- หากปีที่ผ่านมา คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกผิดหวัง สิ่งที่มุ่งหวังยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จแบบที่ตัวเองต้องการ แนวทางบางอย่างจาก หนังสือ 7 เล่มนี้ อาจเหมาะกับการชาร์จพลังชีวิต ปรับสภาพจิตใจ จัดการกับมายเซ็ตใหม่ เพื่อก้าวต่อไปในปี 2567 อย่างมั่นคง
ความหวังมักมาคู่กับการเริ่มต้นใหม่ แต่เราจะเริ่มใหม่ได้อย่างไร หากยังไม่ได้เยียวยาความผิดหวังเดิมๆ และเราจะเปลี่ยนแปลงพรุ่งนี้ได้อย่างไร หากไม่ได้เริ่มตั้งแต่วันนี้ ซึ่งหากปีที่ผ่านมา คุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังรู้สึกผิดหวัง เมื่อย้อนมองดูหน้าที่การงาน ธุรกิจ รายได้ เป้าหมายชีวิต หรือสิ่งที่มุ่งหวังยังไม่เข้าใกล้ความสำเร็จแบบที่ตัวเองต้องการ ยิ่งเปรียบเทียบกับคนอื่นก็อาจถูกความคิด ความผิดหวังโจมตีซ้ำๆ จนต้องกลับมาทำแผลให้หัวใจ แนวทางบางอย่างจากหนังสือ 7 เล่มนี้ อาจเหมาะกับการชาร์จพลังชีวิต ปรับสภาพจิตใจ จัดการกับมายเซ็ตใหม่ เพื่อพัฒนาความคิด การกระทำ คำพูด ที่จะพัฒนาตัวเองก้าวต่อไปในปี 2567 ให้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นใหม่
1. จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อใจเราเคลื่อนไหว
‘ความรู้สึกยิ่งแบกยิ่งหนัก’ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับสัมภาระ ไม่ได้เกิดขึ้นจากความรับผิดชอบครอบครัว ไม่ได้เกิดขึ้นจากการงานล้นมือ แต่เกิดขึ้นจาก ‘ความกลัว’ เปรียบเปรยมาจากสำนวน ‘ห่อผ้าแห่งความกลัว’ ที่อยู่ในบทความของหนังสือ ‘จุดเปลี่ยนของชีวิตเกิดขึ้นเมื่อใจเราเคลื่อนไหว’ เป็นสำนวนเปรียบที่พยายามชี้ให้เห็นภาพการเดินทางของชีวิตคนหนึ่งคน ว่าอาจมีทั้งความมั่นใจและความกลัวคู่กันไป หากยิ่งย่ำเท้าไปข้างหน้าตามวันเวลา ความกลัวก็อาจหลุดร่วงออกมาตามรูเล็กๆ ของห่อผ้าจนค่อยๆ เบาลงหรือว่างเปล่าไปในที่สุด
อาจกล่าวได้ว่าข้อเขียนให้ข้อคิด ที่มีลักษณะความเรียงสั้นๆ ตลอดเล่ม มาจากการตกตะกอนความคิดของนักเขียนชาวเกาหลี ‘คิมมีกย็อง’ ก็คงไม่ผิด เพราะนักเขียนใส่ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ เรื่องเล่าประจำวัน การจัดการปัญหา ความรู้สึก อารมณ์ สภาวะความคิด ด้วยกลิ่นอายที่ วนิดา คราวเหมาะ แปลออกมาแล้วค่อนข้างคมคาย บางบทคล้ายกวีไร้ฉันทลักษณ์ ทำหน้าที่เล่าชีวิตอย่างมีลูกเล่น และความน่าสนใจก็คือการไม่มองข้ามเรื่องประจำวัน แต่ทำให้มันมีความหมายขึ้นมาจากการเปลี่ยนมุมมองเพื่อปลอบโยนทางใจ ตัวอย่างความคิดง่ายๆ ที่ว่า
“อย่าไปอิจฉาความสุขของคนอื่น” แต่ให้รู้จักขัดเงาตัวเองให้เปล่งประกาย
หนังสือเล่าถึงแง่มุมหลากหลายสลับกับภาพประกอบสีพาสเทลโทนหวานและอบอุ่นสบายตา บวกกับกรอบท้ายบทต่างๆ ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ติดตามของคิมมีกย็อง ร่วมแชร์เรื่องราวของตัวเอง โดยตัดตอนมาเป็นคอลัมน์ ‘คำพูดเดียวที่ช่วยชีวิตฉัน’ เพราะคิมมีกย็องมี MKTV หรือช่องยูทูบของตัวเอง แนวคิดที่แชร์กันก็มีทั้งเรื่องเล่าทั่วไป ครอบครัว และการพัฒนาตัวเองด้วยความรู้ สะท้อนแง่มุมทางสังคมของเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญกับความรู้ แบบที่โลกยอมรับความสำเร็จจาก Soft Power ของเกาหลีใต้ ที่มีหลักมาจาก ‘สังคมฐานความรู้’ (Knowledge base society) ตรงกับแง่มุมที่เห็นได้จากความเรียงหลายๆ เรื่อง เช่น ความสามารถในการอ่านหนังสือ ในความเรียงนี้ ให้ความหมายกับการอ่านว่า เป็นคำใบ้นำทางไปเจอตัวตน แม้ในคนที่ตอบไม่ได้ในทันทีว่าความฝันหรือสิ่งที่อยากทำคืออะไร ก็ให้เริ่มต้นที่การอ่าน เพราะระหว่างที่อ่านจะเกิดความคิดกับกระบวนการหลอมรวมข้อมูล มีคนจำนวนมากใช้หนังสือแก้ปัญหา โดยสิ่งที่ต้องมาคู่กันคือการเชื่อมโยงความรู้ จนเกิดเป็นตัวตนครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งมาจากการเจอสถานที่และผู้คนจริง
การแบ่งบทในหนังสือเป็นเรื่องของการใช้คำพูด 4 ด้าน ได้แก่ คำพูดที่ช่วยหัวใจฉัน คำพูดที่ช่วยชีวิตประจำวันของฉัน คำพูดที่ช่วยประคองความสัมพันธ์ล้ำค่า คำพูดที่ช่วยหล่อเลี้ยงความฝันของฉัน บรรจุความเรียงหัวข้อต่างๆ เช่น วิธีคำนวณความรู้สึก ป้ายราคาของความฝัน การสะสมความไม่รู้ ปรัชญาแห่งการช่วยกันทำกับข้าว อย่าสร้างความสนิทสนมในที่ทำงาน และปิดท้ายที่วิธีสร้างความฝันให้เป็นความจริง ด้วยการเน้นย้ำว่าความฝันไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างในเวลาที่เหลืออยู่ แต่มาจากการสร้างเวลาเพื่อความฝัน ในเล่มอาจไม่ใช่วิธีการที่ใช้ได้กับทุกคน แต่ข้อคิดก็เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะวันหนึ่งหากเจอสถานการณ์ทดสอบใจ อย่างน้อยก็อาจมีคำตอบว่าจะเลือกคำแบบไหนมาพูดกับตัวเอง
2. เมื่อแมวที่บ้านคุณผันตัวมาเป็นไลฟ์โค้ช : How to Live Like Your Cat
ในบ้านที่มีแมว อาจมองความน่ารักน่าเอ็นดูของแมวต่างๆ กันไป แต่สิ่งที่มาอันดับต้นๆ เมื่อนึกถึงแมวก็คือ ‘ความขี้อ้อน’ ชวนหลงใหล กลายเป็นเจ้าของตำแหน่งเพื่อนใจประจำบ้าน ยิ่งใกล้กันกับมนุษย์มากๆ ก็มักสังเกตนิสัยของแมวแล้วแบ่งแยกจากสีของมัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าแมวสามสีที่แสนจะรักอิสระและคุยเก่ง เจ้าแมวส้มสุดเฟรนลี่ เจ้าแมวสลิดจอมเหวี่ยง ไหนจะท่านอนต่างๆ ที่บ่งบอกอารมณ์ของแมว ทำให้มีบทความเกี่ยวกับแมวออกมามากมาย สื่อความสนใจใคร่รู้เรื่องของแมวๆ อย่างที่บางครั้ง บางคนนึกสงสัยในแววตาใสๆ ของแมว ว่าพวกมันกำลังคิดอะไรอยู่ ซึ่งในหนังสือ ‘เมื่อแมวที่บ้านคุณผันตัวมาเป็นไลฟ์โค้ช’ มองเห็นธรรมชาติของแมวว่ามีนิสัยใจคอเหมาะที่มนุษย์จะเลียนแบบ ทั้งท่าทีรักสบายที่เห็นจากการนอนยาวๆ ในแต่ละวัน และความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างที่พูดง่ายๆ ว่า “อยากทำอะไรก็ทำ”
รายละเอียดของการมีแมวเป็นไลฟ์โค้ช อ่านเพลินกว่าที่คิด เพราะมันสื่ออารมณ์ต่างกับฮาวทูจากบุคคล มุ่งเน้นที่การปรับจิตใจ การจัดการกับปัญหาและเรื่องราวที่มากระทบ และยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากการเปรียบเทียบแมวของบรรดานักเขียน กวี สุภาษิต และข้อเขียนที่คนสำคัญๆ ให้ความหมายเกี่ยวกับแมวไว้ เช่น สุภาษิตจีนที่ว่า “คุณจะโยนแมวสักตัวอย่างไรก็ได้ แต่มันจะตกถึงพื้นด้วยอุ้งเท้าของมันเสมอ” หรืออย่างสำนวนเขียนจาก ‘เตโอฟิล เกาเธียร์’ ที่ว่า “แมวจะเป็นเพื่อนของคุณ หากคุณคู่ควรกับความรักของมัน แต่มันจะไม่ยอมเป็นทาสของคุณเด็ดขาด” เป็นส่วนเสริมจากคำแนะนำ 40 เรื่องที่มีเจ้าขนฟูเป็นไลฟ์โค้ช ทั้งหมดนี้เขียนโดย Stephane Garnier จากประสบการณ์เลี้ยงแมวชื่อ ‘ซิกกี้’ เขาเห็นว่าแมวมาดมั่นและทะนงในตัวเอง แมวไม่ใส่ใจเมื่อถูกคนอื่นตัดสิน แมวรู้จักพักผ่อน มันรักการนอนหลับ แมวนิ่งเงียบและช่างสังเกต แมวถ่อมตัวและใจดีกับตัวเอง แมวรู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรปฏิเสธ ซึ่งในข้อนี้นักเขียนเปรียบกับชีวิตคนไว้ว่า
มันคือการเลิกทนทำตามความต้องการของคนอื่นที่ไม่เหมาะสมกับเรา และคือการเรียนรู้ที่จะปฏิเสธเพื่อปกป้องเวลาของตัวเอง นั่นหมายถึงการจัดสมดุลระหว่างการทำตามคำสั่งกับความมีน้ำใจ
ชีวิตอย่างแมวๆ ที่อ่านเจอในหนังสือ คือการปรับความคิดและการกระทำของเราให้ผ่อนคลายขึ้น ไม่ตึงเกินและไม่หย่อนไป มีความเคารพตัวเอง มองเห็นความสุขและความปรารถนาของตัวเอง และสิ่งสำคัญคือสงบนิ่งอย่างเป็นธรรมชาติ ใจความของหนังสือหยิบยกเรื่องราวของนิสัยแมวมาสนับสนุนความคิดสำคัญที่ว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘แมว’ กับ ‘มนุษย์’ มีกรอบการกระทำต่างกัน แต่ทั้งสองเผ่าพันธุ์ต่างก็มี ‘สัญชาตญาณ’ นำทาง และต่างต้องให้เวลาตัวเองได้ใช้ชีวิต เมื่อถึงเวลาทำก็ทำ ยามหยุดก็พักผ่อน โดยข้อดีของการเลียนแบบแมวคือ ทำแต่ละวันให้มันง่ายๆ สบายๆ อย่างที่แมวทำ พวกแมวไม่มองอะไรสำคัญไปกว่าการกินกับอยู่ นอนกับเล่น ซึ่งหากวันใดโลกในมุมเรามันเหนื่อยมันท้อเกินกำลัง การมีโลกในมุมแมว ก็น่าจะเป็นการปรับความคิดที่ดีและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย
3. ทำไงได้ ก็งานต้องเสร็จวันนี้นี่นา
‘โรคเกลียดวันจันทร์’ อาจจะเป็นเพียงมุกตลกร้าย แต่หากมันกลายเป็นโรคได้จริง เชื่อว่าคงมีคนเป็นโรคนี้อยู่ไม่น้อย พ่วงมากับสถานะมนุษย์เงินเดือน ซึ่งในแง่มุมหนึ่งจากหนังสือ ‘ทำไงได้ก็งานต้องเสร็จวันนี้นี่นา’ มอบให้หลังการอ่านก็คือ การเกลียดวันจันทร์ ไม่ใช่ความขี้เกียจ แต่มาจากงานที่ก่ายกองอยู่บนโต๊ะต่างหาก คำถามคือ แล้วจะปรับความคิดตัวเองอย่างไรหล่ะ ให้หายจากอาการเกลียดวันจันทร์ คำตอบอาจไม่ได้สื่อสารตรงๆ ออกมาจากความเรียงในเล่ม แต่อย่างน้อยมันก็มีเนื้อหาปลอบโยนมนุษย์งาน ที่ถูก ‘งาน’ ฉุดรั้ง ซึ่งเขียนและวาดภาพประกอบโดย ‘ซอลเลดา’ ชาวเกาหลี แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส
ความโดดเด่นของหนังสือ คือการเดินเรื่องด้วยภาพประกอบตลอดเล่ม มี ‘เจ้ากระต่ายสีฟ้า’ เป็นตัวละครนำของเรื่องราว มันถูกวาดขึ้นมาเป็นตัวแทนของมนุษย์ออฟฟิศ ที่มักตกอยู่ในสถานการณ์น่าเห็นใจต่างๆ ทั้งเรื่องถูกควบคุมการทำงานด้วยสวิตซ์ติดไว้กลางหลัง ไม่มีทางแม้แต่จะเปิดหรือปิดตัวเอง บางครั้งก็เหงื่อท่วมตัวอยู่บนลู่วิ่งที่ไม่มีปุ่มพัก และบางครั้งก็ถูกกองงานขวางหน้า ทั้งที่ถึงเวลาเลิกงานแล้ว และท้ายสุดคือการร่วมขบวนไปกับเหล่าลูกน้องด้วยกัน แบกอุ้งเท้าขนาดใหญ่ของหัวหน้างานให้เคลื่อนไปข้างหน้า เป็นภาพที่มองแล้วแสบคันปนขำขันอยู่ในตัว นี่เป็นเพียงบทที่ 1 ของเล่ม จากหนังสือที่แบ่งออกเป็น 5 บท ตามตารางทำงาน จันทร์-ศุกร์ พร้อมกับภาพประกอบที่พาตัวละครอย่างเจ้ากระต่ายสีฟ้าออกเดินทางตามวันทำงาน ไปเจอเรื่องราวรอบด้านจากสังคมออฟฟิศ ที่เสียดแทงใจด้วยภาพบัญชีรับฝากความเครียด และแม้จะถึงวันพุธกลางสัปดาห์ งานก็ยังไม่ปล่อยให้เจ้ากระต่ายสีฟ้าดีใจได้ว่าเดินมาถึงครึ่งทาง บางวันก็รับแอปเปิ้ลโอทีจากแม่มดร้ายเอามาใส่มือ บางทีก็ต้องถือระเบิดงานลูกโต ที่ไม่รู้ว่าใครเอามาให้แถมยังจุดชนวนทิ้งไว้พร้อมระเบิด จนเจ้ากระต่ายสีฟ้าผ่านวันต่างๆ มาถึงวันศุกร์ก็กลับไม่ได้ส่งท้ายงานไปเจอวันหยุดอย่างแท้จริง
เพราะฝันร้ายของวันศุกร์ก็คือ งานของวันจันทร์ วนลูปเดิมๆ เป็นความรู้สึกคุ้นเคยหลอกหลอนของมนุษย์เงินเดือน
การขายไอเดียอย่าง ‘งานทำเราหรือเราทำงาน’ เป็นเรื่องที่เจอจากหนังสือหลายเล่มหรือบทความเปรียบเปรยความต่างของเวิร์กไลฟ์บาลานซ์กับเวิร์กไร้บาลานซ์ ที่พยายามชี้จุดพร่องของชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป หรือปลอบใจบางคนจากความรู้สึกผิดเมื่อหยุดทำงาน เพราะมันไม่จำเป็นเลยที่คนๆ หนึ่งต้อง Productive ตลอดเวลา ในเมื่อบางวันเราก็แค่อยากหยุดพัก นอนเล่น เลื่อนฟีดโซเชียล ดูซีรีส์ หรือเอนจอยกับงานอดิเรกที่เราชอบ อีกทั้งไม่จำเป็นเลยที่จะต้องเทียบความสำเร็จในชีวิตตัวเองกับคนอื่น หากมันจะทำให้เราเครียดและกดดันมากเกินไป
จำได้ว่า Peter Bregman นักเขียนเจ้าของแนวคิดพัฒนาตนเอง ได้กล่าวไว้ว่า ไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ มักจะเกิดขึ้น เมื่อเราไม่ได้ทำงาน หรือนั่นหมายถึงช่วงที่สมองได้พักจากงานต่างหากที่ความคิดดีๆ จะโลดแล่น และยังหมายถึง การไม่ถูกงานขโมยเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตไปจนในที่สุดก็กลายเป็นคนที่หมดไฟ ต้องรู้จักชาร์จพลังให้ตัวเอง จัดเวลาพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพราะสัดส่วนของการพักจำเป็นและสำคัญไม่น้อยไปกว่าเวลาของการงาน
4. The Power Of Output : ศิลปะของการปล่อยของ
ความสนใจเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ เกิดขึ้นหลังจากที่เราย้อนกลับมาลงทะเบียนเรียนวิชาการในรอบ 15 ปี เพราะเรามีคำถามว่า คนที่พ้นวัยเรียนไปแล้ว ประสิทธิภาพของสมองจะด้อยกว่าหรือไม่อย่างไร ผลคือหนังสือเกี่ยวกับสมองอธิบายว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น แต่ในกระบวนการเรียนรู้นั้น ต้องรู้จักช่วงเวลาการจำของสมอง รู้จักการทำงานของความจำระยะสั้น-ความจำระยะยาว หรือเข้าใจว่าการอ่านทฤษฎี โดยข้ามวิธีปฏิบัติ จะไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้มากเท่ากับทำทั้งสองอย่าง โดยรูปแบบการทำงานของสมองในส่วนความจำจาก The Power Of Output หรือ ศิลปะของการปล่อยของ
แนะนำให้คนที่อยากจำเก่ง จำทน จำนาน หรือเก็บมาเป็นทักษะติดตัว จะต้องรู้จักขั้นตอนของการนำออกเมื่อรับความรู้เข้ามาแล้ว
ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ชื่อว่า ‘ชิออน คาบาซาวะ’ มีผลงานตีพิมพ์แปลไทยหลายเล่ม ก็เพราะกระบวนการเรียนรู้แบบเอาต์พุต หรือหมายถึง รู้แล้วเขียนมันออกมา โดยในเล่มเสนอความเห็นจากการอ้างอิงงานวิจัยว่า การนำออก หรือ Output สำคัญและมันช่วยพัฒนาได้มากกว่าการ Input เพียงอย่างเดียวได้อย่างไรบ้าง หากเทียบกับห้องเรียนทั่วไปก็คือ การเรียนแล้วทบทวนผ่านการสอนผู้อื่น หรือเมื่อเรารู้แล้วแบ่งปันเล่าให้คนอื่นฟัง จะสามารถเก็บความรู้ไว้ในหน่วยความจำได้มากกว่า อีกเนื้อหาที่น่าสนใจ คือการพูดถึงการเรียนรู้และจดจำว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไรจะเก็บความรู้เป็นความจำระยะยาวได้ นอกจากนี้ยังแนะนำเรื่องศิลปะการสื่อสาร การตั้งคำถาม การนำเสนอ คำขอโทษ ความโกรธกับดุ ว่าให้ผลลัพธ์ต่างกันยังไง แนะนำเรื่องการเขียนเพื่อพัฒนาศักยภาพตัวเอง การรู้จักว่าไอเดียมาจากไหน การจดโน้ตที่ดีทำอย่างไร และสอนวิธีการทำ To-do List เป็นการจัดตารางชีวิตให้ตัวเองหรือให้มีเป้าหมายเล็กๆ ในทุกๆ วัน
นอกจากการทำตามเป้าหมาย สิ่งที่หนังสือให้ความสำคัญคือการรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ ซึ่งล้วนมีผลกับพลังสมอง คล้ายกับการทำฐานไว้เป็นหน่วยรับข้อมูลสำคัญ แล้วนำออกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความจำ โดยตัวเลขด้านหนึ่งจากงานวิจัยยืนยันว่า หากเทียบตัวเลขสถิติหลังการอ่านพบว่า เพียงข้ามคืน ความจำจากเรื่องที่อ่านจะหลงเหลือเพียง 24% แต่หากทำตามวิธีการแบบ The Power Of Output ก็จะเปลี่ยนความสามารถใช้งานความจำได้ในระยะยาว หนังสือจึงเป็นคู่มือของการเรียนรู้อย่างเข้าใจกลไกของสมองที่นำมาปรับใช้ได้จริง
5. วิชาโรคใจ 101 : WHERE TO START
นับถอยหลังอีกเพียง 5 ปี ตามคำพยากรณ์ขององค์การอนามัยโลก หรือในปี 2572 ‘โรคซึมเศร้า’ จะขยับขึ้นมาเป็นสาเหตุของภาระโรคในระดับโลก และเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการฆ่าตัวตาย ตัวเลขที่น่ากังวลนี้ถูกคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นระยะเวลาการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อโรคซึมเศร้า พร้อมๆ กับใช้ชุดคำถามสำหรับทดสอบประเมินภาวะซึมเศร้า ในส่วนของ ‘วิชาโรคใจ 101’ นิยามว่าเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมา เพื่อคนที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่ได้รับความรัก ไม่มีใครชอบหรือกำลังรู้สึกไม่ปลอดภัย จากการแปลงานเขียนของ Mental Health America เพื่อนำความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมาอยู่ใกล้มือคนอ่านมากขึ้น พร้อมกับแบบทดสอบภาวะจิตใจ ให้สามารถเปิดหนังสือเช็คสัญญาณด้วยตัวเองว่า “นี่ฉันโอเคอยู่ไหม” โดยหนังสือจะเป็นไกด์เช็คข้อบ่งชี้หรือสัญญาณโรค และยังช่วยเตรียมความพร้อมสู่บทสนทนาแรกกับนักบำบัด เนื่องจากยังมีคนจำนวนไม่น้อยยังไม่พร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการทางการแพทย์หรือไม่รู้ตัวว่าถึงเวลาต้องรักษาแล้วหรือยัง? การมีคู่มือที่บรรจุแบบทดสอบเดียวกับสถานพยาบาลก็จะมั่นใจได้มากกว่าการหาข้อมูลออนไลน์ หรือคุยกับคนรู้จักที่มีอาการคล้ายกัน ที่อาจพาหลงทางได้
โรคแรกที่หนังสือพูดถึงในแง่ความผิดปกติทางอารมณ์ ก็คือ โรคซึมเศร้า (Depression) ที่มีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่ความรู้สึกหลักๆ จะทำให้รู้สึกเหมือนกำลังจมดิ่งลงไปอย่างน่ากลัวที่สุด สิ่งที่น่าห่วงคือบางคนลองใช้ยาหรือแอลกอฮอล์เพื่อรักษาโรคซึมเศร้าที่ซ่อนในตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ผลดี ต่อมาคือ ไบโพลาร์ (Bipolar Disorder) โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ที่มีทั้งความวิตกกังวลทั่วไปและวิตกกังวลเมื่อต้องเข้าสังคม โรคแพนิค โฟเบีย โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น ซึ่งทั้งอาการของโรค ข้อบ่งชี้ คำแนะนำหนทางเข้าสู่กระบวนการรักษา จะเป็นแนวทางให้ผู้ป่วยเข้าถึงการช่วยเหลือ
การเปิดใจของผู้ป่วยกับครอบครัวและคนใกล้ชิด จะทำให้เกิดบทสนทนาสำคัญ และสิ่งสำคัญไม่แพ้กันก็คือรู้ว่าควรคุยกับใคร
ตามคำแนะนำจากหนังสือบอกว่า ควรเป็นคนใจดีและเป็นผู้ฟังที่ดี ก่อนจะส่งต่อไปถึงความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและการบำบัดออนไลน์ ในเล่มรวบรวมสายด่วนสุขภาพจิต แอปพลิเคชันต่างๆ วิธีการนำไปสู่การบำบัด และให้ความรู้เกี่ยวกับระบบประสาท การต่อสู้กับความโดดเดี่ยว และการหลีกเลี่ยงกับดักความคิดอย่างการด่วนสรุปหรือคิดว่ามีแค่ขาวกับดำ
ส่วนหนึ่งที่หนังสือทำงานกับผู้อ่านก็คือการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและอ่านง่าย ไม่ได้เป็นวิชาการเกินไป และยังมีเส้นบรรทัดว่างๆ ในแต่ละหัวข้อไว้สำหรับเขียนโต้ตอบคำถามตามหนังสือ ซึ่งไม่ต่างจากการตอบกลับตัวเอง ด้วยเหตุผลว่าการเขียนนั้น คือการอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกถึงความสุข ความทุกข์ ความเศร้า ความผิดหวัง ได้อยู่ในห้วงเวลาใช้สติรับรู้ถึงความจริงของสุขภาพจิตที่กำลังเผชิญอยู่และเข้าถึงการเยียวยาก่อนสายเกินไป
6. วิชาจิ๋ว : Micromastery
“เหตุผลหลักที่เราทำอะไรไม่สำเร็จคือการล้มเลิก หมดความสนใจ หรือไร้แรงผลักดัน” เพราะเราล้วนต้องการผลลัพธ์ทันทีเมื่อเริ่มเรียนรู้ แต่สำหรับวิชาจิ๋ว เราต้องเริ่มจากทักษะที่เป็นเหมือนบททดสอบ นี่คือส่วนหนึ่งจากหนังสือปกขาวที่ดูไม่สะดุดตานัก แต่มีชื่อชวนสงสัยอย่าง ‘วิชาจิ๋ว’ หรือ Micromastery ของ Robert Twigger ชวนให้เปิดพลิกหน้าต่อไปเพื่อหาคำตอบว่า วิชาจิ๋วคืออะไรและสอนอะไรในโลกปัจจุบัน ที่คนมองหาทักษะเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ
ในที่นี้อาจบอกได้ว่า ‘วิชาจิ๋ว’ ไม่ใช่การทำสิ่งที่ยาก แต่เป็นความง่ายที่คู่มากับความเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่น การลงสนามฝึกวิชาจิ๋วจะต้องสนุก ท้าทาย จากการทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ซ้ำๆ แต่เป็นบันไดสู่ความมั่นใจ
เพราะคนที่ห่างจากการฝึกทักษะใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ยิ่งนานวันก็มักลังเลสงสัยในความสามารถของตัวเองว่า จะทำได้ไหมหรือเราคงไม่เก่งพอ แต่วิชาจิ๋วจะช่วยให้หลุดออกจากความไม่เชื่อมั่น และเมื่อเพิ่มวิชาจิ๋วลงไปในตัวเอง กราฟการเรียนรู้จะสูงขึ้น เรื่องราวของวิชาจิ๋วนั้น นักเขียนขยายให้เห็นว่าการฝึกวิชาจิ๋วทุกอย่าง มีโครงสร้างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มจากกลเม็ดเริ่มแรก ทักษะขัดกัน ตัวช่วย รางวัล การทำซ้ำ และโอกาสในการทดลอง อยู่ในกระบวนการของวิชาจิ๋ว
แล้ววิชาจิ๋วคืออะไรบ้าง เราจะพบคำตอบที่หลากหลายเป็นทักษะที่คนไม่ทันนึกถึง เช่น การทอดไข่เจียวด้วยเทคนิคเฉพาะ การกลับรถด้วยเบรกมือ การพลิกเรือแบบเอสกิโม วิชาจิ๋วที่ว่าจึงไม่ใช่การทำอาหาร ไม่ใช่การขับรถ ไม่ใช่การพายเรือ มันมีระดับที่เล็กกว่าแต่พิเศษ ซึ่งก่อนจะเดินทางไปสู่วิชาจิ๋วในหนังสือ นักเขียนเสนอแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนมุมมอง การจัดระบบความคิด และพลังสร้างสรรค์ออกมาก่อนลองฝึกวิชา โดยเฉพาะเรื่องการมองผลลัพธ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการก้าวขยับเพื่อเปลี่ยนแปลงว่า มันอาจไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ แต่ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่มาบ่อยๆ จะเป็นผลบวกกับใจมากกว่าการทำสิ่งยากครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้ายกลับท้อจนถอดใจไปก่อน
หนังสืออ้างอิงถึงความสำเร็จของผู้คนที่เชี่ยวชาญศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งว่ามีเพียง 3.6 เปอร์เซ็นต์ นั่นเป็นที่มาให้เรื่องของวิชาจิ๋ว สำคัญในมุมมองการพัฒนาคนด้วยกระบวนการฝึก ที่มีประสาทสัมผัสหลากหลายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมันสัมพันธ์กับเซลล์สมองอย่างยิ่ง ผู้ที่อายุเพิ่มขึ้น ยิ่งต้องเรียนรู้เพื่อกระตุ้นสมอง ลองนึกภาพตามง่ายๆ ว่าความสามารถของเราเปลี่ยนแปลงไปตามกายภาพสมอง เช่น ท่าเต้นใหม่ จะทำให้สายเชื่อมหรือวิถีประสาทออกคำสั่งไปยังร่างกายว่าจะต้องขยับอย่างไร เป็นลักษณะของสมองกับทักษะใหม่ ซึ่งในทางตรงข้ามกัน หากทักษะเดิมเสื่อมลง จะมาจากการเปลี่ยนแปลงของสมองเช่นกัน ตัวอย่างใกล้ตัวเราที่สุดก็คือการลืมชื่อคน ซึ่งวิชาจิ๋วจะเปิดโอกาสทดลองกลยุทธ์รูปแบบใหม่ ไปเพิ่มพูนความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดได้อย่างว่องไว หรือความสามารถเข้าใจชุดความคิดที่ตรงข้ามหรือขัดแย้งกัน
เมื่อเปิดมาถึงศูนย์รวมวิชาจิ๋ว หนังสือก็จะบอกขั้นตอนการฝึก 39 วิชา ตัวอย่างเช่นการวาดเส้น การหาความลึกของบ่อน้ำและหลุม การผ่าซุง การปีนเชือก การพูดหัวข้อใดก็ได้สัก 15 นาที การก่อกำแพงอิฐ การอบขนมโบราณ การร้องเพลงเดี่ยว การตัดเสื้อเชิ้ตใส่เอง การฝึกเป็นช่างภาพสตรีท แบบอธิบายให้เห็นภาพสำหรับฝึกตามได้จริง พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวข้องกับวิชาจิ๋วที่ฝึก ซึ่งเราอาจเลือกฝึกตามความสนใจและตรงตามบริบทของสังคมไทยเราเองก็ได้
เมื่อลองคิดดูระหว่างการวิชาจิ๋วจะต้องอาศัยสองมือ ทักษะ และเวลา โดยมีสิ่งที่เรียกว่า สภาวะไหลลื่น หรือสมาธิอยู่ในการลงมือ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นการวิชาใหม่ที่พาตัวเองออกไปจากหน้าที่การงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นกีฬา ศิลปะ งานฝีมือที่สนใจ ล้วนเป็นแง่มุมแบบวิชาจิ๋วที่จะสร้างตัวตนใหม่และให้โอกาสชีวิตทำหลายๆ ด้าน
7. ศิลปะการพูดให้เหมือนนั่งในใจคน
สำนวนเก่าๆ สอนความสำคัญของคำพูดไว้หลากหลาย อย่างที่เราอาจเคยได้ยินกันว่า ‘คำพูดเป็นนายเรา’ หรือ ‘คนฉลาดนั้นคิดทุกคำที่พูด แต่จะไม่พูดทุกคำที่คิด’ แม้ทุกวันนี้คำพูดที่ใช้สื่อสารกันก็ยังสำคัญไม่น้อย เพราะคำพูดที่ประกอบสร้างขึ้นในแต่ละวัน สะท้อนตัวตนของคนพูด ซึ่งคำว่า ‘ชามคำพูด’ ก็ดูเป็นนิยามความหมายของศิลปะการพูดที่น่าสนใจของหนังสือ ‘ศิลปะการพูดให้เหมือนนั่งในใจคน’ ของ คิมยุนนา (Yun-na-Kim) นักจิตวิทยาชาวเกาหลี ด้วยแนวคิดว่า ‘ชามคำพูด’ ขึ้นอยู่กับจิตใจของผู้พูด ที่ขนาดของชามแต่ละใบของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน
หากเปรียบเทียบคนที่มี ‘ชามคำพูดเล็ก’ ตามหนังสือ จะหมายถึงมีคลังคำน้อย ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจคนได้ และเต็มไปด้วยความหวั่นไหวกับคำพูดของคนอื่นง่าย ส่วนคนที่มี ‘ชามคำพูดใหญ่’ จะเลือกใช้คำได้เหมาะสมเพราะรู้ศัพท์มาก สามารถโน้มน้าวให้คนคล้อยตามได้ และรู้จักวิเคราะห์จิตใจของอีกฝ่ายด้วยสติ ไม่สร้างบาดแผลจากคำพูด ทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์จะบั่นทอนลงหรือยาวนาน ก็ย่อมขึ้นอยู่กับคำพูด เราจึงต้องรู้จักจัดการกับคำพูดของตัวเอง หรือบรรจุคำดีๆ ลงในชามคำพูด รู้จักอย่างเข้าใจว่า ‘ใจ คือ ต้นกำเนิดของคำพูด’
เนื้อหาสำคัญของหนังสือ มี 7 บท รวมบทนำและส่งท้าย เป็นการให้แนวทางรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการขัดเกลาคำพูดหรือแม้แต่การเป็นผู้รับฟัง การรู้จักชุดคำพูดที่มาจากทั้งความรู้สึกในใจ คำพูดที่มาจากสมอง รวมถึงคำพูดที่ออกมาทันทีโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่แยกแยะความรู้สึกได้ ก็ย่อมหมายถึงสามารถเลือกคำพูดอย่างเหมาะสม คุณสมบัติสำคัญของผู้พูดก็คือ คนที่เคารพตนเอง เคารพผู้อื่น ใจกว้างและเชื่อมั่นต่อวิธีการพูด ในแง่ของการจัดการความรู้สึก ล้วนเกี่ยวข้องกับ “การยกย่องและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของตนเอง ที่นับเป็นรากฐานทางจิตวิทยา รวมถึงการปรับความรู้สึกด้านการรับรู้และวิธีปรับอารมณ์ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิด
ความขัดแย้งระหว่าง ‘คำพูดอีกฝ่าย’ กับ ‘คำพูดเรา’ มักเกิดขึ้นเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีชุดความคิดต่างกันมาก
ซึ่งหนังสืออธิบายผ่านชุดความคิดที่สร้างขึ้นในสมอง ที่เรียกว่า A-B-C Accident -Belief- Consequence หรือเหตุการณ์-ความเชื่อ-การตอบสนอง การดึงดันเสนอชุดความคิดของตัวเองเพียงฝ่ายเดียว อาจเป็นการสร้างศัตรู ในทางตรงข้ามกัน ชุดความคิดในชามคำพูดใหญ่กลับเป็นพลังขับเคลื่อนการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นด้วยความเข้าใจ พร้อมกับให้ความสำคัญกับ ‘การตั้งใจฟัง’ ซึ่งอยู่ในกระบวนการสนทนา เช่น การสบตา ปรับสายตา การเปล่งเสียง ในหนังสือจะแสดงให้เห็นความสำคัญของกระบวนการขัดเกลาความรู้สึกในใจ เกิดเป็นชุดความคิดในสมอง และกลายเป็นนิสัยที่แสดงออก หากขัดเกลาได้ทั้ง 3 อย่าง จะทำให้ตัวตนภายในแข็งแกร่งขึ้น
อย่างไรก็ตามกระบวนการยอมรับจะทำให้ไม่ยึดติดกับชุดความคิดใดความคิดหนึ่ง ในหนังสือยังให้เทคนิคการฟังและการถาม เฉพาะคำถามก็มีทั้งคำถามเปิด คำถามสมมุติ คำถามมุ่งเป้าหมาย คำถามความรู้สึกและคำถามที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะการพูดอย่างสร้างสรรค์จับใจผู้ฟัง