื่องนี้ ตั้งใจสอดแทรกสิ่งที่เชื่อว่า จะเป็นปัญหาทางจริยธรรมในอนาคตอันใกล้ นั่นคือ หุ่นยนต์ที่มีความใกล้เคียงมนุษย์อย่างที่สุด ถึงขนาดมีความรู้สึกนึกคิด จะถูกนับเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่ และหากหุ่นยนต์ตัวนั้น ถูกทำให้หมดสภาพที่จะใช้งานได้ จะถือว่าเป็นการฆาตกรรมหุ่นยนต์หรือเปล่า
แน่นอนว่า หนังสือเรื่อง The Wild Robot ถูกวางให้เป็นวรรณกรรมเด็ก ไม่ใช่วรรณกรรมเชิงปรัชญา หัวข้อนี้ จึงไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่อง ซึ่งก็สุดแต่ว่า นักอ่านคนไหน อยากจะหยิบเอาประเด็นนี้ไปตีความ หรือขบคิดต่อ
สำหรับผมแล้ว ประเด็นสำคัญ ที่ถือเป็นหัวใจหลักของหนังสือเล่มนี้ คือ ไม่ว่าคุณจะเกิดมาเป็นอะไร หรือคุณถูกวางกรอบให้ดำเนินชีวิตแบบไหน แต่คุณก็มีสิทธิที่จะลิขิตชีวิตของตัวเอง มีสิทธิที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างเส้นทางชีวิตของตัวเอง
แม้ว่ารอซ จะว่ายน้ำไม่เป็น เธอไม่กล้าลงน้ำ เพราะรู้ว่าน้ำจะทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในร่างกายเกิดความเสียหายได้ รอซ ไม่สามารถบินได้ เพราะเธอไม่ได้ถูกสร้างมาพร้อมเครื่องยนต์กลไกที่สามารถยกตัวเองหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงได้ แต่สิ่งที่เธอเรียนรู้ คือ จะทำอย่างไรที่จะให้จะงอยแจ๊ด ได้เติบโตเป็นห่านป่าที่มีความสุข ห่านป่าที่ว่ายน้ำไปกับฝูงห่านได้ และห่านป่าที่พร้อมจะบินอพยพไปกับฝูงในช่วงหน้าหนาว
หรือพูดอีกอย่างว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่รอซได้เรียนรู้ ก็คือ ทำอย่างไรเธอจะเป็นแม่ที่ดีได้
นับจากวันที่รอซ ตั้งใจเก็บไข่ห่านมาฟูมฟัก คือวันที่เธอสามารถกำหนดภารกิจและเส้นทางชีวิตให้กับตัวเองได้ นั่นคือ ภารกิจของความเป็นแม่
ในช่วงวัยเด็ก จะงอยแจ๊ดเคยถูกเพื่อนๆ ห่านล้อว่า เป็นอสุรกาย เพราะมีแม่เป็นอสุรกาย แน่นอน ลูกห่านรู้ว่า ตัวเขาไม่ใช่อสุรกาย แต่คือห่านป่าเหมือนเพื่อนๆ ในฝูง และแม่ของเขา ก็ไม่ใช่อสุรกาย แต่เป็นหุ่นยนต์ ซึ่งแตกต่างจากห่านป่าโดยสิ้นเชิง
“แม่ไม่ใช่แม่แท้ๆ ของผมใช่มั้ย”
“แม่มีหลายประเภท” หุ่นยนต์พูด “แม่บางรายดูแลลูกไปตลอดชีวิต บ้างวางไข่แล้วก็ทิ้งไปเลย บ้างเลี้ยงลูกของแม่อื่น แม่พยายามแสดงเป็นแม่ แต่ไม่ใช่หรอก แม่ไม่ใช่แม่ผู้ให้กำเนิดของลูก”
จากนั้น รอซได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ลูกห่านฟัง เรื่องราวในคืนที่เธอเกิดอุบัติเหตุตกลงมาทับรังห่าน ทำให้พ่อแม่ที่แท้จริงของจะงอยแจ๊ดต้องจากโลกนี้ เหลือเพียงไข่ห่านใบเดียว ซึ่งก็คือจะงอยแจ๊ด
“ผมควรเลิกเรียกแม่ว่าแม่ไหม” ลูกห่านถาม
“แม่จะยังแสดงเป็นแม่ ไม่ว่าลูกจะเรียกแม่ว่าอย่างไร” หุ่นยนต์บอก
“ผมคิดว่าจะยังเรียกแม่ว่าแม่ต่อไปนะฮะ”
“แม่ก็คิดว่าจะยังเรียกลูกว่าลูกเหมือนกัน”
ในตอนท้ายของเล่ม โรงงานผู้ผลิตรอซ ส่งหุ่นยนต์หลายตัวมาตามเก็บชิ้นส่วนหุ่นยนต์ที่สูญหายระหว่างการลำเลียง เพื่อนำกลับไปซ่อมแซมอีกครั้ง รอซ ซึ่งแหกขนบของความเป็นหุ่นยนต์ใช้งาน จึงถูกตีความว่า เป็นหุ่นยนต์ที่ชำรุดเสียหาย จำเป็นต้องถูกส่งกลับไปซ่อม
ลูกห่าน และผองเพื่อนสัตว์ป่าบนเกาะ ช่วยกันขัดขวางอย่างเต็มที่ไม่ให้รอซถูกนำตัวกลับไป แต่สุดท้ายแล้ว แม้จะทำลายหุ่นยนต์ที่ทางโรงงานส่งมาได้ แต่รอซก็ได้รับความเสียหาย จนอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานต่อไปได้ หรือถ้าเป็นคนก็พิการทุพพลภาพ
รอซ ประมวลผลจนได้ข้อสรุปว่า เธอต้องสมัครใจกลับเข้าไปโรงงานอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับการซ่อมแซมจนกลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกครั้ง ซึ่งวิธีนี้ ยังช่วยป้องกันไม่ให้ทางโรงงานส่งหุ่นยนต์มาที่เกาะอีกด้วย
ไม่มีใครบอกได้ว่า เมื่อได้รับการซ่อมแซมต่อเติมชิ้นส่วนใหม่แล้ว เธอจะยังเป็นหุ่นยนต์ตัวเดิม หรือจะกลายเป็นรอซซัม หมายเลขใหม่ แต่ตัวรอซเอง เชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า ไม่ว่าอย่างไร เธอก็จะยังเป็นแม่ของจะงอยแจ๊ดเหมือนเดิม
เรื่องราวของรอซจะเป็นเช่นไร คงต้องตามอ่านกันในเล่มต่อของซีรีส์ชุดนี้ แต่สำหรับผมแล้ว รอซ จะต้องหาทางกลับมาที่เกาะแห่งนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะที่นี่คือบ้านของเธอ ที่มีลูกชายของเธอรออยู่
และที่สำคัญที่สุด รอซ ได้แสดงให้เห็นว่า ถ้าเรามีความมุ่งมั่น มีจิตใจที่เปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นเช่นไร ถูกตีกรอบให้เป็นแบบไหน ทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงเส้นทางชีวิตที่ถูกกำหนดไว้ ก็ล้วนสามารถเปลี่ยนแปลงได้
เพื่อให้ได้เป็นในสิ่งที่เราอยากเป็นจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่ถูกตั้งโปรแกรมให้เป็น