- ในการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ๆ นักจิตวิทยากีฬาถือว่ามีบทบาทสำคัญ ซึ่งในโอลิมปิก 2024 ชื่อของ ‘อาจารย์ปลา’ ได้รับการเอ่ยถึงว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการฝึกฝนด้านจิตใจของนักกีฬาไทยที่คว้าเหรียญรางวัลมาได้
- หัวใจสำคัญของการฝึกฝนด้านจิตใจ คือการปรับมายด์เซ็ตที่ถูกต้องด้วยการตระหนักว่ากีฬามีแพ้มีชนะ และความสำเร็จอาจไม่ได้มาจากชัยชนะเสมอไป แต่คือการบรรลุเป้าหมายของนักกีฬาแต่ละคน
- สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพเด็กด้านกีฬา อาจารย์ปลาให้ข้อคิดว่า ‘ลูกก็คือลูก ลูกไม่ใช่นักกีฬา’ พ่อแม่ควรเป็นเซฟโซนให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเสมอ ไม่ว่าเขาจะชนะหรือแพ้ในการแข่งขัน
“ความสำเร็จอยู่ที่ไหน มันอยู่ในชั่วขณะหรือมันอยู่ในช่วงชีวิตอันยืนยาว”
ประโยคที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ของ ‘เซอร์ยา โบนาลี’ อดีตราชินีไร้บัลลังก์จากวงการสเก็ตน้ำแข็ง ถือเป็นตัวอย่างของตำราชีวิตที่พิสูจน์ให้เห็นว่าความสำเร็จที่แท้ไม่ได้อยู่ที่เหรียญรางวัล สวนทางกับกรอบความคิด (mindset) ของคนส่วนมากที่ผูกเงื่อนไขแห่งความสำเร็จไว้กับชัยชนะและเหรียญรางวัล ส่งผลให้นักกีฬาหลายคนตกอยู่ในภาวะกดดัน เครียด และวิตกกังวล จนส่งผลกระทบต่อศักยภาพทั้งในและนอกสนาม
The Potential ชวน ‘อาจารย์ปลา’ ผศ.วิมลมาศ ประชากุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มาพูดคุยถึงบทบาทในการเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาไทยหลายคน พร้อมแนะนำวิธีที่เหมาะสมสำหรับพ่อแม่และผู้ดูแลที่อยากสนับสนุนเด็กและเยาวชนในด้านกีฬา
นักจิตวิทยาการกีฬา ผู้ฝึกสอนทักษะด้านจิตใจ
“อาจารย์เป็นนักจิตวิทยาการกีฬา ไม่ได้เป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคลินิก ตอนเป็นนิสิตปริญญาตรีก็จะเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬา แต่พอต่อปริญญาโทไปแล้วจะต้องเลือกว่าเราจะเชี่ยวชาญเรื่องอะไร เขาก็จะให้เราทำวิจัยเกี่ยวกับสาขานั้น เช่น นักโภชนาการ นักสรีระ นักชีวกลศาสตร์ นักจิตวิทยาการกีฬา ฯลฯ ซึ่งของอาจารย์เลือกที่จะเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา เลือกที่จะเชี่ยวชาญในเรื่องของการฝึกความคิดฝึกทักษะการควบคุมจิตใจของนักกีฬา”
อาจารย์ปลาบอกว่าจิตวิทยาการกีฬาถือเป็น 1 ใน 4 องค์ประกอบที่ทำให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ เพราะแม้นักกีฬาจะทำได้ดีในสนามซ้อม แต่พอลงสนามจริงอาจทำได้ไม่ดี และอาจกลายเป็น ‘หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม’ ได้ หากไม่สามารถควบคุมสิ่งเร้าภายนอกและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสนาม
“การที่นักกีฬาจะประสบความสำเร็จได้ หนึ่งคือนักกีฬาต้องมีทักษะที่ดี ซึ่งโค้ชจะต้องฝึกทักษะให้เขา สองคือนักกีฬาต้องมีสมรรถภาพร่างกายที่ดี ต้องมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬามาดูแล สามคือเรื่องของสมรรถภาพทางจิตใจ และองค์ประกอบที่สี่คือเรื่องสภาพแวดล้อม คือได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ทีมงาน ผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งการได้รับโอกาสไปแข่งขันบ่อยๆ
ในส่วนของนักกีฬาเขาจะต้องฝึกทักษะสามอย่างควบคู่กัน ฝึกร่างกายแล้วก็ต้องฝึกจิตใจ ทีนี้ในส่วนจิตใจก็จะมีส่วนสำคัญตั้งแต่การฝึกซ้อมไปจนถึงการแข่งขัน เพราะในขณะฝึกซ้อมนักกีฬาอาจเผชิญกับความคับข้องใจ ซ้อมได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซ้อมแล้วไม่มั่นใจเหมือนตัวเองไม่มีพัฒนาการ บางช่วงถูกโค้ชตำหนิ บางช่วงถูกสิ่งเร้าอื่นๆ เข้ามากระทบ อาจารย์ก็จะเข้าไปช่วยฝึกสอนปรับมายด์เซ็ตที่ถูกต้อง เพื่อให้นักกีฬาสามารถสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง รับมือกับอารมณ์ และรักษาแรงจูงใจได้อย่างต่อเนื่อง
หรือบางครั้งเราจะเห็นนักกีฬาทำทุกอย่างได้ดีในการฝึกซ้อม แต่พอแข่งขันกลับทำไม่ได้ สมมติว่าเป็นแบดมินตัน พอไปสอบถาม เขาก็บอกว่าตอนซ้อมเขาก็แค่รู้ว่าจะหยอดต้องทำยังไง จะตบต้องทำแบบไหนใช่ไหม แต่ตอนแข่งเขาจะคิดไปว่า ถ้าหยอดแล้วไม่ผ่าน หรือตบแล้วมันติดเน็ตล่ะ แล้วถ้าแต้มนี้เสียแล้วเสียอีกจะต้องทำยังไง ซึ่งพอเขาเสียแต้มไปเรื่อยๆ เขาก็อ้าว…ตายแล้ว จะทำยังไงดี เพราะเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกประเมินและการคาดหวังเต็มไปหมด”
เมื่อวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาคนหนึ่งเล่นผิดฟอร์ม หากนักกีฬามีอาการแพนิก หรือเป็นโรคซึมเศร้า อาจารย์ปลาบอกว่านักจิตวิทยาการกีฬาไม่อาจช่วยเหลือได้ เพราะเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ แต่หากสาเหตุมาจากความสามารถในการจัดการอารมณ์ความคิด เช่น การอ่อนซ้อม ความตื่นเต้น ความกดดัน อาจารย์ปลาจะเข้าไปโค้ชนักกีฬาแต่ละคนให้พร้อมรับมือกับเกมการแข่งขันได้อย่างปกติ
กีฬามีแพ้มีชนะ ปรับความคิดและทัศนคติที่ถูกต้อง
ในการเข้ามาฝึกสอนทักษะด้านจิตใจให้กับนักกีฬา อาจารย์ปลาบอกว่าสิ่งแรกคือการเข้าไปให้ความรู้นักกีฬาถึงรูปแบบความคิดและทัศนคติที่ถูกต้อง จากนั้นค่อยเริ่มกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การฝึกซ้อม ระหว่างการแข่งขัน และหลังการแข่งขัน
“สิ่งแรกคือเราจะสอนให้เขามีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการเป็นนักกีฬาก่อน ซึ่งคำว่าถูกต้องหมายถึงการตระหนักว่ากีฬามันมีแพ้มีชนะ แต่นักกีฬามักจะลืมไป พอแข่งขันทุกคนบอกตัวเองว่าต้องชนะ ไม่ชนะไม่ได้ อาจารย์เข้าใจว่าทุกคนต้องการชนะ ซึ่งความต้องการชนะมันเป็นตัวสร้างความกดดันให้นักกีฬา แต่จริงๆ แล้ว เสน่ห์ของกีฬาคือเราไม่รู้ว่าใครจะแพ้จะชนะจนกว่าจะจบการแข่งขัน ฉะนั้นมันไม่ได้หมายความว่าถ้าคุณซ้อมมาดีมากแล้วคุณจะชนะ เพราะคู่แข่งขันเขาก็เต็มที่และอยากชนะเช่นกัน
สาระสำคัญของการเป็นนักกีฬาไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณเตรียมตัวมาดีแล้วคุณจะชนะ คุณต้องเข้าใจว่าเวลาลงสนามแล้วทุกคนมีโอกาสหมด ทุกคนต้องเจอสิ่งเร้า เจอความกดดัน เจอความคาดหวัง
ต่อให้คุณมีแต้มนำก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะชนะในตอนจบ เช่นกันถ้าคุณแต้มตามหลังก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะแพ้ เราต้องเข้าใจว่าเรามีโอกาส ถ้ายังไม่จบคือยังไม่จบ สถานการณ์มันพลิกได้ตลอด กระทั่งแข่งจบต่อให้เราชนะหรือแพ้ในครั้งนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะชนะหรือแพ้เขาตลอดไป อันนี้คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง นักกีฬาก็จะลดความกดดันได้นิดนึง”
อาจารย์ปลากล่าวต่อว่าเมื่อทำความเข้าใจว่าผลแพ้ชนะไม่ใช่เรื่องจีรัง ขั้นถัดไปคือการสร้างความคิดที่ว่าการแข่งขันเป็นการประเมินการฝึกซ้อม ไม่ใช่คุณค่าของตัวเอง
“สิ่งที่น่าสนใจคือ หากนักกีฬาเอาผลของการแข่งขันมาประเมินคุณค่าของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือความวิตกกังวลในช่วงคะแนนตามหลัง เช่น ถ้าแพ้แล้วคนจะรักหรือว่าฉันไหม อาจารย์ว่าความอยากชนะมันเข้าใจได้ แต่ไม่ใช่ว่าพอเสียแต้มหรือผิดพลาดแล้วจะต้องหวั่นไหวทุกครั้ง เพราะมันจะยิ่งทำให้โฟกัสหรือวิธีคิดรวนไปหมด เราต้องกลับมาอยู่กับตัวเอง และสร้างโอกาสเพื่อให้เราค่อยๆ ได้แต้มไปเรื่อยๆ
จริงอยู่ที่เราควบคุมผลการแข่งขันไม่ได้ แต่เราควบคุมวิธีการเล่นของเราได้ อย่าเอาหัวไปชนกำแพง แต่ให้รู้ว่ากำแพงนั้นมันเป็นข้อจำกัดที่เราต้องหาทางก้าวข้ามไปให้ได้”
แม้หลักการในการสอนนักกีฬาอาจจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่อาจารย์ปลาบอกว่าถ้าลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว การพัฒนาสมรรถภาพด้านจิตใจจะเริ่มแตกต่างกันไปตามบุคลิกลักษณะและพื้นฐานจิตใจของนักกีฬาแต่ละคน
“สิ่งสำคัญคือในการสอน อาจารย์จะต้องขอเวลาทำความรู้จักนักกีฬาแต่ละคนก่อน ซึ่งการรู้จักกันมันจะทำให้เขาเชื่อมั่นและมั่นใจที่จะให้เราฝึกเรื่องวิธีการ เราก็จะฝึกทักษะแล้วอยู่กับเขา ที่สำคัญคือให้เวลาเขาไปเผชิญสถานการณ์แล้วกลับมาฟีดแบคซ้ำไปซ้ำมา เพื่อให้เขาเชื่อมั่นในกระบวนการและกล้าเอาสิ่งนี้ไปใช้ในการแข่งขัน
แน่นอนว่านักกีฬามีบุคลิกและสไตล์ต่างกัน แต่ก่อนแข่งเราจะให้นักกีฬา ‘เข้าโซน’ เข้าโซนหมายถึงการทำให้นักกีฬามีสภาวะความคิดอารมณ์ความรู้สึกที่เขาเล่นได้ดี จากนั้นเราก็จะอยู่กับเขา เช่นนักกีฬาบอกว่าหนูขอแบบรีแล็กซ์โล่งๆ เพราะถ้าหนูทำให้หัวโล่งๆ จะเล่นได้ดี แต่อีกคนทำแบบนั้นไม่ได้ก็ขอให้สะกดจิตเขาหน่อย แต่คำว่าสะกดจิตในที่นี้คือการลำดับขั้นตอนให้เขาว่าตอนเดินเข้าสนามต้องทำอะไรยังไงบ้าง
ดังนั้นรายละเอียดในการเข้าไปพูดคุยกับนักกีฬาก็จะแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งในคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจมาก ก็บอกเขาไปว่าดีแล้ว แต่อย่าให้มันทะลุเกินไปนะ เพราะการที่นักกีฬาจะแสดงความสามารถได้ดี มันต้องทำให้เขาอยู่ในสภาวะเหมือนกับตอนซ้อม เพราะเขาจะได้ดึงสิ่งที่ซ้อมออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่”
เคล็ด(ไม่)ลับในวันแข่ง ‘มีสติและโฟกัสกับปัจจุบัน’
หากใครมีโอกาสชมการสัมภาษณ์นักกีฬาไทยชื่อดังอย่าง ‘เทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกสองสมัยซ้อนคนแรกของประเทศไทย และ ‘วิว’ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ เจ้าของเหรียญเงินแบดมินตันในกีฬาโอลิมปิก เชื่อว่าอาจเคยได้ยินหรือคุ้นๆ ชื่อของอาจารย์ปลามาบ้าง
“อาจารย์อยู่กับสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่ปีค.ศ.2002 เพราะอุปนายกสมาคมในสมัยนั้นคือคุณปรีชา ต่อตระกูล ให้ความสำคัญกับการฝึกด้านจิตวิทยา ก็ได้โอกาสดูแลนักกีฬาทุกคนทุกรุ่นมาเรื่อยๆ ส่วนแบดมินตันได้เข้าไปประมาณเดือนมีนาคม ซึ่งบ้านทองหยอดติดต่อให้อาจารย์มาช่วยเตรียมความพร้อมให้เมย์(รัชนก) กับ วิว(กุลวุฒิ) ไปโอลิมปิก
สำหรับหลักการพื้นฐานที่สอนนั้นไม่ต่างกัน คือเรื่องสติและการโฟกัสกับปัจจุบัน ค่อยๆ ไปทีละแต้ม ไม่ว่าจะมีอารมณ์ในใจอย่างไร หรือเสียงรอบข้างว่ายังไง ก็ให้ calm down และหายใจตามวิธีการที่ฝึกมา เพราะเราไม่อาจควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ แต่เราควบคุมโฟกัสของเราได้
อย่างน้องเทนนิสอยู่ด้วยกันมานาน ช่วงแรกๆ อาจมีบ้างที่น้องเคยเล่าผ่านเฟซบุ๊กว่าไม่เข้าใจพี่ปลาว่าให้เรายืนเฉยๆ แล้วหลับตาทำไม หนูเอาเวลานี้ไปเตะเป้าไม่ดีกว่าเหรอ แต่พอได้ทำไปเรื่อยๆ จนได้เหรียญทองแดงที่บราซิลก็รู้แล้วว่าเรื่องนี้สำคัญและทำให้เขานิ่ง ดังนั้นน้องก็จะเข้าใจวิธีการดี แต่สิ่งที่มุ่งเน้นกับน้องในช่วงหลังคือการรับมือกับสื่อและความคาดหวังต่างๆ เพราะน้องเป็นคนค่อนข้างเซนซิทีฟและรับทุกสิ่งเอาไว้หมด จนบางทีทำให้เขาคิดลำดับไม่ถูก ก็จะไปช่วยเคลียร์ตรงนี้มากกว่า ส่วนเรื่องการฝึกน้องเขาตั้งใจทำอยู่แล้ว เราแค่คอยติดตามและถามเขาตลอดว่าได้ฝึกไหม เป็นอย่างไรบ้าง
สำหรับน้องวิว เขาเป็นคน nice เป็นคนเปิดรับ พอเราให้คอนเซ็ปต์ไป เขาก็จะให้ข้อมูลและฟีดแบคคุยกับเราตลอด ซึ่งเราก็ค่อยๆ เสริมให้เขาเชื่อในกระบวนการไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่กี่วันก่อนเพิ่งเข้าไปคุยกับน้องวิวและโค้ชถึงเรื่องที่ฝึกฝนกันมา โค้ชบอกว่าสิ่งที่แตกต่างชัดเจนคือเมื่อก่อนถ้าแต้มไหลจะไหลเลย แต่ตอนนี้ไม่ไหล ก็คือเสียแต่กลับมาได้
สังเกตได้ว่าน้องทั้งสองคนนี้จะมีคุณลักษณะเหมือนกันคือเรื่องฝีมือ และความสุดในเรื่องความใส่ใจในรายละเอียด น้องให้ข้อมูลว่าได้นำสิ่งที่ฝึกในส่วนนี้ไปใช้ จนสามารถควบคุมลมหายใจ คุมตัวเองได้ เพราะลมหายใจเป็นเทคนิคสำคัญที่ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้เยอะขึ้น แล้วก็ไปกระตุ้นระบบพาราซิมพาติก (parasympathetic) ที่ให้ความรู้สึกโล่งสบายผ่อนคลาย ซึ่งการหายใจเป็นการช่วยให้เขาหยุดวงจรสิ่งต่างๆ เสร็จแล้วเขาก็จะใส่ความคิดจากสิ่งที่ฝึกเข้าไป แต่ทั้งนี้การที่เขาประสบความสำเร็จเพราะว่าเขามีทักษะที่ดีมาก ร่างกายก็ฝึกมาอย่างแข็งแกร่งอยู่แล้ว”
พ่อแม่คือรากแก้ว ‘ลูกก็คือลูก ลูกไม่ใช่นักกีฬา’
เมื่อการเป็นนักกีฬาระดับแชมป์เปี้ยนนำมาซึ่งชื่อเสียง โอกาส และผลประโยชน์มากมาย พ่อแม่หลายคนจึงมุ่งหวังที่จะผลักดันให้ลูกได้ก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนยอดพีระมิดของวงการกีฬา โดยวิธีการที่หลายครอบครัวเลือกนำมาใช้ คือการเคี่ยวกรำลูกอย่างหนักในนามของความหวังดี ไม่ว่าจะเป็นการกดดัน บังคับ ใช้กำลัง หรือแม้แต่การตีกรอบให้ลูกโฟกัสกับการฝึกซ้อมเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีโอกาสได้ใช้ชีวิตตามวัย เรื่องนี้ อาจารย์ปลาให้ความเห็นว่า วิธีการดังกล่าวอาจไม่ได้การันตีผลลัพธ์เสมอไป ทั้งยังทำให้เด็กเสี่ยงกับภาวะความเครียดและให้คุณค่าตัวเองผ่านผลการแข่งขัน
“มันก็ใช้ได้ค่ะ เพราะนักกีฬาหลายคนก็ประสบความสำเร็จในเส้นทางนั้น แต่มีใครไปดูไหมคะว่าครอบครัวที่ใช้วิธีรูปแบบเดียวกันแล้วไม่ประสบความสำเร็จมีกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจารย์เชื่อว่าคนที่ใช้วิธีการเดียวกันนี้แล้วไม่ประสบความสำเร็จมีเปอร์เซ็นต์เยอะกว่า เพียงแต่ไม่ได้รับการโปรโมทเหมือนคนที่ประสบความสำเร็จ
อีกมุมหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครมองเห็นคือ ทำไมเด็กที่มีพรสวรรค์และทักษะด้านกีฬาดีมาก พอเป็นผู้ใหญ่หลายคนเลิกเล่น Burnout ไปก่อน นั่นก็เพราะพวกเขาถูกกดดันให้ต้องชนะตั้งแต่เด็ก แล้วพอเขาเลือกได้ เขาก็เลือกอย่างอื่นที่ไม่ใช่กีฬา ซึ่งเรามีเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างเยอะ สุดท้ายแทนที่จะได้พัฒนาเด็กต่อไป กลับกลายเป็นต้องสูญเสียพรสวรรค์เหล่านี้”
อาจารย์ปลาบอกต่อว่าวิธีการแสดงออกของพ่อแม่ถือเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อจิตใจเด็กมากที่สุด ดังนั้นพ่อแม่อาจต้องปรับวิธีการแสดงออกที่เหมาะสม และทำให้ลูกรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเสมอไม่ว่าเขาจะชนะหรือแพ้ในการแข่งขัน
“แนวคิดพื้นฐานของเด็กมาจากพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คือรากแก้วของเด็ก บ้านจะต้องเป็นเซฟโซนให้เขา เพราะเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในการฝึกซ้อม ต้องเจอกับผลการแข่งขันที่ไม่ได้ผลดั่งใจ
แล้วยิ่งเด็กไม่รู้จะหันหน้าไปหาใคร เด็กก็จะเครียด เพราะเขาไม่รู้หรอกว่าชนะคืออะไร รู้แค่เมื่อไหร่ชนะ พ่อแม่จะยิ้ม แต่แพ้ชนะมันควบคุมไม่ได้ ยิ่งเจอครอบครัวที่พ่อแม่กดดันที่ผลอย่างเดียว เด็กก็จะเครียดมากเพราะกลัวพ่อแม่ไม่รัก บางคนพอใกล้แพ้ก็ร้องไห้ตั้งแต่ยังแข่งไม่จบเลย เพราะเขารู้ว่ากลับไปต้องเจอกับอะไรบ้าง โดยเฉพาะคำพูดที่ต้องได้ยินจากพ่อแม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองน้อยลง
สำหรับผู้ปกครองต้องปรับฟิลเตอร์ในตัวเองก่อนว่า ‘ลูกคือลูก ลูกไม่ใช่นักกีฬา’ ไม่ว่าลูกจะแพ้หรือชนะ ลูกก็จะเป็นลูกที่แม่รักเสมอ ครอบครัวที่เป็น Sport Parent ต้องทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับผลการแข่งขันของเขา ให้รู้ว่าพ่อแม่สนับสนุนและมีอ้อมกอดให้เขาเหมือนเดิม
บางครั้งพ่อแม่อาจบอกว่าไม่เคยตำหนิลูกเวลาแพ้ แต่พอชนะกลับให้ความสนใจเป็นพิเศษ หรือเวลาแพ้ไม่ว่าลูก แต่แสดงท่าทางบึ้งตึงจนเงียบไปทั้งรถ แบบนั้นถือว่ารุนแรงกว่าการต่อว่าอีกค่ะ ถ้าจะให้ดีพ่อแม่ควรสนใจเฉพาะพฤติกรรม เช่น ลูกมีวินัยไหม ตรงเวลาไหม หรือต่อให้แพ้ชนะมายังไง เขาก็ยังทำรูทีนเหมือนเดิมหรือเปล่า และที่สำคัญคือเด็กไม่ชอบการถูกเปรียบเทียบ เขาแค่ต้องการความรัก ฉะนั้นพ่อแม่ควรเอาความรักที่เด็กอยากได้มาสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมของลูก เช่น แทนที่จะไปกอดลูกเฉพาะเวลาชนะ ให้กอดลูกหรือแสดงความรักในตอนที่ลูกมีวินัย ปฏิบัติตนฝึกซ้อมอย่างถูกต้อง เขาจะได้รู้ว่าการทำสิ่งนี้มันดี เขาก็จะอยากทำบ่อยๆ นอกจากนี้เวลาที่เขาทำอะไรด้วยความรัก เขาก็อยากจะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นและไปได้ไกลกว่าการทำด้วยความกลัว”
ความสำเร็จไม่ใช่แค่ชัยชนะเสมอไป
ในช่วงท้ายการสัมภาษณ์ อาจารย์ปลาได้ให้มุมมองถึงความสำเร็จไว้อย่างน่าสนใจว่า ความสำเร็จไม่ได้จำกัดความอยู่แค่เพียงชัยชนะ การประสบความสำเร็จที่แท้จริง คือการบรรลุเป้าหมายของนักกีฬาแต่ละคน
“ชัยชนะอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่มันควบคุมไม่ได้ การประสบความสำเร็จจึงอยู่ที่ความภาคภูมิใจในตัวเองที่เขาสามารถพัฒนาตัวเองมาถึงจุดที่เขาตั้งใจไว้หรือไม่ก็ใกล้เคียงที่สุด
อย่าลืมว่าบางคนพอชนะแต่กลับไม่ได้เรียนรู้เลยว่าที่คุณชนะเพราะอะไร ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นการแข่งขันอาจไม่มีความหมายเลยก็ได้ ก็แค่ได้ฟิลว่าฉันชนะ แต่ความจริงคือเราชนะวินาทีนี้ พอวินาทีหน้าชัยชนะมันก็ผ่านไปแล้ว หรือถ้าครั้งนี้เขาแพ้ เขาก็สามารถเรียนรู้ว่าตอนซ้อมขาดตรงจุดไหนไปบ้าง เพราะเขาแอบอู้แอบไม่ยอมไปซ้อมไหม หรือเขาต้องระวังอะไรเพิ่มเติมในการแข่งขันครั้งต่อไป เพราะกีฬามันไม่ได้แข่งครั้งเดียวจบ มันต้องแข่งขันไปเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากการแข่งขัน เขายังได้รับประสบการณ์จากการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ มากมายอีกด้วย
แต่ถ้าถามในเรื่องความสำเร็จ มันจะมีคำว่า Success กับ Winning ซึ่งนักกีฬาหลายคนที่ประสบภาวะเครียดและกดดัน ชอบคิดว่าต้องชนะให้ได้จึงจะ Success แต่ความเป็นจริง คำว่า Success นั้นก็คือการมีเป้าหมาย มันมีการปฏิบัติตน มีการฝึกฝน มีวินัย มีการพัฒนาตัวเองไปตามเป้าหมายที่เราต้องการ แบบนี้เรียกว่า Success ได้ แล้วเราก็สามารถควบคุมมันได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำก็คือต้องปรับให้นักกีฬาเข้าใจคำว่าการประสบความสำเร็จ คือการตั้งเป้าหมายที่เหมาะสม และลงมือทำอย่างสอดคล้อง เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จ แล้วก็ทิ้งท้ายเพื่อเน้นย้ำเขาว่า…เพราะความสำเร็จไม่ได้หมายถึงชัยชนะเสมอไป”