- จากในเด็กในระบบสู่เด็กนอกระบบ ด้วยฐานะทางบ้าน สภาพแวดล้อมที่เติบโตมาดึงดูดให้ ‘นนท์’ – นนทวัฒน์ โตมา หลุดออกจากวงโคจรของการศึกษาในระบบ ที่สำคัญคือการศึกษาที่เขาพบเจอนั้นไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่ได้ทำให้เขาเห็นคำตอบว่า …เรียนไปเพื่ออะไร?
- ปัจจุบันนนท์ได้เจอกับการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์กับชีวิตเขาแล้ว นั่นก็คือ Free Form School ห้องเรียนนอกกรอบเพื่อให้เด็กมีทักษะการทำงานและวุฒิการศึกษา จากโครงการคลองเตยดีจัง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กนอกระบบในชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร
- “สำหรับผมก็ยังมองว่าการศึกษามันสำคัญ เพราะว่าประเทศเรามันขับเคลื่อนด้วยวุฒิการศึกษาอยู่แล้ว การศึกษาเองเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็ให้ความรู้เราในระดับนึง”
“เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในแต่ละพื้นที่มันมีอยู่แล้วแหละสิ่งที่ไม่ดี แต่ในคลองเตยสิ่งที่ไม่ดีดึงดูดเด็กได้มากกว่าพื้นที่อื่น เด็กหลายๆ คนคิดว่ามันเท่ ผมว่าอันนี้มันก็คือปัจจัยที่ทำให้เด็กหลุดออกจะระบบการศึกษา บวกกับพ่อแม่ไม่ได้มีทุนทรัพย์ ไม่มีเวลาดูแลลูกเพราะต้องทำงาน ลูกก็ไปอยูกับหัวโจก ขายยาได้เงิน ตอนหลังสูบยา ออกจากระบบการศึกษา แล้วก็ติดยา”
‘นนท์’ – นนทวัฒน์ โตมา ตัวแทนเยาวชนนอกระบบการศึกษา สะท้อนเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาในชุมชนคลองเตย จากในเด็กในระบบสู่เด็กนอกระบบ ด้วยฐานะทางบ้าน สภาพแวดล้อมที่เติบโตมาดึงดูดให้เขาหลุดออกจากวงโคจรของการศึกษาในระบบ ที่สำคัญคือการศึกษาที่เขาพบเจอนั้นไม่ตอบโจทย์ชีวิต ไม่ได้ทำให้เขาเห็นคำตอบว่า …เรียนไปเพื่ออะไร?
“ปัญหาหลักๆ ของคนคลองเตย ก็คือพ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก ยกตัวอย่างถ้าพ่อแม่ใครทำงานเป็นแม่บ้านหรือรปภ.เนี่ย พ่อแม่ของคนเหล่านั้นเขาต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้า อาบน้ำเตรียมตัวเพื่อมานั่งรอรถเมล์สายเดียวที่อยู่ในคลองเตยที่มันผ่านก็คือสาย 72 เพื่อออกไปข้างนอก กลับบ้านมาก็สองสามทุ่มแล้ว ประเด็นก็คือว่า พอพ่อแม่ไม่อยู่ก็ไม่มีใครอยู่กับลูก แล้วตัวเงินที่พ่อแม่เขาได้มาน้อยมากได้ 300 กิน 3 มื้อ ขั้นต่ำๆ ลูกคนเดียวอยู่กับพ่อแม่รวมเป็น 3 คน พ่อด้วยแม่ด้วยวันละ 300 บาท 2 คนก็ 600 บาท แล้วต้องอยู่ทั้งวัน บวกกับค่าเช่า ค่าอะไรพวกนี้ มันไม่พอ
แล้วพอไม่มีพ่อแม่คอยอยู่ด้วย ลูกก็ต้องหาที่พึ่งใหม่ ซึ่งในชุมชนมีอยู่แล้วก็คือเป็นพวกหัวโจกต่างๆ ที่ว่าเป็นคนไม่ดีนะ เด็กไม่มีที่คุ้มกันก็จะอยู่กับคนพวกนี้ แล้วก็ซึมซับในสิ่งที่ไม่ดี
อีกอย่างมีความคิดหนึ่งที่มันค่อนข้างดังในโซเชียล ตั้งแต่อดีตแล้วแหละ ก็คือว่า ไม่ต้องเรียนหรอกทำงานหาเงินดีกว่า เฟี้ยวกว่าเยอะ บวกกับที่พอไม่มีเงิน เด็กก็คิดว่างั้นไปทำงานดีกว่า เรียนไปก็ไม่ได้ประโยชน์ไม่ได้เงิน
ถ้าเกิดว่ามีการบริหารประเทศให้ดีขึ้น แล้วพ่อแม่เขาไม่ต้องไปทำงานตั้งแต่ตีสี่ตีห้า กลับมาสองสามทุ่ม บางทีพ่อแม่เขาอาจจะมีเวลาอยู่กับลูก มีเวลาคอยดูแลลูกมากกว่านี้ แล้วก็ตัวเด็กเองไม่จำเป็นต้องไปหางานทำก็ได้ เพราะพ่อแม่เขามีเงินมากพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว แต่ปัจจุบันคือไม่พอ อย่างเช่นตัวผมเอง”
เส้นทางการศึกษาในรั้วโรงเรียน ความหวัง-ความฝันของเด็กชายนนทวัฒน์
นนท์เล่าแบล็กกราวด์ให้เห็นถึงเส้นทางชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง ซึ่งเด็กหลายๆ คนที่เติบโตมาในชุมชนคลองเตยมักจะมีประสบการณ์ร่วมกันไม่มากก็น้อย เด็กชายนนทวัฒน์ในวันนั้นต้องต่อสู้กับความท้าทายอะไรบ้าง
“ผมเกิดมาในครอบครัวชนชั้นแรงงาน แม่เป็นแม่บ้านอยู่ที่บ้าน พ่อก็ออกไปทำงานข้างนอก ซึ่งพ่อแท้ๆ ของผมทำงานเป็นช่างอาคาร แล้วพอมีเงินอยู่ในฐานะปานกลาง มีช่วงนึงที่เก็บเงินได้พอสมควรก็เลยย้ายจากบ้านโทรมๆ มาอีกที่นึง ก็อยู่ในชุมชนแหละแต่ว่าดีขึ้นมาในระดับนึง แต่พอพ่อผมเสีย แล้วแม่ก็มีสามีใหม่ทำงานเป็นรปภ. เงินเก็บที่ว่าพอมีมันก็หมดไป แล้วก็กลับไปอยู่บ้านที่มันซอมซ่อเหมือนเดิม ก็ต้องกัดก้อนเกลือกิน เพราะว่าพ่อเลี้ยงผมทำงานอยู่คนเดียวเงินเดือนประมาณ 12,000-13,000 บาท ผมก็ต้องหางานทำตั้งแต่เด็ก ผมจำได้อาชีพแรกของผมคือการขายเรียงเบอร์ ตอนนั้นประมาณป.5 ป.6 ได้ อยู่ในช่วงคาบเกี่ยวเลย”
หลังจากนั้นเด็กชายนนทวัฒน์ก็เข้าสู่ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น และเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วงการเพลงแร็ป เขาได้เจอในสิ่งที่ชอบ และลองทำมันอยู่ช่วงหนึ่ง
“ผมไม่เคยสนใจเรื่องแรปมาก่อน แต่ตอนนั้นผมแอบชอบสาวคนนึง แล้วเห็นเขาแชร์เพลงแรปของพี่ 19TYGER ชื่อเพลงว่ากูน่ะคลองเตย ผมก็คิดว่าถ้าผมทำจะแชร์ของเราไหม ก็เลยลองทำดูแต่งกับเพื่อน แต่ปัจจุบันผ่านมา 4-5 ปีแล้วยังไม่แชร์ของผมเลย”
“ตอนนั้นผมเรียนอยู่โรงเรียนชุมชนหมู่บ้านพัฒนา สังกัดกทม. ตั้งแต่ป.1-ม.3 เลย แล้วหลังจบม.3 ก็ออกมาหางานทำ ผมทำ kfc ขับ shopee ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ปิดเทอมอยู่ แล้วตอนนั้นผมได้เข้าไปเรียนปวช.ปี 1 หลังจากปิดเทอมผมก็ออกมอเตอร์ไซค์ ตอนนั้นเลือดร้อน ออกมอไซค์มาแล้วก็สมัคร shopee เป็นไรเดอร์ ช่วงนั้นต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาเลยว่ารายได้มันดี เฉลี่ยแล้วผมวิ่งตั้งแต่แปดโมงถึงประมาณสองทุ่ม ได้ประมาณอยู่ที่พันกว่าบาทต่อวัน พอทีนี้พอเราเห็นเม็ดเงินเยอะด้วยความที่เป็นวัยรุ่น ผมก็เก็บเงินไปดาวน์นั่นดาวน์นี่สารพัดดาวน์ แล้วพอเปิดเทอมใหม่ผมบริหารเวลาไม่ทันคือผมต้องเลือกว่าระหว่างเรียนกับทำงาน เพื่อเอาเงินมาจ่ายสิ่งที่ไปดาวน์มา ต้องรับผิดชอบ ซึ่งผมลองทำงสองอย่างไปพร้อมกัน สรุปคือมันเละเทะมาก จนผมซ้ำชั้นแล้วก็ตัดสินใจไม่เรียนต่อ”
ในตอนที่นนท์ยังเรียนอยู่ในรั้วโรงเรียนนั้น เขาเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นเด็กหลังห้องเกรดต่ำที่ไม่ชอบเรียน ความทรงจำในห้องเรียนในมุมมองของนนท์ค่อนข้างติดลบ แต่ก็ยังมีช่วงหนึ่งของชีวิตที่เขาได้ค้นพบความชอบ และได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่
“จำได้ช่วงนึงชอบเรียนมากเพราะรู้สึกว่าเป็นจุดสนใจของเพื่อร่วมห้องก็คือช่วงประถมต้น เรียนดีมาก คนนั้นก็มาลอก คนนี้ก็มาลอก แต่พอหลังจากป.4 ผมรู้สึกว่าสังคมเพื่อนผมมันเริ่มเปลี่ยนไป จากเด็กเล่นดีดลูกแก้ว ก็เริ่มเอาบุหรี่เข้ามาสูบ เริ่มใช้ความรุนแรง เกรดผมเริ่มตก เริ่มติดศูนย์สองสามตัว เพราะไม่สนใจเรียน แค่ทำงานส่งๆ ไม่ได้รักษาคุณภาพเท่าตอนประถมต้น 1-3 มันไม่ได้มีแรงจูงใจในการเรียน ไม่มีเป้าหมาย อีกอย่างนึงก็คือได้เห็นตัวอย่างของเพื่อน พอมันเป็นเกเรแล้วรู้สึกว่ามันเท่ ก็เลยอยากจะเกเรด้วย”
“แต่ก็มีช่วงนึงผมรู้สึกชอบศิลปะ เพราะว่าช่วงนั้นโดนสปอย คือผมเองก็ไม่ได้วาดรูปสวย แต่ว่ามองโลกในแง่จริงคือโรงเรียนชุมชนเด็กคุณภาพมีน้อย ซึ่งผมดันไปเป็นเด็กที่พอมีคุณภาพ พอวาดรูปสวย แล้วแต่ละโรงเรียนในสังกัดกทม. ชุมชนคลองเคยมันจะมีการแข่งทุกปี แข่งวาดรูปวันวิสาขบูชา พูดสุนทรพจน์ หลายอย่างเลย จำได้ว่าแข่งที่วัดสะพาน ซึ่งผมเองก็ได้คัดเลือกไปทุกปี แล้วก็รู้สึกว่า พอโดนสปอยว่าผมวาดรูปได้ รู้สึกว่าชอบวาดรูป แต่พอโตมารู้สึกว่าตกเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่ คือด้วยความที่ว่าโรงเรียนอย่างที่ผมบอกไปข้างต้นคือ เด็กที่มีคุณภาพมีน้อย พอเรื่องการแข่งอย่างวาดรูปพอได้มันมีรางวัลให้โรงเรียน ซึ่งผมเองก็ไมได้วาดรูปสวยขนาดนั้น มันเป็นเศษเสี้ยวนึงที่ทำให้ผมบ่มเพาะให้ผมเป็นคนที่ชอบโดนสปอย เลยรู้สึกว่าไม่ได้ชอบเท่าไร แล้วก็บอกครูไปตามตรงว่า ไม่อยากวาดแล้ว ไม่อยากแข่งแล้ว”
ตัดสินใจไม่ไปต่อในระบบการศึกษา
จากที่นนท์เล่ามาดูเหมือนว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เด็กในชุมชนคลองเตย หลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นเรื่องของทุนทรัพย์ สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ หลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิต แต่มากไปกว่านั้น นนท์เล่าต่อว่าสาเหตุที่ทำให้เขาตัดสินใจไม่ไปต่อกับการเรียนในระบบการศึกษานั้นมีจุดนึงที่สะกิดใจเขา
“ช่วงที่มีม็อบแรกๆ ผมก็ไปร่วมแล้วก็ฟังตั้งแต่เริ่มจนจบเลยที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย มันมีบางประเด็นที่ผมรู้สึกว่าก็จริงนะ เป็นเรื่องการบริหารประเทศครับ
ตอนแรกผมคิดว่าปัญหาที่ผมเจอมันแค่ปัญหาในครอบครัว แต่พอมานั่งฟังจริงๆ รู้สึกว่าครอบครัวผมก็ส่วนนึงแหละ ครอบครัวผมคือส่วนนึงของความผิด แต่ความผิดจริงมันคือการบริหารที่ผิดพลาด
พอหลังจากนั้นมันก็เริ่มหล่อหลอมผมมาเรื่อยๆ คือผมเริ่มลงลึกว่าทำไมการศึกษาของเราถึงไม่ตอบโจทย์เด็กอย่างผมที่ว่าเป็นเด็กที่ไม่สนใจการเรียน อย่างในต่างประเทศมีวิชาชีพให้เลือกเยอะ แล้วพอผมมองกลับมาที่ไทย ทำไมมันไม่หลากหลาย ผมเลยคิดว่าในเมื่อหัวผมไม่ได้ไปทางด้านที่การศึกษาไทยมันวางไว้ ผมออกมาดีกว่า แล้วก็เรื่องการเงินด้วย หลายๆ อย่างมันประกอบกัน”
นอกจากนี้ นนท์เสริมว่าในตอนที่เรียนนั้นมีเทอมนึงที่โรงเรียนมีชั่วโมง ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ ซึ่งทำให้เพื่อนของเขาได้ค้นพบความถนัดของตัวเอง แล้วก็ออกไปเรียนรู้ด้วยตัวเองในสายงานนั้นเลย
“เพื่อนผมไปเลือกวิชาซ่อมคอมพ์ แล้วเพื่อนผมก็ไม่สนใจการเรียนวิชาอื่นเลย แล้วก็ไม่ซ่อมคอมพ์แล้วก็ไปทำอาชีพเป็นช่างซ่อมคอมพ์เลย เพราะว่ามันเจอสิ่งที่น่าสนใจกว่า”
“ช่วงที่มีลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของกทม. ผมว่าช่วงนั้นเหมือนจะเป็นขาขึ้น แต่อยู่ดีๆ มันก็หายไป ผมก็งงว่ามันหายไปได้ไง ทั้งๆ ที่มันตอบโจทย์เด็กนักเรียนมากๆ มันเพิ่มวิชาที่ไม่ใช่แค่วิชาการให้เด็กได้เรียนรู้ แต่แล้วมันก็หายไปดื้อๆ”
การศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต
หลังจากที่นนท์ได้มีโอกาสไปฟังปราศรัย ได้รับข้อมูลเชิงการเมืองมากขึ้น จึงมีความคิดว่า “ถ้าเกิดเราไปประท้วงอย่างเดียว มันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ก็เลยอยากเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ก็คือภายในสภา อันนี้ก็เป็นความฝันสูงสุดเลย ผมก็อยากเป็นสส. เขตคลองเตย ซึ่งก็ต้องใช้วุฒิการศึกษา”
นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นนท์พยายามกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งในระดับปวช. ซึ่งแม้จะไม่สำเร็จ แต่ปัจจุบันนนท์ได้เจอกับการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์กับชีวิตเขาแล้ว นั่นก็คือ Free Form School ห้องเรียนนอกกรอบเพื่อให้เด็กมีทักษะการทำงานและวุฒิการศึกษา จากโครงการคลองเตยดีจัง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็กนอกระบบในชุมชนคลองเตย กรุงเทพมหานคร
“ผมกลับมาเรียนอีกครั้งกับ Free Form School ปัญหาที่เคยเจอก็ไม่ค่อยได้เจอเท่าไร แต่ว่ามันต้องสู้กับตัวเอง พอมันเปิดกว้าง สถานที่ก็คือไม่ต้อง ไม่จำเป็นต้องไปเรียนก็ได้ ได้งานมาก็คือต้องเขียนงาน ทำโครงงาน ทีนี้จะจบเทอมแล้วผมยังทำไม่เสร็จสักอย่างเลย ผมทำจบไป 2 บทเองเหลืออีกตั้ง 8 บท คือมันต้องสู้กับตัวเอง ต้องพยายามอย่าขี้เกียจในการทำการบ้าน
ซึ่งต้องให้เครดิตครูไฝ (สัญชัย ยำสัน หัวหน้าโครงการพัฒนาเด็กและชุมชน มูลนิธิดวงประทีป) เขาบอกว่า ไม่ต้องเข้าหรอก เข้าไปก็เสียเวลาเพิ่มอีกตั้ง 3 ปีเพราะต้องเริ่มใหม่ ก็ไปเรียนกศน. ในรูปแบบของ Free Form School เลย เพราะว่าในคลองเตยมีอยู่แล้ว โครงการคลองเตยดีจังเป็นคนจัดหาเข้ามาให้เด็กในคลองเตยที่หลุดจากระบบการศึกษาได้เรียน เพราะว่าเด็กในคลองเตยส่วนใหญ่แล้ว เป็นลักษณะเดียวกับผมคือ เรียนในห้องเรียนไม่เก่งแล้วก็ จำเป็นต้องหางาน หาเงิน เพื่อมาจุนเจือครอบครัว”
“รูปแบบที่ผมเรียนคือเขาจะให้รับชิ้นงานเป็น 3 ชิ้นงานใหญ่ก็คือตัวสมุดแบบฝึกหัด ตัวโครงงาน แล้วก็ตัวชีวประวัติของเรา ก็คือถ้าทำ 3 อย่างนี้ก็คือจะจบหลักสูตร ได้วุฒิ แบบฝึกหัดก็คือจะให้รวมเลย 8 วิชา แล้วก็จะมีคิวอาร์โค้ดให้เราไปเรียนรู้ตามยูทูบ แล้วก็เอามานั่งตอบคำถาม ซึ่งผมมองว่ามันเป็นการเรียนแบบรวดเดียว”
การศึกษาที่ยืดหยุ่นแบบนี้ ทำให้นนท์ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง และได้รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร? อีกทั้งยังปลดล็อกจุดด้อยที่เขาเคยผ่านมันไปไม่ได้ในตอนที่เรียนในระบบการศึกษา
“ผมพูดแบบตรงไปตรงมาเลยนะครับ ว่าที่ผมเรียนที่เขาให้ผมไปสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วก็เรียนตามยูทูบเนี่ยได้ความรู้มากกว่าที่ครูมานั่งบอกผมอีก จริงๆ ก็ต้องโทษตัวผมเองด้วยว่า ถ้าเกิดมีครูมานั่งอธิบาย แล้วถ้าเกิดผมอยู่กับเพื่อนผมไม่ฟัง แต่พอผมได้นั่งฟังเองคนเดียว แล้วผมตั้งใจฟัง ผมได้ความรู้กว่าที่ครูบอกผมอีก
แล้วจากที่ผมได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ผมว่าผมรู้สึกชอบวิชาวิทยาศาสตร์มากที่สุด ทั้งที่เป็นวิชาที่ผมด้อยที่สุดตอนที่ผมเรียนอยู่ในโรงเรียน แต่พอมาที่นี่ผมรู้สึกว่าผมฉลาดขึ้นมา รู้สึกว่าผมรับและซึมซับความรู้ได้มากกว่าที่ต้องไปนั่งฟังในห้องเรียนอีก
มันเหมือนผมได้ปลดล็อก จากที่วิชานี้มันเคยเป็นวิชาที่ผมเรียนในโรงเรียนแล้วรู้สึกว่าด้อยด้วย”
อนาคตต่อจากนี้ที่นนท์วาดไว้ก็คือ การเรียนต่อในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อสานต่อความฝันที่อยากทำหน้าที่สมาชิกผู้แทนราษฎร
“จริงๆ ผมจะจบสิ้นเดือนนี้ แต่ว่างานผมยังไม่เสร็จสักอย่างเลย คิดว่าหลังจากนี้ต้องเร่งทำ หลังจากนั้นส่วนตัวผมก็คือจะไปต่อม.รามเลย แต่ว่าหลายๆ คนก็แนะนำว่า เรียนปวส.ก่อนดีกว่า แล้วค่อยเอาวุฒิปวส.ไปต่อมหาลัยปี 3 อีกทีนึง แต่ว่าช่วงนี้ก็อยู่ในช่วงตัดสินใจอยู่ครับ ว่าจะต่อมหาลัยเลยดีไหม หรือว่าจะต่อปวส.ก่อน ที่อยากต่อรัฐศาสตร์ก็อย่างที่บอกว่าอยากเป็นสส.ด้วย อยากมีความรู้ตรงนี้เพิ่ม และอีกอย่างประเทศเรามันขับเคลื่อนด้วยวุฒิการศึกษาอยู่แล้ว และถึงแม้ว่าผมไม่ได้เป็นสส.ตามที่ผมคาดหมายก็ตาม แต่ก็ยังใช้วุฒิไปทำอย่างอื่นได้อีก”
ตราบใดที่ประเทศยังขับเคลื่อนด้วยใบปริญญา การศึกษาในระบบจึงสำคัญ
จากประสบการณ์ที่ได้เรียนอยู่ในระบบการศึกษา จนหลุดออกจากระบบการศึกษา รวมถึงประสบการณ์ชีวิตที่เติบโตมา ทำให้นนท์เข้าใจดีว่า การศึกษาสำคัญแค่ไหน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ยังมองไม่เห็นความหวังกับการศึกษาที่เป็นอยู่
“สำหรับผมก็ยังมองว่าการศึกษามันสำคัญ เพราะว่าประเทศเรามันขับเคลื่อนด้วยวุฒิการศึกษาอยู่แล้ว การศึกษาเองเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็ให้ความรู้เราในระดับนึง จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมเจอมานะ ผมว่าผมได้ภูมิคุ้มกันด้านการโดนด่า เพราะว่าผมก็โดนด่ามาเยอะพอสมควรในรั้วโรงเรียน แล้วตัวผมเองก็หาข้อดีไม่ค่อยเจอ ผมว่ามันก็มีข้อดีการศึกษา แต่ว่าผมหาไม่เจอ อาจจะเป็นเพราะว่าผมก็ไม่ได้เรียนเก่ง”
“ถ้าถามว่ามีความหวังกับการศึกษาที่เป็นอยู่ตอนนี้ไหม การศึกษาตอนนี้มีหัวเรือใหญ่ที่ไม่ได้ชำนาญเรื่องการศึกษาแล้วมาทำ มันเลยทำให้การศึกษาที่มันแย่อยู่แล้วยิ่งแย่กว่าเดิม ผมเลยมองว่าผมไม่มีความหวังกับการศึกษา(ในระบบ)เลย ด้วยความที่ว่าปัญหามันส่งผลเป็นทอดๆ แล้วตอนนี้ปัญหาอย่างแรกที่มันเป็นตัวศูนย์กลางมันยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างเช่นปกติรุ่นผม ป.4-5-6 อันนี้วัยที่กำลังเริ่มสูบบุหรี่ ตอนนี้ป.1 ป.2 เริ่มสูบกันแล้ว แล้วก็มีเด็กจากที่ผมหาข้อมูลมาคือจะหลุดกันเฉพาะแค่ช่วงม.1-2-3 ตอนนี้ ป.1 ป.2 เริ่มหลุดกันแล้ว
การศึกษามันไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ได้น่าดึงดูด แล้วน้องผมตอนนี้อยู่ป.4 แล้วนะ แต่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย”
นอกจากนี้นนท์ยังฝากสารถึงผู้ใหญ่ทั้งหลายว่า
“มีสิ่งหนึ่งผมอยากจะให้พวกผู้ใหญ่ได้ทราบก็คือว่า มันจะมีช่วงนึงที่ทางคนข้างนอกก็คือพี่เบส-ผู้กำกับ School town king เข้ามาจัดกิจกรรม Connext Klongtoey ที่เอาคนจากแขนงวิชาชีพต่างๆ มาทำเป็นเวิร์กชอปในชุมชน จำไม่ได้หมดว่ามีอะไรบ้าง แต่หลักๆ เลยคือมีแร็ป ช่างภาพ สัก ออกแบบดีไซน์ มันดีมากเลยนะ เพราะว่าเด็กหลายๆ คนก็ได้วิชาจากตรงนั้น อันนี้ก็เป็นต้นแบบที่ดี เอามาเป็นโมเดลเอาไปจัดได้ จริงๆ มันก็คล้ายกับลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้นะ แต่ลดเวลาเรียนมันคือการเรียนหน้าเดียว ได้ทำจริง แต่ว่าไม่ได้ลงในภาคสนาม คือครูจะจำลองเหตุการณ์มาให้ แต่พอเป็นเวิร์กชอปคือเราเจอกันแค่สัปดาห์ละครั้ง เริ่มต้นจากคนไม่มีความรู้ จนได้เป็นผลงาน
ยกตัวอย่างเช่นแรป ตอนนั้นผมเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องแรปอะไร พอเริ่มมาได้เจาะข้อมูลจริงๆ เขาสอนเริ่มจากศูนย์เลย ก็คือเริ่มจากการหาหัวข้อที่จะแต่งเพลง การเขียนเนื้อเขียนยังไง แล้วเราจะสื่อความรู้สึกผ่านน้ำเสียงของเรายังไงให้คนฟังได้สัมผัสถึงมัน หาบีท เขียนบีท แล้วก็ไปอัดเพลง ได้ผลงานเพลง แล้วก็ได้ไปเล่นคอนเสิร์ตจริงๆ”
“ถึงตัวผมเองจะไม่ได้ตั้งใจเรียนขนาดนั้น แต่เพื่อนๆ ผมก็มีที่เขาสัมผัสถึงปลายทางของมัน อย่างเช่นเพื่อนผมที่เป็นช่างซ่อมคอมพ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเจอ อย่างผมเองตรงนั้นมันไม่มีสิ่งที่ผมชอบด้วย
ผมเสนอว่าถ้าคุณจะเอาลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ อยากจะให้เด็กเป็นคนเลือกเองว่าจะเรียนอะไร แล้วค่อยมาคัดเลือกว่าอันไหนมีความต้องการมากที่สุด
เพราะว่าตอนที่ผมเรียน อยู่ดีๆ มันมีขึ้นมาให้เลือกเลย ไม่ได้ถามเราก่อน แต่ว่าเรามีสิทธิเลือกในหัวข้อที่เขาตั้งขึ้นมา แต่เราไม่ได้มีโอกาสตั้งหัวข้อขึ้นมาเอง น่าจะเพิ่มตัววิชาที่มันตรงกับความสนใจของผู้เรียนจริงๆ”
“สุดท้ายผมฝากถึงคณะรัฐบาลเลยละกัน ผมอยากให้คณะรัฐบาลเลือกคนมาเป็นรัฐมนตรีที่มันสมเหตุสมผลหน่อย การศึกษาที่ว่าแย่แล้วยิ่งหนักกว่าเดิม แล้วก็อยากจะให้ทางคณะรัฐบาลที่พยายามสื่อถึงว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่ดีนักดีหนาได้เข้ามาแก้ไขปัญหาจริงๆ สักที ถ้าไม่เห็นภาพ ไม่เห็นตัวอย่างว่าปัญหานี้มันมีปัญหาตรงไหนก็ดู School town king ได้เลย ผมคิดว่าน่าจะตอบโจทย์ได้ดีพอสมควร”