- Joie de Vivre หมายถึง ‘ความเพลิดเพลินใจในการใช้ชีวิต’ เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบเฟรนช์สไตล์ โดยโฟกัสด้านบวก-ข้อดีของอีกฝ่ายหรือสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ เสพอรรถรสของสิ่งรอบตัวนำไปสู่ความโรแมนติก
- เป็นแนวคิดที่จะไม่เพิกเฉยความต้องการลึกๆ ในใจตัวเอง ไม่กดทับความเป็นเด็กน้อยในตัวที่หลับใหลอยู่ เป็นการออกมาใช้ชีวิตโดยยังสามารถรักษาคาแรกเตอร์ในแบบของตัวเองได้เต็มเปี่ยมอยู่
- แก่นของ Joie de Vivre มีจริตของการ ‘ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น’ บอกเป็นนัยถึงชีวิตที่ปล่อยให้มันแค่ ‘เป็นไป & ผ่านไป’
ความงดงามของกรุงปารีสแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่ครั้งอดีตกาลอันเนิ่นนาน แต่เป็นผลงานของ บารง โอสมานน์ (Baron Haussmann) ที่ได้รับคำสั่งเมื่อปี 1854 จากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ให้ปรับปรุงแปลงโฉมกรุงปารีสที่เสื่อมโทรมให้ออกมาสวยงามยิ่งใหญ่ตระการตา
และแล้วทุกอย่างก็ถูกเนรมิตภายใน 17 ปีให้หลัง ผังเมืองอันเป็นระบบระเบียบ สถาปัตยกรรมตึกรามบ้านช่องอันงดงาม และระบบสาธารณูปโภคชั้นยอดคือมรดกตกทอดที่อยู่มาจวบจนทุกวันนี้ บัดนี้ ใครที่ได้เดินทอดน่องเตร็ดเตร่ไปทั่วกรุงปารีสและอีกหลายเมืองในฝรั่งเศส ก็สามารถ ‘เพลิดเพลินใจ’ ไปกับทัศนียภาพอันงดงามรอบตัวได้ไม่ยาก
เรื่องนี้เองนำมาสู่มรดกตกทอดทางจิตใจอีกอย่างที่อาจสำคัญไม่แพ้กัน คือการผลิบานของแนวคิด ‘Joie de Vivre’
Joie de Vivre ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินใจ
ถ้าอ่านแบบภาษาฝรั่งเศสตามตัวจะอ่านได้ว่า ฉวา เดอ ฝี-ฝร (Joie de Vivre)
หรืออาจแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘Joy of Living’ สำหรับการออกเสียงแบบฝรั่งเศส อาจจะยากไปหน่อย ในบทความนี้เลยจะขออนุญาตเขียนทับศัพท์ไปเลยว่า Joie de Vivre
Joie de Vivre หมายถึง ‘ความเพลิดเพลินใจในการใช้ชีวิต’ เป็นแนวคิดการใช้ชีวิตให้มีความสุขในแบบเฟรนช์สไตล์ที่ถึงแม้จะถูกตีความได้หลากหลายมากแต่ล้วนเพลิดเพลินใจไปพร้อมกัน
คาแรกเตอร์ที่โดดเด่นมากคือ ‘การสังเกตสิ่งรอบตัว’ และพยายามมองในมุมศิลปะ เรื่องนี้อาจไม่แปลก ถ้าใครได้ไปใช้ชีวิต บินไปเที่ยว หรือแค่ดูผ่านตาจากภาพยนตร์ ก็มักเห็นวัฒนธรรมหนึ่งของชาวฝรั่งเศสที่มีเสน่ห์เหลือเกิน นั่นคือ การออกมานอกคาเฟ่ ณ ที่นั่งเอาดอร์ริมทางเท้า มองดูผู้คนเดินผ่านไปมา หรือมองดูผลงานสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่สง่างามของฝรั่งเศสที่พบเห็นได้ทั่วไป
ความเพลิดเพลินใจในการใช้ชีวิตนี้ ยังโฟกัสด้านบวก-ข้อดีของอีกฝ่ายหรือสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ ความเพลิดเพลินใจที่ได้เสพอรรถรสของสิ่งรอบตัวนำไปสู่ความโรแมนติก และเป็นการดำเนินชีวิตที่แฝงไว้ด้วยความรู้สึกของการ ‘ถูกเซอไพรส์’ โดยที่เราเองก็ไม่สามารถวางแผนคาดการณ์ได้ แต่แทนที่จะเป็นทุกข์เพราะอะไรๆ ผิดคาด กลับรู้สึก ‘สนุก’ อมยิ้มไปกับมันและพร้อมหัวเราะออกมา
Joie de Vivre จะไม่เพิกเฉยความต้องการลึกๆ ในใจตัวเอง ไม่กดทับความเป็นเด็กน้อยในตัวที่หลับใหลอยู่ เป็นการออกมาใช้ชีวิตโดยยังสามารถรักษาคาแรกเตอร์ในแบบของตัวเองได้เต็มเปี่ยมอยู่ มีความกระตือรือร้นในการลองทำสิ่งใหม่ ไปสถานที่ใหม่ๆ สนทนาพบเจอผู้คนใหม่ๆ
ปัจจัยที่โอบรับแนวคิด Joie de Vivre
Joie de Vivre ปรากฎในวรรณกรรมตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 และเริ่มถูกพูดถึงอย่างเอิกเกริกเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 โดยมีนักเขียนหลายคนนำไปกล่าวถึงในหนังสือของพวกเขา อาทิ
- ฌูลส์ มิเชอเลต์ (Jules Michelet) ตีพิมพ์ The Insect (ปี 1857) กล่าวถึง ความเพลิดเพลินใจที่ได้สำรวจสิ่งมีชีวิตอันละเอียดอ่อน
- เอมิล โซลา (Emile Zola) ตีพิมพ์ La Joie de vivre (ปี 1883) กล่าวถึง ความเพลิดเพลินใจที่ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรม
ตัวอย่างหนังสือเหล่านี้ได้เริ่มมีอิทธิพลทางความคิดกับผู้อ่านชาวฝรั่งเศสทีละเล็กทีละน้อย แต่อานิสงส์มิติอื่นๆ ก็สำคัญควบคู่ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะสภาพบ้านเมืองที่สวยงามจากการวางผังเมืองอันยอดเยี่ยมของเหล่าสถาปนิก สถาปัตยกรรมตึกรามบ้านเมืองที่มีศิลปะสวยงาม ยิ่งใหญ่อลังการและโรแมนติกในเวลาเดียวกัน วัฒนธรรมอาหารของชาวฝรั่งเศสที่หยั่งรากลึก ไม่ว่าจะการจิบกาแฟตามคาเฟ่อันแสนเบิกบานใจ การตกแต่งจานชามอาหารให้สวยงาม การจิบไวน์อันแสนพิถีพิถัน ประณีต และเนิบช้า หรือรสนิยมลีลาการแต่งกายที่เป็นผู้นำด้านแฟชั่นเสมอ
หรือยุคโมเดิร์นขึ้นมาหน่อยก็ต้องขอบคุณสวัสดิการพื้นฐานจากภาครัฐที่ทำให้ประชาชนล้มบนฟูกได้ในระดับหนึ่ง เมื่อตัวเองไม่ต้องหาเช้ากินค่ำหรือปากกัดตีนถีบขนาดนั้น ก็พอเจียดเวลาและแบ่งเบามันสมองมาเสพความเพลิดเพลินของชีวิตให้จรรโลงใจ
หลากหลายปัจจัยทำงานควบคู่กันไป ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไปไม่ได้ และนั่นเองทำให้ Joie de Vivre ผลิบานออกดอกออกผลอย่างลงตัว
Joie de Vivre กับจิตวิทยาและอัตราความสุข
แม้ Joie de Vivre จะเป็นเรื่องที่ฟังดูเป็นนามธรรมค่อนข้างสูงและถูกตีความไปได้อย่างหลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มันส่งผลต่อระดับความสุขและจิตวิทยาของมนุษย์เราโดยตรง
อันดับแรกเลย คนเราคิดหรือรู้สึกอย่างไรก็จะเป็นแบบนั้น เมื่อเราฝึกให้สมองคิดบวกเอนจอยเพลิดเพลินกับสิ่งรอบตัวได้ จิตใจก็สงบเย็นลงและมีความสุขขึ้น เดิมทีเรามักคิดว่าสมองเป็นสารตั้งต้นในการสั่งการลงไปสู่ร่างกาย แต่ข้อเท็จจริงด้านวิทยาศาสตร์ล่าสุดเปิดเผยว่า ร่างกายก็สามารถส่งผลต่อการทำงานของสมองได้เหมือนกัน เช่น ถ้าเราเริ่มต้นสอดส่องสิ่งรอบตัวและเฟ้นหาความแปลกใหม่อย่างเพลิดเพลินใจ (นึกภาพตอนเราไปเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ เป็นครั้งแรก) จากนั้นสมองจะเริ่มปรับตัวตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย สมองจะโฟกัสสิ่งใหม่ๆ ฮอร์โมนผ่อนคลายจะหลั่งออกมาให้เรารู้สึหเพลิดเพลินใจและมีความสุข
ยิ่งเรามีความสุขมากเท่าไร อายุยิ่งยืนมากเท่านั้น ยิ่งเราสุขใจและปราศจากความเครียดคิดเล็กคิดน้อยมากแค่ไหน ยิ่งช่วยชะลอวัยให้เราไม่แก่เร็วตามมากเท่านั้น เรื่องนี้ต่อให้ไม่รับรู้ข้อมูลเชิงวิชาการเราก็พอเดากันได้จากประสบการณ์ตัวเอง คนรอบตัวคนไหนที่เฟรนลี่ร่าเริงหัวเราะง่าย หัวเราะบ่อย ยิ้มง่าย ไม่เป็นไร ให้อภัยง่าย ก็มักจะมีความสุข ผิวพรรณหน้าตาดูเป็นมิตร มีออร่าที่ดึงดูดให้น่าเข้าหา
ความน่าสนใจคือ ชาวฝรั่งเศสพยายามเพลิดเพลินใจและมีความสุข…แต่นั่นไม่ได้หมายถึงการมองข้ามเรื่องทุกข์ร้อน การไม่บ่น หรือแสดงออกความคิดเห็นที่อาจไปขัดแย้งกับผู้อื่นในกระแสหลัก ชาวฝรั่งเศสขึ้นชื่อว่าชอบแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนัดหยุดงานบ่อยที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป แต่เมื่อ Joie de Vivre ยังคงทำงาน พวเขาจะมองเห็นข้อดีของสิ่งที่เกิดขึ้น เพลิดเพลินใจกับสิ่งรอบตัวดีๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่
เรากล่าวไปแล้วว่า การฝึกตัวเองให้ช่างสังเกตสิ่งรอบตัวเป็นวิธีค้นพบ Joie de Vivre ได้ดีเยี่ยม ซึ่งต้องมาพร้อมกับ ‘ความอดทน’ ในการสังเกตให้มากพอและนานพอด้วยระดับหนึ่ง เรื่องนี้สอดคล้องโดยตรงกับการบ้านของอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่สั่งให้กับนักศึกษา โดยมีโจทย์ง่ายๆ คือ ให้นักศึกษาไปนั่งจ้องมองผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 3 ชั่วโมง…แค่นั้น จบ ไม่ต้องทำอะไรซับซ้อนเพิ่มอีกเลย (โดยมีเงื่อนไขให้แวะเข้าห้องน้ำได้)
แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริง นักศึกษาหลายคนพบว่าเป็นเรื่องยากมากๆ ที่ตัวเองจะจดจ่อโฟกัสสิ่งตรงหน้าได้เกินแม้แค่ 2-3 นาที และความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งก็ปรากฎขึ้นเมื่อนักศึกษาฝืนอดทนจดจ่อโฟกัสไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง เช่น 30-60 นาที พวกเขาเริ่ม ‘มองเห็น’ รายละเอียดที่แฝงอยู่ในผลงานศิลปะชิ้นนั้น ความเป็นไปได้ของสิ่งรอบตัว ครอบครัวที่พาลูกๆ มาใช้เวลากัน หนุ่มสาวที่จูงมือมาออกเดต และ…ความสงบสุขเพลิดเพลินใจที่ได้อยู่กับปัจจุบันตรงหน้าแบบอธิบายไม่ถูก
โอบกอด Joie de Vivre สู่ชีวิตเรา
ก่อนจะเพลิดเพลินใจได้ อันดับแรกเราต้องมีสมาธิจดจ่อ ต้อง ‘ให้เวลา’ (Pay attention) กับเรื่องนั้นมากพอ เราอาจต้องมองอะไรให้นานขึ้น กินดื่มอย่างเนิบช้า แตะเบรกแห่งชีวิตเพื่อลดความเร่งรีบในการทำสิ่งต่างๆ
และเราจะทำแบบนั้นไม่ได้เลยถ้าเราทำหลายสิ่งหลายอย่างมากเกินไปในเวลาเดียวกัน จึงต้องเลือกโฟกัสอย่างใดอย่างหนึ่งและตัดทิ้งบางเรื่อง หรือนำมันมาต่อคิวข้างหลัง เช่น ถ้าเรามีโอกาสได้ไปนั่งร้านคาเฟ่สวยๆ บรรยากาศดีๆ อาหารเครื่องดื่มเลิศรส เราก็ควรหยุดเล่นหยุดมองมือถือแต่มองสิ่งแวดล้อมรอบตัว หยุดก้มหน้ามองหน้าจอแต่มองคนรอบตัวและมองหน้ากัน เราใช้วิธีนี้ได้โดยตรงเพื่อขจัดปัญหาการตามรอยสถานที่เที่ยวเยอะแยะ…แต่กลับไม่ได้ดื่มด่ำ พลาดการเสพประสบการณ์ที่จะประทับในความทรงจำ
อีกเคล็ดลับที่ช่วยได้มากคือลองพยายาม ‘ถอดแพทเทิร์น’ สิ่งที่อยู่ตรงหน้า เช่น งานสถาปัตยกรรมของตึกอาคารแห่งหนึ่ง จากเดิมที่มองชื่นชมด้วยความสวยงาม ก็ลองถอดรูปแบบแพทเทิร์นออกมาดู เช่น
- เราอาจเริ่มเห็นส่วนเว้าส่วนโค้งอันแสนลงตัวของกระจกทรงโค้งมน (Arch) ที่เข้ากับตัวตึก
- เห็นการออกแบบทางลาดหน้าทางเข้าตึกรองรับเพื่อทุกคน (Universal Design) ซึ่งรวมถึงผู้ใช้วีลแชร์ด้วย
- เมื่อเดินเข้าไปแล้วพบกับความละเอียดอ่อนของการตกแต่งภายในแบบสมมาตร (Symmetry) ที่ช่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อย
เพียงเท่านี้ ความเพลิดเพลินใจก็เริ่มต้นขึ้นแล้ว?
หลายคนพบเจอกับโลกรอบตัวที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอันทรหดและความเครียดสุดขีดจากราคาที่ต้องจ่ายเมื่อพ่ายแพ้ บางที Joie de Vivre อาจเป็นตัวช่วยที่เยียวยาใจและอำนวยความสะดวกให้เราใช้ชีวิตในโลกที่ช่างแสนวุ่นวายได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
เพราะถ้าสังเกตให้ดี แก่นของ Joie de Vivre มีจริตของการ ‘ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น’ จะว่าไปแล้ว ใครบ้างที่สามารถควบคุมอนาคตได้? Joie de Vivre บอกเป็นนัยถึงชีวิตที่ปล่อยให้มันแค่ ‘เป็นไป & ผ่านไป’ แผนการอันแสนรัดกุมที่มีอยู่ ก็เป็นเพียงแผนการที่ออกแบบสร้างขึ้นในปัจจุบันโดยอิงกับเหตุการณ์ในอดีต
แต่ท้ายสุดแล้วไม่มีใครกุมบังเหียนอนาคตได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็ควรปล่อยวางแล้วเพลิดเพลินใจไปกับสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ตรงหน้าไม่ดีกว่าเหรอ?