- คำชมไม่ได้ทำหน้าที่แค่ชุบชูใจคนฟัง ผลอีกด้านยังทำร้ายหรือกดดันคนฟัง
- คำชมที่มาจากความหวังดีอาจกลายเป็นลูกกวาดเคลือบยาพิษเลยก็ได้
- คำชมที่มีคุณค่า ต้องชื่นชมกระบวนการที่เด็กใช้ในการทำงาน ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจและพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ เรียกว่า ‘ชมกระบวนการ’ (process praise)
“ลูกเป็นคนเก่งและฉลาดอยู่แล้ว…ลูกทำได้แน่นอน”
รู้ไหมว่าคำพูดเหล่านี้ ทำร้ายและทำลาย ‘ความฉลาด’ ของลูกคุณได้
Growth Mindset (กระบวนทัศน์พัฒนา) คือ ความเชื่อเรื่อง ‘พรแสวง’ ที่ทำให้คนเรามีความอดทน มานะพยายาม หมั่นฝึกฝนตนเอง พยายามเรียนรู้กลยุทธ์ที่ดีในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งตรงข้ามกับ Fixed Mindset (กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง) หรือความเชื่อใน ‘พรสวรรค์’ ที่ว่าคนเก่งเก่งมาตั้งแต่เกิด เก่งแล้วเก่งเลย ทำให้เด็กคนนั้นไม่มีความมุมานะพยายามเพื่อพัฒนาตนเอง ทำให้มองความยากลำบากหรือความล้มเหลวในด้านลบ นำไปสู่ความท้อถอย และความล้มเหลวในชีวิต
ตัวอย่างเด็กฉลาดที่ชีวิตล้มเหลว…
เด็กชายปัญญา เป็นเด็กฉลาด เรียนรู้ได้เร็ว เรียนชั้นประถมศึกษาได้ A ทุกวิชา และสงสัยมาตลอดว่า ทำไมเพื่อนบางคนจึงไม่เข้าใจบางวิชาที่เรียน ส่วนพ่อแม่ก็คอยบอกปัญญาอยู่เสมอว่า เขาเป็นเด็กปัญญาเลิศ แต่เมื่อขึ้นเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ปัญญาเริ่มหมดความสนใจในโรงเรียน ไม่ทำการบ้าน และไม่ยอมไปเข้าสอบ คะแนนสอบตกต่ำมาก พ่อแม่พยายามแก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ปัญญา โดยย้ำแก่ปัญญาว่า “เขาเป็นเด็กฉลาด” แต่ไม่ได้ผล ปัญญายังคงเบื่อหน่ายการเรียน และไม่อยากทำแบบฝึกหัด
นักเรียนที่มีปัญหาแบบปัญญาไม่ได้มีคนเดียว แต่มีจำนวนมาก ผลการวิจัยต่อเนื่อง 35 ปี บอกว่าเด็กเหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของความเข้าใจผิดเรื่องการดูแลเด็กเก่งในอดีตที่หลงชมความเก่งหรือความฉลาดของเด็ก ทำให้เด็กเข้าใจว่า ความฉลาดเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของความสำเร็จ และเข้าใจผิดว่า คนเก่งคือคนที่เรียนเข้าใจ และทำโจทย์ได้โดยง่ายดาย ไม่ต้องใช้ความพยายาม คนที่ต้องใช้ความพยายาม คือคนไม่เก่ง เมื่อถึงตอนที่ตนไม่เข้าใจและจะต้องใช้ความพยายามในการเรียนจึงไม่อยากทำ เพราะจะทำให้ตนเองไม่เป็นคนเก่ง
ความเชื่อเช่นนี้ ทำให้เด็กหลบหลีกสิ่งที่ท้าทาย สิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายความมั่นใจว่าตนเป็นคนเก่ง แทนที่จะมองว่า เป็นโอกาสพัฒนาตนเอง เด็กเหล่านี้เมื่อโตขึ้นจะไม่กล้าเผชิญความท้าทายและความยากลำบาก
ความผิดพลาดของพ่อแม่คือ การหลงสร้าง ‘กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง’ ให้แก่ลูก
ทำอย่างไรลูกจึงจะเก่งและฉลาด?
กระบวนทัศน์พัฒนาเป็นเรื่องจิตวิทยาเกี่ยวกับความล้มเหลวหรือความยากลำบาก ซึ่งในเด็กมักเป็นเรื่องการเรียน เด็กกลุ่มหนึ่งจะมองความยากลำบากหรือความล้มเหลวในเชิงบวก คือนำมาใช้เป็นบทเรียน เด็กกลุ่มนี้เรียกว่าเป็นเด็กกลุ่มใจสู้ (ความยากลำบาก) ที่มีกระบวนทัศน์พัฒนา ขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งคอยหลีกเลี่ยง หรือถ้าเผชิญก็ไม่สู้ เป็นกลุ่มที่มีกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง
ผลการวิจัยบอกว่า กระบวนทัศน์ทั้งสองแบบเป็นสิ่งที่ไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่สร้างขึ้นได้ โดยวิธีการชมหรือยกย่องเด็กให้ถูกวิธีก็จะพัฒนากระบวนทัศน์ที่ดี คือกระบวนทัศน์พัฒนา ถ้าชมผิดที่ หรือใช้คำพูดไม่ถูกต้อง ก็จะสร้างกระบวนทัศน์ที่ผิด คือกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง ซึ่งจะทำลายชีวิตของเด็กไปทั้งชีวิต
คำชมหรือยกย่องที่ถูกต้องจากพ่อแม่และครูคือ ต้องไม่ชมความฉลาดหรือปัญญา เพราะจะทำให้เด็กอ่อนแอและมีข้ออ้าง ต้องไม่ชมผลงานแบบลอยๆ ว่าดีหรือเด่น เช่น “ลูกมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ” คำชมที่มีคุณค่า ต้องเลือกใช้คำอย่างระมัดระวัง โดยชมที่กระบวนการที่เด็กใช้ในการทำงานได้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจและพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมหรือการกระทำจำเพาะที่นำไปสู่ความสำเร็จ เรียกว่า ‘ชมกระบวนการ’ (process praise)
การชมกระบวนการ เป็นการชมที่ความพยายาม (effort) กลยุทธ์ (strategy) ความไม่ท้อถอย (persistence) ในสภาพยากลำบาก และกล้าสู้ความท้าทาย (challenge)
เด็กฉลาดที่คิดว่าตนเองเลอเลิศ ไม่มีจุดอ่อน เป็นคนที่มีกระบวนทัศน์หยุดนิ่ง พ่อแม่และครูต้องช่วยเหลือให้เด็กค้นพบจุดอ่อนจากการเรียนหรือจากชีวิตประจำวัน แล้วหาวิธีชักชวนให้เรียนรู้และแก้ไขจุดอ่อนให้สำเร็จ โดยในระหว่างกระบวนการแก้ไข ต้องชมความอดทน ความมานะพยายาม ชมวิธีการและกลยุทธ์ที่เด็กใช้บรรลุความสำเร็จ เมื่อทำซ้ำๆ เด็กจะสร้างกระบวนทัศน์พัฒนาขึ้นในตัวเอง
พ่อแม่และครูต้องชี้ให้เด็กเห็นว่า คนทุกคนมีจุดอ่อนหรือสมรรถนะที่จะต้องพัฒนา ส่วนความเก่งหรือความฉลาดที่มีมาแต่กำเนิดนั้นมีข้อจำกัด หากไม่พัฒนาต่อเนื่อง ก็สู้คนที่เกิดมามีสมองด้อยกว่า แต่มีความมุมานะหมั่นเรียนรู้พัฒนาตนเองไม่ได้ และควรยกตัวอย่าง คนที่ตอนเป็นเด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง แต่ในที่สุดประสบความสำเร็จในชีวิต และชี้ให้เห็นว่า ความมานะพยายามหมั่นปรับปรุงพัฒนาตนเองมีคุณค่าอย่างไร
ตัวอย่างคำพูดที่เป็นการยกย่องกระบวนการ (process praise)
- เธอวาดภาพได้ดี ครูชอบรายละเอียดที่เธอใส่ในใบหน้าคน
- เธอทบทวนสาระในวิชาสังคมศึกษาได้ดีมาก เธออ่านทบทวนหลายรอบ และสรุปโครงสร้างของสาระ และทดสอบความรู้ของตนเอง วิธีเรียนแบบนี้ได้ผลดีจริงๆ
- ครูดีใจที่เธอทำโครงงานนี้ในวิชาวิทยาศาสตร์ เพราะเป็นงานที่ยากและท้าทาย ต้องมีการออกแบบเครื่องมือ สร้างชิ้นส่วน และประกอบเป็นเครื่องมือ เธอจะได้เรียนรู้ความรู้ที่มีคุณค่าต่อชีวิตในภายหน้า
- ครูชอบที่เธอลองวิธีแก้โจทย์คณิตศาสตร์นี้หลายวิธี จนพบวิธีที่ถูกต้องในที่สุด
- การบ้านภาษาอังกฤษชิ้นนี้ยาก แต่เธอก็มุ่งมั่นอยู่กับงานอย่างมีสมาธิ เธอสุดยอดมาก!
ตัวอย่างคำพูดที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้
- โอ! งานชิ้นนี้ยาก สนุกแน่ๆ
- ขอโทษ งานชิ้นนี้ง่ายเกินไป ครูคิดว่าไม่สนุก เรามาทำงานที่ยากและท้าทายกว่านี้ดีกว่าไหม เธอจะได้เรียนรู้มากกว่านี้
- เรามาทบทวนสิ่งที่ทำในวันนี้ และหาทางเรียนรู้จากสิ่งที่ได้ทำไปแล้วกันดีกว่า
- การทำผิดเป็นเรื่องน่าสนใจ และเป็นบทเรียนที่ดี ความผิดพลาดชิ้นนี้น่าสนใจมาก เรามาเรียนจากความผิดพลาดที่ทำไปแล้วกันดีกว่า
- อยากให้ลูกหรือลูกศิษย์ฉลาด เรามาลองปรับเปลี่ยนวิธีชมกันดีกว่า…