- ‘เราทั้งคู่ผู้ไม่อาจมีรัก’ เป็นนิยายโดย โยชิดะ เอริกะ แปลเป็นไทยโดย ปาวัน การสมใจ เป็นเรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาว ที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว ท่ามกลางเสียงทักท้วงและคัดค้านจากคนรอบข้างที่มองว่า สิ่งที่เขาและเธอกำลังสร้าง ไม่ใช่ครอบครัวปกติ
- โคดามะ ซาคุโกะ และ ทาคาฮาชิ โซตารุ คู่แต่งงาน นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual และ Aromantic หรือ คนที่ไม่มีความรู้สึกรักในเชิงโรแมนติก หรือ รู้สึกว่าถูกดึงดูดทางใจจากคนอื่น
- การที่เราแตกต่างจากคนอื่น ไม่ได้แปลว่า เราเป็นคนผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ใครเป็นคนกำหนดว่า เพศวิถี หรือกระทั่งรสนิยมทางด้านอื่นๆ รวมถึงทัศนคติ และการใช้ชีวิต ที่คนส่วนใหญ่เลือกตรงกัน คือ ความปกติ
เดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นไป ถูกยกให้เป็น Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ โดยมีธงสีรุ้ง เป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศ ที่มาพร้อมกับคำศัพท์ใหม่ๆ ที่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย เช่น เพศสภาพ เพศวิถี และอัตลักษณ์ทางเพศ
ในบรรดาคำศัพท์ที่หลากหลายเหล่านี้ มีคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับหนังสือที่ผมเพิ่งอ่านจบไป นั่นคือคำว่า Asexual ซึ่งหมายถึง คนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ หรือ ไม่มีความรู้สึกว่าถูกดึงดูดทางเพศจากคนอื่น ซึ่งในกลุ่มนี้ อาจแตกย่อยไปเป็น Aromantic หรือ คนที่ไม่มีความรู้สึกรักในเชิงโรแมนติก หรือ รู้สึกว่าถูกดึงดูดทางใจจากคนอื่น
หนังสือที่ผมพูดถึง คือ นิยายชื่อ ‘เราทั้งคู่ผู้ไม่อาจมีรัก’ เขียนโดย โยชิดะ เอริกะ และแปลเป็นไทยโดย ปาวัน การสมใจ ซึ่งเป็นเรื่องราวของชายหนุ่มและหญิงสาว ที่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัว ท่ามกลางเสียงทักท้วงและคัดค้านจากคนรอบข้างที่มองว่า สิ่งที่เขาและเธอกำลังสร้าง ไม่ใช่ครอบครัวปกติ
จะเรียกว่า ‘ครอบครัว’ ได้อย่างไร ถ้าคนสองคนไม่มีความรู้สึกรักกัน และไม่มีความต้องการทางเพศต่อกัน
ใช่แล้วครับ ตัวเอกในนิยายเล่มนี้ คือ หญิงสาวที่ชื่อ โคดามะ ซาคุโกะ และชายหนุ่มนาม ทาคาฮาชิ โซตารุ ต่างเป็นคนที่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม Asexual และ Aromantic
คำศัพท์ที่ชวนให้งุนงงเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน ที่สังคมของหลายๆ ประเทศ เริ่มยอมรับความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ได้มีแค่หญิงและชาย ดังเช่นในสมัยก่อนอีกแล้ว
ก่อนที่เราจะเข้าใจกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเหล่านี้ ผมอยากให้เริ่มต้นจากคำศัพท์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศกันก่อนครับ
คำศัพท์ที่ใช้จำแนกเพศในสมัยก่อน ที่มีอยู่แค่ 2 เพศ เราเรียกว่า เพศสรีระ (Sex) คือ เพศกำเนิดตามโครงสร้างทางสรีระ หรือทางชีวภาพ ซึ่งโดยทั่วไปจะแบ่งเป็นเพศชายและหญิง แต่ก็มีบางคนที่เกิดมาพร้อมโครงสร้างทางเพศที่พิเศษ จนไม่สามารถกำหนดได้ว่าเป็นเพศชายหรือหญิง
คำศัพท์ต่อไป ก็คือ เพศสภาพ (Gender) หรือสถานะทางเพศที่ถูกกำหนดโดยสังคม ซึ่งในปัจจุบัน หลายๆ สังคม ยอมรับสถานะทางเพศที่มีมากกว่าแค่เพศหญิงและเพศชาย หากยังรวมไปถึงอัตลักษณ์ทางเพศแบบอื่นๆ ด้วย
อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) คือ การรับรู้ว่าตนเองเป็นเพศอะไร และต้องการถูกเรียกว่าเพศอะไร ซึ่งอาจจะเป็นหญิง ชาย หรืออย่างอื่น โดยที่อัตลักษณ์ทางเพศของเรา ไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศสรีระ หรือเพศกำเนิดของเราก็ได้
เพศวิถี (Sexual Orientation) คือ รสนิยมทางเพศ ซึ่งมีตั้งแต่สนใจเพศตรงข้าม เพศเดียวกัน เพศใดก็ได้ หรือแม้แต่ไม่สนใจเรื่องทางเพศเลยก็ได้
นอกจากนี้ ยังมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมักจะใช้คำเรียกรวมๆว่า LGBTQ+ หรือบางครั้งก็เรียกว่า LGBTQIA โดยที่ตัวอักษรแต่ละตัว คือ คำย่อของกลุ่มทางเพศที่หลากหลาย เช่น
L มาจาก Lesbian หรือ หญิงรักหญิง
G มาจาก Gay หรือ ชายรักชาย
B มาจาก Bisexual หรือ คนที่รักได้ทั้งชายและหญิง
T มาจาก Transgender ซึ่งหมายถึง ผู้หญิงหรือผู้ชายที่แปลงเพศ
Q มาจาก Queer หรือ คนที่ไม่ปิดกั้นทางเพศ หรือ ไม่ต้องการถูกกำหนดว่าตัวเองเป็นเพศใด
I มาจาก Intersex คือ คนที่มีเพศกำกวม ซึ่งเกิดมาพร้อมโครงสร้างระบบสืบพันธุ์ โครโมโซม หรืออวัยวะเพศที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง
A มาจาก Asexual หรือ คนที่ไม่ฝักใฝ่ทางเพศ
จะเห็นว่า คำเรียกกลุ่ม LGBTQ+ หรือ LGBTQIA จะมุ่งไปที่เพศวิถี หรือรสนิยมทางเพศของคนๆ นั้น ซึ่งนับวัน รสนิยมทางเพศของคน ดูจะยิ่งลื่นไหลและมีความหลากหลายมากขึ้น จนก่อให้เกิดคำศัพท์อีกหลายๆ คำ ที่ผมขอไม่พูดถึงในบทความชิ้นนี้
กลับมาที่นิยายเรื่อง ‘เราทั้งคู่ผู้ไม่อาจมีรัก’ ดีกว่าครับ หนังสือเล่มนี้ ผู้แต่งเลือกใช้วิธีการดำเนินเรื่องแบบเรียบง่าย เป็นเส้นตรง และเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน จนเหมือนกับว่า เรากำลังดูซีรีส์โรแมนติก-คอเมดี้ของญี่ปุ่น เพียงแต่ว่า ความโรแมนติกในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หากจะมีก็เป็นได้แค่การจิ้นของคนอ่านเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าโทนเรื่องจะดูเบาๆ สบายๆ แต่ประเด็นที่เป็นหัวใจ หรือแกนหลักของเรื่อง กลับเป็นเรื่องที่ชวนให้คนอ่านขบคิดอย่างยิ่ง นั่นก็คือ เรื่องของเพศวิถี รวมถึงรสนิยม และทัศนคติในการใช้ชีวิต ที่ผิดแผกจากความเป็น ‘ปกติ’ ที่คนส่วนใหญ่ยอมรับ
โคดามะ ซาคุโกะ เป็นหญิงสาวที่เติบโตมาในครอบครัวปกติ (ขออนุญาตใช้คำนี้ เพื่อให้เข้าใจตัวละครมากขึ้น) ด้วยความที่น้องสาวได้ออกเรือนแต่งงานไปแล้ว ทำให้ซาคุโกะ ยิ่งต้องแบกรับความคาดหวัง หรือความกดดันจากพ่อแม่ ที่วาดฝันจะเห็นเธอแต่งงานมีครอบครัวแบบน้องสาวและคนอื่นๆ
ท่ามกลางความกดดันที่มากขึ้น ซาคุโกะ ก็ยิ่งสงสัยมากขึ้นว่า ตัวเธอเอง ‘ผิดปกติ’ จากคนอื่นหรือเปล่า
ซาคุโกะ ไม่เคยมีความรู้สึกรักแบบโรแมนติกกับใครเลย เธอเคยมีคนรัก แต่ก็เป็นการตอบตกลงเป็นแฟนโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า การเป็นคนรัก คืออะไร และต้องทำอย่างไร ยิ่งเมื่อการเป็นคู่รัก พัฒนาไปจนถึงขั้นมีอะไรกัน ซาคุโกะ ก็ยิ่งสับสนในตัวเองมากขึ้น เพราะเธอไม่รู้สึกดี หรือมีความสุขกับกิจกรรมทางเพศเลย
สุดท้าย ซาคุโกะ ก็ต้องเลิกราจากชายคนรัก แต่ด้วยความที่เธอเป็นคนนิสัยดี เป็นมิตร และเข้ากับคนได้ง่าย อดีตคนรักของเธอ จึงยังเป็นหนึ่งในชายหนุ่มหลายคน ที่วนเวียนเข้ามาอยู่บนเส้นทางชีวิตของเธออยู่บ่อยๆ ซึ่งซาคุโกะ ไม่กล้าจะบอกกับชายหนุ่มเหล่านั้นไปตรงๆ ว่า เธอไม่ได้ต้องการความรักจากใครเลย ทำได้แค่เพียงยิ้ม และชวนเปลี่ยนเรื่องคุย เพื่อให้หลุดพ้นหัวข้อการสนทนาที่วนเวียนอยู่แต่เรื่องความรักหนุ่มสาว
และแล้ว ซาคุโกะ ได้มาพบกับ ทาคาฮาชิ โซตารุ ชายหนุ่มผู้ยอมรับและมั่นใจในเพศวิถีของตัวเองอย่างชัดเจน โซตารุ เป็นผู้เขียนบล็อกเกี่ยวกับชีวิตของคนที่เป็น ‘เอโรเอซ’ ซึ่งหมายถึงเป็นทั้ง Aromantic และ Asexual จึงเรียกสั้นๆ ว่า Aro-As หรือ เอโรเอซ ผู้คนที่ไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูด ทั้งทางเพศและทางใจจากผู้อื่น
พูดง่ายๆ เขาคือคนที่ไม่ต้องการทั้งความรักและความปรารถนานั่นเอง
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่าในโลกนี้ มันมีคนแบบนี้อยู่จริงหรือ ส่วนตัวผมเอง ก็มีคำถามเช่นนั้น จนกระทั่งอ่านหนังสือเล่มนี้ รวมทั้งได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม และนึกทบทวนความทรงจำถึงผู้คนที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิต สุดท้าย ผมก็เชื่อว่า เพศวิถีแบบนี้มีอยู่จริง
แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Aromantic และ Asexual ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีความรู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศและทางใจเลย แต่หมายถึงคนที่มีรู้สึกถึงแรงดึงดูดดังกล่าว ในระดับที่น้อย ไปจนถึงไม่มีเลย
โซตารุ เป็นเอโรเอซ ในระดับที่ไม่มีเลย ทั้งความรู้สึกถึงแรงดึงดูดทางเพศและทางใจ ถึงขั้นที่เกือบๆ จะรังเกียจการถูกสัมผัสเนื้อตัว แต่ถึงอย่างนั้น โซตารุ ไม่เคยคิดว่าตัวเองผิดปกติ เขาเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า เพศวิถีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะแปลกสักแค่ไหน ล้วนแต่เป็นเรื่องปกติ
ใช่ครับ การที่เราแตกต่างจากคนอื่น ไม่ได้แปลว่า เราเป็นคนผิดปกติ ยิ่งไปกว่านั้น ใครเป็นคนกำหนดว่า เพศวิถี หรือกระทั่งรสนิยมทางด้านอื่นๆ รวมถึงทัศนคติ และการใช้ชีวิต ที่คนส่วนใหญ่เลือกตรงกัน คือ ความปกติ
โซตารุและซาคุโกะ ได้มารู้จักกัน และยิ่งถูกดึงดูดเข้าหากัน เมื่อรู้ว่า ต่างฝ่ายต่างเป็น เอโรเอซ ทั้งคู่ตัดสินใจมาสร้างครอบครัวด้วยกัน ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพื่อคลายความกังวลในฝั่งพ่อแม่ของซาคุโกะ ที่ต้องการเห็นลูกสาว มีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา เหมือนที่คนปกติพึงจะมี
กระทั่งได้รู้ความจริงว่า ลูกสาวตัวเองและชายหนุ่มผู้เงียบขรึม ตั้งใจจะอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่ได้รักกัน แม่ของซาคุโกะโกรธและประกาศว่า ยอมรับความคิดผิดปกติแบบนี้ไม่ได้ จนทำให้โซตารุ ที่พยายามนิ่งเงียบอยู่ตลอด ถึงกับโพล่งขึ้นมาว่า
“ทำไมเวลาแบบนี้ ถึงไม่จบลงด้วยการคิดว่า “ก็มีคนแบบนี้อยู่” หรือ “เรื่องแบบนี้ก็มีเหมือนกัน” ล่ะครับ… ต่อให้ไม่เข้าใจเหตุผล ก็ไม่ต้องกังวลครับ พวกเราจะสร้างครอบครัวที่มีความสุขนั่นเอง”
คนสองคน จะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยที่ปราศจากความรักได้หรือไม่
หากจะต้องนิยามความสัมพันธ์ของซาคุโกะและโซตารุ ผมจะนึกถึงศัพท์คำหนึ่ง ที่มักจะมาคู่กับความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในกลุ่ม Aromantic และ Asexual นั่นคือคำว่า Platomic Love หรือ ความรักบริสุทธิ์ ตามคำนิยามของ Plato นักปรัชญาชาวกรีก
ความรักแบบพลาโตนิค ที่ไม่มีเรื่องทางเพศเข้ามาปะปน ทำให้คนสองคน ไม่ว่าจะชาย-หญิง ชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง สามารถรักกัน หรือกระทั่งใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันฉันท์เพื่อนตาย โดยไม่มีความรู้สึกทางเพศ ความหึงหวง หรือความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ จึงตัดคำว่า ‘รัก’ ออกไปจากสมการความสัมพันธ์ของตัวเอกทั้งสอง โดยบอกเล่าเรื่องราวเพียงว่า ซาคุโกะและซาโตรุ สร้างครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข โดยที่ไม่มีความรัก (เชิงชู้สาว) ต่อกัน แต่เป็นการอยู่ด้วยกันในลักษณะที่ต่างฝ่ายต่างเป็นเซฟโซนให้แก่กัน
หากใครสงสัยว่า ความสัมพันธ์แบบอยู่ด้วยกัน โดยที่ไม่ได้รักกัน จะคงอยู่ไปได้ยาวนานแค่ไหน ก็ขอแนะนำให้หาหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูนะครับ ผมคงไม่สปอยล์เล่าเนื้อเรื่องทั้งหมด
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าตอนจบของเรื่องว่าจะแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่ อาจแทรกอยู่ในบทสนทนาของตัวละคร ที่สะกิดเตือนใจเราว่า
ทุกคนล้วนเกิดมาพร้อมกับความเป็นปัจเจกที่ไม่ซ้ำใคร ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละคน จะมีความคิด รสนิยม รวมไปถึงเพศวิถี แตกต่างจากคนอื่น ซึ่งความแตกต่างนั้น ไม่ได้แปลว่า เป็นความผิดปกติ
และไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามคนอื่น จนกระทั่งบิดเบือนสิ่งที่เราเป็น เพียงเพื่อให้เป็น ‘คนปกติ’ เหมือนกับคนอื่นๆ