- ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือการตั้งคำถาม สืบเสาะและคลี่ให้เห็นถึงรากฐานความคิดของคำว่า ‘เด็กเป็นศูนย์กลาง’ หรือ ‘ผู้เรียนเป็นสำคัญ’ ที่ถือเป็นคำยอดฮิตในแวดวงการศึกษาของไทยในเวลานั้น
- เขาชวนให้ผู้อ่านมองเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธีการสอนใดก็ตาม เราควรยอมรับแต่โดยดีว่าการสอนไม่เป็นกลาง เพราะแต่ละวิธีการก็ล้วนวางอยู่บนคุณค่าและวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งทั้งสิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง ‘สืบค้นเชิงวิพากษ์’ เพื่อทำความเข้าใจถึงรากฐานและคุณค่าของมันให้ชัดเจนเสียก่อน
เป็นเวลาครบรอบ 20 ปีพอดี ที่หนังสือ ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ สำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทย’ เริ่มวางจำหน่ายในปี 2547 ผู้เขียนคือ คุณพิพัฒน์ พสุธารชาติ ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ Illuminations Editions ผมเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญในร้านหนังสืออิสระแห่งหนึ่งราว 3-4 ปีก่อน ซื้อมาแต่ก็ยังไม่มีโอกาสได้อ่านสักทีแต่หลังจากที่ผมได้เขียนบทความ “ข้อสังเกตในยุคอะไรอะไรก็ active learning” จึงมีโอกาสได้ย้อนกลับไปค้นข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่าที่มาที่ไปของแนวคิด Active Learning นี้ เริ่มปรากฏชัดเป็นนโยบายราว 2 ปีหลังการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้มีบางคนตั้งข้อสังเกตได้ว่า AL ที่ดูใหม่ในปัจจุบัน อาจเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ ไม่ได้แตกต่างอะไรจากแนวคิดผู้เรียนเป็นสำคัญ (Child-centered) ที่เคยเป็นนโยบายหลักช่วงกลางทศวรรษ 2540
ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดต่อว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา วงการการศึกษาของเรากำลังวนเวียนพูดเรื่องเดิมซ้ำซากที่เพียงแค่เปลี่ยนชื่อ แต่งเติมสีสันให้ดูทันโลก อย่างนั้นหรือเปล่า? เพื่อทำความเข้าใจการเมืองของการศึกษาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมย้อนอ่าน ‘ไชลด์เซ็นเตอร์ ฯ’ อย่างจริงจังเสียที
ก่อนจะมาเป็น Active learning เราคลั่ง Active participant มาก่อน ?
ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ คือการตั้งคำถามถึงคำว่า ‘เด็กเป็นศูนย์กลาง’ หรือ ‘ผู้เรียนเป็นสำคัญ’ ที่ถือเป็นคำยอดฮิตในแวดวงการศึกษาของไทยในเวลานั้น ไม่ต่างจาก Active Learning ในปัจจุบัน ภายใต้การเกิดขึ้นของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ต้องการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและนักวิชาการต่างก็พูดถึงกันอย่างจริงจังว่าแนวคิดนี้จะเป็นหนทางสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาชาติให้ก้าวหน้าได้ แต่จุดยืนของคุณพิพัฒน์กลับต่างออกไป เขาชวนให้ผู้อ่านมองเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเทคนิควิธีการสอนใดก็ตาม เราควรยอมรับแต่โดยดีว่าการสอนไม่เป็นกลาง เพราะแต่ละวิธีการก็ล้วนวางอยู่บนคุณค่าและวิธีคิดแบบใดแบบหนึ่งทั้งสิ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้อง ‘สืบค้นเชิงวิพากษ์’ เพื่อทำความเข้าใจถึงรากฐานและคุณค่าของมันให้ชัดเจนเสียก่อน อย่าเพียงเชื่อว่ามันคือเครื่องมือวิเศษที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายทุกอย่างได้
สองพาร์ทแรกของหนังสือเล่มนี้ ‘ภาคที่ 1 ความสับสน’ และ ‘ภาคที่ 2 ทฤษฏีจิตวิทยาการเรียนรู้’ เป็นส่วนที่คุณพิพัฒน์ ได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษ 2540 ได้เกิดข้อถกเถียงเรื่องเด็กเป็นศูนย์กลางอย่างไร เขาได้ยกเห็นเหตุการณ์สำคัญในปี 2545 ที่เด็กนักเรียนคนหนึ่ง ได้วิจารณ์ว่าแนวคิดนี้กำลังทำให้นักเรียนเป็น ‘ควายเซ็นเตอร์’ ที่ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท ส่งผลต่อการสอบเข้าสอบมหาวิทยาลัย เพราะนักเรียนไม่ได้มีทรัพยากรเท่าเทียมกัน การวิจารณ์ดังกล่าวได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อกระทรวงศึกษาธิการ พวกเขามองเห็นว่านี่คือความเข้าใจที่ผิดพลาดต่อแนวคิดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และนั่นหมายถึงต้องเร่งทำให้ครูเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องโดยเร็ว แน่นอนว่าในแวดวงวิชาการก็เริ่มมีการถกเถียงถึงแนวคิดนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
มุมมองของผู้ที่สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เห็นว่าแนวคิดนักเรียนเป็นศูนย์กลางถูกรับรู้ความหมายคลาดเคลื่อนไป คำว่าศูนย์กลางหรือสำคัญ คือการยึดเอาความสนใจของเด็กเป็นหลัก ในแง่ความสัมพันธ์ต้องเปลี่ยนจาก ‘ผู้รับ’ มาเป็น ‘ผู้เรียน’ ผู้สอนต้องไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้แต่ต้องมาเป็นผู้จัดประสบการณ์เรียน ดังนั้น บทบาทการเรียนรู้ต้องสร้างให้เกิด ‘Active Participant’ นั่นคือการที่ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้นจริงจัง ยิ่งผู้เรียนมีบทบาทมากเท่าไรก็ยิ่งหมายถึงการที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมากเท่านั้น ไม่เพียงเท่านั้น แต่กิจกรรมต้องทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ และค้นพบความรู้ได้ด้วยตนเองด้วย ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าสิ่งนี้ทำให้เด็กหย่อนยานในเนื้อหาการเรียนรู้ และดูเหมือนจะเป็นการให้อิสระมากจนเกินไป
การฉายให้เห็นข้อถกเถียงจากหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่า เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี การถกเถียงว่าด้วยการศึกษาได้ย้ายจากคำถามที่ว่า ‘ใครควรเป็นศูนย์กลาง’ หรือแบบไหนที่เรียกว่า ‘นักเรียนเป็นศูนย์กลาง/สำคัญ’ ไปสู่คำถามว่า ‘อะไรคือ Active’ และ ‘Passive’ แต่สิ่งที่ดูจะไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก คือการย้ำไปย้ำมาของสำนวนที่เชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีนักเรียนต้องมีส่วนร่วมในการเรียนรู้มากที่สุด ในแง่ที่เป็น ‘Learning by Doing’ ซึ่งราวกับเป็นสัจธรรม
ใครๆ ก็อ้างถึงจอห์น ดิวอี้ แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
พิพัฒน์ไม่ได้ตัดสินว่าฝั่งไหนถูกหรือผิด แต่สิ่งสำคัญคือเขาตั้งข้อสังเกตต่อแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของนักการศึกษาไทยที่เชื่อว่าแนวคิดนี้มีรากฐานมาจากปรัชญการศึกษาของ John Dewey ในสโลแกนที่ว่า ‘Learning by Doing’ แต่พิพัฒน์ไม่ได้เชื่อเช่นนั้น
เขากลับเห็นต่างออกไปว่า แนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางมีรากฐานมาจากปรัชญาของรุสโซ่ และจิตวิทยาการเรียนรู้ของเพียเจย์ (Piaget) สำหรับรุสโซ่ แนวคิดเรื่องการศึกษาได้ปรากฏชัดในหนังสือ ‘อีมิล’ ที่สะท้อนถึงความเชื่อว่ามนุษย์นั้นดีงามมาตั้งแต่ต้น แต่ถูกทำลายด้วยความเป็นสังคมสมัยใหม่ เด็กจึงควรถูกนำไปอยู่ห่างไกลจากสังคม ปราศจาการแทรกแซงจากผู้ใหญ่ ให้เขาได้เติบโตโดยปราศจากโลกภายนอก ไม่ต้องถูกเจือปนจากสิ่งอื่นๆ ดังนั้น การเติบโตที่ดีจึงต้องรักษาความอิสระและธรรมชาติเอาไว้
ในมุมมองพิพัฒน์ เขาเห็นว่าตัวรุสโซ่เชื่อว่าเด็กควรได้เติบโตตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น และมองว่าสังคมสมัยใหม่กำลังทำให้ความก้าวหน้าเสื่อมลง การปฏิเสธสังคมเช่นนี้ จึงเท่ากับปฏิเสธเนื้อหาที่ถูกกำหนดโดยชุดค่าต่างๆ ของสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าเนื้อหา และเช่นนี้เองที่การศึกษามีลักษณะมุ่งตอบสนองความต้องการเด็ก โดยปราศจากการแทรงแซงจากผู้ใหญ่ ในทางตรงกันข้าม พิพัฒน์เห็นว่าใจกลางความคิดของดิวอี้คือเชื่อว่าการศึกษาคือความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกและสังคม ดังนั้น การศึกษาต้องมีความเป็นชุมชนประชาธิปไตยที่จะพาให้เราเรียนรู้และเห็นคุณค่าความคิดที่หลากหลาย เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต จึงเป็นไปไม่ได้เลยหากเราจะแก้ไขปัญหาในอนาคตด้วยการยึดความรู้จารีตแบบแผนที่มีมาเป็นหลัก ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการไตร่ตรองร่วมกันต่างหากที่สำคัญ มุมมองของดิวอี้จึงไม่ได้เสนอให้สอนตามทางเลือกความต้องการของเด็ก และไม่ได้แยกขาดจากสังคม
นี่จึงทำให้พิพัฒน์สรุปว่า รากฐานแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ได้มาจากดิวอี้อย่างที่นักการศึกษาไทยหลายคนเข้าใจ แต่มาจากรุสโซ่ ก่อนจะส่งอิทธิพลไปถึงนักการศึกษาอย่างเพียเจต์ในเวลาต่อมา
พิพัฒน์ยังได้สืบค้นและพบว่า แนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเคยเป็นกระแสช่วงหนึ่งในยุโรป หนึ่งในอิทธิพลสำคัญคือจิตวิทยาของ เพียเจย์ (Piaget) ที่มีการอธิบายพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กอย่างเป็นระบบ ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ที่มองว่าเด็กมีกระบวนการการสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยจะมีการรับรู้และขยายความเข้าใจตัวเองเมื่อเจอสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป และดูเหมือนว่าแนวคิดนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษในช่วงปี 1960 ในรายงานเพลาเดน แต่กระนั้นหลังปี 1974 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ การศึกษาก็ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุ และมองว่าการปล่อยให้ครูมีอิสระมากจนเกินไปในการสอนทำให้การสอนไม่มีมาตรฐาน เป็นผลให้เกิดการกลับไปสู่จารีตแบบดั้งเดิมคือการยึดเอาเนื้อหาเป็นตัวตั้ง อันที่จริงในเวลานั้นมันคือการ ‘เอาเนื้อกลับไปขายเนื้อเหมือนเดิม’
สำหรับผมแล้วไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับสิ่งที่พิพัฒน์หยิบยกมาสร้างข้อถกเถียงหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือความพยายามของเขาที่จะสืบเสาะไปถึงรากปรัชญาความคิดอย่างจริงจังมากกว่าจะเชื่อและอ้างอิงกันมาโดยไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ
บ่อยครั้งที่นโยบายการศึกษามัก ‘หยิบฉวย’ ตามกระแสมาใส่ไว้แล้วออกคำสั่งให้ครูปฏิบัติ แล้วแปะหน้าซองด้วยคำกล่าวอ้างหนึ่ง แล้วเราก็เชื่อไปโดยปริยาย หนังสือเล่มนี้จึงบอกกับเราว่า เราจำเป็นอย่างมากที่ต้องตรวจสอบ สืบเสาะ และถกเถียงลงไปให้ลึกกว่าเพียงผิวเผิน อย่างมากที่สุดคือการกลับไปให้ถึงรากของปรัชญาของมัน
อย่าเพิ่งไว้วางใจแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง (และตั้งคำถามบ้างก็ดี)
หลังจากที่พิพัฒน์ได้คลี่ให้เห็นถึงรากฐานความคิด เขาก็ได้สร้างข้อโต้แย้งถึงแนวคิดดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ถือเป็นความพยายามที่จะท้าชนกับวิธีคิดกระแสหลัก ประการที่หนึ่งคือ ‘การค้นพบความรู้ด้วยตนเอง’ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่านักเรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ดังที่นักการศึกษาจำนวนหนึ่งเชื่อ สำหรับพิพัฒน์ การเรียนรู้ใดก็ตามต้องอาศัยครู อย่างน้อยก็ในการชี้แนะ สนทนา หรือบอกใบ้ เพื่อให้เด็กได้สร้างข้อถกเถียงหรือกรอบวิธีคิดขึ้นมา นี่เป็นการวิพากษ์ของพิพัฒน์บนทฤษฏีของ ไวท์ก็อตสกี้ และ บูรเนอร์ ที่เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction)
และประการที่สอง บ่อยครั้งแนวคิดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางก็ได้จัดวางให้ความรู้ที่ได้มาจากการจดจำอยู่ในระดับล่างสุดของลำดับชั้น เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจอย่างท่องแท้ เสมือนเป็นนกแก้วนกขุนทอง พิพัฒน์ได้วิจารณ์ว่าการจัดวางและการโจมตีความรู้จากการท่องจำนั้นดูจะเป็นสิ่งที่เกินเลยไป เขาได้ยกสถานการณ์ที่การจดจำทำงานควบคู่กับการคิดวิเคราะห์ขึ้นมาให้เห็นภาพ เช่น คณิตศาสตร์ที่นักเรียนต้องเรียนรู้จดจำสัญลักษณ์ที่สังคมให้ควาหมาย เพื่อเป็นพื้นฐานของการคิด เป็นต้น ในประเด็นสุดท้าย คือ ความสนใจอยากรู้ของนักเรียน เขายังได้ตั้งคำถามผ่านไปในบริบทเฉพาะ เช่น การเรียนรู้เรื่องภาษา การฝึกเขียน การฝึกฝนเหล่านี้จะถูกอธิบายหรือมีที่ทางอย่างไรในหลักการดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ในพาร์ทที่ 3 และ 4 พิพัฒน์ยังเสนอให้เราทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ในมุมมองที่กว้างออกไป ไม่ใช่เพียงติดอยู่กับคำถามที่ว่าครูมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน หรือความเข้าใจที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร แต่ในฐานะนักการศึกษาหรือผู้ออกนโนบายควรมองครูในฐานะมนุษย์ที่สัมพันธ์กับชุดค่าและความเชื่อด้วย ในการสอนครูมีความเชื่อและเป้าหมายอย่างไร การจัดสภาพการทำงานองค์กรแบบไหนที่จะเอื้อสนับสนุนคุณค่าต่างๆ เหล่านั้น ความรู้เชิงปฏิบัติก็เป็นอีกสิ่งที่เกิดขึ้นกับครูในหน้างานแต่ละวัน แต่เป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญน้อยมากๆ เรามักจะมองที่ความรู้เชิงวิชาการที่ส่งตรงมาให้ครูในฐานะที่เป็นวัตถุวิสัย ให้ครูยอมรับ และทำตาม แต่แท้จริงแล้วครูอยู่ในห้องเรียนที่แตกต่างกัน พวกเขาแต่ละคนจะมองเห็น คิด และเลือกตัดสินใจจากบริบทตรงหน้า นี่คือความเป็นอัตวิสัย ดังนั้น หากหวังว่าจะให้ครูปรับเปลี่ยน จำเป็นที่ต้องเข้าใจว่าความรู้เชิงปฏิบัติการที่เกิดจากในห้องเรียนของครูคืออะไร จากนั้นควรมีการสร้างการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ความเข้าใจเปิดกว้างออกไปจากมุมที่ครูคุ้นชิน
หนังสือเล่มนี้จึงกำลังบอกเราว่าอย่าเพิ่งไว้วางใจแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง หรือมองมันอย่างไร้เดียงสา เพราะแนวคิดหนึ่งก็นำมาซึ่งการเสนอวิธีการและความเข้าใจต่อการเรียนรู้แบบหนึ่ง และมันสำคัญมากที่เราจะตั้งคำถามกับมันให้มากขึ้น ไม่ควรทำให้มันเป็นสัจธรรมหรือคำตอบสำเร็จรูป มากไปกว่านั้นยังได้ย้ำเตือนว่ายังมีทางเลือกหรือความเป็นไปได้ในการคิดหรือมองมันในแบบอื่นๆ อยู่ด้วยเช่นกัน
10-20 ปีหลังจากนี้ เรายังจะยังวนเวียนอยู่กับสำนวนซ้ำซากของการศึกษาไทยอีกหรือไม่ ?
อ้างอิง
Active Learning กำลังจะมา แต่ผล Pisa ของไทยกำลังไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น… : โดย ณรงค์ ขุ้มทอง