ในบทสัมภาษณ์สมบูรณ์ จุฑานุกาล คุณพ่อของ โปรเม-เอรียา จุฑานุกาล เราเห็นแนวความคิดเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยกีฬา ที่เห็นได้ชัดคือการสร้างวินัย และนั่นยังตรงกับแนวคิดของงานวิจัยหลายๆ ชิ้น ที่ชี้ตรงกันว่า การส่งเสริมให้น้องๆ เล่นกีฬา ยังเป็นปัจจัยสำคัญเรื่องการสร้าง ‘ความมั่นใจ’ ส่วนตัวของพวกเขาด้วย
จิม เทย์เลอร์ (Jim Taylor) อาจารย์มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก (University of San Francisco) และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะเกี่ยวกับธุรกิจ กีฬา และการเลี้ยงลูก เขียนบทความเรื่อง ‘Build Self-esteem in Your Young Athletes’ หรือ ‘สร้างความมั่นใจให้นักกีฬารุ่นเยาว์ของคุณ’ ใน Psychology Today ตอนหนึ่งว่า
กีฬาจะทำให้เด็กๆ รู้จักแพ้-ชนะ รู้จักการยืนหยุ่นจากการเล่นเป็นทีม รับฟังโค้ชของเขา ทั้งหมดนั้นทำให้พวกเขาเผชิญหน้ากับอารมณ์ที่หลากหลาย ได้สำรวจทุกอารมณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่การเรียนรู้อารมณ์ และสุดท้ายมันจะนำไปสู่ความเข้าใจและเคารพตัวเอง
“กีฬาเป็นโอกาสที่ทำให้พวกเขารู้จักความพ่ายแพ้ และรู้ว่ามันไม่เป็นอะไรเลย มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น และพวกเขาจะเรียนรู้ที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดและเติบโตขึ้นอีกครั้ง” เทย์เลอร์กล่าว
แม้คุณอาจพอเดาได้อยู่แล้วว่ากีฬาเป็นประตูสู่ความเข้มแข็งทั้งกายและใจ แต่งานวิจัยจำนวนหนึ่ง พุ่งเป้าตรงกันว่า มันมีส่วนสร้างความเคารพตัวเอง และความมั่นใจจริงๆ
งานวิจัยแรก พุ่งเป้าที่ผลสัมฤทธิ์จากการเล่นกีฬาในชั่วโมงพละของโรงเรียนมัธยม โดย ซุมรู เออร์คุท (Sumru Erkut) และ แอลลิสัน เจ. เทรซี ( Allison J. Tracy) องค์กรเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ Wellesley Centers for Women ระบุว่า การเล่นกีฬาในชั่วโมงพละมีผลต่อความมั่นใจของนักเรียนจริงๆ แต่ก็แตกต่างไปตามเชื้อชาติและเพศสภาพของเด็กๆ ด้วย
อีกหนึ่งงานวิจัยที่แม้จะตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1999 ประเด็นการเล่นกีฬาในวัยรุ่น ของสถาบันส่งเสริมข้อมูลและการวิจัยด้านสุขภาพ (Health Education Research) ก็ยังให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับข้อสรุปในปัจจุบันข้างต้นเช่นกัน
บทความชิ้นหนึ่งโดย ริชาร์ด เบลีย์ (Richard Bailey) อดีตศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกีฬาและการพัฒนาของมนุษย์ ใน Psychology Today กล่าวถึงช่วงเวลาสำหรับการสร้างนิสัยนี้อย่างได้ผลที่สุด คืออายุก่อนวัยรุ่นหรือราว 6-11 ปี เพราะเป็นช่วงที่พัฒนาการทั้งสมองและร่างกายกำลังพัฒนาอย่างเต็มที่ ซึ่งเขาชี้ว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เด็กๆ จะรู้จักและมีประสบการณ์ด้านกีฬาช้าเกินไป นั่นอาจทำให้พวกเขาโตเกินกว่าในช่วงวัยที่รู้สึกว่า ‘อยากจะลองทุกอย่างบนโลกใบนี้’เสียแล้ว