- ‘ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’ หรือ The Unbearable Lightness of Being เป็นผลงานเขียนของมิลาน คุนเดอรา ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือนวนิยายที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ 20
- หนังสือเล่าเรื่องราวชีวิตของคน 4 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง บางคนอาจมีชีวิตที่ล่องลอยจนเลื่อนลอย ขณะที่บางคนอาจมีชีวิตที่หนักอึ้งจนแทบหายใจไม่ออก บางคนอาจมีชีวิตที่อิสระเสรี แต่บางคนก็อาจมีชีวิตที่ถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์
- มิลาน คุนเดอรา เชื่อว่า การที่เรามีชีวิตเพียงแค่ชีวิตเดียว ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิด หรืออาจจะเกิด ล้วนมีความสำคัญ และพึงตระหนักว่า ทุกการตัดสินใจ ทุกการกระทำ ล้วนมีความหมายอย่างยิ่ง
ถ้าให้เลือกหนังสือที่มีชื่อเรื่อง ‘โดนใจ’ ที่สุด สำหรับผมแล้ว ขอยกให้นิยายผลงานเขียนของมิลาน คุนเดอรา ที่ตั้งชื่อได้สะดุดตา สะดุดใจ และชวนให้ฉุกคิดว่า ‘The Unbearable Lightness of Being’ หรือ ชื่อไทยที่มีความหมายเหมือนกันว่า ‘ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต’
ไม่ใช่แค่ชื่อเรื่องเท่านั้น ทว่าสาระและแง่คิดในหนังสือเล่มนี้ ยังโดนใจนักอ่านทั่วทุกมุมโลก จนได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือนวนิยายเกี่ยวกับชีวิต ที่ทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งในศตวรรษที่ 20
ก่อนที่จะเล่าถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ผมอยากชวนให้ทุกคนลองขบคิดถึงชื่อเรื่องว่า ทำไมคุนเดอราถึงตั้งชื่อนิยายเล่มนี้ ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต
ชีวิตที่ดีงามควรเป็นเช่นไร ควรจะหนักอึ้ง หรือควรจะเบาหวิว
โดยปกติแล้ว เรามักได้ยินหรือได้อ่านข้อความที่พูดถึงชีวิตในแง่ลบว่า บางครั้ง ชีวิตช่างหนักอึ้งเสียเหลือเกิน จงปล่อยวางมันเสีย หรือ ทำชีวิตให้เบาลง แล้วจะรู้สึกสบายขึ้น อะไรทำนองนี้ ที่ชวนให้คิดไปว่า ความหนักอึ้ง คือ แง่ลบของชีวิต
“จริงหรือว่า ความหนักอึ้งเป็นที่น่ารังเกียจ ส่วนความเบาหวิวนั้นเพริศแพร้ว” ถ้อยรำพึงในบทนำของหนังสือ ชวนให้เราขบคิด
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง แล้วทำไม ความเบาหวิวของชีวิต จึงกลายเป็นสิ่งที่ “เหลือทน” ได้ล่ะ
เพราะเรามีแค่ชีวิตเดียว
หลายคนคงเคยแอบตั้งคำถามในใจว่า ถ้าในตอนนั้น เราตัดสินใจทำแบบนี้ แทนที่จะทำแบบนั้น ผลลัพธ์มันคงจะดีกว่านี้เป็นแน่
การตั้งคำถามทำนองนี้ จะโยงไปสู่สถานการณ์ what if.. หรือ สมมติว่า.. ในสองรูปแบบ
รูปแบบแรก คือ หากเราสามารถย้อนเวลาได้ การตัดสินใจ หรือการกระทำใดๆ ที่ส่งผลเสียหายต่อชีวิต ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเราสามารถย้อนกลับไปแก้ไขสิ่งที่เคยทำผิดพลาดได้ แก้ไขซ้ำๆ จนกว่าเราจะได้ผลลัพธ์เป็นชีวิตที่ดีกว่าที่เป็นอยู่
หรือ รูปแบบที่สอง คือ เราไม่สามารถย้อนเวลาได้ แต่เรามีชีวิตสำรองไว้หลายชีวิต การตัดสินใจ หรือการกระทำใดๆ ที่ส่งผลเสียหาย ก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะถ้าชีวิตนี้มันแย่นัก เราก็หยิบเอาชีวิตสำรองออกมาใช้ใหม่ ใช้จนกว่าเราจะพอใจกับชีวิตนั้น
มิลาน คุนเดอรา นักเขียนชาวเช็ก (ซึ่งในภายหลังเปลี่ยนไปถือสัญชาติฝรั่งเศส) เชื่อว่า การที่เรามีชีวิตเพียงแค่ชีวิตเดียว จึงทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิด หรืออาจจะเกิด ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมันคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียว ครั้งเดียวเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย
นอกจากจะทำให้เราตระหนักว่า ทุกการตัดสินใจ ทุกการกระทำ ล้วนมีความหมายอย่างยิ่งแล้ว การที่เรามีแค่ชีวิตเดียว ยังทำให้เราพึงสำเหนียกอีกว่า ต่อให้ตรึกตรองอย่างรอบคอบถ้วนถี่ดีแล้ว เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ การกระทำแบบนี้ จะนำไปสู่ผลลัพธ์แบบไหน
“เราไม่มีทางรู้หรอกว่าควรต้องการอะไร เพราะในเมื่อเรามีชีวิตอยู่เพียงชีวิตเดียว เราย่อมไม่มีข้อเปรียบเทียบกับชีวิตในชาติก่อน หรือแก้ตัวในชีวิตชาติหน้า”
ผลงานชิ้นเอกของคุนเดอรา นำเอาประเด็นเรื่องคนทุกคนล้วนมีชีวิตให้ใช้แค่ชีวิตเดียว มาขยายผ่านเรื่องราวของคน 4 คน ที่มีเส้นทางชีวิตพาดผ่าน บรรจบ ก่อนที่บางเส้นจะแยกย้ายกลายเป็นเส้นขนาน
หนักหรือเบา..ใครเล่าจะตอบได้
โทมัส ศัลยแพทย์หนุ่มเจ้าสำราญ ผู้ไม่เคยคิดลงหลักปักฐานกับผู้หญิงคนไหน หลังจากหย่าจากภรรยาคนแรก จนกระทั่งเขามาพบเจอกับผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ทำให้เขารู้สึกว่า ‘ช่างน่าทะนุถนอมเลี้ยงดู’ ไม่ต่างจากทารกที่ถูกทิ้งในตะกร้าลอยน้ำ และเขาเก็บขึ้นมาเลี้ยงดูฟูมฟัก
นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ อย่างนั้นหรือ โทมัสเองก็ไม่แน่ใจ
แต่โทมัส ก็ไม่ลืมว่า ความรัก มักจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ซึ่งนั่นหมายถึงความหนักอึ้งที่ใส่เข้ามาในชีวิตที่แสนเบาสบายของเขา
หลายครั้งที่โทมัสพยายามทิ้งหญิงสาวคนนั้นไป เพื่อให้ชีวิตของเขาจะกลายเป็นสิ่งที่เบาสบายดังเดิม ทว่าเขากลับพบว่า ชีวิตที่ปราศจากภาระอันหนักอึ้ง กลับกลายเป็นความเบาหวิวที่เกินจะทน
เขาจะตัดสินใจอย่างไร ในเมื่อตัวเองมีเพียงชีวิตเดียว ไม่มีชีวิตในชาติเก่าก่อนให้เปรียบเทียบเป็นตัวอย่าง และไม่มีชีวิตในชาติหน้าให้ได้ลองแก้ไขใหม่
…
เทเรซา คือ ขั้วตรงข้ามของโทมัส เธอมีความงามที่หญิงสาวทุกคนต้องอิจฉา แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว ชีวิตของเธอ ไม่ต่างอะไรจากก้อนหินที่หนักอึ้ง และเป็นภาระให้ผู้อื่น โดยเฉพาะโทมัส ชายคนรักของเธอ
สำหรับโทมัสแล้ว การพบเจอกับเทเรซา อาจเป็นแค่เรื่องบังเอิญ แต่สำหรับเทเรซา มันคือชะตากรรม มันคือพรหมลิขิต มันคืออะไรก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่
จะเป็นเรื่องบังเอิญได้อย่างไร ในเมื่อร้านอาหารมีบริกรตั้งมากมายหลายคน แต่โทมัสกลับเรียกเธอ แล้วยังจะเรื่องหนังสืออีก เทเรซา ซึ่งเป็นคนรักหนังสือ เดินเข้าไปให้บริการโทมัส ผู้เป็นลูกค้าคนเดียวในภัตตาคารที่ถือหนังสืออยู่ในมือ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแล้ว
ไหนจะเสียงเพลงของเบโธเฟน ที่ดังจากวิทยุในร้าน เมื่อตอนที่โทมัสเอ่ยปากกับเธอว่า “ขอคอนญักแก้วหนึ่งครับ” ใครจะกล้าบอกว่านี่คือความบังเอิญ มันคือมนต์วิเศษแห่งโชคชะตาต่างหาก
แต่สุดท้าย โทมัสกลับกลายเป็นภาระอันหนักอึ้งในชีวิตของเทเรซา ความเจ้าชู้ เสเพล นอนกับหญิงอื่นไม่เลือกหน้าของเขา ไม่เคยทุเลาเบาลงเลย แม้ว่าเขาจะรักเธอ และเธอก็รักเขา
เทเรซา จะทำอย่างไรกับภาระอันหนักอึ้งของชีวิตอันนี้
…
ซาบินา ศิลปินสาวสวยผู้รักอิสระเสรี เธอมีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายๆ กับโทมัส ผู้เป็นเพื่อนของเธอ และยังเป็นชู้รักของเธอ
แต่โทมัสก็ไม่ใช่ชู้รักคนเดียวของเธอหรอกนะ เธอยังมีฟรานซ์อีกคน ที่เป็นชู้รักของเธอ
หากโทมัสคือความเบาหวิว ซาบินาก็คือความไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง เธอศรัทธาในการทรยศ ทรยศพ่อแม่ ครอบครัว ประเทศชาติ รวมไปถึงคนรัก
หากจะนิยามซาบินา เธอก็คือความเวิ้งว้าง ความว่างเปล่า ไร้แก่นสาร เธอสามารถทิ้งผู้ชายคนหนึ่งที่รักเธอจนยอมหย่ากับภรรยาตัวเอง เพราะเธอรู้สึกว่า ความรักกำลังจะกลายเป็นภาระอันหนักอึ้ง ทั้งที่ตัวเองก็รักผู้ชายคนนั้น
วันที่ซาบินาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของโทมัสและเทเรซา ชั่วขณะหนึ่ง เธอรู้สึกอิจฉาที่ทั้งคู่ได้จากโลกนี้ไปพร้อมกัน และในชั่วขณะนั้น เธอคิดถึงฟรานซ์ ผู้ชายที่เธอทิ้งไปอย่างง่ายดาย
…
ฟรานซ์ มีชีวิตอยู่ในกรอบ ในกฎเกณฑ์ ในเส้นทางมาโดยตลอด เขาเรียนเก่งตั้งแต่วัยเด็ก และสุดท้ายได้ทำงานเป็นนักวิชาการ แต่งงานมีภรรยาสาวสวย มีลูกสาวที่น่ารัก และมีชีวิตที่ดีงามตามบรรทัดฐานของสังคม
ทว่า ฟรานซ์รู้สึกว่าชีวิตของเขาไม่ใช่ชีวิตที่แท้จริง เขาโหยหาบางสิ่งบางอย่างที่ออกนอกกรอบ แหกกฎเกณฑ์ ออกไปจากเส้นทางที่มีคนขีดให้เดิน
ไม่แปลกที่ฟรานซ์ จะชื่นชอบการเดินขบวนประท้วง และอาจไม่แปลกที่เขา จะนอกใจภรรยา
สุดท้าย การออกนอกเส้นทาง เพื่อไปใช้ชีวิตในแบบชีวิตที่แท้จริง กลับทำให้ฟรานซ์ต้องพบกับจุดจบของชีวิต และในช่วงสุดท้ายของชีวิต ภรรยาเก่าที่ฟรานซ์ทิ้งไป กลายเป็นคนเข้ามาดูแลชีวิตที่เหลืออยู่ รวมไปถึงพิธีศพ อันเป็นการปิดฉากชีวิตของฟรานซ์
ไม่มีใครตอบได้ว่า ฟรานซ์ ได้พบกับชีวิตที่แท้จริงหรือยัง หรือจริงๆ แล้ว นั่นแหละคือชีวิตที่แท้จริง ขณะที่การเดินชบวนประท้วง การแหกกฎกติกาสังคม รวมถึงการนอกใจภรรยา ล้วนเป็นแค่ความเพ้อฝัน
…
เรื่องราวชีวิตของคน 4 คน คือ ตัวแทนของชีวิตในรูปแบบที่แตกต่าง บางคนอาจมีชีวิตที่ล่องลอยจนเลื่อนลอย ขณะที่บางคนอาจมีชีวิตที่หนักอึ้งจนแทบหายใจไม่ออก บางคนอาจมีชีวิตที่อิสระเสรี เสรีจนดูเหมือนไร้แก่นสาร แต่บางคนก็อาจมีชีวิตที่ถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์ จนตัวเองก็ไม่รู้ว่า ชีวิตจริงๆ เป็นเช่นไร
ท้ายที่สุด ผลงานชิ้นเอกของมิลาน คุนเดอรา ก็ไม่ได้มีคำตอบให้กับผู้อ่านหรอกว่า ชีวิตที่ดีงามควรเป็นเช่นไร ควรจะเบาสบาย หนักแน่นมีแก่นสาร ควรจะมีอิสระเสรี หรือควรมีเส้นทางชี้นำ
แต่สิ่งที่เราได้จากนิยายเล่มนี้ คือ การตระหนักถึงคุณค่าของชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดแสนจะเปราะบาง เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะเบาหรือหนัก หากมีมากเกินไป หากสุดโต่งเกินไป ก็ล้วนกลายเป็นสิ่งที่ ‘เกินทน’ ให้กับชีวิตได้ทั้งสิ้น