- เด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้เมื่อเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือไม่?
- เจาะลึกการสำรวจ ‘ความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่ประถมศึกษา หรือ School Readiness Survey: SRS’ กับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
- ในการสำรวจมีการลงพื้นที่เพื่อทดสอบทักษะพื้นฐานของเด็กปฐมวัยทั้งในด้านภาษา คณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) โดยไม่ได้ต้องการค้นหา ‘เด็กเก่ง’ แต่กำลังค้นหา ‘เด็กที่ไม่พร้อม หรือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ’ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเด็กปฐมวัยยังขาดทักษะในเรื่องใดบ้าง
“การสำรวจข้อมูลอาจไม่ทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าก่อนที่จะมีคำตอบต้องรู้สาเหตุ สิ่งแรกที่อยากฝากคือคำกล่าวของ Lord Kelvin ผู้พัฒนามาตรฐานการวัดอุณหภูมิสัมบูรณ์ หรือระบบเคลวิน (Kelvin) ที่ว่า ‘If you cannot measure it, you cannot improve it.’ ถ้าเราวัดไม่ได้ ลืมมันได้เลยว่าเราจะแก้ได้ และนั่นคือ check point ที่ทีมวิจัยพยายามทำ เพราะเทอร์โมมิเตอร์ไม่ใช่ยา แก้ปัญหาให้คนเป็นไข้ไม่ได้ แต่เราใช้เทอร์โมมิเตอร์ตลอดเวลาเพื่อบอกว่าเรามีปัญหาไหม เช่นเดียวกับงานวิจัย เราไม่มีคำตอบจากการเก็บข้อมูล แต่ในทางกลับกันเราหวังว่าข้อมูลจะนำไปสู่ความเข้าใจในรากของปัญหาที่ชัดเจนขึ้น”
The Potential ชวนติดตามการพัฒนา ‘เครื่องมือสำรวจและประเมินศักยภาพความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ตามช่วงวัยสำคัญทั้งระดับประเทศและในระดับจังหวัด’ โดยพามาเจาะลึกการสำรวจ ‘ความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่ประถมศึกษา หรือ School Readiness Survey: SRS’ กับ รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนึ่งในข้อมูลชุดสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการยกระดับทุนมนุษย์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทุกช่วงวัยให้แก่ประเทศ
เลือกปักหมุด ‘เด็กปฐมวัย’ หัวใจสำคัญลดความเหลื่อมล้ำ
โครงการสำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าสู่ประถมศึกษา คือโครงการภายใต้ความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำขึ้นเพื่อสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสถานะความพร้อม และสะท้อนถึงสถานการณ์ด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย โดยมีการเก็บข้อมูลลงลึกรายบุคคลและนำเสนอออกมาเป็นรายจังหวัด เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายที่ช่วยแก้ปัญหาต้นทาง ปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.วีระชาติ เล่าถึงการเข้าร่วมโครงการฯ ว่า ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ กสศ. ในโครงการ Thailand School Readiness Survey (TSRS) ซึ่งเริ่มต้นโดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท (ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) แล้วก็ขอรับอาสาว่าสนใจเรื่องเด็กปฐมวัย ถึงจะสอนเด็กปฐมวัยไม่เป็น แต่รู้สึกว่าเป็นช่วงวัยที่มีอนาคต แล้วก็มีงานวิจัยรองรับมากมาย
“ศ.ดร.เจมส์ เจ เฮคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลประจำปี พ.ศ. 2542 กล่าวไว้ว่า ‘การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว’ เพราะการพัฒนาเด็กปฐมวัยถือได้ว่าเป็นการสร้างรากฐานในการพัฒนาชีวิตที่สำคัญ และไม่เพียงจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”
สำหรับความมุ่งหวังของโครงการ รศ.ดร.วีระชาติ บอกว่า เป้าหมายเพียงต้องการเข้าใจว่า “เด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้เมื่อเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาหรือไม่”
“ที่ผ่านมาเรามีโอกาสไปเก็บข้อมูลเด็กปฐมวัยทั่วประเทศ ซึ่งเราไม่สามารถเก็บทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศได้ในปีเดียว เนื่องด้วยปัจจัยด้านกำลังคน ทรัพยากรต่างๆ รวมถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ส่งผลให้เราใช้เวลาในการสำรวจทั้งหมด 4 ปีการศึกษา เราสามารถเก็บข้อมูลทักษะต่างๆ และพัฒนาการของเด็กที่คิดว่าจำเป็นสำหรับการใช้ในระดับประถมศึกษาจากเด็กทั้งหมด 43,000 คน ตัวเลขอาจจะไม่เยอะ แต่คิดว่าเกือบ 10% ของเด็กปฐมวัยในประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นฐานข้อมูลชุดหนึ่งที่มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจและเรียนรู้การพัฒนาการศึกษาของเด็กปฐมวัยต่อไปในอนาคต”
ทดสอบทักษะพื้นฐาน มุ่งควานหา ‘เด็กไม่พร้อม’
ในการดำเนินโครงการ รศ.ดร.วีระชาติ เล่าว่า มีการลงพื้นที่เพื่อวัดทักษะพื้นฐานของเด็กปฐมวัยทั้งในด้านภาษา คณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) โดยตัวอย่างบททดสอบ เช่น ในด้านภาษาจะมี ‘การวัดความเข้าใจในการฟังเนื้อหา’ ซึ่งเราจะอ่านข้อความอัดเทปไว้แล้วนำไปเปิดให้เด็กฟัง จากนั้นก็ถามคำถาม 5 ข้อ เพื่อดูว่าเด็กจับใจความได้หรือไม่ อีกตัวอย่างคล้ายๆ กัน เรียกว่า ‘Mental Transformation’ เหมือนการวัดไอคิวแต่ไม่ซับซ้อนเท่า โดยการทดสอบจะมีรูปเงาอยู่ 2 รูป จากนั้นถามเด็กว่าถ้านำ 2 รูปนี้มาต่อกัน แล้วจะได้ออกมาเป็นรูปใดใน 4 รูปที่มีให้เลือก เป็นคำถามที่ต้องใช้จินตนาการระดับหนึ่ง ซึ่งมีทั้งหมด 5 ข้อเช่นเดียวกัน
ส่วนการทดสอบทักษะ Executive Functions (EFs) ทีมวิจัยได้ทดสอบทักษะความจำการใช้งาน โดยนำ ‘Digit Span Memory’ มาประยุกต์ใช้ วิธีการคือให้เด็กดูตัวเลข เช่น บนจอมีตัวเลขสองตัว คือ 4 กับ 2 ก็จะเปิดให้เด็กดูตัวเลขประมาณ 10 วินาที จากนั้นจะปิดแล้วถามว่าเลขที่เห็นคือเลขอะไร แต่ให้ตอบทวนย้อนหลัง ซึ่งคำตอบที่ได้จะเป็น 2 กับ 4 หากตอบคำถามจำนวนสองตัวเลขได้แล้ว ก็จะเพิ่มจำนวนตัวเลขเป็นลำดับ
“สิ่งที่ผมต้องการให้เห็นคือ ตัวอย่างการทดสอบทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่เด็กจะต้องมีผ่านการทำกิจกรรม หรือผ่านการเรียนรู้ที่สม่ำเสมอ ฉะนั้นสบายใจได้ว่า หมุดหมายของการทดสอบ เราไม่ได้ต้องการส่งเสริมให้โรงเรียนเร่งเรียนเขียนอ่าน แต่ในทางกลับกันเราต้องการให้สถานศึกษามีคุณภาพมากขึ้น คุณครูต้องทำกิจกรรมให้เด็กได้มีโอกาสคิด มีโอกาสทำ เพื่อให้เขามีจินตนาการที่จะตอบสิ่งเหล่านี้ได้”
อย่างไรก็ดีเมื่อถามถึงความมุ่งหวังของการทดสอบเหล่านี้ รศ.ดร.วีระชาติ บอกชัดเจนว่า ไม่ได้ต้องการค้นหา ‘เด็กเก่ง’ แต่กำลังค้นหา ‘เด็กที่ไม่พร้อม หรือเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือ’ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเด็กปฐมวัยยังขาดทักษะในเรื่องใดบ้าง
“ผมไม่ได้ตามหาเด็ก Genius แต่กำลังตามหาเด็กที่มีปัญหา ผมอยากรู้ว่ามีจำนวนมากเท่าไร หลายครั้งเวลามีการทดสอบ หลายคนจะบอกว่าคะแนนเต็มร้อยได้กี่เปอร์เซ็นต์ ค่าเฉลี่ยเท่าไหร่ แต่ผมชวนมองอีกมุมหนึ่ง ผมพยายามหาว่าเด็กไทยมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ทำได้มากที่สุดคือข้อเดียวจากคำถาม 5 ข้อ ที่เหลือตอบผิดหมด เด็กกลุ่มนี้มีจำนวนมากขนาดไหนในแต่ละจังหวัด แล้วเราก็หวังว่าจังหวัดจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์
ผมอยากเสนอว่า ต่อไปวงการการศึกษาแทนที่จะบอกว่าโรงเรียนไหนได้อันดับหนึ่ง เราควรเปลี่ยนมาดูว่ามีเด็กกี่เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ที่ยังต้องการความช่วยเหลือ”
ผลสำรวจเด็กปฐมวัย พบ ‘ปัญหาทักษะการฟัง’
รศ.ดร.วีระชาติ เล่าว่า ผลการทดสอบในภาพรวม หากนำทุกหมวดของด้านภาษาและคณิตศาสตร์มารวมกันจะพบว่าไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่เมื่อดูในหัวข้อย่อยลงไป เช่น ทักษะการฟังข้อความ หรือ Listening Comprehension จะเห็นว่าบนแผนที่ประเทศไทยแทบจะปรากฏสีแดงในทุกพื้นที่ ไม่ต้องบอกเลยว่าจังหวัดไหนบ้างเพราะว่าแดงเกือบหมด ขณะที่ทักษะ Mental Transformation ดูไม่แย่เท่ากับทักษะด้านการฟัง ซึ่งในมุมหนึ่งถือเป็นเรื่องแปลก เพราะถ้าครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน ทักษะการฟังข้อความ เด็กควรจะทำได้
“ผมถือว่าเป็นเรื่องน่ากังวล จังหวัดหรือพื้นที่ควรจะลุกขึ้นมา แล้วมาคุยกันว่าเราต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาและอาจจะต้องพัฒนาคุณภาพการเลี้ยงดูของผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้ถ้าเราไปดูเรื่องของ EF หรือการทดสอบ Digit Span Memory ที่วัดว่าเด็กสามารถจดจำและนำเอามาใช้งานได้แค่ไหน ผลการสำรวจพบว่าสัดส่วนของเด็กที่มีปัญหาอาจจะดูไม่เยอะมาก แต่ก็เห็นสีแดงแล้วก็สีชมพูมากพอสมควร ซึ่งในระดับวิชาการเราค่อนข้างเชื่อว่าเกิดจากการที่เด็กไม่ได้รับการกระตุ้นให้เขาคิด หรือกระตุ้นให้เขาทำ”
เด็กปฐมวัยความพร้อมต่ำ สัมพันธ์กับ ‘ความยากจนของครอบครัว’
การสำรวจความพร้อมของเด็กปฐมวัยในการเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาไม่ได้มีเพียงทักษะการเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญเท่านั้น ทีมวิจัยยังออกแบบคำถามที่สะท้อนไปถึงข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือน ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ความไม่พร้อมของเด็กปฐมวัย ส่วนหนึ่งอาจมาจาก ‘ความยากจนของครอบครัว’
รศ.ดร.วีระชาติ เล่าว่า เราถามคำถามผู้ปกครองของเด็กเพิ่มเติมด้วยว่า “ในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านเคยมีปัญหาอาหารไม่เพียงพอหรือไม่” ซึ่งก็ไม่รู้เขาตอบจริงหรือไม่จริง แต่มีผู้ปกครองจำนวนมากพอสมควรที่ตอบว่ามีปัญหา เรานำข้อมูลเด็ก 2 กลุ่มมาเปรียบเทียบกัน คือเด็กที่พ่อแม่ตอบว่ามีปัญหาอาหารไม่เพียงกับเด็กที่พ่อแม่ตอบว่าไม่มีปัญหา ปรากฏว่าเด็กที่พ่อแม่ตอบว่ามีปัญหาอาหารไม่เพียงพอในบางครั้งทำคะแนนได้ต่ำกว่า พูดง่ายๆ ว่ามีปัญหามากกว่า มันตอกย้ำว่าความยากจนมีผลต่อความพร้อมและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
“มันไม่ใช่แค่ว่าทุกคนเกิดมาเดี๋ยวก็โตไปได้ มันมีปัจจัยหลายส่วน หากถามว่าผมตอบได้ไหมว่าเพราะอะไร ก็อาจจะมีสาเหตุมากมาย ซึ่งผมยังตอบไม่ได้ อาจเพราะความยากจนทำให้เด็กขาดการทำกิจกรรมที่กระตุ้นพัฒนาการ ความยากจนอาจทำให้เด็กขาดความรู้ที่จะมาทำกิจกรรมที่เหมาะสม หรือความยากจนอาจทำให้เขาอยู่ในโรงเรียนที่ไม่ดี ซ้ำเติมกันไปหมด”
พัฒนา ‘ครูที่ดี’ ฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้เด็กปฐมวัย
รศ.ดร.วีระชาติ บอกว่า อีกปัญหาอุปสรรคของการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนระดับปฐมวัย คือ ‘เครื่องมือมีแต่ไม่ถูกนำไปใช้’
“ทุกคนต้องยอมรับว่า บางครั้งไม่ใช่ว่าไม่มีเครื่องมือ เครื่องมือมีแต่ไม่ถูกนำเอาไปใช้ สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจระดับหนึ่งว่าเครื่องมือที่มีน่าจะมีโอกาส เพราะได้ไปทำการทดลองที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปีการศึกษา 2562 เราได้สร้างหลักสูตรอบรม 1 วันขึ้นมา เรียกว่า On-Site Training นำครูที่อยากเปลี่ยนวิธีการสอนมาฝังตัวอยู่ที่ศูนย์อบรม 2 สัปดาห์ ฝึกทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน แต่ละวันเปลี่ยนกิจกรรมไปเรื่อยๆ จนครูมีทักษะมากพอ และด้วยที่เราเป็นนักวิจัย จึงทำเป็น Randomize Control Trial ออกแบบการทดลองวัดผลว่ากลุ่มครูที่เข้าอบรมและไม่เข้าอบรมมีพัฒนาการต่างกันหรือไม่ ผลการทดลองพบว่าหลักสูตรที่จัดขึ้นส่งผลให้ครูสามารถสอนนักเรียนได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดประมาณ 50%”
ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น รศ.ดร.วีระชาติ อธิบายว่า เพราะกิจกรรมที่ฝึกให้ครูทำส่วนใหญ่ เรียกว่า Plan Do Review เป็นการส่งเสริมให้เด็กวางแผน ตอนเด็กวางแผนครูก็คุยด้วย ตอนเด็กทำ ครูก็ไปเล่นด้วย เด็กก็ใช้ภาษาและสุดท้ายเด็กจะกลับมารีวิว เขาก็ใช้ภาษามากขึ้น จึงไม่แปลกที่ทักษะด้านภาษาของเด็กจะโดดเด่นเพิ่มขึ้นมา ยิ่งเฉพาะทักษะด้านการฟัง หรือ Listening Comprehension ที่เคยมีปัญหา ก็ดีขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพราะมีการกระตุ้นการใช้ภาษาตลอดเวลา
“กิจกรรมที่เราให้ครูทำ เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่มีอะไรพิเศษพิสดารเลย คืออ่านหนังสือให้เด็กฟัง และบวกกับส่งเสริมครูให้เด็กยืมนิทานกลับบ้าน เป็นนิทานที่มีที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอยู่แล้ว เราตั้งชื่อกิจกรรมว่า ‘พานิทานกลับบ้าน’ ผู้ปกครองอ่านเสร็จแล้วก็มาแลกเปลี่ยนกัน เป็นวิธีง่ายๆ ที่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณ ปรากฏว่าเราเห็นทักษะด้าน Listening comprehension และ Mental Transformation เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
สิ่งหนึ่งที่เราอยากเสนอให้ลองพิจารณา เป็นบทเรียนที่เราได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเชื่อมโยงสอดคล้องกับงานวิจัยทั่วโลก นั่นคือ ‘การพัฒนาครูที่ดี’ โดยเฉพาะครูที่อยู่ในชนบท ครูที่ไม่ได้ทักษะสูงมากๆ เป็นครูธรรมดา แต่ต้องพัฒนาเขาแบบเจาะจง บอกให้ชัดเจนว่าอยากให้เขาทำอะไร มีอุปกรณ์ช่วยเขาให้มากที่สุด ถ้าคุณให้เครื่องมือที่ช่วยเขาแบบเจาะจงมากพอ ครูจะสามารถทำได้ แล้วผลจะออกที่เด็ก”
‘กิจกรรมเยี่ยมบ้าน’ กระตุ้นครอบครัวสร้างการเรียนรู้
แน่นอนว่า ‘คุณภาพของครูและสถานศึกษา’ คือปัจจัยที่สำคัญมากต่อการพัฒนายกระดับการศึกษาเด็กปฐมวัย แต่อีกตัวแปรที่มีบทบาทไม่แพ้กันและไม่อาจมองข้ามได้ คือ ‘คุณภาพการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง’
รศ.ดร.วีระชาติ เล่าว่า บทเรียนที่ได้จากการ Survey School Readiness คือเราพบว่ามีครัวเรือนที่ไม่มีหนังสือนิทานที่บ้านเลยมากถึง 40% ผลที่ตามมาคือมีผู้ปกครองประมาณ 50% ที่ไม่อ่านหนังสือให้เด็กฟังเลย เรามองว่าการไม่มีหนังสือคือต้นเหตุ และความไม่เข้าใจว่ากิจกรรมเหล่านี้มีประโยชน์ ซึ่งสะท้อนว่าครัวเรือนขาดความพร้อม ฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำตามมาคือ ‘การพัฒนาทักษะของผู้ปกครอง’
“ตอนนี้เรากำลังทดลองร่วมกับ กสศ. ใน 8 จังหวัดทั่วประเทศ ใช้กิจกรรมที่เรียกว่า ‘การไปเยี่ยมบ้าน’ เราไม่ได้ไปเยี่ยมบ้านเพื่อสอบถามรายละเอียดผู้ปกครอง แต่เราไปเยี่ยมเพื่อนำอุปกรณ์ไปทำกิจกรรมร่วมกับผู้ปกครองและเด็กพร้อมกันเลย ช่วยพัฒนาผู้ปกครอง กระตุ้นให้เขาสร้างกิจกรรมกับลูกหลาน เพราะเราเชื่อว่าสิ่งนี้คือการสร้างความพร้อม เป็นการพัฒนาสถาบันครอบครัวที่น่าจะมีประโยชน์ที่สุด ซึ่งเป็นงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่มีความท้าทายและคาดว่าจะเห็นผลลัพธ์ในปีหน้า”
สำหรับการดำเนินงานหลังจากนี้ รศ.ดร.วีระชาติ บอกว่า โครงการกำลังเร่งตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) ก่อนส่งต่อฐานข้อมูลที่ได้ไปแต่ละจังหวัด รวมทั้งอาจนำเครื่องมือทดสอบที่พัฒนาขึ้นมาปรับให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานของครูมากขึ้น โดยสุดท้ายในฐานะนักวิจัยหวังเพียงว่าข้อมูลที่ร่วมพัฒนาขึ้นกับ กสศ. นั้น จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำนโยบายที่แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม